ธุรกิจการเงิน – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 13 Dec 2021 09:31:01 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 สยามพิวรรธน์ เสริมทัพดิจิทัลมุ่งสร้างค้าปลีกเชื่อมโลกคู่ขนานแห่งอนาคต ประกาศแต่งตั้ง “ปานเทพย์ นิลสินธพ” นำทีมคนรุ่นใหม่ ขับเคลื่อนประสบการณ์เหนือความคาดหมายอย่างไร้รอยต่อ https://positioningmag.com/1365573 Tue, 14 Dec 2021 02:00:07 +0000 https://positioningmag.com/?p=1365573

บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เจ้าของและผู้บริหาร ศูนย์การค้าสยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ หนึ่งในพันธมิตรเจ้าของไอคอนสยาม และสยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ เสริมทัพดิจิทัล ส่ง “ปานเทพย์ นิลสินธพ” ร่วมขับเคลื่อนการบริหารงานใหม่ล่าสุด Customer Experience ในตำแหน่งประธานบริหารสายงานประสบการณ์ลูกค้า (Chief Customer Officer) เพื่อเป็นผู้นำทัพเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ โดยจะทำงานร่วมกับนายอริยะ พนมยงค์ ประธานบริหารด้านนวัตกรรม และนายอักเซล วินเทอร์ ประธานบริหารสายงานดิจิทัล เพื่อเชื่อมโลกออฟไลน์และออนไลน์ในทุกมิติ สร้างสัมพันธ์แบบบูรณาการและมอบประสบการณ์ที่คัดสรรมาเฉพาะให้กับลูกค้า

การเสริมทัพดิจิทัลในครั้งนี้ สอดคล้องกับกลยุทธ์การขับเคลื่อนธุรกิจของสยามพิวรรธน์ ที่มุ่งเชื่อมโลกแห่งการค้าในทุกมิติเพื่อมอบประสบการณ์ที่เหนือความคาดหมายให้กับลูกค้าทั้งในประเทศและที่เคยเดินทางมาเยี่ยมเยือนโครงการของสยามพิวรรธน์จากทั่วโลก (Global Citizen) ซึ่งในปัจจุบัน ออนไลน์เป็นช่องทางที่ผู้คนจากทั่วโลกจะสามารถเข้าถึงกิจกรรมและประสบการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในธุรกิจของกลุ่มสยามพิวรรธน์ได้ตลอดเวลา ดังนั้นสยามพิวรรธน์จึงพร้อมตอบไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในยุคดิจิทัลนี้ ด้วยนวัตกรรม และแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่ได้พัฒนาขึ้น เพื่อเชื่อมโยงธุรกิจค้าปลีกในศูนย์การค้า เข้ากับช่องทางออนไลน์ทั้ง S-Commerce และ E- Commerce อย่างสมบูรณ์แบบ ผ่านระบบนิเวศแห่งความสำเร็จที่ได้รวบรวมร้านค้า คู่ค้า และพันธมิตรทางธุรกิจต่างๆ ให้ร่วมก้าวไปสู่ความสำเร็จในอนาคตพร้อมกัน

นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ กล่าวว่า

“สยามพิวรรธน์เป็นผู้นำความคิดสร้างสรรค์ (The Visionary Icon) การก้าวไปสู่การทำธุรกิจแห่งอนาคตให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน คือการผลักดันให้เกิดระบบนิเวศแห่งความสำเร็จ ซึ่งจะประกอบไปด้วยความหลากหลายของคู่ค้า ลูกค้า พันธมิตร ที่จะมาเชื่อมต่อกันและเกิดการแลกเปลี่ยนสิทธิประโยชน์ ความพึงพอใจและประสบการณ์ที่ไร้ขีดจำกัด ไร้พรมแดน ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลกจริงหรือโลกดิจิทัลก็ตาม สยามพิวรรธน์เน้นการทำธุรกิจโดยมีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ที่เราต้องมีความเข้าใจและเข้าถึงในพฤติกรรมและความปรารถนาของลูกค้าทุกกลุ่มอยู่ตลอดเวลา เพื่อสามารถสร้างแรงบันดาลใจและประสบการณ์ที่เหนือระดับ พร้อมมอบคุณค่าทางด้านจิตใจ และตอบสนองการบริโภคทุกมิติของลูกค้าได้เสมอ ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องมีสายงานใหม่ คือ Customer Experience ที่จะเข้ามาดูแลเรื่องประสบการณ์ของลูกค้า ทั้งในศูนย์การค้าและบนดิจิทัลแพลตฟอร์มโดยตรง สยามพิวรรธน์เล็งเห็นว่า คุณปานเทพย์ นิลสินธพ คือผู้ที่เหมาะสมที่จะเข้ามาเป็นผู้บริหารสำคัญ ที่จะนำทีมนี้ ด้วยประสบการณ์ที่เชี่ยวชาญในธุรกิจการเงินรวมถึง เทคโนโลยีและนวัตกรรมมายาวนาน อีกทั้งมีวิสัยทัศน์และทักษะในการบริหารจัดการ โดยผลงานที่ผ่านมาได้สะท้อนให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์และความสำเร็จในการสร้างความเปลี่ยนแปลงมาหลายองค์กร สยามพิวรรธน์เชื่อมั่นว่าคุณปานเทพย์จะเป็นหนึ่งในคณะผู้บริหารคนรุ่นใหม่ ที่จะมาช่วยกันขับเคลื่อนการขยายตัวของธุรกิจในกลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ให้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดดบนเวทีโลก”

ปานเทพย์ นิลสินธพ นับเป็นนักบริหารที่มีบทบาทในการช่วยขับเคลื่อน องค์กรชั้นนำต่างๆ หลายแห่งที่เคยร่วมงานด้วย ได้แก่ บมจ.หลักทรัพย์ Asia Plus บริษัท J.P. Morgan บริษัท The Boston Consulting Group และล่าสุดที่ Total Access Communication หรือ dtac ในตำแหน่งผู้อำนวยการอาวุโส สายงานผลิตภัณฑ์ดิจิทัล โดยได้เริ่มต้นพัฒนาความรู้ความสามารถจากการเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีด้านพาณิชยศาสตร์ และได้รับเกียรตินิยมทางด้านเศรษฐศาสตร์จาก University of Melbourne มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ในประเทศออสเตรเลีย ก่อนศึกษาปริญญาโทต่อในมหาวิทยาลัยเดียวกัน จนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโท ด้านการเงินประยุกต์ คุณปานเทพย์เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านการวางกลยุทธ์ การบริหารประสบการณ์ของลูกค้าช่องทางดิจิทัล และการสร้างธุรกิจบนดิจิทัลแพลตฟอร์มที่มีบทบาทสำคัญในการเติบโตของช่องทางดิจิทัลและการขับเคลื่อนแพลตฟอร์มธุรกิจใหม่ในหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิเช่น ธุรกิจโทรคมนาคม การเงิน ประกัน และเกมส์

“ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสยามพิวรรธน์ และได้ร่วมขับเคลื่อนภารกิจที่จะนำสยามพิวรรธน์ก้าวไปสู่การเป็นค้าปลีกแห่งอนาคต สู่การเติมเต็มประสบการณ์สุดพิเศษให้กับลูกค้าที่มากกว่าเดิม พร้อมนำทัพคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ และมีความเชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาร่วมพัฒนาโครงการซึ่งจะกลายเป็น “โครงการระดับโลก” ไปด้วยกัน” นายปานเทพย์ กล่าวทิ้งท้าย

]]>
1365573
ธนาคารไทย ตามหา “ขุมทรัพย์ใหม่” เเย่งลงทุนอาเซียน ส่ง “ดิจิทัลเเบงกิ้ง” เข้าถึงท้องถิ่น https://positioningmag.com/1279921 Mon, 25 May 2020 13:10:07 +0000 https://positioningmag.com/?p=1279921 เห็นได้ชัดว่าช่วงนี้ ธนาคารใหญ่ในไทยกำลังหา “บ่อเงิน” เเห่งใหม่ ด้วยการเข้าไปเจาะประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน
ที่เป็นตลาดเติบโตใหม่ เป็นโอกาสทองที่จะเข้าไปปูทางสร้าง “ดิจิทัลเเบงกิ้ง” ให้เข้าถึงประชากรจำนวนมาก
ในยามที่คู่เเข่งยังไม่เยอะ

ธนาคารกรุงเทพ เพิ่งปิดดีลซื้อ “Permata” เเบงก์ใหญ่อันดับ 12 ของอินโดนีเซียเเบบ “เสร็จสมบูรณ์” ไปหมาดๆ
ขณะที่ “เมียนมา” ดึงดูดสุดๆ ทั้ง SCB เเละ KBANK รุมเเย่งเข้าลงทุน ส่วนกรุงศรี ขอขยับไปลุยฟิลิปปินส์เเละเวียดนาม

อินโดฯ เนื้อหอม ตลาดใหญ่…โตได้อีก

เมื่อ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เพิ่งปิดดีลซื้อ “พอร์มาตา” (Permata) ธนาคารใหญ่อินโดนีเซีย เเบบเสร็จสมบูรณ์ไปเป็นที่เรียบร้อย หลังประกาศทำสัญญาซื้อขายกันมาตั้งเเต่ช่วงปลายปี 2019 โดยมีการโอนเงินกว่า 73,722 ล้านบาทจ่ายค่าหุ้น 89.12% พร้อมเดินหน้าทำคำเสนอซื้อหุ้นที่เหลือทั้งหมดอีก 10.88% จากผู้ถือหุ้นรายย่อยต่อไป ซึ่งจะทำให้ BBL เป็นเจ้าของพอร์มาตา 100% ในอนาคต

BBL ปิดดีลซื้อ “เพอร์มาตา” เเบงก์อินโดฯ โอนเงิน 7.37 หมื่นล้าน จ่ายค่าหุ้น 89.12% เสร็จสมบูรณ์

ถือเป็นดีลประวัติศาสตร์ของเเบงก์ในอาเซียน โดยพอร์มาตา เป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับ 12 ของอินโดนีเซีย มีสินทรัพย์ 366,595 ล้านบาท (หรือประมาณ 167,394,076 ล้านรูเปียห์ หรือ 11,349 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) มีฐานลูกค้าจำนวน 3.75 ล้านราย และสาขา 312 แห่งทั่วอินโดนีเซีย มีจุดเด่นเรื่องฐานเงินฝากและเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูง นับเป็นสมาชิกใหม่ในกลุ่มธุรกิจการเงินของธนาคารกรุงเทพที่มีขนาดใหญ่ที่สุด

ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า การดำเนินการในครั้งนี้
จะส่งผลให้สัดส่วนของสินเชื่อในตลาดต่างประเทศต่อสินเชื่อรวมของ BBL เพิ่มขึ้นจาก 17% เป็น 25%
เป็นไปตามกลยุทธ์เพื่อการเติบโตของธนาคาร โดยวางเป้าหมายจะเจาะลูกค้าลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และ SMEs
ทั้งนี้ BBL ได้เข้าไปเปิดสาขาในกรุงจาการ์ตาเเห่งเเรก มาตั้งเเต่ปี 1968

ตลาดการเงินอินโดนีเซียนั้นหอมหวานในสายตายักษ์ใหญ่การเงินไทยและญี่ปุ่น เพราะธนาคารกรุงเทพไม่ใช่รายเดียวที่สนใจซื้อหุ้นธนาคารอินโดนีเซีย โดย SMFG หรือ Sumitomo Mitsui Financial Group Inc. ก็ยื่นข้อเสนอประมูลครั้งนี้เช่นกัน เเต่พ่ายไป

การเเข่งขันของธุรกิจการเงินในอินโดนีเซียคงดุเดือดต่อไป ด้วยความน่าดึงดูดของศักยภาพการเติบโตด้านเศรษฐกิจ ที่โตกว่า 5% เเละเเม้จะเจอพิษ COVID-19 ในไตรมาส 1/2020 ทำให้ขยายตัวเพียง 2.97% ต่ำสุดในรอบ 19 ปี เเต่ไทยก็จีดีพีหดตัวถึง -1.8%

อีกทั้ง อินโดนีเซียยังมีประชากรกว่า 260 ล้านคน มากเป็นอันดับ 4 ของโลกเเละการเมืองมีเสถียรภาพ ผู้คนในท้องถิ่นอีกจำนวนมหาศาลที่ยังไม่เข้าถึงดิจิทัลเเบงกิ้ง เเละอัตราการเข้าถึงสินเชื่อยังอยู่ในระดับต่ำที่ 36% ในขณะที่ประเทศไทยอัตรานี้เกิน 100% แล้ว เเสดงว่ามี “ช่องว่าง” ของตลาดอีกมาก เป็นโอกาสทองที่ต้องรีบคว้าไว้ให้ได้

ด้านคู่เเข่งอย่าง ธนาคารกสิกรไทย (KBank) ไม่น้อยหน้า บุกตลาดอินโดฯ เช่นเดียวกัน ด้วยการเข้าถือหุ้นในธนาคาร “แมสเปี้ยน” เต็มเพดาน 40% วางเป้าปั้นธุรกรรมดิจิทัล เจาะลูกค้าท้องถิ่น

โดยเมื่อต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา บริษัท กสิกร วิชั่น ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้น ธนาคารแมสเปี้ยน (PT Bank Maspion Indonesia Tbk) ของอินโดนีเซีย ในสัดส่วนถือหุ้นรวมเป็น 40% โดยเป็นการเพิ่มสัดส่วนจากที่ธนาคารกสิกรไทยมีอยู่เดิม 9.99% ตั้งแต่ปี 2017

KBank สยายปีกอาเซียน บุก “อินโดฯ-เมียนมา” ลุยซื้อหุ้นเเบงก์เเมสเปี้ยน 40%

“การเพิ่มสัดส่วนถือหุ้นในธนาคารแมสเปี้ยน ถือเป็นทางเลือกของการเข้าไปลงทุนที่คุ้มค่าต่างจากการที่ต้องเข้าไปลงทุนเองใหม่ทั้งหมด แม้ธนาคารแมสเปี้ยนยังเป็นธนาคารขนาดเล็ก แต่มีเครือข่ายสาขาครอบคลุมครบทุกเมืองสำคัญ” ภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย และประธานกรรมการ บริษัท กสิกร วิชั่น จำกัด (KVision) กล่าว

ธนาคารแมสเปี้ยน (PT Bank Maspion Indonesia Tbk) ในอินโดนีเซีย

ผู้บริหารกสิกรไทย มองว่าอินโดนีเซีย เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่ยังเติบโตและมีอนาคตสดใสในอาเซียน
ที่สามารถใช้ความเชี่ยวชาญทางผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคาร รวมถึงจะใช้รูปแบบการทำธุรกิจที่เป็น Asset-Light และการลงทุนพัฒนาดิจิทัลแบงกิ้ง ตามแนวโน้มพฤติกรรมของลูกค้าในอินโดนีเซียที่จะทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้นเรื่อย ๆ

“KBank จะมุ่งเน้นการให้สินเชื่อให้กับกลุ่มลูกค้าขนาดกลางและย่อมในอินโดฯ โดยใช้ Data Lending และ Formula Lending Model ผลิตภัณฑ์ Payroll เเละขยายธุรกิจร้านค้ารับบัตร รองรับการชำระเงินเเบบไร้เงินสด ผลักดันสินเชื่อมีหลักประกัน เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อบุคคล ฯลฯ”

เปิดโลกดิจิทัล ขุมทรัพย์ “เมียนมา”

นอกจากเข้าลงทุนในอินโดนีเซียเเล้ว KBank ยังขยับไปหาขุมทรัพย์ใหม่ เพื่อนบ้านที่คุ้นเคยกันดีอย่าง “เมียนมา”
โดยธนาคารกสิกรไทย ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการโดยธนาคารกลางของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
ในการเข้าร่วมลงทุนในสัดส่วน 35% ของ ธนาคารเอยาวดี ฟาร์มเมอร์ ดีเวลลอปเม้นท์แบงก์ หรือ เอแบงก์
(Ayeyarwaddy Farmers Development Bank – A bank) ซึ่งธนาคารกสิกรไทย เป็นธนาคารต่างชาติรายแรกที่ได้รับการอนุญาตให้เข้าไปลงทุนในธนาคารพาณิชย์ของเมียนมา

“การร่วมลงทุนในธนาคารกับเอแบงก์ในครั้งนี้ เป็นรูปแบบการเข้าไปดำเนินธุรกิจในประเทศเมียนมา
ที่ใช้เงินลงทุนที่น้อยและมีประสิทธิผลกว่าการเข้าไปดำเนินธุรกิจในรูปแบบสาขาต่างประเทศและธนาคารท้องถิ่น
โดยการเข้าไปร่วมลงทุนในเอแบงก์สามารถดำเนินธุรกิจได้ทันที”

สำหรับ “เอแบงก์” ปัจจุบันมีสินทรัพย์ 314 พันล้านจ๊าด หรือราว 6.4 พันล้านบาท มีทุนจดทะเบียน 40 พันล้านจ๊าด หรือ 820 ล้านบาท ก่อตั้งเมื่อปี 2014

ธนาคารเอยาวดี ฟาร์มเมอร์ ดีเวลลอปเม้นท์แบงก์ หรือ เอแบงก์ (Ayeyarwaddy Farmers Development Bank – A bank) ในเมียนมา

กลยุทธ์ที่สำคัญของ KBank ในการรุกเมียนมา คือการขยายธุรกิจธนาคารดิจิทัล ที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ พัฒนาโมบายล์แอปพลิเคชัน เพื่อครอบคลุมลูกค้าส่วนบุคคลทั่วประเทศ ซึ่งยังมีสัดส่วนในการเข้าถึงธนาคารค่อนข้างต่ำ รวมถึงธุรกิจรับชำระเงิน เพื่อตอบโจทย์การชำระสินค้าและบริการ ซึ่งจะช่วยลดภาระในการใช้และบริหารเงินสดในประเทศรวมถึงจะขยายช่องทางธนาคารตัวแทน (Agent Banking) และการเพิ่มจำนวนเครื่อง ATM ในเมียนมาด้วย

ฝั่ง “ธนาคารไทยพาณิชย์” (SCB) ก็ประกาศบุกเมียนมาเต็มสูบเช่นกัน หลังรับอนุมัติจัดตั้ง “ธนาคารลูก” อย่างเป็นทางการ โดยตั้งเป้า 5 ปี ยอดสินเชื่อแตะ 7 พันล้านบาท เจาะลูกค้าทุกกลุ่มทั้งรายใหญ่ SMEs เเละรายย่อย

อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า
เมียนมาเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจและธุรกิจอันดับต้นๆ ของภูมิภาคที่นักลงทุนจากทั่วทุกมุมโลกให้ความสนใจ

โดยใน 5 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการขยายตัวของจีดีพีเฉลี่ยประมาณ 6-7% และมีมูลค่าการลงทุนตรงจากประเทศไทย (FDI) ที่ได้รับการอนุมัติแล้วจนถึงปัจจุบันที่ 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่เป็นอันดับที่ 3 รองจากสิงคโปร์และจีน นอกจากนั้นประเทศไทยยังเป็นคู่ค้าในลำดับที่ 2 รองจากจีน มีมูลค่าการค้า 7.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2019 โดยไทยพาณิชย์เริ่มต้นให้บริการผ่านสำนักงานผู้แทนธนาคารในเมียนมาตั้งแต่ปี 2012

ทั้งนี้ ภายใต้ Subsidiary License ทำให้สามารถเปิดธนาคารในรูปแบบบริษัทลูกที่มีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นผู้ถือหุ้น 100% และสามารถประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ได้เต็มรูปแบบเหมือนธนาคารท้องถิ่น เเละสามารถเปิดสาขาใน
แหล่งธุรกิจที่สำคัญได้ 10 สาขา

โดย SCB วางแผนจะทำตลาดเจาะลูกค้ารายย่อยชาวเมียนมา ด้วยผลิตภัณฑ์ทางด้านเงินฝาก สินเชื่อบุคคล ดิจิทัลแบงกิ้ง และกลุ่มลูกค้ามั่งคั่ง รวมถึงกลุ่มนักลงทุนไทยที่เข้าไปลงทุนในเมียนมา ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้านักธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนที่เมียนมาและมีความสนใจใช้บริการกับธนาคารแล้วกว่า 100 ราย จากกลุ่มอุปโภคบริโภค พลังงาน นิคมอุตสาหกรรม ภาคการผลิต และอุตสาหกรรมการเกษตร โดยธนาคารตั้งเป้าประมาณการวงเงินสินเชื่อ 7,000 ล้านบาท ภายในปี 2024

“ตลาดลูกค้ารายย่อยของเมียนมา ถือว่าเป็นโอกาสที่น่าสนใจอย่างมากสำหรับธุรกิจธนาคาร ด้วยประชากรกว่า 54
ล้านคน ถือเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพที่ธนาคารจะพัฒนาการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินขั้นพื้นฐานให้แก่ชาวเมียนมา”

ลุยปล่อยสินเชื่อรายย่อย ฟิลิปปินส์-เวียดนาม 

ขณะที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กำลังเดินหน้าร่วมมือกับธนาคารพันธมิตรที่อยู่ในเครือข่าย MUFG ที่เป็นบริษัทเเม่ โดยมีการเข้าไปร่วมทุน (Joint Venture) โดยถือหุ้น 50% ในบริษัท เอสบี ไฟแนนซ์ คอมปานี อิงค์ (SBF)
บริษัทไฟแนนซ์ในฟิลิปปินส์ ซึ่ง SBF เป็นบริษัทลูกของ Security Bank Corporation ที่ทาง MUFG ถือหุ้นอยู่ 20%

“ฐากร ปิยะพันธ์” ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์เเละผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม กล่าวว่า มีการศึกษาตลาดเเละเตรียมเเผนงานร่วมกันเรียบร้อย ซึ่งจะเริ่มรุกตลาดด้วยสินเชื่อส่วนบุคคลก่อน จะนำกรุงศรี เฟิร์สช้อยส์ ไปทดลองเเละดูว่าเเบบไหนได้ผลดี จากนั้นปีต่อไปจึงจะขยายไปสินเชื่อรถจักรยานยนต์และรถยนต์

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรุงศรี คอนซูเมอร์ ได้เริ่มธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ในลาว (asset รวมอยู่ที่ 6 พันล้านบาท) และธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ในกัมพูชา (asset รวมอยู่ที่ 3.3 พันล้านบาท)

นอกจากฟิลิปปินส์เเล้ว ในเเผนประจำปี 2020 ของกรุงศรียังกำลังมองหาโอกาสลงทุนในเวียดนามเเละอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดใหญ่เเละมีการเติบโตสูงในกลุ่ม CLMV คาดว่าจะมีการนำ “สินเชื่อรายย่อย” ไปตีตลาดก่อน จากนั้นจึงขยายไปสู่ธุรกิจใหญ่เเละบริการอื่นๆ

ธุรกิจการเงินในไทยต้องเเข่งขันสูง มีกฎเข้มงวดเเถมตลาดยังอิ่มตัวเเล้ว ส่วนตลาดในประเทศเพื่อนบ้านยังเติบโตได้อีก เเน่นอนว่าหลังผ่านพ้นวิกฤต COVID-19 เราคงจะได้เห็น “เเบงก์ไทย” หาลู่ทางสู่โอกาสใหม่กันอีกหลายเจ้า

]]>
1279921
เขย่าวงการประกัน-การเงิน “เจ้าสัวเจริญ” เดินเกมลัด ตั้ง “โฮลดิ้ง” ทุ่ม 25,000 ล้านบาท ฮุบ “ไทยประกันภัย” https://positioningmag.com/1169543 Fri, 11 May 2018 04:52:03 +0000 https://positioningmag.com/?p=1169543 นับเป็น “บิ๊กดีล” ของ “เสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี” อีกครั้ง หลังจากลุยซื้อดะ! ทั้งกิจการอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงค้าปลีก ใช้เงินปีละเป็น “แสนๆ ล้านบาท” คราวนี้ถึงคิวธุรกิจการเงินกัน เมื่อ “บริษัท เครืออาคเนย์ จำกัด” (SEG) ของเจ้าสัว ได้ยื่นข้อเสนอเป็น “พันธมิตร” กับ “บริษัทไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน)” หรือ TIC 

เมื่อ TIC ตอบรับข้อเสนอดังกล่าวพร้อมร่อนรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ถึงการปรับโครงสร้างธุรกิจของเครืออาคเนย์ที่จะโอนกิจการทั้งหมดที่มี ไปอยู่ในบริษัทใหม่ “เครือไทย โฮลดิ้งส์” ที่มีทุนจดทะเบียนตั้งต้น 10,000 บาท และบริษัทเครือไทย โฮลดิ้งส์ จะออกหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 730.14 หุ้น ราคาหุ้นละ 34.14 บาท มูลค่ารวมทั้งสิ้นไม่เกิน 25,000 ล้านบาท ให้ค่าโอนกิจการทั้งหมดเครืออาคเนย์แทนการชำระด้วยเงินสด

สำหรับทรัพย์สินที่เครืออาคเนย์จะโอนเข้าโฮลดิ้ง ประกอบด้วย บริษัท อาคเนย์ประกันชีวิต สัดส่วน 99.97% บริษัทอาคเนย์ประกันภัย 97.33% และ (3) บริษัทอื่นๆ อีก 10 บริษัท ประกอบด้วย 1.บริษัท อาคเนย์แคปปิตอล จำกัด 2.บริษัท อาคเนย์แอดไวซ์เซอรี่ จำกัด 3.บริษัท ทีซีซีพริวิเลจการ์ด จำกัด 4.บริษัท ศูนย์วิชาการอาคเนย์ จำกัด 5.บริษัท เอเชียติ๊กเฮาส์ จำกัด 6.SOUTHEAST ADVISORY PTE. LTD. 7. บริษัท รถดีเด็ด ออโต้ จำกัด  8.บริษัท เอสโซฟิน จำกัด 9.บริษัท ทิพยประกันภัย (สปป. ลาว) จำกัด และ 10.ASIAN REINSURANCE CORPORATIO

บริษัทโฮลดิ้ง ยังเตรียมยังตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้น TIC ในราคาหุ้นละ 34.24 บาท กรณีที่ไม่ต้องการแลกหุ้นโฮลดิ้ง ที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแทนไทยประกันภัยที่จะทำการเพิกถอนหุ้นออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วย ทำให้เครืออาคเนย์เข้าตลาดทางอ้อม (Backdoor Listing)

นอกจากนี้ หลังจากเครืออาคเนย์ข้าไปมีอำนาจในการควบคุมกิจการของ “ไทยประกันภัย” ผ่านบริษัทโฮลดิ้ง และปรับโครงสร้างกิจการแล้วเสร็จตามแผน เครืออาคเนย์ยังเตรียมทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทโดยความสมัครใจแบบมีเงื่อนไข (Conditional Voluntary Tender Offer) เพื่อเป็นทางเลือกลำดับแรกให้กับผู้ถือหุ้นของไทยประกัน ที่ต้องการขายหุ้นของบริษัท และรับชำระเป็นเงินสดในราคาเสนอซื้อหุ้นละ 32.24 บาทด้วย

อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งนี้ ยังต้องติดตามการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2561 ในวันที่ 15 มิ.ย. 2561 เพื่อพิจารณาอนุมัติก่อน โดยการปิดดีลจะต้องได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4

ส่วนเหตุผลของการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งนี้ ไทยประกันภัยระบุว่าจะช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการขยายธุรกิจในด้านต่างๆ และช่วยเปิดโอกาสในการพิจารณาการลงทุนในธุรกิจประกันภัยและธุรกิจอื่นๆ ที่สร้าง “ผลตอบแทนที่ดี” ในระยะยาวได้ ที่สำคัญจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นของโครงสร้างการจัดการขององค์กร เพื่อให้เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจในอนาคตด้วย

ภายหลังการปรับโครงสร้างธุรกิจ บริษัทโฮลดิ้งจะมีธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น มีการแบ่งแยกบริษัทตามสายธุรกิจที่ชัดเจน สามารถกำหนดขอบเขตหน้าที่รับผิดชอบของบุคลากรในแต่ละสายงานให้ชัดยิ่งขึ้น มีผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ดูแลสายธุรกิจนั้นๆ ที่สำคัญคือแบ่งแยกการบริหารจัดการด้านการเงินของแต่ละธุรกิจให้มีประสิทธิภาพยิ่งกว่าเดิมนั่นเอง

++ รู้จักไทยประกันภัย ที่ “เจ้าสัว” ทุ่มหมื่นล้านซื้อกิจการ

ต้องบอกว่านี่คือบริษัทประกันวินาศภัยแห่งแรกในประเทศไทยที่มี “ผู้ถือหุ้น” เป็น “คนไทย” ทั้งหมด โดยธุรกิจของ TIC มีครบประกันวินาศภัย 4 ประเภท ได้แก่ การรับประกันอัคคีภัย มีลูกค้าครอบคลุมโรงงาน ที่อยู่อาศัย การสต๊อกสินค้า การรับประกันภัยทางทะเลและขนส่ง คุ้มครองความสูญเสีย ความเสียหายของสินค้าที่นำเข้าและส่งออก การรับประกันภัยรถยนต์ และการรับประกันภัยเบ็ดเตล็ด เช่น ประกันอุบัตเหตุส่วนบุคคล อุบัติเหตุการเดินทาง เป็นต้น และสามารถทำรายได้ปี 2560 อยู่ที่ 1,319 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 76 ล้านบาท

ปัจจุบัน “ตระกูลตู้จินดา” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยก่อนทำรายการควบรวมกิจการดังกล่าว โครงสร้างการถือครองหุ้น ณ วันที่ 2 เม.ย. 2560 เป็นดังนี้  “ไพสิฐ ตู้จินดา” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 21.17% ตามด้วย “ไพเราะ ตู้จินดา” 17.86% “ทวีรัช ปรุงพัฒนสกุล” 12.77% สำนักงานพระคลังข้างที่ 4.85% และบริษัท รวมทนุไทย จำกัด ถือ 3.75%

ส่วนคาดการณ์หลังปรับโครงสร้างบริษัทโฮลดิ้ง การถือหุ้นจะเป็นดังนี้ เครืออาคเนย์ (SEG) ถือหุ้นใหญ่ 96.88% ตามด้วย ไพสิฐ 0.66% ไพเราะ 0.56% ทวีรัช 0.40% สำนักงานพระยาคลังข้างที่ 0.15% และบริษัท รวมทนุไทย 0.12%

เปิดปูมธุรกิจการเงิน “เจ้าสัวเจริญ”

หากพูดถึงอาณาจักร “ไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น” ของ เจ้าสัวเจริญ-คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี” ประชาชนจะคุ้นชื่อ “ไทยเบฟเวอเรจ” ยักษ์ใหญ่เครื่องดื่มที่ขายเหล้าเบียร์จนรวยอื้อซ่า และ “เบอร์ลี่ ยุคเกอร์” นอกจากมีสินค้าอุปโภคบริโภคดังอย่างสบู่นกแก้ว มันฝรั่งเทสโต ยังมีโมเดิร์นเทรดในมืออย่าง “บิ๊กซี” ด้วย “ทีซีซี แลนด์” อสังหาริมทรัพย์ที่มีทั้งที่ดินมากมายทั่วไทย โรงแรมดังทั้งไทยและต่างประเทศกว่า 11 ประเทศ มีห้องพักกว่า 10,000 ห้องทั่วโลก และธุรกิจเกษตรอย่าง “พรรณธิอร” ทำสวนปาล์ม ยางพารา ปลูกกาแฟในไทย เขมร ลาว ส่วน “เครืออาคเนย์” เป็นหัวหอกขยายธุรกิจประกันและการเงิน ที่มี “เจ้าสัวและคุณหญิง” ถือหุ้นใหญ่รวมกัน 51% อีก 49% ถือโดยเดอะ เซาท์อีสท์ กรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล ลิมิเต็ด

เพราะ “เทกโอเวอร์” เป็นทางลัดในการขยายอาณาจักรให้เติบโตที่เจ้าสัวใช้มาตลอด เช่นเดียวกับ “เครืออาคเนย์” ที่เจ้าสัวเจริญซื้อมาตั้งแต่ปี 2529 จากความช่วยเหลือของ “พ่อตา” ของเขา

ปัจจุบันเครืออาคเนย์มีธุรกิจประกันหลากหลาย เช่น ประกันภัยรถยนต์ ประกันอัคคีภัย ในปี 2560 ที่ผ่านมา บริษัททำรายได้รวมมากกว่า 22,000 ล้านบาท โตจากปี 2559 มีรายได้กว่า 16,000 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 946 ล้านบาท ลดลงจากปี 2559 มีกำไรกว่า 1,205 ล้านบาท.

]]>
1169543