KBank บุกหนักตลาดอาเซียน ลุยตลาดอินโดฯ เข้าถือหุ้นในธนาคาร “แมสเปี้ยน” เต็มเพดาน 40% ปั้นธุรกรรมดิจิทัล เจาะลูกค้าท้องถิ่น ฟาก “เมียนมา” ไม่น้อยหน้า เตรียมถือหุ้น “เอแบงก์” 35% หลังได้ไฟเขียวลงทุนในธนาคารพาณิชย์เมียนมาเป็นรายแรก
มองตลาดอินโดฯ สดใส ส่ง “ดิจิทัลเเบงกิ้ง” เข้าถึงท้องถิ่น
ภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย และประธานกรรมการ บริษัท กสิกร วิชั่น จำกัด (KVision) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2563 บริษัท กสิกร วิชั่น ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นธนาคารแมสเปี้ยน (PT Bank Maspion Indonesia Tbk) ประเทศอินโดนีเซีย ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นรวมเป็น 40% ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงสุดที่สำนักงานกำกับดูแลธุรกิจการเงินของอินโดนีเซีย (Otoritas Jasa Keuangan หรือ OJK) อนุญาตภายใต้กฎการถือครองหุ้นธนาคารในอินโดนีเซียโดยผู้ถือหุ้นที่เป็นธนาคารพาณิชย์ โดยเป็นการเพิ่มสัดส่วนจากที่ธนาคารกสิกรไทยมีอยู่เดิม 9.99% ตั้งแต่ปี 2560
“การเพิ่มสัดส่วนถือหุ้นในธนาคารแมสเปี้ยน ถือเป็นทางเลือกของการเข้าไปลงทุนที่คุ้มค่า ต่างจากการที่ต้องเข้าไปลงทุนเองใหม่ทั้งหมด แม้ธนาคารแมสเปี้ยนยังเป็นธนาคารขนาดเล็ก แต่มีเครือข่ายสาขาครอบคลุมครบทุกเมืองสำคัญ พร้อมเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่แข็งแกร่งสามารถต่อยอดความสัมพันธ์ของธุรกิจหลากหลายในทุกกลุ่มลูกค้า”
ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยได้เข้าไปศึกษาและร่วมทำงานกับทีมงานของธนาคารแมสเปี้ยนเป็นเวลากว่า 2 ปี ทำให้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจที่มากมายในอินโดนีเซีย
“อินโดนีเซีย เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่ยังเติบโตและมีอนาคตสดใสในอาเซียน ที่สามารถใช้ความเชี่ยวชาญทางผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคาร รวมถึงจะใช้รูปแบบการทำธุรกิจที่เป็น Asset-Light และการลงทุนพัฒนาดิจิทัล แบงกิ้ง ตามแนวโน้มพฤติกรรมของลูกค้าในอินโดนีเซียที่จะทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงเป็นการร่วมกันผนึกกำลังครั้งสำคัญ เพื่อนำจุดแข็งของสองธนาคารไปต่อยอดพัฒนาบริการของธนาคารพาณิชย์ในอินโดนีเซีย
โดย KBank จะใช้กลยุทธ์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการตามกลุ่มลูกค้า ดังต่อไปนี้
กลุ่มธุรกิจบรรษัทขนาดใหญ่
สนับสนุนธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยและต่างชาติที่ลงทุนในอินโดนีเซียรวมถึงกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในอินโดนีเซีย ด้วยผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทั้งสินเชื่อและบริการการจัดการทางการเงิน รวมทั้งพัฒนาช่องทางอินเทอร์เนท แบงกิ้งและผลิตภัณฑ์ Payroll เพื่อเพิ่มความสะดวกและหลากหลายในการใช้บริการของลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล
กลุ่มลูกค้า SMEs
มุ่งเน้นการให้สินเชื่อให้กับกลุ่มลูกค้าขนาดกลางและย่อมโดยใช้ Data Lending และ Formula Lending Model เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการปล่อยสินเชื่อ รวมทั้งขยายธุรกิจร้านค้ารับบัตร (Acquiring Business) เพื่อรองรับการชำระเงินแบบ Non-Cash Payment
กลุ่มลูกค้าบุคคล
นำนวัตกรรมมาปรับปรุงระบบโมบายแบงกิ้งที่มีให้ดียิ่งขึ้น และผลักดันสินเชื่อมีหลักประกัน เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อบุคคล รวมถึงพัฒนา Data Analytic Lending Platform โดยใช้ Data จากธุรกิจร้านค้ารับบัตร
“การเข้าถือหุ้นในธนาคารแมสเปี้ยนเพิ่มในครั้งนี้ ได้รับการอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติจากสำนักงานกำกับดูแลธุรกิจการเงินของอินโดนีเซีย (OJK) ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกลางปีนี้”
ทั้งนี้ การลงทุนในธนาคารแมสเปี้ยน ธนาคารกสิกรไทยดำเนินการผ่าน บริษัท กสิกร วิชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลงทุน (Investment Holding Company) ที่ธนาคารกสิกรไทยถือครองหุ้น 100% ในลักษณะเดียวกับการเข้าไปลงทุนในธนาคารเอแบงก์ของเมียนมา โดยจะใช้เงินลงทุนรวมไม่เกิน 130 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โอกาสทอง “เมียนมา” เข้าถือหุ้น “เอแบงก์” 35%
ธนาคารกสิกรไทยอนุมัติอย่างเป็นทางการโดยธนาคารกลางของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ในการเข้าร่วมลงทุนในสัดส่วน 35% ของธนาคารเอยาวดี ฟาร์มเมอร์ ดีเวลลอปเม้นท์แบงก์ หรือ เอแบงก์ (Ayeyarwaddy Farmers Development Bank – A bank) ซึ่งธนาคารกสิกรไทย เป็นธนาคารต่างชาติรายแรกที่ได้รับการอนุญาตให้เข้าไปลงทุนในธนาคารพาณิชย์ของเมียนมา
“การร่วมลงทุนในธนาคารกับเอแบงก์ในครั้งนี้ เป็นรูปแบบการเข้าไปดำเนินธุรกิจในประเทศเมียนมาที่ใช้เงินลงทุนที่น้อยและมีประสิทธิผลกว่าการเข้าไปดำเนินธุรกิจในรูปแบบสาขาต่างประเทศและธนาคารท้องถิ่น โดยการเข้าไปร่วมลงทุนในเอแบงก์สามารถดำเนินธุรกิจได้ทันที”
ทั้งนี้ เอแบงก์ ปัจจุบันมีสินทรัพย์ 314 พันล้านจ๊าด หรือ 6.4 พันล้านบาท มีทุนจดทะเบียน 40 พันล้านจ๊าด หรือ 820 ล้านบาท ก่อตั้งเมื่อปี 2557
โดยหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญของกสิกรไทยในเมียนมา คือการขยายธุรกิจธนาคารดิจิทัล ที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งในส่วนของการพัฒนาโมบายล์แอปพลิเคชัน เพื่อครอบคลุมลูกค้าส่วนบุคคลทั่วประเทศ ซึ่งยังมีสัดส่วนในการเข้าถึงธนาคารค่อนข้างต่ำ รวมถึงธุรกิจรับชำระเงิน เพื่อตอบโจทย์การชำระสินค้าและบริการ ซึ่งจะช่วยลดภาระในการใช้และบริหารเงินสดในประเทศ
นอกจากนี้ยังจะมุ่งเน้นสร้างช่องทางของธนาคาร เพื่อให้ลูกค้าส่วนบุคคลสามารถเข้าถึงและทำธุรกรรมได้ ผ่านช่องทางธนาคารตัวแทน (Agent Banking) และการขยายจำนวนเครื่อง ATM ในเมียนมา
ฟากฝั่ง “ธนาคารไทยพาณิชย์” หรือ SCB ก็เพิ่งประกาศบุกเมียนมาเต็มสูบเช่นกัน หลังรับอนุมัติจัดตั้ง “ธนาคารลูก” อย่างเป็นทางการ โดยตั้งเป้า 5 ปี ยอดสินเชื่อแตะ 7 พันล้านบาท เจาะลูกค้าทุกกลุ่มทั้งรายใหญ่ SMEs เเละรายย่อย
อ่านเพิ่มเติม : SCB บุกตลาด “เมียนมา” เต็มสูบ จัดตั้งธนาคารลูก วางเป้ายอดสินเชื่อเเตะ 7 พันล้านใน 5 ปี