เเบงก์ใหญ่ในไทย พาเหรดเข้าลงทุนอาเซียน ยกเป็นตลาดเติบโตใหม่ ล่าสุด “ไทยพาณิชย์” บุกเมียนมาเต็มสูบ หลังรับอนุมัติจัดตั้งธนาคารลูก ตั้งเป้า 5 ปี ยอดสินเชื่อแตะ 7 พันล้านบาท เจาะลูกค้าทุกกลุ่มทั้งรายใหญ่ SMEs เเละรายย่อย
ทำไมถึงเลือก “เมียนมา” ?
อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า เมียนมาเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจและธุรกิจอันดับต้นๆ ของภูมิภาคที่นักลงทุนจากทั่วทุกมุมโลกให้ความสนใจ
โดยใน 5 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการขยายตัวของจีดีพีเฉลี่ยประมาณ 6-7% และมีมูลค่าการลงทุนตรงจากประเทศไทย (FDI) ที่ได้รับการอนุมัติแล้วจนถึงปัจจุบันที่ 11 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่เป็นอันดับที่ 3 รองจากสิงคโปร์ และจีน นอกจากนั้นประเทศไทยยังเป็นคู่ค้าในลำดับที่ 2 รองจากจีน มีมูลค่าการค้า 7.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2562 โดยไทยพาณิชย์เริ่มต้นให้บริการผ่านสำนักงานผู้แทนธนาคารในเมียนมาตั้งแต่ปี 2555
“วันนี้เราได้รับอนุมัติจากธนาคารกลางเมียนมาให้จัดตั้งธุรกิจแบบจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลตามกฎหมายเมียนมา (Subsidiary Bank) ทำให้สามารถเปิดธนาคารในรูปแบบบริษัทลูกที่มีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นผู้ถือหุ้น 100% และสามารถประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ได้เต็มรูปแบบเสมือนธนาคารท้องถิ่นในเมียนมา”
ทั้งนี้ ภายใต้ Subsidiary License ทำให้ธนาคารสามารถเปิดสาขาในแหล่งธุรกิจที่สำคัญได้ถึง 10 สาขา
ปูทางลูกค้าไทยลงทุนในเมียนมา
ผู้บริหาร SCB เปิดเผยว่าในระยะแรก ธนาคารจะมุ่งตอบสนองความต้องการให้กับลูกค้าธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนแล้ว และที่ต้องการเข้าไปขยายธุรกิจทั้งด้านการค้าและการลงทุนในเมียนมา ด้วยโซลูชั่นทางการเงินเพื่อธุรกิจการค้าครบวงจร อาทิ สินเชื่อ อัตราแลกเปลี่ยน ธุรกรรมการค้า ซัพพลายเชน และบริหารเงินสด เป็นต้น
“ด้วยแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในทุกภาคอุตสาหกรรม และจุดเด่นที่ทำให้เมียนมาเป็นที่สนใจของนักลงทุนจากต่างชาติอีกประการหนึ่งคือ ค่าแรงที่อยู่ในระดับไม่สูงมากนักของแรงงานเมียนมา จึงเป็นโอกาสของนักลงทุนไทยที่จะเข้ามาใช้เมียนมาเป็นฐานการผลิตและส่งออกไปทั่วภูมิภาคได้”
ปัจจุบันมีลูกค้านักธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนที่เมียนมาและมีความสนใจใช้บริการกับธนาคารแล้วกว่า 100 ราย จากกลุ่มอุปโภคบริโภค พลังงาน นิคมอุตสาหกรรม ภาคการผลิต และอุตสาหกรรมการเกษตร โดยธนาคารตั้งเป้าประมาณการวงเงินสินเชื่อ 7,000 ล้านบาท ภายในปี 2567
โอกาสตีตลาดคนท้องถิ่น
SCB จะได้รับอนุญาตให้บริการทางการเงินสำหรับลูกค้ารายย่อยของเมียนมาได้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป
“ตลาดลูกค้ารายย่อยของเมียนมานั้น ถือว่าเป็นโอกาสที่น่าสนใจอย่างมากสำหรับธุรกิจธนาคาร ด้วยประชากรกว่า 54 ล้านคนถือเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพที่ธนาคารจะพัฒนาการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินขั้นพื้นฐานให้แก่ชาวเมียนมา”
ทั้งนี้ ธนาคารวางแผนที่จะพิจารณาการให้บริการลูกค้ารายย่อยชาวเมียนมาด้วยผลิตภัณฑ์ทางด้านเงินฝาก สินเชื่อบุคคล ดิจิทัลแบงกิ้ง และกลุ่มลูกค้ามั่งคั่งอีกด้วย
ปัจจุบันไทยพาณิชย์ มีเครือข่ายครอบคลุมกลุ่มประเทศ CLMV+2 ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม จีน และสิงคโปร์ โดยหวังจะเป็นสะพานเชื่อมดึงนักลงทุนต่างชาติมายังไทย เมียนมา เเละประเทศอื่นในลุ่มแม่น้ำโขง
ด้านธนาคารใหญ่อีกเจ้าอย่างกสิกรไทย หรือ KBank ในช่วงต้นปีมีข่าวว่า กำลังเจรจาที่จะเข้าไปทำธุรกิจธนาคารในเมียนมาเช่นกัน โดยความเป็นไปได้ของการเข้าลงทุน ยังอยู่ในระหว่างขั้นตอนของการพิจารณา ของธนาคารกลางแห่งเมียนมา ซึ่งอาจจะมีดำเนินธุรกิจได้ใน 3 รูปแบบ คือ
- จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารต่างประเทศ (Subsidiary)
- จัดตั้งสาขาต่างประเทศของธนาคารกสิกรไทยในเมียนมา (Foreign Bank Branch)
- การเข้าร่วมลงทุนในธนาคารท้องถิ่นในประเทศเมียนมา (Equity Participation)
ส่วนเเบงก์ “กรุงศรีอยุธยา” ประกาศวางเเผนธุรกิจ ปี 2020 เพื่อขยายธุรกิจไปอาเซียน โดยตอนนี้มีความร่วมมือกับธนาคารพันธมิตรที่อยู่ในเครือข่าย MUFG ที่เป็นบริษัทเเม่ เเละมีพันธมิตรที่ร่วมลงทุนในประเทศฟิลิปปินส์ กัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งกำลังมองหาโอกาสลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเวียดนามกับอินโดนีเซีย