เปิดแผนปี 2563 ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา กังวลไวรัส COVID-19 กระทบเศรษฐกิจไทย จ่อปรับลด GDP ลงไม่ถึง 2.5% เน้นรักษาพอร์ตสินเชื่อรายย่อย-สินเชื่อธุรกิจ 50% เพื่อลดผลกระทบดอกเบี้ยขาลง ย้ำพยายามคุมหนี้ NPL ไม่เกิน 2.5% วางกลยุทธ์การเงินดิจิทัลเต็มตัว เผยสนใจลงทุนเวียดนาม อินโดฯ
เซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ในปี 2563 ยังเป็นความท้าทายในการทำธุรกิจ โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตเเบบชะลอตัว เเละต่ำกว่าศักยภาพ ส่วนเศรษฐกิจโลกมีทิศทางที่ดีขึ้น เเต่การฟื้นตัวยังคงเปราะบาง
“ในปีนี้กรุงศรีฯ ตั้งเป้าการเติบโตของสินเชื่อที่ระดับ 5-7% และมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิที่ 3.4-3.6% การเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอยู่ในช่วง -3% ถึง 3% และอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 2.5%”
อย่างไรก็ตาม ธนาคารกำลังทบทวนปรับลดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP เพราะก่อนหน้านี้ ธนาคารไม่ได้รวมการคำนวณปัจจัยผลกระทบการระบาดไวรัสโคโรนา COVID -19 ในแผนธุรกิจปี 2563 จากเดิมที่เคยตั้งเป้าการเติบโตสินเชื่ออยู่ที่ 5-7% ภายใต้ GDP 2.5% ซึ่งจะมีการประกาศตัวเลขใหม่เร็วๆ นี้
ทั้งนี้ เป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อ 5-7% แบ่งเป็น สินเชื่อรายใหญ่เติบโต 4-6% ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 5-7% และธุรกิจรายย่อยตั้งเป้าเติบโต 5-7% ซึ่งแบ่งเป็น สินเชื่อรถยนต์ 6-8% สินเชื่อที่อยู่อาศัย 4-6% และสินเชื่อบัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคล 4-6%
สำหรับ “หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้” (NPL) อาคิตะ มองว่ามีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเเตะระดับ 2.5% จากปีที่เเล้วอยู่ที่ 1.98% ซึ่งมาจากปัจจัยเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเเละสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เเต่ทางธนาคารเชื่อว่าจะบริหารให้เป็นไปตามกรอบที่วางไว้ได้
ขณะที่ “รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย” (ค่าธรรมเนียมต่างๆ) ที่ทางธนาคารตั้งเป้าไว้ที่ -3 ถึง 3% คาดว่าสามารถรักษาให้อยู่ในกรอบนี้ได้ เเม้ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะออกหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเรื่องค่าธรรมเนียมออกมาก็ตาม โดยกรุงศรีมีเเนวทางดูเเลความสมดุลของ “พอร์ตสินเชื่อ” ระหว่างสินเชื่อรายย่อย 50% และสินเชื่อธุรกิจ 50% ซึ่งทำให้ธนาคารรักษารายได้ดีและมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่ 3.4-3.6%
สำหรับแผนเชิงยุทธศาสตร์ของกรุงศรีในปีนี้ จะมี 3 ด้านที่ครอบคลุมลูกค้าทุกกลุ่ม ได้เเก่
- ยกระดับประสบการณ์ลูกค้า
ธนาคารจะเน้นเรื่อง Digital Transformation ให้มาอยู่ในผลิตภัณฑ์การเงินต่างๆ เช่นสินเชื่อดิจิทัล ผลิตภัณฑ์เกี่ยวข้องกับสกุลเงินต่างประเทศ การนำระบบติดตามขั้นตอนการทำงานของพนักงานในการให้บริการของลูกค้า รวมถึงจะมีการเข้าถึงลูกค้าเเบบ Omni Channel มากขึ้น
- ใช้ประโยชน์จากศักยภาพด้านข้อมูล
จะมีการนำเทคโนโลยี AI เเละ Machine Learning มาวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อที่จะเข้าใจลูกค้ามากยิ่งขึ้น รวมถึงการใช้ ระบบ Automation ต่างๆ เพื่อทำให้ระบบการทำงานรวดเร็วมากขึ้น เเละธนาคารยังจะบริหารความเสี่ยงโดยใช้ AI มาช่วยอีกด้วย
- เน้นกลยุทธ์ความร่วมมือกับพันธมิตร
ปีนี้กลยุทธ์ของกรุงศรีจะให้ความสำคัญการพัฒนา Ecosystem เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ลูกค้า ยกตัวอย่างเช่น มีการ
พัฒนาเเพลตฟอร์ม “พร้อมสตาร์ท” ที่เป็นไลฟ์สไตล์ของคนใช้รถ ของกรุงศรี ออโต้ที่ให้บริการสินเชื่อยานยนต์
นอกจากนี้ ในปี 2563 กรุงศรีตั้งเป้าหมายลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 7.5 ล้านกิโลกรัมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ในการดำเนินงานในทุกกิจกรรมของธนาคาร รวมทั้งการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของประเทศ
ส่วนเป้าหมายการขยายธุรกิจไปต่างประเทศนั้น ผู้บริหารกรุงศรี ตอบว่า ตอนนี้มีความร่วมมือกับธนาคารพันธมิตรที่อยู่ในเครือข่าย MUFG ที่เป็นบริษัทเเม่ เเละมีพันธมิตรที่ร่วมลงทุนในประเทศฟิลิปปินส์ กัมพูชา ลาว และเมียนมา โดยกำลังมองหาโอกาสลงทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกำลังสนใจเวียดนาม กับอินโดนีเซีย
“เเผนการขยายไปต่างประเทศ เราดูไว้ทุกแนวทาง ไม่ได้เน้นว่าจะต้องซื้อกิจการแต่อย่างเดียว”
ทั้งนี้ ผลประกอบการของธนาคารกรุงศรี ในปี 2562 มีกำไรสุทธิ 32.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% จากปี 2561
ด้านการขยายสาขาเเละการเพิ่มหรือลดพนักงานนั้น อาคิตะ ตอบว่า “ปีนี้จะไม่เพิ่มและไม่ลด ทั้งสาขาเเละพนักงาน” โดยจากข้อมูลของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ล่าสุดมีช่องทางการให้บริการ (Service Outlets) เเบ่งเป็น
• 650 สาขาที่ให้บริการทางการเงินในรูปแบบปกติ
• 40 สาขาที่ให้บริการเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์
• 6,750 ATMs
• 83 เคาน์เตอร์แลกเปลี่ยนเงินต่างประเทศ
• 6 ศูนย์บริการ และห้องรับรอง KRUNGSRI EXCLUSIVE
• 5 ศูนย์บริการ Krungsri The Advisory
• 62 ศูนย์บริการ Krungsri Business Centers
• จำนวนสาขา BANKING AGENTS 142,100+ touch points