ดุเดือดขึ้นทุกปีสำหรับสงคราม ‘Music Streaming’ ที่มีผู้เล่นรายใหม่ ๆ เข้ามาทำตลาดแทบจะทุกปี ล่าสุด ก็มี ‘YouTube Music’ เข้ามาร่วมวง ขณะที่ ‘JOOX’ ผู้บุกเบิกตลาดในไทย ที่ปัจจุบันยืนหนึ่งในตลาดก็พร้อมที่จะงัดทุกกลยุทธ์มาสู้ศึกนี้ ที่ไม่ใช่เพียงเป็นการรักษาตำแหน่งแชมป์ แต่ยังสร้างการเติบโตยิ่งขึ้นไปอีก
กฤตธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้บริหาร JOOX ประเทศไทย กล่าวว่า ภาพรวมของ JOOX ในปีที่ผ่านมารวม 5 ประเทศมียอดผู้ใช้กว่า 290 ล้านราย ได้แก่ ไทย พม่า อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฮ่องกง โดยมียอดการฟัง (Play Time) รวมกว่า 15,000 ล้านครั้ง สำหรับเฉพาะ ประเทศไทย ปีที่ผ่านมามียอดดาวน์โหลดกว่า 70 ล้านครั้ง มีจำนวนการฟังกว่า 6 พันล้านครั้ง เป็น Top 10 แอปที่มียอดดาวน์โหลดและแอปที่มีการใช้จ่ายมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมดนตรีทั่วโลกน่าจับตามองเป็นอย่างมาก โดยข้อมูลจาก IFPI Global Music Report ระบุว่า ในปี 2018 อุตสาหกรรมดนตรีทั่วโลกมีมูลค่าถึง 1.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตขึ้น 9.7% ขณะที่ตลาด ‘เพลงดิจิทัล’ ทั่วโลกมีสัดส่วน 58.9% ของมูลค่าอุตสาหกรรมเพลงทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าถึง 1.1 หมื่นล้านเหรียสหรัฐ เติบโตกว่า 21% โดยตลาด ‘มิวสิกสตรีมมิ่ง’ โตขึ้นถึง 34% มีมูลค่า 8.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ การเก็บค่าบริการเติบโตถึง 32.9%
“ตอนนี้ตลาดมิวสิกดิจิทัลเติบโตถึง 21.1% ขณะที่มูลค่าการดาวน์โหลดลดลง 21.2% ส่วนรายได้จาก Physical หรือการขายแผ่นต่าง ๆ มีมูลค่า 4.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 10.1%”
จากการเติบโตดังกล่าว จึงมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง อาทิ ‘YouTube Music’ แต่ JOOX เองไม่ได้มองว่าเป็นคู่แข่ง เพราะเป็นคนละกลุ่มตลาดมากกว่า เนื่องจากคนใช้ JOOX ยังคงใช้งานต่อเนื่อง ถ้าไม่ชอบคงกลับไปใช้ YouTube แทน อีกทั้งยังมองว่าผู้บริโภคสามารถเลือกฟังได้หลากหลาย ไม่จำเป็นต้องฟังใครรายใดรายหนึ่ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการมีออริจินอลคอนเทนต์จะเป็นตัวดึงดูดผู้ใช้
สำหรับกลยุทธ์ในปีนี้ JOOX แบ่งเป็น 3 ส่วน 1.นวัตกรรม นอกเหนือจากการเพิ่มฟีเจอร์อย่างไลฟ์วิดีโอ, คาราโอเกะ และการขยายช่องทางการรับฟัง ทั้งสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ ปีนี้ JOOX จะเน้นเรื่อง Personalize โดยใช้ AI เข้ามาช่วยจัดการข้อมูลการใช้งาน เพื่อเลือกเพลงให้ตรงตามความต้องการมากขึ้น
2.Original Contents โดยจะมีการทำโปรเจกต์พิเศษร่วมกับค่ายเพลงและศิลปิน อาทิ การ collaboration, การนำเพลงเก่ามาทำใหม่, เพิ่ม Podcast และมีการครอสโปรโมตเพลงประกอบละครหรือภาพยนตร์ร่วมกับ ‘WeTV’ ซึ่งในปีที่ผ่านมาโปรเจกต์พิเศษของ JOOX มียอดการฟังกว่า 284 ล้านครั้ง เติบโตกว่า 102%
“เรามองว่าโอกาสสร้างการเติบโตในปี 2020 มาจากกลุ่มอายุ 35 ปีขึ้นไป เพราะตลาดเลยจุดของ early adopter มาแล้ว โดย 70% ของผู้ใช้เราอายุต่ำกว่า 35 ปี ดังนั้นเราจึงเพิ่ม Podcast รวมทั้งนำเพลงเก่ามาทำใหม่ และอีกส่วนที่มาแรงคือ เพลงประกอบละครหรือภาพยนตร์ เราเองจะมีการครอสโปรโมตกันกับ WeTV ด้วย”
กลยุทธ์สุดท้าย 3.Community โดยมีกิจกรรม O2O (Online To Offline) อาทิ JOOX Thailand Music Award ที่มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน มียอดชมงานกว่า 1 ล้านครั้ง หรือคอนเสิร์ต Thailand Top 100 มีผู้เข้าร่วมงานถึงกว่า 12,000 คน นอกจากนี้จะมีการจัดกิจกรรมออฟไลน์ในต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่อง โดยปีที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จจากการเพิ่มยอดผู้ใช้ในภาคกลางเติบโตจาก 8% เป็น 10% และภาคใต้เติบโตจาก 6% เป็น 12%
ทั้งนี้ JOOX ตั้งเป้าสร้างการเติบโตในกลุ่มผู้ใช้ VIP 100% ในปีนี้ แต่จะไม่เน้นกลยุทธ์ด้านราคาหรือ Price War แม้มีผู้เล่นเข้ามาในตลาดมากขึ้น แต่จะมีการ Co-Promotion ร่วมกับ WeTV ซึ่งปัจจุบันรายได้จากการสมัคร VIP คิดเป็น 50% ของรายได้รวม อีก 50% มาจากโฆษณา ปัจจุบัน JOOX มีเพลงในแพลตฟอร์มกว่า 30 ล้านเพลง มีเครือข่าย KOL และศิลปินกว่า 100 คน ที่เข้าร่วมใน JOOX คาราโอเกะและไลฟ์ โดยปีที่ผ่านมามีผู้ใช้ฟีเจอร์คาราโอเกะกว่า 2 ล้านคน
“ที่เราประสบความสำเร็จเพราะเรารู้จักตลาดไทย มีโมเดลฟรีเมียม มีแพลตฟอร์มที่โลคอล เราทำงานกับค่ายเพลงและศิลปินอย่างใกล้ชิด เราไม่หยุดพัฒนาโปรดักส์ และสุดท้ายเราสร้างคอมมูนิตี้ แม้จะมีมิวสิกสตรีมมิ่งรายใหม่เข้ามา แต่เรามองว่าเราแข่งกับตัวเอง โดยเฉพาะการเปลี่ยนผู้ใช้เป็น VIP ที่ถือเป็นความท้าทายหลัก”
#JOOX #MusicStreaming #WeTV #Tencent #YouTubeMusic #Positioning