ธุรกิจประกวดความงาม – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 11 Dec 2019 04:14:01 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 Miss Universe: เปิดจักรวาล “ความงาม” ที่มีจุดเริ่มต้นจากโฆษณาชุดว่ายน้ำ! https://positioningmag.com/1256395 Mon, 09 Dec 2019 14:13:52 +0000 https://positioningmag.com/?p=1256395 (photo by : Paras Griffin/Getty Images)

“ฉันเติบโตมาในโลกที่ผู้หญิงที่รูปร่างหน้าตาเหมือนฉัน – ด้วยสีผิวแบบนี้และทรงผมเช่นนี้ – ไม่เคยถูกมองว่าสวยเลย และฉันคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ (แนวคิดดังกล่าว) จะต้องหยุดลงวันนี้”

คำกล่าวกินใจในช่วง Final Words ของ Zozibini Tunszi ผู้เข้าประกวดจากแอฟริกาใต้ เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งให้เธอคว้ามงกุฎ Miss Universe 2019 มาครอบครอง Tunszi เป็นนางงามผิวสีคนที่ 7 ที่ชนะบนเวทีนี้ในประวัติศาสตร์ 67 ปีที่จัดประกวดกันมา

หากมองย้อนไปในอดีตของการจัดประกวด Miss Universe เวทีนี้เปรียบเหมือนภาพสะท้อนคอนเซ็ปต์ความงามของหญิงสาวตลอดเกือบ 7 ทศวรรษ ซึ่ง Positioning ขอไล่เรียงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความงามของผู้หญิงบนเวทีจากอดีตถึงปัจจุบันมาเสนอด้านล่างนี้!

 

1952 – แผนการตลาดของบริษัทชุดว่ายน้ำ
Miss-Universe-1952
(กลาง) Armi Kuusela จากฟินแลนด์ ผู้ชนะการประกวด Miss Universe ครั้งแรก (photo: Keystone-France/Gamma-Rapho via Getty Images)

จุดเริ่มต้นของเวที Miss Universe เป็นแผนการตลาดของบริษัทชุดว่ายน้ำเท่านั้น!! รากฐานของการประกวดมาจากบริษัทเจ้าของแบรนด์ Catalina Swimwear ต้องการให้ Yolanda Betbeze ซึ่งเป็น Miss America ประจำปี 1951 สวมชุดว่ายน้ำของบริษัทแต่เธอปฏิเสธ ทางออกน่ะหรอ? บริษัทจึงจัดเวทีของตัวเองเสียเลยโดยใช้ชื่อ Miss Universe (แบบเกทับให้ยิ่งใหญ่ระดับจักรวาล) ปีแรกนั้นมีผู้เข้าประกวด 30 คนจาก 30 ประเทศ และ Armi Kuusela จากฟินแลนด์เป็นผู้ชนะไป

 

1959 – ครั้งแรกที่ผู้หญิงเอเชียครองมงกุฎ

Akiko Kojima สาวญี่ปุ่นวัย 22 ปีเป็นผู้ชนะเวที Miss Universe เป็นครั้งแรกที่ผู้หญิงเอเชียครองมงกุฎ ชาวญี่ปุ่นไม่เคยชนะบนเวทีนี้อีกเลยจนกระทั่งปี 2007 ที่ Riyo Mori ได้ชัยชนะ

 

1960 – การประกวดเริ่มบรรจุช่วง “สัมภาษณ์”

เป็นครั้งแรกที่กองประกวดจัดให้มีการสัมภาษณ์บนเวทีและนับเป็นคะแนน ปีนี้ยังเป็นปีแรกที่จัดช่วงชุดประจำชาติซึ่งเป็นรางวัลและคะแนนที่แยกออกจากการประกวดหลัก

กำแพงภาษาในรอบสัมภาษณ์ยังไม่ถูกทลายลงจนกระทั่งปี 1969 ที่กองประกวดอนุญาตให้ใช้ล่ามบนเวที และในปี 1972 เป็นปีแรกที่นางงามใช้ภาษาประจำชาติตอบคำถามแล้วชนะมงกุฎ นั่นคือ Georgina Rizk จากเลบานอน

 

1977 – ครั้งแรกที่ผู้หญิงผิวสีชนะการประกวด
Miss-Universe-1977
Janelle Commissiong นางงามผิวสีคนแรกของเวทีนี้ (Photo by Nury Hernandez/New York Post Archives /(c) NYP Holdings, Inc. via Getty Images)

Janelle Commissiong นางงามจากตรินิแดดแอนด์โตเบโก ประเทศแถบอเมริกากลาง และเป็นนางงามผิวสีคนแรกที่ชนะการประกวดพร้อมๆ กับรางวัลขวัญใจช่างภาพ

ในช่วงเดียวกันนี้มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ในวงการประกวดความงาม เพราะเวที Miss World ปี 1976 อนุญาตให้ประเทศแอฟริกาใต้ส่งนางงามได้ 2 คนตามชาติพันธุ์คือนางงามคอเคเชียน (ผิวขาว) และนางงามแอฟริกัน (ผิวสี) ซึ่งเป็นไปตามนโยบายแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้ช่วงนั้น ทำให้หลายชาติแบนการส่งนางงามของตนลงประกวดเวที Miss World ดังนั้นเมื่อ Commissiong ชนะการประกวด Miss Universe จึงเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์และเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของคอนเซ็ปต์ความงามในยุคที่การเหยียดผิวยังพบเห็นได้ทั่วไป

 

1980s – รูปร่างของผู้หญิงในอุดมคติเปลี่ยนไป พวกเธอผอมลงเรื่อยๆ
BMI ของผู้ชนะ Miss Universe เทียบกับ BMI ของผู้หญิงอเมริกันส่วนใหญ่ (photo: Superdrug Online Doctor)

ทศวรรษนี้จนถึงปัจจุบัน รูปร่างของนางงามที่เข้าร่วมการประกวดส่วนใหญ่เริ่มเปลี่ยนจากหุ่นอวบสะโพกผาย เป็นหญิงสาวรูปร่างผอม

Superdrug Online Doctor วัดค่า BMI (Body Mass Index) ของ Miss Universe ที่ชนะการประกวดตั้งแต่ปี 1952-2015 พบว่าตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา ผู้ชนะ 21 ใน 27 คน (บางปีไม่มีข้อมูล) มีค่า BMI ร่างกายต่ำกว่ามาตรฐานหรือผอมเกินไปนั่นเอง นั่นเป็นเพราะพวกเธอมีน้ำหนักใกล้เคียงเดิมแต่ความสูงของนางงามนั้นมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 1980 มีนางงามเพียงคนเดียวที่มีส่วนสูงต่ำกว่า 170 ซม.และชนะเวทีนี้คือ Miss Norway ในปี 1990 โดยเธอสูง 168 ซม.

 

1997 – “บิกินี่” ได้รับอนุญาตให้ใช้สวมใส่ในรอบชุดว่ายน้ำ

 

View this post on Instagram

 

A post shared by Miss Universe (@missuniverse) on

ก่อนหน้านี้บิกินี่ไม่ได้รับอนุญาตให้สวมใส่บนเวทีประกวด จนกระทั่งการสวมใส่เสื้อผ้าน้อยชิ้นในที่สาธารณะเป็นเรื่องปกติของผู้หญิงมากขึ้นเรื่อยๆ จนได้รับอนุญาตในที่สุด

อย่างไรก็ตาม การใส่บิกินี่ยังเป็นประเด็นถกเถียงและเปลี่ยนไปตามกาลเวลาหากมองกองประกวดโดยรวม โดยเวที Miss World ตัดรอบชุดว่ายน้ำออกในปี 2013 โดยกองประกวดให้เหตุผลว่าไม่มีความจำเป็นที่ผู้หญิงต้องอวดเรือนร่าง ความงามของผู้หญิงไม่ได้อยู่ในจุดนั้น แต่คาดกันว่าอีกเหตุผลสำคัญคือปีนั้นกองประกวดจัดขึ้นที่อินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศมุสลิมทำให้ต้องตัดรอบชุดว่ายน้ำออก

หลังจากนั้น ปี 2018 เวที Miss America ประกาศแบนชุดบิกินี่เริ่มต้นปีแรกปี 2019 เนื่องจากเห็นด้วยกับกระแสสังคมว่าการประกวดชุดว่ายน้ำบิกินี่เป็นการทำให้ผู้หญิงกลายเป็นวัตถุทางเพศมากกว่าเสริมความมั่นใจให้กับผู้หญิง

 

View this post on Instagram

 

A post shared by Miss America (@missamerica) on

2011 – “ความสวย” ยังสำคัญที่สุด

เวทีประกวดเป็นเป้าโจมตีเมื่อ Scott Lazerson หนึ่งในคณะกรรมการ Miss Universe 2011 ให้สัมภาษณ์กับ Forbes ยอมรับว่า ถึงแม้ผู้เข้าประกวดส่วนใหญ่จะมีประวัติการศึกษาดี มีผลงานแสดงออกถึงความฉลาดเฉลียวและไหวพริบ แต่สุดท้ายแล้วถ้าหากพวกเธอไม่มีความงามภายนอกตามอุดมคติ เธออาจไม่ผ่านเข้ารอบลึกๆ ตั้งแต่แรก ความงามเหล่านั้นรวมถึงขนาด “หน้าอก” ด้วย

 

2012 – ปีแรกที่อนุญาตให้ “ผู้หญิงข้ามเพศ” เข้าประกวด

 

View this post on Instagram

 

A post shared by ANGELA PONCE (@angelaponceofficial) on

ปีนี้เป็นปีแรกที่กองประกวดอนุญาตให้ผู้หญิงข้ามเพศเข้าประกวดได้ แต่ยังไม่มีชาติใดส่งทรานส์เจนเดอร์เข้าร่วมจนกระทั่งปี 2018 ที่ Angela Ponce เป็นตัวแทนประเทศสเปนเข้าชิงมงกุฎ แม้ว่าเธอจะไปไม่ถึงรอบ Top20 แต่เธอได้สร้างหน้าประวัติศาสตร์ใหม่อย่างชัดเจน

 

2019 – ปีแรกที่ผู้เข้าประกวดประกาศเพศวิถี “เลสเบี้ยน” ของตน

Swe Zin Htet นางงามเมียนมา เปิดใจระหว่างทำกิจกรรมเข้าร่วมประกวด Miss Universe 2019 ว่าเธอเป็นเลสเบี้ยน ซึ่งเป็นครั้งแรกบนเวทีนี้ที่มีผู้เข้าประกวดประกาศตนเป็นเลสเบี้ยนโดยเปิดเผย

ความเคลื่อนไหวในโลกของการประกวดความงามของผู้หญิงเป็นกระจกสะท้อนสังคมต่อเพศหญิงอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 2010s นั้นเราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อนิยามความงามของผู้หญิง ผู้หญิงผิวสีชาติพันธุ์แอฟริกัน 3 ใน 7 คนได้รับมงกุฎ Miss Universe ไปครองในช่วงทศวรรษนี้ การตอบคำถามที่แสดงไหวพริบและแนวคิดทางสังคมกลายเป็นประเด็นสำคัญมากขึ้น ชุดว่ายน้ำเป็นประเด็นถกเถียงในเชิงสตรีนิยม มีผู้หญิงข้ามเพศและเลสเบี้ยนร่วมประกวด

แม้กระทั่งคำว่า “Miss” อาจจะถูกท้าทายในอนาคต หลังจาก Veronika Didusenko นางงามยูเครนถูกตัดออกจากการประกวด Miss World 2019 เมื่อกองประกวดพบว่าเธอฝืนกฎการคัดเลือกเนื่องจากเธอมีลูกชายวัย 5 ขวบ และ Didusenko ตัดสินใจที่จะฟ้องกลับว่ากฎข้อนี้ไม่เป็นธรรมกับผู้หญิงที่เป็น “แม่”

 

Source: Insider, Pageant-Almanac, Business Insider, Forbes, Independent 

]]>
1256395
เปิดเส้นทาง “ธนวัฒน์ วันสม” ทำไมต้องเป็นธุรกิจประกวดความงาม https://positioningmag.com/1215074 Tue, 19 Feb 2019 07:43:42 +0000 https://positioningmag.com/?p=1215074 ชื่อของ “ป๊อป – ธนวัฒน์ วันสม” เป็นที่รู้จักในแวดวงสื่อครั้งแรกเมื่อ 10 ปีก่อน เมื่อก้าวสู่ตำแหน่ง “กรรมการผู้อำนวยการใหญ่” บมจ. อสมท ในปี 2552 ด้วยวัยเพียง 38 ปี

หลังพ้นตำแหน่งจาก อสมท ในปี 2554 “ธนวัฒน์” ไม่ได้ปรากฏตัวในธุรกิจสื่ออีกเลย จนกระทั่งปรากฏชื่อเป็นผู้ได้รับสิทธิ์จัดประกวด “มิสยูนิเวิร์ส 2018” แม้ท้ายที่สุดจะถูกยกเลิกสิทธิ์ แต่การคว้าสิทธิ์จัดประกวด Miss World 2019 ครั้งแรกในประเทศไทยในรอบ 69 ปีของเวทีนี้ ตอกย้ำความสนใจในธุรกิจประกวดความงาม ทั้งเวทีระดับประเทศ และระดับโลก

“ธนวัฒน์” จบการศึกษาปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์ ยูซีแอลเอ สหรัฐอเมริกา และปริญญาโท MM (EMBA) บริหารธุรกิจ สถาบันศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หลังจบการศึกษาจากสหรัฐฯ เขาเริ่มงานแรกในปี 2538 ที่ “ไทยสกายทีวี” ธุรกิจเคเบิลทีวี ที่ดำเนินการโดย บริษัท สยาม บรอดแคสติ้ง จำกัด ในเครือธนายง ภายใต้สัมปทานกับองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) หรือ บมจ.อสมท ในขณะนั้น

จากนั้นปี 2540-2543 “ธนวัฒน์” ดำรงตำแหน่งรองประธานภูมิภาค สตาร์ทีวี เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัทลูกของ “สตาร์ กรุ๊ป” ฮ่องกง ในเครือบริษัทสื่อชั้นนำของโลก “New Corporation”.

เริ่มงานประกวด

ช่วงปี 2543 -2546 เป็นกรรมการผู้จัดการ แชนแนลวี ประเทศไทย ธนวัฒน์ เล่าว่าช่วงนี้เริ่มเข้าสู่งานด้านการจัดประกวดทาเลนต์ เพื่อตัดเลือก “วีเจ” แชนแนลวี

โดยก้าวเข้าสู่การจัดประกวด เวทีแรกคือ Elite Model Look Thailand 2003 การประกวดนางแบบ เป็นตัวแทนนางแบบไทย ก้าวสู่แคตวอล์กอินเตอร์

ปี 2546-2549  นั่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ท็อปคอร์ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 

ปี 2549-2550 ที่ปรึกษาอาวุโส Lumina-Looque International Pte Ltd. ปี 2550-2550 เป็นที่ปรึกษาอาวุโสพัฒนาธุรกิจ บริษัท กันตนา กรุ๊ปจำกัด (มหาชน)

นั่ง อสมท จัดนางสาวไทย

ในปี 2550 ธนวัฒน์ มีชื่อเป็นหนึ่งในผู้สมัครชิงตำแหน่ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท แต่ครั้งนั้น คณะกรรมการ อสมท มีมติเลือก “วสันต์ ภัยหลีกลี้” ซึ่งในการคัดเลือกกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท ปี 2552 ธนวัฒน์ ลงสมัครคัดเลือกอีกครั้ง และครั้งนี้เขาเป็นผู้คว้าชัย

การทำงานที่ อสมท ปี 2552-2554 ธนวัฒน์ บอกว่า เขามีประสบการณ์จากการจัดประกวด “นางสาวไทย” ซึ่งสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ โดยช่อง 9 เริ่มจัดประกวดและถ่ายทอดสดครั้งแรกในปี 2551

เมื่อพ้นตำแหน่ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท ในปี 2554  ธนวัฒน์ เล่าว่า ได้เข้าไปทำงานที่กลุ่มซีพี ในส่วนสำนักงาน คุณสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ดูแลด้านการลงทุนใหม่ๆ โฟกัสงานธุรกิจสื่อสารบันเทิง ทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยทำงานถึงช่วงปลายปี 2561

ก้าวสู่เวทีระดับโลก

ชื่อของ ธนวัฒน์ กลับสู่แวดวงสื่ออีกครั้ง ในฐานะ ประธานกรรมการผู้บริหาร TW Investment Group ซึ่งเขาเป็นผู้ก่อตั้งร่วมกับพาร์ตเนอร์ ได้ประกาศเป็นผู้คว้าสิทธิ์จัดประกวด “มิสยูนิเวิร์ส 2018” ในเดือนสิงหาคม หลังจากนั้นเดือนตุลาคม 2561 “มิสยูนิเวิร์ส” ยกเลิกสิทธิ TW Investment Group โดยสิทธิการจัดประกวด มาตกอยู่ในมือหุ้นส่วนธุรกิจ “ตี๋ แม็ทชิ่ง” และเกิดมหากาพย์ฟ้องคดีเรียกค่าเสียหาย 600 ล้านบาทในขณะนี้

แม้ไม่ได้จัดประกวด “มิสยูนิเวิร์ส” แต่ปีนี้ ธนวัฒน์ คว้าสิทธิ์จัดประกวด Miss World 2019 ครั้งที่ 69 มาครองได้สำเร็จ หลังจากใช้เวลาติดต่อมา 3 ปี การประกวดรอบชิงชนะเลิศจะจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ช่วงกลางเดือนธันวาคม และนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของการประกวดมิสเวิลด์ ที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพ เรียกว่าครั้งนี้มีเวลาเตรียมตัวกันยาวเกือบ 10 เดือน

ก่อนหน้าการประกาศคว้าสิทธิ์ “มิสเวิลด์ 2019” ทีดับเบิลยู เพเจ้นส์ ได้รับสิทธิเป็นผู้จัดประกวด “นางสาวไทย” จากสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยมาถึง 5 ปี คือ ปี 2562-2566 และนับเป็นเวทีที่ ธนวัฒน์ คุ้ยเคยมาแล้วในยุคทำงานที่ อสมท

อาจมีถามว่าทำไม ธนวัฒน์ จึงสนใจธุรกิจการจัดประกวดความงามทั้งเวทีระดับประเทศและนานาชาติ เขาบอกว่า TW Investment Group เป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นที่มองโอกาสการลงทุนธุรกิจสื่อและบันเทิง ทั้งไทยและต่างประเทศ การประกวดความงาม เป็นธุรกิจที่สามารถต่อยอดไปยังธุรกิจอื่นๆ ได้ ทั้งในแง่ของสปอนเซอร์ ที่สินค้าเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมความงาม ซึ่งมีมูลค่ามหาศาลย่อมสนใจ การบริหารทาเลนต์จากเวทีประกวด นอกจากการจัดประกวดความงามแล้ว ปีนี้จะมีการลงทุนภาพยนตร์และเกม เพิ่มเติมอีกด้วย.

]]>
1215074