ขาดทุนแล้วไง “ตี๋ แมทชิ่ง” ขอไปต่อธุรกิจประกวดนางงาม ลุ้นจัด Miss Universe อีกครั้ง

การจัดประกวด Miss Universe 2018 ในประเทศไทยเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา กว่าแฟนนางงามจะได้รับชมการประกวดต้องผ่านเรื่องราวความขัดแย้งของผู้ได้รับลิขสิทธิ์เดิม กลุ่ม TW Investment ของ “ธนวัฒน์ วันสม” จากนั้นเปลี่ยนมือมาที่ บริษัท TPN 2018 แม้จะเผชิญปัญหาขาดทุนในการจัดประกวด แต่ TPN ยังขอไปต่อในธุรกิจประกวดนางงาม

สมชาย ชีวสุทธานนท์ (ตี๋ แมทชิ่ง) ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีเอ็น 2018 จำกัดบอกว่าการจัดประกวด Miss Universe 2018 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2018 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพครั้งที่ 2 หลังจัดประกวดครั้งแรกในปี 2005 หรือเมื่อ 13 ปีก่อน

การเปลี่ยนมือลิขสิทธิ์ผู้จัดประกวดด้วยเวลากระชั้นชิดทำให้แผนธุรกิจการหาสปอนเซอร์ไม่เป็นไปตามเป้าหมายและต้องประสบปัญหาขาดทุน แต่ก็ได้รับการชื่นชมจาก “พอลล่า แมร์รี่ ชูการ์ต” ประธานองค์กรมิสยูนิเวิร์สบอกว่าเป็นการจัดประกวด Miss Universe ที่ดีที่สุดในรอบ 67 ปี

และนั่นคือ “ผลงาน” ที่ทำให้ TPN ได้รับลิขสิทธิ์จากองค์กร Miss Universe Organization ให้สิทธิในการจัดประกวด Miss Universe Thailand เป็นเวลา 5 ปี ระหว่างปี 2019-2023 เพื่อคัดเลือกนางงามตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมประกวด Miss Universe

รับไม้ต่อ “สุรางค์” จัดประกวด

สำหรับการประกวด Miss Universe Thailand ในประเทศไทย ก่อนที่ TPN จะได้รับสิทธิจัดประกวด เวทีนี้อยู่ในมือของ “คุณแดง สุรางค์ เปรมปรีดิ์” มาตั้งแต่ยังบริหารช่อง 7 ในยุค “นางสาวไทย” ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น Miss Universe Thailand และคุณแดง สุรางค์ เคยได้รับสิทธิจัดประกวด Miss Universe 2005 ซึ่ง “ตี๋ แมทชิ่ง” เป็นผู้ร่วมทำงานประกวดครั้งนั้น

เป้าหมาย “มงที่ 3” เจ้าภาพครั้งที่ 3

เป้าหมายของ TPN ใน 5 ปีของการได้รับสิทธิจัดประกวด Miss Universe Thailand ต้องการเฟ้นหานางงามตัวแทนสาวไทยชิงมงกุฎ Miss Universe คนที่ 3 ของประเทศในรอบ 3 ทศวรรษ ต่อจาก “อาภัสรา หงสกุล” Miss Universe ปี 1965 และ “ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก” Miss Universe ปี 1988

นอกจากนี้ต้องการสร้างผลงานการจัดประกวด Miss Universe Thailand เพื่อให้องค์กร Miss Universe Organization เห็นว่าประเทศไทยมีความสามารถจัดประกวดระดับโลก เพื่อเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดประกวด Miss Universe อีกครั้ง เป็นครั้งที่ 3 หลังจากประเทศไทยเป็นเจ้าภาพมาแล้วในปี 2005 และ ปี 2018 หากได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพอีกครั้ง เป็นครั้งที่ 3 นั่นเท่ากับไทยทำ “แฮตทริก” ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพจัดประกวดมากที่สุด

ลุยต่อยอดธุรกิจนางงาม

แม้การจัดประกวด Miss Universe 2018 “ตี๋” ยอมรับว่า “ขาดทุน” แต่ก็ยังเห็นโอกาสต่อยอดในธุรกิจประกวดนางงาม ในด้านการบริหาร “อาร์ทติส แมเนจเมนต์” จากสาวงามที่เข้าประกวด Miss Universe Thailand ที่เข้ารอบ 10 คนสุดท้าย จะเป็น “นางงาม” ในสังกัดที่จะทำงานในวงการบันเทิง ทั้งดารา นักแสดง พรีเซ็นเตอร์ให้กับแบรนด์ต่างๆ

โดยเฉพาะ “สปอนเซอร์” ที่จะมีการทำงานร่วมกันต่อเนื่อง “ทุกราย” ในรูปแบบการ โค-แบรนด์, โค-โปรดักต์, การทำกิจกรรมในโปรเจกต์ต่างๆ ร่วมกับนางงามที่ได้รับตำแหน่งจากเวที Miss Universe Thailand

กลุ่มธุรกิจที่สามารถต่อยอดได้ดีกับเวทีประกวดนางงาม คือ ธุรกิจดูแลความงาม ผลิตภัณฑ์ที่ดูแลสุขภาพซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ทั่วโลก ทำให้ธุรกิจในกลุ่มดังกล่าวสนใจเข้ามาเป็นสปอนเซอร์การจัดประกวด Miss Universe Thailand หลายราย

“ในธุรกิจประกวดนางงามยังมีโอกาสต่อยอดได้อีกมาก การขาดทุนจาก Miss Universe 2018 จึงไม่ใช่เรื่องที่ทำให้ต้องหยุดไปต่อ เพราะการทำธุรกิจไม่มีใครได้กำไรตั้งแต่ปีแรก การขาดทุนเป็นเรื่องปกติ แต่เราเห็นโอกาสต่อยอดและไปต่อได้”

“พีพีทีวี” พันธมิตรถ่ายทอดสด

การประกวด Miss Universe Thailand 2019 จะเปิดรับสมัครแบบออนไลน์วันที่ 10 พฤษภาคม และในวันที่ 12 มิถุนายน จะเปิดตัวผู้เข้ารอบ 60 คน ตามด้วยการประกวดรอบ Preliminary ในวันที่ 27 มิถุนายน และการประกวดรอบตัดสินวันที่ 29 มิถุนายน 2562 “ตี๋” ย้ำว่าการประกวดเวทีนี้มีรางวัลสูงสุด 8 หลัก สำหรับผู้คว้าตำแหน่ง Miss Universe Thailand รถยนต์ของรางวัลเป็นลักชัวรี่ คาร์ แบรนด์ BMW หรือ Mercedes-Benz

ส่วนพันธมิตรทีวีดิจิทัล ถ่ายทอดสดการประกวด คือ “พีพีทีวี” ซึ่งเป็นผู้ถ่ายทอดสดการประกวด Miss Universe 2018

สำหรับบริษัท TPN 2018 เกิดจากความร่วมมือของ 3 นักธุรกิจ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อบริษัท TPN คือ T : “ตี๋ แมทชิ่ง” สมชาย ชีวสุทธานนท์,  P : ปิยาภรณ์ แสนโกศิก นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เจ้าของโครงการ C Space Development  และ N : ณรงค์ เลิศกิตศิริ เจ้าของแบรนด์ Pasaya โดยจัดประกวด Miss Universe 2018 เป็นงานแรก