ธุรกิจโลจิสติกส์ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 17 Dec 2019 08:42:40 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 บุกส่องสายพาน “ศูนย์คัดแยกสินค้า” Lazada ทำอย่างไรให้ส่งไว ใช้เวลาน้อยกว่า 1 วัน https://positioningmag.com/1257247 Tue, 17 Dec 2019 08:27:30 +0000 https://positioningmag.com/?p=1257247 มาร์เก็ตเพลซจากจีนรายนี้เพิ่งลงทุนเกือบ 1 พันล้านบาท สร้าง “ศูนย์คัดแยกสินค้า” Lazada แห่งใหม่ย่านสุขสวัสดิ์ ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทลูก LEL Express ที่เคลมว่า หลังจากเปิดศูนย์ฯ แห่งใหม่นี้ขึ้นมา ถ้าผู้ขายจัดส่งพัสดุสินค้าให้เจ้าหน้าที่ก่อนเที่ยงวัน ของจะไปถึงคนซื้อด้วยความเร็วเฉลี่ย 0.8 วัน (19.2 ชั่วโมง) ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล และภาคตะวันออก

ศูนย์คัดแยกสินค้า Lazada สุขสวัสดิ์เปิดพื้นที่ใหญ่กว่าศูนย์ฯ เดิมย่านปู่เจ้าสมิงพรายถึง 8 เท่า ด้วยพื้นที่ใช้สอย 24,624 ตร.ม. หรือประมาณสนามฟุตบอล 3 สนามรวมกัน พร้อมด้วยระบบเครื่องจักรใหม่ที่ทำให้การทำงานเร็วขึ้น สามารถคัดแยกสินค้าได้สูงสุด 36,000 ชิ้นต่อชั่วโมง

ความไวระดับนี้ทำให้ Positioning ขอพาทุกคนไปชมเบื้องหลังว่า ก่อนพัสดุจะมาถึงมือเราเขาคัดแยกกันอย่างไรบ้าง! (อ่านรายละเอียดทั้งหมดด้านล่างอินโฟกราฟิก)

 

รับของจากผู้ขาย

เริ่มจากขั้นตอนก่อนจะมาถึงศูนย์คัดแยกสินค้า รถของ LEL จะไปรับของมาจาก 3 ส่วนหลักๆ คือ 1.ร้านรีเทลของผู้ขาย (ต้องมีสินค้า 15 ชิ้นขึ้นไปต่อรอบ) 2.จุด drop-off ที่ผู้ขายมาส่งไว้ (กรณีมีสินค้าน้อยกว่า 15 ชิ้น ผู้ขายต้องมา drop-off เอง) และ 3.โกดังสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ กลุ่มสินค้าที่เรากดสั่ง Taobao หรือผู้ขายจีนก็จะมาผ่านระบบของ LEL นี่เอง พัสดุเหล่านี้ ผู้ขายจะทำการ pick & pack มาแล้ว คือติดบาร์โค้ดจากระบบ Lazada เสร็จสรรพ พร้อมเข้าเครื่องแยกสินค้า

ศูนย์คัดแยกสินค้า Lazada
รถขนส่งของ LEL Express

เมื่อรับของมาแล้วรถก็จะมาส่งภายในศูนย์คัดแยกสินค้า Lazada ซึ่งแบ่งออกเป็นอีก 3 ขั้นตอนคัดแยก คือ 1.รับของเข้า (inbound) 2.คัดแยกของ (sortation) และ 3.ส่งของออก (outbound)

 

รับของเข้า (inbound)

ส่วนรับของเข้า (inbound)

เมื่อรถมาถึงแล้วก็จะมานำส่งของเข้าที่ส่วน “รับของเข้า” ตรงนี้จะมีพนักงานขนลงจากรถ ส่งต่อให้พนักงานประจำสายพาน พนักงานจะคัดของแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

กลุ่ม A เป็นกลุ่มพัสดุที่ขึ้นสายพานได้ มีขนาดไม่เกิน 60 ซม. หนักไม่เกิน 15 กก. และเป็นทรงสี่เหลี่ยมธรรมดา คิดเป็นประมาณ 70%

กลุ่ม B คือกลุ่มที่เหลืออีกราว 30% จะถือเป็นกลุ่มพัสดุไม่ปกติ เพราะมีขนาดใหญ่มาก หนักมาก เล็กมาก หรือลักษณะเป็นซอง เป็นทรงกลม หรือรูปร่างแปลกๆ ที่ขึ้นสายพานไปผ่านเซ็นเซอร์อัตโนมัติไม่ได้

 

คัดแยกของ (sortation)

สำหรับกลุ่ม A กลุ่มพัสดุปกติ จะวิ่งไปตามสายพานเพื่อไปส่วน “คัดแยกของ” ด้วยเซ็นเซอร์อัตโนมัติ กลุ่มนี้จะถูกแยกเป็นสองกลุ่มอีกครั้ง คือ

ของชิ้นใหญ่กว่า 34 ซม. เมื่อคัดแยกตามเขตแล้วพนักงานจะนำลงตะแกรงล้อเลื่อนเพื่อเตรียมนำไปขึ้นรถขนส่ง

กลุ่ม A1 พัสดุไซส์ใหญ่กว่า 34 ซม. เมื่อใช้เครื่องยิงอ่านบาร์โค้ด สายพานจะคัดของแยกตามเขตจังหวัดต่างๆ เช่น บางนา 2 ช้างคลาน 1 ลำพูน 1 สระบุรี 2 อยุธยา 5 พนักงานจะมารับของเหล่านี้ไปใส่ตะแกรงพักรอขึ้นรถ

ศูนย์คัดแยกสินค้า Lazada
กลุ่มของไซส์เล็กกว่า 34 ซม. จะคัดแยกลงถุงตามรหัสไปรษณีย์

กลุ่ม A2 พัสดุไซส์เล็กกว่า 34 ซม. เครื่องอ่านบาร์โค้ดจะคัดได้ละเอียดไปถึงรหัสไปรษณีย์ และเครื่องจักรอัตโนมัติจะปัดพัสดุลงถุงตามรหัสไปรษณีย์ พร้อมสำเร็จรูป ไปถึงฮับกระจายสินค้า (DC) ปลายทางก็ให้พนักงานส่งของแกะถุงไปส่งตามบ้านได้เลย ไม่ต้องคัดอีกรอบ เมื่อเต็มถุงแล้ว พนักงานจะมารวมถุงไปพักรอขึ้นรถเช่นกัน

กลับไปที่ กลุ่ม B จากส่วนรับของเข้า กลุ่มพัสดุไม่ปกติทั้งหลายนี้ต้องใช้ “คน” ล้วนๆ ในขั้นตอนการคัดแยกสถานที่จัดส่ง ก่อนจะนำไปรวมกลุ่มกับพัสดุที่ใช้สายพานเซ็นเซอร์แยกมาแล้วนั่นเอง

 

นำของออก (outbound)

ศูนย์คัดแยกสินค้า Lazada
แยกเขตพร้อมรอนำส่ง

หลังจากนั้นพัสดุทั้งหมดที่คัดแยกตามเขตจัดส่งแล้วก็รอขนขึ้นรถ “นำของออก” ไปส่งที่ DC ปลายทาง ปัจจุบัน Lazada มีรถขนส่งทั้งของบริษัท LEL เอง และบางส่วนยังต้องขอความร่วมมือจากพาร์ตเนอร์ภายนอก ได้แก่ Kerry, DHL, CJ Express มาช่วยขนด้วย จากข้อมูลของ LEL ระบุว่าขณะนี้มีสินค้าเข้าเฉลี่ยวันละ 140,000 ชิ้น แบ่งเป็น LEL จัดส่งเอง 100,000 ชิ้น และมีพาร์ตเนอร์มาช่วยขนอีก 40,000 ชิ้น

ส่วน DC ปลายทาง ที่ใช้กระจายสินค้าต่อไปถึงมือผู้รับจริงๆ มีอยู่ทั้งหมด 57 แห่ง แบ่งเป็นในกทม.-ปริมณฑล 30 แห่ง และต่างจังหวัด 30 แห่ง ส่วนใหญ่ยังอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเป็นหลัก

 

มีเครื่องจักรแล้วก็ยังต้องใช้คน?

ภาพรวมภายใน ศูนย์คัดแยกสินค้า Lazada

เนื่องจากยังมีพัสดุถึง 30% ที่ใช้สายพานไม่ได้ และยังมีขั้นตอนการนำของขึ้น-ลงจากรถ ขั้นตอนจัดเรียงพัสดุบนสายพานให้เว้นระยะห่างและเป็นระเบียบพร้อมผ่านเซ็นเซอร์ ไปจนถึงการขนของขึ้นลงจากสายพาน ทำให้ศูนย์คัดแยกสินค้า Lazada ยังต้องใช้คนจำนวนมากพอสมควร โดยทั่วไปช่วงวันปกติที่มีพัสดุเข้าเฉลี่ย 140,000 ชิ้นต่อวัน พนักงานจะทำงาน 3 กะต่อวัน รวมทั้งหมด 20 ชั่วโมง รวมพนักงานทุกกะประมาณ 200 คน

แต่ช่วงใดก็ตามที่มีแคมเปญอย่าง 9.9 / 11.11 / 12.12 พัสดุเข้าจะเพิ่มเท่าตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 300,000 ชิ้นต่อวัน ดังนั้นทาง LEL จะเรียกพนักงานเสริมพิเศษอีก 700 คน รวมเป็น 900 คน!! และทำงานแบบ 24 ชั่วโมงติดกัน 10 วัน ในช่วงก่อนและหลังเริ่มจัดแคมเปญ

ที่ต้องระดมพลเยอะแบบนี้เพื่อระบายจัดส่งของออกไปให้เร็วที่สุด แข่งขันกับทั้งมาร์เก็ตเพลซและบริษัทจัดส่งอื่นๆ ให้ลูกค้าได้รับของโดยเร็วที่สุดนั่นเอง

 

]]>
1257247
อี-โลจิสติกส์ใหม่! “เซ็นทรัล” จัดให้ทุกเซอร์วิสเอาใจสายช้อป “ออมนิ แชนแนล” ส่งสินค้าเรียลไทม์ 1-2 ชั่วโมง https://positioningmag.com/1242479 Thu, 15 Aug 2019 11:05:31 +0000 https://positioningmag.com/?p=1242479 พฤติกรรมผู้บริโภควันนี้ไม่ได้เลือกตัดสินใจซื้อสินค้าจากช่องทางใดช่องทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นออฟไลน์หรือออนไลน์แต่เลือกช่องทางที่สะดวก เวลาที่ต้องการซื้อ “Omni Channel” จึงเป็นกลยุทธ์ที่กลุ่มค้าปลีกหยิบมาเป็นยุทธศาสตร์สร้างแพลตฟอร์มช้อปปิ้งแบบไร้รอยต่อ และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นี้ให้บรรลุเป้าหมายอยู่ที่โลจิสติกส์

ธุรกิจค้าปลีกอายุ 72 ปี เซ็นทรัล รีเทล (Central Retail) ประกาศยุทธศาสตร์ New Central New Retail เมื่อ 3 ปีก่อน เพื่อก้าวสู่ค้าปลีกไร้พรมแดน พัฒนา “Omni channel Platform” สร้างประสบการณ์ช้อปปิ้งให้ลูกค้ายุคดิจิทัลแบบไร้รอยต่อ

อี-โลจิสติกส์ หนุน “ออมนิ แชนแนล”

ปิยะพงษ์ ธัญญศรีสังข์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด กล่าวว่าการขับเคลื่อนแพลตฟอร์ม “ออมนิ แชนแนล” ที่ตอบโจทย์การซื้อสินค้าทั้งสโตร์และออนไลน์ “ศูนย์กระจายสินค้า” (DC) และระบบโลจิสติกส์ ถือเป็นหัวใจสำคัญของการส่งสินค้าทั้งการเติมสินค้าที่สโตร์และส่งสินค้าตามคำสั่งซื้อออนไลน์ในทุกแพลตฟอร์ม

ปิยะพงษ์ ธัญญศรีสังข์

ไตรมาสแรกปีนี้ ยอดขายสินค้าผ่านช่องทาง ออมนิ แชนแนล ใน 3 กลุ่มธุรกิจ ของเซ็นทรัล รีเทล มีอัตราเติบโตสูง ทั้งกลุ่มแฟชั่น เติบโต 104% กลุ่มฮาร์ดไลน์ เติบโต 50% และกลุ่มฟู้ด เติบโต 26%

จากเทรนด์การขยายตัวผ่านช่องทางออมนิ แชนแนล “เซ็นทรัล รีเทล” จึงเดินหน้าลงทุนพัฒนา E-Logistics โดยพัฒนาศูนย์กระจายสินค้า Omni Channel พื้นที่ 75,000 ตร.ม. เซ็นสัญญาเช่าพื้นที่ “ออมนิ แชนแนล ดีซี” 15 ปี ย่านบางพลี สมุทรปราการ กับ “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย” โครงการดังกล่าวจะให้เงินลงทุนรวม 2,000 ล้านบาท ฝั่งเฟรเซอร์ส ลงทุนสร้างศูนย์กระจายสินค้าใหม่ ส่วนเซ็นทรัล รีเทล เป็นผู้เช่าที่จะลงทุนเทคโนโลยีด้านโลจิสติกส์ใหม่ๆ ราวปีละ 300 ล้านบาท การก่อสร้างใช้เวลา 10 เดือน จะเริ่มใช้งานในปี 2563

โดยศูนย์กระจายสินค้า Omni Channel แห่งใหม่ จะเป็นรูปแบบ “โลจิสติกส์ แคมปัส” เป็นศูนย์กลางเก็บและกระจายสินค้าของเซ็นทรัล รีเทล ทั่วประเทศ ทั้งห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล โรบินสัน ซูเปอร์สปอร์ต บีทูเอส ออฟฟิศเมท และซีเอ็มจี

ปัจจุบัน เซ็นทรัล รีเทล มีศูนย์กระจายสินค้า 5 แห่งในย่านบางพลี บางนา หลังจากดีซี ออมนิ แชนแนล แห่งใหม่เริ่มให้บริการในปีนี้ จะยกเลิกการเช่าดีซีปัจจุบันทั้ง 5 แห่ง

ส่งสินค้าเรียลไทม์ 1-2 ชั่วโมง

การให้บริการลูกค้าของ เซ็นทรัล รีเทล จะครอบคลุมทั้ง Physical Platform และ Digital Platform หรือการสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ รวมทั้งการให้บริการ ออมนิ แชนแนล ของเซ็นทรัล รีเทล ปัจจุบันให้บริการเฉพาะบุคคล (Personalization) จากการวิเคราะห์ฐานข้อมูลลูกค้ากว่า 27 ล้านราย โดยใช้เทคโนโลยี AI และ Machine Learning พัฒนาเซอร์วิสใหม่ๆ

ไม่ว่าจะเป็น Central Chat & Shop แอปพลิเคชั่น Line ซึ่งเป็นผู้ช่วยช้อปส่วนตัว ให้คำปรึกษาผ่านการแชต ส่งข้อความ ส่งรูปสินค้าหรือแคปหน้าจอสินค้าที่ต้องการส่งผ่านไลน์ระบบจะค้นหาข้อมูล และส่งรายละเอียดสินค้าให้เลือกซื้อ สามารถซื้อสินค้าทุกแบรนด์ ทุกสาขาของเซ็นทรัล จัดส่งฟรีทั่วประเทศ ในกรุงเทพฯ ส่งผ่าน Grab

บริการระบบสั่งซื้อสินค้า E-Ordering เมื่อมาที่สโตร์เลือกดูสินค้าก่อนจากนั้นสามารถสั่งซื้อสินค้าจากแท็บเล็ตที่มีให้บริการ ณ จุดขาย เพื่อจัดส่งไปยังจุดรับที่ลูกค้าสะดวก รวมทั้งช่วยค้นหาสินค้าที่ไม่มีอยู่ในสโตร์ที่ลูกค้าไปช้อป โดยจะหาสินค้าจากสาขาอื่นๆ และจัดส่งให้

ปี 2563 จะให้บริการใหม่รูปแบบ Click & Reserve ให้ลูกค้าคลิกออนไลน์เลือกสินค้าที่ต้องการซื้อไว้ล่วงหน้า จากนั้นมาดูสินค้าหรือลองสินค้าในกลุ่มแฟชั่นที่สโตร์ เพื่อเลือกซื้อหรือจัดส่ง รูปแบบนี้เป็นการแก้ pain point ของลูกค้าที่สั่งซื้อออนไลน์แต่ได้รับสินค้าไม่ตรงกับความต้องการ

เดิมบริการจัดส่งผ่านช่องทางออนไลน์และออมนิ แชนแนล จะใช้เวลา 2 – 3 วัน ปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพฯ หากสั่งซื้อก่อน 14.00 น. จะได้รับสินค้าในวันเดียวกันไม่เกิน 21.00 น. แต่ปี 2563 จะพัฒนาให้เป็นการจัดส่งแบบ “เรียลไทม์” คือหลังการสั่งซื้อจะได้รับสินค้าภายใน 1 – 2 ชั่วโมง โดยศูนย์กระจายสินค้าออมนิ แชนแนลใหม่ จะเข้ามาช่วยสนับสนุนการจัดส่งให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเข้าถึงสินค้าทั้งหมดในทุกสโตร์ของเซ็นทรัล

“ปกติบริการช้อปปิ้ง ออนไลน์เติบโต 200 – 300% มาต่อเนื่อง การพัฒนาเซอร์วิสครอบคลุมทุกช่องทางด้วยกลยุทธ์ออมนิ แชนแนล สมบูรณ์แบบ จะทำให้ธุรกิจเซ็นทรัล รีเทลเติบโตได้ระดับ 5 – 10% หลังจากนี้”

โสภณ ราชรักษา

“เฟรเซอร์ส” ปั้นโลจิสติกส์ตอบเทรนด์องค์กร

ในฝั่งผู้ให้บริการโลจิสติกส์ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) ธุรกิจของ “เจ้าสัว เจริญ สิริวัฒนภักดี” วางยุทธศาสตร์ก้าวสู่ผู้ให้บริการ Integrated Real Estate Platform ทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม บริการดาต้าเซ็นเตอร์ สมาร์ทโซลูชั่น การงทุน Township รูปแบบมิกซ์ยูส

โสภณ ราชรักษา ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เทรนด์การพัฒนาธุรกิจโลจิสติกส์ปัจจุบัน องค์กรขนาดใหญ่ต้องการพัฒนาแบบรวมศูนย์กลาง ใช้เทคโนโลยี สมาร์ท โซลูชั่น สร้างประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ รวมทั้งการออกแบบอาคารที่บ่งบอกถึง identity ขององค์กร

เฟรเซอร์ส จึงโฟกัสการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าและบริการโลจิสติกส์รูปแบบ Build-to-Suit คือ การสร้างตามความต้องการของลูกค้าแต่ละรายและจะเซ็นสัญญาระยะยาว ปีนี้วางเป้าหมายสร้างศูนย์กระจายแบบ Build-to-Suit ราว 1.2 แสนตร.ม. ซึ่งได้ตามเป้าหมาย แต่ละปีจะขยายเพิ่มปีละ 1 แสนตร.ม. ปัจจุบันมีลูกค้าใช้บริการโลจิสติกส์ 300 – 400 ราย

ปีที่ผ่านมาได้พัฒนาศูนย์กระจายสินค้าให้กับ เพาเวอร์บาย พื้นที่ 30,000 ตร.ม.ในย่านบางพลี และปีนี้เซ็นสัญญากับเซ็นทรัล รีเทล พัฒนาศูนย์กระจายสินค้า ออมนิ แชนแนล อีก 75,000 ตร.ม. ในพื้นที่เดียวกัน ด้วยเงินลงทุนส่วนของ เฟรเซอร์ส ราว 1,000 ล้านบาท สัญญาเช่า 15 ปี โดยเป็น “โลจิสติกส์แคมปัส” ของธุรกิจในเครือเซ็นทรัลรวมพื้นที่ 1 แสนตร.ม.

]]>
1242479
เทรนด์อีคอมเมิร์ซแรง! “ยูเซ็น” โชว์บริการโลจิสติกส์ B2C โต “เท่าตัว” https://positioningmag.com/1239708 Fri, 19 Jul 2019 12:55:27 +0000 https://positioningmag.com/?p=1239708 นักช้อปออนไลน์ไทยยังคงขยายตัวต่อเนื่องในสังคมยุคดิจิทัล นับเป็นปัจจัยผลักดันตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโต ปี 2561 มูลค่าอยู่ที่ 3.2 ล้านล้านบาท ปีนี้ยังโตได้อีก 8 – 10% ส่งผลให้ธุรกิจโลจิสติกส์ มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น

ในตลาดไทยผู้ให้บริการโลจิสติกส์ครบวงจรทั้งภาคอุตสาหกรรม (B2B) และขนส่งปลายทางถึงผู้บริโภคแบบ door to door หรือ B2C โดย “เบอร์หนึ่ง” ที่ขับเคี่ยวชิงตำแหน่งในตลาด คือ DHL จากเยอรมนี และ Yusen Logistics สัญชาติญี่ปุ่น

ทรานส์ฟอร์ม 2025 โตเหนือจีดีพี

ซูซูมุ ทานากะ ประธานและเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทยูเซ็น โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ยูเซ็น ให้บริการธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ครบวงจรในไทยมากกว่า 50 ปี เริ่มจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ปัจจุบันยังเป็นลูกค้าหลักสัดส่วน 60 – 65% จากนั้นขยายสู่กลุ่มเคมีคอลและค้าปลีก สัดส่วน 25% และ 4 ปีก่อนเริ่มให้บริการธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ โดยมีศูนย์รับและกระจายสินค้าครอบคลุมทุกภูมิภาค กว่า 30 แห่ง รวมพื้นที่ 3 แสนตร.ม.

ซูซูมุ ทานากะ

จากการเปลี่ยนด้านเทคโนโลยี ดิสรัปชั่น ที่ส่งผลกับทุกอุตสาหกรรม ยูเซ็นจึงได้ประกาศนโยบาย Transform 2025 วางเป้าหมายการเติบโตต่อเนื่องในช่วง 5 – 6 ปีนี้ ให้มากกว่าจีดีพีไทย หรือไม่น้อยกว่า 5% ทุกปี พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ในธุรกิจโลจิสติกส์ และมองหาโอกาสการเติบโตใหม่ๆ โดยเฉพาะตลาดอี-คอมเมิร์ซ

“โลจิสติกส์ในกลุ่มอุตสาหกรรมมีโอกาสเติบโตจากโครงการเมกะโปรเจกต์และอีอีซีของไทย ส่วนตลาด B2C ขยายตัวตามเทรนด์อี-คอมเมิร์ซที่ยังมีโอกาสอีกมาก”

ปัจจุบันยูเซ็นมีลูกค้ากว่า 500 ราย ทั้งไทยและต่างประเทศ โดยลูกค้าหลัก 90% เป็นธุรกิจญี่ปุ่น จากการขยายฐานลูกค้าธุรกิจใหม่ๆ คาดว่าปี 2025 สัดส่วนลูกค้าญี่ปุ่นจะอยู่ที่ 60 – 70%

ขนส่งบริการ B2C โตเท่าตัว  

พิมาน นวลหงส์ กรรมการบริหาร หน่วยงานการจัดการคลังสินค้า บริษัทยูเซ็น โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การเข้าสู่ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ เพื่อให้บริการ B2C เป็นครั้งแรกเมื่อ 4 ปีก่อน มาจากการขยายตัวของธุรกิจ “มาร์เก็ตเพรส” ในไทย จากผู้ให้บริการรายใหญ่ในต่างประเทศ เช่น Lazada เข้ามาใช้บริการจัดส่งสินค้า

พฤติกรรมผู้บริโภคไทยที่นิยมซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น ทำให้ธุรกิจต่างๆ ต้องพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ รองรับตลาดอี-คอมเมิร์ซ และให้บริการลูกค้าทุกช่องทาง ยูเซ็นจึงให้บริการจัดส่งสินค้า B2C ในกลุ่มลูกค้าเดิมเพิ่มขึ้น จากเดิมที่จัดส่งสินค้าแบบ B2B คือจากคลังสินค้าไปยังร้านค้าปลีกและดิลเลอร์ให้ลูกค้าแบรนด์ต่างๆ อยู่แล้ว

กลุ่มสินค้าที่ใช้บริการอยู่ในปัจจุบันมีทั้ง สินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวส่ง โดยเฉพาะสินค้าดูแลสุขภาพ จากการเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังจับจ่ายสูง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มสินค้าแฟชั่น รองเท้า เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์

“ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์โดยรวมของยูเซ็นตั้งเป้าเติบโตแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 5% แต่บริการอี-คอมเมิร์ซกลุ่ม B2C เราเติบโตได้กว่าเท่าตัวทุกปี และมองหาโอกาสการขยายบริการในกลุ่มนี้มากขึ้นอีก”

ทั้งนี้ เพื่อรองรับการเติบโตตามนโยบาย ทรานส์ฟอร์ม 2025 ได้ใช้งบลงทุน 600 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบ 5 ปี สร้างคลังสินค้าใหม่ 2 หลัง ขนาด 14,000 ตร.ม. และ 9,700 ตร.ม. รวมพื้นที่ 28 ไร่ บนถนนบางนา-ตราด ที่เชื่อมต่อเครือข่ายขนส่งไปยังนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าเรือแหลมฉบัง

]]>
1239708
ส่งพัสดุด่วนไม่พอ! สเต็ปใหม่ แฟลชกรุ๊ป ต่อจิ๊กซอว์บุกโลจิสติกส์ ร่วมทุน “นิ่มซี่เส็ง” ขนส่ง B2B รุกอาเซียน 10 ประเทศ https://positioningmag.com/1234259 Wed, 12 Jun 2019 13:52:56 +0000 https://positioningmag.com/?p=1234259 “อี-คอมเมิร์ซ” จัดเป็นธุรกิจดาวเด่นที่มีแนวโน้มเติบโตทั่วโลก เช่นเดียวกับตลาดไทย ปี 2561 มีมูลค่ากว่า 3.2 ล้านล้านบาท ปีนี้ยังเติบโตได้อีก 8 – 10% ต่อปี ส่งผลให้ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ในประเทศเติบโตตามไปด้วย คาดปีนี้จะมีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท เติบโตปีละ 15 – 20%  

แฟลช เอ็กซ์เพรส (Flash Express) เป็นหนึ่งในผู้เล่นหน้าใหม่ ในธุรกิจรับจัดส่งสินค้าและพัสดุทั่วไป ที่เริ่มก่อตั้งในปี 2560 โดยทีมผู้บริหารที่อยู่ในธุรกิจโลจิสติกส์ ทั้งทุนไทยและจีน เริ่มต้นด้วยธุรกิจส่งพัสดุด่วนด้วยการลงทุนเองทั้งหมด ไม่ใช้ระบบแฟรนไชส์ ชูจุดขายส่งพัสดุทั่วไทยแบบ 356 วันไม่มีวันหยุด บริการส่งสินค้าในวันถัดไป (Next Day) หลังเปิดบริการ 1 ปี ปัจจุบันมี 1,000 สาขา พนักงาน 10,000 คน จัดส่งสินค้าไปแล้ว 20 ล้านชิ้น ทำรายได้ 500 ล้านบาท

ปีนี้วางเป้าหมายธุรกิจส่งพัสดุเติบโต “เท่าตัว” เป้าหมายจำนวนสาขาเพิ่มเป็น 1,700 สาขา พนักงานเป็น 20,000 คน จัดส่งสินค้าเพิ่มเป็น 40 ล้านชิ้น รายได้ 1,000 ล้านบาท ปีนี้จะขยายการให้บริการใน 4 ประเทศอาเซียน และเป้าหมาย 10 ประเทศในปี 2565

สร้างอาณาจักรโลจิสติกส์

คมสันต์ ลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจแฟลช (FLASH GROUP) กล่าวว่าแฟลชมีเป้าหมายการลงทุนขนส่งและโลจิสติกส์ครบวงจร โดยเริ่มจาก แฟลช เอ็กซ์เพรส การจัดส่งพัสดุด่วน ปัจจุบันผู้นำในตลาดนี้ อันดับ 1. ไปรษณีย์ไทย  2. เคอรี่ เอ็กซ์เพรส 3. แฟลช เอ็กซ์เพรส 4. ดีเอชแอล หากปีนี้บริษัททำได้ตามเป้าหมายส่งสินค้า 40 ล้านชิ้น คาดว่าปี 2563 อันดับจะขึ้นมาใกล้เคียงกับเบอร์ 2 เคอรี่

ในตลาดจัดส่งพัสดุด่วนยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก ตามการขยายตัวของ อี-คอมเมิร์ซ ปีที่ผ่านมาตลาดโซเซียล คอมเมิร์ซ เติบโต 80% ส่วนแพลตฟอร์ม คอมเมิร์ซ อย่างลาซาด้าเติบโต 100% ด้วยแนวโน้มการขยายตัวดังกล่าว พบว่าปี 2563 จะมีผู้เล่นรายใหม่ ในตลาดส่งพัสดุด่วนจากต่างประเทศ เข้ามาเปิดตัวธุรกิจในไทยอีก 3 ราย จากจีน 2 ราย และสหรัฐฯ 1 ราย

ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา แฟลช เอ็กซ์เพรส ได้ลงทุนไปแล้วกว่า 5,000 ล้านบาท ในการวางระบบให้ขนส่งครอบคลุม 77 จังหวัด โดยไม่ใช้เอาต์ซอร์ส หรือแฟรนไชส์ เพื่อให้เป็นมาตรฐานบริการเดียวกัน

เป้าหมายของกลุ่มแฟลช คือลงทุนธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ครบวงจร ปัจจุบันในประเทศไทยได้มีการลงทุนเองและร่วมทุนเปิดบริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนี้ไปแล้ว 6 บริษัท ในปีนี้จะซื้อกิจการเข้ามาเพิ่มอีก 4 บริษัท ด้านคลังสินค้า ขนส่ง ประกันภัย และการเงิน เพื่อพัฒนาธุรกิจ สินค้า และบริการใหม่ๆ ที่แตกต่างจากคู่แข่งในตลาด

ปีนี้ยังเตรียมขยายธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ไปใน 4 ประเทศอาเซียน ภายในปี 2565 จะครบทั้ง 10 ประเทศอาเซียน คาดต้องใช้งบลงทุน 30,000 – 40,000 ล้านบาท เพื่อเชื่อมโยงระบบขนส่งเป็นเครือข่ายเดียวกันในอาเซียน รองรับการเติบโตของตลาดอี-คอมเมิร์ซในภูมิภาคนี้ ซึ่งประเทศไทยเป็นตลาดที่เติบโตสูงสุด

เป้าหมายของกลุ่มแฟลช คือการสร้างอาณาจักรโลจิสติกส์ครอบคลุมทุก Ecosystem เช่นเดียวการสร้างอาณาจักรของเครือซีพีในธุรกิจต่างๆ

ร่วมทุน “นิ่มซี่เส็ง” ปั้นแพลตฟอร์มขนส่ง B2B

หนึ่งในบริษัทร่วมทุนของกลุ่มแฟลช ที่จะเริ่มให้บริการในเดือนสิงหาคมนี้ คือ บริษัท แฟลช โลจิสติกส์ จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับ บริษัท นิ่มซี่เส็ง โลจิสติกส์ จำกัด ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ด้วยงบลงทุนเฟสแรก 200 ล้านบาท กลุ่มแฟลช เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เพื่อขยายธุรกิจขนส่งแบบ B2B ที่มีมูลค่าราว 80,000 ล้านบาท หรือสัดส่วน 40% ในธุรกิจโลจิสติกส์ 2 แสนล้านบาท

ปิยะนุช สัมฤทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นิ่มซี่เส็ง โลจิสติกส์ และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แฟลช โลจิสติกส์ จำกัด กล่าวว่า นิ่มซี่เส็ง เป็นผู้ประกอบการขนส่งสินค้าแบบ B2B ที่เริ่มต้นธุรกิจเจนเนอเรชั่นแรกในปี 2514 หรือกว่า 48 ปี ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และขยายไปทั่วประเทศ ปัจจุบันเข้าสู่เจนเนอเรชั่น 2 มีทั้งธุรกิจ นิ่มซี่เส็ง โลจิสติกส์ ขนส่งสินค้า B2B และ นิ่มซี่เส็ง เอ็กซ์เพรส จัดส่งพัสดุทั่วไป

การร่วมทุนกับกลุ่มแฟลช เป็นการสร้างแฟลตฟอร์ม โลจิสติกส์ สำหรับผู้ประกอบการขนส่งสินค้าเข้ามาใช้บริการ โดยใช้เทคโนโลยีเชื่อมโยงการขนส่งสินค้ากับผู้ประกอบการขนส่งแต่ละราย เพื่อเข้ามาใช้บริการที่ศูนย์บริการรับและคัดแยกสินค้าแบบครบวงจร โดยผู้ประกอบการไม่ต้องลงทุน จะมีค่าใช้จ่ายต่อเมื่อใช้บริการ

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการจดทะเบียนทำธุรกิจขนส่งกว่า 30,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก มีความชำนาญเฉพาะพื้นที่ เมื่อรับสินค้าจากลูกค้ากลุ่มผู้ผลิต ไปส่งยังร้านค้าต่างๆ ขากลับก็มักจะวิ่งรถเปล่า ถือเป็นต้นทุนที่สูญเปล่า ทั้งค่าน้ำมันและค่าจ้างแรงงาน

ชูโมเดล Uber ธุรกิจโลจิสติกส์ 

“แฟลช โลจิสติกส์” จึงเป็นแฟลตฟอร์มที่จะเชื่อมเครือข่ายผู้ประกอบการขนส่งทั่วประเทศ เพื่อใช้ทรัพยากรร่วมกัน และทำให้ truck utilization ดีขึ้น โดยแพลตฟอร์มจะแนะนำผู้ประกอบการขนส่งที่อยู่ในระบบและเส้นทางที่ให้บริการ รวมทั้งราคาค่าขนส่งของแต่ละราย เพื่อให้ผู้ประกอบการขนส่งใช้บริการจัดส่งสินค้า นอกเหนือจากเส้นทางเดิมที่วิ่งรถอยู่แล้ว เพราะปกติผู้ประกอบการขนส่งรายเล็กจะส่งสินค้าเฉพาะพื้นที่แต่ละจังหวัดเท่านั้น แต่แพลตฟอร์มนี้จะเพิ่มโอกาสหาลูกค้าและส่งสินค้าได้ทั่วประเทศ ด้วยต้นทุนลดลง

“แพลตฟอร์ม แฟลช โลจิสติกส์ จะเป็นเหมือน Uber ในธุรกิจโลจิสติกส์ ที่ให้ผู้ประกอบการขนส่งเข้ามาใช้แพลตฟอร์ม เพื่อเข้ามาเลือกใช้บริการขนส่งในเส้นทางต่างๆ นอกพื้นที่และมีโอกาสได้งานในพื้นที่ขนส่งที่แต่ละรายมีความชำนาญ โดยแพลตฟอร์มจะไม่ยุ่งกับลูกค้าที่ผู้ประกอบการแต่ละรายมีอยู่ในมือ จะทำหน้าที่เพียงรับสินค้าและส่งต่อไปยังปลายทางเท่านั้น”

คมสันต์ กล่าวว่าหลังจากปีนี้ลงทุน 200 ล้านบาทใน “แฟลช โลจิสติกส์” แล้ว ตามแผนอีก 1 ปีครึ่ง จะลงทุนเพิ่มเป็น 1,000 ล้านบาท เพื่อขยายเส้นทางครอบคลุมทั่วประเทศ รวมทั้งขยายศูนย์รับและคัดแยกสินค้า จาก 1 แห่งที่ พุทธมณฑล สาย 2 เพิ่มเป็น 10 แห่งทั่วประเทศ คาดว่าจะมีผู้ประกอบการขนส่งอยู่ในแพลตฟอร์ม 4,000 – 5,000 ราย ขนส่งสินค้าวันละ 5,000 ตัน

เจน 2 “นิ่มซี่เส็ง” ทรานส์ฟอร์มธุรกิจขนส่ง

สำหรับ บริษัท นิ่มซี่เส็ง โลจิสติกส์ จำกัด ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าอายุ 48 ปี จากจุดเริ่มต้นธุรกิจในเชียงใหม่ บริษัท นิ่มซี่เส็งขนส่ง 1988 จำกัด ปัจจุบันให้บริการขนส่งและกระจายสินค้าและบริการโลจิสติกส์ครบวงจรทั่วประเทศ มีเครือข่ายศูนย์กระจายสินค้าทั่วประเทศ 30 จุด รถบรรทุกมากกว่า 1,000 คัน และมีพันธมิตรในเครือข่ายมีรถบริการกว่า 5,000 คัน

ปิยะนุช สัมฤทธิ์

ปิยะนุช บอกว่าในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในทุกอุตสาหกรรม ธุรกิจขนส่งต้องปรับตัวนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์เช่นกัน การร่วมทุนกับกลุ่มแฟลชถือเป็นการทรานส์ฟอร์มธุรกิจของ นิ่มซี่เส็ง ในเจน 2 ที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้งานเชื่อมระบบขนส่งและลดต้นทุน โดยส่วนของนิ่มซี่เส็ง โลจิสติกส์เอง ก็จะเข้ามาใช้แพลตฟอร์ม “แฟลต โลจิสติกส์” เช่นกัน

“การร่วมทุนกับแฟลช จะทำให้ได้เทคโนโลยีที่ทันสมัยไปใช้พัฒนาระบบขนส่งสินค้า ขณะที่แฟลชจะได้คอนเนกชั่นและเครือขายธุรกิจขนส่งสินค้าที่เป็นพันธมิตรของนิ่มซี่เส็งที่อยู่ในตลาดมา 48 ปี”  

สำหรับ นิ่มซี่เส็ง เป็นผู้ประกอบการโลจิสติกส์รายใหญ่ในภาคเหนือครอบคลุม 8 จังหวัด และมีเครือข่ายส่งสินค้าทั่วประเทศ เป็นผู้นำและมีความเชี่ยวชาญขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค จากผู้ผลิตและโรงงานขนส่งให้ร้านค้าทั่วไป

“วันนี้ผู้ประกอบการขนส่งไทยต้องติดปีก ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำงาน เพื่อโอกาสโตในธุรกิจขนส่ง ที่ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของทุกธุรกิจและอยู่ได้ท่ามกลางการแข่งขันจากผู้เล่นใหม่ๆ”

]]>
1234259
ปิดอีกดีล ! ไทยเบฟ ทุ่ม 240 ล้าน ซื้อกิจการ “ฮาวี ลอจิสติกส์ (ประเทศไทย)” ขุมพลังใหม่ เสริมศักยภาพธุรกิจอาหาร ! https://positioningmag.com/1162595 Wed, 21 Mar 2018 07:14:27 +0000 https://positioningmag.com/?p=1162595 ยักษ์ใหญ่เครื่องดื่ม “ไทยเบฟเวอเรจ” ยังคงเดินหน้าซื้อกิจการไม่หยุด! ทางลัดการขยายธุรกิจให้เติบโต โดยล่าสุดปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัทส่งบริษัทลูกอย่าง “ไทยเบฟ โลจิสติกส์” เข้าซื้อหุ้น 75% ของบริษัท “ฮาวี ลอจิสติกส์ (ประเทศไทย)” คิดเป็นมูลค่า 240 ล้านบาท

โดย “ฮาวี ลอจิสติกส์ (ประเทศไทย)” เป็นผู้เชี่ยวชาญธุรกิจโลจิสติกส์เกี่ยวกับการขนส่งและกระจายสินค้าที่มีการควบคุมอุณหภูมิของสินค้าให้เหมาะสมตั้งแต่ออกจากโรงงานไปจนถึงมือผู้บริโภค หรือ Cold Chain ให้บริการแก่ลูกค้าในกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร หรือ Food Services ในประเทศไทย

และในปี 2560 ฮาวี ลอจิสติกส์ (ประเทศไทย) มีรายได้รวมกว่า 4,737 ล้านบาท หดตัวลง 2.59% มีกำไรสุทธิกว่า 29 ล้านบาท เติบโต 82.62% (ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า)

ขณะที่ระดับโลก “ฮาวี ลอจิสติกส์” ถือเป็นบริษัทที่ทำมากกว่าโลจิสติกส์ แต่ยังให้บริการด้านวิเคราะห์การตลาด (Marketing Analytics) ด้านบรรจุภัณฑ์ บริหารจัดการห่วงโซ่การผลิต และคร่ำหวอดในธุรกิจดังกล่าวมานานกว่า 40 ปี มีเครือข่ายธุรกิจโลจิสติกส์กว่า 40 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะยุโรปและเอเชีย

ดังนั้น องค์ความรู้ (Know How) ของฮาวี ลอจิสติกส์มาช่วยเสริมศักยภาพธุรกิจอาหารได้แบบเต็ม และ “Cold Chainโลจิสติกส์” จะเป็น “จิ๊กซอว์” ใหม่ที่เข้ามาเสริมความแข็งแกร่งให้กับ “ธุรกิจร้านอาหารเครือข่าย” หรือ Food Chain ที่ไทยเบฟต้องการจะขยายในอนาคตด้วย หลังจากปี 2560 ที่ผ่านมาบริษัทได้วางรากฐานธุรกิจอาหารให้ครบวงจร ผ่านการเดิน “เกมรุก” หนักมาก! ทั้งใช้ทางลัด “ซื้อและควบรวมกิจการ” (Mergers and Acquisitions : M&A) แฟรนไชส์ ร้าน KFC จำนวน 252 สาขา มูลค่า 11,400 ล้านบาท การเข้าซื้อหุ้น 76% ของกิจการร้านอาหารไทยของ Spice of Asia จำนวน 10 สาขา เช่น แบรนด์ Chilli cafe มูลค่า 115 ล้านบาท

และ บริษัท ฟู้ด ออฟ เอเชีย จำกัด หัวหอกธุรกิจอาหารของไทยเบฟ ยังขยายธุรกิจร้านอาหารตั้งแต่ Food Street ไปจนถึงร้านหรู (Fine Dining) เช่น ฟู้ดคอร์ตแบรนด์ฟู้ดสตรีท และบ้านสุริยาศัย อีกบริษัทในเครืออย่าง “บมจ.โออิชิ กรุ๊ป” ก็วางหมากรบขยายร้านอาหารญี่ปุ่น รวมถึงเตรียมบุกหนัก “แพ็กเกจฟู้ด” ซึ่งมีอาหารพร้อมปรุงและอาหารพร้อมทานประเภทแช่แข็งสำเร็จรูป และอาหารแช่เย็น เหล่านั้นสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นต้องมี “Cold Chain โลจิสติกส์” มารองรับการขนส่งและกระจายสินค้า รักษาอายุอาหาร (shelf life) ตลอดจนคุณภาพอาหารให้คงความสดจนตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางคือ “ผู้บริโภค” นั่นเอง

การบุกธุรกิจอาหารของ “กลุ่มไทยเบฟเวอเรจ” นับว่าน่าจับตาจริง ๆ เพราะการเสริมพอร์ตโฟลิโอของแบรนด์ร้านอาหาร แบรนด์สินค้าต่าง ๆ บริษัทยังคงใช้ “เงิน” ทุ่มซื้อกิจการเป็นว่าเล่น ทำให้ “อาณาจักร” โตพุ่งพรวด และกลายเป็น “บิ๊ก4” ในธุรกิจเครือข่ายร้านอาหารได้ในข้ามคืน

สำหรับธุรกิจอาหารในประเทศไทย มีมูลค่าประมาณ 4 แสนล้านบาท เติบโตเฉลี่ย (CAGR) 3-5% ต่อปี และร้านอาหารเครือข่ายมีมูลค่าประมาณ 1.4 แสนล้านบาท.

]]>
1162595