ภาษาอังกฤษ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 01 Mar 2021 16:31:56 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 สถาบันสอนภาษา สู้ตลาดขาลง ‘วอลล์สตรีท อิงลิช’ รุกออนไลน์ จับกลุ่มผู้ใหญ่ เรียนเพื่อหางาน https://positioningmag.com/1319819 Mon, 01 Mar 2021 13:30:49 +0000 https://positioningmag.com/?p=1319819 โรงเรียนสอนภาษาต้องปรับกระบวนท่าทุกมิติ หลีกหนีช่วงขาลงหลายเเบรนด์ชะลอเปิดสาขา หันมาทุ่มออนไลน์ เจ้าใหญ่ปรับตัวพออยู่ได้ เเต่เจ้าเล็กต้องล้มหายไปกับพิษโควิด

โอฬาร พิรินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วอลล์สตรีท อิงลิช ประเทศไทย เปิดเผยกับ Positioning ว่า ตลาดรวมของสถาบันสอนภาษาอังกฤษในไทย ได้รับผลกระทบตลอดปีที่ผ่านมา โดยมูลค่าลดลงเล็กน้อย จากเดิมในปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ราว 3,500 ล้านบาท 

ปัจจัยหลักๆ มาจาก สภาพเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้หลายครอบครัวต้องจำกัดค่าใช้จ่าย รวมถึงสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยให้เดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ การท่องเที่ยวที่ซบเซา เเละการปิดชั่วคราวในช่วงล็อกดาวน์

เเต่ในอีกมุมหนึ่งก็มีคนมาสมัครเรียนภาษากันมากขึ้น เพื่อนำไปช่วยหางานทำเสริมทักษะให้เหนือกว่าคู่เเข่งในยามที่ตลาดเเรงงานระส่ำ มีคนตกงานเกือบล้านคน

ด้านผู้ประกอบการ ส่วนใหญ่ชะลอการขยายสาขา เเต่บางรายสู้ไม่ไหวต้องหายไปจากตลาด ส่วนผู้เล่นรายใหญ่ก็เหลือแค่ไม่กี่รายเท่านั้น ซึ่งตอนนี้เหลือระดับ Global Brands เเข่งขันกันอยู่ 3 เจ้า

โดยวอลล์สตรีท อิงลิช (Wall Street English) เปิดให้บริการในไทยมานาน 17 ปี มีการเติบโตเฉลี่ย 5-10% ก่อนโรคระบาด ก็ได้รับผลกระทบนี้เช่นกัน จากรายได้จากที่มีอยู่ราว 600 ล้านบาท ปีที่ผ่านมา ลดลงไป 30% เหลือ 400 กว่าล้านบาท เเละมีจำนวนผู้ลงทะเบียนเรียนลดลงไปถึง 25% หรือประมาณ 7,500 คน

-โอฬาร พิรินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วอลล์สตรีท อิงลิช ประเทศไทย

ซีอีโอวอลล์สตรีท อิงลิช ประเทศไทย มองว่า ปีนี้เป็นโอกาสของธุรกิจสถาบันสอนภาษาที่จะฟื้นตัวกลับมาได้อีกครั้ง เเละตลาดโดยรวมน่าจะกระเตื้องขึ้นมา

กลยุทธ์ของวอลล์สตรีท อิงลิช จึงเน้นไปที่การปรับตัวเองให้ทันสมัย ก้าวทันพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป หาพาร์ตเนอร์อย่างโรงเรียน-มหาวิทยาลัย ขยายสาขาไปสู่ต่างจังหวัด เเละเพื่อนบ้านในอาเซียน พร้อมเป้าหมายที่จะกลับมาเติบโตให้ได้ 40% ในปีนี้ เเละรักษาเเชมป์ส่วนแบ่งมาร์เก็ตเเชร์ในตลาดไว้ที่ 35%

ที่ผ่านมาการเรียนการสอนออนไลน์ไม่ใช่เรื่องใหม่ของสถาบันสอนภาษา เเต่เป็นสิ่งที่ทำมานานมากเเล้ว เเต่การเรียนเเบบผสมผสาน ทั้งออฟไลน์ออนไลน์จะเป็นเทรนด์การศึกษาเเบบใหม่ของทุกโรงเรียนในยุคนี้

วอลล์สตรีท ตั้งเป้าหมายว่าภายใน 3 ปี สัดส่วนการเรียนที่สาขาจะลดเหลือ 60% และสัดส่วนออนไลน์จะเพิ่มเป็น 30% ส่วน Omni Channel จะเป็น 10%

ท่ามกลางโลกดิจิทัล ที่มีคลาสออนไลน์ให้เรียนฟรีเรียนรู้ด้วยตัวเองได้จากมีช่องยูทูบเเละโซเชียลมีเดียต่างๆ

โอฬาร มองว่า การมีคลาสเรียนฟรีในโลกออนไลน์เป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้คนสนใจ และอยากเรียนภาษาอังกฤษเเบบจริงจังมากขึ้น ส่วนโรงเรียนสอนภาษาก็ต้องสร้างทักษะของผู้เรียนให้มากกว่าที่พวกเขาเรียนรู้เอง

หลักสูตรของวอลล์สตรีท จะเน้นไปที่การได้เรียนสดกับอาจารย์ชาวต่างชาติ ที่เป็นเจ้าของภาษา มีการถามตอบเเบบเรียลไทม์ ไม่ให้ลูกค้าต้องเรียนเองทั้งหมด และมีโค้ชคอยติดตามให้คำแนะนำเป็นระยะ

โดยคลาสเรียนทั้งในสาขาเเละเรียนออนไลน์ จะใช้หลักสูตรเดียวกัน ดังนั้นประสบการณ์การเรียนออนไลน์จะไม่เเตกต่างกัน ซึ่งแต่ละคลาสจะกำหนดให้เรียนแค่ 4 คนต่อคลาสเท่านั้น

สำหรับทิศทางของวอลล์สตรีท อิงลิช ประเทศไทยในปีนี้ จะมีการเดินเกมรุกการสอนทั้ง 3 เเพลตฟอร์ม คือ สาขา , ออนไลน์ เเละ Omni Channel

ผสมการเรียนที่สาขาและออนไลน์เข้าด้วยกัน โดยช่วงนี้มีการจัดโปรโมชั่นในคอร์สออนไลน์ ในราคาประมาณ 2,000 กว่าบาทต่อเดือน เพื่อดึงดูดให้คนมาสมัครมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีการปรับหลักสูตรให้หลากหลาย เเละสั้นลงมีตั้งแต่ 3 เดือน , 6 เดือน, 1 ปี, 1 ปีครึ่ง หรือ 2 ปี เนื่องจากพบว่าช่วง COVID-19 คอร์สสั้นๆ แค่ 1-3 เดือน มีกระเเสตอบรับที่ดีมาก จึงเป็นโอกาสในการหาลูกค้าใหม่ที่ยังไม่เคยมาเรียนเเละอยากทดลองเรียนบ้าง

โดยการเรียนทางออนไลน์ ช่วยให้โรงเรียนเข้าถึงกลุ่มลูกค้าอย่างกลุ่ม ‘คนทำงาน’ และ ‘เจ้าของกิจการ’ ได้มากขึ้น รวมถึงตลาดในต่างจังหวัดด้วย

อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นถึง 7 เเสนคน เป็นตัวกระตุ้นให้ทุกคนต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการแข่งขันในตลาดเเรงงาน การมีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษที่ดีจึงเป็นข้อได้เปรียบสำคัญ

ทั้งนี้ กลุ่มนักเรียนของวอลล์สตรีท ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ราว 53% ตามมาด้วยกลุ่มคนทำงาน อายุ 23-29 ปี ราว 27% และกลุ่มเจ้าของกิจการ มีอยู่ราว 20%

ส่วนเเผนการสาขาในไทย ปัจจุบันวอลล์สตรีท อิงลิช มีสาขาทั้งหมด 15 แห่ง กว่า 12 แห่งกระจุกอยู่ในกรุงเทพ มีต่างจังหวัดเพียง 3 แห่งเท่านั้น คือ ขอนแก่น เชียงใหม่ ระยอง ตอนนี้กลับมาเปิดบริการครบแล้ว เเละมีผู้ใช้บริการราว 90% ซึ่งถือว่ามีโอกาสเติบโตได้อีก

โดยตั้งเป้าจะเปิดสาขาใหม่ในปีนี้ราว 1-2 สาขา ผ่านโมเดลแฟรนไชส์ในต่างจังหวัด ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอนนี้เปิดเป็นแฟรนไชส์ที่เดียวคือขอนแก่น ส่วนที่เหลือทั้งหมดเป็นของบริษัท)

ในวิกฤตก็ยังมีโอกาสในการขยายสาขา เพราะมีค่าเช่าหรือต้นทุนการเปิดสาขาที่ถูกลง

ส่วนการขยายไปต่างประเทศนั้น หลังจากที่ได้สิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์ในการขยายสาขาในไทย สปป.ลาว และกัมพูชา มาเมื่อ 2 ปีก่อน ทีมงานตั้งเป้าว่ากลางปีนี้จะเปิดสาขาในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา โดยภายใน 5 ปี จะมี 3 สาขา ด้านสาขาในสปป.ลาว นั้นกำลังอยู่ในระหว่างหาพันธมิตร

บรรยากาศการเรียนการสอนของวอลล์สตรีท อิงลิช ในสาขารังสิต

ส่วนพาร์ทเนอร์อื่นๆ อย่างมหาวิทยาลัยนั้น กำลังอยู่ระหว่างการเจรจา หลังประสบความสำเร็จจากการจับมือกับม.ศรีปทุม เข้าไปนำร่องการเรียนการสอนในวิชาภาษาอังกฤษให้นักศึกษาทุกชั้นปี โดยผู้สอนเเละหลักสูตรจะเป็นอาจารย์จากวอลล์สตรีท อิงลิช ส่วนอาจารย์วิชาภาษาอังกฤษของ ม.ศรีปทุม ได้ปรับบทบาทเป็นโค้ช หรือเป็นที่ปรึกษาให้กับนักศึกษา

จากข้อมูลของ EF Education First เกี่ยวกับความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษในประเทศที่ภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาหลัก พบว่า ประเทศไทย มีทักษะภาษาอังกฤษในระดับต่ำโดยเมื่อปี 2562 ประเทศไทยอยู่อันดับที่74 จากทั้งหมด 100 ประเทศที่สำรวจ แต่ในปี 2563 ตกมาอยู่อันดับที่ 89

โอฬาร มองว่า อุปสรรคในการเรียนภาษาอังกฤษของคนไทย คือความกล้า ในการสื่อสารเเละการขาดโอกาสในการนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน เเม้จะเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชาวต่างชาติเดินทางมาเยอะก็ตาม โดยภาษาอังกฤษยังมีความจำเป็นสำหรับคนทุกกลุ่ม เพราะช่วยเปิดโลกความรู้ ปูทางไปสู่คณะเรียนที่ใฝ่ฝันเเละการเลื่อนตำเเหน่งที่สูงขึ้นได้

การปรับตัวของโรงเรียนสอนภาษา เพื่อเสิร์ฟความต้องการของลูกค้าที่มีอยู่มากในตลาด ในยามเศรษฐกิจตกต่ำเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองต่อไป

 

]]>
1319819
คนไทยเรียนต่อ UK เพิ่มสูงสุดในรอบ 10 ปี ขณะที่ “ครูไทย” 75% ยังรู้ภาษาอังกฤษในระดับต่ำ https://positioningmag.com/1263197 Tue, 04 Feb 2020 10:41:02 +0000 https://positioningmag.com/?p=1263197
  • บริติช เคานซิล เปิดสถิตินักเรียนไทยในสหราชอาณาจักรปี 2562 พบจำนวนนักเรียนใหม่เติบโต 5% สูงที่สุดในรอบทศวรรษ เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนถูกลงดึงดูดใจผู้ปกครอง
  • รัฐบาล UK ปลดล็อกวีซ่าให้บัณฑิตอุดมศึกษาทำงานต่อในประเทศได้อีก 2 ปีหลังเรียนจบ ดึงนักศึกษาทั่วโลกเรียนต่ออังกฤษ 6 แสนคนภายในปี 2573
  • ด้านระดับความรู้ของครูภาษาอังกฤษชาวไทยทั่วประเทศ 75% ยังอยู่ในระดับ A2 หรือต่ำกว่า เป็นระดับความรู้ที่ไม่สามารถสมัครเรียนต่อมัธยมปลายในอังกฤษได้
  • บริติช เคานซิล จึงเดินหน้าตามพันธกิจส่งเสริมความรู้ภาษาอังกฤษ ยื่นเรื่องเสนอรัฐบาลไทย อาสาจัดคอร์สติวนักศึกษาว่าที่ครูในสถาบันราชภัฏ หวังสร้างแม่แบบครูภาษาคุณภาพ
  • “แอนดรูว์ กลาส” ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย เปิดเผยสถิตินักเรียนไทยที่เลือกศึกษาต่อต่างประเทศในระดับอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2560/61 มีจำนวน 15,738 คน และสหราชอาณาจักรยังเป็นจุดหมายอันดับ 1 โดยมีนักศึกษา 43% เลือก UK เพื่อศึกษาต่อ รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา 37% ออสเตรเลีย 16% และแคนาดา 4%

    ด้าน “อุไรวรรณ สะโมลี” หัวหน้าฝ่ายบริการการศึกษาต่อต่างประเทศ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า เฉพาะกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่เลือกเรียนต่ออังกฤษเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา พบว่ามีจำนวนมากขึ้นถึง 5% จากปีก่อนหน้า โดยวัดจากจำนวนการออกวีซ่านักเรียน ถือเป็นการเติบโตสูงสุดในรอบทศวรรษ จากปกติอัตราการเติบโตจะอยู่ที่ 1-2% ต่อปี

    “ผู้ปกครองให้ความสนใจอังกฤษมากเพราะเรียนจบเร็ว ป.โทเรียนแค่ปีเดียว และช่วงที่ผ่านมาค่าใช้จ่ายก็ถูกลงจากค่าเงินปอนด์ที่ลดลงด้วย” อุไรวรรณกล่าว

    “แอนดรูว์ กลาส” ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย

    เธอให้ข้อมูลด้วยว่า ปัจจุบันผู้ศึกษาต่ออังกฤษเป็นนักศึกษาปริญญาโท 60% ที่เหลือเป็นนักศึกษาปริญญาตรี 20% และนักเรียนมัธยมปลาย (ไฮสกูล) 20% พบว่านักเรียนนักศึกษาที่ไปเรียนต่อตั้งแต่ระดับไฮสกูลและปริญญาตรีเริ่มเติบโตขึ้น คาดว่าเกิดจากจำนวนโรงเรียนนานาชาติในไทยที่จัดการเรียนการสอนระบบอังกฤษมีมากขึ้น

    แอนดรูว์ให้ข้อมูลด้วยว่า สาขาวิชาที่คนไทยเลือกเรียน แม้ว่าสาขาบริหารธุรกิจจะยังสูงที่สุดคือ 41% แต่พบว่าสาขาอื่นๆ กำลังเติบโตเช่นกัน เช่น สาขาวิศวกรรมและเทคโนโลยีมีนักศึกษาไทยเรียนต่อ 11.5% สาขาสังคมศาสตร์ 7% สาขากฎหมาย 6.4% และสาขาการออกแบบอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 5%

    สถิตินักเรียนไทยศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2560/61 (photo: บริติช เคานซิล ประเทศไทย)

    อุไรวรรณกล่าวต่อว่า ภาคการศึกษายังเป็นสิ่งที่รัฐบาลอังกฤษให้ความสำคัญ ปีนี้รัฐบาลจึงนำ Post-study Work Visa กลับมาใช้อนุมัติอีกครั้ง โดยนักศึกษาระดับอุดมศึกษาที่เริ่มเรียนปีการศึกษา 2563 (เปิดเทอมกันยายน 2563) จะมีสิทธิขอวีซ่านี้ เพื่อที่หลังเรียนจบได้รับอนุญาตให้อาศัยและหางานทำใน UK ต่ออีก 2 ปี

    เป้าประสงค์ของรัฐบาลอังกฤษนั้น เพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถให้ทำงานและอาศัยอยู่ระยะยาวต่อไปในประเทศ จุดสำคัญคือช่วงหลังเรียนจบ ปกติแล้วนักศึกษาจะมีเวลาหางานทำเพียง 4 เดือน เมื่อขยายให้เป็น 2 ปีจึงเปิดโอกาสให้บัณฑิตมากขึ้น และคาดว่าจะช่วยดึงนักศึกษาทั่วโลกเข้าเรียนที่อังกฤษ 6 แสนคนภายในปี 2573

     

    ครูภาษาอังกฤษไทย ทักษะภาษายังอยู่ในระดับประถม

    มาที่พันธกิจการส่งเสริมความรู้ด้านภาษาอังกฤษให้กับคนไทยของบริติช เคานซิล แน่นอนว่าการเรียนภาษา “ครู” คือกุญแจสำคัญของการเรียนรู้ ทำให้ที่ผ่านมาบริติช เคานซิลมี โปรแกรมบูทแคมป์ ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ เปิดอบรมครูไทยไปแล้ว 17,000 คน โดยคุณครูเหล่านี้จะเป็นครูแม่แบบที่ช่วยถ่ายทอดความรู้ให้กับครูคนอื่นๆ ด้วย

    อย่างไรก็ตาม บริติช เคานซิลพบว่า 75% ของครูภาษาอังกฤษในไทยระดับชั้นประถมและมัธยมศึกษาทั้งประเทศ มีค่าเฉลี่ยทักษะภาษาอังกฤษในระดับ A2 หรือต่ำกว่า ระดับดังกล่าวถือว่าเป็นผู้มีทักษะเพียงระดับ “พื้นฐาน” หากเทียบกับการสอบ IELTS เท่ากับได้คะแนน IELTS 3.0-4.0 เท่านั้น ซึ่งปกติแล้วนักเรียนท้องถิ่นในอังกฤษจะต้องสอบ IELTS ได้ในระดับ 4.5 ขึ้นไปจึงจะสามารถเข้าเรียนไฮสกูลได้

    ผลการทดสอบดังกล่าวทำให้งานของบริติช เคานซิลยังต้องพัฒนาต่อไป โดยกลาสเปิดเผยว่าทางสถาบันได้ติดต่อกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของไทยแล้วเพื่อเสนอโครงการจัดอบรมว่าที่ครูไทย นั่นคือกลุ่มนักศึกษาราชภัฏที่ศึกษาด้านครุศาสตร์

    แนวคิดพื้นฐานจะเป็นคอร์สเสริมทักษะภาษาอังกฤษก่อนเรียนจบ และจัด การเรียนการสอนที่เน้นการฟัง-พูด มากกว่าแกรมมาร์ เป็นวิธีการเรียนแบบใหม่เน้นการนำไปใช้ได้จริง เพื่อให้นักศึกษามีไอเดียปรับเปลี่ยนวิธีการสอนภาษาอังกฤษแบบดั้งเดิมให้เหมาะสมมากขึ้น

     

    ]]>
    1263197
    ภาษาอังกฤษนักเรียนญี่ปุ่นถูกจัดในระดับ “ต่ำ” ส่วนไทยระดับ “ต่ำมาก” https://positioningmag.com/1253933 Sat, 16 Nov 2019 20:11:29 +0000 https://positioningmag.com/?p=1253933 กระทรวงศึกษาธิการของญี่ปุ่นกุมขมับ ความสามารถด้านภาษาอังกฤษของนักเรียนญี่ปุ่นถูกจัดอันดับ “ต่ำ” 4 ปีต่อเนื่อง โดยอยู่ในอันดับ 53 จาก 100 ประเทศ แต่ยังดีกว่านักเรียนไทยที่อยู่ในระดับ “ต่ำมาก” อันดับที่ 74

    การจัดอันดับความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ ของประชาชนในประเทศที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ โดยองค์กร EF Education First ในสวิตเซอร์แลนด์ พบว่าชาวญี่ปุ่นมีทักษะภาษาอังกฤษลดลงอย่างต่อเนื่อง ถูกจัดเกณฑ์อยู่ในระดับ “ต่ำ” อันดับ 53 จาก 100 ประเทศ ลดลงจากปีที่แล้ว ที่อยู่ในอันดับ 49

    เมื่อเทียบกับชาติในเอเชียแล้ว ชาวญี่ปุ่นใช้ภาษาอังกฤษด้อยกว่าชาวสิงคโปร์ ที่อยู่ในอันดับที่ 5, ชาวฟิลิปปินส์ อันดับที่ 20, เกาหลีใต้ อันดับที่ 37, ไต้หวัน อันดับที่ 38, จีน อันดับที่ 40 ส่วนเวียดนามอยู่อันดับที่ 52

    ทั้งนี้ ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในระดับ “ต่ำมาก” อันดับที่ 74 ในอาเซียนมีเพียงพม่าและกัมพูชา ที่ด้อยกว่า

    https://www.ef.com/wwen/epi/

    ประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ดีที่สุดจากการจัดอันดับนี้ คือ เนเธอร์แลนด์ ตามมาด้วยสวีเดน และนอร์เวย์

    ผู้แทนของEF Education First ระบุว่า ความสามารถด้านภาษาอังกฤษมีความจำเป็นอย่างยิ่งในเศรษฐกิจทุกวันนี้ แต่ความสามารถด้านภาษาอังกฤษของชาวญี่ปุ่นไม่กระเตื้องขึ้นเลยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ซบเซายาวนาน

    เมื่อพิจารณาข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า ผู้หญิงชาวญี่ปุ่นสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดีกว่าผู้ชาย และช่วงวัยที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ดีที่สุด คือ คนอายุ 26-30 ปี ตามมาด้วยคนอายุ 21 -25 ปี ส่วนเด็กรุ่นใหม่วัย 18-20 ปี และกลุ่มคนทำงานวัย31-40 ขึ้นไป ทักษะภาษาอังกฤษด้อย ซึ่งนี่เป็นอุปสรรคสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ

    กระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่น พยายามใช้มาตรการเพื่อยกระดับทักษะภาษาอังกฤษของนักเรียนญี่ปุ่น แต่มาตรการไม่ถูกที่ถูกทาง และแฝงไว้ด้วยผลประโยชน์ เช่น การให้ใช้ผลคะแนน IELTS หรือ TOEFLเพื่อสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัย ที่ถูกวิจารณ์ว่าสร้างความไม่เท่าเทียมระหว่างนักเรียน และอาจเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน เจ้าของลิขสิทธิ์การสอบ รวมถึงโรงเรียนกวดวิชาต่างๆ

    มาตรการนี้เดิมตั้งเป้าจะใช้ในปีนี้ แต่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จนกระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่นต้องระงับไป.

    รายละเอียดการจัดอันดับ https://www.ef.com/wwen/epi/

    Source

    ]]>
    1253933