วงการกีฬา – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 23 Jul 2024 08:39:38 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 4 เรื่องที่น่าจับตามองในพิธีเปิด “โอลิมปิก 2024” กลางกรุงปารีส https://positioningmag.com/1483486 Mon, 22 Jul 2024 11:11:34 +0000 https://positioningmag.com/?p=1483486 มหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ “โอลิมปิก 2024” ที่ประเทศฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพในปีนี้กำลังจะเริ่มขึ้นในวันที่ 26 กรกฎาคม 2024 (*ตรงกับเวลาประมาณ 00:30 น. ตามเวลาประเทศไทย) งานครั้งนี้มีความพิเศษแปลกใหม่ที่น่าจับตามองกันตั้งแต่ช่วง “พิธีเปิด” การแข่งขัน โดยเรารวบรวม 4 เรื่องที่น่าสนใจมาไว้ที่นี่

1.ครั้งแรกที่ “พิธีเปิด” ไม่จัดในสนามกีฬา

โอลิมปิก 2024 จะเป็นครั้งแรกที่มีการจัดพิธีเปิดกลางแจ้งแทนที่จะจัดในสนามกีฬาตามธรรมเนียมที่คุ้นเคยกันมา โดยคอนเซ็ปต์ของผู้จัดงานพิธีเปิดโอลิมปิก 2024 ต้องการจะให้สอดคล้องกับสโลแกนการแข่งขันครั้งนี้นั่นคือ “Games Wide Open” (การแข่งขันที่เปิดกว้าง) ทำให้เลือกย้ายออกมาจัดนอกสนาม

นักกีฬามากกว่า 6,000 คนจะเข้าสู่พิธีเปิด “ทางน้ำ” พวกเขาจะล่องเรือไปในแม่น้ำแซนเป็นระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร ผ่านสถานที่สำคัญกลางกรุงปารีสเป็นฉากหลังในพิธีเปิด เช่น มหาวิหารนอเทรอดาม พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ หอไอเฟล พร้อมกับมีกล้องจับทุกมุมเพื่อถ่ายทอดสดไปทั่วโลก

2.รับผู้เข้าชมได้ถึง 5 แสนคน กับราคาบัตรสูงสุด 1 แสนบาท!

งานครั้งนี้ฝ่ายจัดจะสร้างสแตนด์ที่นั่งสำหรับผู้ชมริมแม่น้ำแซนซึ่งสามารถจุได้ถึง 5 แสนที่นั่ง และมีการขายบัตรเข้าชมถูกสุดเป็นบัตรยืนราคา 90 ยูโร หรือประมาณ 3,500 บาท (ราคานี้เต็มหมดแล้ว) ส่วนบัตรราคาสูงสุดอยู่ที่ 2,700 ยูโรต่อที่นั่ง หรือประมาณ 1.07 แสนบาท!

อย่างไรก็ตาม ริมแม่น้ำแซนเองก็เต็มไปด้วยอาคารเอกชนเรียงราย ซึ่งถ้าใครบังเอิญมีอะพาร์ตเมนต์อยู่ริมแม่น้ำแซนก็จะได้ชมพิธีเปิดนี้แบบฟรีๆ

3.การแสดงจากแดนเซอร์ 3,000 ชีวิต

ดีไซเนอร์ของโชว์พิธีเปิดครั้งนี้ถูกมอบหมายให้ “Thomas Jolly” เป็นผู้กำกับละครเวทีชื่อดังวัย 42 ปี ข้อมูลล่าสุดที่เปิดเผยได้คือ โชว์ทั้งหมดจะถูกแบ่งออกเป็น 12 โชว์ย่อย ความยาว 3-4 ชั่วโมง รวมนักแสดง/แดนเซอร์ถึง 3,000 คน ที่จะโชว์การแสดงอยู่บนตลิ่งริมน้ำ บนสะพาน และบนอนุสาวรีย์สำคัญต่างๆ ที่เรือในพิธีจะแล่นผ่าน

มีการคาดการณ์ด้วยว่าน่าจะมีการแสดงโชว์บนมหาวิหารนอเทอดราม เพราะวิหารใกล้จะรีโนเวตซ่อมแซมเสร็จแล้วหลังถูกไฟไหม้ใหญ่ในปี 2019

4.ระบบรักษาความปลอดภัยเข้มจัด

เนื่องจากงานนี้จะจัดในที่เปิดโล่ง จึงเป็นงานหนักของตำรวจฝรั่งเศสที่จะต้องวางแผนรักษาความปลอดภัย โดยมีการรายงานว่าฝรั่งเศสจะจัดตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมาดูแลในพิธีเปิดครั้งนี้ถึง 45,000 คน

ยิ่งไปกว่านั้นคือ ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตำรวจฝรั่งเศสเริ่มกั้นโซนพื้นที่ในรัศมี 1 กิโลเมตรจากแม่น้ำแซน หากต้องการจะเข้าไปในโซนดังกล่าวจะต้องลงทะเบียนเพื่อรับ “QR CODE” มาก่อนล่วงหน้าเพื่อยืนยันตัวตนบุคคลที่จะเข้าไปในโซนการจัดงาน ทำให้ประชาชนฝรั่งเศสและนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้ติดตามข่าวมาก่อนค่อนข้างปั่นป่วนเพราะเข้าไปใจกลางกรุงปารีสไม่ได้

เหตุที่ฝรั่งเศสต้องเข้มงวดขนาดนี้เพราะประเด็น “การก่อการร้าย” เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังสูงสุด หลังจากปารีสเคยถูกผู้ก่อการร้ายโจมตีครั้งใหญ่เมื่อปี 2015 ยังผลให้มีผู้เสียชีวิต 129 คน (รวมผู้ก่อเหตุ)

 

สำหรับทัพนักกีฬาไทยที่ได้ไปร่วมแข่งขัน “โอลิมปิก 2024” ในปีนี้มีทั้งหมด 51 คน จากทั้งหมด 17 ชนิดกีฬา แฟนกีฬาชาวไทยติดตามให้กำลังใจกันได้ผ่านฟรีทีวี 4 ช่อง ได้แก่ T Sports 7, 9 MCOT HD, 7HD และ PPTV HD 36 พร้อมรับชมย้อนหลังได้ทาง TrueVisions และ AIS PLAY

ที่มา: France24, AP

]]>
1483486
ฝันอันยิ่งใหญ่ของ “นพพร วาทิน” แห่ง “ไทยไฟท์” ต่อยอด “มวยไทย” เป็น Soft Power ระดับโลก https://positioningmag.com/1406830 Fri, 04 Nov 2022 10:21:22 +0000 https://positioningmag.com/?p=1406830 ย้อนไปเมื่อ 13 ปีที่แล้ว เวทีมวย “ไทยไฟท์” เริ่มต้นขึ้นในรูปแบบที่แปลกแหวกแนวไปจากตลาด เพราะมาพร้อมกับระบบแสงสีเสียงอลังการ แม้จะจัดแข่งเพียง 8 แมตช์ต่อปี แต่ได้รับความนิยมสูงและเรียกสปอนเซอร์ดึงเม็ดเงินได้หลักร้อยล้านบาท อย่างไรก็ตาม เมื่อทิศทางลมเปลี่ยนมาพร้อมกับโอกาส ทำให้ “นพพร วาทิน” ผู้จัดเวทีมวยไทยไฟท์ เห็นช่องทางต่อยอดมวยไทยให้เป็น Soft Power ระดับโลก

“ถ้าเดินแค่ในไทย โอกาสน้อย เราต้องมองให้ถึงต่างประเทศ ผลักดันลิขสิทธิ์ของไทยที่ขายไปให้คนอื่นซื้อ” นพพร วาทิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยไฟท์ จำกัด กล่าวถึงวิสัยทัศน์ที่จะปั้นไทยไฟท์ให้ถึงระดับโลก “อังกฤษมีฟุตบอลพรีเมียร์ลีก สหรัฐฯ มีอเมริกันฟุตบอล NFL เรามองแล้วกีฬามวยไทยของเราก็เป็นไปได้”

ก่อนจะก่อตั้งไทยไฟท์ นพพร วาทิน ไม่ใช่คนนอกวงการทั้งด้านคอนเทนต์และกีฬามวย เพราะเขาโลดแล่นเป็นเบื้องหลังการจัดละครและรายการทางโทรทัศน์มามาก ละครเรื่องที่ดังที่สุดที่เขาเป็นผู้จัดคือ “มือปืน” นำแสดงโดย หนุ่ย-อำพล ลำพูน และ นก-ฉัตรชัย เปล่งพานิช ออกฉายเมื่อปี 2542 รวมถึงเป็นผู้ริเริ่มรายการ “ศึกจ้าวมวยไทย” ทางช่อง 3

นพพร วาทิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยไฟท์ จำกัด

อย่างไรก็ตาม เมื่อเห็นแล้วว่าวงการสื่อไทยเริ่มซบเซา เรตติ้งละครตกลง และเมื่อละครฉายจบ การต่อยอดหารายได้ก็ทำได้ยาก นพพรจึงเบนเข็มมามอง “กีฬามวยไทย” ซึ่งคนไทยชื่นชอบเป็นทุนเดิม เพียงแต่ขณะนั้นวงการกีฬามวยยังเป็นพื้นที่ ‘สีเทาๆ’ และการจัดการไม่ได้พัฒนาไปมาก เทียบกับต่างประเทศที่กีฬาต่อสู้มีส่วนผสมของความบันเทิงมากกว่า

ไอเดียการจัดเวทีมวย “ไทยไฟท์” จึงเริ่มขึ้น กลายเป็น “มวย+ความบันเทิง” ที่แปลกแตกต่างจากเดิม และไม่ได้ปักหลักเวทีถาวร ใช้วิธีเวียนจัดในสถานที่ใหม่ จังหวัดใหม่ รวมถึงในต่างประเทศ นับถึงปัจจุบันไทยไฟท์มีการจัดมาแล้วมากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก เช่น ฮ่องกง จีน ญี่ปุ่น อังกฤษ อิตาลี ฝรั่งเศส รัสเซีย

 

มวยไทยที่ดึงสปอนเซอร์รายใหญ่ได้

“เรากล้าลงทุนเวทีแสงสีเสียงอลังการ ใช้เงินลงทุน 10 ล้านบาทต่อแมตช์ รวมค่าถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ จัดเต็มอย่างยิ่งใหญ่ และเป็นการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทาน ซึ่งทำให้สปอนเซอร์กล้ามาลงกับเรา” นพพรกล่าวถึงกุญแจสำคัญที่ทำให้ไทยไฟท์เกิดได้

“อีกอย่างคือเราทำให้มวยไทยเป็นกีฬาที่ผู้หญิงดูกันมากขึ้น เราดึง ‘เสน่ห์’ ของนักมวยแต่ละคนออกมา ทุกคนขึ้นเวทีต้องดูดี พิธีกรหน้าตาดี ซึ่งการมีผู้หญิงดูมวยด้วยนั้นสำคัญมาก เพราะแปลว่าเราได้ฐานคนดูเพิ่มมากกว่าเวทีอื่น”

ไทยไฟท์
ความอลังการของเวทีมวยไทยไฟท์

ทุกเวทีไทยไฟท์ไม่มีการเก็บค่าเข้าชม ทำให้มีคนดูเรือนหมื่นทุกครั้ง เวทีที่เคยมีคนดูมากที่สุดเป็นประวัติการณ์คือที่ “จ.ยะลา” มีคนเข้าชมกว่า 80,000 คน

เมื่อไม่มีการขายตั๋ว แหล่งรายได้หลักของไทยไฟท์จึงมาจาก “สปอนเซอร์” ซึ่งสามารถเรียกสปอนเซอร์มาได้ทั้ง  เครื่องดื่มตราช้าง, PTTOR, อีซูซุ, ไทยประกันชีวิต ฯลฯ แพ็กเกจราคาสปอนเซอร์เริ่มตั้งแต่ 10 ล้านบาท สูงสุด 35 ล้านบาท

ถ้าเดินแค่ในไทย โอกาสน้อย เราต้องมองให้ถึงต่างประเทศ ผลักดันลิขสิทธิ์ของไทยที่ขายไปให้คนอื่นซื้อ…อังกฤษมีฟุตบอลพรีเมียร์ลีก สหรัฐฯ มีอเมริกันฟุตบอล NFL เรามองแล้วกีฬามวยไทยของเราก็เป็นไปได้

รวมถึงมาจากการขาย “สินค้าเมอร์ชานไดซ์” หน้าอีเวนต์ เคยขายได้มากที่สุดในอีเวนต์เดียวคือที่ “จ.ปัตตานี” งานเดียวกวาดไป 24 ล้านบาท

นพพรกล่าวว่า แม้แต่ในช่วงโควิด-19 รายได้ไทยไฟท์ก็ไม่ได้ลดลงมากนัก เนื่องจากสัญญาสปอนเซอร์เป็นสัญญาระยะยาว และสปอนเซอร์ยังต้องการสนับสนุนต่อเนื่อง รอวันที่เวทีมวยจะกลับมาจัดได้ปกติ ทำให้บริษัทมีรายได้เฉลี่ย 400-500 ล้านบาทต่อปี และมีอัตรากำไรสุทธิถึง 60%

 

“ไทยไฟท์” Soft Power สู่ธุรกิจอื่น

ในโลกของคอนเทนต์มีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จมาแล้วอย่าง Soft Power ของเกาหลีใต้ ส่งออกซีรีส์ ภาพยนตร์ และดนตรี จนสามารถขายสินค้าอื่นตามมาได้อีกมาก

นพพรมองในมุมเดียวกันว่า วัฒนธรรมไทยมีความแข็งแรงพอที่จะเป็นสินค้าเช่นกัน โดยจะใช้ “มวยไทย” เป็นตัวนำในการส่งออกสินค้าอื่น เช่น อาหาร เครื่องดื่ม แหล่งท่องเที่ยว เชื่อว่ามวยไทยเข้าถึงคนทั่วโลกได้ เพราะกีฬาต่อสู้เป็น ‘สัญชาตญาณมนุษย์’ ทุกชาติชื่นชอบการต่อสู้ และมวยไทยเป็นการสู้ที่ ‘ถึงเลือดถึงเนื้อ’ ได้ใจคนดูได้ไม่ยาก อย่างที่เห็นว่าที่ผ่านมาเวทีไทยไฟท์ต่างประเทศมีจำนวนผู้ชมไม่แพ้ในไทย

มวยไทย ไทยไฟท์
คนทุกชาติมีสัญชาตญาณชอบศิลปะการต่อสู้ และเสน่ห์ “มวยไทย” คือต่อยจริง เจ็บจริง

ทำให้ตั้งแต่ปี 2566 กลยุทธ์ของไทยไฟท์จะเข้าสู่ “โลกออนไลน์” ที่ไปได้ทั่วโลก เริ่มบุกต่างประเทศชัดเจน และเริ่มเพิ่มสินค้าอื่นเพื่อใช้ประโยชน์จาก Soft Power แบ่งเป็น 4 หมวดธุรกิจ ดังนี้

1.ธุรกิจอีเวนต์ ลิขสิทธิ์ และการก่อตั้ง “ไทยไฟท์ลีก”
  • อีเวนต์เวทีมวยของไทยไฟท์จะเริ่มปรับมามีเวทีถาวรที่ BEAT active ไบเทค บางนา (ร่วมทุนกับ กลุ่มภิรัชบุรี และพร้อมเปิดตัว 14 ธันวาคมนี้) จะจัดแข่งทุกวันเสาร์ มีแมตช์แข่งขัน 7-8 คู่ตลอดวัน
  • เมื่อมีการแข่งขันต่อเนื่อง ทำให้บริษัทเตรียมจัด “ไทยไฟท์ลีก” เพื่อให้เห็นคะแนนนักมวยชั้นนำของไทยที่ชัดเจน และนักกีฬาที่เข้าตาจะได้รับสัญญาเข้าค่ายไทยไฟท์
  • นอกจากเวทีไทยที่ไบเทคแล้ว บริษัทยังมี “สัญญาลิขสิทธิ์การจัดไทยไฟท์ในต่างประเทศ” ด้วย เริ่มแห่งแรกที่ “จีน” กับบริษัท Shandong TV ในมณฑลซานตง ซึ่งจะมีเวทีมวยในเมืองจีน จัดถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ เซ็นสัญญาลิขสิทธิ์ยาว 5 ปี โมเดลที่จีนจะเป็นโมเดลต้นแบบ และนพพรแย้มว่ามีประเทศอื่นๆ ที่สนใจซื้อลิขสิทธิ์อีก เช่น ตะวันออกกลาง
  • พิจารณา “ขายลิขสิทธิ์ให้กับเว็บไซต์ด้านการพนันออนไลน์” ในต่างประเทศ เพื่อรับประโยชน์รายได้แทนการสูญเสียรายได้ให้กับเว็บไซต์ที่ใช้แบรนด์โดยไม่ได้รับอนุญาต
ภาพจำลองเวทีมวยไทยไฟท์ที่ BEAT active ไบเทค บางนา
2.ธุรกิจสตรีมมิ่งออนไลน์

จากการตั้งเวทีมวยถาวรและจัดแข่งประจำ ทำให้ไทยไฟท์จะเริ่มตั้งระบบสตรีมมิ่งออนไลน์ เก็บค่าสมาชิกรายเดือน แฟนคลับรับชมได้ทางอินเทอร์เน็ตแทนการจัดถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ คาดว่าจะเริ่มเปิดระบบออนไลน์ได้ในปี 2567

เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ที่คนไทยจะยอมเสียค่าใช้จ่ายเพื่อชมสิ่งที่เคยชมฟรี นพพรมองว่าขึ้นอยู่กับการจัดโปรโมชันประโยชน์ที่ได้ให้คุ้มค่า เช่น สมาชิกได้สิทธิชิดขอบสังเวียนเมื่อเข้าชมที่เวทีมวย, ได้รับส่วนลดซื้อสินค้าเมอร์ชานไดซ์, สิทธิจับสลากชิงโชคเพื่อบินลัดฟ้าไปชมแมตช์แข่งขันต่างประเทศ

3.ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ – โรงแรม ยิม ไลฟ์สไตล์
  • ไทยไฟท์ร่วมกับ กลุ่มศรีชวาลา เปิดโรงแรมธีมมวยไทยแห่งแรกแล้วที่ “ไทยไฟท์ โฮเทล เกาะสมุย” ใช้งบลงทุน 1,000 ล้านบาท ภายในตกแต่งในสไตล์รีสอร์ตร่วมสมัย มีคลาสมวยไทย นวดและสปาไทย โรงแรมนี้จะเป็นโมเดลต้นแบบในการรับจ้างบริหารด้วยเชนโรงแรมไทยไฟท์ พร้อมขยายทั้งในประเทศและต่างประเทศ (ชมคลิปรีวิวโรงแรมไทยไฟท์ โฮเทล เกาะสมุยบน TikTok ที่นี่)
ไทยไฟท์ โฮเทล
ไทยไฟท์ โฮเทล เกาะสมุย
  • ขยาย “ยิมมวย ไทยไฟท์” ไปทั่วประเทศด้วยโมเดลแฟรนไชส์ เชื่อว่าสามารถขยายได้ 40-50 สาขาภายในปี 2566 เนื่องจากแบรนด์ไทยไฟท์มีความแข็งแรง และกีฬามวยเองเป็นการออกกำลังกายที่คนรุ่นใหม่นิยมมากขึ้น เพราะช่วยลดน้ำหนักดี เป็นประโยชน์ด้านการป้องกันตัว
  • แหล่งไลฟ์สไตล์มวยไทย บริเวณด้านหน้าตึกแดง ตลาดนัดจตุจักร ลงทุน 40-50 ล้านบาทเพื่อสร้างยิมมวย แหล่งไลฟ์สไตล์ความเป็นไทยที่เกี่ยวข้องกับกีฬามวย เป็นแม่เหล็กใหม่ในด้านการท่องเที่ยว
4.ธุรกิจสินค้าค้าปลีก เช่น เมอร์ชานไดซ์ เครื่องดื่ม
  • เมอร์ชานไดซ์ จากการแข่งขันไทยไฟท์ จะมีการขยายให้มากกว่า 300 SKUs จากปัจจุบันที่มีจำหน่าย เช่น เสื้อโปโล กางเกงมวย นวมชกมวย กระสอบทราย
  • ลุยตลาด “เครื่องดื่มสปอร์ตดริงก์” ผ่านการใช้แบรนด์ไทยไฟท์ และร่วมกับเซเลปวงการมวยในค่าย เชื่อว่าจะสามารถชิงตลาดมาได้ โดยเตรียมร่วมทุนกับผู้ผลิตเครื่องดื่มรายหนึ่ง วางกำหนดจำหน่ายกลางปี 2566
ตัวอย่างเครื่องดื่ม ปัจจุบันมีน้ำดื่มจำหน่ายในแพ็กเกจธีมมวยไทย อนาคตตู้แช่ด้านหลังจะเป็นสปอร์ตดริงก์แบรนด์ไทยไฟท์

เตรียมเปิด IPO ปี 2567

ดังที่เห็นตามแผนงานของไทยไฟท์ จากเวทีมวยที่จัดปีละ 8 ครั้ง จะเร่งขยายตัวอย่างรวดเร็วทั้งการจัดแข่งขันและการทำธุรกิจต่อยอด รวมถึงแผนของนพพรยังต้องการจะดันไทยไฟท์เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในปี 2567 ด้วย

นพพรกล่าวว่า วิสัยทัศน์การเข้าตลาด SET ไม่ได้ติดปัญหาด้านเงินทุน การลงทุนในอนาคตของไทยไฟท์หลักๆ จะเป็นเรื่องระบบสตรีมมิ่ง แต่ประเด็นที่ต้องเป็นบริษัทมหาชน เพราะหากจะส่ง Soft Power ไทยไปให้ไกลระดับโลกผ่านการเจรจาลิขสิทธิ์หรือการเสนอรับจ้างบริหารโรงแรมในต่างประเทศ ความน่าเชื่อถือของบริษัทจะเป็นใบเบิกทางสำคัญ

“การสร้างแบรนด์คือการสร้างความเชื่อ ให้เขาเชื่อว่าเรามีศักยภาพ ให้เห็นชัดว่าเราทำได้จริง” นพพรกล่าวปิดท้าย

]]>
1406830
ไขรหัสเลเซอร์นำทาง “คิปโชเก้” สร้างสถิติโลก สร้างเทคโนโลยีใหม่ให้วงการกีฬา https://positioningmag.com/1250001 Wed, 16 Oct 2019 10:03:24 +0000 https://positioningmag.com/?p=1250001 ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเทคโนโลยีมีส่วนช่วยให้ “อิลิอุด คิปโชเก้” สร้างสถิติเป็นมนุษย์คนแรกที่วิ่งมาราธอน (42 กิโลเมตร) ด้วยเวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง คือ 1 ชั่วโมง 59 นาที 40.2 วินาที

ผลของเทคโนโลยี ช่วยสร้างสถิติใหม่

ไม่ว่าจะเป็นรองเท้า “Nike Vaporfly Next%” ที่ยังไม่ได้รับการรับรอง รวมถึงการคำนวนแรงฉุดของลมให้น้อยที่สุดด้วยการให้นักวิ่งคนอื่นทั้งหมด 41 คน ผลัดกันครั้งละ 7 คน แปรขบวนเป็นรูป “ลูกศร” คอยวิ่งประกบ “อิลิอุด คิปโชเก้” ตลอดเส้นทาง รวมถึงเหตุที่เลือกกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ก็เนื่องจากสภาพอากาศที่เหมาะสม ไม่ร้อนและไม่ชื้นเกินไป ไม่เว้นแม้กระทั่งวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาวิเคราะห์สิ่งที่ต้องกินก่อนวิ่งและระหว่างวิ่งคิดเป็นกี่กรัมต่อชั่วโมง

รวมถึงรถนำขบวนที่ยิงเลเซอร์สีเขียวตลอดเส้นทาง ก็เพื่อแสดงตำแหน่งที่ควรจะวิ่งและจังหวะต่างๆ แต่ที่สำคัญที่สุดก็เพื่อบอกจุดแก่ 7 นักวิ่งประกบ “อิลิอุด คิปโชเก้” จะได้ไม่แตกแถวซึ่งจะมีผลต่อลมปะทะและแรงฉุด

จริงอยู่เลเซอร์อาจจะไม่มีผลต่อการสร้างสถิติโลกของ “อิลิอุด คิปโชเก้” มากนัก แต่เทคโนโลยีนี้กำลังคืบคลานเข้าสู่วงการกีฬาซึ่งกีฬาชนิดอื่นนั้นเริ่มมีการนำเข้ามาใช้แล้ว

ไขรหัสเลเซอร์ 3 มิติ ที่ใช้ในวงการกีฬา

เทคโนโลยีดังกล่าวคือเซ็นเซอร์เลเซอร์ 3 มิติเป็นระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ได้รับการพัฒนาโดย Fujitsu เพิ่งนำเข้ามาใช้ในการแข่งขันยิมนาสติกชิงแชมป์โลก 2019 ที่เมืองสตุ๊ตการ์ท ประเทศเยอรมนี ที่รูดม่านไปเมื่อวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา

เลเซอร์นี้เองที่เป็นตัวช่วยตัดสินให้ “ซิโมน ไบลส์” นักยิมนาสติกสาววัย 22 ปี ชาวสหรัฐอเมริกา กวาดไปถึง 5 เหรียญทอง เหตุที่ต้องนำมาใช้เพราะสายตามนุษย์ไม่มีทางมองทันจังหวะตีลังกา 3 รอบกลางอากาศของเธออย่างเด็ดขาด

ทุกการเคลื่อนไหวของ “ซิโมน ไบลส์” กับนักยิมนาสติกจากทุกชาติทั้งทัวร์นาเมนต์ 546 คนจะถูกจับโดยเซ็นเซอร์เลเซอร์ 3 มิติที่ซ่อนอยู่ภายในกล่องที่ติดตั้งเอาไว้รอบพื้นเวทีที่เมืองสตุ๊ตการ์ท

การเคลื่อนไหวของนักกีฬายิมนาสติกทุกคนนั้นจะถูกจับในตำแหน่งและมุมที่เหมาะสมพร้อมประมวลทันทีจากนั้นวิเคราะห์ป้อนให้กรรมการตัดสินได้อย่างทันท่วงที ดังนั้นเทคโนโลยีจากเลเซอร์นี้เองจะช่วยขจัดการตัดสินที่ค้านสายตาออกไป เพราะก่อนหน้านี้กีฬาชนิดนี้รวมถึงอีกหลายชนิดที่ใช้สายตาตัดสินนั้นมักจะถูกคำครหาว่ามีการเอนเอียงไม่ไปทางเจ้าภาพก็ทางใดทางหนึ่ง

กระนั้นก็ตามมีกระแสต่อต้าน เพราะมองว่ายิมนาสติกคือกีฬาที่ต้องใช้ศิลปะ โดย “นิว ยอร์ก ไทม์” ได้ตีพิมพ์คำพูดของโค้ชชาวอิตาเลี่ยนรายหนึ่งว่า “คอมพิวเตอร์ไม่สามารถเข้าใจศิลปะหรือแม้กระทั่งความรู้สึกและการเคลื่อนไหวที่แสดงออกมา มันจับได้ทุกมุมที่กรรมการมองไม่เห็นก็จริง แต่ถ้าเรื่องศิลปะนั้นเป็นไปไม่ได้”

คำกล่าวที่ว่าก็จริงอยู่เพราะกีฬายิมนาสติกที่เราชมมาแต่ไหนแต่ไรสีหน้าและท่าทางของนักกีฬาประกอบเพลงที่เลือกมีอิทธิพลไม่น้อยกับความสนุกและคะแนนจากกรรมการ

ดังนั้นกีฬาบางชนิดที่ไม่เป็นศิลปะจึงน่าจะนำเลเซอร์เข้ามาใช้คล้ายๆ กับฟุตบอลที่มี VAR (Video Assistant Referee) หรือวิดีโอช่วยกรรมการตัดสิน ที่มีการขีดเส้นจำลองแนวล้ำหน้า ซึ่งปัจจุบันก็มีการนำเข้ามาใช้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงเทนนิสที่มีฮอว์กอายให้นักกีฬาสามารถชาลเลนจ์ดูจังหวะลูกออก เพราะกรรมการก็คือมนุษย์สายตาไม่มีทางจับความเร็วลูกเสิร์ฟ 200 กว่ากิโลเมตรต่อชั่วโมง

อีกทั้งปีหน้าจะมีโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เราก็น่าจะได้เห็นเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในแต่ละชนิดกีฬาต่างๆ โดยเฉพาะการช่วยตัดสินให้แม่นยำมากยิ่งขึ้น

แน่นอนคอมพิวเตอร์ไม่มีทางเข้าใจศิลปะอยู่แล้ว แต่เทคโนโลยีเหล่านี้น่าจะเข้ามามีส่วนช่วยในการซ้อมของโค้ชกับนักกีฬาให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำมากยิ่งขึ้นนำไปพัฒนานักกีฬา ตลอดจนถึงการแข่งขันจริงที่เหนืออื่นใดใครก็ต่างต้องการการวิเคราะห์ผลและการตัดสินที่แม่นยำร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากได้รับการยอมรับจากนักกีฬาทุกคน ทุกชนิดกีฬาและทุกชาติ ให้เทคโนโลยีเข้าถึงและทุกคนได้ใช้อย่างทั่วถึงก็น่าจะได้รับการยอมรับได้ไม่ยาก.

Source

]]>
1250001