ศูนย์สุขภาพ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 22 Feb 2021 12:46:28 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “พฤกษา” เตรียมเปิด “ศูนย์สุขภาพ” หน้าหมู่บ้าน รับดูแลผู้สูงวัย-ฉุกเฉินได้อยู่ใกล้หมอ https://positioningmag.com/1320344 Mon, 22 Feb 2021 09:39:34 +0000 https://positioningmag.com/?p=1320344 หลังก้าวเข้าสู่ธุรกิจสุขภาพ เดือนพฤษภาคมนี้ “โรงพยาบาลวิมุต” จะเปิดให้บริการครั้งแรก และทำให้ “พฤกษา” ลุยธุรกิจสุขภาพเต็มตัว เตรียมเปิดศูนย์บริการสุขภาพด้านหน้าโครงการที่อยู่อาศัย รับดูแลผู้สูงวัย ทำกายภาพบำบัด อุ่นใจกว่าเมื่ออยู่ใกล้หมอ สร้างจุดขายใหม่ให้แบรนด์ ด้านภาพรวมบริษัทปีนี้ยังเน้น “วิชาตัวเบา” ไม่เปิดเพิ่มมากเพื่อลดสต๊อกเดิม จับตลาด 2-5 ล้านบาทที่ยังต้องการซื้อและซื้อไหว

ปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท ร่วมกับ นายแพทย์กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บจก.โรงพยาบาลวิมุตโฮลดิ้ง แถลงข่าวแผนธุรกิจของเครือพฤกษาโฮลดิ้งปี 2564

ไฮไลต์ปีนี้ของ “พฤกษา” คือการออกสตาร์ทของ “ธุรกิจใหม่” ในเครือ นั่นคือธุรกิจด้าน “สุขภาพ” ซึ่งเริ่มปักหมุดก่อสร้าง “โรงพยาบาลวิมุต” ริมถนนพหลโยธิน ใกล้ BTS อารีย์ไปเมื่อปี 2560 และจะเริ่มให้บริการเดือนพฤษภาคม 2564 นี้แล้ว

โรงพยาบาลวิมุต ถ.พหลโยธิน

แต่ก่อนที่โรงพยาบาลที่พฤกษาก่อสร้างเองจะได้ฤกษ์เปิดบริการ นายแพทย์กฤตวิทย์กล่าวว่า พฤกษาได้บรรลุดีลเข้าถือหุ้น 51% ในบริษัท เทพธัญญภา จำกัด เจ้าของโรงพยาบาลเทพธารินทร์ บนถนนพระราม 4 มูลค่าซื้อขาย 708.80 ล้านบาท เพิ่มพอร์ตด้านสุขภาพไปก่อนแล้ว โดยรพ.เทพธารินทร์ปัจจุบันให้บริการ 80 เตียง เมื่อรวมกับโรงพยาบาลวิมุตซึ่งมี 236 เตียง จะทำให้เครือพฤกษามีจำนวนเตียงมากกว่า 300 เตียงอย่างแน่นอน

“เราเลือกรพ.เทพธารินทร์เพราะแม้เราจะมีทุนและมีบุคลากร แต่เราก็ต้องการประสบการณ์เพิ่ม เราเจรจามานาน 1 ปี พบว่าเรามีทุนที่จะกระจายคลินิกไปตามชุมชน ขณะที่ทางเทพธารินทร์มีความเชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ทำให้มาเสริมซึ่งกันและกันได้” นายแพทย์กฤตวิทย์กล่าว

 

ดาวกระจายเป็น “คลินิก-ศูนย์ดูแลผู้สูงวัย” หน้าหมู่บ้าน

ด้านปิยะ ซีอีโอพฤกษา กล่าวในส่วนของการนำธุรกิจสุขภาพมาเสริมแกร่งให้กับธุรกิจโครงการที่อยู่อาศัย ระบุว่า ปีนี้จะมีการผนวกบริการจากรพ.วิมุตไปเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ เริ่มต้นที่โครงการ เดอะ ปาล์ม บางนา-วงแหวน ย่านถนนสุขาภิบาล 2 เป็นโครงการบ้านเดี่ยวหรูราคา 10-20 ล้านบาท ที่จะเปิดขายไตรมาส 3/64

ภาพเบื้องต้น Health + Commercial Zone จะมีศูนย์สุขภาพวิมุตให้บริการ

ด้านหน้าโครงการดังกล่าวจะมี Health + Commercial Zone ลักษณะเป็นศูนย์บริการสุขภาพ ขณะนี้กำลังออกแบบแพ็กเกจที่จะเปิดบริการ เช่น แพ็กเกจดูแลผู้สูงอายุทั้งแบบเข้าไปดูแลในบ้าน หรือลูกบ้านมาที่ศูนย์สุขภาพของวิมุต

นายแพทย์กฤตวิทย์อธิบายเพิ่มเติมว่า ศูนย์สุขภาพเหล่านี้จะเปรียบเหมือนโรงพยาบาลขนาดเล็ก ด้วยขนาด 30-40 เตียง ทำให้รองรับมีระยะทำการแก่ชุมชนโดยรอบบริเวณนั้นๆ ได้ ภายในจะมีศูนย์บริการดูแลผู้สูงวัยแบบไปเช้า-เย็นกลับ ศูนย์กายภาพบำบัด คลินิกตรวจเช็กสุขภาพ เป็นต้น และอนาคตพฤกษาจะขยายศูนย์สุขภาพวิมุตในลักษณะนี้ไปอีกหลายโครงการอย่างแน่นอน

 

“สุขภาพ” จุดขายใหม่ของแบรนด์ “พฤกษา”

ภาพอนาคตของการผนวกบริการสุขภาพ พฤกษามองตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานในบ้าน ปัจจุบันมีการใช้หลัก Universal Design ในการออกแบบบ้าน คือออกแบบให้เป็นมิตรต่อวีลแชร์และผู้สูงอายุ ลำดับต่อไปจะเริ่มใช้เทคโนโลยีสุขภาพเข้ามาในบ้าน เช่น เครื่องวัดความดันโลหิตที่เป็น IoT ส่งข้อมูลคนไข้ให้แพทย์ได้ผ่านระบบดิจิทัล

การมีศูนย์สุขภาพในโครงการก็เป็นอีกส่วนหนึ่งในการเสริมแบรนด์ โดยลูกบ้านพฤกษาแน่นอนว่าจะมีสิทธิรับแพ็กเกจราคาดีกว่า และการอยู่ใกล้หมอยังทำให้รู้สึกอุ่นใจ หากมีกรณีฉุกเฉินเกิดขึ้น รวมถึงตอบสนองเรื่องสังคมผู้สูงอายุได้ด้วย

(ซ้าย) นายแพทย์กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บจก.โรงพยาบาลวิมุตโฮลดิ้ง และ (ขวา) ปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท

ปิยะกล่าวว่า นอกจากคนไทยแล้ว จากการพูดคุยกับเอเย่นต์ประเทศจีน พบว่าลูกค้าจีนมีความสนใจโมเดลใหม่นี้เช่นกัน “พอเราบวกบริการ healthcare เข้าไป ต่างชาติค่อนข้างชอบ และเราน่าจะได้เปรียบในโลกยุค COVID-19 แบบนี้” ทั้งนี้ ก่อนเกิดสถานการณ์โรคระบาด พฤกษามียอดขายลูกค้าต่างชาติประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาทต่อปี

 

ลดภาระให้ตัวเบา ปีนี้เปิดใหม่เพียง 2.66 หมื่นล้าน

สำหรับธุรกิจที่อยู่อาศัย ย้อนกลับไปปี 2563 เป็นปีแห่งความเปลี่ยนแปลงของพฤกษา จากวิกฤตโรคระบาด COVID-19 ทำให้พฤกษาต้องปรับการทำงานในหลายส่วน หนึ่งในนั้นคือการ “ลดสินทรัพย์” ให้ตัวเบาขึ้น เปิดโครงการใหม่น้อยลง โฟกัสในจุดที่เปิดแล้วต้องขายได้จริงๆ ดังนั้น จากปี 2562 เคยเปิดโครงการมูลค่ารวมถึง 4.11 หมื่นล้านบาท เมื่อปีก่อนเปิดใหม่เพียง 1.57 หมื่นล้านบาท

“เมื่อก่อนเราเปิดเหมือนร้านสะดวกซื้อ ทำเลใกล้กันจนแย่งลูกค้ากันเอง และทำให้ ROA ลดเหลือเพียง 5% จากอดีตเคยขึ้นไปสูงสุดที่ 12%” ปิยะกล่าว

จากการลดการเปิดตัวใหม่ เทสต๊อกเก่า ทำให้สินทรัพย์รวมของบริษัทลดจาก 8.7 หมื่นล้านบาทเมื่อไตรมาส 1/63 เหลือ 7.8 หมื่นล้านบาท ณ ขณะนี้ และปิยะมองว่า จะคงสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับ 7-8 หมื่นล้านบาทอย่างต่อเนื่อง ทำให้ ROA ขึ้นมาที่ 10% (อ่านการปรับตัวของพฤกษา : 5 ข้อสำคัญผ่าตัดใหญ่ “พฤกษา” หลัง COVID-19 ไม่เน้นรายได้แต่ขอกำไรยั่งยืน)

ปีนี้จะยังดูแลการคงระดับสินทรัพย์ การลีนองค์กร และเน้นเปิดเฉพาะ Hero Projects คือโครงการศักยภาพเกาะกลุ่มตลาดกลางเหมือนเดิม ดังนั้นปี 2564 วางแผนเปิดตัวและเป้ายอดขาย-รายได้ ดังนี้

– เปิดตัวใหม่ 29 โครงการ มูลค่ารวม 2.66 หมื่นล้านบาท
– เป้ายอดขาย 3.2 หมื่นล้านบาท
– เป้ารายได้ 3.2 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อปีก่อนพฤกษาเปิดตัวเพียง 13 โครงการ มูลค่ารวม 1.57 หมื่นล้านบาท ทำยอดขาย 2.2 หมื่นล้านบาท (-38% YoY) และทำรายได้ 2.92 หมื่นล้านบาท (-27% YoY) อัตรากำไรสุทธิรวมทั้งเครือ 9.4%

 

ตลาดกลางยังเป็นทางรอด

ในกลุ่มสินค้าที่จะเปิดขายใหม่แบ่งเป็นโครงการทาวน์เฮาส์ 17 โครงการมูลค่า 1.47 หมื่นล้านบาท , บ้านเดี่ยว 8 โครงการมูลค่า 7.56 พันล้านบาท และคอนโดมิเนียม 4 โครงการมูลค่า 4.39 พันล้านบาท เห็นได้ว่าบริษัทยังเน้นตลาดแนวราบเป็นหลัก

หากแบ่งตามระดับราคา ปีนี้เปิดกลุ่มราคา 3-5 ล้านบาทมากที่สุดคิดเป็น 35% ของพอร์ต รองมาเป็นกลุ่มราคา 2-3 ล้านบาทคิดเป็น 33% ของพอร์ต เห็นได้ว่าเป็นการเน้นตลาดระดับกลางล่างถึงระดับกลางเป็นหลัก

โดยปิยะกล่าวว่า เห็นศักยภาพกลุ่มนี้ต่อเนื่องตั้งแต่ปีก่อน ผู้ซื้อเป็นผู้มีรายได้อย่างน้อย 3-5 หมื่นบาทต่อเดือน จึงค่อนข้างมั่นคงทางการเงิน ถูกปฏิเสธสินเชื่อต่ำกว่ากลุ่มที่อยู่ในระดับล่างกว่านี้ ขณะเดียวกันก็มีความต้องการจริง จะต่างกับกลุ่มรายได้สูงซึ่งเริ่มชะลอการซื้อไปหรือต้องการซื้อในราคาที่ดีที่สุด ยกเว้นบ้านเดี่ยวหรูซึ่งยังมีดีมานด์จริงอยู่

ปัญหา “กู้ไม่ผ่าน” ของลูกค้าระดับล่างซึ่งเคยเป็นพอร์ตหลักของพฤกษาถือเป็นประเด็นสำคัญมาก ปิยะระบุว่าปีก่อนมีลูกค้าถูกปฏิเสธให้สินเชื่อ 10% แต่ถ้านับรวมกลุ่มที่ไม่ผ่านตั้งแต่ขั้นตอนคัดกรองก่อนยื่นเอกสารจริง (พรีแอพพรูฟ) จะสูงถึง 50% นอกจากนี้ยังมีกลุ่มขอยกเลิกการจองอีก 20% เพราะไม่สามารถผ่อนดาวน์ต่อได้ไหว รวมแล้วยูนิตที่ขายได้โอนไม่ได้เหล่านี้ ทำให้ปีนี้พฤกษาขยับลดกลุ่มต่ำกว่า 2 ล้านบาทเหลือ 14% และส่วนใหญ่จะเน้นที่แคมปัสคอนโดฯ ซึ่งเจาะกลุ่มนักลงทุนแทน

“COVID-19 สร้างความเปลี่ยนแปลงให้วงการอสังหาฯ มาก และเราเชื่อว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงอื่นๆ เข้ามาอีก สำคัญคือเราต้องทำตัวเองให้ทนทานต่อเศรษฐกิจทุกสภาพ และต้องปรับตัวเร็ว พฤกษาเราเคยตัวใหญ่มากเกินไปทำให้ช้า ซึ่งเราได้ปรับลดลงไปมากแล้วตั้งแต่ปีก่อน” ปิยะกล่าวปิดท้าย

]]>
1320344
“หมอเสริฐ” ดึง MOVENPICK แปลงโฉม “ปาร์คนายเลิศ” สู่ ศูนย์สุขภาพคู่ รร. “Movenpick BDMS Wellness Resort” https://positioningmag.com/1236205 Tue, 25 Jun 2019 10:49:04 +0000 https://positioningmag.com/?p=1236205 ปิดฉากตำนาน 33 ปี “โรงแรม สวิส โฮเต็ล ปาร์ค นายเลิศ” อย่างถาวร หลังขายที่ดิน 15 ไร่ และสิ่งปลูกสร้างทั้งโรงแรมและอาคาร Promenade ด้วยมูลค่า 10,800 ล้านบาท ให้กับ บริษัท บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก จำกัด (BDMS Wellness Clinic) ภายใต้เครือกรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) ของ น.. ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ไปเมื่อ 3 ปีก่อน

ครั้งนั้น BDMS ได้ระบุว่า ได้เตรียมใช้งบลงทุนอีก 2,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงการศูนย์สุขภาพแบบครบวงจร BDMS Wellness Clinic ซึ่งเป็นธุรกิจด้านบริการสุขภาพ มุ่งดูแลให้ผู้ใช้บริการมีสุขภาพที่แข็งแรงในองค์รวมทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงมีอายุยืนยาว (Longevity) 

สาเหตุที่ BDMS สนใจใจทำคลินิคด้านนี้โดยตรงด้วยพบว่าอายุเฉลี่ยของประประชากรโลกเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 71 ปี หากดูแลตัวเองดีๆ สามารถมีอายุได้ถึง 85 ปี จึงทำให้ผู้บริโภคนใจเรื่อง Wellness แต่ละปีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เติบโตกว่า 7% ภาพรวมทั่วโลกมีมูลค่ากว่า 560,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะเดียวกันในเมืองไทยถือเป็นจุดหมายปลายทางที่ชาวต่างชาติ นิยมเดินทางเข้ามารับการรักษาหรือท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourist) มาขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้อุตสาหกรรมบริการด้านสุขภาพมีมูลค่า 6 แสนล้านบาท เติบโต 8% ต่อปี

ในปัจจุบันไทยเป็นศูนย์กลางบริการด้านสุขภาพของเอเชียโดยมีส่วนแบ่ง 38% ของตลาดบริการด้านสุขภาพในภูมิภาคนี้ ซึ่งเป็นส่วนแบ่งตลาดที่สูงเป็นอันดับ 1 และคาดการณ์ว่าจะสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดขึ้นอีก 14% ต่อปี

กลางปีที่แล้ว BDMS Wellness Clinic ได้เริ่มเปิดให้บริการประกอบด้วย 7 คลินิก ที่เน้นใช้นวัตกรรมทางเวชศาสตร์ป้องกันและชะลอวัย (Preventive & Regenerative Medicine) หรือการป้องกันก่อนที่จะเจ็บป่วย โดยจากรายงานของ BDMS ที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุปี 2018 BDMS Wellness Clinic มีรายได้102.91 ล้านบาท

ขณะเดียวกันในส่วนของโรงแรมได้จัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ชื่อ บริษัท บีดีเอ็มเอส เวลเนส รีสอร์ท จำกัด ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท เพื่อร่วมมือกับ MOVENPICK Hotel & Resort ในการบริหารจัดการ Wellness Resort ภายใต้ชื่อ “Movenpick BDMS Wellness Resort”

สำหรับเครือ Movenpick เป็นเชนโรงแรมสวิสที่เปิดมาตั้งแต่ปี 1940 หรือกว่า 79 ปีแล้ว ก่อนจะถูกซื้อโดยเครือโรงแรมขนาดใหญ่ของโลกไปเมื่อปีที่แล้ว ปัจจุบันมีอยู่มากกว่า 85 แห่งใน 25 ประเทศทั่วโลก ในจำนวนนี้ 7 แห่งอยู่ในเมืองไทย

เรย์มอนด์ ช็อง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีเอ็มเอส เวลเนสคลินิก ให้เหตุผลที่เลือก Movenpick มาบริหารเกิดจาก 3 ปัจจัยคือ1.เป็นเชนโรงแรมระดับโลก 2.ต้องมีความรู้เกี่ยวกับHealth&Wellness และ 3.ต้องมีอาหารและเครื่องดื่มแนวสุขภาพ

การปรับโฉมโรงแรม สวิส โฮเต็ล ปาร์ค นายเลิศ มาเป็นโรงแรมใหม่ หลักๆ จะเปลี่ยนในห้องพักมีทั้งหมด 293 ห้อง ทุกห้องมีเสื่อโยคะ ปรับความนุ่มแข็งของเตียงได้ เป็นต้น ห้องอาหารก็เปลี่ยนรูปแบบของอาหารใหม่ มีอาหารออร์แกนิก นอกจากนี้ยังมีพื้นที่จัดงานถึง 2,000 ตารางเมตร ประกอบด้วย ห้องบอลรูมขนาดใหญ่ และห้องประชุมอเนกประสงค์อีก 6 ห้อง

เป้าหมายของโรงแรมจะรองรับนักท่องเที่ยว 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มที่ต้องรักษาระยะยาว เช่นเกี่ยวกับทันตกรรมต้องรักษา 2-3 เดือน, 2. รักษาระยะสั้นซึ่งทาง BDMS จะเริ่มขายคอร์สในเดือนหน้า เช่น ลดน้ำหนักหรือพัฒนาสมอง กลุ่มนี้จะพัก 6-7 วัน และสุดท้ายกลุ่มไมซ์มาพักพร้อมสัมมนาด้วย

เป้าหมายของ BDMS Wellness เบื้องต้นจะเป็นฐานลูกค้าของเครือ BDMS ที่มีกว่า 2-3 ล้านคน โดยจะมุ่งไปที่กลุ่ม AEC จีนและ ออสเตรเลีย ด้วยนิยมเข้ามารักษาในเมืองไทย

เรย์มอนด์ ยอมรับว่า ในระยะแรกนี้ฐานลูกค้ายังเป็นกลุ่มที่ 3 เยอะ และมีอัตราเข้าพัก 40% แต่เชื่อว่าด้วยลูกค้าของ Wellness Clinic ที่กำลังเดิมโตเดือนละ 100% ภายในสิ้นปีนี้อัตราเข้าพักจะถึง 60-70% ได้ไม่ยาก

ภายใน 3-5 ปี หรือเร็วกว่านั้นภายใน 2 ปี สิ่งที่ BDMS อยากเห็นคือรายได้จาก Wellness Clinic จะคิดเป็นสัดส่วน 80% ในขณะที่รายได้จากโรงแรมอยู่ที่ 20% แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น BDMS ต้องเร่งสร้างการรับรู้เกี่ยวกับ Wellness ให้กลุ่มลูกค้าฟังเสียก่อนโดยจะมีการออกโรดโชว์ไปยังโรงพยาบาลในเครือ.

]]>
1236205
เปิด “อูเบอร์ เฮลท์” บริการรับส่งผู้ป่วยแบบ B2B https://positioningmag.com/1159836 Sat, 03 Mar 2018 06:00:56 +0000 https://positioningmag.com/?p=1159836 เป็นการมองเห็นช่องว่างในตลาดที่น่าสนใจอีกครั้งหนึ่งของ อูเบอร์ (Uber) กับการเปิดตัว อูเบอร์ เฮลท์ (Uber Health) บริการรับส่งผู้ป่วยแบบ B2B สำหรับช่วยธุรกิจโรงพยาบาล สถานพักฟื้น หรือศูนย์สุขภาพต่าง ๆ ให้สามารถเรียกรถจากอูเบอร์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าของตัวเองได้ โดยที่ฝั่งของผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องติดตั้งแอปพลิเคชันอูเบอร์แต่อย่างใดด้วย

สำหรับการเกิดขึ้นของอูเบอร์ เฮลท์ มาจากข้อมูลชุดหนึ่งที่พบว่า ผู้ป่วยชาวอเมริกัน 3.6 ล้านคน ไม่มาตามที่หมอนัดดูอาการ เนื่องจากขาดแคลนบริการรถรับส่ง หรือมีรถรับส่ง แต่ไม่สามารถไว้วางใจได้ การดูแลผู้ป่วย หรือการติดตามผลในการตรวจรักษาจึงไม่ต่อเนื่อง คิดเป็นความเสียหายในระบบสุขภาพถึง 150 พันล้านเหรียญสหรัฐ

เป้าหมายของอูเบอร์ เฮลท์ คือ การลดสถิติผู้ป่วยที่ไม่มาพบแพทย์ตามนัดให้น้อยลงกว่าที่เป็นอยู่ 

ส่วนการใช้งานนั้น จะเป็นศูนย์สุขภาพ หรือโรงพยาบาลเป็นผู้จองรถอูเบอร์ให้ โดยจะมีการระบุชื่อคนป่วย จุดที่ให้ไปรับ ประเภทของรถที่เหมาะสม ส่วนคนไข้ก็จะได้รับข้อความที่ระบุว่า สถาบันการแพทย์ หรือคลินิกต่าง ๆ มีการจองรถให้แล้ว พร้อมกับแจ้งข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึง URL ที่เชื่อมโยงไปยังแผนที่ออนไลน์ โดยจะแสดงผลให้ทราบว่า รถคันที่กำลังมารับนั้นอยู่ ณ จุดใดแล้ว และจะมาถึงเราเมื่อไร เป็นต้น

ส่วนของโมเดลธุรกิจอูเบอร์ เฮลท์ ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน โดยอูเบอร์จะคิดค่าบริการจากลูกค้าเฉพาะค่าเดินทางส่วนบุคคลเท่านั้น ส่วนการใช้แดชบอร์ด และเครื่องมือในการรายงานนั้นมีให้บริการฟรี ปัจจุบัน อูเบอร์มีองค์กรด้านสุขภาพอยู่ในแพลตฟอร์มแล้วมากกว่า 100 ราย และยังสามารถเชื่อมต่อ API กับระบบหลังบ้านขององค์กรเหล่านั้น เพื่อนำเซอร์วิสของอูเบอร์ไปใช้งานได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม อูเบอร์บอกว่า อูเบอร์ เฮลท์ นี้จะไม่เข้ามาทดแทนบริการรถพยาบาลฉุกเฉินแต่อย่างใด.

ที่มา : mgronline.com/cyberbiz/detail/9610000021040

]]>
1159836