สติกเกอร์ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 24 Feb 2021 11:02:24 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 คุยกับ I Found Something Good มัลติแบรนด์กิฟต์ช็อป รันวงการ ‘สติกเกอร์’ นักวาดไทย https://positioningmag.com/1320454 Tue, 23 Feb 2021 12:20:30 +0000 https://positioningmag.com/?p=1320454 ภาพของวัยรุ่น ‘ต่อคิวยาว’ เพื่อรอซื้อ ‘สติกเกอร์’ ของนักวาดคนไทย สร้างความเเปลกใจให้ผู้ที่เดินผ่านไปมาไม่น้อย สะท้อนความนิยมของตลาดได้เป็นอย่างดี

ย่างเข้าปีที่ 2 กับการเดินทางของ ‘I Found Something Good’ ร้านมัลติแบรนด์ที่รวบรวมผลงานศิลปะน่ารักกุ๊กกิ๊ก ที่เข้าไปเเล้วต้องได้ของออกมาสักชิ้น เเม้จะเริ่มทำธุรกิจมาได้ไม่นาน เเต่กลับต้องเจอกับความท้าทายครั้งใหญ่อย่าง COVID-19

จาก ‘ความชอบ’ สู่ ‘ธุรกิจทำเงิน’ ของ 4 สาวเพื่อนซี้ วัย 24-25 ปี ผู้ร่วมก่อตั้งที่หลงใหลในงานศิลปะ อย่าง เบลล์-อริยา สภานุรัตนา , นัตโตะ-ณัฐวดี กาญจนโกมล, โรล-นดี จรรยาประเสริฐ และ ร็อค-นดา จรรยาประเสริฐ

วันนี้เติบโตขึ้นไปอีกขั้น พร้อมหาโอกาสใหม่ ขยายสาขาจากสยามสเเควร์ สู่ศูนย์การค้าใหญ่ชานเมือง เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าให้กว้างกว่า ‘วัยรุ่น’

Positioning จะพามารู้จัก ‘I Found Something Good’ เสพงานศิลป์ให้เป็นไลฟ์สไตล์…ให้มากขึ้นกัน 

โอกาสธุรกิจจาก ‘ความชอบ’

I Found Something Good เกิดขึ้นจากความสนใจเเละชอบสะสมงานศิลปะของทั้ง 4 คน เวลาที่พวกเขาไปงาน Art Market ก็มักจะคิดเสมอว่า อยากให้มีร้านที่สามารถเเวะมาซื้อของเหล่านี้ได้ตลอด สร้าง community เล็กๆ เพื่อเเลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ซึ่ง ณ ตอนนั้นกระเเสงาน Art Market ในไทยก็เพิ่งเริ่มบูมมาได้ราว 1-2 ปีเท่านั้น 

หลังเรียนจบมหาวิทยาลัย ในช่วงปลายปี 2019 เริ่มคิดหาสิ่งที่ตัวเองอยากทำจริงๆ เดิมที ‘เบลล์’ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง ได้เปิดร้านขายสติกเกอร์น่ารักๆ ทางออนไลน์อยู่เเล้ว จึงได้มาพูดคุยกัน เเละเห็นตรงกันว่า 

“ทุกวันนี้เมืองไทยมีนักวาด นักศิลปะรุ่นใหม่เยอะมาก ความสามารถสูงไม่เเพ้ต่างชาติ เเต่ส่วนใหญ่กระจายตัวกันตามโซเชียลมีเดียต่างๆ อย่าง ทวิตเตอร์ เราจึงเห็นโอกาสที่จะเปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้มาโชว์ผลงาน”

อย่างในญี่ปุ่นจะมีร้านรวมงานศิลปะเยอะ เเต่ในไทยไม่ค่อยมีเเละหายากมาก ส่วนใหญ่จะเป็นงานของต่างชาติที่นำเข้ามา 

“ตอนนั้นในตลาดเเทบจะไม่มีร้านมัลติเเบรนด์ที่รวบรวมของคนไทยเลย เป็นช่องว่างธุรกิจที่เราเห็นว่าน่าจะโตไปได้ พร้อมไปกับการได้ช่วยขับเคลื่อนวงการนี้ด้วย” 

คนรุ่นใหม่ เสพศิลปะที่ ‘จับต้องได้’ 

พอตกลงกันได้ ก็เริ่มลงมือทำทันที…ไม่รอรีให้เสียเวลา โดยทั้ง 4 คนลงขันกันเพื่อเปิดสาขาเเรก ด้วยเงินราว 4-5 เเสนบาท จากเงินเก็บสะสมของทุกคน เเละบางส่วนจากการสนับสนุนจากครอบครัว ซึ่งยอมรับว่าต้อง ‘อธิบาย’ เกี่ยวกับธุรกิจนี้ให้ผู้ใหญ่เข้าใจกันเยอะทีเดียว 

ชื่อของ I Found Something Good มีความหมายถึงการพบเจอสิ่งที่ดีๆ เเละอยากเเบ่งปันให้ผู้อื่น เปิดตัวมาด้วยการเป็นร้านเล็กๆ ในย่านวัยรุ่น อย่างสยามสเเควร์ 

โดยเริ่มหาผลงานของศิลปินเเละเหล่านักวาดไทย จากกลุ่มเพื่อนที่รู้จักกัน ช่วงเเรกๆ ต้องอาศัย ‘ความเชื่อใจ’ กันมาก เพราะที่ร้านยังไม่มีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจ

หลังเปิดร้านได้ไม่นาน ก็ได้รับเสียงตอบรับ ‘ดีเกินคาด’ ทำให้มองเห็นโอกาสอื่นๆ ที่จะนำมาต่อยอดไปได้อีก 

“สมัยก่อน เมื่อพูดถึงงาน Craft หรือ Art คนทั่วไปมักจะมองว่าต้องเป็นงานศิลปะยิ่งใหญ่ เป็นภาพวาดอลังการ เเต่เด็กๆ รุ่นนี้เสพงานศิลปะที่หลากหลายเเละเปิดกว้างมากขึ้น เน้นจับต้องได้จริงเเละใช้ในชีวิตประจำวันได้ กลายเป็นหนึ่งในไลฟ์สไตล์ของพวกเขา” 

สร้าง community รวมพลคนชอบ ‘สติกเกอร์’ 

เมื่อคนซื้ออยู่ในโลกออนไลน์ ก็ต้องโปรโมตผ่านโลกออนไลน์ I Found Something Good เลือกทำการตลาดบนโซเชียลมีเดียเพื่อเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่าง ‘ทวิตเตอร์’ เพื่อโปรโมตร้าน 

โดยได้เเรงสนับสนุนจากศิลปิน-นักวาดที่มี ‘ฐานเเฟนคลับ’ อยู่เเล้ว ช่วยเเชร์เเละกระจายข่าว ค่อยๆ สร้าง community พูดคุยรวมกลุ่มคนที่ชอบเหมือนกันขึ้นมา ทำให้ร้านเป็นที่รู้จักได้รวดเร็ว มีคนต่อคิวซื้อเเถวยาวเหยียด

จากร้านเล็กๆ ห้องเดียว ตัดสินใจย้ายร้านขึ้นมาอยู่ชั้น 3 สยามสแควร์วัน เพื่อรองรับการเติบโต จากเริ่มเเรกกลุ่มลูกค้าหลักจะเป็นนักเรียนมัธยม จากนั้นขยับมาเป็นกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย รวมถึงผู้ใหญ่วัยทำงานที่เข้ามามากขึ้น ปรับทาร์เก็ตให้เป็นผู้คนทุกช่วงวัย 

ทุกวันนี้ I Found Something Good เปิดให้บริการมาราว 2 ปี นับว่าเป็นร้าน ‘มัลติเเบรนด์’ ที่รวมงานสติกเกอร์ของคนไทยรายเเรกๆ โดยมีสินค้าในร้านกว่า 200 เเบรนด์ จำนวนมากกว่า 1 หมื่นชิ้น 

“พวกเรามองว่านี่เป็นเเค่ก้าวเเรกเท่านั้น ถ้าถามว่าสำเร็จเเล้วหรือยัง ก็ต้องบอกว่ายังไม่ถึงจุดวางไว้ เพราะยังต้องไปต่อได้อีกเยอะ ลึกๆ รู้สึก ‘ดีใจมาก’ ที่ได้เป็นจุดเล็กๆ ที่ได้ช่วยให้ศิลปินได้เติบโต สร้าง community เเละไลฟ์สไตล์ให้คนรุ่นใหม่ เป็นกำลังใจให้พวกเราได้สู้ต่อ” 

ปัจจุบัน มีศิลปินที่เป็นพาร์ทเนอร์กับ I Found Something Good ราว 200 คนทั่วประเทศ โดยยังมีแผนขยายความร่วมมือไปเรื่อยๆ นักวาดคนไหนสนใจก็ติดต่อมาได้

พลิก ‘ขายออนไลน์’ พยุงรายได้ช่วง COVID-19 

เมื่อมองย้อนไปยังจุดเริ่มต้น ทุกคนยังไม่มีความรู้พื้นฐานธุรกิจ อีกทั้งยังอายุน้อย การ ‘ดีลงาน’ ก็ถือว่าเป็น ‘งานยาก’ ต้องเรียนรู้กันใหม่ โดยอาศัยการปรึกษาพ่อเเม่ ปรึกษาผู้รู้ทำธุรกิจมาก่อน เเละปรึกษากันเอง ค่อยๆ ทำเป็นระบบร้านขึ้นมา 

เเต่หลังเปิดร้านมาได้เพียง 5 เดือน ก็เจอมรุสมครั้งใหญ่ที่กระทบธุรกิจทั่วโลกอย่าง COVID-19 เเต่ในอีกมุมก็ทำให้เหล่านักธุรกิจรุ่นใหม่ ได้เรียนรู้การก้าวผ่านอุปสรรค นั่นก็คือ การปรับตัวเพื่อรับมือกับ ‘วิกฤต’ 

“โชคดีที่ตอนนั้น เราเริ่มคุยกันว่าจะขยับไปทำเว็บไซต์เเละขายผ่านออนไลน์กันมากขึ้น ในวันที่ทางการประกาศล็อกดาวน์ ตรงกับวันเเรกที่เราเปิดตัวเว็บไซต์ใหม่ เมื่อต้องปิดร้านชั่วคราว เเต่เรายังสามารถขายของได้” 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนรายได้ ที่ ‘เคยได้’ ยอมรับว่าหายไปพอสมควร เพราะรายได้ส่วนใหญ่มาจากการขายหน้าร้าน เเต่ก็ถือว่าได้หาช่องทางพยุงรายได้ ไม่ได้ขาดช่วงเเละช่วยซัพพอร์ตค่าใช้จ่ายได้ 

สำหรับช่องทางการขายในปัจจุบัน ลูกค้าส่วนใหญ่ยังเป็นหน้าร้าน เนื่องจากมีจุดเด่นอยู่ที่ ‘การได้เห็นของจริง’ เพราะสติกเกอร์เเต่ละชิ้น จะมีรายละเอียดที่เเตกต่างกันออกไป อย่างเช่น บางอันมีลวดลายที่มีมิติ กันน้ำได้หรือไม่ได้ เป็นต้น 

ช่วงที่ขายดีที่สุดคือช่วงเทศกาลเเละวันหยุดยาว ส่วนเวลาที่ขายดีในเเต่ละวัน จะเป็นช่วงเย็นๆ หลังเลิกเรียน โดยสินค้าที่ขายดีที่สุด ได้เเก่ สติกเกอร์ , โปสการ์ด , พวงกุญเเจ เเละเทียนหอม 

จากเริ่มต้นที่ต้องทำทุกอย่าง ทุกหน้าที่ เเละมีทีมที่เป็นญาติมาช่วยอีกเเค่ 2 คน มาตอนนี้บริษัทขยายทีมงานให้ใหญ่ขึ้น มีออฟฟิศเเละจ้างพนักงานดูเเลหน้าร้าน มีผู้จัดการสาขา เเละเเอดมินคอยตอบลูกค้า รวมทั้งหมด 10 คน มีการเเบ่งหน้าที่การรับผิดชอบกันเเน่ชัด สื่อสารกันตลอดเวลา 

ขยายฐานลูกค้า ให้เข้าถึง ‘ผู้ใหญ่’

จุดเด่นของ I Found Something Good  อันดับหนึ่งคือการเป็น ‘Local Brand’ ที่มีผลงานศิลปะฝีมือคนไทย 100% รองลงมาคือ ‘ราคาที่จับต้องได้’ เด็กๆ สามารถซื้อได้ในราคา ‘หลักสิบหลักร้อย’  สินค้ามีความหลากหลาย โดยมีการใช้จ่ายเฉลี่ยราว 150-200 บาทต่อคน 

ตามมาด้วย ‘บรรยากาศของร้าน’ เมื่อมาเจอลูกค้าได้มาเจอคนที่ชอบในสิ่งเดียวกัน จึงมีความที่อยากซื้อไว้สะสมมากขึ้น รู้สึกเป็นพื้นที่ของเขา เป็น comfort zone ที่เดินดูของได้นานๆ

จากสาขาเเรกในสยามสเเควร์วัน ย่านวัยรุ่น สู่การขยายสาขามาที่ ‘เมกาบางนา’ ศูนย์การค้าใหญ่ชานเมืองที่ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าทุกช่วงวัย เพื่อเจาะกลุ่มครอบครัวเเละวัยทำงาน 

โดยเหตุผลที่เลือก ‘เปิดสาขาใหม่’ ที่เมกาบางนา เพราะมองว่าเป็นศูนย์การค้าที่มีทราฟฟิกเยอะ บรรยากาศทันสมัย มีลูกค้าทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ มาเป็นครอบครัวเเละกลุ่มเพื่อน อีกทั้งเมกาบางนายังมีการเติบโตต่อเนื่อง เเม้จะอยู่ในช่วงการเเพร่ระบาดของ COVID-19 

เมื่อถามว่า ทำไมจึงเลือกขยายสาขาในช่วงเวลานี้ เจ้าของร้าน I Found Something Good บอกว่าเป็นหนึ่งในแผนที่จะทำอยู่เเล้วในช่วงสิ้นปี 2020 โดยคิดไว้ว่าโรคระบาดน่าจะซาลงเเล้ว เเต่เมื่อต้องมาเจอ COVID-19 ระลอกใหม่ จึงต้องสู้กันใหม่ หาวิธีปรับตัวกันอีก เเต่ครั้งนี้มองว่าจะรับมือ ‘ได้ดีกว่าเดิม’ เพราะผ่านประสบการณ์เเบบนี้มาเเล้ว 

กลยุทธ์หลักๆ ของปีนี้ หลังขยายสาขาที่ 2 เรียบร้อยเเล้ว จึงจะเป็นการสร้าง ‘ระบบหลังบ้าน’ ให้เเข็งเเรง เรียกได้ว่า ‘กลับมาอยู่กับตัวเองมากขึ้น’ ทำความเข้าใจปัญหาที่มีเเละเตรียมตัวต่อยอดธุรกิจต่อไป 

‘ให้คุณค่า’ คือคีย์หลักของวงการ ‘สติกเกอร์’ ไทย

หลังจากที่อยู่ในวงการสติกเกอร์ไทยนาน  มองว่าปัญหาใหญ่ๆ ที่ต้องผลักดันคือเรื่อง ‘การให้คุณค่างานศิลปะ’ เพราะหลายคนยังตั้งคำถามว่า ทำไมราคาเท่านี้ อยากให้มองว่ากว่าจะสร้างสรรค์ผลงานออกมา 1 ชิ้น มันมี ‘ต้นทุน’ มากกว่าค่ากระดาษเเละค่าหมึกพิมพ์ ทั้งการฝึกฝน ทักษะเเละการเล่าเรียนต่างๆ ที่ต้องใช้เวลานานหลายปี 

นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงปัญหาเรื่อง ‘ซัพพลายเออร์’ ที่มีในท้องตลาดจำนวนน้อย เวลาผลิตสติกเกอร์จึงไม่ค่อยมีความหลากหลายของวัตถุดิบ เนื้อสติกเกอร์ยังมีให้เลือกค่อนข้างจำกัด 

เหล่านี้เป็นปัญหาที่สอดคล้องกันว่า ถ้าสังคมให้ความสำคัญกับงานศิลปะมากขึ้น บรรดาซัพพลายเออร์ก็จะพัฒนาสินค้าให้มีมากขึ้นตามไปด้วย หาอะไรใหม่ๆ มาสู้กันบ้าง ซึ่งตอนนี้ก็มองว่าตลาดนี้เริ่มดีขึ้น มีการนำของใหม่ๆ มาให้ศิลปินมาลองใช้กัน เเต่ก็ยังถือว่าน้อย เมื่อเทียบกับประเทศที่ให้การสนับสนุนด้านงานวาดการ์ตูนอย่างญี่ปุ่น 

ส่วนปัญหาเรื่อง ‘ลิขสิทธิ์’ ทางร้านก็พยายามคัดสรรสินค้าไม่เหมือนกัน ไม่นำของละเมิดลิขสิทธิ์เข้ามาขาย โดยมีการพูดคุยข้อตกลงกับศิลปินที่เป็นพาร์ตเนอร์ด้วยอย่างจริงจัง  

“ไม่อยากให้มองว่าวงการสติกเกอร์ เป็นเเค่เทรนด์หรือกระเเสที่เกิดขึ้นชั่วคราว เเต่ให้มองว่าเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเราจริงๆ เป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ที่ผู้คนนำมาปรับใช้ ทำให้ชีวิตมีความสุขขึ้นในทุกๆ วัน” 

โดยปัจจุบัน มีทั้งการนำ ‘สติกเกอร์’ ไปตกเเต่งห้อง ตกเเต่งของใช้ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เเละเครื่องเขียนต่างๆ นำไปใช้ตอนจดตารางการทำงาน จดสรุปการเรียน ช่วยให้มีกำลังใจในการอ่านหนังสือมากขึ้น ฯลฯ 

คงความเป็นตัวตน มีทีมเวิร์กเเละใส่ใจลูกค้า 

สำหรับการเเข่งขันในตลาด มองว่ามีความท้าทาย เพราะมีร้านลักษณะคล้ายกันมาเปิดมากขึ้น จากเดิมที่เคยเป็นเจ้าเเรกๆ จึงทำให้ต้องเร่งพัฒนาให้ไม่หยุดนิ่ง 

“ถ้าถามว่าจะให้ขยายสาขาไปเยอะๆ เลยเราก็ทำได้ เเต่จะไม่ได้บรรยากาศเเบบที่เราต้องการ เพราะมันจะดูเป็นธุรกิจจ๋าเกินไป จึงจะพยายามคงความเป็นตัวตนของเรา ไปพร้อมๆ กับการเติบโตที่มากขึ้น” 

หลักการทำงานที่สำคัญที่สุด ที่ทั้ง 4 คนยึดถือ นั่นก็คือ ‘ทีมเวิร์ก’ เพราะไม่มีทางที่คนคนหนึ่งจะทำงานทุกอย่างได้ตั้งเเต่ต้นยันจบ การมีทีมที่ดีทำให้เราทำสิ่งที่คิดให้เกิดขึ้นจริงได้ เเละโตไปได้ด้วยประสิทธิภาพที่มากกว่า 

ต่อมาคือ ‘การดูเเลพนักงาน’ เเม้ว่าเราจะอายุยังน้อย เเต่เมื่อพนักงานในบริษัทเเล้ว ก็ต้องให้สวัสดิการที่ดี สร้างบรรยากาศการทำงานให้พูดคุยกันได้ อาศัยการไว้ใจจากคนทำงาน สบายใจเเละเปิดใจกับเรา 

‘ความพึงพอใจของลูกค้า’ คือสิ่งสำคัญโดยจะมีเช็กฟีดเเบ็กลูกค้าตลอด มีปัญหาอะไรก็เข้าไปเเก้ทันที  ขณะที่การดูเเลศิลปินนั้น จะมีการช่วยโปรโมตผลงานให้อย่างต่อเนื่อง หาโปรโมชันทำร่วมกับศิลปิน เพื่อส่งเสริมการขายให้กันเเละกัน 

เเม้จะเต็มไปด้วยพลังที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เเต่ทุกการทำงานต้องมี ‘ความเหนื่อย’ อย่างตอนที่เช็กสินค้าในสต๊อกไม่ทัน ต้องอดหลับอดนอน เเละมีช่วงที่เเพชชั่นมันลดลง เเต่พอมาเจอลูกค้าหรือได้รับฟีดเเบ็กดีๆ ก็มีส่วนช่วยได้เยอะ 

ส่วนมุมมองของการทำ ‘ธุรกิจกับเพื่อน’ นั้น ทั้ง 4 คนมองไปในทิศทางเดียวกันว่า เป็นความสัมพันธ์ที่มากกว่าการทำงาน ไม่ได้มองว่าเป็นเเค่เพื่อนร่วมงาน เเต่เป็นเพื่อนร่วมชีวิต ฟังความคิดเห็นกันเเละพยายามหาโซลูชันที่พอใจกันทุกฝ่าย 

สุดท้าย I Found Something Good ฝากเเนะนำถึง ผู้ประกอบการรุ่นใหม่’ ที่อยากจะลองทำธุรกิจว่า ถ้าตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มจากอะไร ให้สังเกตความชอบของตัวเองดีๆ เพราะการทำธุรกิจต้องใช้ชีวิตอยู่กับมันจริงๆ ทำงานตลอดเวลา ต้องทุ่มเทเเละวางเป้าหมายให้เเน่ชัด การเลือกพาร์ตเนอร์ที่ไว้ใจได้เป็นสิ่งสำคัญ หาความรู้เกี่ยวกับธุรกิจทั่วไปเเละเฉพาะธุรกิจของเรา ลงมือทำจริง เเละตั้งมั่นว่าจะ ‘ไม่ถอยกลางทาง’ 

 

]]>
1320454
คนไทยชอบซื้อสติกเกอร์ติด Top 3 โลก! บอกเลย “ธุรกิจสติกเกอร์” ของ LINE ประเทศไทย ไม่ได้มาเล่นๆ https://positioningmag.com/1197065 Tue, 13 Nov 2018 08:59:11 +0000 https://positioningmag.com/?p=1197065 เรื่อง : Thanatkit

เมื่อนับจำนวนฐานผู้ใช้งาน ต้องบอกว่า “LINE” เป็นหนึ่งในแอปพลิเคชั่นที่คนไทยใช้งานมากเป็นลำดับต้นๆ ด้วยจำนวนตัวเลข 42 ล้านราย หรือเกือบ 3 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศไทย 69 ล้านคน

เพียงแต่จุดเด่นของ LINE ไม่ได้อยู่ที่การเป็นแค่แชตแอปพลิเคชั่น เท่านั้น หากเสน่ห์ที่แท้จริงที่ทำให้คนไทยใช้ LINE อย่างติดหนึบ คือสติกเกอร์ ต่างหาก ซึ่งไม่ต้องตกใจไปถ้าจะบอกว่า ในแง่สัดส่วนผู้ที่ซื้อสติกเกอร์ต่อผู้ใช้งาน 1 ราย คนไทยติดดันดับ 3 ของโลกรองจากญี่ปุ่นที่รั้งเบอร์ 1 และไต้หวันที่ได้เบอร์ 3

เฉพาะครึ่งปีแรก 2018 เมืองไทยมีจำนวนผู้ซื้อสติกเกอร์เพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขึ้นแท่นเป็นเบอร์ 1 ของโลก ส่งผลให้บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับธุรกิจสติกเกอร์ในเมืองไทยเป็นอย่างมาก

กณพ ศุภมานพ

วันนี้คนใช้ LINE มีมากถึง 42 ล้านราย ถึงจะไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ว่า ตอนนี้มีคนที่ใช้ LINE โหลดสติกเกอร์แบบเสียเงินทั้งหมดหรือยัง แต่จากเห็นอัตราการเติบโตที่เกิดขึ้น นั่นหมายความว่า LINE ยังมีโอกาศอีกมากสำหรับธุรกิจสติกเกอร์” กณพ ศุภมานพ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจสติกเกอร์ LINE ประเทศไทย บอกถึงโอกาสที่ยังมีอีกมากของธุรกิจสติกเกอร์

พฤติกรรมเด่นของคนไทยที่ทำให้สติกเกอร์ติดท็อป 3 ของโลกจาก 230 ประเทศทั่วโลกที่ LINE มีให้บริการอยู่ คือ พฤติกรรมของคนไทย 2 ข้อหลักๆ ได้แก่

1. คนไทยไม่ค่อยกล้าพูดตรงๆ มักจะพูดอ้อมๆ

แน่นอนเมื่อมีนิสัยแบบนี้ การที่มีสื่ออะไรบางอย่างมาแทนคำพูดที่ตรงกับจริตหรือพฤติกรรมมากกว่า ไม่ต้องพูดเอง ไม่ต้องพูดตรง หากสามารถสะท้อนความคิดและความรู้สึกที่ดีกว่า แล้วทำให้กล้าที่จะสื่อสารแบบนั้นออกไป

2. คนไทยมีอารมณ์ขัน

สติกเกอร์ที่ขายในเมืองไทย จะโดดเด่นมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดย “Mood & Tone” จะมีความตลก ประชดประชัน เล่นคำประสมคำ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของคนไทยมากๆ สะท้อนผ่านสติกเกอร์ของไทยที่ต่างจากประเทศอื่นๆ ที่มักจะแสดงออกแบบตรงๆ

กณพ บอกว่า ตัวเทรนด์สติกเกอร์เองก็มีการพัฒนามาเรื่อยๆ ยุคแรกจะเป็นสติกเกอร์ที่เน้นลายเส้นแบบการ์ตูน ภาพวาด เน้นเทคนิคของการดีไซน์ ใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยไปผูกกับคาแร็กเตอร์ที่ดังๆ เช่น ดิสนีย์ ถ้าเป็นคาแร็กเตอร์ที่คนไทยคุ้นเคยอย่างเช่น หนูหิ่น

หลังจากนั้นในปี 2014 ก็เริ่มเปิดตลาด “ไลน์ ครีเอเตอร์ มาร์เก็ต” ตอนนั้นกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนมองเห็นว่า คนทั่วไปก็สามารถทำรายได้จากตรงนี้ได้ แนวโน้มก็พัฒนาจากการ์ตูน ความสวยงาม ก็เริ่มใส่ความสนุกสนาน เล่นคำ และประชดประชัด เป็นต้น

ตอนนี้ไลน์สติกเกอร์มีอยู่ด้วยกัน 3 รูปแบบ ได้แก่ สปอนเซอร์สติกเกอร์ที่แจกฟรี และสติกเกอร์จัดจำหน่ายที่มี 2 รูปแบบ ได้แก่ Official Sticker ที่เป็นสติกเกอร์คาแร็กเตอร์ชั้นนำ สติกเกอร์ศิลปิน และ Creators Sticker ที่มาจากบุคคลทั่วไป

เพิ่มคอนเทนต์ และขยายช่องทางซื้อ 2 โจทย์ใหญ่ฝั่งผู้ซื้อ

แต่ถึงภาพที่ฉายออกมาจะดำเนินไปในทิศทางที่ดีอยู่แล้ว แต่จริงๆ แล้วธุรกิจสติกเกอร์ ก็ยังมีการบ้านที่ต้องทำกับทั้งฝั่งของผู้ใช้งาน และฝั่งของครีเอเตอร์ที่ LINE กำลังต้องการผลักดันอย่างมาก

โดยในฝั่งของผู้ซื้ออย่างเราๆ นั้น กณพ บอกว่า หลักๆ มีอยู่ 2 ข้อเพื่อทำให้การซื้อเติบโต คือ 1. พัฒนาคอนเทนต์ ทั้งในส่วนของออฟฟิเชียล เช่น ค่ายเพลง ทีวี ศิลปิน ดารา เพื่อให้มีคอนเทนต์ที่ตามกระแสได้เร็วขึ้น ส่วนฝ่ายครีเอเตอร์ก็ส่งเสริมให้สามารถออกได้บ่อย อีกทั้งจะเพิ่มแคทิกอรี่ไปยังกลุ่มที่เป็นนิชมาร์เก็ตมากขึ้น เช่น ศิลปินลูกทุ่ง อินฟลูเอนเซอร์ บิวตี้บล็อกเกอร์ ยูทูปเบอร์ ซึ่งกลุ่มนี้มักจะมีฐานแฟนครับอยู่แล้ว

และ 2. ขยายช่องทางการจัดจำหน่าย โดยอุปสรรคที่สำคัญของคนไทยบางส่วน คือ การขาดประสบการในการซื้อของออนไลน์ จากผลการวิจัยที่ LINE สำรวจพฤติกรรมผู้ใช้งาน พบว่ามากกว่า 35% บอกว่าซื้อสติกเกอร์ไม่เป็น ถ้าถามว่าอยากได้ไหม คืออยากได้ ไม่มีปัญหาเรื่องเงิน เพราะสติกเกอร์มีราคาเริ่มต้นที่ 30 บาทเท่านั้น สามารถจ่ายได้

เพราะฉะนั้นสิ่งที่ไลน์พยายามทำมาตลอด คือ การที่ขยายช่องทางการจัดจำหน่าย โดยมุ่งไปช่องทางที่เข้าถึงกลุ่มคนที่เป็นเป้าหมาย อย่างที่ LINE ทำในปีก่อนได้ขยายไปที่ตู้เติมเงิน โดยทำกับตู้บุญติมที่มีส่วนแบ่งในตลาดอันดับ 1 เป็นเจ้าแรก ส่วนปีนี้จับมือเพิ่มกับตู้เติมสบายพลัส เมื่อร่วมกันทั้งคู่จะมีจำนวนมากกว่า 170,000 ตู้ทั่วประเทศ

และหลังจากที่ทดลองทำตลาดมาประมาณ 1 ปี สิ่งที่ LINE พบคือ 70% ของผู้ที่ซื้อสติกเตอร์หน้าใหม่ ที่ไม่เคยซื้อมาก่อน มาจากช่องทางตู้เติมเงิน

“สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นข้อพิสูจน์ของ LINE ที่ว่า ถ้าศักยภาพของลูกค้าอยู่ตรงไหน ใช้ช่องทางไหนมากที่สุดในการทำธุรกรรม LINE ต้องนำตัวเองไปอยู่ตรงนั้น”

สำหรับช่องทางการซื้อที่ LINE จะโพกัสในปีนี้ คือ “LINE Store” ที่สามารถซื้อสติกเกอร์ได้ถึง 7 วิธี อาทิ ผ่านเครือข่ายมือถือ เป็นต้น โดยจนถึงสิ้นปี LINE จะโปรโมตช่องทางนี้มากขึ้น เช่น โฆษณาบน BTS, ช่องทางของ LINE เอง และสื่อนอกบ้าน เพื่อเข้าให้ถึงนักศึกษาและเฟิร์สจ็อบเบอร์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่มีกำลังซื้อ

ใจความสำคัญอยู่ที่ “ครีเอเตอร์”

ในขณะที่ฝั่งของผู้ทำสติกเกอร์ได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกเป็นฝั่งคอนเทนต์ โพรวายเดอร์ ที่ LINE วางแผนทำงานร่วมกันระยะยาวมากขึ้น และอีกฝั่งคือ “ครีเอเตอร์” ซึ่งฝั่งนี้แหละที่ LINE กำลังต้องการผลักดันเป็นอย่างมาก ด้วยเชื่อว่า กลุ่มนี้มีไอเดียใหม่ๆ ที่เข้ามาเติมอยู่ตลอดไม่ให้ภาพรวมหยุดนิ่ง

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ LINE กระตุ้นให้จำนวนครีเอเตอร์เพิ่มขึ้นมาจากหลายส่วน ทั้งการจัดอบรมทำสติกเกอร์ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้ว LINE บอกว่า การอบรมทำให้เห็นถึงกลุ่มคนที่ต้องการเป็นครีเอเตอร์จริงๆ

รวมไปถึงจัดให้มีการประกวด LINE Creators Market Sticker Contest ปีนี้ได้จัดเป็นปีที่ 4 แล้ว ภายใต้หัวข้อ “ชีวิตประจำวันครบรส แบบโหด มันส์ ฮา!” โดยได้พาผู้ชนะทั้ง 10 คนจากจำนวนผู้ที่ส่งเข้าประกวดกว่า 2,000 ชุด ไปศึกษาดูงานถึงแหล่งต้นกำหนดที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 17-21 ตุลาคม 2018 ที่ผ่านมา (Positioning เป็นหนึ่งในสื่อหลายๆ สำนักที่ทาง LINE เชิญให้ร่วมเดินทางไปด้วย)

โฉมหน้าผู้ชนะทั้ง 10 คน

อีกช่องทางหนึ่งคือการเปิดตัว “LINE Creator Studio” (ไลน์ ครีเอเตอร์ สตูดิโอ) โดยเป็นแอปที่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปทำสติกเกอร์ได้ง่ายๆ ซึ่งแอปที่ว่านี้แหละทำให้ความพยายามของ LINE ที่ต้องการให้ระยะเวลาตรวจสอบให้สั้นลง กลายเป็นว่ายาวนานมากขึ้น

เพราะแต่เดิมจะใช้เวลาตรวจสอบราว 2-3 สัปดาห์ จากสำนักงานใหญ่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งที่นั่นจะมีคนไทยควรตรวจสอบสติกเกอร์ภาษาไทย แต่กลายเป็นว่า หลังเปิดตัวแอปในช่วงเดือนสิงหาคม ได้มีครีเอเตอร์ส่งสติกเกอร์ให้ตรวจจำนวนมาก เกิดกว่าที่ LINE ประเมินไปด้วยซ้ำ

ส่งผลให้ช่วงนั้นครีเอเตอร์ต้องรอกว่า 2-3 เดือนเลยทีเดียว แต่ตอนนี้ได้ปรับปรุงให้ตรวจเร็วขึ้นจนเหลือระยะการรอแค่ 1 สัปดาห์แล้ว โดยตัวเลขล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม ครีเอเตอร์ส่งสติกเกอร์ผ่าน Creator Studio แล้ว 80,000 ชุด ถ้านับถึงวันนี้เชื่อว่าเกินแสนชุดเรียบร้อยแล้ว

เปลี่ยน “งานอดิเรก” ให้เป็น “อาชีพ”

สิ่งที่ LINE อยากเห็นจากครีเอเตอร์ คือการเปลี่ยนจากการทำสติกเกอร์เป็นงานอดิเรก ให้เป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวเองให้ได้ โดยภาพเหล่านั้นได้เกิดขึ้นแล้ว จากเพียงแค่อยากมีสติกเกอร์เป็นของตัวเอง ค่อยๆ ขยับมาเป็นหลักด้วยแรงกระตุ้นจากรายได้ที่เข้ามาสม่ำเสมอ แม้วันนี้จะยังเห็นกลุ่มคนว่าอยู่เพียงหลักร้อยคนก็ตาม

กณพ อธิบายต่อว่า ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่จะสามารถลาออกจากงาน แล้วใช้อาชีพครีเอตอร์สติกเกอร์เป็นงานหลักได้ แต่สิ่งที่ไลน์เห็นวันนี้มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้ว เช่นครีเอเตอร์รายหนึ่ง ทำสติกเกอร์มาแล้ว 2,000 กว่าชุดได้ ช่วงที่สติกเกอร์ชื่อดังตอนเดือนมีนาคมเมษายน ครีเอเตอร์ท่านนี้สามารถทำรายได้หลักหลายล้านเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม กณพ ให้ความเห็นว่า สติกเกอร์ที่ขายดีไม่ใช่สติกเกอร์ที่สวยที่สุด แต่คือสติกเกอร์ที่โดนใจที่สุด บางครั้งเป็นแค่ตัวหนังสื้อด้วยซ้ำ ดังนั้นจึงไม่มีสูตรสำเร็จในการทำสติกเกอร์ ผู้ที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องจับกระแสให้ทันและต้องรู้ด้วยว่า สติกเกอร์ที่กำลังจะวางขายมีเป้าหมายเป็นใคร

“ตอนนี้ไลน์สติกเกอร์ถือเป็นช่องทางการสื่อสารที่ทรงพลังแล้ว เพราะเมื่อไหร่ก็ตามมีคอนเทนต์ที่โดนใจ จนเกิดการซื้อและส่งต่อ ซึ่งไม่ได้ความความว่ามีคนเห็นแค่คนเดียว หากเมื่อก็ตามส่งเข้าไปในกลุ่ม ก็จะมีคนอีกเป็นสิบเป็นร้อยที่เห็น เพราะฉะนั้นการส่ง 1 ครั้งคือการเอาคอนเทนต์ที่ใครไม่รู้สร้างขึ้น กระจายออกไป แล้วพอคนอื่นเห็นก็สร้างโอกาสซื้อตามมากขึ้นไปด้วย”

นอกเหนือจากการส่งเสริมให้ทำสติกเกอร์แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ LINE กำลังทำคือ การที่นำคาแร็กเตอร์จากออนไลน์ มาต่อยอดเป็นสินค้า โดย LINE จะเลือกคาแร็กเตอร์ที่โดดเด่นและเป็นที่นิยม แล้วให้เงินทุนสนับสนุน ทำออกมาเป็นสินค้าก่อนจะเปิดให้วางขายใน “ไลน์ กิฟต์ช้อป (LINE GIFTSHOP)” โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตอนนี้มีทั้งหมดแล้ว 20 รายด้วยกัน

สินค้าจากครีเอเตอร์ที่วางขายใน LINE ญี่ปุ่น

ไม่ใช่แค่ “สติกเกอร์” ที่ต้องกระตุ้น “ธีม” ก็ต้องเอาด้วย

ก่อนจะจบการพูดคุยกันที่กินเวลาไปประมาณ 1 ชั่วโมงแล้ว ณ ประเทศญี่ปุ่น กณพ ทิ้งท้ายว่า ไม่ใช่แค่สติกเกอร์ที่ LINE พยายามกระตุ้น แต่ “ธีม” ที่อยู่ภายใต้กลุ่มธุรกิจเดียวกันก็ต้องเอาด้วย เนื่องจากตอนนี้เป็นธีมกำลังเติบโตแบบก้าวกระโดด ปี 2018 จึงเป็นปีแรกที่ LINE เข้ามาส่งเสริมอย่างและวางแผนอย่างเป็นระบบ

โดยได้ประสานงานกับคอนเทนต์ โพรวายเดอร์ เพื่อออกสติกเกอร์ที่เป็นของศิลปินกับดารา มาพร้อมกับธีม ด้วยพบสถิตว่า 1 ใน 3 ของคนที่ซื่อสติกเกอร์ของศิลปินที่ชื่นชอบ มักจะซื้อธีมที่ออกมาคู่กันด้วย

พฤติกรรมที่เกิดขึ้นคือถ้าชอบศิลปินคนไหนมากๆ ก็จะอยากเห็นตลอดเวลา จึงซื้อธีมมาด้วยแม้คนอื่นจะไม่เห็นก็ตาม

ทั้งหมดนี้คือทิศทางที่ธุรกิจสติกเกอร์ LINE ประเทศไทย กำลังจะเดินต่อไป ปีหน้าคงต้องมาอัพเดตอีกทีว่า สิ่งที่วางไว้ได้เดินไปถึงไหนแล้ว 🙂

]]>
1197065
แกรมมี่ ติดใจ ออกมิวสิก สติกเกอร์เอาใจ “คนโสด” หวังปั้นรายได้จากออนไลน์ https://positioningmag.com/1132705 Thu, 13 Jul 2017 07:53:51 +0000 http://positioningmag.com/?p=1132705 โมเดลธุรกิจของค่ายเพลงยุคนี้ ต้องต่อยอดสู่ออนไลน์ การออก “มิวสิก สติกเกอร์” เป็นอีกหนึ่งในช่องทางหารายได้ของค่ายจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ที่ใช้ลิขสิทธิ์เพลงในมือมาสร้างมูลค่าเพิ่ม

หลังจากประเดิมออก ”มิวสิก สติกเกอร์” ร้องเพลงได้ ความยาว 8 วินาที ใช้ท่อนฮุคเพลงฮิตของคนทำงานมาแล้ว จนทำยอดขายติดชาร์ตดาวน์โหลดมาแล้ว มาคราวนี้ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ต่อยอด ส่ง ‘สติกเกอร์เพลงฮิตคนโสด’ โดยเลือกเพลงฮิตยอดนิยมที่โดนใจ คนโสด ขาแชทมาให้โหลด 24 แบบ

ภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิก บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า คอนเซ็ปต์ของ “สติกเกอร์เพลงฮิตคนโสด” มาจาก Insight ที่โดนใจคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ  ภายใต้คอนเซ็ปต์ “บอกโลกว่า  โสดโปรดจีบ”

สติกเกอร์จะบอกเล่าสถานะความโสด อาทิ คนโสดจริง โสดหลอก เกือบโสด ใกล้โสด อยากโสด ไม่ว่าจะเป็นโสดสถานะไหนก็สามารถโหลดใช้ได้ โดยมาพร้อมกับท่อนฮุคเพลงฮิต จากศิลปินดัง ไม่ว่าจะเป็นป๊อป ร็อก และลูกทุ่ง เช่น อยากโดนเป็นเจ้าของ (เพลง คนไม่มีแฟน ของ เบิร์ด-ธงไชย), คนที่ไม่เข้าตา (เพลง คนที่ไม่เข้าตา ของ ป๊อป-ปองกูล), I need somebody (เพลง I need somebody ของ บี้-สุกฤษฏิ์), โปรดส่งใครมารักฉันที (เพลง โปรดส่งใครมารักฉันที ของ Instinct เป็นต้น โดยเป็นเพลงฮิตติดหูที่คุ้นเคย และสามารถสื่อถึงความรู้สึกของคนกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี

]]>
1132705