The Future 100 เปิดเทรนด์อนาคตปี 2021 อะไรที่ ‘กำลังมา’ จนแบรนด์ต้องจับให้ทัน

อีกหนึ่งปีหมุนเวียนผ่านไป “วันเดอร์แมน ธอมสัน” จัดทำประมวล The Future 100 เทรนด์อนาคตและความเปลี่ยนแปลงที่แบรนด์ต้องจับตามองประจำปี 2021 เพื่อก้าวให้ทันพฤติกรรมและความคิดของผู้บริโภค โดยเฉพาะหลังจากช่วงปีที่โลกต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงอย่างที่สุดเนื่องจากโรคระบาด

วันเดอร์แมน ธอมสัน เอเจนซี่ในเครือ WPP จัดทำรายงาน The Future 100 เช่นทุกปี เปิดเทรนด์หรือความเปลี่ยนแปลงของโลกที่น่าจับตามองใน 10 หมวดหมู่ รวมทั้งหมด 100 เทรนด์ นำเสนอให้กับนักการตลาดหรือผู้ที่สนใจนำไปปรับใช้กับการพัฒนาแบรนด์และองค์กร

จากทั้งหมด 100 เทรนด์ Positioning เราขอคัดเลือก 10 เทรนด์ที่น่าสนใจมานำเสนอ โดยเลือกจากหัวข้อที่เกี่ยวพันหรือสามารถมาปรับใช้กับคนในเอเชียและประเทศไทยเป็นหลัก ดังนี้

 

วัฒนธรรม – ขับเคลื่อน “แฟนด้อม”

วงเคป็อป BTS บนเวที “Today” Show เมืองนิวยอร์ก สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 (Photo : Dia Dipasupil/Getty Images)

ทั่วโลกมีกลุ่มแฟนคลับของศิลปินดังมาช้านาน แต่กลุ่ม “แฟนด้อม” ที่ยกระดับการเป็นแฟนคลับอย่างแท้จริงคือแฟนด้อมศิลปิน K-Pop เพราะพวกเขาไม่เพียงแต่บริโภคคอนเทนต์จากศิลปิน แต่เป็นผู้กระจายข่าวและสร้างคอนเทนต์ให้ไอดอลที่ตัวเองชื่นชอบโด่งดังยิ่งขึ้น

แม้ว่าโลกจะเผชิญโรคระบาด และวิธีการปฏิสัมพันธ์กับแฟนคลับของศิลปินเกาหลีต้องเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ตที่สตรีมมิ่งผ่านออนไลน์ ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลในการมีตติ้งกับแฟนๆ ใช้ระบบ VR และ AR แทนการพบกันแบบตัวต่อตัว แต่เหล่าแฟนด้อมของ K-Pop ไม่เคยจากไปไหน พวกเขายังคงสร้างชุมชนแฟนคลับ ผนึกกำลังกันซื้อและสตรีมงานเพลงของศิลปินเพื่อดันให้ศิลปินขึ้นอันดับ 1 ไปจนถึงการสร้างแฟนอาร์ต แฟนฟิคชัน ตัดต่อคลิป ฯลฯ ทวีคูณคอนเทนต์ออกไป

พลังของแฟนด้อมยิ่งเห็นผลชัดเจนในปี 2020 เพราะพลังนี้ได้ขยายวงไปเกินกว่าโลกแห่งความบันเทิง แฟนด้อมเกาหลีคือผู้สนับสนุน Black Lives Matter คือผู้จัดแคมเปญแกล้งจองตั๋วงานหาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์แต่ไม่ไปปรากฏตัวจนมีแต่ที่นั่งว่าง ไปจนถึงระดมเงินกันในหมู่แฟนคลับเพื่อซื้อหมวกและแว่นในการชุมนุมประท้วงของไทย (อ่านเคสประกอบ : ด้อมเกาหลี ขยายสู่เเฟน “อินเตอร์” มิติใหม่ “ป้าย HBD” เทนายทุน มุ่งกระจายรายได้ชุมชน)

เมื่อแฟนด้อมยกระดับพลังไปนอกเหนือจากตัวศิลปิน ทำให้เห็นโอกาสที่แบรนด์จะสามารถมีแฟนด้อมของตัวเองได้เหมือนกัน ถ้าหากแบรนด์เป็นผู้ยืนหยัดเพื่อบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่า แบรนด์กำลังอยู่เคียงข้างพวกเขา

 

เทคโนโลยีและนวัตกรรม – ความยั่งยืนของการจัดเก็บดาต้า

ปัญหาโลกร้อนมักจะถูกผูกโยงกับสิ่งที่จับต้องได้เป็นหลัก แต่สิ่งที่จับต้องไม่ได้อย่าง “ดาต้า” ก็เป็นตัวการปัญหาเหมือนกัน Bloomberg รายงานว่า ดาต้า เซ็นเตอร์บนโลกนี้กินพลังงานคิดเป็นสัดส่วน 2% ของการใช้พลังงานทั้งหมด แต่ตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่า นั่นคือ 8% ภายในปี 2030

Shift Project ยังเคยเผยงานวิจัยเมื่อเดือนมีนาคม 2019 ด้วยว่า เทคโนโลยีดิจิทัลมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นสัดส่วน 3.7% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด เท่าๆ กับที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมการบิน ตัวเลขนี้ทำให้เรารู้ว่า อีเมลทุกฉบับที่เราส่งหรือเกมทุกเกมที่เราเล่นสามารถมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมได้ทั้งหมด

กระแสนี้ทำให้ยักษ์บริษัทเทคฯ ออกตัวไปก่อนแล้วในการแก้ปัญหา เช่น Microsoft เจ้าของระบบคลาวด์ Azure กล่าวว่า บริษัทกำลังพัฒนาระบบพลังงานหมุนเวียนไว้ใช้กับดาต้า เซ็นเตอร์ของตน หรือในหมวดเกมมิ่ง ทั้งเครื่องเล่นเกม PlayStation 5 และ Xbox Series S กับ X ต่างก็มีหมวดประหยัดพลังงานปรับปรุงใหม่ให้ใช้

เทรนด์เรื่องดาต้ากับโลกร้อนจึงเป็นก้าวที่น่าสนใจหากแบรนด์จะนำไปพิจารณา และนำมาปรับใช้กับนโยบายด้านความยั่งยืน

 

ท่องเที่ยว – บริการมีระดับเฉพาะสมาชิก

ทริปท่องเที่ยวแบบเอ็กซ์คลูซีฟ ทัวร์แบบส่วนตัวและหรูหรา ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่ปีที่ผ่านมามีเทรนด์ใหม่เกิดขึ้นคือการยกระดับให้การท่องเที่ยวแบบลักชัวรีเป็น “ระบบสมัครสมาชิก”

ยกตัวอย่างเช่น Chateau Marmont L.A. โรงแรมหรูที่ดาราฮอลลีวูดนิยม ออกโมเดลธุรกิจใหม่ ปิดโรงแรมให้เฉพาะผู้ที่เป็นสมาชิกใช้งานเป็นเวลา 12 เดือน (กรกฎาคม 2020 – มิถุนายน 2021) ผู้ที่ต้องการเป็นสมาชิกจะต้องซื้อหุ้นของโรงแรม ก่อนที่จะได้เข้าพักและใช้บริการต่างๆ เช่น พื้นที่โต๊ะทานอาหารค่ำส่วนตัว บัตเลอร์ส่วนตัว เป็นต้น ปรากฏว่าเป็นโมเดลที่ฮิตมากจนเจ้าของจะขยายไปใช้ที่สาขาอื่นใน มิลาน ปารีส โตเกียว ลอนดอน และนิวยอร์ก

ดูเหมือนว่าเทรนด์ของเศรษฐีในโลกยุค COVID-19 ต่างต้องการความเป็นส่วนตัวและหรูหราเหนือระดับกว่าที่เคยด้วยการท่องเที่ยวที่ต้องเป็นสมาชิกเท่านั้น

 

แบรนด์และการตลาด – ตารางคะแนนแบรนด์ที่มี ‘คุณธรรม’

การสำรวจจาก IBM เปิดเผยเมื่อปี 2020 พบว่า 40% ของผู้บริโภคมีการซื้อสินค้าโดยดูจากจุดยืนของแบรนด์เป็นหลัก ขณะที่ Forbes ให้นิยามปี 2020 ว่าเป็นปีที่ “จุดยืนของแบรนด์ก้าวสู่กระแสหลัก”

แรงกระตุ้นการซื้อจากคุณธรรมของแบรนด์ ทำให้แบรนด์ต้องปรับตัว เช่น Disney+ มีการติดแท็กคำเตือนก่อนฉายการ์ตูนเก่าแก่บางเรื่อง เช่น The Jungle Book, Dumbo, Lady and the Tramp ว่าเนื้อเรื่องอาจจะ “มีการให้ภาพเชิงลบและ/หรือการปฏิบัติที่ผิดต่อกลุ่มคนหรือวัฒนธรรม”

ไปจนถึงเรื่องที่เป็นประเด็นใหญ่ เช่น Black Lives Matter หรือการตอบสนองต่อ COVID-19 กลายเป็นตัวชี้ชะตาว่าแบรนด์จะแสดงออกต่อเรื่องเหล่านี้อย่างไร (อ่านเคสเพิ่มเติม : กรณีศึกษา : เมื่อ Nike สนับสนุน ‘BlackLivesMatter’ ยืนหยัดรับความเสี่ยงจากการ ‘เลือกข้าง’)

“แบรนด์มีจุดยืนอย่างไร มีความเชื่อและการให้คุณค่ากับอะไร จะกลายเป็นสิ่งที่สำคัญกับผู้ซื้อมากพอๆ กับตัวสินค้าและสุนทรียะของแบรนด์” ริคคาร์โด เบลลินี ซีอีโอบริษัท Chloe กล่าวไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020

 

อาหารและเครื่องดื่ม – Plant-based ปักหลักในเอเชีย

Photo : Shutterstock

Plant-based หรือเนื้อทำจากพืช เป็นกระแสในฝั่งตะวันตกมาแล้วหลายปี แต่ปีที่แล้วคือจุดที่กระแสเริ่มติดลมบนอย่างแท้จริงในทวีปเอเชีย

วัดจากการเปิดตัว Beyond Burger เป็นครั้งแรกในประเทศจีนของบริษัท Beyond Meat และสตาร์ทอัพด้าน Plant-based ที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดในเอเชีย และเป็นไปได้ว่าเนื้อทำจากพืชแบบนี้จะกลายเป็นหนึ่งในตัวเลือกบนเมนูอาหารคนเอเชียในอนาคต

โดยในปี 2019 วันเดอร์แมน ธอมสันเคยจัดสำรวจความเห็นวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้นรวม 9 ประเทศทวีปเอเชีย พบว่า 56% ของผู้ถูกสำรวจตั้งใจที่จะทานเนื้อสัตว์ให้น้อยลง เนื่องจากใส่ใจเรื่องผลพวงเชิงสุขภาพ

นอกจากนี้ รายได้คนเอเชียที่มากขึ้นยังนำไปสู่การทานเนื้อสัตว์ที่มากขึ้น และต้องการสิ่งทดแทนเนื้อสัตว์มากขึ้นตามไปด้วย โดย Euromonitor พบว่าตลาดสิ่งทดแทนเนื้อสัตว์ในเอเชียแปซิฟิกมีมูลค่า 1.53 หมื่นล้านหรียญสหรัฐเมื่อปี 2019 เติบโตขึ้น 4.75% จากปีก่อนหน้า (อ่านเคสเพิ่มเติม : เมื่อ Sizzler หาเหตุให้คนเข้าร้าน ปั้นเทศกาลเจ ยอม “ลดราคา” ดึงคนทาน Plant-based มากขึ้น)

 

ความงาม – Skinfluencers

ช่อง Skincare by Hyram ใน YouTube มีผู้ติดตาม 4.38 ล้านคน แต่ที่ปังจริงๆ คือใน TikTok เพราะมีคนตามมากกว่า 6 ล้านคน

คุณอ่านไม่ผิด อินฟลูเอนเซอร์ความงามที่กำลังมาแรงยุคนี้คือ “สกินฟลูเอนเซอร์” คนดังที่รีวิวแต่สกินแคร์เท่านั้น ตอบสนองกระแสความนิยมสกินแคร์ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบน TikTok แพลตฟอร์มนี้เป็นแหล่งรวมผู้บริโภคเจนซี ผู้ชื่นชอบวิดีโอสั้น ตัดกระชับฉับไวและบันเทิง และนี่จะเป็นโอกาสให้แบรนด์สกินแคร์ทั้งหลายมีช่องทางเจาะตลาด

“เจนซีนิยมสกินฟลูเอนเซอร์บน TikTok เมื่อหาคำแนะนำเลือกซื้อสินค้ากลุ่มนี้ เพราะพวกเขาต้องการเสียงของผู้ใช้จริง” ลิซ ฟลอรา นักข่าวอาวุโสด้านความงามและเวลเนสที่ Glossy ให้ความเห็นกับวันเดอร์แมน ธอมสัน อินเทลลิเจนซ์

“สกินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังอย่าง Hyram Yarbro เป็นที่รู้จักทั้งในฐานะคนดังที่แนะนำสกินแคร์ที่เขาชอบ และคนที่ให้ความเห็นแบบโต้งๆ เมื่อเจอสิ่งที่ไม่ชอบ ความจริงใจตรงนี้ทำให้เขาเหนือกว่าในตลาดที่อินฟลูเอนเซอร์มักจะได้รับสิ่งตอบแทนเพื่อให้รีวิวสินค้า และสำคัญมากกับคนเจนซีซึ่งมีเรดาร์ตรวจจับสปอนเซอร์คอนเทนต์ที่แม่นยำ” ฟลอรากล่าว

Yarbro เป็นเจ้าของช่อง Skincare by Hyram บน TikTok เขามีฟอลโลเวอร์ 1 แสนคนในช่วงเริ่มต้นเกิดโรคระบาด ตัวเลขนั้นเติบโตอย่างรวดเร็วไปถึงมากกว่า 6 ล้านคนเมื่อสิ้นเดือนกันยายน 2020 จนหนังสือพิมพ์ The New York Times ถึงกับขนานนามว่าเขาเป็น “คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ที่ทั้งสร้างหรือทำลายแบรนด์สกินแคร์ก็ได้”

โมเดลเดียวกันนี้ยังมีอีกหลายคน เช่น ช่อง @katyaniomi จากแคนาดา มีฟอลโลเวอร์ 1.4 แสนคน เพราะเธอเน้นรีวิวสกินแคร์ราคาไม่แพงจาก Costco และ Walmart ทำให้ผู้ติดตามไม่ต้องไปซื้อเซรั่มราคาแพงๆ หรือชาวเกาหลีมี Young-Seok Yuh กำลังมาแรงด้วยฟอลโลเวอร์กว่า 1 ล้านคน เน้นรีวิวสกินแคร์แบบให้ความรู้ด้วยตลกด้วย พร้อมกับสโลแกนที่ซื้อใจคนเจนซีคือ “ฉันไม่ใช้ฟิลเตอร์”

 

ค้าปลีก – สู้กับ Amazon

(Photo : Shopify)

ในโลกตะวันตก Amazon แทบจะเป็นผู้ค้ารายเดียวที่ครองโลกอีคอมเมิร์ซ และ COVID-19 ยังช่วยดันให้ Amazon โตเร็วยิ่งขึ้นไปอีก ในทางกลับกัน SMEs กลับต้องทุกข์ระทมเพราะสร้างที่ทางของตัวเองบนโลกออนไลน์ไม่ได้มากพอ

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ผู้บริโภคโต้กลับด้วยกระแสอย่าง #boycottamazon ซึ่งเป็นเทรนด์ทั้งบน Twitter และ Instagram ชวนให้คนเลิกซื้อของบน Amazon และมาสนับสนุนการซื้อของจากร้านเล็กๆ โดยตรงมากขึ้น

กระแสนี้ทำให้ Shopify แพลตฟอร์มซอฟต์แวร์สร้างร้านค้าออนไลน์เติบโตถึง 71% ในช่วงไตรมาส 2/2020 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยมีข้อดีที่เหนือกว่า Amazon สำหรับร้านค้าคือ ร้านจะจ่ายเฉพาะค่าธรรมเนียมใช้งานซอฟต์แวร์รายเดือน และเปอร์เซ็นต์ที่หักจากการซื้อขายแต่ละครั้ง แต่หักน้อยกว่ามาร์เก็ตเพลซ รวมถึงไม่ต้องทำตามกฎของ Amazon เพราะนี่คือหน้าร้านของธุรกิจนั้นๆ บริหารเองได้

เมื่อโลกปรับสู่การค้าแบบอีคอมเมิร์ซ รายใหญ่คือผู้รับประโยชน์สูงสุด แต่ทำอย่างไรให้ SMEs ได้ประโยชน์มากเช่นกันในห้วงเวลาของความเปลี่ยนแปลงแบบนี้

 

การงาน – อาชีพเกี่ยวกับ “โลกร้อน”

“โลกร้อน” เป็นประเด็นที่พูดกันมาเนิ่นนาน แต่ระดับความเข้มข้นในการผนวกเรื่องความยั่งยืนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยล่าสุด เรื่องความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมถูกบรรจุเป็นวิชาบังคับอยู่ในคอร์สเรียนของมหาวิทยาลัย หรือลงลึกถึงระดับในโรงเรียนสำหรับบางประเทศ และแน่นอนว่า “อาชีพ” ที่เกี่ยวข้องกลายเป็นกระแสที่มาแรงด้วยเช่นกัน

งานวิจัยจาก US Census Bureau แสดงให้เห็นว่าสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมกำลังเป็นสาขาวิชาที่มาแรงจำนวนบัณฑิตที่จบด้านทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาทรัพยากรเติบโตขึ้น 4.59% ระหว่างปี 2017-2018

ในอีกหนึ่งทศวรรษข้างหน้า คาดการณ์กันว่าตัวเลขนี้จะทำให้ตลาดงานของสหรัฐฯ เปลี่ยนโฉมหน้าไป โดย สำนักสถิติแรงงานของสหรัฐฯ มองว่าการจ้างงานนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจะเติบโต 8% ระหว่างปี 2019-2029 สูงกว่าค่าเฉลี่ยการจ้างงานของตลาดแรงงานโดยรวมมาก

ทุกอย่างนั้นสัมพันธ์กันหมด งานศึกษาจาก Amnesty International พบว่า คนเจนซี 4 ใน 10 คนมองว่าปัญหา “โลกร้อน” คือหนึ่งในปัญหาที่สำคัญที่สุดของโลกใบนี้ และเมื่อคนเจนซีเริ่มเข้ามาเป็นแรงงานในระบบแล้ว โดยปัจจุบันคิดเป็นราว 25% ของจำนวนแรงงาน พวกเขาจะพกอุดมคติในการต่อสู้กับโลกร้อนเข้าไปในที่ทำงานด้วย ส่งผลให้โครงสร้างขององค์กรจะเกิดการเปลี่ยนแปลง

 

สุขภาพ – Calmtainment

ศัพท์ใหม่ในวงการ ผู้บริโภคสื่อยุคนี้กำลังอินกับเทรนด์ “คอนเทนต์ที่ช่วยสร้างความสงบสุขในจิตใจ” (Calmtainment) Netflix เพิ่งจะฉายซีรีส์อนิเมชันชื่อ Headspace Guide to Meditation ซึ่งช่วยให้คำแนะนำคนดูในการทำสมาธิและสงบจิต และกลายเป็นซีรีส์ยอดนิยมทันทีที่ออกฉายเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2021

ซีรีส์ของ Netflix เป็นดัชนีชี้วัดล่าสุดของผู้บริโภค แต่กระแสเริ่มขึ้นตั้งแต่ก่อนหน้านี้ โดยปีที่แล้ว HBO Max ร่วมมือกับ Calm แอปพลิเคชันเกี่ยวกับจิตใจ จัดทำซีรีส์ชื่อ A World of Calm โดยแนะนำว่าเป็นซีรีส์ที่จะเป็น “ยาต้านชีวิตสมัยใหม่ของเราเป็นครั้งคราว” เพราะเนื้อหาแต่ละตอนคือการนำดาราดัง เช่น คีนู รีฟส์, นิโคล คิดแมน, เคท วินสเลท มาเล่าเรื่องที่ผ่อนคลายอารมณ์ให้เราฟัง พร้อมๆ กับเสียงประกอบที่ช่วยให้ผ่อนคลาย

Disney+ ก็มีซีรีส์แบบนี้แล้วในชื่อ Zenimation รวมคลิปตัดต่อจากอนิเมชันหลายเรื่องของ Disney เองแล้วปูทับเสียงการ์ตูนด้วยเสียงผ่อนคลายอารมณ์ เช่น เสียงคลื่น เสียงลมพัดเบาๆ

ธุรกิจเกี่ยวกับความสงบทางจิตใจยิ่งพุ่งทะยานขึ้นในช่วงโรคระบาด แอปฯ Calm เพิ่งได้รับการตีมูลค่าบริษัทแตะ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท) เพราะคนเรายิ่งต้องการคอนเทนต์ที่สร้างประสบการณ์ความสงบทางใจมากขึ้นเรื่อยๆ

 

การเงิน – สงครามอี-วอลเล็ท

โรคระบาดทำให้โลกไร้เงินสดยิ่งเติบโตเร็วขึ้น โดยเฉพาะในทวีปเอเชีย ตัวเลขจาก Bain & Co. ระบุว่า สัดส่วนของการใช้เงินสดในประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อปี 2020 ลดลงเหลือ 37% เทียบกับปีก่อนหน้าซึ่งยังอยู่ที่ 48% และในสัดส่วนของการใช้จ่ายแบบที่ไม่ใช่เงินสด อี-วอลเล็ทเติบโตขึ้นจาก 18% เป็น 25%

การต่อสู้ในสมรภูมินี้ร้อนแรงมาก หลายบริษัทกระโจนเข้าร่วมสงคราม ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนส่งอย่าง GrabPay หรือ GoPay (บริษัทของ GoJek) ธุรกิจโทรคมนาคม JioMoney เจ้าใหญ่ในอินเดีย ธุรกิจมาร์เก็ตเพลซอย่าง ShopeePay เจ้าใหญ่ของสิงคโปร์และอินโดนีเซีย หรือแม้แต่สมาร์ทการ์ดที่เริ่มจากการใช้แตะจ่ายค่าทางด่วนและจอดรถ Touch’n Go ของมาเลเซียก็มาลุยตลาดนี้ด้วย

ตลาดนี้แข่งขันกันดุเดือดอย่างไร ขอยกตัวอย่างตลาดที่มีประชากรจำนวนมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “อินโดนีเซีย” Ipsos พบว่าอินโดฯ มีผู้เล่นหลักในตลาดถึง 5 ราย เรียงตามอัตราการเข้าถึงประชากร ได้แก่ ShopeePay (48%), OVO (46%), GoPay (35%), Dana (26%) และ LinkAja (16%)

และถ้านั่นยังแน่นไม่พอ WeChat เพิ่งจะเข้าตลาดอินโดนีเซียเมื่อปีก่อน ตามด้วย Alipay ที่เซ็นดีลจับมือกับธนาคารท้องถิ่นแล้ว โดยทั้งคู่ต้องการจะเจาะคนท้องถิ่น ไม่ใช่แค่วางแพลตฟอร์มไว้รอต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนเท่านั้น

มีการคาดการณ์ว่าสงครามอี-วอลเล็ทกำลังจะถึงจุดอิ่มตัวในไม่ช้า เวลานั้นเราน่าจะได้เห็นทั้งผู้ชนะและผู้แพ้ (อ่านเคสเพิ่มเติม : โลมาผงาด! ‘ดอลฟิน’ ผนึก KBank ปล่อยกู้ 3 พันล้าน ชิงความได้เปรียบสงคราม e-Wallet)

ติดตามอ่านรายงาน The Future 100 ทั้ง 100 หัวข้อเทรนด์ที่น่าสนใจ ดาวน์โหลดได้ที่นี่