ร้านอาหารยุคนี้ต้องปรับตัวเร็ว เเม้จะเป็นเเบรนด์มีชื่อติดลมบนเเล้วก็ตาม ยิ่งเมื่อผ่านพ้นช่วงวิกฤต COVID-19 มาเเล้ว โจทย์ใหญ่จึงไม่ใช่เเค่การพยุงธุรกิจให้อยู่รอด เเต่ต้องงัดสารพัดวิธี “หาเหตุให้คนมาเข้าร้านให้ได้”
ช่วงปีที่ผ่านมา นับเป็นปีทองแห่งการปรับตัวครั้งใหญ่ของ Sizzler ร้านสเต๊กในเครือไมเนอร์ที่ทำภารกิจขอสลัดภาพจาก “สเต๊กเฮาส์” เป็น “เฮลท์ตี้เฮาส์” เพื่อจับกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น รวมไปถึงการขยับเข้าหาลูกค้าทุกทำเล อย่างการผุดโมเดลใหม่ Sizzler to go ที่จำหน่ายอาหารเพื่อสุขภาพบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส เป็นขนาดเล็กที่สุดที่เคยทำมา ตอบโจทย์พฤติกรรม Grab & Go ของคนเมือง
เเต่เมื่อเปิด Sizzler to go ได้เพียง 1 เดือนกว่าๆ ก็ต้องเจอมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้เเบรนด์ต้องกลับมาคิดกลยุทธ์กันใหม่ โดยช่วงกลางปีจะเน้นไปที่การปรับตาม feedback ของลูกค้าเป็นหลัก ทั้งเรื่องการจัดการสลัดบาร์ตักเอง การดูเเลความสะอาดเเละปลอดภัย
พอมาช่วงปลายปี เราจึงจะเห็นการงัดโปรโมชันต่างๆ การปั้นเเคมเปญดึงให้ลูกค้าเข้าร้าน จับกระเเสเทศกาลเจ เทรนด์เมนู Plant-based เพื่อ “ปั้มรายได้” ส่วนที่ขาดหายไปในปีนี้
ปั้นเทศกาลเจ ลุย “อาหารทางเลือก”
ล่าสุดเเคมเปญ ดึงลูกค้าเข้าร้านของ Sizzler คือการดัน “เทศกาลเจที่ Sizzler : Vegetarian Festival” ซึ่งถือเป็นบิ๊กมูฟใหญ่ในเดือนตุลาคม
ปกติเเล้วทุกๆ ปี ลูกค้าที่มาทานเจที่ร้าน จะงดทานเนื้อสัตว์และหันไปทานผักที่สลัดบาร์กัน มาปีนี้ Sizzler เพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าด้วยการเปิดตัว 2 เมนู สเต๊ก Plant-based หรือเนื้อสัตว์ที่ทำจากพืช 100% ได้แก่ สเต๊ก ออมนิมีต กับสปาเกตตีซอสทรัฟเฟิล ราคา 329 บาท และบียอร์น เบอร์เกอร์ ซอสบาร์บีคิว ราคา 399 บาท เริ่มขายใน 30 สาขาที่ร่วมรายการ ตั้งเเต่ 5 ต.ค. เป็นต้นไป
โดยจากข้อมูลพบว่าคนไทย ทานเนื้อสัตว์น้อยลงกว่า 8% ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (2556-2560) เเละความนิยมเมนู Plant-based ก็กำลังเป็นเทรนด์ทั่วโลก นี่จึงเป็นโอกาสของ Sizzler ที่จะขยายไปสู่ตลาดอาหารเจทางเลือกใหม่ เจาะกลุ่มลูกค้าที่เริ่มทดลองทานเจ ผู้ที่ทานเจ รวมถึงคนทั่วไปที่อยากหันมาดูเเลสุขภาพมากขึ้น
ขณะเดียวกัน การปั้น “เทศกาลเจที่ Sizzler” ครั้งนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์เพื่อเติมรายได้ให้กับ Sizzler ด้วยเพราะปกติแล้วในช่วงเทศกาลกินเจ ยอดขายในร้านจะลดลง 10-15% ซึ่งส่วนใหญ่รายได้กว่า 80% มาจากการขายสเต๊ก ดังนั้น Sizzler ตั้งเป้าว่าการมีเมนูเจ Plant-based จะช่วยให้ร้านมียอดขายเพิ่มขึ้น 20-30%
ยอม “ลดราคา” ดึงคนทาน Plant-based ปูทางระยะยาว
ในปีที่ผ่านมา Sizzler ปรับกลยุทธ์ใหม่ เดินเกมเรื่อง Health Direction หรือการเพิ่มเมนูเพื่อสุขภาพมากขึ้น เห็นได้จากมีการเปิดตัวนวัตกรรมใหม่ เมนูใหม่ๆ เพื่อสุขภาพมากขึ้น ทั้ง Plant-based และน้ำผลไม้สกัดเย็น ส่วนปีนี้ก็ยังคงสานต่อ เพราะมองว่าเป็นเมนูเเห่งอนาคตจริงๆ
“ต้องยอมรับว่ากระเเส Plant-based มาเเรงมาก หากดูจากผลสำรวจ ดูจากเทรนด์ต่างๆ ทั่วโลก คาดว่าจะกลายเป็นเมนูฮิตในอนาคตข้างหน้า การที่ประเทศไทยยังไม่มีเชนร้านอาหารใหญ่ๆ บุกตลาดนี้อย่างจริงจังเลย ยังจำกัดอยู่ในร้านสเเตนด์อโลนเเละธุรกิจสตาร์ทอัพ นี่จึงถือเป็นโอกาสทองของ Sizzler” กรีฑากร ศิริอัฐ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอสแอลอาร์ที จำกัด ผู้ให้บริการร้านอาหารเเบรนด์ Sizzler กล่าวกับ Positioning
Sizzler เริ่มขายเมนู Plant-based มาได้ราว 1 ปีแล้ว โดยปัจจุบันมีจำหน่ายใน 30 สาขา เฉพาะในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ จากทั้งหมด 54 สาขา
โดยฐานลูกค้านั้น หลังจากที่ทดลองตลาดมาได้สักพัก เพิ่มชื่อเมนู Plant-based จำนวน 2 รายการลงไปในป้ายเมนูให้ลูกค้าได้สั่งซื้อ พบว่า ตลาดไทยมีลูกค้ากลุ่มนี้อยู่จริงๆ แม้ตอนนี้จะไม่ได้มีจำนวนที่เยอะมาก เเต่มีลูกค้ามาเพิ่มเรื่อยๆ ไม่หายไป มีเเต่เพิ่มขึ้น Sizzler จึงมองว่าเป็นทิศทางที่ควรให้การสนับสนุนต่อไป
ทั้งนี้ จากข้อมูลของ NRF ระบุว่า ตลาดเนื้อทำจากพืช ปัจจุบันมีมูลค่ารวมทั่วโลก 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีแนวโน้มเติบโตขึ้นไปเป็น 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายใน 5 ปี เนื่องจากผู้บริโภคเห็นข้อดีของวัตถุดิบอาหารรูปแบบนี้มากขึ้น
- Sizzler นำร่องเมนู Plant-Based Meat สเต๊กเนื้อไร้เนื้อ
- NRF : เราขอเป็น Foxconn แห่งตลาด Plant-based Food กางแผนขยายโรงงานทั่วโลก
สำหรับกลุ่มลูกค้าที่เเบรนด์ Sizzler ต้องการจะขยายเจาะตลาดเมนู Plant-based ได้เเก่
- กลุ่มคนที่ทานวีแกนเเละ Plant-Based อยู่เเล้ว ถ้ามาทานที่ร้านก็สามารถสั่งเมนูสเต๊กได้ ไม่จำกัดว่าจะต้องไปทานเเต่สลัดบาร์อีกต่อไป
- กลุ่มคนที่ทานเมนูปกติ-ทั่วไป ที่อยากลองทานเมนู Plant-based หรือคนที่อยากดูเเลสุขภาพ ไปพร้อมๆ กับการรักษ์โลก ต้องการทานวีเเกนประมาณสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง
เเม้เมนู Plant-based จะเป็นโอกาสตลาดใหม่ เเต่ก็ยังมีความท้าทายอยู่มาก เพราะมี “ราคาสูง” เมื่อเทียบกับเนื้อนำเข้าประมาณ 2.5 เท่า ทำให้ราคาของเมนูที่วางขายไม่สามารถตั้งไว้ในระดับเดียวกันกับเนื้อสัตว์ปกติได้
ดังนั้น เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าหันมาลองเมนู Plant-based กันมากขึ้น Sizzler จึงตัดสินใจ “ปรับลดราคาของเมนู Plant-based” ลง เช่นจาก 439-479 บาท มาเป็นราว 329-399 บาท เพื่อปูทางสร้างความคุ้นเคยในระยะยาว ค่อยๆ เพิ่มลูกค้าจากหลักสิบ ขยายเป็นร้อยเป็นพันคนให้ได้
นอกจากลดราคาเเล้ว ในบางโอกาสจะมีการนำเนื้อ Plant-based ไปลองใส่ในเมนูสลัดบาร์ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้คนได้ลองชิมอย่างกว้างขวางขึ้นด้วย
อัปเดต Sizzler to go
ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เมื่อลุยโมเดล Sizzler to go ไปได้ประมาณเดือนกว่า ก็ต้องเจอวิกฤต COVID-19 ซึ่งทำให้ธุรกิจต้องสะดุด หลังคลายล็อกดาวน์เเละผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติ เเผนของ Sizzler to go มีการอัปเดตอย่างไรบ้าง
กรีฑากร กล่าวว่า เเม้จะได้รับผลกระทบบ้าง เเต่ Sizzler to go ก็ยังสามารถขยายสาขาได้ 5 เเห่ง ซึ่งเป็นไปตามเป้าที่วางไว้ปีนี้ เเต่ในปีหน้ายังไม่สามารถบอกได้ว่าจะเปิดอีกกี่สาขา เพราะต้องดูสถานการณ์เป็นหลัก โดยที่ผ่านมาก็ได้รับผลตอบรับดีมาก เข้าถึงเป้าหมายคือ “คนเดินทาง” เเละตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการความง่าย รวดเร็วเเละต้องการอาหารเพื่อสุขภาพ ตามที่คาดไว้
ทั้งนี้ ปัจจุบัน Sizzler to go มีอยู่ 5 สาขาในกรุงเทพฯ เช่น BTS อโศก , MRT สถานีพระราม 9 , BTS ช่องนนทรี , Office At Central World เเละแฟชั่นไอส์แลนด์ (ทดลองวางหน้าห้างฯ เเทนจุดขนส่ง) มีกิมมิกการจัดร้านให้เห็นเมนูชัดๆ เเละใช้สีสันดึงดูดให้คนเดินไปมาเร็วๆ เห็นเเล้วจำได้
“ช่วงล็อกดาวน์ถือว่าเป็นโอกาสในวิกฤตก็ว่าได้ เพราะมีร้านค้าต่างๆ ต้องยกเลิกสัญญาเช่าที่ ทำให้เราได้ทำเลใหม่ที่ไม่คิดว่าจะได้เร็วขนาดนี้ เช่นที่ BTS ช่องนนทรี เเต่ก่อนเคยคุยไว้ว่าต้องจองคิวถึง 3 ปี เเต่พอช่วง COVID-19 ก็ว่างให้เข้าไปเช่าได้”
ผู้บริหาร Sizzler มองว่า โมเดลขยายสาขา “ไซส์เล็ก” เป็นการเดินเกมรุกเข้าหาผู้บริโภคที่ได้ผลดี ใช้งบประมาณน้อยกว่าการขยายสาขาใหญ่ที่มีความเสี่ยงมากกว่า อีกทั้งยังตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ Grab-and-Go ของผู้คนในปัจจุบันด้วย
ร้านอาหารต้อง “ปรับให้ไว-หาเหตุให้คนเข้าร้าน”
ปัจจุบันลูกค้าของ Sizzler กลับมากว่า 90% เเล้ว เมื่อเทียบกับช่วงก่อน COVID-19 ถึงเเม้จะเป็นเเบรนด์ที่ฮิตในหมู่คนไทย แต่การที่ “นักท่องเที่ยวต่างชาติ” หายไป ก็ส่งผลกระทบอยู่บ้าง ใน 5 สาขา ได้แก่ 3 สาขาในพัทยา เชียงใหม่ และภูเก็ต โดยตอนนี้ Sizzler กลับมาให้บริการทั้งหมด 54 สาขาเเล้ว เริ่มเห็นกำลังซื้อในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวกลับมาเเล้ว
“บทเรียนที่เราได้คือ ธุรกิจร้านอาหารต้องปรับตัวให้ไว มองความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก หาทางหาเหตุให้คนมาร้านเราให้ได้ จะอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ คิดเมนูเเละโปรโมชันใหม่ จับกระเเสเทรนด์ผู้บริโภคให้ได้ เเละต้องเตรียมความพร้อมรับสิ่งที่ไม่คาดคิด เพราะช่วงนี้เเค่ข่าวสถานการณ์อ่อนไหว ก็ทำให้คนลดการออกมากินข้าวนอกบ้านเเล้ว เช่นมีข่าวที่ระยอง เเต่ก็กระทบร้านในกรุงเทพฯ”
นงชนก สถานานนท์ ผู้ช่วยรองประธานบริหารกลุ่มการตลาด บริษัท เอสแอลอาร์ที จำกัด เล่าอีกว่า การปรับให้เร็วของ Sizzler นั้นรวมไปถึงการออก “เมนูโปรโมชัน” ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งในกลยุทธ์ดึงลูกค้าเข้าร้าน โดยหลังจากวิกฤต COVID-19 ทางร้านได้มีการปรับความถี่จากเดิมที่จะออกเมนูลดราคา รอบละ 12 สัปดาห์ เหลือเพียง 6-8 สัปดาห์
ด้านการเพิ่มช่องทางเดลิเวอรี่ ซึ่งดูจะเป็นงานหินของ Sizzler เพราะฐานลูกค้าส่วนใหญ่ ชื่นชอบบรรยากาศนั่งกินในร้าน เเต่หลังจากที่จำเป็นต้องขยับมารุกออนไลน์มากขึ้น ตอนนี้ยอดขายทางเดลิเวอรี่ก็กระเตื้องขึ้นมาบ้างเเล้ว ในสัดส่วน 10% มียอดสั่งซื้อเฉลี่ยราว 400-500 บาทต่อบิล ส่วนการกินในร้านอยู่ที่เฉลี่ย 800 บาทต่อบิล โดยในปีที่ผ่านมา Sizzler มีฐานลูกค้าอยู่ราว 8-9 ล้านคน
“คาดว่าปีหน้าอาจจะมีการเปิดอีก 4-5 สาขา เเต่จะทำได้ตามเเผนหรือไม่นั้น ก็ต้องรอดูสถานการณ์ทั้งหมดก่อน เเละดูการเจรจาพื้นที่ด้วย ซึ่งตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่าจะเปิดช่วงใด โดยมองทิศทางธุรกิจปีหน้าจะดีขึ้นตามลำดับ ช่วงครึ่งปีหลังก็ถือว่าโอเคมากเเล้ว ปีหน้าคงดีกว่านี้”