วิกฤต! “การจ้างงาน” ในสหรัฐฯ จะไม่ฟื้นกลับมาในระดับก่อน COVID-19 จนกว่าปี 2023

Photo : Shutterstock
สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า แพทริก ฮาร์เกอร์ ประธานธนาคารกลางประจำนครฟิลาเดลเฟียของสหรัฐฯ เปิดเผยว่าแม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะกลับมาฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ หลังเผชิญภาวะหดตัวครั้งใหญ่ในไตรมาส 2 (เม.ย.-มิ.ย.) ของปีนี้ แต่การจ้างงานในสหรัฐฯ อาจจะไม่ฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาดใหญ่จนกว่าจะถึงปี 2023

“แนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจที่ผมพูดมานั้น ขึ้นอยู่กับอัตราผู้ป่วยใหม่ที่ลดลงอย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งอาจเป็นผลจากการสวมหน้ากากอนามัยอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะพื้นที่ในร่ม ทำให้การระบาดครั้งใหม่เกิดขึ้นเพียงประปราย” ฮาร์เกอร์กล่าวระหว่างการประชุมออนไลน์ที่จัดโดยการประชุมสถาบันการเงินและเงินตราทางการ (OMFIF)

“เราคาดว่าวัคซีนจะเริ่มพร้อมใช้งานเป็นวงกว้างในช่วงกลางถึงปลายปีหน้า แต่โรค COVID-19 นั้นยังยากจะควบคุม” ฮาร์เกอร์กล่าว พร้อมเสริมว่าทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจนั้นส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับทิศทางการระบาดของโรค

ฮาร์เกอร์ชี้ว่าแม้เศรษฐกิจจะยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และสามารถหลีกเลี่ยงการระบาดรอบใหม่ได้ แต่หลายภาคธุรกิจอย่างการท่องเที่ยวและการบริการจะยังคงซบเซาไปอีกนาน ฉุดให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และการเติบโตของการจ้างงานโดยรวมลดลงตามไปด้วย

Photo : Xinhua

“โชคร้ายที่การจ้างงานอาจไม่กลับไปสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาดใหญ่จนกว่าจะถึงปี 2023” ฮาร์เกอร์กล่าว พร้อมเรียกร้องฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐฯ พิจารณาการสนับสนุนทางการเงินเพิ่มเติมในเร็ววัน เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจของโรค COVID-19

“เนื่องจากสหรัฐฯ ไร้ความสามารถควบคุมไวรัส ทำให้ยอดผู้ป่วยเสียชีวิตในประเทศครองสัดส่วนราว 21% ของยอดผู้ป่วยเสียชีวิตทั่วโลก แม้ประชากรของประเทศจะครองสัดส่วนเพียง 4% ของประชากรโลกก็ตาม” ฮาร์เกอร์กล่าว

ทั้งนี้ ฮาร์เกอร์ออกมาแสดงความคิดเห็นหลังจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเดโมแครตเปิดเผยมาตรการเยียวยาโรค COVID-19 มูลค่า 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 69 ล้านล้านบาท) ซึ่งเป็นความพยายามกดดันทำเนียบขาว และพรรครีพับลิกันบรรลุข้อตกลงดังกล่าวก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายน

ด้านแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ และมาร์ก มีโดวส์ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว ต่างแสดงความหวังว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาโรค COVID-19 หลังการเจรจาที่หยุดชะงักกลับมาดำเนินการต่ออีกครั้ง