เรียกว่าเป็นปีทองแห่งการปรับตัวครั้งใหญ่ของ Sizzler เพื่อรับกับพฤติกรรมที่เปลีย่นแปลงของผู้บริโภค และการแข่งขันในตลาดร้านอาหาร โดยมีทั้งเพิ่มเมนูอาหารเพื่อสุขภาพ เพื่อขยับตัวเองออกจากร้านสเต๊กเพียงอย่างเดียว อีกทั้งยังมีร้านฟอร์แมตใหม่เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น
ขยับจากสเต๊กเฮาส์ เป็นเฮลท์ตี้เฮาส์
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเชื่อว่าตลาดร้านอาหารมีการเปลี่ยนแปลงมากมายอยู่ตลอดเวลา เพราะผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น เวลาน้อยลง รักความสะดวกสบายมากขึ้น อีกทั้งการแข่งขันในตลาดก็ดุเดือดเช่นกัน นอกจากต้องแข่งกันร้านอาหารที่เปิดในศูนย์การค้าด้วยกันเองแล้ว ยังต้องแข่งกับตลาดเดลิเวอรี่ด้วย
ในปี 2019 ที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่ Sizzler มีการขยับตัวอย่างมาก เรียกว่าเป็นการ Diversify ธุรกิจครั้งใหญ่ตั้งแต่การทำตลาดในไทยเกือบ 30 ปี มีทั้งการออกเมนู Plant-based Food ที่กำลังเป็นที่นิยมไปทั่วโลก รวมถึงการออก น้ำผลไม้สกัดเย็น 100% หรือ COLD – PRESSED JUICE เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับคนรักสุขภาพมากขึ้น
แน่นอนว่าการเดินเกมของ Sizzler ในครั้งนี้ ต้องการสร้างแบรนด์ของตัวเองให้ใหญ่กว่าการเป็นร้านสเต๊ก กับสลัดบาร์ แต่ต้องการมีภาพลักษณ์เป็นร้านอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งจะได้กลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้น
กรีฑากร ศิริอัฐ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอส แอล อาร์ ที จำกัด เริ่มเล่าว่า
“จริงๆ จุดยืนของ Sizzler ดูเฮลท์ตี้อยู่แล้ว มีสเต๊กที่เป็นโปรตีน และสลัดบาร์เป็นผัก แต่ต้องการโฟกัสเรื่องสุขภาพมากขึ้น เปลี่ยนภาพจากสเต๊กเฮาส์ เป็นเฮลท์ตี้เฮาส์ พอเป็นเรื่องดูแลสุขภาพทำให้กว้างขึ้น จับกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น โจทย์หลักของเราได้มองเห็นว่ายุคนี้คนไทยมีโรคเยอะขึ้น มีเวลาน้อยลง ออกกำลังน้อยลง ไลฟ์สไตล์เปลี่ยนไป มาคิดว่าเราอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ให้ลูกค้าได้ทานของดีๆ สักอย่างน้อย 3-5 มื้อต่อเดือน เลยมีการมาโฟกัสเรื่องสุขภาพมากขึ้น”
กรีฑากรยังเสริมอีกว่า ปีที่แล้วมีการปรับทุกอย่าง Diversify ครั้งใหญ่ มีบริการเดลิเวอรี่เป็นครั้งแรกของโลกด้วย จะบอกว่าตลาดประเทศไทยมีไดนามิกการเปลี่ยนแปลงสูงที่สุดในบรรดาตลาดต่างประเทศอื่นๆ ก็ได้ เพราะ Sizzler ที่ไทยมียอดขาย และจำนวนสาขามากที่สุดในบรรดาตลาดนอกสหรัฐอเมริกา อยู่กลุ่มเดียวกับจีน ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย
จัดทัพเมนูข้าว Plant-based Food
เมื่อปีที่แล้ว Sizzler ได้นำร่องเมนู Plant-based Food หรือเนื้อไร้เนื้อ เป็นเทรนด์ใหม่ในวงการอาหาร สำหรับคนที่ไม่ต้องการทานเนื้อสัตว์ โดยได้มีเมนูใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากเมนู Plant-based Food แล้ว ยังมีเมนูเพื่อสุขภพาอื่นๆ ทั้งน้ำผลไม้สกัดเย็น เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ของผู้บริโภคยุคนี้ที่นิยมทานน้ำผัก ผลไม้ เพราะด้วยเวลาที่มีจำกัด
สำหรับในปีนี้ได้มีการเปิดตัว “เมนูข้าว” เป็นครั้งแรก ปกติทางร้านจะมีเครื่องเคียงที่เป็นข้าวกล้องที่ไว้ทานคู่กับสเต๊กอยู่แล้ว แต่มีการพัฒนาขึ้นเป็นเมนูข้าวแบบเต็มตัว
ซึ่งต้องบอกว่าเมนูข้าวถือเป็นเมนูที่สร้างความท้าทายให้กับตลาดร้านอาหารในประเทศไทย ขึ้นชื่อว่าเป็นเมนูโลคอลของร้านอาหารจากต่างชาติ เพราะด้วยพฤติกรรมคนไทยชอบทานข้าว หลายแบรนด์จึงต้องมีดีไซน์เมนูข้าวเพื่อรับกับพฤติกรรมนี้ ร้านอาหาร QSR ใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็น KFC, McDonald’s, The Pizza Company, Burger King รวมถึงร้านอื่นๆ อีกมากมาย ล้วนแต่ต้องเนรมิตเมนูข้าวในประเทศไทยทั้งสิ้น
กรีฑากร บอกว่า “แนวคิดในการมีเมนูข้าวเราจะเริ่มหาพฤติกรมลูกค้า ดูว่ามี Pain Point ตรงไหนบ้าง แล้วแบรนด์เข้าไปตอบโจทย์อย่างไร เริ่มต้นมาจากที่คิดว่าอยากมี Single Meal เป็นอาหารจานเดียวที่คนไทยกินแล้วอิ่ม ปกติคนไทยชอบกินข้าวอยู่แล้ว เลยเอาโปรตีนที่มีในร้านมาใส่รวมกัน”
เทรนด์ร้านไซส์เล็กลง เข้าหาลูกค้ามากขึ้น
อีกหนึ่งไฮไลต์ของ Sizzler ในปีนี้ก็คือโมเดลร้านใหม่ๆ อย่าง Sizzler to go ที่เปิดให้บริการไปแล้ว 1 สาขาที่สถานีรถไฟฟ้า BTS ศาลาแดง เป็นสาขาที่เล็กที่สุดพื้นที่เพียง 3 ตารางเมตร และเปิดที่ไทยเป็นที่แรกของโลก เป็นคอนเซ็ปต์ Healthy On The Go จับกลุ่มคนรุ่นใหม่ คนทำงาน กลุ่มคนรักสุขภาพ และผู้เดินทางด้วยรถไฟฟ้า BTS
ความสำคัญของสาขานี้คือการที่ปรับตัวในยุคใหม่ ทีต้องหาโมเดลใหม่ๆ ที่เข้าถึงลูกค้ามากขึ้น เชื่อว่าหลายๆ แบรนด์ก็ต้องได้รับผลกระทบจากการที่ผู้บริโภคสั่งอาหารออนไลน์มากขึ้น หรือทานอาหารนอกบ้านน้อยลง การที่ทำจุดขายให้เข้าถึงผู้บริโภคจึงเป็นกลยุทธ์ที่สร้างการเติบโตได้
นงชนก สถานานนท์ ผู้ช่วยรองประธานบริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เอส แอล อาร์ ที จำกัด เสริมว่า
“ในปีนี้มีการโฟกัสที่เทกอเวย์ และเดลิเวอรี่มากขึ้น เราขายอาหารในร้านมาเกือบ 30 ปี ต้องใช้ช่องทางอื่นๆ เข้ามาช่วย การเปิด Sizzler to go ยังมีเมนูแซนด์วิชที่จำหน่ายเป็นครั้งแรกด้วย เป็นการเปิดโอกาสการขายใหม่ๆ มีจำหน่ายเมนูยอดนิยมอย่างสลัด แซนด์วิช และน้ำผลไม้สกัดเย็น”
เท่ากับว่าแผนของ Sizzler ในอนาคตจะมีการโฟกัสที่ร้านขนาดเล็กลง ปกติจะมีสาขาอยู่ตามศูนย์การค้าใหญ่ๆ ทั้งสิ้น มีพื้นที่เฉลี่ย 400-600 ตารางเมตร ต่อไปอาจจะมีขนาดเล็กลงเฉลี่ย 300 ตารางเมตร อาจจะอยู่ที่คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสแตนด์อะโลนก็ได้
รวมถึงแผนในการขยาย Sizzler to go ยังมีอีก 4-5 สาขาในช่วงครึ่งปีแรก โฟกัสที่ทำเลสถานีรถไฟฟ้า BTS หรืออาคารสำนักงาน รวมถึงสถานที่อื่นๆ ที่มีทราฟฟิกสูงด้วย
ปัจจุบัน Sizzler มีสาขารวม 57 แห่ง เป็นกรุงเทพฯ 31 แห่ง และต่างจังหวัด 26 แห่ง ในปีนี้ตั้งเป้าขยายเพิ่มอีก 4-5 สาขาในศูนย์การค้า
พร้อมกับตั้งเป้ารายได้จากการขายนอกร้านมีสัดส่วน 20-30% (เดลิวอรี่ และ Sizzler to go) จากที่ปัจจุบันยอดขายจากในร้านมีสัดส่วน 90% และเดลิเวอรี่ 10%
สำหรับยอดขายในปีนี้ตั้งเป้าเติบโต 1 หลัก แต่มีการตั้งรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เชื่อว่าหลังจากสถานการณ์สิ้นสุด ยอดขายจะกลับมาโตได้อีก
ปัจจุบันร้าน Sizzler มีผู้ใช้บริการเฉลี่ย 20,000 คนต่อวัน (รวมทุกสาขา) 5 สาขาที่มีรายได้สูงที่สุด ได้แก่ แฟชั่น ไอส์แลนด์, เมกา บางนา, เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า, เซ็นทรัล ลาดพร้าว และสยามเซ็นเตอร์
อ่านเพิ่มเติม
- เดลิเวอรี่โตแรง! “ซิซซ์เล่อร์” ไทย ปั้นบริการที่แรกในโลก หวังปั๊มยอดขายส่งถึงบ้านโต 3 เท่า
-
“เมนู” ที่ใช่ “ราคา” ถูก(ใจ) โจทย์ขายสเต๊ก “ซิซซ์เล่อร์” บนสมรภูมิร้านอาหารแข่งเดือด!