ร้านอาหารยุคนี้ต้องมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ร้าน Sizzler ได้ผุดโมเดลใหม่ Sizzler to go ที่จำหน่ายอาหารเพื่อสุขภาพบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส เป็นขนาดเล็กที่สุดที่เคยทำมา ตอบโจทย์พฤติกรรม Grab & Go ของคนเมือง
เทรนด์ร้านอาหารไซส์เล็ก เข้าหาลูกค้าทุกทำเล
เป็นอีกหนึ่งกระแสฮือฮาเมื่อ Sizzler ร้านอาหารประเภทสเต๊กในเครือไมเนอร์ฟู้ดได้เปิดโมเดลใหม่เป็นครั้งแรกกับ Sizzler to go เป็นโมเดลไซส์เล็กตั้งอยู่บนสถานีรถไฟฟ้า BTS ศาลาแดง (บริเวณทางออก 4 ทางเข้าสีลมคอมเพล็กซ์) โดยที่ร้านนี้เริ่มทดลองจำหน่ายวันแรกเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
งานนี้เรียกว่าเป็นกรณีศึกษาของการทำธุรกิจร้านอาหารได้พอสมควร เป็นการปรับตัวเพื่อให้ทันพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมเร่งรีบ ดูแลสุขภาพ เวลาน้อย ผู้ประกอบการจึงต้องมีนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น
นงชนก สถานานนท์ ผู้ช่วยรองประธานบริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เอส แอล อาร์ ที จำกัด (ซิซซ์เล่อร์) ได้เล่าเบื้องหลังของแนวคิดนี้ว่า
“โมเดลนี้ได้พัฒนาอยู่หลายเดือน เป็นการดูอินไซต์ของคนไทยโดยเฉพาะ ที่ประเทศอื่นไม่เคยมี และเป็นการเปิดร้านเล็กที่สุดของ Sizzler มีพื้นที่แค่ 2 ตารางเมตรเท่านั้น”
เบื้องหลังที่สำคัญที่สุดของโปรเจกต์นี้คือการทำ Design Thinking การคิดคอนเซ็ปต์ของร้าน หรือแม้แต่เมนูอาหารต้องผ่านกระบวนการคิดมาอย่างละเอียด เน้นการศึกษา Pain Point ของผู้บริโภคว่าอยากได้อะไร แบรนด์สามารถตอบสนองอะไรได้บ้าง และเทรนด์ในตอนนี้คืออะไร
“จากอินไซต์พบว่าลูกค้าส่วนใหญ่ของ Sizzler เป็นกลุ่มคนทำงาน มองว่าการที่จะมาทาน Sizzler ที่ร้านแต่ละครั้งต้องใช้เวลาเยอะ ตั้งแต่ใช้เวลานัดหมายกันกับเพื่อน หรือถ้าจะทานมื้อกลางวันก็มาลำบาก ต้องหาที่จอดรถ เพราะร้านส่วนใหญ่จะอยู่ในศูนย์การค้า พอมาถึงที่ร้านก็ต้องรอคิวนาน บางคนมีเวลาที่จำกัด จึงอยากทำร้านที่เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย อีกทั้งไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในยุคนี้ที่บางคนทำงานหนัก ไม่ได้ดูแลสุขภาพเท่าที่ควร แต่ก็อยากทานอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารที่มีประโยชน์ เอา Pain Point เหล่านี้มารวมเป็นร้าน Sizzler to go”
ในพื้นที่ 2 ตารางเมตรนี้ ยังมีการดีไซน์ใหม่ มีการใช้โลโก้สีขาวเพื่อให้ดูเบาสบายมากขึ้น เพื่อสื่อถึงสุขภาพ จากปกติ Sizzler จะใช้โทนสีเขียว แดง
ไม่ขายสเต๊ก แต่เอาใจสายเฮล์ทตี้ด้วยเมนูเพื่อสุขภาพ!
ในส่วนของเมนูที่จะอยู่ในร้าน Sizzler to go ไม่ใช่เมนูพวกสเต๊กที่เป็นเมนูหลักของร้าน Sizzler แต่การคิดเมนูล้วนมีคอนเซ็ปต์ Healthy on the go โจทย์ง่ายๆ ก็คือ การเอาอาหารเฮล์ทตี้ไปอยู่ใกล้ลูกค้าให้มากที่สุด
ประกอบกับในปีที่ผ่านมา Sizzler มีการปรับกลยุทธ์ใหม่ เดินเกมเรื่อง Health Direction หรือการเพิ่มเมนูเพื่อสุขภาพมากขึ้น เห็นได้จากมีการเปิดตัวนวัตกรรมใหม่ เมนูใหม่ๆ เพื่อสุขภาพมากขึ้น ทั้ง Plant-Based Food และน้ำผลไม้สกัดเย็น
เมนูที่อยู่ในร้าน Sizzler to go จึงมี 3 รายการด้วยกัน ล้วนเป็นเมนูเพื่อสุขภาพทั้งสิ้น ได้แก่
- สลัด ราคา 99 บาท นงชนกอธิบายว่า ปกติลูกค้านึกถึง Sizzler จะนึกถึงสลัดบาร์เป็นอันดับต้นๆ จึงเอาเมนูซิกเนเจอร์มาขาย มี Chicken Cranberry Salad และ Tropical Mixed Fruit Salad
- น้ำผลไม้สกัดเย็น ราคา 95 บาท มีการทำแพ็กเกจจิ้งใหม่สำหรับร้านนี้โดยเฉพาะ
- แซนด์วิช ราคา 79 บาท Sizzler ไม่เคยทำเมนูแซนด์วิชมาก่อน แต่ครั้งนี้ดีไซน์แซนด์วิชปกติให้เฮล์ทตี้ขึ้น ยังเป็นรสชาติที่คุ้นเคย แต่ใช้ขนมปังที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ขนมปังที่ทำจากบีทรูท, ผักโขม, ข้าวกล้องงอก และนมสด จะมีสีสันต่างกันไป
การตั้งราคาของเมนูต่างๆ ก็มีการคิดมาแล้วเช่นกัน นงชนกบอกว่า เมนูต้องตอบโจทย์สุขภาพ แต่ต้องราคาไม่แพง สามารถซื้อได้ทั้งเช้า กลางวัน และเย็น โดยที่ในช่วงเปิดร้านมีการจัดโปรโมชั่นจัดเซตที่ราคาต่ำกว่า 150 บาท เช่น น้ำผลไม้สกัดเย็น กับสลัด ราคา 148 บาท หรือน้ำผลไม้กับแซนด์วิช ราคา 128 บาท เป็นการตั้งราคาที่เข้าถึงได้ง่าย
อีกปัจจัยสำคัญของร้าน Sizzler to go นั่นคือการได้ทดลองใช้แพ็กเกจจิ้ง “กระดาษ” ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกล่องสลัด ถุงกระดาษ กล่องแซนด์วิช และหลอดกระดาษ ยกเว้นขวดน้ำผลไม้ที่ยังต้องใช้ขวดพลาสติกอยู่
ปิดข้อจำกัดขายแค่เวลาทำการ
โดยปกติแล้วร้านอาหารที่มาสาขาอยู่ตามศูนย์การค้า จะต้องมีเวลาให้บริการตามศูนย์การค้าเช่นกัน ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 10.00-22.00 น. แต่ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ไม่ได้ใช้ชีวิตจำกัดแค่ช่วงเวลาทำการอย่างเดียว จึงเกิดเป็นเทรนด์ค้าปลีก 24 ชั่วโมง ร้านอาหาร 24 ชั่วโมงขึ้นมามากขึ้นในช่วงหลายปีมานี้
ร้าน Sizzler to go ก็มาเพื่อตอบโจทย์ Pain Point จุดนี้ มีการเปิดให้บริการตั้งแต่ 6.00-20.00 น. เรียกว่าเปิดพร้อมกับการให้บริการรถไฟฟ้า BTS เลยทีเดียว สามารถเปิดขายได้มากขึ้น ไม่ต้องรอเวลาห้างเปิด
นงชนกบอกว่าร้านนี้ทำให้ Sizzler มีขายอาหารเช้าแล้ว ช่วงเวลาที่ขายดีที่สุด ตั้งแต่ 6.30-9.00 น. เป็นเวลาอาหารนั่นเอง
สำหรับแผนในการขยายสาขาต่อไปนั้น นงชนกบอกว่าขอรอดูผลตอบรับอีกสัก 2-3 เดือน เพราะร้านนี้ยังเป็นโมเดลต้นแบบในการทดลองขาย ต้องดูคำติชมเพื่อในการใช้ปรับปรุงร้านอื่นๆ ในอนาคต
เรียกว่าเป็นการปรับตัวที่น่าสนใจในวงการร้านอาหาร ที่ตอนนี้จะอยู่นิ่งแค่ในศูนย์การค้าอย่างเดียวไม่ได้ ต้องขยับตัวเพื่อมองหาโมเดลใหม่ๆ ต้องเปิดเกมรุกเข้าหาผู้บริโภคมากขึ้นนั่นเอง