จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นับตั้งแต่ต้นปี 2563 ต่อเนื่องมาจนถึงการระบาดระลอกใหม่ในปัจจุบัน ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบและสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อทุกภาคส่วน ทั้งในด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ทุกคนต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคนิวนอร์มอล แต่ยังรวมไปถึงรูปแบบการทำงานและการหารายได้เพื่อเลี้ยงปากท้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อย พนักงานประจำ ลูกจ้างทั่วไป พ่อค้าแม่ค้า เกษตรกร หรือแม้แต่ผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือกลุ่มฟรีแลนซ์ สถานการณ์ครั้งนี้ได้มอบบทเรียนสำคัญให้กับทุกคน นั่นคือ การดำเนินชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท และต้องเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
การวางแผนชีวิตและการเงินถือเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยให้เราสร้างความมั่นคงทางการเงิน และเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดฝันในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามวิกฤติ หนึ่งในหนทางง่ายๆ ที่หลายคนรู้จักกันมาตั้งแต่เด็ก นั่นคือ “การออมเงิน” ซึ่งเป็นสิ่งแรกที่ทุกคนควรทำให้เป็นนิสัยเมื่อมีรายได้ โดยการแบ่งส่วนหนึ่งของรายได้มาเลือกออมในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การหยอดกระปุก การฝากประจำ การลงทุนในกองทุนรวม หรือการทำประกันชีวิต เป็นต้น โดยสัดส่วนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้จ่ายและความจำเป็นของแต่ละคน เพื่อสำรองในยามฉุกเฉินหรือเก็บไว้ใช้หลังเกษียณ สำหรับข้าราชการหรือพนักงานที่มีรายได้ประจำนั้นคงคุ้นเคยกับการออมเพื่อเก็บเงินไว้ใช้หลังเกษียณผ่านกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่ปัจจุบันยังมีอีกหนึ่งรูปแบบการออมที่ช่วยวางแผนทางการเงินเพื่อสร้างความอุ่นใจในวัยเกษียณให้กับกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือคนที่ไม่ได้มีรายได้แน่นอนเหมือนแรงงานในระบบ นั่นคือ การออมผ่าน “กองทุนการออมแห่งชาติ” โดยสามารถส่งเงินออมขั้นต่ำเพียง 50 บาทเท่านั้น สูงสุด 13,200 บาทต่อปี ทั้งยังได้รับเงินสมทบจากรัฐบาลอีกด้วย
ในฐานะผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่ส่งเสริมให้คนไทยสามารถสร้างรายได้เสริมจากการใช้แอปพลิเคชันในการให้บริการเรียกรถ จัดส่งอาหาร หรือแม้แต่จัดส่งสินค้าหรือพัสดุ แกร็บ ประเทศไทย นับเป็นหนึ่งในหน่วยงานภาคเอกชนที่สนับสนุนให้คนที่ยังไม่มีสวัสดิการรองรับในวัยเกษียณอายุหันมาให้ความสำคัญกับการออม โดยในช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา แกร็บ ได้ประกาศความร่วมมือกับ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อสร้างความตระหนักและส่งเสริมการออมให้กับกลุ่มพาร์ทเนอร์คนขับและผู้จัดส่งอาหาร-พัสดุของแกร็บ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมากกว่าแสนราย ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่อาจเป็นคนที่มีงานประจำและเข้าถึงรูปแบบการออมเพื่อใช้หลังเกษียณอย่างเป็นระบบ แต่ก็ยังมีพาร์ทเนอร์คนขับบางส่วน โดยเฉพาะกลุ่มคนขับแท็กซี่ ที่ยังถือเป็นแรงงานอิสระ โดยนับตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา แกร็บได้จัดการอบรมเพื่อให้ความรู้กับพาร์ทเนอร์คนขับที่สนใจโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจาก กอช. พร้อมเปิดรับชำระเงินออมสะสมผ่านศูนย์บริการพาร์ทเนอร์คนขับแกร็บ (Grab Driver Center) ณ ชั้น 30 อาคารธนภูมิ
ภัทร – จิรภัทร โสภาลัย พาร์ทเนอร์คนขับ GrabTaxi วัย 48 ปี กล่าวว่า “ที่ผ่านมาไม่ค่อยได้มีโอกาสออมเงินสักเท่าไหร่ เพราะมีค่าใช้จ่ายเยอะ แต่ก็สนใจเรื่องการออมมาตลอด เราเคยได้ยินโครงการนี้ของ กอช. มาบ้าง เพราะมีส่วนที่รัฐบาลช่วยสมทบด้วย การที่มีคำว่าแห่งชาติต่อท้ายช่วยสร้างความมั่นใจว่ามันมีประโยชน์ต่อเราและวางใจได้แน่นอน อีกอย่างที่ทำให้สนใจมากก็คือ เราไม่ต้องเอาเงินก้อนใหญ่มาลง เริ่มต้นที่ 50 บาท เลยลองมานั่งคิดว่ากินก๋วยเตี๋ยวชามเดียวก็ใช้เงินเท่านี้เหมือนกัน จะมากจะน้อยก็อยู่ที่เรา การออมรูปแบบนี้เป็นประโยชน์กับคนประกอบอาชีพอิสระอย่างเรามากนะ ผมขับรถมา 20 กว่าปี มันไม่มีอะไรเป็นหลักประกันให้เราได้ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย จะรอ 30 บาทอย่างเดียวก็ไม่ได้ เราก็มองว่าในภายภาคหน้า เราจะอยู่ยังไงถ้าไม่มีเงินออม การที่ได้มาฟังข้อมูลจากกองทุนการออมแห่งชาติทำให้เราตัดสินใจได้ง่ายเลย และผมก็จะไปเชิญชวนเพื่อนๆ มาร่วมโครงการด้วย”
แซม – ยศกร ดวงจิตร์ พาร์ทเนอร์คนขับจัดส่งอาหารผ่าน GrabFood วัย 34 ปี คุณพ่อลูกสองผู้ได้รับผลกระทบต่องานประจำจากการระบาดของโควิด-19 เผยว่า “ก่อนหน้านี้ผมสนใจหารายได้เสริมอยู่แล้ว และพอมีการระบาดของโควิดก็เหมือนเป็นแรงผลักดันให้เริ่มสมัครขับแกร็บส่งอาหารและส่งของจนกลายเป็นงานหลักในตอนนี้ ก่อนหน้านี้ตอนที่ทำงานประจำผมเน้นการออมเงินโดยฝากประจำและประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ พอมาขับแกร็บซึ่งถือเป็นอาชีพอิสระผมเลยมองหาการออมเงินรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ชีวิตตอนนี้มากกว่า ซึ่งการออมเงินกับ กอช. ก็ตอบโจทย์ผมในเรื่องนี้ ทั้งความสะดวกในการเข้าถึง การวางแผนส่งเงินออมที่สามารถส่งยอดรวมปีละครั้งก็ได้ รวมถึงจำนวนเงินที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมากนัก ทำให้ผมสามารถจัดระเบียบการเงินของตัวเองได้คล่องตัวมากขึ้น ทำให้มั่นใจว่าตอนเกษียณอย่างน้อยก็มีเงินส่วนนี้ไว้ใช้จ่าย ซึ่งเป้าหมายต่อไปผมสนใจที่จะวางแผนออมเงินผ่านระบบ กอช.ให้กับลูกๆ ทั้งสองคนเช่นเดียวกัน”
สุดท้ายแล้วแม้ว่าการทำงานจะเป็นหนทางในการสร้างรายได้ให้กับเรา แต่คงไม่มีใครอยากที่จะทำงานไปตลอดชีวิต เมื่อผ่านพ้นวัยหนุ่มสาวที่ถือเป็นยุคทองของการทำงาน เราทุกคนต่างต้องการมีชีวิตที่ราบรื่นและสุขสบายในช่วงวัยเกษียณ หนทางสู่การมีเงินสำรองที่เพียงพอในวัยเกษียณสามารถเป็นจริงได้ เพียงแค่เราเริ่มต้นจัดระเบียบทางการเงินตั้งแต่วันนี้ แบ่งสรรปันส่วนรายได้เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและเก็บออมอย่างมีระบบ ไม่ว่าจะทำอาชีพไหน ก็สามารถสร้างความมั่นคงในวัยเกษียณได้เหมือนกัน