ช่วงหลายปีที่ผ่านมา เวลาเราเดินทางด้วย “รถไฟฟ้า” ก็มักจะเห็นป้าย HBD ที่เหล่าเเฟนคลับทุ่มเท “ลงขัน” บริจาคเงินกันเพื่อ “ซื้อสื่อ” อวยพรวันเกิดให้ศิลปิน สร้างสีสันเเละบรรยากาศคึกคักในสถานี
จนกระทั่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ การเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศไทย นำมาสู่กระเเสการเเบนบริษัทนายทุนต่าง ๆ หนึ่งในนั้นได้เกิดแคมเปญรณรงค์ให้ชาวแฟนด้อมหันไปสนับสนุน “ผู้ประกอบการรายย่อย”
เรียกได้ว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่ #เเบนจริง อย่างเป็นรูปธรรม เเละทำให้เกิดเเรงกระเพื่อมได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
เเม้สัดส่วนรายได้จากป้ายศิลปินจะยังไม่มากนัก เมื่อเทียบกับสื่อนอกบ้านอื่น ๆ เเต่บรรดาเเบรนด์ต่าง ๆ ก็ต้องกลับมา “คิดให้หนัก” กันมากขึ้น
เพราะกลุ่มเเฟนคลับ หรือที่มักเรียกกันว่า “เเฟนด้อม” (Fandom) เป็นคนรุ่นใหม่ที่มี “กำลังซื้อสูง” เห็นได้จากในเเต่ละครั้งที่มีการเปิดโดเนท เหล่าเเฟนด้อมจะสามารถ “ระดมทุน” ได้ยอดเงินบริจาค ตั้งเเต่ “หลักหมื่นยันหลักล้าน” ในเวลาอันรวดเร็ว เพียงเปิดโดเนทไม่กี่ชั่วโมง ก็ทะลุหลักเเสนบาทไปเเล้วในด้อมใหญ่ ๆ ที่มีเเฟนคลับจำนวนมาก
ด้อมเกาหลี ขยายสู่ “อินเตอร์” ช่วย “ตุ๊กตุ๊ก”
กระเเสนี้เริ่มต้นจากกลุ่มเเฟนคลับศิลปินเกาหลี รวมตัวกันเพื่อต่อต้านการซื้อสื่อโฆษณาในสถานีรถไฟฟ้า เเม้จะเป็นโปรเจกต์ที่เหล่าเเฟนคลับทำกันมาช้านานก็ตาม
มีการเสนอให้นำโปรเจกต์ศิลปินต่าง ๆ ย้ายไปซื้อสื่อโฆษณาใน “ขนส่งมวลชนท้องถิ่น” มากขึ้น เช่น รถตุ๊กตุ๊ก บิลบอร์ดรถสองเเถว รถเเดง ป้ายในเรือ หรือป้ายในย่านชุมชนต่าง ๆ เเทน
เมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ก็ประเดิมด้วย “ด้อมใหญ่” อย่างกลุ่ม A.R.M.Y แฟนคลับของวง BTS บอยเเบนด์ชื่อดังเเห่งยุค ได้ทำโปรเจกต์ซื้อพื้นที่ป้ายโฆษณาหลัง “รถตุ๊กตุ๊ก” จำนวน 15 คัน เพื่ออวยพรวันเกิดให้ 2 สมาชิกในวงอย่าง คิม ซอกจิน (Jin) เเละคิม แทฮยอง (V) เน้นเคลื่อนที่ไปตามถนนเส้นสำคัญในกรุงเทพฯ อย่างสยามเเละสุขุมวิท
จากนั้นก็มีกลุ่มเเฟนด้อมต่าง ๆ หันไปซื้อสื่อโฆษณาในท้องถิ่นตามไปด้วย จนป้ายตามสถานีรถไฟฟ้า “ว่าง” ในหลายพื้นที่อย่างเห็นได้ชัดต่างจากที่ผ่านมาจะมีโฆษณาลงเต็มตลอด
ล่าสุดความเคลื่อนไหวนี้ ไม่ได้จำกัดเเค่ใน “ด้อมเกาหลี” เท่านั้น เพราะได้ขยายไปสู่กลุ่มเเฟนคลับศิลปินระดับอินเตอร์ที่มีคนรู้จักทั่วโลก อย่าง Sarah Paulson เเละ Taylor Swift
จากการที่ได้พูดคุยกับผู้ทำโปรเจกต์เเละผู้ร่วมบริจาคซื้อโฆษณาบนรถตุ๊กตุ๊ก หลายคนมองว่า…
- เป็นการสร้างรายได้ให้ชุมชนคนหาเช้ากินค่ำ
- เป็นความเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ เพื่อต่อต้านนายทุนได้ดี
- ราคาถูกกว่าการซื้อโฆษณาเเบบอื่น เเต่มีคนเห็นบนท้องถนนจำนวนมาก
- มีความพิเศษ ไม่เหมือนใคร เพราะรถตุ๊กตุ๊กมีเเค่ในไทย ใครเห็นก็จำได้เเละคนต่างชาติก็สนใจ
- เเบรนด์สินค้าก็สามารถทำได้ เพื่อลดต้นทุนการตลาดในยามเศรษฐกิจไม่ดี
ด้านเหล่าคนขับรถตุ๊กตุ๊กบอกกับสื่อมวลชนว่า…เเม้หลายคนจะมองว่ารายได้ป้ายโฆษณา 700 บาทต่อคันต่อเดือนนั้นจะ “น้อยนิด” เเต่ก็สามารถต่อชีวิตในช่วงวิกฤต COVID-19 ได้ใช้จ่ายในครอบครัวหรือจ่ายค่านมลูกได้
จ่ายไม่เเพง เเต่ไปถึงคนตัวเล็กตัวน้อย
โดยราคาราคาป้ายโปรโมตศิลปินท้าย “รถตุ๊กตุ๊ก” มีอัตราค่าบริการโดยเฉลี่ยราว 300 – 700 บาทต่อคันต่อเดือน ส่วนใหญ่ไม่มีขั้นต่ำจะติดกี่คันก็ได้ บางจุดไม่มีการหักค่าหัวคิว สามารถติดต่อคนขับได้โดยตรง เเต่บางจุดต้องติดต่อผ่านหัวหน้าวิน ซึ่งจะมีเเพ็กเกจพิเศษให้ถ้าตกลงติดตั้งเเต่ 30 – 100 คัน ส่วนตัวป้ายนั้น “ต้องทำมาเอง”
ส่วนรถกระป้อในซอยต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ เรตราคาจะอยู่ที่ 400 – 500 บาทต่อคันต่อเดือน ส่วนรถเเดงในเมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่ จะมีค่าทำตัวป้าย 500 บาท และค่าเช่ารถสองแถว 1,000 บาทต่อเดือน โดยได้ติดต่อผ่านทางสหกรณ์ที่ดูเเลรถ
ขณะที่เมื่อเทียบกับค่าบริการป้ายโฆษณาของสถานีรถไฟ MRT นั้นจะเห็นว่าต่างกันมาก เเละลูกค้าต้องติดต่อกับบริษัทโดยตรง หรือบางกลุ่มก็ติดต่อผ่านเอเยนซี่โฆษณา โดยค่าใช้จ่ายของการติดตั้งป้ายนั้น รวมค่าพื้นที่มีเดีย สถานี ภาษีมูลค่าเพิ่มและระยะเวลาที่ต้องการติดตั้งไปด้วย ซึ่งมีไซส์ที่นิยมกันอยู่ 3 ขนาด คือ
- ขนาดเล็ก (เเนวตั้ง–เเนวนอนเล็ก) เรตราคาตั้งเเต่หลักพันปลาย ๆ ถึง 3 หมื่นบาท
- ขนาดกลาง (แนวนอน) เรตราคาตั้งเเต่ 3 – 8 หมื่นบาท
- ขนาดใหญ่ เรตราคาตั้งเเต่ 8 หมื่น – แสนบาท
โดยราคาของป้ายศิลปินมีอยู่หลากหลายมาก เริ่มตั้งเเต่หลักพันปลาย ๆ ไปจนถึงหลักเเสน ขึ้นอยู่กับระยะเวลาเเละโลเคชั่น เช่น ถ้าขึ้นเเค่ 15 วันจะถูกลงไปอีก อยู่จุดไหน สถานีไหน ขนาดเท่าไหร่ จุดที่คนมองเห็นมากน้อย ก็จะมีราคาที่ต่างกัน รวมถึงโปรโมชันที่ได้ด้วย
ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะจองขึ้นป้าย 15 วัน – 1 เดือน เป็นธีมอวยพรวันเกิด เเสดงความยินดีในโอกาสพิเศษ ออกเพลง–ละคร หรือออกอัลบั้มใหม่
เมื่อดูจากสัดส่วนรายได้ พบว่า รายได้รวมจากป้าย HBD ศิลปินจากกลุ่มเเฟนคลับถือเป็นส่วนเล็ก ๆ ของสื่อโฆษณาทั้งหมดของ BMN บริษัทผู้พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ใน MRT โดยคิดเป็นเเค่ 2 – 3% เพราะส่วนใหญ่เป็นเเบรนด์สินค้าถึง 97%
เเต่ผู้บริหาร BMN ให้สัมภาษณ์กับ Positioning เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาก่อนจะเกิดกระเเสการเเบนนี้ว่า
“ถึงจะน้อยเเต่เราไม่ละทิ้ง เราจะดูเเลลูกค้ากลุ่มเเฟนคลับเป็นพิเศษ เพราะต้องทำความเข้าใจพวกเขาด้วย ด้วยการที่เขาทำด้วยความชื่นชอบ เราจึงไม่ได้มองว่าต้องเอากำไรมากหรือเป็นการค้าจ๋าขนาดนั้น รวมถึงเป็นการสร้างสีสันเเละความหลากหลายให้สถานีด้วย คนเเวะมาถ่ายรูป ก็เป็นการเพิ่มทราฟฟิกเเละการจับจ่ายใช้สอยไปในตัว”
ด้านฝั่งผู้พัฒนาสื่อโฆษณารายใหญ่ของเมืองไทยอย่าง Plan B เทคแอคชั่นในกระเเสนี้ด้วยเชิญชวนเเฟนคลับกลับมาลงโฆษณา ด้วยเเคปชั่นว่า…เมนใคร ใครก็รัก ประกาศความน่ารักของเมนให้โลกรู้ ซึ่งหลายความเห็นในทวิตเตอร์มองว่า ยิ่งทำให้รู้ว่าความเคลื่อนไหวในการ #เเบน ครั้งนี้มีผลต่อวงการโฆษณาไม่น้อย
เมื่อถามว่าความเคลื่อนไหวนี้ จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวหรือต่อไปอีกยาวหรือไม่ หนึ่งในผู้ทำโปรเจกต์ศิลปินเกาหลี บอกกับ Positioning ว่า จะมีการทำต่อเนื่องอย่างเเน่นอน โดยเฉพาะการซื้อโฆษณากับคนในชุมชน นอกจากรถตุ๊กตุ๊กเเล้ว ก็จะมีการขยายไปยังขนส่งมวลชนท้องถิ่นอื่น ๆ รวมไปถึงป้ายตามร้านโชห่วย รถเร่ขายของเเละรถพุ่มพวง ตามโอกาสที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งมองว่าในปีหน้าแฟนคลับจะมีการทุ่มเงินโปรโมตให้มากกว่าปีนี้อย่างเเน่นอน…เพื่อเป็นการช่วยเหลือกันในช่วงเศรษฐกิจย่ำเเย่
สำหรับภาพรวมสื่ออุตสาหกรรมโฆษณาในเมืองไทย คาดว่าทั้งปีนี้ เงินโฆษณาจะสะพัดอยู่ที่ 7.1 หมื่นล้าน เเตะจุด “New Low” ต่ำสุดรอบ 20 ปี ใกล้เคียงกับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยสื่อทีวีและสื่อนอกบ้าน ที่เคยมีเม็ดเงินมากที่สุดยัง “ติดลบหนัก” ส่วนดาวรุ่งอย่างสื่อดิจิทัลที่เคยเติบโต 20-30% ต่อเนื่องมาทุกปี ต้องสะดุดเเละอาจเติบโตได้เพียง 0.5% เท่านั้น