หลังจาก กสทช.เปิดให้ทีวีดิจิทัลที่ต้องการคืนใบอนุญาต ตามคำสั่ง คสช. มาตรา 44 เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2562 ซึ่งมี 7 ช่องขอคืนใบอนุญาต โดยทุกช่องต้องนำเสนอเอกสารตัวเลขผลประกอบการ แผนเยียวยาพนักงานและผู้ชมก่อนยุติออกอากาศ
ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่าทั้ง 7 ช่องที่ยื่นขอคืนใบอนุญาตได้ส่งเอกสารและแผนเยียวยาครบทุกช่องแล้ว รวมมูลค่าเงินชดเชย 7 ช่องอยู่ที่ 2,929 ล้านบาท โดยมี 4 ช่องที่ได้รับการอนุมัติจาก กสทช.แล้ว คือ สปริงนิวส์ 19, สปริง 26 (NOW26), ไบรท์ทีวี และ วอยซ์ทีวี และมี 3 ช่องอยู่ระหว่างเสนอให้อนุกรรมการเยียวยาพิจารณา โดยทุกช่องที่คืนใบอนุญาตมีผลดำเนินการ “ขาดทุน” ทุกช่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
โดยบีอีซีส่งเอกสารและแผนเยียวยาเป็นรายสุดท้าย โดยขอยุติออกอากาศช่อง 13 Family และช่อง 28 (ช่อง 3 SD) วันที่ 30 ก.ย. 2562 เกินกำหนด 45 วันที่อนุกรรมการเยียวยากำหนด เนื่องจากบีอีซีแจ้งว่ามีสัญญาต้องออกอากาศรายการต่อเนื่อง นอกจากนี้ได้เสนอแผนเยียวยาเลิกจ้างพนักงาน ตามที่กฎหมายแรงงานกำหนดและเงินชดเชยเพิ่มเติม มากกว่า 1 เดือนขึ้นไป โดยขึ้นอยู่กับอายุการทำงานของผู้ถูกเลิกจ้าง
หลังทุกช่องยุติออกอากาศตามกำหนดแล้ว วันรุ่งขึ้นให้เข้ามายื่นเรื่องขอรับเงินชดเชยจาก สำนักงาน กสทช.
นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช. ได้เตรียมหารือการจัดทำระบบเรตติ้งใหม่ ตามคำสั่ง ตสช. มาตรา 44 โดยจะสนับสนุนมูลค่า 431 ล้านบาท ทั้งนี้ ได้เชิญสมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ทีวีดิจิทัลทุกช่อง ผู้ใช้งบโฆษณารายใหญ่ สมาคมเอเยนซี่โฆษณา บริษัทจัดทำเรตติ้งปัจจุบัน และสื่อมวลชน หารือแนวทางการจัดทำระบบเรตติ้งทีวีใหม่ ในวันที่ 25 ก.ค. 2562 เพื่อสรุปแนวทางการทำงานก่อนที่ กสทช.จะให้เงินสนับสนุน
“การจัดทำระบบเรตติ้งใหม่ สำนักงาน กสทช.ยังเป็นห่วงหลายเรื่อง เพราะตัวเลขจากแหล่งต่างๆ ยังแตกต่างกัน จึงเรียกทุกฝ่ายมาหารือ รวมทั้งให้บริษัททำเรตติ้ง นีลเส็น ซึ่งก่อนหน้านี้ทำหนังสือมาถึง กสทช. มานำเสนอแนวทางการจัดทำเรตติ้งให้พิจารณาด้วย”
ข่าวเกี่ยวเนื่อง
]]>ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า หลังจากทีวีดิจิทัล 7 ช่อง คือ ช่อง 13, ช่อง 28, MCOT Family, สปริงนิวส์ 19, สปริง 26, วอยซ์ทีวีและไบรท์ทีวี ได้แจ้งคืนใบอนุญาตกับ กสทช. ล่าสุด “สปริงนิวส์” ช่อง 19 เป็นรายแรกที่ส่งเอกสารงบการเงิน, แผนเยียวยาผู้บริโภค และแผนเยียวยาพนักงาน เข้ามาให้คณะอนุกรรมการฯ พิจารณา
โดย สปริงนิวส์ ได้แจ้งแผนเยียวยาพนักงานที่ต้องถูกเลิกจ้างจากการคืนใบอนุญาต โดยจ่ายเงินชดเชยเลิกจ้างตามกฎหมายแรงงาน และบวกเพิ่มอีก 1 เดือน โดยไม่ได้ระบุถึงจำนวนพนักงานที่จะถูกเลิกจ้าง
ขั้นตอนการพิจารณาหลังจากนี้ สำนักงาน กสทช.จะส่งเอกสารของสปริงนิวส์ให้คณะอนุกรรมการเยียวยาพิจารณาในวันที่ 4 มิ.ย.นี้ รวมทั้งคณะกรรมการ กสทช. เพื่อพิจารณาอนุมัติแผนเยียวยาผู้บริโภค คาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะเสร็จสิ้นในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการเยียวยาผู้บริโภค คือการแจ้งเป็นตัววิ่งที่หน้าจอสปริงนิวส์ว่าจะยุติให้บริการ โดยน่าจะใช้เวลาแจ้ง 30 วัน คือจบในสิ้นเดือน ก.ค. ดังนั้น สปริงนิวส์ จะยุติให้บริการเป็นช่องแรก ในเดือน ส.ค. 2562 และรับเงินชดเชยการคืนช่อง
แต่ระหว่างนี้หากทีวีดิจิทัลช่องที่ขอคืนใบอนุญาตรายอื่นๆ ส่งเอกสารเข้ามาเพิ่มเติม สำนักงานจะบรรจุวาระ เพื่อพิจารณาพร้อมกับช่องสปริงนิวส์ ในวันที่ 4 มิ.ย.นี้ เช่นกัน และอาจมีช่องที่ยุติให้บริการเพิ่มเติม
วันนี้ (29 พ.ค.) สำนักงาน กสทช.ได้ออกประกาศ หลักเกณฑ์คืนหนังสือค้ำประกันการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการทีวีดิจิทัล ซึ่งเป็นไปตาม คำสั่ง คสช. มาตรา 44 แก้ปัญหาทีวีดิจิทัล โดยมีหลักเกณฑ์สำคัญ คือ
ทรงพล ชัญมาตรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวีไดเร็ค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เดิมดีลการซื้อหุ้นช่องสปริงนิวส์มูลค่า 1,080 ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าหุ้น 949 ล้านบาท และค่าจ้างสปริงนิวส์ทำข่าวอีก 130 ล้านบาท โดยกำหนดเงื่อนไขจ่ายเงินเดือนละ 8.7 ล้านบาท จำนวน 124 เดือน ตลอดอายุสัญญาในอนุญาตทีวีดิจิทัลถึงปี 2572 โดยสปริงนิวส์ ต้องเคลียร์หนี้ก่อนเซ็นสัญญาซื้อขายในเดือนธันวาคม 2561
แต่หลังจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำหนดให้มีการนำคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นคลื่นสำหรับทีวีดิจิทัลไปจัดการประมูล 5 จี แล้วนำรายได้มาช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล โดยเป็นการช่วยเหลือทั้งค่าประมูลที่ยังเหลือค้างจ่ายรวม 15,000 ล้านบาท ค่าเช่าโครงข่ายส่งสัญญาณระบบดิจิทัล (Mux) และค่าเช่าโครงข่ายตามประกาศ Must Carry ทำให้ทีวีไดเร็คและสปริงนิวส์ได้เลื่อนการซื้อขายไว้ก่อน เพื่อรอความชัดเจนมาตรการช่วยเหลือของ กสทช.
โดยในการประชุมบอร์ดทีวีไดเร็ค เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 จึงมีมติให้ “ยุติ” ซื้อหุ้นช่องสปริงนิวส์ หันมาเช่าเวลาทีวีดิจิทัล-ทีวีดาวเทียม
ทรงพล กล่าวว่าหลังจากยุติดีลการซื้อช่องสปริงนิวส์แล้ว “ทีวีไดเร็ค” จะไม่กลับไปเจรจาเพื่อซื้อหุ้นช่องสปริงนิวส์อีก โดยจะใช้รูปแบบเช่าเวลาวันละ 12 ชั่วโมงกับช่องสปริงนิวส์เหมือนเดิม โดยจะมีการเซ็นสัญญากันใหม่อีกครั้ง ปัจจุบันยังใช้สัญญาเดิมเช่าเวลาช่องสปริงนิวส์นำเสนอโฮมช้อปปิ้งวันละ 18 ชั่วโมง จนถถึงเดือนกรกฎาคม 2562
ปัจจุบันทีวีไดเร็คเช่าเวลาทีวีดิจิทัลทั้งหมด 18 ช่อง โดยหลังจากยกเลิกแผนซื้อช่องสปริงนิวส์แล้ว จะมีการเช่าเวลาทีวีดิจิทัลเพิ่ม และจะเช่าเวลาช่องทีวีดาวเทียมเพิ่มอีก 10 ช่อง นอกจากนี้จะขยายช่องทางการขายผ่านช่องทางออนไลน์ ภายใต้กลยุทธ์ “ออมนิ แชนแนล” โดยปีนี้วางเป้าหมายยอดขาย 4,800 ล้านบาท เติบโต 20%
พงษชัย ชัญมาตรกิจ หัวหน้าสายงานบริหารสถานีโทรทัศน์ บริษัท ทีวีไดเร็ค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การยุติดีลการซื้อหุ้นช่องสปริงนิวส์ เนื่องจากมีมาตรการเยียวยาทีวีดิจิทัลของ กสทช. ซึ่งยังไม่สามารถสรุปแนวทางที่ชัดเจนได้
แต่มีเงื่อนไขสำคัญที่ กสทช. ระบุว่าจะชดเชยเงินค่าประมูล 2 งวดสุดท้าย ซึ่งสปริงนิวส์ จ่ายเงินงวดที่ 5 ไปแล้วจำนวน 219 ล้านบาท โดยไม่ได้ขยายเวลาจ่ายเงินตาม มาตรา 44 ดังนั้นหากเป็นไปตามมาตรการเยียวยาของ กสทช. สปริงนิวส์จะได้เงินค่าประมูลงวดที่ 5 คืน ทำให้ราคาการซื้อขายที่ประกาศไว้ในเดือนกันยายา 2561 ต้องกลับมากำหนดราคาใหม่ ทีวีไดเร็คจึงต้องยุติการซื้อขายไปในที่สุด
ทางด้านบริษัท แบงคอก บิสสิเนส บรอดแคสติ้ง จำกัด ผู้ดำเนินการสถานีโทรทัศน์ช่อง NOW 26 ได้แจ้งการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บริษัท สปริง 26 จำกัด ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 และจะเปลี่ยนชื่อสถานีทีวีดิจิทัล ช่อง Now 26 เป็น Spring 26 (สปริง 26) ในวันที่ 1 มีนาคมนี้ พร้อมปรับรูปแบบการนำเสนอรายการและข่าว โดยใช้เทคโนโลยีสตูดิโอ AR และ Visual Effect ที่เดียวในประเทศไทย และเชื่อมต่อผู้ชมจากทีวีสู่ทุกแพลตฟอร์ม เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมสื่อ
นอกจากนี้ยังมีพันธมิตรคอนเทนต์หลัก คือ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ผู้ผลิตสารคดีระดับโลก และ แม็กซ์ มวยไทย ผู้จัดรายการชกมวยชื่อดัง
ปัจจุบันทีวีดิจิทัล Now 26 ซึ่งเป็นช่องวาไรตี้ SD เป็นธุรกิจในเครือบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG ภายใต้การบริหารของ “ฉาย บุนนาค” ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็น กรรมการ รองประธานกรรมการ คนที่ 1 กรรมการบริหาร และประธานกรรมการบริหาร ของ NMG มีผลตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2562.
]]>ทีวีไดเร็คได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อคืนวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมบอร์ดบริษัทได้อนุมัติให้บริษัทเข้าซื้อหุ้นของบริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น หรือ SPTV ซึ่งเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล ภายใต้ใบอนุญาต กสทช. จากบริษัท สปริงนิวส์ คอร์ปอเรชั่น หรือ SPC ในสัดส่วนไม่น้อยว่า 90.10% ในมูลค่ารวมทั้งสิ้น 949.22 ล้านบาท
ทั้งนี้มีรายละเอียดในการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มเติมด้วยว่า รูปแบบการซื้อนั้น ทีวีไดเร็คจะชำระค่าหุ้น SPTV ให้แก่ SPC เป็นรายเดือน เดือนละ 7,655,000 บาท เป็นเวลา 124 เดือน ตามเวลาที่เหลืออยู่ของใบอนุญาตทีวีดิจิทัลของ SPTV ที่มีกับ กสทช.ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 24 เมษายน 2572 รวมเป็นมูลค่าทั้งหมด 949,220,000 บาท
นอกจากนี้ ทีวีไดเร็คจะชำระค่าผลิตรายการข่าวและสาระเพื่อออกอากาศในช่อง SPTV เดือนละ 1,055,000 บาท ให้ SPC เป็นการจ่ายรายเดือนจำนวน 124 เดือนเช่นกัน และยังให้สิทธิ SPC ขายเวลาโฆษณาอีก 30% ของเวลาที่ SPC ผลิตรายการข่าวสารและสาระให้กับ SPTV รวมมูลค่าประมาณเดือนละ 540,000 บาท รวมเป็นเดือนละ 1,595,000 บาท เป็นเวลา 124 เดือน รวมมูลค่า 197,780,000 บาท
ในขณะที่ฝ่ายผู้ขายคือ สปริงนิวส์ คอร์ปอเรชั่น หรือ SPC นั้น ตกลงจะรับผิดชอบชำระหนี้คงค้างทั้งหมดของ SPTV ได้แก่ ค่าใบอนุญาต ค่าบริการโครงข่าย (MUX) ค่าใช้จ่ายในการส่งสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิทัลที่ให้บริการเป็นการทั่ว ไป (Must Carry) รวมทั้งหนี้สินต่างๆ ตลอดจนภาระผูกพันที่มีอยู่ก่อนวันซื้อขายหุ้นสำเร็จ ในกรณีที่เป็นหนี้มีเงื่อนไขหรือเป็นหนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระในวันที่การซื้อขายหุ้นสำเร็จ โดยที่ SPC ตกลงจะชำระหนี้ทั้งหมด
อีกเงื่อนไขสำคัญคือ SPC ต้องคงเงินสดจำนวน 234,972,000 บาท เพื่อชำระค่าใบอนุญาตทีวีดิจิทัลในงวดสุดท้าย
อย่างไรก็ตาม การซื้อขายหุ้นของ SPTV และทีวีไดเร็คนี้ จะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ และที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของทีวีไดเร็ค ซึ่งจะจัดให้มีขึ้นในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2561นี้
หากดูรายละเอียดการซื้อขายหุ้นในครั้งนี้ จะพบว่า เงื่อนไขหลักคือ การเปลี่ยนถ่ายเจ้าของใบอนุญาต จากเจ้าของเดิม SPC ไปเป็น ทีวีไดเร็ค กลายเป็นช่องดิจิทัลทีวีรายแรกที่ประกอบกิจการ TV Shopping สมบูรณ์แบบ โดยที่ไม่ได้กระทบกับใบอนุญาตกิจการทีวีดิจิทัลช่องข่าว ที่ กสทช.กำหนดไว้ว่าช่องข่าว จะต้องมีรายการข่าวและสาระไม่น้อยกว่า 30%
ทีวีไดเร็คจะรับผิดชอบการผลิตรายการในสัดส่วน 70% ในขณะที่กลุ่มสปริงนิวส์ จะรับผิดชอบการผลิตข่าวสารและสาระ 30% ในรูปแบบที่ต่างคนต่างหารายได้จากสัดส่วนเวลาโฆษณาที่ได้ไป
ในแง่การเงินที่เข้ามาซื้อหุ้น ทีวีไดเร็คไม่ต้องไประดมทุนเพื่อมาซื้อหุ้นแต่อย่างใด โดยได้สิทธิผ่อนจ่ายเป็นรายเดือน เป็นเวลา 124 เดือนตามเวลาที่เหลืออยู่ของใบอนุญาต 15 ปีจาก กสทช. เพียงแต่รูปแบบการจ่ายเงินให้กลุ่มสปริงนิวส์นั้น แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ค่าซื้อหุ้น เดือนละ 7.655 ล้านบาท และค่าผลิตข่าวอีกเดือนละ 1.055 ล้านบาท รวมเป็นจำนวนเงินสดที่ทีวีไดเร็คต้องจ่ายต่อเดือน 8.71 ล้านบาท จ่ายทั้งหมด 124 เดือน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,080.04 ล้านบาท
โดยที่ทีวีไดเร็คได้ชี้แจงว่า รูปแบบการจ่ายเงินนี้ ไม่ได้สร้างภาระการเงินให้บริษัท เพราะใช้เงินหมุนเวียน และกระแสเงินสดในบริษัท ไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องและการดำเนินงานของบริษัท
ทีวีไดเร็คได้เข้ามาจับมือกับสปริงนิวส์ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้เป็นการเซ็นสัญญาเป็นผู้ร่วมผลิตรายการเป็นระยะเวลา 4 ปี จนกระทั่งได้ขยายรูปแบบมาเป็นการซื้อหุ้นในที่สุด
สำหรับผลประกอบการของช่องทีวีดิจิทัลช่อง สปริงนิวส์ ในปี 2560 มีรายได้รวม 200.13 ล้านบาท ขาดทุน 19.28 ล้านบาท ส่วนครึ่งปีแรกของปี 2561 มีรายได้รวม 124.16 ล้านบาท และมีกำไร 17.60 ล้านบาท มีสินทรัพย์ทั้งหมด 1,510.55 ล้านบาท.
]]>ช่องข่าวสปริงนิวส์ เป็น 1 ในช่องทีวีดิจิทัล ที่เช่าโครงข่ายกับ อสมท โดยทำสัญญาร่วมกันตั้งแต่ปี 2557 ต่อมาสปริงนิวส์ได้ค้างชำระค่าเช่าใช้บริการโครงข่ายฯ ตั้งแต่กลางปี 2559 จนถึงปัจจุบัน รวมเป็นเงินกว่า 104 ล้านบาท (รวมค่าปรับตามสัญญาและดอกเบี้ยตามกฎหมาย : ข้อมูล ณ วันที่ 31 พ.ค. 61)
เขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมา อสมท ได้มีหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้เป็นระยะเวลานานแล้ว สปริงนิวส์ได้ขอขยายเวลาชำระเงินเรื่อยมา โดยอ้างว่าบริษัทฯ อยู่ในช่วงวางแผนเพิ่มทุนและจะทยอยผ่อนชำระหนี้ค่าใช้บริการ แต่สปริงนิวส์ก็ไม่ได้ชำระแต่อย่างใด
เมื่อฝ่ายบริหาร และคณะกรรมการ บมจ อสมท พิจารณาแล้วเห็นว่า หาก อสมท และ กสทช. ไม่พิจารณาดำเนินการใดๆ จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภาครัฐและอาจถูกร้องในฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้ อสมท จึงได้ดำเนินการขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ กสทช. เพื่อยุติการให้บริการ
คณะกรรมการ กสทช.ได้มีมติเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2561 เห็นชอบการยุติให้บริการตามสัญญาให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล ระหว่าง อสมท และ สปริงนิวส์ แล้ว โดย อสมท จะดำเนินการยุติการให้บริการโครงข่ายฯ แก่สปริงนิวส์ ในวันที่ 16 มิ.ย. 2561 ในทันที
อสมท ได้มีหนังสือถึง บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด เรื่องแจ้งเลิกสัญญาและยุติการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งสปริงนิวส์ได้เสนอแนวทางขอผ่อนชำระต่อเนื่อง แต่เนื่องจากหนี้สินดังกล่าวค้างชำระมาตั้งแต่กลางปี 2559 จนถึงปัจจุบันเป็นจำนวนมาก อีกทั้งเป็นการค้างที่นานเกินกำหนดระยะเวลา ทำให้คณะกรรมการและฝ่ายบริหาร ต้องปกป้องผลประโยชน์เพื่อผู้ถือหุ้นที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยการบอกยกเลิกสัญญา
นอกจากนี้ เขมทัตต์ เสนอว่า การสนับสนุนให้อุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลทั้งระบบขยายตัวและแข็งแรงอยู่รอดได้ รัฐควรส่งเสริมด้านการผลิต content ให้มีต้นทุนต่ำ โดยช่วยเหลือด้านภาษีหรือสิทธิอื่นๆ การสนับสนุนให้เปิดตลาดเพื่อการส่งออก content , การดำเนินการทำ Mux pool เป็นโครงข่ายเดียว เพื่อให้โครงข่ายการออกอากาศได้มีต้นทุนต่ำลง ส่งผลให้ผู้ประกอบการโทรทัศน์ดิจิทัลมีต้นทุนต่ำลงไปด้วยในระยะยาว
ส่วนการสนับสนุนระยะสั้นในการชดเชย 50% ของค่าใช้จ่าย โครงข่าย ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่เป็นมาตรการชั่วคราวเท่านั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรดำเนินการแก้ไขให้ถูกจุด เพื่อให้ประชาชนผู้ชมได้ประโยชน์ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
ด้าน กสทช. ระบุว่า ได้อนุมัติให้ยกเลิกสัญญาตามที่ อสมท เสนอมา ซึ่งตามข้อกำหนด อสมท ต้องทำหนังสือแจ้งคู่สัญญาภายใน 30 วัน การที่ อสมท แจ้งว่าจะยุติการส่งสัญญาณในวันที่ 16 มิ.ย. เป็นไปได้ว่าน่าจะทำหนังสือถึงสปริงส์นิวส์แล้ว
กสทช.อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ให้บริการโครงข่ายรายอื่น เพื่อไม่ให้สปริงส์นิวส์ต้องจอดำ หลังจากที่สปริงส์นิวส์ได้ทำหนังสือถึง กสทช. เพื่อให้ช่วยหาผู้ให้บริการโครงข่าย เพื่อไม่ให้ถึงขั้นจอดำ เพราะยังมีผู้ให้บริการโครงข่ายรายอื่นเหลืออีก 3 ราย
สำหรับผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล (MUX) ในปัจจุบันมีอยู่ 5 ราย