หนังไทย – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 20 Dec 2024 08:10:24 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ‘หลานม่า’ จากหนังที่คิดว่าทำเงินสูงสุด 80 ล้านก็ดีแล้ว สู่การสร้างหลายปรากฏการณ์ให้วงการหนังไทยบนเวทีโลก https://positioningmag.com/1504393 Fri, 20 Dec 2024 04:06:06 +0000 https://positioningmag.com/?p=1504393 วันนี้ ‘หลานม่า’ ไม่เพียงสร้างปรากฏการณ์เฉพาะเรื่องของรายได้ จากการเข้าฉายใน 36 ประเทศ สามารถกวาดรายได้ไปถึง 2,059 ล้านบาท แต่ยังสร้างประวัติศาสตร์หนังไทย ‘เรื่องแรก’ ที่เข้ารอบ 15 เรื่องสุดท้ายรางวัลออสการ์ครั้งที่ 97 ในสาขา ‘ภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม’ ซึ่งก่อนจะดังเปรี้ยงอย่างที่เห็น หนังเรื่องนี้เคยถูกตั้งไว้ว่า ทำรายได้ 80 ล้านบาทคือดีที่สุดแล้ว 

ย้อนกลับไปวันเริ่มต้นของการปั้นโปรเจกต์หนังเรื่องนี้ หรือมีชื่อภาษาอังกฤษว่า How To Make Millions Before Grandma Dies ทาง ‘จินา โอสถศิลป์’ ซีอีโอ GDH เล่าว่า ทางบอร์ดบริหารมีการตั้งคำถามและข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องราวของหนังจะมีความ sensitive หรือไม่ เนื่องจากมีเนื้อหาที่หลานตั้งใจจะเอามรดก 

แต่ด้วยความเก่งของโปรดิวเซอร์ (วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์) ของผู้กำกับ (พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์) ไปจนถึงการเขียนบทที่นำเสนอเรื่องความกตัญญู และความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ซึ่งสามารถทำออกมาได้ดี จนกระทั่งหนังตัดต่อออกมา เมื่อเธอได้ดูแล้วทำให้รู้สึกชื่นชมเป็นอย่างมาก  

ส่วนหนังจะไปได้ไกลแค่ไหน คำตอบ ณ ตอนนั้น คือ ‘ไม่รู้’ 

แต่ด้วยความเชื่อ ‘หนังดี ทุกอย่างจะไปได้ดี’ ทำให้จินาตัดสินใจเรียกทีมงานทั้งหมดเข้ามาพูดคุย โดยถามกับทีมงานมั่นใจหรือไม่ว่าหนังเรื่องนี้ดีและสนุกพอ? ซึ่งทีมงานตอบว่า ‘มั่นใจ’ 

จึงนำมาสู่คำถามถัดไป ‘คิดว่า จะทำรายได้มากสุดที่เท่าไร’ 

คำตอบที่ได้รับจากทีมงานทุกคนคือ ‘80 ล้านบาทสุด ๆ แล้ว’ แต่เมื่อเธอได้เห็น cutting สุดท้ายของหนัง ทำให้จินามั่นใจและขอใช้สิทธิ์ซีอีโอฟันธง ‘หนังเรื่องนี้ต้องทำรายได้ 150 ล้านบาท’ ตอนนั้นหลายคนบอกว่า ‘เธอบ้าไปแล้ว’ เพราะด้วยเนื้อหามีความเป็นดราม่า ซึ่งอย่างที่ทราบกัน หนังดราม่า ‘ไม่ใช่หนังที่จะทำเงินได้มากมายนัก’ 

สำหรับการประสบความสำเร็จของหลานม่าอย่างที่เห็น เกิดขึ้นจากองค์ประกอบหลายอย่าง ทว่าพื้นฐานและเป็นสารตั้งต้นสำคัญของความสำเร็จ ก็คือ ‘ตัวหนังดี’ จากการที่ทุกคนทำงานของตัวเองอย่างเต็มที่เพื่อสร้างสรรค์ผลงานให้ออกมาดีที่สุด 

ถัดมา เป็นเรื่องของการตลาด ด้วยการใช้ Word of Mouth สร้างกระแส ‘หนังดี ต้องปากต่อให้คนมาดู’ ซึ่งเป็นวิธีที่จินาเคยใช้สร้างความสำเร็จอย่างถล่มทลายมาแล้วกับหนังเรื่อง ‘แฟนฉัน’ โดยไม่ได้ใช้ Influencer ของหนังอย่างเดียว แต่เป็นการใช้เครือข่ายที่มีทั้งหมดเพื่อดึงคนเข้ามาให้มากที่สุด

“การไปดูหนังมันเสียทั้งเงินและเวลา ยิ่งตอนนี้มีสตรีมมิ่งเสิร์ฟความบันเทิงไปถึงบ้านด้วย คุณจะเอาชนะได้อย่างไร ซึ่งเราเอาชนะได้อย่างเดียวคือ ตัวงาน อันนี้คือพื้นฐาน ทำอย่างไรให้คนดูอดทนรอไปอีก 3-4 เดือนไม่ได้ ตอนนั้นที่ทำโฟกัส กรุ๊ป คนดูเสร็จคนชอบมาก ๆ มีเด็กผู้ชายอายุ 16 ร้องไห้ จนเรามั่นใจ”

จากหนังที่หลายคนมองว่า ทำรายได้ 80 ล้านบาทก็สุด ๆ แล้ว มาถึงวันนี้หลานม่า ได้สร้างหลายปรากฏการณ์ให้เห็นกับวงการหนังไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายได้ที่ทำเงินไปถึง 2,059 ล้านบาท จากการเข้าฉายใน 36 ประเทศ และกวาดรางวัลจากเวทีประกวดมากมายทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ รวมถึงเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ติด 15 เรื่องสุดท้ายที่เสนอเข้าชิงเวทีระดับโลกอย่าง รางวัลออสการ์ครั้งที่ 97 ในสาขา ‘ภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม’

ส่วนจะสามารถสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ติด Final list หนัง 5 เรื่องสุดท้ายที่เข้าชิงรางวัลจากเวทีระดับโลกนี้ได้หรือไม่ ต้องติดตามกันวันที่ 17 มกราคม 2025 ขณะที่งานดังกล่าวจะมีการประกาศรางวัลในวันที่ 2 มีนาคม 2025

]]>
1504393
มองตลาด ‘หนังไทย’ ในช่วงขาขึ้น ที่ทำให้ ‘ช่อง 3’ กลับมาลงทุนอีกครั้งในรอบเกือบ 20 ปี https://positioningmag.com/1464441 Thu, 29 Feb 2024 05:20:44 +0000 https://positioningmag.com/?p=1464441 ขนาดในวงการ สตาร์ทอัพ ยังเคยล้อวงการ หนัง ว่ากู้เงินมาลงทุนยากพอ ๆ กัน เพราะความเสี่ยงสูง แต่ดูเหมือนว่าหลังช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา วงการ หนังไทย หรือ ภาพยนตร์ไทย ก็เริ่มกลับมาได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะปี 2023 ที่ผ่านมา สัดส่วนรายได้ของหนังไทยสามารถแซงหน้าหนังฮอลลีวูดที่ 55% : 45% ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในวงการ 

โรงภาพยนตร์มากขึ้น ก็ทำรายได้มากขึ้น

ในช่วง 20 ปีมานี้ จำนวนหนังไทยที่ฉายต่อปีมีอยู่ราว 50 เรื่อง ส่วนภาพยนตร์จากต่างประเทศฉายประมาณ 200-300 เรื่อง ซึ่งถ้าเทียบกันแล้วหนังไทยถือว่ามีสัดส่วนน้อยมาก แม้จำนวนจะน้อยกว่าหลายเท่า แต่ปีที่ผ่านมา ถือเป็นปีแรกที่สัดส่วนรายได้หนังไทยสูงกว่าหนังฮอลลีวูด ด้วยสัดส่วน 55 : 45 จากในอดีตที่สัดส่วนจะหนังฮอลลีวูดจะอยู่ที่ 80 : 20

โดยหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้รายได้ของหนังไทยเติบโตมากขึ้นก็เป็นผลมาจาก จำนวนโรงภาพยนตร์ ที่มีมากขึ้น สามารถกระจายไปถึงระดับชุมชน อย่างใน เครือเมเจอร์ฯ มีโรงภาพยนตร์ทั้งหมด 180 สาขา รวม 838 โรงภาพยนตร์ ส่วนเครือ SF มีโรงภาพยนตร์อยู่ในเครือ 66 สาขา รวม 400 โรงภาพยนตร์ ด้วยจำนวนโรงภาพยนตร์ที่มากขึ้น ก็ทำให้หนังไทยมีโอกาสทำรายได้ได้มากขึ้น ดังนั้น จะเห็นว่ามีหนังไทยหลายเรื่องทำรายได้หลัก 100 ล้านบาทในวันเดียว

“เราเริ่มเห็นเทรนด์ในหลายประเทศที่รายได้จากหนังโลคอลเริ่มมีแชร์สูงขึ้น เนื่องจากคุณภาพที่สูงขึ้น และคนโลคอลก็ยังสนับสนุนหนังของตัวเอง” สุรเชษฐ์ อัศวเรืองอนันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร M Studio กล่าว

ผู้ชมเปิดใจกับภาพยนตร์โลคอล

การมาของแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งไม่ได้เป็นคู่แข่งกับโรงภาพยนตร์ เพราะหลังจากหมด COVID-19 โรงภาพยนตร์ก็กลับมาอีกครั้ง เพราะโรงหนังเป็นการ ขายประสบการณ์ บางคนมาดูหนังกับเพื่อน กับแฟน กับครอบครัว นอกจากนี้ แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งก็มีส่วนช่วยให้คนเปิดใจรับชมโลคอลคอนเทนต์ หรือคอนเทนต์จากประเทศอื่น ๆ ไม่ใช่ฮอลลีวูดมากขึ้น

“เราจะเห็นว่าคอนเทนต์อันดับ 1 ในหลายแพลตฟอร์มไม่ใช่คอนเทนต์จากฝั่งฮอลลีวูด แต่มีทั้งเกาหลีใต้, ตุรกี, อเมริกาใต้ ผู้บริโภคทั่วโลกเริ่มเปิดใจกับคอนเทนต์ของประเทศอื่น ๆ มากขึ้น”

ดังนั้น ทิศทางการเติบโตของหนังไทยก็มาจากการยอมรับของคนไทยที่เปิดใจมากขึ้นด้วย อาทิ ภาพยนตร์ สัปเหร่อ หรือ ของแขก ที่ดูเป็นภาพยนตร์เฉพาะกลุ่มแต่ก็สามารถประสบความสำเร็จได้

พลังนักแสดงและมีเดียของพาร์ตเนอร์

อีกปัจจัยที่ทำให้หนังไทยมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้นก็คือ การที่บริษัทผู้ผลิตหนังได้ พาร์ตเนอร์ ที่แข็งแรง อย่างเช่น ช่อง 3 ที่เป็นพาร์ตเนอร์กับ M STUDIO ทำให้ภาพยนตร์ที่สร้างนั้น ๆ ได้ ศิลปิน ระดับแม่เหล็กของช่อง 3 รวมถึงได้ มีเดียของช่อง 3 ด้วย ซึ่งในส่วนนี่ก็จะช่วยดึงดูดกลุ่มแฟนคลับของศิลปิน ช่วยโปรโมตให้ภาพยนตร์เข้าถึงวงกว้าง รวมถึงการดึงแบรนด์มาเป็นสปอนเซอร์ได้อีกด้วย

ที่น่าสนใจคือ ช่อง 3 หรือ BEC world ได้ร้างราจากการลงทุนทำหนังไปเกือบ 20 ปี นับตั้งแต่บริษัทในเครืออย่าง ฟิล์มบางกอก ที่ผลิตภาพยนตร์คุณภาพ อาทิ ฟ้าทลายโจร, บางระจัน ได้ปิดตัวไปในปี 2005 จนมาปี 2022 ที่ช่อง 3 ได้ลงทุนในการทำหนังอีกครั้ง ผ่านการเป็นพาร์ตเนอร์กับ M Pictures ผลิตภาพยนตร์ บัวผันฟันยับ และในปี 2023 เรื่อง ธี่หยด

ไม่ใช่แค่ขาขึ้น แต่ทีวีต้องหาโอกาสใหม่ ๆ

การที่ผู้ผลิตหนังจะหาพาร์ตเนอร์จากทีวีถือเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เนื่องจากประโยชน์ที่ได้รับก็มีส่วนช่วยให้หนังประสบความสำเร็จง่ายขึ้น ขณะที่สื่อทีวีเองก็ต้องพยายามหารายได้ใหม่ ๆ เข้ามา เพราะ รายได้โฆษณาของทีวี ลดลงเรื่อย ๆ เนื่องจากผู้บริโภคย้ายไปอยู่บนออนไลน์ ขณะที่คอนเทนต์ที่เคยเป็นจุดเด่นของทีวีอย่าง ละคร ก็ไม่ได้เป็นคอนเทนต์หลักที่ใช้ดึงดูดผู้ชม กลายเป็นรายการ ข่าว ที่เป็นคอนเทนต์ที่ขายได้ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ช่อง 3 จะกลับมาลงทุนในธุรกิจภาพยนตร์อีกครั้ง เพื่อหาโอกาสสร้างรายได้ใหม่ ๆ

สำหรับปี 2024 นี้ ช่อง 3 ได้ร่วมลงทุนกับ M STUDIO ในการผลิตภาพยนตร์ 2 เรื่อง ได้แก่ ธี่หยด 2 และ มานะแมน โดย เทรซี แอนน์ มาลีนนท์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่ม บมจ.บีอีซี เวิลด์ เปิดเผยว่า ช่อง 3 จะร่วมทุนแบบ 50:50 กับบริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์ และพร้อมจะร่วมทุนกับทุกค่ายถ้าภาพยนตร์เรื่องนั้น ๆ น่าสนใจ และช่อง 3 ก็มองว่า รายได้จากภาพยนตร์อาจเป็นขาสำคัญในอนาคต โดยปัจจุบันรายได้ 85% ของบริษัทมาจากโฆษณา อีก 15% มาจากอื่น ๆ รวมถึงภาพยนตร์

ปั้นจักรวาลภาพยนตร์ตามรอยฮอลลีวูด

สุรเชษฐ์ มองว่า อีกเทรนด์ที่เห็นของวงการหนังไทยก็คือ เริ่มเป็น แฟรนไชส์หรือจักรวาลภาพยนตร์ เช่น จักรวาลไทบ้าน เดอะ ซีรีส์ ดังนั้น การต่อยอดจากหนังที่ประสบความสำเร็จ ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่จะทำให้หนังไทยเติบโตได้ เหมือนกับหนังฮอลลีวูดที่เมื่อหนังประสบความสำเร็จก็จะทำเป็นแฟรนไชส์หรือจักรวาลภาพยนตร์ออกมา เพราะตอนนี้หนังไทยเริ่มสร้างแฟนคลับ ดังนั้น แนวคิดการทำภาพยนตร์จากนี้ต้องต่อยอดเป็นแฟรนไชส์ได้ด้วย

“อย่างธี่หยดที่ประสบความสำเร็จไป เราเลยทำธี่หยด 2 ซึ่งเราก็คาดหวังว่าจะประสบความสำเร็จในระดับเดียวกันกับภาคแรกที่ทำรายได้แตะ 500 ล้านบาท ซึ่งเรามองว่ามันต่อยอดไปได้อีก เช่น สปินออฟของตัวละครในหนัง”

สุดท้ายกลับมาเรื่องคุณภาพ

สุรเชษฐ์ ทิ้งท้ายว่า ตอนนี้โอกาสของภาพยนตร์เปิดกว้างไม่ใช่แค่ฉายในไทย แต่สามารถนำไปขายในต่างประเทศรวมถึงแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งได้ หนังบางเรื่องสามารถขายได้ทุนคืนตั้งแต่ยังไม่ฉาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณภาพต้องดี ซึ่งถ้าหนังไทยในยุคที่ประสบความสำเร็จแบบนี้ก็จะยิ่งดึงดูดคนเก่ง ๆ ให้มาทำหนัง ดังนั้น มั่นใจว่ารายได้จากหนังไทยปีนี้จะมากกว่าหนังฮอลลีวูด อย่างในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2023 มีภาพยนตร์ 3 เรื่องที่มีคนดูมากกว่า 20 ล้านคน ทำรายได้รวมกันกว่าพันล้านบาท ได้แก่ สัปเหร่อ, ธี่หยด และ 4 King 2

“ตอนนี้หนังไทยเป็นที่ยอมรับในหลายประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน อย่างธี่หยดก็ขึ้นอันดับ 1 ในเวียดนาม ต่างประเทศยอมรับหนังไทยเนื่องจากเนื้อหาที่สดใหม่ มีความลึกซึ้ง ดังนั้น โจทย์แรกที่จะทำให้หนังไทยประสบความสำเร็จในตลาดโลกได้คือ ต้องเป็นคอนเทนต์คุณภาพ พอประสบความสำเร็จ ต่างชาติก็จะหันมาเสพผลงานของไทย”

]]>
1464441
เปิดใจ “วิชา พูลวรลักษณ์” ปี 2020 จอมืดของอุตฯ ภาพยนตร์ คนยังดูหนัง แต่ไม่มีหนังเข้า https://positioningmag.com/1311974 Thu, 24 Dec 2020 16:51:47 +0000 https://positioningmag.com/?p=1311974 พูดคุยกับ “วิชา พูลวรลักษณ์” ซีอีโอนักสู้แห่งโรงหนังเมเจอร์ ที่ในปีนี้เจอศึกหนักครั้งใหญ่ ถึงกับเป็นการขาดทุนครั้งแรก กับประเด็นความท้าทายทั้งไวรัส COVID-19 ไม่มีหนังใหม่เข้า ต้องปรับกระบวนท่ายกใหญ่ เน้นหนังไทย จับมือกับสตรีมมิ่ง รวมถึงเปิดเกมรุกขาย “ป๊อปคอร์น” นอกโรง

Dark Year ของอุตสาหกรรมหนัง

ในปี 2019 ตลาดโรงภาพยนตร์มีการจำหน่ายตั๋วที่สูงที่สุด 36.5 ล้านใบ ในปี 2020 จำนวนตั๋วลดลงถึง 60% สะท้อนถึงวิกฤตของธุรกิจโรงภาพยนตร์

ดูเหมือนว่าปีนี้เป็นปีที่ยากลำบากของหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ “โรงภาพยนตร์” เพราะเมื่อมีการล็อกดาวน์ ทำให้ไม่มีรายได้ ถึงแม้ว่าจะมีการเปิดให้บริการตามปกติหลังจากคลายล็อกดาวน์ ก็ยังต้องรักษามาตรการเว้นระยะห่าง ทำให้ไม่สามารถจำหน่ายตั๋วได้เต็มโรงแบบ 100% แถมยังบริโภคอาหารภายในโรงไม่ได้

แต่ปัญหาที่ใหญ่สุดคนจะเป็น การที่ไม่มี  “ภาพยนตร์ใหม่” เข้าฉาย เนื่องการสถานการณ์ COVID-19 ทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกายังคงรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ค่ายหนังต่าง ๆ จึงพาเหรดเลื่อนโปรแกรมหนังไปปีหน้ากันทั้งสิ้น ทำให้เมเจอร์ต้องแก้เกมด้วยการเอาหนังไทยมาฉาย

Photo : Shutterstock

ซึ่งใครที่ตามข่าวในแวดวงภาพยนตร์ หรือเป็นแฟนหนัง จะทราบกันดีว่า ปีนี้จะเป็นปีทองของวงการภาพยนตร์อีกปีหนึ่ง เนื่องจากมีโปรแกรมหนังฟอร์มยักษ์เข้าฉายมากมาย แต่เป็นอันต้องกินแห้วเนื่องจากสถานการณ์ยังไม่พร้อมฉาย หลังจากที่เจอปัญหาไม่มีหนังฉาย ทำให้ผู้บริโภคไม่ออกมาดูหนังเท่าที่ควร

เลยกลายเป็นว่า “คนยังอยากดูหนัง แต่ไม่มีหนังเข้าฉาย”

วิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) ถึงกับบอกเลยว่า ปีนี้เป็น Dark Year ของอุตสาหกรรม เป็นจอมืดเลย ปีนี้ขาดทุนเกือบพันล้าน จากที่ไม่เคยขาดทุนเลย ไม่เคยเจอแบบนี้มาก่อน ตอนแรกคิดว่าไม่เป็นอะไรมาก เพราะโรงหนังเป็นธุรกิจที่ขึ้นอยู่กับตลาดในประเทศ ไม่ต้องพึ่งพานักท่องเที่ยว แต่ที่คิดไม่ถึงก็คือมีการระบาดหนักที่สหรัฐอเมริกา ทำให้หนังใหญ่ ๆ เลื่อนฉายหมดเลย  

วิชาเสริมอีกว่า ตอนที่กลับมาเปิดโรงหนังใหม่หลังล็อกดาวน์ช่วงเดือนมิ.ย. ตอนนั้นก็ไม่มีหนังใหม่ ๆ แต่ก็ไม่อยากปิดโรงต่อ ด้วยความที่เป็น “นักสู้” อยู่แล้ว เลยสู้ด้วยหนังไทย มีเรื่องมนต์รักดอกผักบุ้งเข้าฉาย ตอนนั้นก็กลัวว่าพอไม่มีหนัง คนจะมาดูหรือเปล่า เหมือนซูเปอร์มาร์เก็ตที่ไม่มีของขาย

“แต่ก็พบว่าคนยังรักโรงหนัง มีไลฟ์สไตล์ดูหนัง หนังบางเรื่องก็ทำรายได้ดี สิ่งที่ทำให้ดีใจคือ คนยังดูหนัง เพียงแต่ไม่มีหนังเท่านั้นเอง” 

เร่งเสริมหนังไทย ต้องเข้าสตรีมมิ่งทุกเรื่อง!

จากปี 2020 ที่ต้องเจอกับความท้าทายรอบด้าน ทำให้เมเจอร์ต้องจับทัพปรับหน่วยธุรกิจใหม่ โดยเน้นที่ 3T ได้แก่ Thai Movies, Technology และ Trading  

“หนังไทย” จะกลายเป็นธุรกิจที่สำคัญของเมเจอร์ในปีหน้า เรียกว่าโลคอลคอนเทนต์จะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยฝ่าวิกฤต โดยลดการพึ่งพาคอนเทนต์จากฮอลลีวูด ที่ผ่านมามีหนังไทย 2 เรื่องที่ทำให้ตลาดหนังไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง นั่นคือ เรื่อง “มนต์รักดอกผักบุ้ง เลิกคุยทั้งอำเภอ” ตอบโจทย์คนดูทางภาคใต้ ทำรายได้ไปถึง 43 ล้านบาท ตามมาด้วย “อีเรียมซิ่ง” ซึ่งขณะนี้กวาดรายได้ไปแล้ว 200 ล้านบาท

ในปี 2020 เมเจอร์ได้ลงทุนผลิตหนังไทยผ่านค่ายในเครือ 6 ค่าย ได้แก่ M PICTURES, M๓๙, Transformation Film, CJ MAJOR Entertainment, TAI MAJOR และ รฤก โปรดักชั่น รวม 11 เรื่อง แต่ปีหน้ามีแผนลงทุน 20-25 เรื่อง ใช้งบลงทุนราว 350-400 ล้านบาท เป็นการผลิตเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากที่เคยผลิตเพียงปีละ 10-12 เรื่อง

อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่น่าสนใจ ก็คือการเป็นพาร์ตเนอร์กับ “สตรีมมิ่ง” ด้วยการนำหนังไทยเข้าไปฉายในสตรีมมิ่งทั้งหมด เป็นการตอบคำถามได้อย่างชัดเจนว่า สตรีมมิ่งจะเป็นคู่แข่งคนสำคัญของโรงหนัง ทำให้คนไม่ไปดูหนัง แต่จริง ๆ แล้วสตรีมมิ่งเป็นพาร์ตเนอร์ที่ช่วยสร้างตลาดให้เติบโตได้

วิชามองว่าจะเอาหนังไทยทุกเรื่องที่ฉายในโรง เข้าฉายในสตรีมมิ่งทุกเรื่อง จะเป็นช่วง 3 เดือนหลังจากที่ฉายในโรงแล้ว มองผู้เล่นที่สำคัญได้แก่ NetFlix, Disney+ และ HBO GO

“ต่อไปหนังไทยทุกเรื่องจะต้องเข้าสตรีมมิ่ง ตอนนี้เป็นช่องทางที่ 2 ที่คนเข้าถึงนอกจากโรงหนัง ที่สำคัญคืออยากทำคอนเทนต์โลคอลไปโกลบอลให้ได้ การที่เข้าไปอยู่ในสตรีมมิ่งทำให้คนรู้จักมากขึ้น ฉายได้ยาว”

ถ้าถามว่าหนังในดวงใจที่วิชาชอบที่สุดในปีนี้คือเรื่องอะไร วิชาตอบอย่างไม่คิดเลยว่า “อีเรียมซิ่ง” ซิ่งมากับร้อยล้าน

สำหรับเรื่อง Technology จะมีการลงทุนอีก 100-200 ล้านบาท เน้นการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ทันสมัยเข้ามาเติมเต็มในการให้บริการมากขึ้น รวมไปถึงพัฒนาให้ Personalize มากขึ้น

ลุยขายป๊อปคอร์น ขายทุกอย่างที่ขายได้

ในช่วงล็อกดาวน์ เมเจอร์ต้องปรับตัวในการหารายได้แทนการขายตั๋ว ลุยขายสินทรัพย์ของตัวเองหลาย ๆ อย่าง พระเอกหลักก็คือ “ป๊อปคอร์น” ได้กลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่จะสร้างรายได้ให้เมเจอร์มากขึ้นผ่าน Trading ในช่วงนั้นเมเจอร์เริ่มจากขายป๊อปคอร์นสดที่ขายหน้าโรงหนัง แล้วใช้บริการเดลิเวอรี่ส่งตามบ้าน บริการ “Major Popcorn Delivery” จนได้พัฒนาเป็นป๊อปคอร์นรูปแบบใหม่ ๆ เพิ่มความสะดวกมากขึ้น และมีแผนที่จะนำป๊อปคอร์นจำหน่ายนอกโรงหนังด้วย

“แรก ๆ ที่ขายก็มีรายได้ไม่กี่แสน แต่พอทำไปทำมาก็สามารถขึ้นอันดับหนึ่งสินค้าขายดีในช้อปปี้เมื่อเดือนที่แล้ว”

วิชาเปิดเผยถึงกลยุทธ์นี้ว่า ต้องทำธุรกิจใหม่ ขายให้เป็น เปิดเกมรุกในการขายของ ขายทุกอย่างที่เรามี ไม่ใช่แค่เปิดบ้านขายของเท่านั้น แต่จะทำสินค้าเข้าขายซูเปอร์มาร์เก็ตอื่น ๆ ด้วย ปกติทำแต่ป๊อปคอร์นร้อน ตอนนี้ทำป๊อปคอร์นเย็นที่สามารถซื้อกินที่บ้านได้ ทำที่บ้านได้ ขายทุกช่องทางที่เมเจอร์ ซูเปอร์มาร์เก็ต และออนไลน์

ทำให้ตอนนี้มีสินค้าในไลน์ของป๊อปคอร์น ได้แก่

– ป๊อปคอร์น Pop Corn Supersize ป๊อปคอร์นถังใหญ่ ขนาด 355 ออนซ์

Pop To Go ป๊อปคอร์นในถุงซิปล็อก ขนาด 75 ออนซ์

POP STAR ป๊อปคอร์นพรีเมียมบรรจุในกระป๋อง ขนาด 60 ออนซ์

– ป๊อปคอร์น พรีเมียม POPSTAR 3 รูปแบบ คือ ป๊อปสตาร์ สแน็ค ป๊อปคอร์นแบบซอง, ป๊อปสตาร์ ไมโครเวฟ รสชีส และ ป๊อปสตาร์พรีเมียม ทินแคน ป๊อปคอร์นบรรจุกระป๋อง

ในปี 2019 กลุ่มป๊อปคอร์นมีรายได้กว่า 2,000 ล้านบาท เป็นการรวมเคาน์เตอร์ป๊อปคอร์นหน้าโรงหนังทั้งหมด หลังจากมีการเปิดธุรกิจ Trading มีการตั้งเป้าว่าจะมีสัดส่วน 10% ของรายได้กลุ่มป๊อปคอร์น หรือ 200 ล้านบาท

ปีหน้าต้องกลับมาแบบ V Shape เพราะมี Vicha

หลังจากเกิดวิกฤตในการทำธุรกิจ ทำให้รายได้ หรือผลประกอบการตกต่ำลงไปอย่างมาก เมื่อผ่านเหตุการณ์ในช่วงนั้นมา หลายธุรกิจก็หวังการเติบโตขึ้น ซึ่งในภาษาของธุรกิจจะมีทั้ง V Shape, U Shape หรือ W Shape เพื่อเปรียบเทียบกราฟผลประกอบการ

สำหรับเมเจอร์นั้นวิชาบอกว่า ปีหน้าต้องกลับมาเป็นแบบ V Shape ให้ได้ เพราะผมคือ Vicha เล่นกิมมิกกับชื่อตัวเองนั่นเอง หลังจากที่ปี 2019 เมเจอร์มีกำไรสูงที่สุด ปีนี้มีการขาดทุน แต่ปีหน้าต้องกลับมาโตเท่าปี 2019 ให้ได้

ปัจจัยที่คิดว่าจะกลับมามีรายได้ และผลประกอบการที่ดีขึ้น มั่นใจว่าหนังใหญ่ ๆ จะกลับมาฉาย ปี 2021 จะเป็นปีที่ Movie is back, No Time To Die จะมีหนังเข้าฉายมากถึง 260 เรื่อง เป็นหนังฮอลลีวูดประมาณ 210 เรื่อง เป็นหนังไทยประมาณ 50 เรื่อง

หนังฮอลลีวูดที่เข้าฉาย 210 เรื่องนั้น ส่วนหนึ่งเป็นหนังที่เลื่อนฉายจาก ปี 2020 จะเป็นหนังที่หลายคนรอคอยการกลับมาฉาย ซึ่งเป็นหนังฮอลลีวูด บ็อกซ์บัสเตอร์ฟอร์มยักษ์ที่คาดว่าจะทำเงิน ได้แก่ Black Widow, Godzilla VS Kong, Fast & Furious 9, Mission : Impossible 7, Spider-Man Sequel, The Matrix 4, Venom 2, The Conjuring 3, Mortal Kombat, The King’s Man, Morbius, No Time to Die, A Quiet Place Part 2, Infinite, Top Gun 2 : Maverick, Minions : The Rise of Gru, Shang-Chi and the Legend of the Ten Rings, Jungle  Cruise, The Suicide Squad 2, Dune, The Eternals

ถ้าถามว่าจากวิกฤตครั้งนี้ได้เรียนรู้อะไรบ้าง วิชาบอกว่าต้อง Fast และ Flexible เป็นสิ่งที่ CEO ต้องทำ ต้องสู้ ถ้าปรับตัวได้เก่งก็จะอยู่ได้ เป็นธรรมชาติของธุรกิจ

ที่สำคัญทำให้ได้คิดว่า “พอเราเป็นคนทำโรงหนัง ก็คิดว่าเป็นโรงหนังมาตลอด พอ COVID-19 มา ทำให้ต้องมาคิดใหม่ ต้องเป็น Content Provider หน้าที่เราคือต้องทำคอนเทนต์ให้เข้าถึงคนดูให้ได้ การลงทุนทำหนังทำให้มีรายได้มากขึ้น แต่ก่อนเป็นโรงหนัง เอาหนังมาฉายก็ได้ 50% แต่พอมีหนังไทยที่เป็นเจ้าของผลิตด้วย ก็มีรายได้มากขึ้น”

สำหรับแผนการขยายสาขาในปี 2021 เมเจอร์ลงทุนขยายสาขาในต่างจังหวัด 8 สาขา 24 โรง และสาขาในกัมพูชา อีก 2 สาขา 6 โรง ใช้งบลงทุนรวม 200 ล้านบาท

ปัจจุบัน เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป มีสาขาที่เปิดให้บริการรวมทั้งสิ้น 172 สาขา 817 โรง 185,874 ที่นั่ง แยกเป็น

– สาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 47 สาขา 357 โรง 81,388 ที่นั่ง

– สาขาในต่างจังหวัด 117 สาขา 421 โรง 96,037 ที่นั่ง

– สาขาในต่างประเทศ 8 สาขา 39 โรง 8,449 ที่นั่ง

]]>
1311974
เปิดเส้นทาง 11 ปี “นาดาวบางกอก” จากกำไร 26,000 บาท สู่โปรดักชั่นมือทองของ GDH https://positioningmag.com/1301319 Thu, 15 Oct 2020 17:15:19 +0000 https://positioningmag.com/?p=1301319 เเม้ชื่อของ “ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์” จะเป็นผู้กำกับชื่อดังที่เริ่มต้นได้สวยงาม จากหนังดังในตำนานอย่าง “แฟนฉัน” มาตั้งเเต่ปี 2546 เเต่เส้นทางการพลิกบทบาทสู่ผู้บริหาร ปลุกปั้น “นาดาวบางกอก” มากว่า 11 ปีนั้น ไม่ได้ราบรื่นเท่าไหร่นัก

จากผู้กำกับร่วมในเเฟนฉัน ลงสนามเป็นผู้กำกับเดี่ยวในภาพยนตร์เด็กหอ ตามมาด้วย 5 แพร่ง, ปิดเทอมใหญ่หัวใจว้าวุ่น และวัยรุ่นพันล้าน โกยความสำเร็จไปด้วยดี เเต่จากนั้นเขาตัดสินใจออกจาก Safe Zone ด้วยการมานั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการของ “นาดาวบางกอก” ซึ่ง ณ เวลานั้นยังเป็นเพียงแค่บริษัทดูแลศิลปินในสังกัดของ GTH

ย้อนความหลัง : วันที่ “นาดาว” เกือบต้อง “ปิดบริษัท” 

ช่วง 3-4 ปีเเรกของนาดาว ลุ่มๆ ดอนๆ มาก ตอนนั้นจับทางไม่ได้ว่าการพัฒนาศิลปินเเล้วมาทำรายได้อย่างไร จนกระทั่งถึงตอนถ่ายทำซีรีส์ฮอร์โมนส์ฯ ซึ่งตอนนั้นเกือบจะปิดกิจการบริษัทไปเเล้ว เพราะปีนั้นทำกำไรเเค่ 26,000 บาท

ย้งเล่าย้อนไปในช่วง 11 ปีที่ผ่านมาของนาดาว ว่า ซีรีส์ “ฮอร์โมนส์วัยว้าวุ่น” ซีซัน 1 นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของบริษัท ช่วย “กู้วิกฤต” ให้เขาไม่ต้องทำธุรกิจ “เจ๊ง” 

ช่วงเริ่มเเรก นาดาวบางกอก มีทีมงานเพียงแค่ 7-8 คนเท่านั้น โดยระหว่างการถ่ายทำซีรีส์ฮอร์โมนส์ ซีซัน 1 นั้นถือเป็นงานใหญ่ที่ต้องใช้ “คนทั้งออฟฟิศ” มาทำงานเดียว จนทำให้ไม่มีเวลาไปรับงานอื่น ไม่มีรายได้เข้ามา จึงทำให้ผลประกอบการของนาดาวในปีนั้นมีกำไรเพียงแค่ 26,000 บาท (เป็นตัวเลขที่พนักงานรุ่นเก่าจำได้ขึ้นใจ)

ตอนนั้นรู้สึกท้อ คิดว่ามันคงเป็นสิ่งที่เราทำไม่เป็นจริงๆ เเหละ…ทำใจเเล้ว ตอนฮอร์โมนส์ฯ ออกฉาย เราหา
สปอนเซอร์ได้เเค่เจ้าเดียว พอฉาย 2 ตอนเเรก กระเเสเริ่มมีบ้างประปราย ก็คิดว่าเราก็จะ “จบสวยเหมือนกันนะ (หัวเราะ) พอฉายไปจนจบซีซัน กระเเสตอบรับดีเกินคาด ผู้ชมเเละสปอนเซอร์ถามหาเยอะ ตอนนั้นเเหละผมถึงมีความคิดว่าต้องไปต่อ ซึ่งซีซัน 2 ถือเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้บริษัทมีทุกวันนี้

จากซีรีส์ฮอร์โมนส์วัยว้าวุ่น นาดาวบางกอก ขยับฝ่ายโปรดักชั่นไปต่อยอดทำออริจินัลคอนเทนต์ ให้กับ LINE TV เเละทำซีรีส์ที่เจาะตลาดคนทุกวัยอย่าง “เลือดข้นคนจาง” ซึ่งก็ได้รับความนิยมอย่างมากเช่นกัน

ซีรีส์ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น ซีซัน 1

รายได้ของ “นาดาว” มาจากอะไรบ้าง 

ปัจจุบันงานหลักๆ ของนาดาวบางกอก มีอยู่ 3 อย่างด้วยกัน คือ ฝ่ายดูแลพัฒนาศิลปินนักแสดง ฝ่ายโปรดักชั่นผลิตซีรีส์คอนเทนต์ และค่ายเพลง Nadao Music

ด้วยความที่ธุรกิจของนาดาวขึ้นอยู่กับคนอื่นเยอะทั้งลูกค้าเเละสปอนเซอร์ พรีเซ็นเตอร์เเละอีเวนต์ต่างๆ จึงทำให้คาดการณ์รายได้ยากว่าในเเต่ละปีบริษัทจะโตเท่าไหร่ โดยรายได้ในปี 2019 อยู่ที่ราว 270 ล้านบาท

เเบ่งรายได้ของนาดาวง่ายๆ เป็น 2 ส่วน ได้เเก่ ดูแลศิลปินและนักแสดง ราว 60% ส่วนอีก 40% มาจากการทำซีรีส์และคอนเทนต์ต่าง ๆ

ที่น่าสนใจคือกำไรที่ได้นั้นกลับสวนทางกัน โดยฝ่ายโปรดักชั่น เเม้จะมีรายได้ในสัดส่วนที่น้อยกว่า เเต่ทำกำไรเมื่อหักค่าใช้จ่ายเเล้วได้ประมาณ 20-30% ขณะที่ส่วนดูเเลศิลปิน รายได้ส่วนใหญ่ที่ได้จากค่าตัว มักจะถูกแบ่งให้กับศิลปินในสัดส่วนที่มากกว่า เเละเมื่อหักลบอะไรต่าง ๆ แล้ว จึงเหลือเป็นกำไรกลับมายังบริษัทเพียงแค่ประมาณ 8-15% ต่องานเท่านั้น

ช่วงที่จัดอีเวนต์ไม่ได้ หายไปเลยกว่า 2 เดือนที่ล็อกดาวน์นั้น กระทบงานส่วนดูเเลศิลปินโดยตรง เพราะรายได้ศิลปินทั้งหมดมาจากงานอีเวนต์ราว 20% พรีเซ็นเตอร์ 70% เเละออนไลน์ 10%”

ยัง เล่าลึกลงไปถึงการลงทุนในโปรดักชั่นว่า ซีรีส์ส่วนใหญ่ของนาดาว มีต้นทุนต่อตอนราว 2.5 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นต้นทุนที่สูงกว่าละครในช่วง Prime-Time ของทีวีช่องใหญ่ทั่วไป ที่มักจะเฉลี่ยอยู่ที่ 1.4-1.5 ล้านบาท

การจะให้ลดต้นทุนโปรดักชั่นเพื่อเพิ่มกำไร ไม่ใช่ทางของนาดาว มันเป็นเรื่องของการรักษาคุณภาพ รายละเอียดของงาน เพราะคนทำงานก็มาจากคนทำหนัง พอลงมาทำสเกลเล็กกว่าอย่างซีรีส์ ค่าตัวของทีมงานก็ยังเหมือนเดิม มีซีนเยอะขึ้นก็มีค่าตัดต่อเพิ่มอีก เหล่านี้ก็เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมในเเต่ละปี จึงได้ชมซีรีส์จากนาดาวเพียง 1-2 เรื่อง

โดยตอนนี้รายได้ของนาดาวบางกอก มาจากในประเทศ 90% ส่วนที่เหลืออีก 10% เป็นรายได้ที่มาจากต่างประเทศ (ส่วนใหญ่มาจากจีนที่ซื้อซีรีส์ไปฉาย)

ความท้าทายของธุรกิจ “ดูเเลศิลปิน” 

ตอนนี้นาดาวบางกอก มีศิลปินอยู่ในสังกัด 36 คน การทำงานกับ “คนรุ่นใหม่” ที่มีความคิดความอ่านเเตกต่างกันตามเจเนอเรชันนั้น “ไม่ใช่งานง่ายๆ”

ทรงยศ บอกว่า นโยบายของนาดาวยังคงเหมือนเดิม คือ การพัฒนาคนขึ้นมาให้เป็นนักเเสดงเเละศิลปินที่ดีพอให้คนข้างนอกมาจ้าง อยากทำงานกับพวกเขา ไม่ใช่วนเล่นหนังให้กับ GDH หรือนาดาว

ถ้าเห็นน้องคนไหนไปทำงานข้างนอกเยอะๆ ไม่ได้ทำนาดาวเลย นั่นคือนักเเสดงที่เราภูมิใจนะ เราพยายามส่งเสริมให้เขามีประสบการณ์ มีความสามารถเพียงพอที่จะเอาตัวรอด ทำงานกับผู้จัดข้างนอกได้ ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาก็ถือว่าภูมิใจในสิ่งที่เราทำมา เเละน้องๆ ก็ได้ออกไปทำในสิ่งที่อยากทำด้วย

“เเท๊ด-รดีนภิส โกสิยะจินา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ เเผนการตลาดเเละสื่อสารองค์กรของนาดาวบางกอก เสริมว่า สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการที่ศิลปินอยู่กับเราตั้งเเต่เด็กจนโต ทำให้เห็นความเปลี่ยนเเปลง พอเป็นวัยรุ่นก็ต้องใช้เหตุผลคุยกัน มุมหนึ่งก็คุยกันง่ายขึ้น เเต่อีกมุมเขาก็เริ่มมีทัศนคติ มีเเนวคิดของตนเอง

อะไรที่เป็นสิ่งที่ทำให้ศิลปินยังอยู่กับนาดาว” ?

ย้งตอบว่าผมไม่เคยถามน้องๆ นะ เเต่เดาว่า คงเป็นการที่เราอยู่เเบบพี่น้อง การทำสัญญากับนาดาวไม่มีการผูกมัด ถ้าศิลปินรู้สึกว่าวันหนึ่งไม่อยากทำเเล้ว อยากยกเลิกสัญญา ก็ทำ เมื่อไหร่ก็ได้ เเต่ต้องมาคุยกันก่อน มีเหตุผลที่เข้าใจได้เเละไม่มีอะไรค้างคา ทำงานเเบบรับผิดชอบต่อกัน เรื่องการบริหารคนก็มีปัญหาหยุมหยิมไปหมด เเต่ต้องคุยกันให้เข้าใจ ให้รู้สึกสบายใจ

ย้ง ทรงยศเเละเเท๊ด-รดีนภิส โกสิยะจินา สองผู้บริหารของนาดาวบางกอก

ตลอด 11 ปีที่ผ่านมา เฟ้นหาเด็กมา “ปั้นเป็นดารา” อย่างไร มองจากอะไร ?

ผมว่ามันเป็นเรื่องของสัญชาตญาณ เวลาเเคสติ้งนักเเสดงมาเล่นหนังก็เจาะจงไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องรสนิยมส่วนตัว เเต่เด็กที่ทำให้เราสนใจได้ ต้องมีคาเเร็กเตอร์บุคลิกเฉพาะตัวของเขา เช่น เดินมาเเล้วพูดอะไรบางอย่าง เเล้วเราจำเด็กคนนี้ได้ ไม่ใช่เเค่เรื่องหน้าตาเท่านั้น เเต่ชวนมอง มองได้ไม่เบื่อ

นาดาวบางกอก มีการเสริมทักษะให้ศิลปินต่างๆ เริ่มจากการให้เรียนการเเสดงก่อนจากนั้นค่อยๆ ให้เข้าสู่โปรเจกต์ที่ไม่ยากเกินตัว เวลาส่งศิลปินไปเเคสติ้งงาน ก็อยากรู้ฟีดเเบ็กจากลูกค้าว่าทำไมเลือกศิลปินเรา เเละทำไมไม่เลือก เพื่อนำมาปรับปรุงเเละพัฒนาต่อไป

ความเป็นเด็กนาดาว ทำให้มีภาษีกว่าที่อื่นไหม ?

ถ้าเป็นช่วงหลังๆ ก็อาจจะมีบ้าง มีข้อได้เปรียบว่ารุ่นพี่สร้างภาพจำที่ดีว่าสังกัดนี้ตั้งใจ รับผิดชอบเเละมีทักษะการ
เเสดงที่โอเคระดับหนึ่ง เเต่สุดท้ายเเล้วก็ขึ้นอยู่กับเเต่ละบุคคลว่าตัวเขาเองทำได้ดีเเค่ไหน

Nadao Music กับความฝัน T-POP ระดับเอเชีย

ย้งเล่าว่า การทำค่ายเพลงของนาดาว เกิดจากความไม่ได้ตั้งใจทำเป็นธุรกิจ เเต่เกิดจากการที่มีกลุ่มศิลปินที่มีความสามารถด้านการร้องเพลง โดยสมัยก่อนจะให้ไปเซ็นสัญญากับที่อื่น เเต่พอมาคิดดูเเล้ว คงถึงเวลาเเล้วที่นาดาวจะต้องจะทำเองเพื่อซัพพอร์ตความสามารถของศิลปิน

เมื่อพอคิดจะมียูนิตนี้ อย่างไรก็ต้องทำให้เป็นธุรกิจให้ได้ ด้วยความบังเอิญที่ตอนนั้นซีรีส์รักสุดใจนายฉุกเฉิน เเล้วทำเพลงประกอบ “รักติดไซเรนเกิดกระเเสฮอตฮิตขึ้นมา จึงเป็นการปูทางให้บริษัทได้เรียนรู้การทำตลาดจากเพลงจริงจัง โดยตอนนี้มีเบลสุพล นักร้องชื่อดัง มานั่งแท่นเป็นหัวเรือใหญ่

ล่าสุดมีศิลปินในสังกัด 6 คน คือ เจเลอร์ กฤษณภูมิ , ไอซ์ พาริส , กัปตัน ชลธร , บิวกิ้น พุฒิพงศ์ , แพรวา ณิชาภัทร เเละนาน่า ศวรรยา โดยมีเเผนจะเพิ่มศิลปินในอนาคต เเต่ขอโฟกัสที่มีอยู่ตอนนี้ให้ดีก่อน

ถ้าถามว่านาดาว บางกอกมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ต้องขอบคุณซีรีส์ฮอร์โมนส์ฯ ถ้าถามว่าเกิด Nadao Music ได้ยังไง ก็ต้องขอบคุณเพลงรักติดไซเรน

ความคืบหน้าของ Nadao Music นั้น ย้งบอกว่า เพิ่งเปิดตัวเป็นปีเเรก…ต้องสู้กันอีกยาวยังยากลำบากเเละผลประกอบการก็ยังน่าเป็นห่วง เเต่ไปต่อเเน่นอน

ผู้บริหารนาดาว มองว่า เเม้ธุรกิจค่ายเพลงจะอยู่ในช่วงขาลง เเต่วงการนี้ยังมี “ลู่ทาง” ที่จะไปต่อได้ เช่น การขยายฐานตลาดเเฟนเพลงออกไปยังต่างประเทศแทน เริ่มจากประเทศในอาเซียน ที่ตอนนี้นาดาวมีฐานแฟนอยู่ในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และจีน อยู่แล้ว ถ้าเราอยากทำเพลงดี ลงทุนสูง ตลาดในบ้านเรา อาจจะไม่พอ

โดยตั้งเป้าจะเจาะตลาดเอเชียเป็นหลัก ซึ่งประเทศที่ฝันอยากจะไปให้ถึงก็คือเกาหลีใต้และญี่ปุ่น  เพราะทั้งสองประเทศมีวัฒนธรรมด้านบันเทิงที่แข็งเเกร่งมาก

ถ้าถามว่าเป้าหมายอยากทำ T-POP ให้โด่งดังในระดับเอเชียไหม คำตอบคืออยากมาก เเต่จะสำเร็จไหมก็ต้องดูกันยาวๆ”

ซีรีส์วาย ต้อง “หลากหลาย” ถ้าอยากไปต่อ

นาดาวเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์เจ้าเเรกๆ ที่ลงสนามมาทำ “ซีรีส์วาย” จนตอนนี้กลายเป็นกระเเสฮิตติดลมบนไปเเล้ว

“เรากำลังทำความเข้าใจเเละเรียนรู้ตลาดซีรีส์วายอยู่ตลอด เเต่ไม่ได้มองว่าพอตลาดมันฮิตเเล้วค่อยลงไปทำ เเต่เราทำเพราะทีมงานเราอยากทำ มาเสนอโปรเจกต์ที่เห็นว่าเหมาะสมกับช่วงเวลาเเละพอจะขายได้ เช่น แปลรักฉันด้วยใจเธอ ก็เป็นการต่อยอดการเเสดงของ #พีพีบิวกิ้น จากบทหมอเต่าทิวเขาในละครรักฉุดใจนายฉุกเฉิน”

ผู้บริหารนาดาว มองว่า ตลาดซีรีส์วาย ถือว่าเติบโตเร็วเเละใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เเม้ทุกวันนี้จะเป็นเฉพาะกลุ่ม เเต่เป็นกลุ่มที่กว้างมาก ทำให้เราเห็นว่าโลกทุกวันนี้ สิ่งที่เป็น Niche Market จะกลายเป็นตลาดเเมส ไม่มีอะไรที่เเมสจริงๆ เเล้ว ซีรีส์วายก็จะเป็น Niche ที่เเมสไปอีกเเบบหนึ่ง

ผมว่าซีรีส์วาย ถ้าอยากจะไปต่อ เราต้องทำคอนเทนต์ให้หลากหลายกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ เเละมีมาตรฐานชัดเจน

ซีรีส์วายเรื่องใหม่ของนาดาวบางกอก -แปลรักฉันด้วยใจเธอ

ศิลปินคอนเทนต์กับวิกฤต COVID-19

ทรงยศ กล่าวถึงการปรับตัวของนาดาวบางกอก ในสถานการณ์การเเพร่ระบาดของ COVID-19 ให้ฟังว่า ตอนเเรกก็ตั้งตัวไม่ทัน ต้องเเก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันเเทบทุกอย่าง เพราะตอนนั้นถึงเวลาเปิดกล้องถ่ายทำละครแปลรักฉันด้วยใจเธอเเต่จากมาตรการล็อกดาวน์ทำให้ออกไปถ่ายทำไม่ได้ ต้องมีการประเมินสถานการณ์เเบบวีคต่อวีค

ส่วนมากต้องเจรจากับลูกค้า เพราะการเลื่อนถ่ายทำคือการเลื่อนฉาย เเต่จะเลื่อนไปได้ถึงไหน ตอนนั้นยังไม่รู้ เเต่หลังเราชนฝาได้เพียงสิ้นปี จะข้ามปีไม่ได้ ทั้งปัญหางบประมาณเเละคิวนักเเสดง จากใบเสนอราคาที่เคยเข้าบริษัทเดือนละ 30 ใบ ตอนนั้นเข้าเเค่ 6 ใบ” 

ส่วนธุรกิจดูเเลศิลปินนั้น ต้องปรับตัวอย่างมาก เพราะงานอีเวนต์ต่างๆ ที่บริษัทรับไว้ถูกยกเลิกเพราะสุ่มเสี่ยงเกินไป เหล่าสปอนเซอร์ที่เป็นคอนซูมเมอร์โปรดักส์ได้รับผลกระทบหมด เพราะขายของไม่ได้ จึงมีผลต่อการตัดสินใจในงบที่จะมาเป็นผู้สนับสนุนซีรีส์สักเรื่องมีทั้งเจ้าที่ยกเลิกเเละระงับโปรเจกต์ไปก่อน

ช่วง COVID-19 ดูเหมือนนาดาวจะเงียบๆ ไม่มีงาน เเต่งานหลักของเราคือการเเก้ปัญหาความวุ่นวายหลังบ้าน เช่น ลูกค้าที่ซื้อพรีเซ็นเตอร์ศิลปินเรา ถ่ายโฆษณาไม่ได้ ออกอีเวนต์ไม่ได้ น้องเราจะช่วยอะไรกลับได้บ้าง ทำอะไรทดเเทนได้บ้าง

เเบรนด์ต่างๆ ก็ปรับตัวเร็ว อย่างการเปลี่ยนให้ศิลปินไลฟ์เองจากที่บ้าน โพสต์รูปกักตัวอยู่บ้านในอินสตาเเกรมเเละทวิตเตอร์ รวมไปถึงให้ศิลปินช่วยไลฟ์ในเเพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ กระตุ้นขายของ ซึ่งต่อไปการจัดอีเวนต์หรือโปรโมตสินค้า ก็คงต้องเป็นรูปแบบผสมออฟไลน์ออนไลน์

ศิลปินก็ต้องปรับตัว ทำคอนเทนต์กึ่งๆ โฆษณาจากที่บ้านเอง เเต่งหน้าเองเพราะไม่มีกองถ่ายไปดูเเล พวกเขาต้องถ่ายเอง ลองผิดลองถูก มีการทำคอนเทนต์กักตัวเดอะซีรีส์ ทุกอย่างโปรโมตผ่านออนไลน์ ทำให้ได้เข้าใจการใช้เเพลตฟอร์มโซเชียลมากขึ้น ถือเป็นความท้าทายใหม่ของศิลปินในยุค New Normal”

หลังคลายล็อกดาวน์ ทีมงานสามารถกลับมาทำงานโปรดักชั่นได้เต็มรูปแบบเเล้ว เดินหน้ากองละครต่อเนื่องได้ตั้งเเต่ช่วงเดือนสิงหาคม ตอนนี้ก็ถือว่ากลับเข้าสู่โหมดปกติศิลปินเริ่มมีงานอีเวนต์เเละลูกค้าหลายๆ เจ้าก็พร้อมเตรียมลุยงานปีหน้าเเล้ว

ใจเราก็อยากโตทุกปี ไม่เคยมีเป้าตัวเลขชัดเจน ขอเเค่ไม่ต่ำกว่าเดิม ปีที่เเล้วเราจบที่ 270 ล้านบาท เเต่เมื่อเจอโรคระบาด ปีนี้ก็คงไม่โตเเน่นอน ต้องลุ้นกันว่าจะไปได้ถึงจุดไหนมากกว่า คาดว่าสินปีนาดาวคงทำรายได้ไม่เกินที่ 230 ล้าน

ผู้กำกับสู่ผู้บริหาร : มุมมองที่เปลี่ยนไป

จริงๆ ผมก็อยากกลับไปเป็นผู้กำกับนะ เเต่ก็ได้เรียนรู้จากการเป็นผู้บริหารเยอะมาก เรานิ่งขึ้น ได้ใช้สกิลหลายๆ อย่างไปจัดการงานในเชิงสร้างสรรค์

ไม่ได้ชอบงานบริหาร ไม่ได้อินขนาดนั้น เเต่ถามว่าสนุกไหม ก็สนุกมาก ตลอด 11 ปีที่ผ่านมามีช่วงเครียด มีปัญหารุมเร้า เเต่เพราะได้ทำงานที่เราชอบ กับคนที่เราอยากทำงานด้วย จึงกลายเป็นความท้าทายเวลาต้องลงไปเเก้ปัญหา ด้วยความที่เราเป็นผู้กำกับก็ทำให้เห็นภาพรวม ก็เลยช่วยให้ทำงานบริหารได้

เเม้กลุ่มผู้ชมของนาดาวส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่นมัธยมมหาลัยเเต่เวลาทำงานคอนเทนต์จะต้องมองให้ครบทุกเจเนอเรชัน ผลักดันให้ไปถึงทุกกลุ่ม อย่างเช่น ตอนทำละครเลือดข้นคนจางเเรกๆ จะดันศิลปิน 9by9 เเต่เราก็ต้องเล่าเรื่องให้คนเข้าถึงเยอะที่สุดเเต่ก่อนเราทำหนังทำซีรีส์มา เเม่เราไม่เคยได้ดูเลย เราก็เลยอยากทำเลือดข้นฯ ให้เเม่ดูบ้าง

โดยได้มีการทำความเข้าใจกับผู้ชมในทุกช่องทาง เช่นการอ่านคอมเมนต์ใน “ทวิตเตอร์” ซึ่งเขามองว่าเป็นฟีดเเบ็กที่สดเเละจริง เพราะคนดูเเล้วรู้สึกอย่างไรก็ทวีตออกมาเลย

“ผมสนใจคำติมากกว่าคำชมด้วยซ้ำ เพราะเราจะได้รู้ทิศทางว่าควรพัฒนางานเราต่อไปยังไง” 

ในวันที่ “ย้ง-ทรงยศ” ขยับจากผู้กำกับมาเป็นผู้บริหาร เเละนาดาวประสบความสำเร็จขึ้นเรื่อยๆ เขาก็เริ่มภารกิจ
“ส่งไม้ต่อ” ให้กับผู้กำกับรุ่นใหม่อย่าง พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ผู้กำกับละคร ฉลาดเกมส์โกง เเละ บอสนฤเบศ กูโน ผู้กำกับ รักฉุดใจนายฉุกเฉิน, Side By Side พี่น้องลูกขนไก่ เเละแปลรักฉันด้วยใจเธอ

“การปั้นคนทำงานยังเป็นความท้าทายของเราอยู่ ผมไม่เคยคิดเลยว่าจะมาถึงวันที่นาดาวมีพนักงาน 50 คน จากจุดเริ่มต้น 7-8 คน ตอนนี้มองว่าการที่เราจะไปต่อได้ไกลๆ ยังไงก็ต้องสร้างคนทำงาน จะสร้างเเค่ศิลปินไม่ได้ นาดาวจะพยายามเดินไปในเส้นทางที่ทำงานในปริมาณที่เราทำได้ดี อยู่มือเเละควบคุมภาพได้ต่อไป

 

 

]]>
1301319
ฟ้าหลังฝน GDH วางเกม “ทำหนังสลับซีรีส์” สู่โกอินเตอร์ หวัง “บุพเพฯ 2” ดึงคนไทยหวนดูหนังโรง https://positioningmag.com/1298788 Mon, 28 Sep 2020 10:43:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1298788 อุตสาหกรรมหนังไทยเหมือนโดนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อต้องเจอ COVID-19 ทำให้กระเเสหนังไทยยิ่งซบเซาลงไปอีก เจออุปสรรคทั้งต้องเลื่อนฉายในโรงภาพยนตร์ ยกเลิกการถ่ายทำ รวมถึงเงินทุนที่ค่อยๆ หมดไป

เเม้หลังคลายล็อกดาวน์เเล้ว ผู้คนจะกลับมาใช้ชีวิตปกติ เริ่มกลับมาดูหนังในโรงกันมากขึ้นหลังจากที่โหยหามานาน เเต่การฟื้นตัวของทั้งวงการในยามนี้ ก็ถือว่ายากลำบากมากทีเดียว

เมื่อพูดถึงค่ายหนังที่ครองใจชาวไทย ส่งหนังทำเงินเข้าฉายเป็นประจำ หนึ่งในนั้นต้องมี GDH รวมอยู่ด้วยอย่างเเน่นอน โดยปีที่ผ่านมาได้ส่งหนัง 3 เรื่อง ติดท็อปทำรายได้สูงสุดของปี 2019 ทิ้งห่างหนังไทยเรื่องอื่นไปหลายเท่า

ดังนั้น ทิศทาง กลยุทธ์เเละการปรับตัวของ GDH ในช่วงต่อไปนี้ จึงมีผลต่ออุตฯหนังไทย เเละมีความน่าสนใจไม่น้อย

ตลาดหนังไทย…เหนื่อยหนัก

ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ อุตสาหกรรมหนังในไทยทำรายได้ไปแค่ 580 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา มีรายได้ถึงกว่า 3,000 ล้านบาท ในจำนวน 580 ล้านบาทนี้ เป็นรายได้จากหนังไทยเพียง 120 ล้านบาท ซึ่งไม่มีหนังเรื่องไหนเลยที่มีรายได้เเตะ 50 ล้านบาท” 

จินา โอสถศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด หรือ GDH ให้สัมภาษณ์กับ Positioning พร้อมเล่าย้อนกลับไปถึงช่วงระบาดหนักว่า ตามปกติบริษัทจะทำหนังออกมาสู่ตลาดปีละ 2-3 เรื่อง โดยปีก่อนมีหนังฉาย 3 เรื่อง ส่วนปีนี้ตั้งใจทำหนัง 2 เรื่อง และละคร 1 เรื่อง แต่พอเจอสถานการณ์ COVID-19 ทำให้เเผนธุรกิจเเละไทม์ไลน์ต่าง ๆ ที่วางไว้ต้องเปลี่ยนไป

จินา โอสถศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GDH

ในปี 2019 หนังของ GDH อย่างตุ๊ดซี่ส์ & เดอะเฟคเป็นหนังไทยที่ทำเงินสูงสุด ด้วยรายได้ 141 ล้านบาท รองลงมาคือเรื่อง “Friend Zone ระวังสิ้นสุดทางเพื่อนอยู่ที่ 134 ล้านบาท และฮาวทูทิ้งทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอมีรายได้ที่ 57 ล้านบาท

ภาพรวม “หนังไทยตลอดปี 2019 ไม่ค่อยสดใสนัก มีออกฉายราว 40 เรื่อง ทำรายได้รวมทั้งหมดประมาณ 711 ล้านบาท ลดลง 14% เฉลี่ยต่อเรื่องทำรายได้เพียง 15 ล้านบาทเท่านั้น จากปี 2018 อยู่ที่ 18-19 ล้านบาท เเละที่น่าตกใจคือ มีหนังไทยกว่า 17 เรื่องที่ทำรายได้น้อยกว่า 1 ล้านบาทยิ่งพอมาเจอวิกฤต COVID-19 ไปอีกในปีนี้อาการยิ่งสาหัส

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหาร GDH มองว่ายังมีความหวังโดยปี 2020 บริษัทจะฉายหนังเพียงเรื่องเดียวในช่วงปลายปี วันที่ 3 .. นี้ คือ  อ้ายคนหล่อลวง” นำทีมนักเเสดงชื่อดังอย่าง ณเดชน์ คูกิมิยะ, ใบเฟิร์น พิมพ์ชนก และ แบงค์ ธิติ ฯลฯ

แน่นอนว่าปีนี้คงไม่ได้เท่ากับปีที่แล้ว แต่คาดหวังกับ อ้ายคนหล่อลวงไว้สูงเหมือนกัน โดยตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 80 ล้านบาท

ขณะที่บรรยากาศของคนดูหนัง หลังวิกฤต COVID-19 นั้นยังมีความกังวลอยู่บ้าง โดยช่วงตั้งเเต่เดือนส.ค.เป็นต้นมา ก็เริ่มมีหนังต่างประเทศเข้ามา อย่าง TENET, Peninsula เเละมู่หลาน ก็เริ่มมีตัวเลขให้เห็นบ้าง เเต่ภาพรวมยังถือว่า “อาการหนัก” โดยจบปีนี้คาดว่าภาพรวมอุตสาหกรรมหนังไทยน่าจะมีรายได้ราว 1,000 ล้านบาทเท่านั้น

“เราหวังว่า ปี 2021 อุตสาหกรรมหนังในไทยจะกลับมาคึกคักแน่นอน และจะมีหนังไทยไม่ต่ำกว่า 45-50 เรื่องเข้าฉาย” 

บรรยากาศของโรงหนังในไทย เมื่อช่วงที่มีมาตรการป้องกัน COVID-19

ฉลาดเกมส์โกง…ช่วยชีวิต

“โชคดีจริงๆ ที่มีละครฉลาดเกมส์โกงมาช่วย เพราะในช่วงที่ผ่านมาไม่มีหนังฉาย ถ่ายทำไม่ได้ แต่ยังคงมีรายจ่ายต่าง ๆ ไม่งั้น GDH คงเครียดกว่านี้” 

จินา เล่าต่อว่า ละครเรื่อง “ฉลาดเกมส์โกง” ได้รายได้จาก ช่องONE และ WeTV รวมถึงสามารถขายในต่างประเทศทั้งจีน และประเทศอื่นๆ รวมได้มาทั้งหมด ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 60 ล้านบาท) 

นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ ซีรีส์ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ การฉายในโรงภาพยนตร์
และการฉายบนเเอปพลิเคชันเเละเเพลตฟอร์ม OTT ต่างๆ เช่น WeTV, Netflix, LINE TV, AIS Play, True ID ฯลฯ และช่องทางโทรทัศน์ต่างๆ

“ต้องยกเครดิตให้ WeTV ที่จุดประกายเราให้เราทำละครต่อยอดความสำเร็จจากหนังทำให้เรามีเงินล่วงหน้าได้” 

“คาดว่าปีนี้รายได้รวมของ GDH จะอยู่ที่ 345 ล้านบาท ถือว่าไม่ขาดทุน เเต่จะมีกำไรไม่เท่าปีก่อน เพราะเราได้ฉายหนังเเค่เรื่องเดียว เเละละครอีก 1 เรื่อง เทียบกับปีก่อนเรามีหนังทำเงินถึง 3 เรื่อง ดังนั้นถ้าทำได้สามร้อยกว่าล้านก็ถือว่าโชคดีมากแล้ว”

ทั้งนี้ GDH ด้วยรายได้รวมอยู่ที่ 471.29 ล้านบาท ในปี 2019 เติบโตจากปี 2018 ประมาณ 12% โดยการทำหนังเรื่องหนึ่งของ GDH มีต้นทุนราว 45-50 ล้านบาท แบ่งเป็นทุนสร้าง 20-30 ล้าน ส่วนที่เหลือคืองบสำหรับทำการตลาด

เเผนต่อไป GDH : ทำหนังสลับซีรีส์ ต่อยอด OTT โกอินเตอร์ 

เเม้ความสำเร็จของละครละครเรื่อง “ฉลาดเกมส์โกง” จะช่วยอุ้มบริษัทไว้ได้ในช่วงวิกฤต เเต่ GDH ยังคงยืนหยัดที่จะทำหนัง “ยังไงหัวใจของ GDH ก็คือทำหนัง เเละเราจะทำหนังต่อไป” 

โดยทิศทางต่อไปของ GDH จะเน้นการ “ผสม” มากขึ้น อาจจะทำเป็นละครหรือซีรีส์สลับกัน เเละมีหลักเป็นการทำหนัง เพราะ “การทำหนังยังไปได้ไกลกว่า” ยกตัวอย่างหนังเรื่องฉลาดเกมส์โกง ที่สามารถทำ Box Office ในจีนได้ถึง 1,200 ล้านบาท หรือหนังเรื่อง Friend Zone ก็ทำรายได้ดีเช่นกัน 

“ต่อไปนี้ถ้ามีดีลกับจีนอีก เราจะไม่ขายขาดเเบบฉลาดเกมส์โกงเเล้ว เพราะเรารู้ตลาดเเล้วว่าทำเงินได้ ก็คงจะเป็นข้อตกลงที่เป็นดีลร่วมกันมากกว่า” 

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคือการ “ต่อยอดคอนเทนต์” เพราะหากทำหนังดี หนังทำเงินได้ขึ้นมาเเล้ว ก็สามารถไปอยู่ต่อในเเพลตฟอร์ม OTT เจ้าต่างๆ ได้อีกช่องทาง เเละวนกลับมาสร้างเป็นสะครเเละซีรีส์ได้อีก “การได้ไปฉายบนเเพลตฟอร์ม OTT คือการปูทางที่หนังของ GDH จะออกสู่สายตาชาวต่างชาติมากขึ้น ซึ่งเป็นทิศทางของเราที่ต้องการโกอินเตอร์ ขยายไปทั้งเอเชีย ยุโรปเเละตลาดอเมริกา”  

ขณะที่กระเส “ซีรีส์วาย” ที่กำลังฮอตฮิตในปัจจุบันเเละมีผู้ผลิตคอนเทนต์หลายเจ้ากระโจนเข้าตลาดนี้ GDH มองว่าจะยังคงเป็นเทรนด์ไปอีกสักระยะ เเละจะไม่หายไปง่ายๆ ด้วยการมีฐานเเฟนคลับที่เหนียวเเน่น มีกลุ่มผู้ชมชัดเจนเเละกำลังขยายไปหลายช่วงวัย มีกำลังซื้อสูง ซึ่งบริษัทในเครือของ GDH อย่าง “นาดาว บางกอก” ก็มีการลุยตลาดนี้ต่อไป โดยในส่วนของ GDH นั้นยังไม่ไม่เเผนที่จะทำหนังหรือซีรีส์เเนวนี้ในช่วงนี้ เเต่เเย้มว่า “มีโอกาสที่จะทำในอนาคต” 

“บุพเพฯ 2” หวังสูง…ดึงคนไทยดูหนังโรง 

สำหรับโปรเจกต์ ปี 2021 ของ GDH จะมีอยู่ 4 เรื่องด้วยกัน เริ่มจาก…

1.“โกสต์แล็บ…ฉีกกฎทดลองผี” จากผู้กำกับกอล์ฟ ปวีณ ที่ได้ ต่อ ธนภพ, ไอซ์ พาริส มารับบทนำ ซึ่งตามเดิมต้องถ่ายทำและฉายในปีนี้ เเต่ต้องเลื่อนเพราะสถานการณ์ COVID-19

2. “ร่างทรง” หนังสยองขวัญที่ร่วมทุนกับค่ายหนังเกาหลี  Showbox Crop ฝีมือผู้กำกับ “โต้ง บรรจง” ที่ได้ผู้กำกับชื่อดังอย่าง “นา ฮงจิน” มาร่วมเป็นโปรดิวเซอร์ด้วย

3. “W” หนังที่ร่วมทุนกับ นาดาว บางกอกบริษัทในเครือของ GDH นับเป็นหนังเรื่องเเรกของนาดาวฯ โดยมีปิง เกรียงไกร เป็นผู้กำกับ และ ย้ง ทรงยศ เป็นโปรดิวเซอร์

4. “บุพเพสันนิวาส 2” โปรเจกต์ใหญ่ที่สุดของปี ที่ร่วมทุนกับบรอดคาซท์ ไทยเทเลวิชั่น ได้ปิง อดิสรณ์ ผู้กำกับเดียวกับรถไฟฟ้ามาหานะเธอ มากำกับให้ พร้อมนักแสดงนำคู่ขวัญจากจอทีวีอย่าง “โป๊ป-เบลล่า” ซึ่งคาดว่าจะออกฉายในช่วงปลายปี 2021

บุพเพสันนิวาส 2 เราใช้เงินลงทุนไปกว่า 80 ล้านบาท เเละตั้งเป้ารายได้ไว้สูงถึง 200 ล้านบาท เรื่องราวจะต่างกับละครทีวี เพราะจะเล่าไปข้างหน้า อารมณ์คล้ายกับการเล่าเรื่องในหนังพี่มากพระโขนง ขึ้นอยู่กับคนทำหนังว่าจะหยิบจับมุมไหนมาต่อยอด เรื่องนี้ก็ถือว่าตั้งความหวังไว้สูง ลงทุนมาก คิดว่าคนน่าจะกลับมาดูหนังกันเเล้ว ก็คิดว่าจะตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 200 ล้านบาท” 

จากโปรเจกต์หนังใหม่ทั้ง 4 เรื่องนี้ ซีอีโอของ GDH คาดว่าบริษัทจะรายได้สูงเกิน 500 ล้านบาท เพราะมีจำนวนหนังที่มากกว่าปกติ บวกกับยังมีรายได้จากนำคอนเทนต์ไปฉายกับแพลตฟอร์ม OTT เเละค่าลิขสิทธิ์ต่างๆ ด้วย

Key Success : ไม่หยุดนิ่ง นำไปต่อยอดได้ 

เเม้วิกฤต COVID-19 จะหนักหนาเอาการ เเต่ไม่ใช่วิกฤตรุนเเรงที่สุดของ GDH โดยจินาเล่าย้อนไปถึงสมัย
“น้ำท่วมใหญ่ ปี 2011” ที่ครั้งนั้น ภาพยนตร์เรื่อง “ท็อป ซีเคร็ต วัยรุ่นพันล้าน” เข้าฉาย หนังโปรโมตไปหมดแล้ว คนไม่ไปดูหนังในโรง เพราะคนต้องกลับไปดูเเลบ้านตัวเอง ออฟฟิศของบริษัทเองก็ยังต้องทำกระสอบทรายกั้นน้ำกัน วิกฤตครั้งนั้นจึงถือว่าเเรงที่สุด

โดยครั้งนี้ หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นอีก อย่างกรณี “โรคระบาดระบาดรอบ 2” ผู้บริหาร GDH มองว่า คนทำหนังคงต้องฉายที่โรงก่อน ต้องใช้วิธี ‘รัดเข็มขัด’ เพราะถ้าเกิดขึ้นจริงก็คงถ่ายหนังไม่ได้อีก รายได้หายเเต่รายได้เท่าเดิม การเอาหนังที่ตั้งใจจะฉายในโรงหนัง ไปฉายออนไลน์ ก็ต้องเจออุปสรรคหลายอย่าง

เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป เสน่ห์ของการดูหนังในโรงคือการได้ดูจากจอใหญ่ๆ เสียงดีๆ มีบรรยากาศไปเที่ยวกับเพื่อน ไปเดต แต่ว่าเด็กสมัยนี้ดูในมือถือ ดูไปอาจจะทำสิ่งอื่นไปด้วย

“สิ่งที่ทำให้เรายังอยู่ได้ คือ การไม่อยู่กับที่ ต้องก้าวไปข้างหน้า สร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ดี เพราะถ้าของมันดี ยังไงคนก็ดู โดยสิ่งที่เราต้องพัฒนาต่อไปคือ การต่อยอด เพราะถ้าเราทำแบบเดิม คนก็ดูจะน้อยลง ต้องทำในวิถีทางใหม่ กล้าลอง กล้าทำ ต้องออกไปโกอินเตอร์ให้ได้…” 

อุตสาหกรรม “หนังไทย” จะกลับมาฟื้นได้หรือไม่…ปีหน้าต้องลุ้นกัน

 

]]>
1298788
GDH ครองตลาดหนังไทย รายได้ 471 ล้าน เปิดกลยุทธ์ 2020 ลุยหนัง-ซีรีส์-ปั้นศิลปินใหม่ https://positioningmag.com/1262597 Thu, 30 Jan 2020 19:25:02 +0000 https://positioningmag.com/?p=1262597 เเม้ทุกวันนี้คนไทยจะดู “หนังไทย” กันน้อยลง ถึงขั้นซบเซา เเต่ค่ายหนังขวัญใจวัยรุ่นอย่าง “GDH” ก็ยังครองกระเเส ส่งหนัง 3 เรื่อง ติดท็อปทำรายได้สูงสุดของปี 2019 ยอดทิ้งห่างหนังไทยเรื่องอื่นไปหลายเท่า

“ตุ๊ดซี่ส์ & เดอะเฟค” เป็นหนังไทยที่ทำเงินสูงสุดในปี 2019 ด้วยรายได้141 ล้านบาท รองลงมาคือเรื่อง “Friend Zone ระวังสิ้นสุดทางเพื่อน” อยู่ที่ 134 ล้านบาท และ “ฮาวทูทิ้ง…ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ” มีรายได้ที่ 57 ล้านบาท

มองกลับมาที่ “หนังไทย” ตลอดปี 2019 ไม่ค่อยสดใสนัก โดยมีออกฉายราว 40 เรื่อง ทำรายได้รวมทั้งหมดประมาณ 711 ล้านบาท ลดลง 14% เฉลี่ยต่อเรื่องทำรายได้เพียง 15 ล้านบาทเท่านั้น จากปีก่อนอยู่ที่ 18-19 ล้านบาท

เเละที่น่าตกใจคือ “มีหนังไทยกว่า 17 เรื่องที่ทำรายได้น้อยกว่า 1 ล้านบาท”

ขณะที่ “ภาพรวมตลาดหนังที่ฉายในไทย” อยู่ที่ 4,700 ล้านบาท โตขึ้น 4% จากมาจากหนังต่างประเทศเป็นหลัก สะท้อนว่าคนไทยไม่มีหนังไทยที่อยากดูเเละชอบดูหนังต่างประเทศมากกว่า

อย่างไรก็ตาม เเม้ตลาดหนังไทยจะดูซึมๆ เเต่ ” GDH” ก็โตสวนทางตลาด ด้วยรายได้รวมอยู่ที่ 471.29 ล้านบาท ในปี 2019 เติบโตจากปี 2018 ประมาณ 12%

GDH เเละ นาดาวบางกอก วางทิศทางธุรกิจเเละเเผนการตลาดอย่างไร รวมถึงตั้งเป้าจะทำโปรเจ็กต์อะไรต่อไปในปี 2020-21 วันนี้ “จินา โอสถศิลป์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า เเละ “ทรงยศ สุขมากอนันต์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท นาดาว บางกอก จำกัด หรือ “ย้ง” หนึ่งในผู้กำกับหนังไทยในตำนานอย่าง “เเฟนฉัน” ที่ขยับมาเป็นผู้บริหาร จะมาให้คำตอบนี้…

ทุ่มการตลาด เข้าถึงทุกเเพลตฟอร์ม 

“การทำหนังเรื่องหนึ่งของ GDH มีต้นทุนราว 45-50 ล้านบาท แบ่งเป็นทุนสร้าง 20-30 ล้าน ส่วนที่เหลือคืองบสำหรับทำการตลาด”

ผู้บริหาร GDH บอกว่าในยุคสมัยนี้ เเม้จะทำหนังออกมาดีเเค่ไหน เเต่หากขาดการโปรโมท เเละการสร้างการรับรู้ที่เข้าถึงก็อาจจะ “ขาดทุน” ได้

ในปี 2020 นี้ GDH จึงเปิดบริษัทในเครือขึ้นมาใหม่ เพื่อดูเเลด้านการโปรโมทโดยเฉพาะอย่าง บริษัท น้ำดีไม้งาม จำกัด เเละ บริษัท งานดีทวีสุข ดูแลงานพีอาร์และอีเว้นท์ ซึ่งน้ำดีไม้งามได้ “เดียว วิชชพัชร์ โกจิ๋ว” มานำทีม ดูแลในเรื่องการโปรโมตหนังและคอนเทนต์ให้กับ GDH เป็นหลักรวมถึงงานของรัชดาลัยเธียเตอร์ และงานของเบิร์ด-ธงไชย

กลยุทธ์หลักของ GDH ปีนี้คือ “ต้องการให้คอนเทนต์เข้าถึงทุกแพลตฟอร์ม” จึงจะขยายเพิ่มขึ้นอีก 1 แอปพลิเคชั่น คือ iQiYi จากจีนที่มาเปิดในไทย จากปัจจุบันที่ผู้ชมสามารถเข้าถึงคอนเทนต์ GDH ได้หลายแพลตฟอร์มอย่าง WeTV, Viu, Netflix, Line TV, HOOq และ AIS PLAY เป็นต้น

“จินา โอสถศิลป์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า (ขวา)

เมื่อคนดูหนังเปลี่ยน…คนทำหนังต้องปรับตาม

“ทุกวันนี้หนังมีอายุอยู่ในโรงสั้นลง จากเดิมที่เฉลี่ยเคยอยู่ในโรงประมาณ 4 สัปดาห์ ลดลงมาเหลือเเค่ 2 สัปดาห์”

ผู้บริหาร GDH อธิบายเพิ่มว่า “เมื่อก่อนคนดูจะมาแบบแบ่งกันเป็น 3 ล็อตใหญ่ คือสัปดาห์แรก สัปดาห์ที่ 2
เเละสัปดาห์ 3 บางทีลากยาวเป็นเดือน เเต่ตอนนี้คนดูส่วนใหญ่เทไปอยู่สัปดาห์แรกกันหมด บางครั้งถ้ากระแสของหนังดี สัปดาห์แรกของการเข้าฉายก็อาจเป็นรายได้ 65% ทั้งหมดของหนังเลยก็ได้”

ส่วนปัจจัยที่คนไทยดูหนังในโรงน้อยลงนั้น จินามองว่า คอนเทนต์ไทยมีให้ดูฟรีมากมายในหลายช่องทาง บวกกับปัญหาฝุ่น PM2.5 ปัญหารถติด รวมถึงสภาพเศรษฐกิจไม่ค่อยดี มีส่วนทำให้คนอยู่บ้านมากขึ้น การดูหนังนอกบ้านจึงลดลงตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม การฉายหนังยุคนี้ก็มีข้อดีคือ การมีจำนวนโรงภาพยนตร์ให้ฉายมากขึ้น ก็ย้อนกลับมาที่บริษัททำหนังต้อง “โปรโมต” ให้ดีเพื่อดึงกระเเสสัปดาห์เเรกให้มากที่สุดนั่นเอง

เปิดโปรเจกต์ใหญ่ปี 2020 ส่งซีรีส์เจาะตลาดจีน 

GDH จะมี 3 โปรเจกต์ใหญ่ในปี 2020 เเบ่งเป็นภาพยนตร์ 2 เรื่อง โดยจะเป็นภาพยนตร์เเนว thiller horror กำกับโดย กอล์ฟ-ปวีณ ออกฉายในช่วงเดือน ส.ค. เเละภาพยนตร์เเนวโรเเมนติก คอมเมดี้ ที่กำกับโดย เมษ-ธราธร จะออกฉายในเดือน ธ.ค.นี้

ส่วนอีกโปรเจกต์คือ “ซีรีส์” โดยปีนี้ทุกคนจะได้ดู “ซีรีส์ฉลาดเกมส์โกง” ในเดือน ส.ค. ทางช่องวัน 31 นับเป็นครั้งเเรกที่จะฉายซีรีส์คู่ขนานไปพร้อมกับประเทศจีน และนำมาฉายย้อนหลังในช่องทาง WeTv ของ Tencent

โดย “ฉลาดเเกมโกง” เป็นภาพยนต์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในจีน จนมีนักลงทุนสนใจติดต่อให้ทำต่อเนื่องเป็นซีรีส์เพื่อตีตลาดจีนโดยเฉพาะ

“ในปีต่อไป (2021) เราจะกลับมาทำหนังอย่างเต็มที่ ซึ่งตอนนี้เตรียมไว้เเล้ว 4 โปรเจกต์ อยากจะฉายให้ได้ทุกไตรมาส เเละมีเรื่องของการร่วมทุนกับต่างชาติในเอเชียด้วย”

กลุ่มลูกค้าหลักของ GDH และนาดาว คือคนช่วงวัย 15-30 ปี เเละเป็นความท้าทายของที่จะดึงคนนอกเหนือช่วงวัยนี้ให้เข้าถึงคอนเทนต์ของบริษัทให้ได้

จินา โอสถศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า (ซ้าย) – ทรงยศ สุขมากอนันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นาดาว บางกอก จำกัด (ขวา)

ภารกิจปั้นเด็กใหม่ ดันกระเเส Nadao Music

ด้านผู้กำกับมือทองที่ผันตัวไปเป็นผู้บริหารอย่าง “ย้ง ทรงยศ” บอกถึงก้าวต่อไปของนาดาวบางกอก บริษัทในเครือ GDH ที่เกิดขึ้นมาเพื่อสำหรับดูแลศิลปินและนักแสดงในค่าย ขยายต่อในงานโปรดักส์ชั่นเเละสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งเปิดมานานกว่า 10 ปีเเล้ว

ในปี 2562 นาดาวบางกอกมีรายได้อยู่ที่ 370 ล้านบาท เติบโตขึ้น 52.71% ซึ่งรายได้กว่า 70% นั้นมาจากการดูแลศิลปิน ส่วนที่เหลืออีก 30% เป็นรายได้ที่มาจากฝ่ายโปรดักชั่น

“ส่วนโปรดักส์ชั่นเราโตขึ้น 34% จากซีรีส์ Greatmen Academy และละครรักฉุดใจนายฉุกเฉิน”

นับตั้งเเต่เริ่มทำซีรีส์ “ฮอร์โมนส์วัยว้าวุ่น” มาจนถึง “เลือดข้นคนจาง” ประสบความสำเร็จ ศิลปินในค่ายโด่งดังเป็นที่ รู้จัก เเต่มีงานต่อยอดมากมายทั้งพรีเซ็นเตอร์เเละงานเพลง

“ซีรีส์เรื่องเลือดข้นคนจาง ทำให้รายได้ของนาดาวบางกอก ในปี 2018 โตขึ้นจากปี 2017 ถึง 200%”

ปีนี้นาดาวจะมุ่งเน้นไปกับการสร้างศิลปินหน้าใหม่ขึ้นมา ผ่านโครงการ Nadao Academy ค้นหาเด็กฝึกมาเป็นศิลปิน นักแสดงในสังกัด โครงการเวิร์คช็อป เขียนบท ส่งนักแสดงร่วมงานช่องอื่นๆ อย่าง ช่องวัน 31 GMM25
และช่อง 3 รวมทั้งเพิ่มพาร์ตเนอร์ OTT แพลตฟอร์ม และแบรนด์ต่างๆ ซึ่งน่าจะมีการร่วมโปรเจกต์กันมากขึ้น

ทรงยศ สุขมากอนันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นาดาว บางกอก จำกัด

หลังจากเพลง “รักติดไซเรน” ดังทั่วบ้านทั่วเมือง นาดาวก็จะต่อยอดกระเเสนี้ด้วย ยูนิต Nadao Music ดึงศิลปินอย่างเบล-สุพล มาเป็นโปรดิวเซอร์หลัก ซึ่งในปีนี้จะปล่อยซิงเกิลของศิลปินอย่าง ของเจเจ , ไอซ์ พาริส, บิวกิ้น, แพรวา เป็นต้น

หากมองดูการเเบ่งส่วนหารายได้ของ GDH จะพบว่าได้เเยกย่อยเป็นบริษัทลูกในเครือที่หลากหลาย อย่างนาดาวบางกอก ที่มีรายได้หลักจากการดูเเละศิลปิน ขยายไปรับงานโปรดักชั่น ส่วนสวัสดีทวีสุขเเละเสียงดีทวีสุข ก็ให้บริการด้านภาพเเละเสียง รับทำงานให้ลูกค้านอกบริษัทได้ นับเป็นอีกกลยุทธ์หารายได้อีกทางของ GDH โดยเป็นการปั้น “ลูกหม้อ” คนที่ทำงานในบริษัทมานานให้เติบโตขึ้นมาทำหน้าที่ดูเเลบริหารในส่วนต่างๆ

“ปัญหาของเราตอนนี้คือ ปั้นคนทำงานขึ้นมาไม่ทัน” ทรงยศกล่าวเเละทิ้งท้ายถึงอุตสาหกรรมหนังในประเทศว่า “เราอยากให้วงการหนังไทยโตไปด้วยกัน ถ้าเเค่ GDH โตเจ้าเดียวเเล้วคนทำหนังคนอื่นขาดทุน วงการนี้ก็ลำบาก”  

]]>
1262597
ต้องคุ้มค่าตั๋ว! บิสสิเนสโมเดล “หนังไทย” ดึงพันธมิตรทุกธุรกิจ “ลงขัน” สร้างหนัง ลดเสี่ยง-เงินลงทุนเพิ่ม ประเดิมด้วย “โปรเม อัจฉริยะ/ต้อง/สร้าง” https://positioningmag.com/1238577 Thu, 11 Jul 2019 08:55:45 +0000 https://positioningmag.com/?p=1238577 โมเดลโคโปรดักชั่นลงทุนสร้างหนังมีมานานแล้วในต่างประเทศ ในไทยก็มีให้เห็นหลายโปรเจกต์เช่นกัน ด้วยราคาตั๋วหนังไม่ใช่ถูกๆ ผู้ชมก็ต้องคาดหวังเห็นหนังคุณภาพ งบลงทุนต่อเรื่องจึงต้องสูงอยู่ที่หลัก 50 ล้านบาท การลงทุนคนเดียวจึงถือว่าเสี่ยงรูปแบบการร่วมลงทุนหลายพันธมิตรจึงมีให้เห็นกันมากขึ้น

อุตสาหกรรมหนังไทยมูลค่า 10,000 ล้านบาท ครองตลาดโดยหนังต่างประเทศ 60-70% สัดส่วนหนังไทยอยู่ที่ 30-40% มานาน ไม่ได้ขยับมากไปกว่านี้สักเท่าไหร่ จำนวนหนังไทยที่สร้างต่อปีอยู่ที่ราว 40 เรื่องเท่านั้น แม้ฝั่งโรงภาพยนตร์จะสปีดขยายโรงในต่างจังหวัดตลาดหลักของหนังไทยแล้วก็ตาม

อุปสรรคของการสร้างหนังไทยอยู่ที่การลงทุน หากอยู่ในระดับคุณภาพ มีนักแสดงแม่เหล็กก็ต้องลงทุนระดับ 25-30 ล้านบาท ค่าโปรโมตอีก 10-15 ล้านบาท ต่อเรื่องจึงอยู่ที่ 40-50 ล้านบาท การลงทุนรายเดียวจึงนับว่า “เสี่ยง” หากรายได้จากตั๋วหนังไม่ปัง

ชูโมเดลร่วมลงทุน “ทุกพันธมิตร”

สง่า ฉัตรชัยรุ่งเรือง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้ปรับรูปแบบการลงทุนสร้างภาพยนตร์ จากการลงทุนรายเดียวเป็นการจับมือพันธมิตรธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อร่วมทุนสร้างหนังไทยเป็นรายโปรเจกต์ แนวทางหลังจากนี้จะเห็นการร่วมทุนสร้างกับพันธมิตร “หลายราย” มากขึ้น โดยใช้ Asset ของแต่ละพันธมิตร มาทำงานร่วมกัน ซึ่งจะทำให้เงินลงทุนสร้างหนังต่อเรื่องเพิ่มขึ้น

“ผู้ชมคาดหวังว่าราคาตั๋วหนังที่พวกเขาจ่าย จะต้องได้รับชมหนังคุณภาพ  การมีพันธมิตรมาร่วมลงทุน จะทำให้มีงบสร้างหนังมากขึ้น มีโอกาสประสบความสำเร็จด้านรายได้และลดความเสี่ยงการลงทุน”

โปรเจกต์ภาพยนตร์เรื่อง “โปรเม อัจฉริยะ/ต้อง/สร้าง” เป็นหนังไทยที่บริษัทได้ร่วมทุนกับพันธมิตรอีก 3 ราย คือ “บีฮีมอธ แคปปิตอล” ดูแลการวางกลยุทธ์การตลาดและสื่อประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์ผ่านทางสื่อต่างๆ รวมทั้งการทำตลาดสินค้าพรีเมียมหรือเมอร์แชนไดส์ “นอร์ธสตาร์ สตูดิโอ” ที่ทำงานด้าน CGI, ANIMATION และสร้างภาพยนตร์ ช่วยเรื่อง CG (Computer Graphic) ที่ผ่านมาเคยร่วมทุนสร้างภาพยนตร์เรื่อง “แสงกระสือ” มาก่อนหน้านี้ และมีแผนที่จะร่วมทุนสร้างภาพยนตร์ร่วมกันอีก 5-6 เรื่องในปีนี้ และ “เอ็ม พิคเจอร์ส” ดูแลการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ทั้งในและต่างประเทศ

“การสร้างหนังโดยไม่มีพันธมิตร จะทำให้สร้างได้ไม่กี่เรื่อง เห็นได้จากผู้สร้างอิสระที่มีจำนวนลดลงเรื่อยๆ  แต่การร่วมทุนจะทำให้สามารถสร้างหนังได้จำนวนมากขึ้น คนดูเกิดความต่อเนื่องที่จะได้ดูผลงานของค่ายหนังนั้น ๆ”

“หนังไทย” แนวโน้มดี “โปรเม” ลุ้นรายได้ 200 ล้าน

ช่วงครึ่งปีแรกมีหนังไทยทำรายได้เกิน 100 ล้านบาท 3 เรื่อง ช่วงครึ่งปีหลังยังมีหนังไทยเข้าโรงอีกราว 20 เรื่อง ปีนี้จึงมองว่าหนังไทยน่าจะมีโอกาสทำรายได้รวม 4,000 ล้านบาท สัดส่วน 30-40% ของอุตสาหกรรม เติบโตราว 10%

สำหรับภาพยนตร์เรื่อง “โปรเม อัจฉริยะ/ต้อง/สร้าง” ที่จะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ วันที่ 15 ส.ค.นี้เป็นหนังแนวสร้างแรงบันดาลใจ เรื่องราวของครอบครัวเล็กๆ ที่ทุ่มเทดูแลและฝึกฝนลูก และสร้าง “โปรเม” เป็นนักกอล์ฟระดับโลก คาดการณ์ภาพยนตร์เรื่องนี้จะทำรายได้จากทุกช่องทางทั้งตั๋วหนัง ขายลิขสิทธิ์ทั้งในและต่างประเทศราว 200 ล้านบาท  

พรชัย ว่องศรีอุดมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายภาพยนตร์ไทยและต่างประเทศ บริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า “โปรเม” เป็นคนดังระดับโลก ทำให้หนังเรื่องนี้เป็นสากล จึงมีโอกาสทำตลาดได้หลายช่องทาง ทั้งการฉายในโรงภาพยนตร์ ขายลิขสิทธิ์ ฟรีทีวี เพย์ทีวี และวิดีโอออนดีมานด์ (VOD) ทั้งในและต่างประเทศ คาดว่าจะได้รับความสนใจจากตลาดในภูมิภาคนี้ ทั้งกลุ่ม CLMV จีน รวมทั้งจะไปทำตลาดในอเมริกาและยุโรปด้วย เชื่อว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย สามารถเป็นสินค้าส่งออกที่ดีได้

]]>
1238577