จากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ Disney ต้องเปลี่ยนแผนชุลมุน ตัดสินใจฉายภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ Mulan เวอร์ชันคนแสดงบนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง Disney+ แทนในประเทศที่มีบริการนี้แล้ว ส่วนประเทศที่ยังไม่มีจะฉายในโรงตามปกติ หลังเปิดตัวมา 2 สัปดาห์ ปรากฏว่าภาพรวมรายได้จากโรงภาพยนตร์ต่ำกว่าที่ควร แต่บนสตรีมมิ่งประสบความสำเร็จสูง ดันยอดสมาชิกสมัครเพิ่ม 68%
ภาพยนตร์ Mulan (2020) รีเมคใหม่เวอร์ชันคนแสดงเป็นภาพยนตร์ที่แฟนๆ ทั่วโลกเฝ้ารอคอย โดยกำหนดการเดิมจะต้องเข้าฉายในเดือนมีนาคม 2020 แต่จากสถานการณ์โรค COVID-19 ทำให้ Disney ผู้อำนวยการสร้างเลือกเลื่อนฉายออกไปก่อน
และที่สุดแล้วต้องยอมปรับแผน ลงฉายในสตรีมมิ่ง Disney+ แทนสำหรับประเทศที่มีบริการแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา อินเดีย โดยสมาชิกต้องจ่ายเพิ่มพิเศษ 29.99 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 900 บาท) เพื่อเข้าชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ส่วนประเทศที่ยังไม่มีบริการ เช่น จีน ไทย หนังเข้าโรงฉายตามปกติ
หลังทยอยเข้าฉายตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2020 มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์หลายประเด็นที่ยิ่งกระหน่ำซ้ำเติม Mulan เข้าไปอีก ไม่ว่าจะเป็นการติดแฮชแท็ก #BoycottMulan เพราะ “หลิวอี้เฟย” นักแสดงนำ กล่าวให้การสนับสนุนตำรวจปราบม็อบฮ่องกง ตามด้วยผู้ชมพบในเครดิตหนังเรื่องนี้ว่ามีการถ่ายทำในเขตซินเจียง ซึ่งมีข้อพิพาทการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลจีนอยู่ ทำให้ฮ่องกง ไต้หวัน และโลกตะวันตกมีกระแสแบนหนังคุกรุ่น
- Disney ยื้อไม่ไหว! ยอดตัดใจปล่อย ‘มู่หลาน’ ลงสตรีมมิ่ง หลังรายได้ลด 42%
- รู้จัก Cancel Culture กระแสบอยคอตเพราะจุดยืนทางสังคม-การเมืองที่ “แบรนด์” ควรระวัง
กระทั่งตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ที่เป็นตลาดมุ่งเน้นของ Mulan ก็มีเสียงวิจารณ์ตัวหนังว่าออกมาน่าผิดหวัง เพราะทีมงานทำหนังแทบทั้งหมดเป็นคนตะวันตก และถ่ายทอดหนังออกมาในมุมของ ‘คนขาว’ ที่ไม่เข้าใจวัฒนธรรมจีน
แต่เรื่องดราม่าเหล่านี้จะกระทบรายได้ภาพยนตร์แค่ไหน จะคุ้มทุนสร้างที่ลงไปมากกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือไม่ หรือจะกลายเป็นการตลาดมุมกลับที่ทำให้คนยิ่งอยากเข้าไปชมด้วยตนเอง การจะประเมินความสำเร็จของ Mulan รอบนี้จะต้องแยกเป็น 2 ส่วนตามแพลตฟอร์มที่เข้าฉาย
รายได้โรงหนังต่ำกว่าที่ควร
ตรวจการบ้านฝั่งการเข้าฉายปกติในโรงหนังก่อน ตามรายงานของ Box Office Mojo by IMDBPro ภาพยนตร์เรื่อง Mulan (2020) เข้าฉายทั้งหมด 17 ประเทศ ทำรายได้รวมกัน 37.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดหลักคือจีนแผ่นดินใหญ่ที่เพิ่งลงจอวันที่ 11 กันยายน 2020 ทำรายได้สัปดาห์แรกไปที่ 23.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนประเทศไทยเราที่ลงจอมาแล้ว 2 สัปดาห์ ทำรายได้ไป 2.3 ล้านเหรียญสหรัฐ
ถ้าเทียบกับภาพยนตร์ Disney เวอร์ชันคนแสดงที่ผ่านๆ มา ตัวเลขในจีนถือว่าน่าผิดหวัง เพราะภาพยนตร์อย่าง Beauty and the Beast ทำรายได้ที่เมืองจีนไปถึง 85 ล้านเหรียญสหรัฐ ตั้งแต่สัปดาห์แรกที่ฉาย ตามด้วยเรื่อง Jungle Book ทำรายได้ไป 55 ล้านเหรียญ
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังไม่ใช่หนัง Live-action เรื่องที่ทำรายได้แย่ที่สุดในจีนของ Disney เพราะภาพยนตร์ Dumbo เคยทำสถิติสัปดาห์แรกเพียง 11 ล้านเหรียญ แต่ถ้าเทียบกับการทำการตลาดอย่างหนักในจีนของ Mulan ตัวเลขที่ได้มา 23.2 ล้านเหรียญก็ค่อนข้างน่าผิดหวัง
นอกจากมีปัญหาเรื่องการทำหนังจีนด้วยมุมมองคนขาว Mulan ยังต้องผจญกับคู่แข่งชนโรงด้วยทำให้รายได้ลดลงไปอีกเพราะ Tenet ภาพยนตร์ของคริสโตเฟอร์ โนแลน ผู้กำกับที่มีแฟนๆ มากมาย ก็เข้าฉายพร้อมกัน และ Tenet สามารถทำรายได้สัปดาห์แรกไปถึง 50 ล้านเหรียญสหรัฐ
Disney+ รับอานิสงส์เต็มประตู
ตัดภาพมาที่การฉายบนสตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม Disney+ ดังที่กล่าวว่าไม่ใช่แค่สมัครสมาชิกแล้วรับชมได้เลย แต่ต้องเสียเงินเพิ่ม 29.99 เหรียญเพื่อชม Mulan (ภาพยนตร์ Mulan จะปลดล็อก สมาชิกสามารถชมได้โดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่มในเดือนธันวาคม 2020)
ปรากฏว่าแฟนๆ ยอมเสียเงินเพิ่มเพื่อดูหนังเรื่องนี้ โดยทำรายได้เฉพาะส่วนจ่ายพิเศษนี้ 35.5 ล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่ารายได้ในโรงเสียอีก และเป็นรายได้เข้า Disney 100% เพราะไม่ต้องจ่ายส่วนแบ่งให้กับใครเลย ไม่ว่าจะเป็นโรงหนัง หรือแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งหากไปฉายในแพลตฟอร์มอื่นนอกบริษัท
Mulan ยังทำให้ยอดสมัครสมาชิก Disney+ เพิ่มขึ้นถึง 68% และทำให้สมาชิกใช้เวลาดูคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มเพิ่มอีก 193% แน่นอนว่า Mulan กลายเป็นคอนเทนต์ยอดนิยมอันดับ 1 ของ Disney+ ในสัปดาห์แรกที่ฉาย และส่งให้แพลตฟอร์มนี้มีส่วนแบ่งยอดวิวขึ้นเป็น 15% ของยอดวิวรวมในกลุ่มบริการแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งทั้งหมด
โดยสรุปรายได้รวมทั้งจากโรงหนังปกติกับที่ได้จากสตรีมมิ่ง เป็นไปได้ว่าจะไม่คุ้มทุนที่ลงไปทั้งหมดกว่า 200 ล้านเหรียญ แต่ถ้ามองในมุมการแก้เกมของ Disney ที่กล้าตัดสินใจลงฉายในสตรีมมิ่งแทน กลยุทธ์นี้นับว่าประสบความสำเร็จ และได้พิสูจน์โมเดลการฉายหนังแบบใหม่ ทำให้เห็นว่ามีคนเกือบ 1.2 ล้านคนที่ยอมจ่ายเงินเพิ่ม 29.99 เหรียญเพื่อดูหนังเรื่องหนึ่งที่บ้านแบบชนโรง