อุตสาหกรรมยานยนต์ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 29 Sep 2021 13:11:10 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ‘ชิปขาดตลาด’ ทำผู้ผลิตรถยนต์เสียหาย 2.1 แสนล้านเหรียญ ลุ้น ‘โช้คอัพ’ ของขาดชิ้นต่อไป https://positioningmag.com/1353994 Wed, 29 Sep 2021 10:30:44 +0000 https://positioningmag.com/?p=1353994 ปัญหาการขาดแคลนชิปถือเป็นครั้งแรกของอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยปัญหาดังกล่าวเกิดจากการระบาดของ COVID-19 ทำให้ยอดขายรถยนต์ลดลงอย่างกะทันหัน ส่งผลให้ผู้ผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่ได้ลดคำสั่งซื้อชิปในอนาคต เพราะคาดว่าความต้องการรถยนต์ใหม่จะยังคงตกต่ำเป็นระยะเวลานาน

อย่างไรก็ตาม เมื่อยอดขายรถยนต์ฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดไว้ ผู้ผลิตรถยนต์พบว่าพวกเขาไม่สามารถเปลี่ยนคำสั่งซื้อชิปของได้ เนื่องจากอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างมากเพราะผู้คนส่วนใหญ่อยู่บ้านมากขึ้น ทำให้สินค้าไอทีไม่ว่าจะเป็นแล็ปท็อป แท็บเล็ต โทรศัพท์ ได้มาแย่งซัพพลายไปใช้ ปัญหาดังกล่าวส่งผลให้โรงงานผลิตรถยนต์บางแห่งต้องปิดตัวลง การขนส่งรถยนต์ล่าช้า และส่งราคารถทะลุเพดาน แต่ดูเหมือนปัญหาขาดแคลนชิปจะไม่ใช่แค่ปัญหาเดียว

Mark Wakefield ที่ปรึกษาทางธุรกิจ จาก AlixPartners กล่าวว่า ผู้ผลิตรถยนต์ประสบปัญหาในการรับชิ้นส่วนและวัตถุดิบทุกประเภทด้วยเหตุผลหลายประการ รวมถึงการปิดโรงงานของซัพพลายเออร์ที่เกี่ยวข้องจากการระบาดของ COVID-19 ปัญหาด้านโลจิสติกส์ที่เกิดจากปัญหาการขาดแคลนเรือส่งสินค้า การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และคนขับรถบรรทุก

ปัญหาต่าง ๆ ส่งผลให้ต้นทุนที่เกิดจากวิกฤตด้านซัพพลายเชนในปัจจุบันใหญ่กว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้มาก ซึ่งนำไปสู่ต้นทุนที่สูงขึ้นมากสำหรับผู้ผลิตรถยนต์และผู้ซื้อรถยนต์เช่นกัน โดยคาดว่าปัญหาทั้งหมดทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ผลิตรถยนต์ลดลงถึง 7.7 ล้านคันทั่วโลก เพิ่มขึ้นจากที่เคยคาดไว้ในเดือนพฤษภาคมที่ 3.9 ล้านคัน

จากจำนวนการผลิตที่ลดลง ส่งผลให้อุตสาหกรรมสูญเสียเงินกว่า 2.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จากที่เคยประมาณการไว้ที่ 1.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนพฤษภาคม ขณะที่ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินเพิ่มประมาณ 9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากราคารถยนต์ที่พุ่งสูงขึ้นราว 2,000 ดอลลาร์ต่อคัน ซึ่งเมื่อเทียบยอดขายที่หายไปแล้ว ผู้ผลิตรถยนต์จะต้องสูญเงินกว่า 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

Photo : AFP

แม้ปัญหาการขาดแคลนชิปคาดว่าจะหมดไปในช่วงไตรมาส 2 ของปี แต่เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ที่พุ่งสูงขึ้นทำให้เกิดการขาดแคลนรอบใหม่ เนื่องจากโรงงานชิปถูกบังคับให้ปิดตัวลงชั่วคราวในประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เช่น มาเลเซีย นอกจากนี้ยังส่งผลถึงวัตถุดิบอื่น ๆ อีกด้วยโดยเฉพาะโลหะและเรซิ่น

Dan Hearsch กรรมการผู้จัดการของ AlixPartners กล่าวว่า เมื่อพูดถึงการผลิตหรือการจัดหาวัสดุ การขาดแคลนหรือการหยุดชะงักของการผลิตในส่วนใดส่วนหนึ่งของโลกส่งผลกระทบต่อบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลก และขณะนี้ผลกระทบก็เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากการขาดแคลนอื่น ๆ ทั้งหมด อย่างตอนนี้ไม่มีโช้คอัพเหลืออยู่ในอุตสาหกรรมแล้ว

Source

]]>
1353994
คาดอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลกเสียหาย ‘1.1 แสนล้านเหรียญ’ เหตุวิกฤต ‘ขาดแคลนชิป’ https://positioningmag.com/1333447 Sun, 23 May 2021 06:17:36 +0000 https://positioningmag.com/?p=1333447 การขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกอาจทำให้ผู้ผลิตรถยนต์สูญเสียรายได้ไป 1.1 แสนล้านดอลลาร์ในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากประมาณการก่อนหน้านี้ที่ 6.1 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยบริษัทที่ปรึกษา AlixPartners คาดว่าจากวิกฤตดังกล่าวจะกระทบยอดการผลิตรถยนต์ 3.9 ล้านคัน

ปัญหาชิปได้ผลักดันให้ผู้ผลิตรถยนต์ต้องออกนโยบาย “เชิงรุก” ในตอนนี้และสร้าง “ความยืดหยุ่นของซัพพลายเชน” ในระยะยาวเพื่อหลีกเลี่ยงการหยุดชะงักในอนาคต โดยในอดีตผู้ผลิตรถยนต์มีข้อตกลงการจัดหาโดยตรงกับผู้ผลิตวัตถุดิบบางชนิดรวมถึงโลหะมีค่า เช่น แพลเลเดียมและแพลทินัมที่ใช้ในระบบท่อไอเสีย

“แนวทางดังกล่าวในการรักษาความปลอดภัยของวัสดุโลหะมีค่าได้เริ่มขึ้นหลังจากการหยุดชะงักของการผลิตและราคาที่ผันผวนในตลาด ทำให้ปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์กำลังมองหาการพัฒนาความสัมพันธ์โดยตรงกับผู้ผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์” Mark Wakefield ผู้นำร่วมของแนวปฏิบัติด้านยานยนต์ระดับโลกของ AlixPartners กล่าว

ในอดีตผู้ผลิตรถยนต์ไม่เต็มใจที่จะเซ็นสัญญาระยะยาวในการซื้อชิปเซมิคอนดักเตอร์หรือวัตถุดิบอื่น ๆ เพื่อลดภาระทางการเงินสำหรับข้อตกลงดังกล่าว Wakefield กล่าว แต่ตอนนี้ “ความเสี่ยงเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่เคยเป็นแค่ความเสี่ยง” ที่จะสูญเสียกำลังการผลิตเนื่องจากการขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์

ทั้งนี้ Ford Motor Co กล่าวว่า กำลังออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ใหม่เพื่อใช้ประโยชน์จากชิปที่มีมากขึ้น เพื่อตอบสนองต่อการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก

สำหรับประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงสถานการณ์รถยนต์และรถจักรยานยนต์ว่า เดือน เม.ย. 2564 มีจำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ 104,355 คัน ลดลงจากเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา 35.79% 

Source

]]>
1333447
เยอรมนี เตรียมใช้ไม้เเข็ง สั่งให้ “ปั๊มน้ำมัน” ทุกแห่ง ต้องติดตั้งจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า https://positioningmag.com/1282301 Fri, 05 Jun 2020 12:13:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1282301 เยอรมนี รุกหนักเปลี่ยนทิศทางอุตฯ ยานยนต์ อัดเเพ็กเกจจูงใจประชาชน เตรียมกำหนดให้สถานีบริการน้ำมันทุกแห่งในประเทศ ติดตั้งจุดชาร์จรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ 1.3 แสนล้านยูโร (ราว 4.65 ล้านล้านบาท)

โดยรัฐบาลตั้งเป้าจะกระตุ้นให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ด้วยการช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าที่ 6,000 ยูโรต่อคัน (ราว 215,000 บาท) รวมถึงจะเพิ่มภาษีรถยนต์เชื้อเพลิงฟอสซิลให้สูงกว่าภาษีรถยนต์พลังงานทางเลือก เช่นจะขึ้นภาษีรถ SUV คันใหญ่ที่ก่อมลภาวะ

ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลเยอรมนีครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังคู่เเข่งในวงการผู้ผลิตยานยนต์อย่าง “ฝรั่งเศส” ประกาศเเผนทุ่มเงินกว่า 8,000 ล้านยูโร (ราว 2.8 เเสนล้านบาท) เพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ ตั้งเป้าเป็นเบอร์หนึ่ง ผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของยุโรป โดยจะจูงใจประชาชนด้วยการมอบเงิน 7,000 ยูโร (ราว 2.4 เเสนบาท) ให้กับบุคคลทั่วไปที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ส่วนบริษัทที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าไปใช้ในองค์กรจะได้รับเงินสนับสนุน 5,000 ยูโร (ราว 1.7 เเสนบาท) ต่อคัน

อ่านเพิ่มเติม : เปิดเเผน “ฝรั่งเศส” อัดงบฟื้นอุตฯยานยนต์ หวังพลิกวิกฤตสู่เบอร์ 1 รถยนต์ไฟฟ้าเเห่งยุโรป

เเต่การผลักดันการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย…จากข้อมูลจากกรมขนส่งเยอรมนี ระบุว่า จากจำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่จดทะเบียนในเดือนพฤษภาคมที่ 168,148 คัน มีเพียง 3.3% เท่านั้นที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้า เเละตลอดทั้งปี 2019 มีรถยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนใหม่ในประเทศเพียง 1.8% ขณะที่รถยนต์ดีเซลและเบนซินมีสัดส่วนถึง 32% และ 59.2% ตามลำดับ

Diego Biasi ประธานและผู้ร่วมก่อตั้ง Quercus Real Assets ให้ความเห็นกับ Reuters ว่า เหตุผลหลักกว่า 97% ของคนที่ไม่เลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้า มาจากความกังวลที่มีต่อการชาร์จแบตเตอรี่ ดังนั้นการที่รัฐบาลกำหนดให้ทุกปั๊มน้ำมันมีจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้านั้นเป็นการคลายความกังวลของประชาชนได้ดี เพราะพวกเขาจะอุ่นใจขึ้นว่ามีปั๊มน้ำมันเปิดอยู่เสมอ

ข้อมูลจากสมาคมอุตสาหกรรมพลังงานและน้ำของเยอรมนี (BDEW) ระบุว่า เพื่อให้ครอบคลุมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตตามเป้าหมาย ควรมีสถานีชาร์จอย่างน้อย 70,000 แห่ง และสถานีชาร์จเร็วอีก 7,000 เเห่ง โดยปัจจุบันมีสถานีชาร์จอยู่ 28,000 แห่งทั่วประเทศ ขณะที่จำนวนสถานีบริการน้ำมันลดลงเหลือ 14,118 แห่งในปี 2020 จากจำนวน 40,640 แห่งในปี 1965

ทั้งนี้ เมื่อปีที่ผ่านมา Angela Merkel นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ประกาศว่าจะมีสถานีชาร์จไฟฟ้า 1 ล้านแห่งทั่วประเทศให้ได้ภายในปี 2030

 

ที่มา : Reuters , electrek

]]>
1282301
Renault ระส่ำ เตรียมเลิกจ้างเกือบ 15,000 ตำเเหน่งทั่วโลก ลดกำลังผลิตรถยนต์ https://positioningmag.com/1281255 Fri, 29 May 2020 12:34:57 +0000 https://positioningmag.com/?p=1281255 Renault ปรับองค์กรครั้งใหญ่ เตรียมปลดพนักงานทั่วโลกกว่า 14,600 คน โดย 1 ใน 3 เป็นการเลิกจ้างในฝรั่งเศส เพื่อรักษาสถานภาพของบริษัทในช่วงที่ยอดขายรถยนต์ตกต่ำ ซึ่งเป็นไปตามเเผนการลดค่าใช้จ่าย 2,000 ล้านยูโรให้ได้ภายใน 3 ปีข้างหน้า

โดย Renault เตรียมจะลดกำลังการผลิตรถยนต์จากปีละ 4 ล้านคันในปี 2019 ให้เหลือ 3.3 ล้านคันภายในปี 2024

ตลาดยานยนต์ทั่วโลกซบเซาต่อเนื่องมาหลายปี เเละการที่ต้องเผชิญกับวิกฤตการเเพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก ประกอบกับปัญหาภายในองค์กรของ Renault เริ่มระส่ำหลัง Carlos Ghosn อดีตซีอีโอที่เป็นผู้บริหารคนสำคัญถูกตั้งข้อหาประพฤติมิชอบทางการเงินในญี่ปุ่นเเละกำลังอยู่ระหว่างการหลบหนี

โดยก่อนหน้าที่ Carlos Ghosn จะมีปัญหาคดีความ Renault เคยตั้งเป้าที่จะขายรถยนต์ให้ได้มากกว่า 5 ล้านคันภายในปี 2022

ทางบริษัทระบุว่า เพื่อให้เเผนการปรับองค์กรดำเนินไปได้ ท่ามกลางวิกฤต COVID-19 โรงงานบางแห่งจากทั้งหมด 6 เเห่งในฝรั่งเศส อาจต้องยุติการผลิตรถยนต์ ทำให้พนักงานส่วนหนึ่งต้องพ้นจากตำเเหน่ง โดยตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงหารือกับสหภาพเเรงงาน ซึ่งจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้ง เบื้องต้นประเมินไว้ที่ 4,600 ตำเเหน่งในฝรั่งเศส

พร้อมกันนั้นจะมีเเผนการปรับลดพนักงานในต่างประเทศ อีกราว 10,000 ตำแหน่ง ซึ่งจะมีการระงับการขยายการผลิตในโมร็อกโกเเละโรมาเนีย รวมถึงจะนำเเผนกิจการในรัสเซียมาทบทวนใหม่ด้วย

Photo : Shutterstock

Renault เป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่มีส่วนเเบ่งในตลาดรถยนต์โลกประมาณ 4% มีพนักงานทั่วโลกราว 1.8 เเสนคน เป็นพนักงานในฝรั่งเศสราว 4.8 หมื่นคน มีผู้ถือหุ้น 15.01% คือรัฐบาลฝรั่งเศสเเละพันธมิตรอย่าง Nissan Motor ที่ถือหุ้นอยู่ 15%

ความเคลื่อนไหวของ Renault ครั้งนี้เกิดขึ้นหลัง Nissan Motor ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่จากญี่ปุ่นหุ้นส่วนสำคัญ เพิ่งประกาศขาดทุน 6.7 เเสนล้านเยน (ราว 1.9 เเสนล้านบาท) ซึ่งถือเป็นการขาดทุนรายปีครั้งเเรกในรอบ 11 ปี นับตั้งเเต่ช่วงวิกฤตการเงินโลก โดยเตรียมจะปิดโรงงานในเมืองบาร์เซโลนาของสเปน เเละย้ายสายการผลิตจากอินโดนีเซียมาไทย

นอกจากนี้ Nissan จะมีการปรับโครงสร้างองค์กร รวมถึงการลดจำนวนโรงงานและธุรกิจที่ไม่ทำกำไรให้น้อยลง ลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ทำให้ต้องปรับกำลังการผลิตรถยนต์ เหลือ 5.4 ล้านคันต่อปี ลดลงราว 20% ลดจำนวนรุ่นจาก 69 รุ่นเหลือเพียง 55 รุ่น เป็นต้น

โดย Renault กำลังเจรจาเงื่อนไขขอเงินกู้ช่วยเหลือมูลค่า 5,000 ล้านยูโร (ราว 1.76 เเสนล้านบาทจากรัฐบาลฝรั่งเศส ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงพิจารณา 

เมื่อวันที่ 27 ..ที่ผ่านมา Emmanuel Macron ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ประกาศเเผนทุ่มเงินกว่า 8,000 ล้านยูโร (ราว 2.8 เเสนล้านบาท) เพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ หวังขึ้นเป็นผู้นำผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของยุโรป

อ่านเพิ่มเติม : เปิดเเผนฝรั่งเศสอัดงบฟื้นอุตฯยานยนต์ หวังพลิกวิกฤตสู่เบอร์ 1 รถยนต์ไฟฟ้าเเห่งยุโรป

Renault , Citroen เเละ Peugeot มียอดขายรถยนต์เเละรายรับลดลงถึง 80% ซึ่งเป็นผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ 2 เดือนเพื่อสกัดการเเพร่ระบาดของ COVID-19 ในฝรั่งเศส เเละภายในสิ้นเดือนมิ..จะมีรถยนต์ราว 5 เเสนคันที่ยังขายไม่ออก

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมรถยนต์ในฝรั่งเศส มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องกว่า 4,000 แห่ง มีพนักงานโดยตรงกว่า 4 เเสนคน เเละมีการจ้างงานรวมทั้งวงการกว่า 9 เเสนคน

 

ที่มา : financial times , Reuters , nytimes

]]> 1281255 เปิดเเผน “ฝรั่งเศส” อัดงบฟื้นอุตฯยานยนต์ หวังพลิกวิกฤตสู่เบอร์ 1 รถยนต์ไฟฟ้าเเห่งยุโรป https://positioningmag.com/1280857 Wed, 27 May 2020 12:40:03 +0000 https://positioningmag.com/?p=1280857 อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังระส่ำทั่วโลก จากพิษ COVID-19 โดยเฉพาะในยุโรปที่ยอดขายลดฮวบต่ำสุดนับตั้งเเต่สงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากต้องหยุดผลิตรถยนต์ชั่วคราวตามมาตรการล็อกดาวน์ ตอนนี้โรงงานในฝรั่งเศลบางเเห่ง เริ่มกลับมาเดินเครื่องผลิตได้อีกครั้ง

ล่าสุด Emmanuel Macron ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ประกาศเเผนทุ่มเงินกว่า 8,000 ล้านยูโร (ราว 2.8 เเสนล้านบาท) ฟื้นฟูอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ หวังขึ้นเป็นเบอร์ 1 ผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของยุโรป

“เราจะเร่งเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์พลังงานสะอาด เน้นการพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าเเละรถยนต์ไฮบริด โดยตั้งเป้าที่จะผลิตให้ได้ 1 ล้านคันต่อปี เพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้นำอุตฯ ยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป”

นอกจากส่งเสริมฝั่งผู้ผลิตเเล้ว รัฐบาลฝรั่งเศสจะเเบ่งงบ 1,000 ล้านยูโร (ในวงเงิน 8,000 ล้านยูโร) มากระตุ้นให้เกิดความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าของผู้บริโภค โดยจะมอบเงินสนับสนุนจำนวน 7,000 ยูโร (ราว 2.4 เเสนบาท) ให้กับบุคคลทั่วไปที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ส่วนบริษัทที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าไปใช้ในองค์กรจะได้รับเงินสนับสนุน 5,000 ยูโร (ราว 1.7 เเสนบาท) ต่อคัน

เเละหากซื้อรถยนต์ไฮบริด จะได้รับเงินสนับสนุน 2,000 ยูโร ( ราว7 หมื่นบาท) ต่อคัน ส่วนผู้ที่จะนำรถยนต์ไปเปลี่ยนจากระบบพลังงานน้ำมันเป็นพลังงานอื่นที่ก่อมลพิษน้อยกว่า จะได้รับเงิน 3,000 ยูโร เเละถ้าใครอัพเกรดให้เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าก็จะได้รับเงิน 5,000 ยูโรเช่นกัน

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะครอบคลุมชาวฝรั่งเศส 3 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด โดยจะเริ่มตั้งเเต่วันที่ 1 มิ.ย. เป็นต้นไป

อุตสาหกรรมรถยนต์ในฝรั่งเศส มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องกว่า 4,000 แห่ง มีพนักงานโดยตรงกว่า 4 เเสนคน เเละมีการจ้างงานรวมทั้งวงการกว่า 9 เเสนคน

“หากไม่รวมช่วงสงคราม เราจะต้องเผชิญกับวิกฤตที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของภาคยานยนต์” Macron กล่าว

Renault , Citroen เเละ Peugeot ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของฝรั่งเศส มียอดขายรถยนต์เเละรายรับลดลงถึง 80% ซึ่งเป็นผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ 2 เดือนเพื่อสกัดการเเพร่ระบาดของ COVID-19 เเละ ภายในสิ้นเดือน มิ.ย. จะมีรถยนต์ราว 5 เเสนคันที่ยังขายไม่ออก

“เราต้องปกป้องการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม เเละนี่จะเป็นเเผนของอุตสาหกรรมรถยนต์ในศตวรรษที่ 21 ด้วย”

อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวว่า Renault กำลังเตรียมจะปลดพนักงานในฝรั่งเศส 5,000 คน ให้ได้ภายในปี 2024 ซึ่งจะประหยัดค่าใช้จ่ายของบริษัทได้ราว 2,000 ล้านยูโร

ล่าสุด (29 พ.ค.) Renault ประกาศจะปลดพนักงานทั่วโลกกว่า 14,600 คน โดย 1 ใน 3 เป็นการเลิกจ้างในฝรั่งเศส เพื่อรักษาสถานภาพของบริษัทในช่วงที่ยอดขายรถยนต์ตกต่ำ

รัฐบาลฝรั่งเศส มีความกระตือรือร้นที่จะใช้วิกฤต COVID-19 ให้เป็นการผลักดันอุตสาหกรรมไปในทิศทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างกรณีแพ็กเกจช่วยเหลือมูลค่า 7,000 ล้านยูโรของ Air France ก็มีเงื่อนไขว่า สายการบินจะต้องปรับปรุงให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

 

ที่มา : AFP , Reuters

 

]]>
1280857
KCE ปิดบริษัทย่อยชั่วคราว ปรับลดกำลังผลิต เจอพิษ COVID-19 ฉุดดีมานด์ยานยนต์ทั่วโลก https://positioningmag.com/1276832 Tue, 05 May 2020 05:41:45 +0000 https://positioningmag.com/?p=1276832 KCE เเจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศปิดบริษัทย่อย KCEI ซึ่งมีโรงงานที่บางปูชั่วคราว ตั้งแต่ 7 พ.ค. หลังเจอผลกระทบ COVID-19 ฉุดดีมานด์ตลาดรถยนต์ลดลงทั่วโลก โดยพนักงานทั้งหมดจะถูกโอนย้ายเข้ามาทํางานที่โรงงานของบริษัทที่ลาดกระบัง เพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้าจะได้รับสินค้าและบริการตามปกติ

วันนี้ (5 พ.ค.) บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จํากัด (มหาชน) หรือ KCE แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า บริษัทย่อยแห่งหนึ่งของบริษัทคือ บริษัท เคซีอี อินเตอร์เนชันแนล จํากัด (KCEI) จะปิดการดําเนินงานเป็นการชั่วคราว ซึ่งเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ที่ส่งผลต่อภาวะตลาดในปัจจุบัน และทําให้ความต้องการซื้อของลูกค้าในตลาดยานยนต์ลดลงทั่วโลก สืบเนื่องจากมาตรการปิดประเทศ (Lock down) ในหลายประเทศที่บริษัทมีการดําเนินธุรกิจอยู่ ทําให้บริษัทจําเป็นต้องเริ่มทยอยปรับการผลิตในโรงงานทุกแห่ง

ในการนี้บริษัทได้ตัดสินใจปิดบริษัท KCEI เป็นการชั่วคราว และย้ายการดําเนินงานของ KCEI ในนิคมอุตสาหกรรมบางปู ไปยังโรงงานใหม่ของ KCE ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ซึ่งจะช่วยให้ KCE ลาดกระบังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในระดับที่สูงขึ้น และยังจะได้รับประโยชน์จากต้นทุนคงที่ที่ลดลงด้วย มาตรการที่บริษัทดําเนินการนี้จะช่วยบรรเทาผลกระทบต่อความสามารถในการทํากําไรของบริษัทให้มีน้อยที่สุดจาก สถานการณ์โควิด-19 การปิดการดําเนินงานชั่วคราวของ KCEI จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2563 ไปจนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะอยู่ในความควบคุม และตลาดยานยนต์ได้ฟื้นตัวและกลับมาสู่ภาวะปกติแล้ว

ทั้งนี้พนักงานทั้งหมดของ KCEI จะถูกโอนย้ายเข้ามาทํางานที่สํานักงานโรงงานของ KCE ที่ลาดกระบัง เพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้าจะได้รับสินค้าและบริการตามปกติ

ท่ามกลางสถานการณ์การปรับเปลี่ยนในครั้งนี้ บริษัทยังมีความมั่นใจต่อศักยภาพในการดําเนินธุรกิจของบริษัทในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง ด้วยสถานะทางการเงินที่มันคงและหลักการที่ชัดเจน

สำหรับธุรกิจของ KCE เป็นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนของอุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องมือสื่อสารโทรคมนาคม อุตสาหกรรมยานยนต์เเละอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ โดยหุ้นของ KCE ในช่วงเช้าของวันนี้ (5 พ.ค.) ปรับตัวลดลง 8.57% หรือ 1.50 บาทอยู่ที่ 16 บาท หลังเเจ้งปิดบริษัทย่อยชั่วคราวดังกล่าว

]]>
1276832
จับตาขาลงอุตสาหกรรม “เยอรมนี” ฉุดการเติบโตเศรษฐกิจ ล่าสุดดัชนีผลผลิตร่วง 1.7% https://positioningmag.com/1256218 Sat, 07 Dec 2019 18:15:21 +0000 https://positioningmag.com/?p=1256218 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเยอรมนีลดลงต่ำกว่าที่คาด หลังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ เบร็กซิต เเละการถูกดิสรัปชันในอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วยุโรป

โดยสำนักสถิติของเยอรมนี เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของเดือน ต.ค. ลดลง 1.7% จากเดิมที่เคยคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.1% ขณะเดียวกัน ดัชนีผลผลิตสินค้าประเภททุนลดลง 4.4% ซึ่งเป็นการลดลงที่มากที่สุดในรอบ 5 ปี

สำหรับ “เยอรมนี” เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรป กำลังเผชิญกับความผันผวนจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาเเละจีน รวมถึงความไม่แน่นอนจากการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (เบร็กซิต)
เเละขาลงของอุตสาหกรรมยานยนต์

Jens-Oliver Niklasch นักเศรษฐศาสตร์จาก Landesbank Baden-Wuerttemberg กล่าวว่า “ตอนนี้ความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตของ GDP ในไตรมาสสุดท้ายเริ่มกลับมาอีกเเล้ว”

โดยเศรษฐกิจของเยอรมนีเติบโตติดต่อกัน 10 ปี จากการบริโภคภายในประเทศที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากภาคการส่งออกของประเทศ ส่งผลให้ตัวเลขการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ติดลบ 0.2% ในไตรมาส 2/2019 ขณะที่จีดีพีของเยอรมนีในไตรมาส 3/2019 เติบโต 0.1% ทำให้เยอรมนีรอดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในทางเทคนิคไปได้อย่างหวุดหวิด

Carsten Brzeski นักเศรษฐศาสตร์จาก ING ให้ความเห็นว่า ปัญหาจากสงครามการค้า ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก เเละการถูกดิสรัปชั่นในอุตสาหกรรมยานยนต์ ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีเข้าสู่ภาวะติดล็อก ยากที่จะหาทางออกได้

ด้านสมาคมยานยนต์ VDA คาดว่า ยอดขายรถยนต์ทั่วโลกจะลดลง 5% ในปีนี้และวิกฤตดังกล่าวจะทำให้เหล่าบริษัทในเยอรมนีต้องปรับลดพนักงานอีกในปี 2020

ที่ผ่านมา มีนักเศรษฐศาสตร์หลายคนเรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดนโยบายที่จะไม่ก่อหนี้ใหม่ เเละไม่ควรกู้เงินมากระตุ้นเศรษฐกิจ

ด้านกระทรวงเศรษฐกิจของเยอรมนี ระบุในแถลงการณ์ว่า “ความอ่อนแอทางเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมยังคงเกิดขึ้นต่อไป” อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ยอดสั่งซื้อล่าสุด และการคาดการณ์ทางธุรกิจบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจ
เยอรมนีมีแนวโน้มที่จะมีเสถียรภาพในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

 

ที่มา : Reuters
ภาพ : AFP

]]>
1256218
จับตาอุตสาหกรรมยานยนต์กระอัก! ฉุดยอดการส่งออก ผลจากพิษสงครามการค้า-เศรษฐกิจโลกทรุด https://positioningmag.com/1249763 Tue, 15 Oct 2019 06:07:25 +0000 https://positioningmag.com/?p=1249763 แม้พิษจากสงครามการค้าระหว่างสองประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างและในหลายระนาบต่อประเทศคู่ค้า โดยที่ทั้งสองประเทศจะให้เหตุผลในการฟาดฟันกันด้วยกลยุทธ์ทางภาษีว่า ต้องการทวงถามความยุติธรรมทางการค้าระหว่างกันก็ตาม

กระนั้นไทยในฐานะประเทศคู่ค้า และไม่ได้มีบทบาทสำคัญในศึกการค้าครั้งนี้กลับได้รับผลกระทบไม่น้อย เมื่อสินค้าหลายชนิดถูกชะลอการสั่งซื้อ นั่นทำให้ตัวเลขการส่งออกของไทยลดลงอย่างน่าใจหาย ผลกระทบเป็นระลอกคลื่นนี้สะท้อนกลับมาภายในประเทศอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

แน่นอนว่า ไม่ใช่เพียงปัจจัยภายนอกจากสงครามการค้าเท่านั้นที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม เมื่อปัจจัยภายในประเทศอย่างกำลังซื้อของคนไทยที่ลดลง ความขัดแย้งทางการเมืองที่ส่งผลต่อความไม่มั่นใจของนักลงทุน หนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น และความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อ เป็นมูลเหตุที่ดูจะซ้ำเติมให้สถานการณ์แย่ลง

แม้ว่าภาครัฐจะพยายามหาแนวทางการแก้ปัญหาด้วยการเติมเงินเข้ามาในระบบ โดยมุ่งหวังให้ฟันเฟืองทางเศรษฐกิจทุกตัวสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้บ้าง ทว่า ผลที่ได้รับกลับเป็นเพียงการสปาร์คให้เครื่องยนต์ติดและทำงานได้เพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น

และสิ่งที่น่ากังวลใจในเวลานี้ น่าจะเป็นภาคการผลิตที่เริ่มแสดงอาการของปัญหาชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ยอดการผลิต และยอดการส่งออกลดลง

ฉุดยอดส่งออกวูบ 7%

สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า

สถานการณ์ในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ยังน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะยอดการผลิตและการส่งออกรถยนต์ของไทยในปีนี้มีโอกาสที่จะหลุดจากเป้าหมายเดิม หลังมีปัจจัยลบรุมเร้าทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะปัญหาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน รวมไปถึงการขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ที่ผลิตจากยุโรป ที่ทำให้ยอดขายรถยนต์ทั่วโลกรวมถึงไทยปรับตัวลดลง

ข้อมูลที่น่าสนใจคือรายงานยอดขายรถยนต์ของโลกในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ติดลบ 5.7 เปอร์เซ็นต์ และมียอดการผลิตติดลบ 5.8 เปอร์เซ็นต์ และสำหรับประเทศไทยตัวเลขการส่งออกรถยนต์ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาติดลบ 20 เปอร์เซ็นต์

โดยยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือนสิงหาคม 2562 อยู่ที่ 81,549 คัน ลดลง 20.45 เปอร์เซ็นต์ จากเดือนสิงหาคม 2561 ซึ่งลดลงเกือบทุกตลาด เนื่องจากยอดขายรถยนต์ในประเทศคู่ค้าลดลงจากผลกระทบเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงเพราะสงครามการค้า ขณะที่มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 45,694.98 ล้านบาท ลดลง 18 เปอร์เซ็นต์ จากเดือนสิงหาคม 2561

ทั้งนี้ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2562 (ม.ค. – ส.ค. 2562) มียอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปจำนวน 723,561 คัน ลดลง 4.12 เปอร์เซ็นต์ จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 371,229.70 ล้านบาท ลดลง 6.37 เปอร์เซ็นต์ จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561

ด้านยอดขายรถยนต์ในประเทศเดือนสิงหาคมปีนี้ มีจำนวน 80,838 คัน ลดลง 6.9 เปอร์เซ็นต์ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความไม่แน่ใจต่อเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนบางส่วนยังไม่กล้าตัดสินใจที่จะซื้อทรัพย์สินเพิ่ม และอีกหนึ่งเหตุผลต่อคือ ความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อเช่าซื้อ จึงทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งถูกปฏิเสธสินเชื่อ 20 – 30 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม ความเข้มงวดของการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินมาจากการขอความร่วมมือจากธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ต้องการป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในระบบในอนาคต

ทิศทางต่อไปยังน่าเป็นห่วง

แม้ว่าจะล่วงเลยเข้าเดือนตุลาคมมาแล้ว ทว่าตัวเลขของยอดขายในเดือนกันยายนยังไม่สามารถสรุปได้ ซึ่งยังต้องจับตาดูกันต่อไปว่าสถานการณ์ยอดขายรถยนต์ในประเทศจะยังติดลบต่อไปหรือไม่ เมื่อดูทิศทางและกระแสลมทางเศรษฐกิจแล้วยังไม่เห็นปัจจัยบวกที่จะช่วยฉุดให้ตัวเลขเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

ยอดตัวเลขการผลิตและการขายทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกที่ติดลบ น่าจะสร้างความกังวลใจต่อผู้ประกอบการค่ายรถยนต์ไม่น้อย เพราะนั่นหมายถึงเม็ดเงินรายได้และผลกำไรที่จะลดลงตามไปด้วย

และปัจจุบันบางค่ายเริ่มหาทางลดคอร์สค่าใช้จ่ายที่จำเป็นไปบ้างแล้ว แน่นอนว่าสถานการณ์นี้ผู้ที่อาจจะได้รับผลมากที่สุดคือ “แรงงาน” ผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่แม้จะอยู่ในอันดับสุดท้ายแต่กลับมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจมากที่สุด

เพราะในปีนี้มีค่ายรถยนต์ 2 ค่ายที่มีโครงการยกเลิกพนักงานสัญญาจ้าง รวมไปถึงการยกเลิกการทำงานล่วงเวลา เมื่อก้อนหินกระทบน้ำระลอกคลื่นที่เกิดขึ้นขยายวงออกไปกระทบกับทุกสรรพสิ่งที่อยู่ในวงจรอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยงได้

การปรับตัวของค่ายรถยนต์ในประเทศไทยอาจส่งผลกระทบต่อบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนหรือกลุ่มซับพลายเออร์ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตอาจมีการปรับลดค่าจ้างแรงงานหรือลดจำนวนพนักงาน ทว่าหากภาคอุตสาหกรรมไทยปรับตัวให้พร้อมรับกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของตลาดโลก การปรับลดค่าจ้างแรงงานหรือลดจำนวนพนักงานอาจไม่เกิดขึ้น

จับตาดูตลาดรถยนต์ไฟฟ้า

เมื่อปัจจุบันตลาดโลกกำลังให้ความสำคัญกับรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น และหากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยอยู่ในช่วงอิ่มตัว หรือมีบทบาทลดลงในห่วงโซ่อุปทาน การปรับตัวจากบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์แบบเดิมมาเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รถยนต์ไฟฟ้า อาจเป็นทางออกที่ดี

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในระยะ 3 ปีข้างหน้าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สู่การลงทุนห่วงโซ่อุปทานรถยนต์ไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้า IOT (Internet of Things) จะส่งผลให้การขยายตัวของการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทยพลิกกลับมาบวกได้ที่ร้อยละ 0.2 ในปี 2565 คิดเป็นมูลค่าส่งออกส่วนเพิ่มรวม 1,298 ล้านดอลลาร์ จากที่คาดว่าจะติดลบต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาดังกล่าว

เมื่อการลงทุนผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รถยนต์ไฟฟ้าน่าจะได้รับแรงหนุนสำคัญจากค่ายรถที่ต้องลงทุนตามเกณฑ์การได้รับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนที่ต้องมีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญเกี่ยวกับการขับเคลื่อนไฟฟ้า ในขณะที่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เครื่องใช้ไฟฟ้า IOT ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า ในฐานะที่ไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคนี้

ทั้งนี้ การส่งเสริมกิจการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าของบีโอไอ สอดคล้องกับความเปลี่ยนเปลงที่กำลังเกิดขึ้นบนโลก เมื่อสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) เปิดเผยรายงาน “Global EV Outlook 2019” ในปี 2561 มียอดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกอยู่ที่ 5.1 ล้านคัน และเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวจากปี 2560 ที่ 2 ล้านคัน โดยจีนเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในโลก ตามด้วยยุโรปและสหรัฐอเมริกา

แม้จะยังไม่ชัดเจนว่า บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนจะได้รับผลกระทบจากการปรับตัวของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์หรือไม่ หากแต่มีการปรับเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต อาจเป็นสิ่งที่ดีกว่า เมื่อสถานการณ์ของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ยังไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าจะดีขึ้นเมื่อไร.

Source

]]>
1249763