Positioning จะพาไปมองธุรกิจเครื่องบินเจ็ทส่วนตัว หรือ Private Jet ที่กำลังเติบโตในอาเซียน ซึ่งทำให้มีการลงทุนในธุรกิจดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น จากปัจจัยสำคัญคือการประหยัดเวลาในการเดินทาง สามารถที่จะติดต่อในด้านธุรกิจหรือท่องเที่ยวได้เพิ่มมากขึ้น
ปริมาณเที่ยวบินยังเพิ่มมากขึ้นหลังโควิด
ณัฏฐภัทร สีบุญเรือง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มเจ็ท จำกัด ได้กล่าวถึงการใช้งานเครื่องบินเครื่องบินเจ็ทส่วนตัว (Private Jet) นั้นมีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงเวลาหลังการแพร่ระบาดของโควิดเองนั้นตัวเลขปริมาณการใช้งานของลูกค้านับตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมาเติบโตมากกว่าก่อนการแพร่ระบาดแล้ว
จุดเด่นของเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวคือความเร็วของที่มีมากกว่าเครื่องบินโดยสารทั่วไป ยังทำให้สามารถทำเวลาได้เร็วกว่าอีกด้วย นอกจากนี้ยังรวมถึงไม่ต้องเสียเวลารอในสนามบิน ซึ่งแตกต่างกับเที่ยวบินของสายการบินต่างๆ
ความนิยมดังกล่าวนั้นนอกจากนักธุรกิจระดับโลกจะใช้มาเป็นเวลานานแล้ว ปัจจุบันนักแสดงหรือแม้แต่นักร้องหลายคนอย่างเช่น เทเลอร์ สวิฟต์ ก็ใช้เครื่องบินเจ็ทส่วนตัวเช่นกัน
ราคาของ Private Jet และราคาต่อเที่ยว
สำหรับราคาเครื่องบินเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวนั้นขึ้นกับแต่ละรุ่น ซึ่งมีจำนวนที่นั่งต่างกัน อ้างอิงเว็บไซต์ Investopedia นั้นราคานั้นมีตั้งแต่ 2 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นเครื่องบินส่วนตัวขนาดเล็ก ไปจนถึงราคาระดับ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ขึ้นกับความจุที่นั่งหรือแม้แต่ประสิทธิภาพของเครื่องยนต์
เครื่องบินเจ็ทส่วนตัวขนาดใหญ่อย่างเช่น เครื่องบินของ Bombadier หรือ Gulfstream รุ่นที่มีราคาแพงมาก สามารถบินจากกรุงเทพไปยังทวีปยุโรปโดยไม่ต้องแวะจอดเติมน้ำมันที่ไหนเลย
ในขณะที่ราคาต่อเที่ยวบินนั้นขึ้นอยู่กับเส้นทางการบิน เครื่องบินที่ลูกค้าเลือกใช้ ระยะเวลาในการอยู่ที่ปลายทาง ถ้าหากมีค้างคืนก็จะต้องจ่ายอีกราคาหนึ่ง ซึ่งราคาเริ่มต้นส่วนใหญ่อยู่ในหลักแสนบาทต่อเที่ยวบิน ถ้าเป็นเส้นทางการเดินทางภายในประเทศ และราคาจะบวกเพิ่มมากขึ้นถ้าหากเป็นการเดินทางไปยังต่างประเทศ
แต่ถ้าคิดเป็นราคาเฉลี่ยต่อคนแล้วนั้นจะอยู่ในระดับ 5-60,000 บาทขึ้นไปต่อคน และจะค่าโดยสารจะเพิ่มมากขึ้นถ้าหากเป็นการเดินทางไปยังต่างประเทศ ซึ่งผู้ให้บริการแต่ละรายจะคิดค่าใช้จ่ายแตกต่างกันไป
ตลาดอาเซียนยังเติบโตได้ดี
ข้อมูลจาก Mordor Intelligence ที่วิเคราะห์อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ของอุตสาหกรรมเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวในอาเซียนจะอยู่ที่ 14.36% ซึ่งคาดว่ามูลค่าตลาดจะเพิ่มขึ้นจาก 463.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2024 สู่ 906.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2029
ปัจจัยสำคัญนั้นมาจากการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการเพิ่มของลูกค้ากลุ่มสินทรัพย์สูงและสูงพิเศษ (High & Ultra-High Net Worth Individuals) โดยเฉพาะลูกค้ามหาเศรษฐีที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นในอาเซียน จากปัจจัยการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือแม้แต่การย้ายถิ่นฐานของเศรษฐีชาวจีนมายังละแวกนี้
การใช้เครื่องบินเจ็ทส่วนตัวในภูมิภาคนี้มีทั้งเพื่อการจัดกิจกรรมทางธุรกิจอย่างการประชุม มหกรรม หรือการพูดคุยระหว่างองค์กรในภูมิภาคที่มีจำนวนมากขึ้น ไปจนถึงการใช้เพื่อการเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งประเทศไทยเองถือว่าเป็นศูนย์กลางทั้งในเรื่องการท่องเที่ยว หรือแม้แต่การประชุม จนถึงการพูดคุยธุรกิจ
เศรษฐีกับนักธุรกิจในอาเซียนใช้งานเพิ่มมากขึ้น
ณัฏฐภัทร ได้กล่าวถึงเทรนด์การใช้งานเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวนั้นในช่วงที่ผ่านมา ได้ยกกรณีในการเดินทางเพื่อไปพูดคุยด้านธุรกิจ สามารถทำได้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องของเวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถซื้อกลับมาได้
ผู้บริหารของสูงสุดของ บริษัท เอ็มเจ็ท จำกัด ได้กล่าวว่า ลูกค้าบางคนมีมีตติ้งที่หัวหินตอนเที่ยง แต่ตอนเย็นมีนัดดินเนอร์ที่ภูเก็ต ถ้าเดินทางด้วยรถยนต์และเครื่องบินปกติไม่มีทางทำได้ และต้องเสียเวลานั่งรถต่อเครื่อง แต่ถ้าใช้บริการ Private Jet ทำได้แน่นอน ซึ่งการประหยัดเวลานั้นสามารถสร้างประโยชน์ให้กับคนเหล่านี้มหาศาล
เขายังได้ยกกรณีการเดินทางของ วิลเลียม เอ็ลล์วู๊ด ไฮเน็ค ซึ่งเป็นประธานกลุ่มไมเนอร์ (รวมถึงเป็นเจ้าของร่วมและกรรมการบริษัท เอ็มเจ็ท จำกัด) ที่ใช้เครื่องบินเดินทางไปพูดคุยด้านธุรกิจในทวีปยุโรปนั้นสามารถประหยัดเวลาการเดินทาง และยังทำให้สามารถพูดคุยหรือพบปะด้านธุรกิจได้เพิ่มมากขึ้น
ด้วยเทรนด์ที่เกิดขึ้น ทำให้ บริษัท เอ็มเจ็ท จำกัด ได้ประกาศเข้าลงทุนใน บริษัท วิงส์โอเวอร์เอเชีย จำกัด เป็นมูลค่าดีล 17 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งการลงทุนครั้งนี้ จะทำให้บริษัทขยายเครือข่ายการให้บริการไปยังอาเซียนได้เพิ่มมากขึ้น และบริษัทเองยังเผยว่ามีแผนที่จะปิดดีลในการลงทุนเพิ่มหลังจากนี้ด้วย
]]>ดาต้าจาก FlightAware ระบุว่า เป็นเวลาหลายสัปดาห์ติดต่อกันแล้วที่มีไฟลท์บินยกเลิกทุกวันทั่วโลก จำนวนไฟลท์ยกเลิกสะสมกว่า 2,000 เที่ยวบิน และไฟลท์ดีเลย์สะสมอีกกว่า 25,000 เที่ยวบิน วิกฤตแถวเช็กอินยาวเหยียดในสนามบินและกระเป๋าสัมภาระหายกลายเป็นข่าวไวรัลตลอดเวลา ผู้เชี่ยวชาญยังระบุอีกว่า ปัญหาเหล่านี้น่าจะยังดำเนินต่อไปอีกระยะหนึ่ง
รวมถึงในสหรัฐอเมริกา ปัญหาเหล่านี้ไม่ต่างจากที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะที่สนามชาร์ล็อตต์/ดักลาส รัฐนอร์ธ แคโรไลนา และสนามบินแฮร์รี่ รีด เมืองลาส เวกัส อัตราไฟลท์ดีเลย์มีถึง 38% และ 32% ตามลำดับ
เมื่อการเดินทางปกติช่างยากลำบาก ผู้โดยสารจึงเริ่มมองหาวิธีการอื่นที่สะดวกกว่า เป็นโอกาสของบริษัทสายการบิน JSX ที่เข้ามาตอบโจทย์ได้พอดี
JSX เป็นหนึ่งในสายการบินอเมริกันที่บริการการบินแบบ “กึ่งไพรเวตเจ็ต” (semi-private jet) ในสหรัฐฯ การบินแบบนี้คือการแชร์ที่นั่งบนเครื่องบินเจ็ตกับผู้โดยสารกลุ่มอื่น ไม่ต้องเหมาลำเฉพาะกลุ่มของตนเอง ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายกว่า ขณะที่ได้รับความสะดวกแบบเดียวกัน มีเทอร์มินัลจอดเครื่องบินส่วนตัว ไม่ต้องผ่านการเช็กอินยาวเหยียด ใช้เวลาเพียง 20 นาทีก็จบกระบวนการบอร์ดดิ้ง จึงไม่ต้องเสียเวลาและปวดหัวกับคนจำนวนมากในสนามบิน
“คนเรามักจะมองว่าตนเองจะต้องเลือกระหว่างการบินบนเครื่องบินทั่วไปโดยจ่ายเงินหลักร้อยดอลลาร์ หรือเลือกไพรเวตเจ็ตที่ต้องเหมาลำด้วยค่าใช้จ่ายหลักหมื่นดอลลาร์ ในอดีตที่ผ่านมา ไม่เคยมีตัวเลือกที่อยู่ตรงกลางระหว่างสองสิ่งนี้เลย จนกระทั่งเราเข้ามาให้บริการ” อเล็กซ์ วิลค็อกซ์ ซีอีโอของ JSX กล่าว โดยสายการบินนี้ใช้เครื่องบิน Embraer ขนาด 30 ที่นั่งไว้ให้บริการ
เส้นทางบินของ JSX เชื่อมต่อ 18 เมืองในสหรัฐฯ เช่น ลอสแอนเจลิส, ลาส เวกัส, พอร์ตแลนด์, ไมอามี และมีราคาเฉลี่ย 199 เหรียญสหรัฐต่อเที่ยว (ประมาณ 7,100 บาท) หรือใกล้เคียงกับที่นั่งชั้นธุรกิจ แต่ละเส้นทางมีตารางบินแน่นอนให้จองที่นั่งได้ บางเส้นทางทำการบินทุกวัน
JSX เปิดตัวในปี 2016 และเหมือนกับทุกธุรกิจการเดินทาง บริษัทล้มลุกคลุกคลานมากในช่วง COVID-19 ระบาดหนัก แต่เมื่อการเดินทางกลับฟื้นตัว บริษัทนี้ได้ประโยชน์ยิ่งกว่าสายการบินใหญ่เพราะตอบสนองลูกค้าได้หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นผู้โดยสารที่กังวลการติดเชื้อในที่แออัดบนเครื่องบินทั่วไป หรือผู้โดยสารที่กังวลเรื่องความเครียดในการเดินทางที่เกิดขึ้นอยู่ขณะนี้
“ปัจจุบันการเติบโตของเรามีแรงขับเคลื่อนมาจากความกังวลด้านสุขภาพจิตด้วย” วิลค็อกซ์กล่าว
การบินแบบกึ่งไพรเวตเจ็ต ผู้โดยสารจะได้ที่นั่งขนาดใหญ่แบบที่นั่งชั้นธุรกิจ บริการขนม-เครื่องดื่มบนเครื่องบิน และสิทธิโหลดกระเป๋าสัมภาระ 2 ชิ้น การเทรนนิ่งด้านความปลอดภัยของลูกเรือนั้นก็ไม่แตกต่างจากเครื่องบินพาณิชย์ทั่วไป ทำให้ทางเลือกนี้น่าสนใจ
“เมื่อก่อนการเข้าถึงเทอร์มินัลส่วนตัวนั้นเป็นดั่งอภิสิทธิ์ของอภิมหาเศรษฐี แต่วันนี้เราค้นพบหนทางในการสร้างตลาดเพื่อให้คน 30 คนเข้ามาแชร์เครื่องบินส่วนตัวร่วมกัน ทำให้การขึ้นเครื่องบินส่วนตัวทำราคาได้เข้าถึงง่ายมากขึ้น” วิลค็อกซ์กล่าว
]]>Kanika Tekriwal ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ JETSETGO สตาร์ทอัพสัญชาติอินเดียที่ได้รับฉายา ‘Uber แห่งน่านฟ้าอินเดีย’ เพราะให้บริการเช่าเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์เหมาลำที่ได้เปิดเผยว่า ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทมียอดจองเพิ่มขึ้น 900% โดย 70-80% ของลูกค้ามาจากชนชั้นกลาง, ชนชั้นสูง และเหล่าดารา แทนที่จะเป็นลูกค้ากลุ่มมหาเศรษฐีอย่างเดียว
โดยลูกค้าส่วนใหญ่มีจุดหมายปลายทางไปยัง ‘มัลดีฟส์’ และซึ่งปัจจุบันมีการกักตัวไว้ที่รีสอร์ต สำหรับผู้โดยสารที่เดินทางมาจากอินเดียหรือดูไบ ซึ่งอนุญาตให้เข้าประเทศได้ด้วยจุดประสงค์ทางธุรกิจ
สำหรับราคาค่าบริการจะอยู่ที่ 18,000-20,000 ดอลลาร์ หรือราว 560,000-620,000 บาท สำหรับเครื่องบินเจ็ต 8 ที่นั่งไปมัลดีฟส์ หรือ 31,000 ดอลลาร์ หรือราว 960,000 แสนบาท สำหรับเครื่องบินเจ็ต 6 ที่นั่งไปดูไบ ซึ่งการเดินทางนั้นไม่ได้ถูกแม้แต่สำหรับคนชั้นกลางระดับบนของอินเดียที่มีรายได้ประมาณ 15,000 ดอลลาร์ต่อปี หรือราว 460,000 บาท
Tekriwal กล่าวต่อว่า ราคาของเที่ยวบินเจ็ตส่วนตัวอาจน้อยกว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวในโรงพยาบาล นั่นคือสิ่งที่ทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่ยอมที่จะใช้เงินเก็บหรือเงินที่เทียบเท่ากับรายได้ 6 เดือนในการหนีออกนอกประเทศ เพราะการรักษาในโรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายประมาณ 2,500 ดอลลาร์ต่อคืน หรือราว 7.8 หมื่นบาท
“กลุ่มคนชั้นกลางยอมใช้เงินเก็บเพื่อบินออกนอกประเทศ เพราะพวกเขาไม่ใช่คนที่ร่ำรวยมาก ดังนั้น แทนที่จะนอนอยู่บนเตียงในโรงพยาบาลและไม่รู้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ และยังไม่รู้ว่าจะมีเตียงในโรงพยาบาลหรือไม่” เธอกล่าว
อย่างไรก็ตาม ผู้โดยสารที่จะใช้บริการทุกคนจะต้องมีการตรวจเชื้อก่อน และถ้าผลเป็นบวก ทางบริษัทจะไม่อนุญาตให้บิน นอกจากนี้ บริษัทยังมีการบังคับใช้มาตรการด้านความปลอดภัยตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยมีการฆ่าเชื้อบนเครื่องบินอย่างสม่ำเสมอ แต่ Tekriwal ก็ไม่รับประกันว่าจะรอดพ้นจากไวรัสได้
สุดท้าย Tekriwal กล่าวว่า การจะบอกว่ามีเพียงชาวอินเดียที่ร่ำรวยเท่านั้นที่เดินทางออกจากอินเดียด้วยเครื่องบินส่วนตัวก็คงเป็นเรื่องที่ผิด เพราะตอนนี้เหล่าชนชั้นกลางก็ยอมที่จะนำเงินเก็บสำหรับเช่าเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว เพื่อออกจากประเทศออกไปข้างนอก
]]>ไม่ธรรมดาเลยสำหรับซีอีโอบริษัทไม่ธรรมดา เพราะวันนี้มีข่าวว่า ซีอีโอเจ้าพ่อไอโฟนอย่างแอปเปิล (Apple) ถูกขอให้เดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัวเท่านั้น ถือเป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยให้ซีอีโอมือทอง ซึ่งรับค่าเหนื่อยมากกว่า 102 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.3 พันล้านบาทในช่วงปี 2017 สมน้ำสมเนื้อกับที่สามารถโกยยอดขายงดงามเข้ากระเป๋าแอปเปิลจนตุง ส่งให้หุ้นพุ่ง และปันผลสูงลิ่ว
รายละเอียดค่าเหนื่อยและสิทธิพิเศษที่ ทิม คุก (Tim Cook) ซีอีโอแอปเปิล ได้รับนี้ถูกเปิดเผยผ่านเอกสารที่แอปเปิลส่งให้ผู้ถือหุ้นปัจจุบัน สิ่งที่น่าสนใจจากเอกสารนี้ คือ ความรุ่งโรจน์ของแอปเปิล ทำให้ซีอีโอ ทิม คุก ได้รับโบนัสมากกว่า 74% ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งให้รายได้ตลอดปี 2017 ของซีอีโอมือทองทะลุ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ
ในเอกสารอธิบายว่า ทิม คุก มีรายรับที่เป็นค่าส่วนแบ่งจากการขายสินค้า หรือ incentive ราว 9.33 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปีงบประมาณที่สิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน (ประมาณ 3.3 พันล้านบาท) นอกจากนั้น ยังได้รับเงินเดือน 3.06 ล้านเหรียญสหรัฐ (99.7 ล้านบาท) และค่า equity award ซึ่งเป็นเหมือนส่วนแบ่งที่ผู้บริหารอาวุโสจะได้รับจากบริษัทรายใหญ่ในสหรัฐฯ อีกราว 89.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (2.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ)
รับทรัพย์อื่อซ่าเช่นนี้ ทิม คุก ไม่ได้หวังเก็บไว้คนเดียว โดยซีอีโอใจบุญยังระบุว่าจะมอบทรัพย์สมบัติส่วนใหญ่ของเขาเข้าสู่ระบบจัดสรรเพื่อการกุศลต่อไป
ไม่เพียง ทิม คุก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารที่ได้รับผลตอบแทนสมน้ำสมเนื้อ ผู้บริหารคนอื่นก็ได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย เช่น ประธานฝ่ายการเงินหรือซีเอฟโออย่าง ลูคา ไมสตรี (Luca Maestri) และรองประธานฝ่ายค้าปลีก แองเจลา อาเดรทต์ส (Angela Ahrendts) รวมถึงรองประธานฝ่ายเทคโนโลยีฮาร์ดแวร์ จอห์นี่ ชรูจิ (Johny Srouji) รองประธานฝ่ายวิศวกรรมฮาร์ดแวร์ แดน ริซิโอ (Dan Riccio) และอดีตที่ปรึกษาทั่วไป บรูซ ซีเวล (Bruce Sewell) ล้วนได้รับโบนัสคนละ 3.11 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 97 ล้านบาท รวมค่าชดเชยทั้งหมดอีก 24.2 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งหมดนี้เป็นผลจากหุ้นแอปเปิลที่ปันผลงามมาก โดยในปีงบประมาณ 2017 หุ้น AAPL เสนอผลตอบแทน 30% ซึ่งเป็นสองเท่าของค่าเฉลี่ยหุ้นในตารางสุดยอดหุ้นของโลก S&P 500
รายละเอียดที่น่าสนใจอื่นจากเอกสารของแอปเปิล คือ การกำหนดให้ ทิม คุก ต้องเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัว นโยบายนี้เริ่มดำเนินการแล้วในปี 2017 และจะมีผลกับการเดินทางเพื่อธุรกิจ และการเดินทางส่วนตัวของ ทิม คุก จุดนี้เอกสารชี้ว่า คณะกรรมการของแอปเปิลเป็นผู้เรียกร้อง และกล่าวว่า นโยบายดังกล่าวตั้งขึ้น “เพื่อประโยชน์ในด้านความปลอดภัยของซีอีโอ” ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้แอปเปิลยิ่งใหญ่ขึ้นอีกในปีนี้
แม้จะถูกขอให้เดินทางบนเครื่องบินส่วนตัว แต่ ทิม คุก ก็ยังได้รับค่าเดินทาง 93,109 เหรียญสหรัฐ เป็นค่าเดินทางส่วนตัวในปี 2017 ซึ่งถือเป็นค่าชดเชยพิเศษ และต้องเสียภาษี นอกจากนี้ เอกสารยังชี้ว่า แอปเปิลจ่ายเงิน 224,216 เหรียญสหรัฐฯ ไปกับค่าใช้จ่ายด้านความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นสำหรับซีอีโอ ทิม คุก
เอกสารเหล่านี้ถูกเปิดเผยหลังจากที่แอปเปิลประกาศว่าจะจัดการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ Steve Jobs Theatre เนื่องจากจำนวนที่นั่งในหอประชุมที่จำกัด แอปเปิลจึงกำหนดให้ผู้ถือหุ้นลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมการประชุมแบบมาก่อนได้ก่อน กำหนดการเริ่มลงทะเบียน คือ 22 มกราคม 2018 เวลา 8.00 น. ตามเวลาแปซิฟิก.
]]>