เหตุผลที่สนามบิน-สายการบิน “ยุโรป” สุดโกลาหล ยกเลิกไฟลท์-เที่ยวบินดีเลย์เพียบ

ยุโรป สนามบิน โกลาหล
สนามบินอาร์ลันดา ประเทศสวีเดน ถ่ายเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2022 (Photo: Shutterstock)
สายการบินมีการยกเลิกไฟลท์หลายหมื่นเที่ยวบินตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2022 ผู้โดยสารมากมายถูกทิ้งไว้กลางทาง ภาพการต่อคิวยาวเหยียด หรือกระเป๋าเดินทางถูกทิ้งไว้ไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแลกลายเป็นภาพที่พบเห็นได้ทั่วไป เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นทั่วโลก แต่ใน “ยุโรป” ดูจะโกลาหลหนักกว่าทวีปอื่นๆ

ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2022 สายการบินอเมริกันมีการยกเลิกไฟลท์บินไปกว่า 21,000 เที่ยวบิน หรือคิดเป็น 2.7% ของจำนวนเที่ยวบินทั้งหมด

แต่จำนวนเที่ยวบินยกเลิกของฝั่งสหรัฐฯ ก็ยังไม่เท่ากับไฟลท์ยกเลิกของฝั่งยุโรปซึ่งมากกว่าเป็นเท่าตัว จากการเก็บข้อมูลของบริษัท RadarBox.com ระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน 2022 ในหมู่สนามบินที่แย่ที่สุดของยุโรป 10 แห่ง มีการยกเลิกเที่ยวบินสะสม 64,100 เที่ยวบิน ระหว่าง 3 เดือนดังกล่าว

ทำไมยุโรปถึงอาการหนักในการ “เท” ผู้โดยสาร? คำตอบคือ 2 เหตุผลนี้

 

1.พนักงานไม่พอ รับสมัครกลับมาไม่ทัน แถมยังมี “สไตรค์”

สายการบินอเมริกันมีการปลดพนักงานออกในช่วงโรคระบาดเหมือนกัน แต่สายการบินอเมริกันมีการเตรียมตัวกลับสู่โลกปกติได้เร็วกว่า โดยเริ่มรับสมัครงานพนักงานกลับมาตั้งแต่กลางปี 2021

นโยบายของฝั่งสหรัฐฯ ที่กลับมารับพนักงานเร็ว ก็เป็นเพราะการเดินทางภายในประเทศของสหรัฐฯ ทำได้ง่ายกว่า ด้วยกฎเกณฑ์ด้านโรคระบาดสำหรับการเดินทางระหว่างรัฐนั้นไม่เข้มงวดมากนัก เทียบกับในยุโรปแล้ว มีการควบคุมเข้มงวดกว่าเพราะเป็นการเดินทางระหว่างประเทศ ดังนั้น จำนวนเที่ยวบินฝั่งสหรัฐฯ จึงดีดกลับมาเร็วกว่า ต้องการพนักงานเพิ่มมาตั้งแต่ปีก่อน

ยุโรป สนามบิน โกลาหล
สัมภาระของผู้โดยสารถูกวางเกะกะไว้บริเวณเบลท์สัมภาระ สนามบินสคิปโฮล เนื่องจากขาดพนักงานดูแล ภาพจากวันที่ 12 มิ.ย. 2022 (Photo: Shutterstock)

ขณะที่ฝั่งยุโรปนั้น ในช่วง COVID-19 มีการปลดคนสูงสุด 191,000 คนทั่วยุโรป รวมทั้งพนักงานบนเครื่องบินและพนักงานภาคพื้นในสนามบิน เฉพาะพนักงานในสนามบินนั้น การเลย์ออฟทั้งหมดคิดเป็น 58.5% ของพนักงานทั้งหมด จากข้อมูลที่ศึกษาโดย สมาพันธ์แรงงานด้านการขนส่งแห่งยุโรป

เมื่อขณะนี้การท่องเที่ยวเพิ่งจะพุ่งทะยานกลับมาเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดโรคระบาด จึงไม่มีพนักงานเพียงพอ ไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแลการสแกนสัมภาระ ความปลอดภัย หรือกระทั่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน

อีกทั้งการรับสมัครงานพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการบิน ยังต้องผ่านการตรวจสอบประวัติเพื่อความปลอดภัยหลายอย่างซึ่งใช้เวลา ขณะที่เงื่อนไขการทำงานก็ไม่ค่อยจูงใจแรงงานเท่าไหร่

Ryan Air หนึ่งใสสายการบินที่เผชิญปัญหาพนักงานสไตรค์ (Photo: Markus Winkler/ Pexels)

ยกตัวอย่างสนามบินฮีทโธรว์ของอังกฤษ เพิ่งจะเริ่มรับสมัครงานกันเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2021 และกว่าจะทยอยบรรจุพนักงานได้เท่ากับช่วงก่อนเกิดโรคระบาด ก็คาดว่าจะต้องรอถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้

ซ้ำร้าย พนักงานที่ยังทำงานอยู่ขณะนี้ก็มีสไตรค์ นัดหยุดงานประท้วงบ่อยครั้ง เพราะเงื่อนไขการทำงานหนักหน่วง และยังได้ค่าจ้างแบบยุคโรคระบาดที่ถูกตัดเงินเดือนไปมาก ไม่ว่าจะเป็นสายการบิน Ryanair, Easyjet, Lufthansa หรือ สนามบิน สคิปโฮล ในเนเธอร์แลนด์ สนามบินชาร์ลส์ เดอ โกล ในฝรั่งเศส ต่างก็เคยเกิดพนักงานสไตรค์มาแล้ว และมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดอีกเรื่อยๆ ในสายการบินอื่นหรือสนามบินอื่น

 

2. “ยุโรป” คือศูนย์รวมการเดินทาง

พนักงานไม่พอ แต่ยุโรปคือศูนย์รวมแห่งการเดินทางท่องเที่ยว ช่วง 3 เดือนแรกของปี 2022 ยุโรปมีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศมากขึ้น 280% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ถ้าเทียบกันแล้ว สหรัฐฯ มีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศเพิ่ม 117% เทียบกับปีก่อน เห็นได้ว่ายุโรปต้องรับภาระหนักมากกว่า

ทำไมนักท่องเที่ยวจึงพร้อมใจกันมา? เรื่องนี้เป็นเพราะยุโรปเริ่มผ่อนคลายความเข้มงวดด้านโรคระบาดก่อนทวีปอื่น ตั้งแต่เริ่มต้นฤดูร้อนของยุโรป จุดหมายปลายทาง 31 แห่งของยุโรปไม่มีกฎด้าน COVID-19 ในการเข้าสู่ดินแดนโดยสิ้นเชิง

ภาคท่องเที่ยวต้องการจะต้อนรับผู้มาเยือน แต่ซัพพลายด้านการเดินทางไม่พร้อมจะรับดีมานด์เหล่านี้เลย

สนามบินใหญ่ๆ ของยุโรป เช่น สคิปโฮล ในอัมสเตอร์ดัม หรือ ฮีทโธรว์ ในกรุงลอนดอน ต่างวอนขอให้สายการบินช่วยลดจำนวนเที่ยวบินลง บางสายการบินเรียกได้ว่าถูกบังคับให้ตัดไฟลท์ออก ซึ่งทำให้ผู้โดยสารไม่พอใจอย่างมาก

โชคร้ายหน่อยที่สถานการณ์เหล่านี้คงไม่จบในเร็ววัน จนกว่าจะพ้นฤดูร้อนซึ่งเป็นหน้าท่องเที่ยว เพราะผู้โดยสารยังคงเพิ่มจำนวนขึ้น และเจ้าหน้าที่ก็ไม่เพียงพอ แม้จะมีการรับสมัครงานเพิ่มขึ้นแต่ก็เทรนไม่ทันในตำแหน่งที่ต้องใช้เวลาฝึก เช่น ความปลอดภัย การจัดการสัมภาระ ทำให้ผู้โดยสารที่ต้องการจะบินเข้าออกยุโรปในช่วงฤดูร้อนของที่นั่น อาจต้องเตรียมใจหากจะเกิดเที่ยวบินดีเลย์หรือยกเลิกไฟลท์ขึ้น

Source: Euronews, Reuters