เทรนด์ท่องเที่ยว – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 27 Oct 2021 13:23:38 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 คุยกับธุรกิจ “ท่องเที่ยว” เปิดประเทศ 1 พ.ย. ต่างชาติจะกลับมาแค่ไหน? คนไทยจะเที่ยวหรือเปล่า? https://positioningmag.com/1358808 Wed, 27 Oct 2021 12:46:19 +0000 https://positioningmag.com/?p=1358808 KTC จัดเสวนากับกลุ่มผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว มองอนาคตเปิดประเทศ 1 พ.ย.นี้ จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ชาวต่างชาติจะกลับมามากแค่ไหน และคนไทยพร้อมเที่ยวหรือยัง ติดตามได้ที่นี่

บัตรเครดิตเคทีซี จัดเสวนาออนไลน์ “เคทีซีผนึกพันธมิตรธุรกิจ ร่วมบุกตลาดท่องเที่ยวไทยเต็มสตีม” มีผู้เข้าร่วมการเสวนาจากหลายธุรกิจ ได้แก่

  • โชติช่วง ศูรางกูร รองกรรรมการผู้จัดการ บริษัท หนุ่มสาวทัวร์ จำกัด และ อุปนายก สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.)
  • วุฒิชัย เหลืองอมรเลิศ นายกสมาคมสวนสนุกและสวนพักผ่อนหย่อนใจแห่งประเทศไทย (TAPA) และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามพาร์คซิตี้ จำกัด ผู้บริหาร “สวนสยาม”
  • ธเนศ ศุภรสหัสรังสี รักษาการประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จ.ชลบุรี
  • ปิ่นยศ พิบูลสงคราม Head of Commercial สายการบินไทยเวียตเจ็ท
ผู้เข้าร่วมเสวนากับเคทีซี

การเสวนามีหลายประเด็นที่น่าสนใจซึ่งเราได้รวบรวมมาไว้ที่นี่ เพื่อให้ผู้ประกอบการเกี่ยวเนื่องได้เห็นภาพคาดการณ์ธุรกิจท่องเที่ยว

 

คนไทยพร้อมหรือยัง “เที่ยวในประเทศ”

“โชติช่วง” จากหนุ่มสาวทัวร์และอุปนายก สทน. กล่าวถึงตลาดนักท่องเที่ยวไทยว่า การท่องเที่ยวเป็นความต้องการของคน เมื่ออัดอั้นมานานแล้วเปิดให้เที่ยวได้ ลูกค้ามีแนวโน้มที่จะกลับมาเที่ยว แต่ลูกค้าก็มีหลายกลุ่ม ทั้งที่กังวลมาก กังวลน้อย และไม่กังวลเลย รวมถึงมีทั้งลูกค้าที่พร้อมด้านการเงิน และคนที่ไม่พร้อม ดังนั้น กลุ่มที่น่าสนใจจะเป็นตลาดกลางถึงไฮเอนด์ที่พร้อมด้านการเงิน และไม่กังวล ภาพรวมจึงคาดว่าการท่องเที่ยวในประเทศน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัว

สอดคล้องกับ “ปิ่นยศ” ไทยเวียตเจ็ท ที่มองลูกค้าเป็นหลายกลุ่มมากขึ้นจากความกังวล เช่น กลุ่มวัยรุ่นจะมีความกังวลน้อย กลุ่มที่มีครอบครัวแล้วและมีลูกเล็กหรือมีผู้สูงวัยในบ้าน จะกังวลมากกับการเดินทาง ทำให้การตลาดต้องแยกกลุ่มเหล่านี้แตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม จากการคลายล็อกดาวน์ทำให้เห็นตัวเลขการบินในประเทศดีขึ้น และไทยเวียตเจ็ทปรับเส้นทางบินมาเป็นเส้นทางบินในประเทศเป็นหลักอยู่ก่อนแล้ว ทำให้พร้อมรับดีมานด์ ส่วนเส้นทางบินต่างประเทศกำลังทยอยเพิ่มเส้นทาง โดยปลายเดือนพฤศจิกายนนี้คาดว่าจะเปิดรูท กรุงเทพฯ-ไทเป เพิ่มเติม

 

1 พ.ย. “ต่างชาติ” จะเข้ามามากแค่ไหน

“ธเนศ” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จ.ชลบุรี มองการเปิดประเทศให้ต่างชาติ 46 ประเทศเข้าสู่ไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว (เฉพาะ 17 พื้นที่ผ่อนปรน) คาดว่าชาวต่างชาติไม่น่าจะเดินทางเข้ามาเร็ว เพราะประเทศไทยมีขั้นตอนและเงื่อนไขค่อนข้างมาก เช่น ต้องตรวจ RT-PCR มีการซื้อประกันวงเงินสูง เมื่อเจรจากับพาร์ตเนอร์เอเจนซีทัวร์ต่างประเทศ ลูกค้าจะไม่ค่อยนิยมเลือกประเทศไทยก่อนประเทศอื่นที่สะดวกกว่า

Photo : Shutterstock

อีกประการหนึ่งคือ ประเทศหลักๆ ที่นิยมเดินทางมาไทย เช่น รัสเซีย อินเดีย ยังไม่อยู่ในลิสต์ 46 ประเทศความเสี่ยงต่ำ ขณะที่ “จีน” ยังติดปัญหาเมื่อชาวจีนเดินทางกลับเข้าประเทศตนเองจะต้องกักตัว 10-21 วัน ขึ้นอยู่กับเมืองที่พำนัก จึงไม่สามารถคาดหวังได้

นอกจากนี้ การเปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย. นี้นักท่องเที่ยวต้องใช้ Thailand Pass ซึ่งมีเวลาดำเนินการ 7 วัน ทำให้กว่าจะเข้ามาไทยได้จริงๆ อย่างเร็วจะเป็นวันที่ 8-9 พ.ย. และจากความยุ่งยากก็จะทำให้นักเดินทางที่กลับเข้ามาก่อนตามโครงการนี้คือคนไทยที่จะกลับบ้าน หรือต่างชาติที่มีบ้านในไทย

สรุปทำให้ผู้ประกอบการในพัทยาประเมินว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้จริงๆ น่าจะมี 3-4 หมื่นคนต่อเดือนในช่วงปลายปีนี้ เทียบกับปกติพัทยามีต่างชาติเข้ามาเดือนละ 1 ล้านคน ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องเน้นนักท่องเที่ยวไทยต่อไปก่อน สำหรับโรงแรมหรือสถานที่ท่องเที่ยวที่ที่ผ่านมาเน้นรับชาวต่างชาติและไม่สามารถปรับมาหาคนไทยได้ ก็อาจจะยังต้องปิดชั่วคราวต่อไป

 

ดึง “ยุโรป” ไม่ทัน หวังเปิดเฟส 2 มีไต้หวัน-รัสเซียในลิสต์

สอดคล้องกับ “โชติช่วง” ที่เห็นว่ามาตรการเปิดประเทศของรัฐยังไม่ค่อยสะดวกนัก “เหมือนเราเปิดประตูไว้ให้แบบแง้มๆ คนที่จะเข้ามาคือต้องอยากมาจริงๆ จนยอมบีบตัวเองผ่านประตูเข้ามา”

(Photo: Shutterstock)

สำหรับตลาดยุโรปซึ่งมีรายชื่ออยู่ในลิสต์ประเทศความเสี่ยงต่ำหลายประเทศ โชติช่วงมองว่าน่าจะไม่ทันต่อการวางแผนทริปปลายปีซึ่งเป็นทริป ‘หนีหนาว’ ของชาวยุโรป

“ธรรมชาติของชาวยุโรปเขามักจะใช้เวลาเตรียมทริปนาน 6-12 เดือน กฎบ้านเขาเริ่มเปิดให้ออกนอกประเทศได้ตั้งแต่ 1 ก.ค. 64 แปลว่า ณ ตอนนี้หรือปลายปีนี้ เขามักจะมีทริปของเขาแล้ว ส่วนใหญ่จะไปแถบชายทะเลเมดิเตอเรเนียน” โชติช่วงกล่าว ดังนั้น หากหวังนักท่องเที่ยวตะวันตกอาจจะต้องมองเป็นช่วงฤดูร้อนของไทยปีหน้า

โชติช่วงยังหวังด้วยว่า ภาครัฐจะมีการเปิดเฟส 2 ลิสต์ประเทศเสี่ยงต่ำเร็วๆ นี้ และหวังให้มีเขตปกครองไต้หวันและประเทศรัสเซียในลิสต์ เพราะเป็นเป้าหมายลูกค้าหลักของไทย

 

วอนรัฐฟังเสียงเอกชน เพิ่มความสะดวกให้กับการเข้าไทย

“วุฒิชัย” แห่งสวนสยาม เสริมในด้านการทำงานร่วมกับภาครัฐ เห็นว่าการเปิดประเทศ 1 พ.ย.นี้ แม้ไม่ได้ทำให้ธุรกิจฟื้นตัวทันที แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะคล้ายกับภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เมื่อเปิดมาปฏิบัติจริงแล้วจะเห็นข้อติดขัดและได้แก้ปัญหา ซึ่งรัฐควรจะรับฟังจากภาคเอกชน

“อยากให้รัฐฟังเอกชนว่าข้อติดขัดนั้นคืออะไร เพราะว่าเราเป็นคนฟัง feedback จากลูกค้าโดยตรง อย่าลืมว่าเราไม่ใช่ทางเลือกเดียวของลูกค้า เรามีคู่แข่ง ถ้าเราไม่สะดวก เขาก็มีทางเลือกอื่น ดังนั้น ผลประโยชน์ของชาติเรามีร่วมกันนะครับ” วุฒิชัยกล่าว

เช่นเดียวกับ “ธเนศ” ที่มองสอดคล้องกันว่ารัฐควรจะมีมาตรการที่สอดคล้องไปด้วยกันทั้งสุขอนามัยและเศรษฐกิจท่องเที่ยว เช่น ที่ผ่านมาเคยมีช่วงที่รัฐให้เปิดบริการโรงแรมได้ แต่ไม่อนุญาตให้เปิดสระว่ายน้ำ ซึ่งทำให้ลูกค้าไม่ตัดสินใจมาเที่ยวเพราะไม่มีสระว่ายน้ำเป็นจุดดึงดูด

ส่วนการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะนี้กำลังนำเสนอให้รัฐผ่อนปรนต่างชาติที่เข้าโปรแกรมแซนด์บ็อกซ์ ให้ลดการตรวจแบบ RT-PCR มาเป็นการใช้ ATK ที่ตรวจโดยบุคลากรการแพทย์ เพื่อให้ต้นทุนลดลงและใช้เวลาน้อยลงด้วย

โชติช่วงทิ้งท้ายในภาพรวมธุรกิจท่องเที่ยวที่ยังคงยากลำบาก (แต่มีความหวัง) ในระยะนี้ว่า ผู้ประกอบการยังต้องปรับตัวและระวังตัวกันต่อเนื่อง วันนี้ตลาดกำหนดเทรนด์ให้เรา จากเมื่อก่อนเราคือผู้กำหนดตลาด แต่ไม่ใช่เราไม่ทำอะไรเลย เราต้องคาดการณ์ตลาดให้ออก”

]]>
1358808
“ท่องเที่ยวเชิงเกษตร” เทรนด์ที่กำลังมาแรง เมื่อคนเมืองอยากสัมผัสชีวิตชนบท หนี COVID-19 https://positioningmag.com/1289665 Sun, 26 Jul 2020 17:47:22 +0000 https://positioningmag.com/?p=1289665 “ท่องเที่ยวเชิงเกษตร” เป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่กำลังจะขึ้นมาเป็นกระแสหลักหลัง COVID-19 จากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญหลายคนที่มองว่า การท่องเที่ยวแบบนี้ตอบโจทย์ทั้งการหลีกหนีพื้นที่ชุมชนหนาแน่น ได้ประสบการณ์กึ่งผจญภัย ได้เรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือจุดหมายที่น่าจะได้ประโยชน์จากเทรนด์นี้มากที่สุด

South China Morning Post รายงานกระแสมาแรงของเทรนด์ท่องเที่ยวในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นคือเทรนด์ “ท่องเที่ยวเชิงเกษตร” ที่ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสประสบการณ์ในแถบถิ่นชนบท และเป็นไปได้ว่าจะยิ่งได้รับความนิยมมากขึ้นช่วงหลัง COVID-19

“ฉันแทบรอไม่ไหวที่จะได้ทิ้งโลกในเมืองและกลับไปอยู่กับธรรมชาติ ได้อยู่ห่างจากชุมชนหนาแน่น และไปอยู่ที่ไหนสักแห่งที่ฉันจะได้สัมผัสชนบทจริงๆ” แอชลีย์ ชุง กล่าว เธอเป็น expat ชาวฮ่องกงที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ มาแล้ว 3 ปี

ชุงเป็นหนึ่งในนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่ต้องการไปสัมผัสประสบการณ์ชนบท ที่ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้หลีกหนีผู้คนมากมายในยุคหลัง COVID-19 หรือแม้กระทั่งช่วงที่เรายังต้องอดทนและรับมือกับ COVID-19 อยู่ก็ตาม

ทริปปั่นจักรยานชมแปลงนา จัดโดยโรงแรมโฟร์ซีซันส์ รีสอร์ต บาหลี แอท ซายัน (photo : Facebook@FourSeasonsResortBali)

ผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวมองว่า จุดหมายปลายทางในแถบถิ่นธรรมชาติจะเป็นที่ต้องการมากขึ้น การท่องเที่ยวเชิงเกษตรซึ่งขับเคลื่อนด้วยชุมชนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะได้รับประโยชน์จากเทรนด์นี้ โดยกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งยังเต็มเปี่ยมไปด้วยวิถีชีวิตชนบท น่าจะอยู่ในจุดที่สุกงอมพร้อมเก็บเกี่ยวจากเทรนด์นี้ได้เต็มที่

“ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีเทรนด์ความสนใจในการท่องเที่ยวเชิงเกษตร สิ่งแวดล้อม เวลเนส และผจญภัยสูงขึ้น” คริสโตเฟอร์ ลุนด์ หัวหน้าฝ่ายธุรกิจโรงแรมจาก Colliers International บริษัทบริหารการลงทุนและอสังหาริมทรัพย์ระดับโลก ให้ข้อมูล “เทรนด์ทั้ง 4 อย่างนี้ไปกันได้กับการเว้นระยะห่างทางสังคมซึ่งเป็นวิถีชีวิตใหม่ในขณะนี้ เพราะเป็นการท่องเที่ยวกลางแจ้งท่ามกลางธรรมชาติ พักผ่อนในบ้านพักกลางป่า และเน้นการรับประสบการณ์”

 

“ฟาร์มสเตย์” ช่วยชุมชนเกษตร

สำหรับการ “ท่องเที่ยวเชิงเกษตร” มักจะให้ประสบการณ์แบบ “ฟาร์มสเตย์” มีกิจกรรมให้ทำ เช่น ปลูกและเก็บเกี่ยวพืชผัก ดูแลปศุสัตว์ สำรวจฟาร์ม ไปจนถึงเข้าคลาสหัดทำอาหาร นอกจากจะได้ประสบการณ์ใหม่แล้วยังมีจุดเด่นที่ให้ความรู้สึกเหมือนได้ผจญภัยด้วย

“การท่องเที่ยวเชิงเกษตรเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการช่วยชุมชนยากจน เพราะปกติชุมชนเหล่านี้มักจะพึ่งพิงเฉพาะการทำเกษตร แต่สิ่งนี้จะช่วยให้ชุมชนมีรายได้พิเศษ” เซยะ อะชิกะริ ผู้ประกอบการเพื่อสังคมชาวญี่ปุ่นผู้ก่อตั้ง Ecologgie กล่าว โดยบริษัทของเขาทำการผลิตขนมและแป้งโปรตีนที่ทำจากจิ้งหรีด

(ขวา) เซยะ อะชิกะริ ผู้ก่อตั้ง Ecologgie ในฟาร์มจิ้งหรีด (Photo : Twitter@ashikari_seiya)

ยกตัวอย่างกรณีของ Ecologgie อะชิกะริทำธุรกิจว่าจ้างเกษตรกรผู้ทำฟาร์มจิ้งหรีดในเขตจังหวัดกำปงธมและจังหวัดตาแก้ว ประเทศกัมพูชา ให้ผลิตสินค้าให้กับเขา

Ecologgie ยังเริ่มจัด โปรแกรมทัวร์ฟาร์มจิ้งหรีดและแมงมุมทารันทูล่า ในกัมพูชาเมื่อช่วงปลายปีก่อน เพื่อช่วยเสริมรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกรเหล่านี้ นักท่องเที่ยวจะได้รับข้อมูลและสัมผัสฟาร์มจิ้งหรีดของจริง รวมถึงมีกิจกรรมผจญภัยเข้าป่าไปล่าแมงมุมทารันทูล่ากับนายพราน จากนั้นสามารถนำทารันทูล่าที่จับได้ให้ร้านพันธมิตรนำไปทอดกรอบเป็นอาหารให้ลองชิม

อะชิกะริกล่าวว่า นักท่องเที่ยวให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ แต่น่าเสียดายที่หลังจากออกทัวร์ไปได้ 2 รอบก็เกิดโรคระบาด COVID-19 ขึ้นเสียก่อน แต่เขาเชื่อว่าหลังการท่องเที่ยวกลับมาดำเนินการได้ กิจกรรมผจญภัยที่แตกต่างแบบของเขาจะได้รับความนิยม

 

ธุรกิจโรงแรมออกโปรแกรมทัวร์จับกระแส

กลุ่มโรงแรมก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่อาศัยเกาะกระแสท่องเที่ยวเชิงเกษตร ผ่านการออกแบบโปรแกรมประสบการณ์ใหม่ให้กับแขกผู้เข้าพัก โดยร่วมมือกับพันธมิตรเกษตรกรในท้องถิ่น ยกตัวอย่างเช่น โรงแรมโฟร์ซีซันส์ รีสอร์ต บาหลี แอท ซายัน มีการว่าจ้างกลุ่มชาวนาที่ทำนาอยู่ใกล้เคียงให้จำหน่ายข้าวส่งตรงเข้าโรงแรม โดยโรงแรมจะให้ราคาข้าวที่สูงกว่าตลาด แลกเปลี่ยนกับชาวนาจะต้องเปิดโอกาสให้แขกของโฟร์ซีซันส์เข้าไปสัมผัสการดำนา เกี่ยวข้าว แบบเดียวกับชาวนาตัวจริง

โปรแกรมทัวร์ของโฟร์ซีซันส์ รีสอร์ต บาหลี แอท ซายัน ประเทศอินโดนีเซีย ให้แขกได้ทดลองดำนาในแปลงเกษตรของจริง (photo : Facebook@FourSeasonsResortBali)

ที่รีสอร์ต ซิกส์เซนส์ เกาะยาวน้อย ประเทศไทยก็มีโปรแกรมคล้ายคลึงกัน โดยแขกสามารถเข้าฟาร์มไก่ออร์แกนิกของรีสอร์ตเอง และเลือกไข่ไก่สดกลับไปให้รีสอร์ตทำเป็นอาหารให้

หรือรีสอร์ต ซิกส์เซนส์ เกาะกระบัย กัมพูชา มีทริปให้แขกไปเยือนฟาร์มเกษตรเพื่อเข้าคลาสทำอาหารและจะได้รับประทานมื้ออาหารแบบ farm-to-table ทริปเหล่านี้เป็นสิ่งที่ “เจฟฟรีย์ สมิธ” รองประธานด้านความยั่งยืนของ Six Senses Hotel Resorts Spa กล่าวว่าบริษัทจะนำไปใช้กับโรงแรมอื่นๆ ของบริษัทในอนาคตให้มากขึ้น

ฟาร์มไก่ออร์แกนิกของซิกซ์เซนส์ ยาวน้อย (photo : Facebook@sixsenseyaonoi)

 

รวมพื้นที่เกษตรเป็นส่วนหนึ่งของโครงการโรงแรม

ฟิลิปปินส์เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีทรัพยากรพร้อมตอบรับเทรนด์ ด้วยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย ทำให้ฟิลิปปินส์เหมาะมากกับการทำท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ณ ชายฝั่งเกาะปังเลาที่เชื่อมต่อกับเกาะโบฮอล เป็นที่ตั้งของ รีสอร์ต เซาธ์ ปาล์ม เฟสสอง ซึ่งเป็นรีสอร์ตติดหาดเพื่อความยั่งยืนซึ่งจะมีทั้งร้านอาหารและคลับสำหรับเด็ก กำลังก่อสร้างเตรียมเปิดบริการในปี 2022

“รีสอร์ตเซาธ์ ปาล์มแห่งใหม่นี้เราจะนำเอาวัฒนธรรมเกษตรของเกาะโบฮอลมาเป็นส่วนหนึ่งของโรงแรม เพื่อเชิดชูความเป็นชนบทของฟิลิปปินส์” โฮป ยุย กรรมการผู้จัดการของรีสอร์ต ผู้เติบโตจากครอบครัวเกษตรกรบนเกาะ กล่าวถึงโปรเจกต์นี้

แขกของเซาธ์ ปาล์ม รีสอร์ต ปังเลา สามารถไปเยี่ยมฟาร์มเกษตรใกล้เคียงเพื่อช่วยเกษตรกรทำงานได้ (Photo : SCMP)

ฟาร์มเกษตรใกล้เคียงรีสอร์ตนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของมาสเตอร์แพลนโครงการ แปลงเกษตรออร์แกนิกจะพัฒนาขึ้นเพื่อให้แขกได้สัมผัส และเครื่องจักรเกษตรเก่าจะนำมาจัดแสดงเป็นสนามเด็กเล่นให้กับเด็กๆ ที่มาเที่ยวฟาร์ม กลุ่มหัตถกรรมท้องถิ่นจะได้รับว่าจ้างให้ผลิตเครื่องปั้นและเครื่องสานทันทีที่การล็อกดาวน์สิ้นสุด โครงการยังมีโปรแกรมในอนาคตที่จะสร้างฟาร์มแพะเพื่อผลิตนมและชีส รวมถึงให้แขกได้ลองรีดนมแพะกันด้วย

“เราต้องการสร้างบางสิ่งที่แขกจะได้สัมผัสประสบการณ์และลงมือทำเอง” ดรูว์ แอนเดอร์สัน ผู้อำนวยการ Topo Design Studio ผู้ออกแบบโครงการเซาธ์ ปาล์ม กล่าว “เราต้องการให้แขกได้เห็นท้องไร่ท้องนาของจริง ได้เรียนรู้เกี่ยวกับวัตถุดิบอาหารสดๆ ที่พวกเขาจะทานเป็นอาหารค่ำ ได้เดินสำรวจในฟาร์มเพื่อกระตุ้นให้พวกเขารู้จักพื้นที่และวัฒนธรรมท้องถิ่น”

 

farm-to-table จะยิ่งมาแรงขึ้นอีก

ความเคลื่อนไหวสำคัญของเทรนด์ท่องเที่ยวเชิงเกษตรคือมื้ออาหารแบบ farm-to-table พ่วงด้วยคำว่า “ออร์แกนิก” ซึ่งกลายเป็นบัซเวิร์ดที่พูดถึงกันมาก ดีมานด์ที่มีต่อวัตถุดิบอาหารปลอดสารพิษและยาฆ่าแมลงสดจากฟาร์มในชนบทพุ่งสูงมากตั้งแต่ช่วงก่อน COVID-19 แล้ว

ตัวอย่างร้านที่ใช้คอนเซ็ปต์ farm-to-table : ร้าน TAAN ในกรุงเทพฯ มีการใช้วัตถุดิบอาหารส่งตรงจากท้องถิ่นมาปรุงเป็นเมนูระดับ fine dining (Photo : Facebook@taanbangkok)

“แรงดึงดูดของกระแสนี้คือความรู้สึกสบายใจที่ได้รู้ว่าอาหารของคุณมาจากไหน และการได้ตระหนักรู้ว่าที่มาของอาหารส่งผลดีต่อตัวคุณและโลกนี้มากกว่าเดิม” แอนเดอร์สันกล่าว “COVID-19 สร้างความตื่นตกใจแก่พวกเราแต่ก็สร้างสิ่งที่ดีให้กับโลก เป็นการรีเซตในช่วงเวลาที่เหมาะสม สิ่งที่คนตระหนักมากขึ้นจากเรื่องนี้คือการรับรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม ชุมชน สุขภาพ และอนามัย”

เขากล่าวต่อว่า farm-to-table คือสิ่งที่สอดคล้องกับกระแสนี้ เพราะส่งประสบการณ์อาหารสด ดีต่อสุขภาพ และอร่อยกว่า ให้นักท่องเที่ยวได้ลิ้มลอง และได้รู้ว่าอาหารของตนมาจากไหน

ด้าน “ทิม กอร์ดอน” รองประธานอาวุโสของ Radisson Hotel Group กล่าวว่าเทรนด์ท่องเที่ยวเชิงเกษตรเริ่มต้นขึ้นแล้วตั้งแต่ 5-10 ปีก่อนเกิดโรคระบาด

“จากนี้เทรนด์ท่องเที่ยวเชิงเกษตรจะกลายเป็นกระแสหลักในเวลาอันรวดเร็ว เมื่อคนมองหาจุดหมายปลายทางที่แตกต่าง เพื่อประสบการณ์ในรูปแบบเหล่านี้” กอร์ดอนกล่าว

source

]]>
1289665
เปิด 8 เทรนด์ท่องเที่ยวปี 2020 ชาวไทยใส่ใจสิ่งแวดล้อม เที่ยวเมืองรองมากขึ้น https://positioningmag.com/1249592 Sat, 12 Oct 2019 06:58:21 +0000 https://positioningmag.com/?p=1249592 Booking.com เปิดเทรนด์การท่องเที่ยวของปี 2020 พบว่าในเมืองไทยมีกระแสการท่องเที่ยวเมืองรองมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งยังใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเช่นกัน  

อีกทั้งยังมองว่าปี 2020 จะเป็นปีแห่งการท่องเที่ยวเชิงสำรวจอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ด้วยแรงขับเคลื่อนของเทคโนโลยี รวมถึงความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนความผูกพันที่ลึกซึ้งขึ้นต่อผู้คนและสถานที่ที่เราไปเยือน

โดยที่ได้ทำผลสำรวจจากกลุ่มนักเดินทางมากกว่า 22,000 คนจาก 29 ประเทศ อีกทั้งข้อมูลเชิงลึกจากรีวิวของผู้เข้าพักกว่า 180 ล้านรายการที่ได้รับการตรวจสอบแล้ว ทั้งหมดนี้นำมาสู่บทสรุปเทรนด์ท่องเที่ยวในปีต่อไป

1. กระแสเที่ยว “เมืองรอง” จะมาแรงขึ้น

การเที่ยวเมืองรอง หมายถึง การไปสำรวจจุดหมายที่เป็นที่รู้จักน้อยกว่า เพื่อพยายามลดปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมืองและช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยเทรนด์ท่องเที่ยวนี้จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปีที่จะมาถึง

ผู้เดินทางชาวไทยจำนวน 68% อยากมีส่วนร่วมในการลดปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมือง จาก 54% ของผู้เดินทางทั่วโลก ส่วน 65% ต้องการเปลี่ยนแผนไปเที่ยวจุดหมายอื่นที่เป็นที่รู้จักน้อยกว่าแต่คล้ายกับของเดิม หากพบว่าจะช่วยลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และเพื่อกระตุ้นความสนใจนี้ยิ่งขึ้น

ผู้เดินทางชาวไทย 79% อยากให้มีบริการ หรือแอปพลิเคชัน/เว็บไซต์ แนะนำจุดหมายที่หากมีผู้ไปเที่ยวเพิ่มขึ้นแล้วจะช่วยสร้างผลเชิงบวกให้กับชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งคาดการณ์ได้เลยว่าบริษัทต่างๆ จะตอบสนองต่อความต้องการนี้ โดยเสนอฟังก์ชั่นที่ทำให้ผู้เดินทางสามารถระบุเมืองรอง/ละแวกจุดหมายได้ง่ายขึ้น

2. ให้เทคโนโลยีคาดการณ์สิ่งที่ไม่คาดคิด

ในปี 2020 ผู้เดินทางจะใช้เทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น ในกระบวนการตัดสินใจหลักๆ อย่างการเลือกว่าจะไปเยือนมุมใดของโลก ซึ่งอาจมีตัวเลือกมากมายจนตัดสินใจไม่ถูก ทว่าในปีที่ใกล้เข้ามานี้จะมีการใช้เทคโนโลยีสุดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และช่วยให้ก้าวข้ามเรื่องยุ่งยากนี้ได้อย่างง่ายดาย

ด้วยคำแนะนำที่ชาญฉลาดและเทคโนโลยีประมวลผลที่เชื่อถือได้ จะเชื่อมโยงเรากับประสบการณ์ใหม่ๆ จำนวนมหาศาล ซึ่งถ้าไม่ใช่เพราะเทคโนโลยีแล้วเราก็อาจไม่ได้มีโอกาสสัมผัส นอกจากนี้ยังช่วยประหยัดเวลา (รวมถึงเวลาที่ใช้นั่งหน้าจอดิจิทัล) และช่วยให้ใช้ทุกนาทีของ “ตอนนี้” ได้อย่างเต็มที่ระหว่างออกเดินทาง

ผู้เดินทางชาวไทย 82% กล่าวว่าต้องการให้ผู้ประกอบการเทคโนโลยีเสนอ “ไพ่เด็ด” และตัวเลือกสุดเซอร์ไพรส์ ซึ่งจะพาไปพบกับประสบการณ์แปลกใหม่อย่างแท้จริงสำหรับทริปในปีที่จะมาถึง นอกจากนี้ ผู้เดินทางไทย 64% เน้นว่าระหว่างเดินทางจะใช้แอปพลิเคชันที่ทำให้เลือกดู และจองกิจกรรมแบบเรียลไทม์ได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย

3. เที่ยวแบบสโลว์ๆ จะมาแทน #FOMO

แทนที่จะต้องคอยกลัวตกกระแส (Fear of Missing Out หรือ FOMO) และต้องเร่งรีบทำทุกอย่างให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ การเดินทางในปี 2020 นั้นจะพลิกโฉมไปเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยผู้เดินทางชาวไทย 61% วางแผนที่จะใช้รูปแแบบการเดินทางที่ช้าลงเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ 78% อยากเลือกเส้นทางที่ใช้เวลาเพิ่มขึ้นเพื่อสัมผัสประสบการณ์จากการเดินทางให้มากขึ้น

รูปแบบการเดินทางซึ่งช่วยสนับสนุนความต้องการที่เปลี่ยนไป ก็จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขี่จักรยาน รถราง เลื่อนลาก เรือ รวมถึงเดินด้วยสองเท้าของนักเดินทางเอง ตามจริงแล้วผู้เดินทางชาวไทย 75% ไม่เกี่ยงว่าจะต้องใช้เวลาเดินทางไปจุดหมายนานขึ้น หากได้ใช้วิธีเดินทางแบบแปลกใหม่ นอกจากนี้ ผู้เดินทาง 73% อยากสัมผัสถึงความรู้สึกราวกับได้ย้อนเวลา ด้วยการนั่งรถไฟสายประวัติศาสตร์ (เช่น Flying Scotsman หรือ Orient Express) เฝ้ารอปีแห่งการเดินทางสุดพิเศษแบบค่อยเป็นค่อยไปได้เลย

4. ค้นพบการท่องเที่ยวที่สัมผัสความสนุกได้แบบครบครัน

โลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็วทำให้ผู้คนส่วนใหญ่มักไม่มีเวลาว่างพอ เป็นเหตุให้ไม่ได้เริ่มทริปหรือหยุดพักผ่อน ผู้เดินทางต่างต้องการใช้เวลาให้มีประสิทธิภาพที่สุดระหว่างพักผ่อน ดังนั้น แทนที่จะเที่ยวแค่แบบเดียวตลอดทริป ในปี 2020 จะมีผู้เดินทางที่ต้องการทริปแบบ “ความสนุกครบครัน” เพิ่มขึ้น

โดยไปเยือนจุดหมายที่มอบประสบการณ์หลากหลายและมีสิ่งน่าสนใจ โดย 71% กล่าวว่าต้องการออกทริปยาวๆ สักครั้งเพื่อไปยังสถานที่ที่มีกิจกรรมและสิ่งที่น่าสนใจสุดโปรดทั้งหมดอยู่ใกล้กัน และอีก 77% ยอมรับว่าจะเลือกจุดหมายที่มีกิจกรรมและสิ่งที่น่าสนใจสุดโปรดทั้งหมดอยู่ใกล้กัน เพื่อจะได้ประหยัดเวลาเดินทาง

จากเทรนด์นี้จึงทำให้คาดได้ว่า แวดวงการเดินทางจะพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้ผู้เดินทางสะดวกยิ่งขึ้น โดยสร้างแผนเดินทางที่อัดแน่นด้วยความสนุกและสิ่งที่น่าสนใจหลากหลาย ข้อเสนอ และเส้นทางที่จะทำให้ผู้เดินทางได้เที่ยวจุดหมายสนุกครบครันเหล่านี้อย่างเต็มที่

5. สัตว์เลี้ยงต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง

เจ้าของสัตว์เลี้ยงทั่วโลก 55% กล่าวว่าให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงเหมือนเป็นลูก รวมถึง 53% ของเจ้าของสัตว์เลี้ยงชาวไทยด้วยเช่นกัน จึงไม่น่าแปลกใจที่เทรนด์การเดินทางปี 2020 นี้จะถือเป็นจุดเริ่มต้นยุคใหม่ของการพักผ่อนโดยมีสัตว์เลี้ยงเป็นศูนย์กลาง กล่าวคือเมื่อเลือกจุดหมาย ที่พัก และกิจกรรม เราจะได้เห็นผู้เดินทางให้ความสำคัญกับความต้องการของสัตว์เลี้ยงแสนรักก่อนตัวเอง

เจ้าของสัตว์เลี้ยงชาวไทย 52% ยอมรับว่าในปีหน้าจะเลือกจุดหมายพักร้อนโดยอิงจาก ความเป็นไปได้ในการพาสัตว์เลี้ยงไปด้วย และเจ้าของสัตว์เลี้ยงจำนวน 52% ก็ยินดีที่จะจ่ายเพิ่มเพื่อพัก ณ ที่พักซึ่งเป็นมิตรกับสัตว์เลี้ยง

เทรนด์นี้เห็นได้ชัดจากจำนวนที่พักซึ่งยินดีต้อนรับสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องบน Booking.com แม้ว่าผู้ประกอบการที่พักจะตระหนักถึงความต้องการนี้ แต่ผู้ประกอบการที่พักทั่วโลกก็ยังคงมองหาวิธีใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับการบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะ เช่น ที่นอนสุนัข สปาสัตว์เลี้ยง เมนูรูมเซอร์วิส หรือแม้แต่ห้องอาหารที่ออกแบบเป็นพิเศษเพื่อสัตว์เลี้ยง เรียกได้ว่าสัตว์เลี้ยงที่เดินทางพักร้อนพร้อมเจ้าของสามารถตั้งตารอประสบการณ์ระดับ 5 ดาวได้อย่างแน่นอน

6. สร้างความทรงจำดีๆ ด้วย “ทริปสองวัย”

ปี 2020 เป็นปีแห่ง “ทริปสองวัย” ลืมคำว่าช่องว่างระหว่างวัยไปได้เลย เพราะจะมีปู่ย่าตายายจำนวนมากขึ้นที่พร้อมไปพักร้อนอย่างยิ่งใหญ่กับหลานๆ โดยไม่ได้พาคนเป็นพ่อแม่ไปด้วย ชาวไทยในรุ่นปู่ย่าตายาย 74% ยอมรับว่าการใช้เวลากับหลานๆ ทำให้ตนเองได้รู้สึกย้อนวัย

โดยอีก 56% เชื่อว่าเหล่าพ่อแม่ก็อยากมีเวลาเป็นส่วนตัวบ้างโดยไม่มีเด็กๆ มารบกวน เมื่อจับคู่กับความจริงที่ว่าผู้สูงวัยทุกวันนี้แข็งแรงกว่า ชอบผจญภัยมากกว่า และกระตือรือร้นที่จะได้รู้สึกเหมือนกลับไปเป็นเด็ก อีกทั้งกระฉับกระเฉงกว่าเมื่อก่อน เราก็จะได้เห็นว่า “ทริปสองวัย” ซึ่งมีกิจกรรมสุดแอคทีฟมากมายให้คนสองวัยได้เข้าร่วมนั้น จะได้รับความนิยมมากขึ้นไปอีกในปีหน้า

7. แข่งกันไปจองร้านอาหาร

เมื่อต้องตัดสินใจเรื่องท่องเที่ยวในปีหน้า จะเห็นว่าผู้เดินทางต่างให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารเป็นอันดับแรกๆ โดยต่างแย่งกันจองร้านอาหารดังๆ สำหรับหลายคนแล้ว การเลือกจุดหมายและช่วงที่จะเดินทางนั้นเริ่มต้นจาก (และขึ้นอยู่กับว่า) สามารถจองร้านเพื่ออิ่มอร่อยกับอาหารที่อยากทานมากๆ ได้หรือไม่ ซึ่งหลายครั้งหลายคราจะเป็นร้านซึ่งมีคิวยาวเหยียดต่อเนื่องเป็นเดือนๆ

โดยเฉพาะในกลุ่มผู้เดินทางชาวไทยส่วนใหญ่ จำนวนถึง 85% กล่าวว่าการได้ทานอาหารที่ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นนั้นเป็นเรื่องสำคัญเมื่อไปทริปวันหยุด ดังนั้น เตรียมกาปฏิทินหาวันหยุดได้เลย เพราะในปีหน้าผู้เดินทางจะเปลี่ยนแผนท่องเที่ยวโดยอิงจุดหมายที่เหมาะกับการไปทานอาหารเป็นหลัก โดยอยากไปดื่มด่ำรสชาติก่อนใคร และต้องการไปเยือนร้านเป็นรายแรกๆ หรือก่อนที่จะกลายเป็นร้านดังออกสื่อต้องจองโต๊ะไปอีกร้าน

8. ทางลัดที่จะได้ออกเดินทางระยะยาว

เนื่องจากการเกษียณมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะไม่ได้มีเป้าหมายเพียงเพื่อมีอายุถึงจุดหนึ่งและไม่ต้องทำงานแล้ว แต่วางแผนอย่างแข็งขันที่จะเกษียณเร็วขึ้น ในปี 2020 เราจึงจะได้เห็นการวางแผนการเกษียณเป็นเหมือนกับ “การวางแผนเดินทางเพื่อออกผจญภัย”

ชาวไทยในช่วงอายุ 18 – 25 ปี จำนวนมากกว่า 28% กำลังวางแผนที่จะเกษียณก่อนอายุ 55 ปี โดยเรื่องที่วางแผนว่าจะทำก็เปลี่ยนไปเช่นกัน สำหรับปี 2020 ผู้เดินทางจะเปลี่ยนแนวคิดและเริ่มวางแผนครั้งใหญ่หลังเกษียณในอนาคต โดยผู้เดินทางชาวไทย 72% เห็นว่าการออกเดินทาง หรือท่องเที่ยว เป็นวิธีสุดสมบูรณ์แบบที่จะใช้เวลาว่างจากการเกษียณ

ส่วนผู้เดินทางชาวไทย 73% วางแผนที่จะทำให้ทริปโลดโผนขึ้นเมื่อเกษียณแล้ว และ 28% ของคนที่เกษียณแล้วก็กำลังวางแผน Gap Year กล่าวคือเอาเวลาไปเที่ยวนานหลายเดือนโดยไม่ให้มีเรื่องอะไรมาขัดจังหวะ ซึ่งเป็นการเดินทางที่ผู้เดินทางชาวไทย 73% เห็นพ้องว่าสามารถทำตอนอายุเท่าไรก็ได้ เนื่องจากการเกษียณและการเดินทางการเป็นเรื่องที่ควบคู่ไปด้วยกันสำหรับกลุ่มคนในหลายช่วงอายุ จึงคาดว่าจะได้เห็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้ผู้เดินทางสามารถเริ่มกระบวนการวางแผนผ่านเงินเก็บสำหรับ “ทริปหลังเกษียณ” โดยเป็นไปในลักษณะที่เปิดโอกาสให้ผู้เดินทาง ปันเงินไว้สำหรับทริปพักร้อนที่ยาวที่สุดในชีวิต

]]>
1249592
Airbnb เผยเทรนด์ท่องเที่ยวปี 2019 เมืองเก่าของโลก-โยคะม้า-แฟชั่นมัดย้อม มาแรง https://positioningmag.com/1204803 Mon, 24 Dec 2018 10:58:16 +0000 https://positioningmag.com/?p=1204803 การเดินทางท่องเที่ยวสามารถเป็นได้หลายอย่าง ทั้งสร้างแรงบันดาลใจ มอบความสุข และให้ความรู้ และยิ่งไปกว่านั้นมักจะมีเทรนด์ใหม่ๆ รอยู่เสมอ  

Airbnb แพลตฟอร์มท่องเที่ยว เปิดเผยเทรนด์การท่องเที่ยวสุดฮอตในปี 2019 สำหรับนักเดินทาง ไม่ว่าไปเที่ยวต่างประเทศ หรือแค่สำรวจสถานที่ท่องเที่ยวใกล้บ้าน

1) ญี่ปุ่น จุดหมายปลายทางอันดับหนึ่งของชาวไทย

นักเดินทางชาวไทย ต้องการเดินทางไปเที่ยวประเทศในแถบเอเชีย โดย “ประเทศญี่ปุ่น” ครองอันดับหนึ่ง และต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ใช้บริการ Airbnb มากกว่า 43,000 คนในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา, ตามด้วย เกาหลี ด้วยจำนวน 11,600 คน, สหรัฐอเมริกา (7,450 คน), สหราชอาณาจักร (6,230 คน) และไต้หวัน (5,750 คน) ตามลำดับ

5 เมืองจุดหมาย ปี 2019

จากข้อมูลสำรวจยอดการจองที่พัก และข้อมูลสถานที่ผู้ใช้บริการต้องการเดินทางไปเยือน  Airbnb พบว่านักเดินทางให้ความสนใจต่อภูมิภาคหรือเมืองที่ยังไม่ค่อยมีคนไปเยี่ยมเยือนมากมาก่อน และจุดหมายปลายทางเหล่านี้กำลังเติบโตที่สุด

  1. เมืองไคโครา ประเทศนิวซีแลนด์ (มียอดจองที่พักเพิ่มขึ้น 295% เมื่อเทียบปีต่อปี)
  2. เมืองเซียะเหมิน ประเทศจีน (มียอดจองที่พักเพิ่มขึ้น 283% เมื่อเทียบปีต่อปี)
  3. แคว้นนอร์แมนดี ประเทศฝรั่งเศส (มียอดจองที่พักเพิ่มขึ้น 229% เมื่อเทียบปีต่อปี)
  4. อุทยานแห่งชาติเทือกเขาเกรท สโมคกี้, ประเทศสหรัฐอเมริกา (มียอดจองที่พักเพิ่มขึ้น 191% เมื่อเทียบปีต่อปี)
  5. กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา (มียอดจองที่พักเพิ่มขึ้น 188% เมื่อเทียบปีต่อปี)

เทรนด์ “เที่ยวในประเทศ” กำลังมาแรง

ในปีที่ผ่านมามีนักเดินทางที่ใช้บริการ Airbnb มาท่องเที่ยวในไทยมากกว่า 1.65 ล้านคน ทำให้เห็นว่าคนท้องถิ่นในไทยที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของ “แชร์ริ่งอีโคโนมี” มีจำนวนมากขึ้น โดยเริ่มเห็นผลประโยชน์ของการให้เช่าที่พัก

ผลการสำรวจของ Airbnb พบว่าผู้เข้าพัก 84% ตัดสินใจใช้ Airbnb เพราะต้องการใช้ชีวิตเหมือนคนท้องถิ่น ในขณะที่ 44% ของผู้เข้าพักใช้จ่ายเงินภายในละแวกที่พัก โดยในประเทศไทย เทรนด์ของการสำรวจย่านท้องถิ่นเป็นที่นิยมอย่างยิ่ง

โดยรายงานการท่องเที่ยวและสถานที่ท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ของ Airbnb พบว่า 88% ของผู้ใช้บริการของ Airbnb เลือกที่พักที่อยู่นอกพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมดั้งเดิม และใช้จ่ายในร้านอาหารที่อยู่ในชุมชนสูงถึง 1.7 พันล้านบาท และใช้จ่ายด้านกิจกรรมการท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อนและวัฒนธรรม 1.5 พันล้านบาท และจับจ่ายในร้านขายผักและผลไม้ในชุมชนอยู่ที่ 800 ล้านบาท ซึ่งช่วยสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี

5 เมืองรอง ยอดนิยม

การเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น เนื่องจากมีหลายแคมเปญของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ นอกจากนั้น Airbnb ยังได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย, โครงการ B-STAY ในจังหวัดบุรีรัมย์ ช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการที่พักแบบ
โฮมสเตย์ในเมืองรองทั่วประเทศ

จากข้อมูลการจองที่พักบน Airbnb และข้อมูลสถานที่ผู้ใช้บริการชาวไทยต้องการเดินทางไปเยือนเมืองรองยอดนิยมปี 2018 ดังนี้

  1. ประจวบคีรีขันธ์
  2. นครราชสีมา
  3. กระบี่
  4. สุราษฎร์ธานี
  5. ปาย

ไมค์ ออร์กิล ผู้จัดการทั่วไปประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฮ่องกง และไต้หวัน กล่าวว่า “ปีนี้เราเห็นนักเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศไทยมีจำนวนมากขึ้น โดยพวกเขาเยือนสถานที่ที่ยังไม่มีคนไปมากนักและต้องการประสบการณ์ที่แท้จริง เราคาดหวังว่าเทรนด์นี้ยังต่อเนื่องไปในปี 2019 โดยผู้คนเลือกที่จะเดินทางแบบมีคุณภาพ สำรวจย่านที่คนยังไม่ค่อยรู้จัก และเรียนรู้จากคนในท้องถิ่น ขณะที่เพลิดเพลินกับประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงกับชุมชนท้องถิ่นที่พวกเขาไปเยี่ยมเยือนที่พักในไทยที่เป็นเอกลักษณ์และได้รับความนิยมระดับโลก อาทิ ไรซ์ บาร์ แอนด์ รูมส์ หรือแม้กระทั่งเยี่ยมชม ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ในเชียงใหม่

เทรนด์ประสบการณ์ปี 2019

ปี 2019 จะเป็นปีที่น่าสนใจ เนื่องจากนักเดินทางในยุคนี้ให้ความสำคัญกับประสบการณ์มากกว่าที่ผ่านมา เราพบว่า นักเดินทางกลุ่มมิลเลนเนียล 3 ใน 4 คนต้องการประสบการณ์มากกว่าสิ่งของ

เทรนด์ประสบการณ์จากทั่วโลกสามอันดับแรกของ Airbnb ที่ต้องจับตามองในปี 2019

1. โยคะแบบที่คุณไม่เคยทำมาก่อน

โยคะแพะเป็นที่คลั่งไคล้ในปี 2018 กำลังจะถูกแทนที่ด้วยโยคะม้าเสียแล้ว
ลองสัมผัสหนึ่งในประสบการณ์ทำสมาธิขั้นสูง อาทิ” ค้นพบมนต์ตราของม้าและโยคะ (ลาพอร์ต เคาน์ตี้, รัฐอินเดียนา), โยคะและฝึกสมาธิบนหลังม้า (มาลิบู รัฐแคลิฟอร์เนีย) หรือ ฝึกสมาธิกับม้า (ยอร์กเชียร์ อังกฤษ)

จำโยคะเบียร์ได้ไหม? ตอนนี้ไวน์กับโยคะ ถูกนำมาจับคู่กันเพื่อสร้างสรรค์ประสบการณ์การทำสมาธิอย่างผ่อนคลายแบบใหม่ ดูรายละเอียดประสบการณ์ Yoga & Wine ที่ซานติอาโก (ซานติอาโก ประเทศชิลี) และ HYPERLINK Sunset Rooftop Yoga @ Airpark SH (เซี่ยงไฮ้)

2. เรื่องราวเก่าๆ กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง

การจองเพื่อสัมผัสประสบการณ์ด้านประวัติศาสตร์บน Airbnb ในระดับทั่วโลกมีการเติบโตเร็วกว่าท่องเที่ยวแนวอาหารและเครื่องดื่มถึงสามเท่า และคาดว่าจะเป็นประเภทประสบการณ์ที่ถูกจองมากที่สุดในปี 2019 ตัวอย่างทำให้เรื่องเก่ากลับมาดูเท่อีกครั้งด้วยประสบการณ์ดังต่อไปนี้

หุบเขาส่วนตัวของกษัตริย์ (ลักซอร์, อียิปต์)

การสำรวจสุสานและประวัติศาสตร์ชาววูดู (นิวออร์ลีนส์) และ

ค้นหาอัญมณีที่ซ่อนอยู่ของอัมสเตอร์ดัมด้วยจักรยาน (อูด-เวสต์, อัมสเตอร์ดัม)

3. แฟชั่นมัดย้อมกลับมาฮอต!

หลายเดือนที่ผ่านมานี้ มีคำค้นหาหลักในแพลตฟอร์มของ Airbnb คือ ประสบการณ์ย้อมสีครามและมัดย้อม เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า สำหรับคำว่า ทำให้รู้ว่าแฟชั่นแบบเก่ากำลังจะกลับมาจาก สุดเชย กลายเป็น สุดฮิต ลองหนึ่งในประสบการณ์ต่อไปนี้ว่าขนาดไหนเหมาะกับคุณ เทคนิคย้อมสีครามแบบชิบอริ (บรูกลิน สหรัฐอมริกา), ประสบการณ์ย้อมสีครามตามธรรมชาติที่บาหลี (บาหลี ) และ การย้อมสีธรรมชาติโดยใช้เทคนิคโบราณ (เม็กซิโก)

ปัจจุบัน Airbnb มีที่พักในกว่า 81,000 เมือง และอยู่ในกว่า 191 ประเทศทั่วโลก มีนักเดินทางกว่า 400 ล้านคนใช้บริการ Airbnb.

]]>
1204803