CMMU ทำวิจัยกลุ่มตัวอย่าง พบว่า “คนรุ่นใหม่” ราวครึ่งหนึ่งพร้อมออกเที่ยวทันที ขณะที่ “กลุ่มครอบครัว” ส่วนใหญ่ยังกังวลใจ ขอรอดูสถานการณ์การระบาดก่อน ด้านจุดหมายยอดฮิตของทุกกลุ่มคือ “เชียงใหม่” นักท่องเที่ยวโหยหาธรรมชาติ พร้อมอ่านเคสจริงจากการปรับตัวของ “สิงห์ปาร์ค-เรเนซองส์ พัทยา”
นักศึกษาปริญญาโท วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) จัดทำงานวิจัย “Neo Tourism” สำรวจกลุ่มตัวอย่าง เก็บความคิดเห็นเกี่ยวกับการท่องเที่ยวหลังการระบาดรอบใหม่เริ่มคลี่คลาย
โดยกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจรวม 50 คน แบ่งเป็น “กลุ่มคนรุ่นใหม่” วัย 18-35 ปี จำนวน 25 คน และ “กลุ่มครอบครัวที่มีบุตรแล้ว” ส่วนใหญ่อยู่ในวัย 36 ปีขึ้นไป จำนวน 25 คน พบอินไซต์ของกลุ่มตัวอย่าง ดังนี้
1) กลุ่มคนรุ่นใหม่ เกือบครึ่งหนึ่งพร้อมเที่ยวทันที
แม้กลุ่มคนรุ่นใหม่ 45.8% จะยังกังวลและขอรอดูสถานการณ์ก่อน แต่มีถึง 43.8% ที่ตอบว่าอยากเที่ยวโดยเร็วที่สุด ซึ่งคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่าง ส่วนอีก 10.4% รู้สึกเฉยๆ กับการท่องเที่ยว
ส่วนกลุ่มครอบครัวจะมีความกังวลมากกว่า 52.2% ยังกังวลกับสถานการณ์ มีเพียง 28.3% ที่พร้อมเที่ยวทันที และ 19.6% รู้สึกเฉยๆ ไปเที่ยวหรือไม่ไปก็ได้
ปัจจัยที่จะทำให้ทั้งสองกลุ่มที่ตอบว่ายังกังวล จะคลายความกังวลและออกไปเที่ยว คือ ผู้ติดเชื้อลดลงต่ำกว่า 500 คนต่อวัน รองลงมาคือคนในประเทศได้รับวัคซีนเกิน 70% แล้ว และสุดท้ายคือตนเองได้รับวัคซีนที่มั่นใจในประสิทธิภาพแล้ว
2) โหยหาธรรมชาติ “เชียงใหม่” คือที่สุดในใจ
สภาวะที่คนเราต้องติดอยู่ในบ้าน เรียนหรือทำงานออนไลน์ตลอดเวลา ทำให้นักท่องเที่ยวโหยหาธรรมชาติกันมากขึ้น โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ 45% ยกให้สถานที่ทางธรรมชาติเป็นจุดหมายอันดับหนึ่ง ขณะที่มีถึง 61% ของกลุ่มครอบครัวที่ต้องการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ
Top 3 จุดหมายในใจของ “กลุ่มคนรุ่นใหม่” คือ 1)เชียงใหม่ 2)ภูเก็ต 3)ชลบุรี
Top 3 จุดหมายในใจของ “กลุ่มครอบครัว” คือ 1)เชียงใหม่ 2)ประจวบคีรีขันธ์ 3)ชลบุรี
3) ตั้งงบ 3,000-5,000 บาทต่อทริป
สำหรับระยะเวลาเที่ยวต่อทริปของทั้งสองกลุ่มคือ 3-4 วัน และ ตั้งงบที่ 3,000-5,000 บาทต่อทริปต่อคน เหมือนกัน แต่จริงๆ แล้วสำหรับกลุ่มครอบครัว การตั้งงบราคานี้ลดลงจากในอดีต เพราะต้องการประหยัดให้มากขึ้นในยุคนี้
4) “ความสะอาด” มาอันดับหนึ่งเมื่อเลือกที่พัก
อินไซต์อีกประการที่น่าสนใจคือกลุ่มตัวอย่างต่างยกให้ “ความสะอาด” เป็นเรื่องสำคัญที่สุดเมื่อเลือกที่พัก ดังนั้น ผู้ประกอบการควรสื่อสารเรื่องมาตรการความสะอาดในโรงแรมให้ลูกค้าทราบ
นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวต้องการข้อมูลที่เกี่ยวกับ COVID-19 ในพื้นที่ด้วย เช่น จำนวนผู้ติดเชื้อในจังหวัด มาตรการที่เกี่ยวกับการไปเที่ยวอย่างการเข้า-ออกจังหวัด เวลาเปิด-ปิดของสถานที่ท่องเที่ยว มาตรการการใช้งาน facility ในโรงแรม เป็นต้น
5) รุ่นใหม่ไปคาเฟ่ รุ่นใหญ่ขออยู่ในโรงแรม
กิจกรรมที่คนรุ่นใหม่ต้องการทำเมื่อไปเที่ยวคือ ‘Café Hopping’ ไปกินดื่มในคาเฟ่ ถ่ายรูปสวยๆ ทำคอนเทนต์ลงโซเชียลมีเดีย แต่กลุ่มครอบครัวต้องการอยู่ในโรงแรมหรือรีสอร์ทแบบเป็นส่วนตัว ไม่ต้องไปสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตทุกแห่งก็ได้ เพราะยังกังวลถ้าต้องเจอคนจำนวนมาก
6) ยอมจ่ายแพงกว่าถ้ายกเลิกได้
อีกสิ่งหนึ่งที่ทั้งสองกลุ่มมองเหมือนกันคือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ 75.2% และกลุ่มครอบครัว 70.2% ยอมจองที่พักหรือตั๋วเดินทางต่างๆ ในราคาแพงกว่า ถ้าหากยกเลิกได้ในภายหลัง เพราะสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน อาจมีคำสั่งจากรัฐที่กระทบกับการท่องเที่ยว หรือการติดเชื้อเพิ่มขึ้นจนทำให้ต้องการยกเลิก
สรุป : CMMU มองว่า Neo Tourism หลังการระบาด มี 3 ข้อที่นักท่องเที่ยวต้องการ และผู้ประกอบการต้องยึดไว้ในใจคือ
1) Nature Seeking – นักท่องเที่ยวโหยหาธรรมชาติสูง
2) Hygiene – นักท่องเที่ยวต้องการสุขอนามัยที่ดีเป็นอันดับหนึ่ง
3) Flexi – นักท่องเที่ยวต้องการความยืดหยุ่น ยอมจ่ายแพงกว่าถ้ายกเลิกขอเงินคืนได้
สิงห์ปาร์ค : ปรับไปลุย Sports Event แทน
ในงานสัมมนาเปิดข้อมูล Neo Tourism ทาง CMMU มีการเชิญวิทยากรร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้วย โดย “ชัยภัฏ จาตุรงคกุล” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สิงห์ปาร์ค เชียงราย จำกัด เปิดเผยสถานการณ์ของสิงห์ปาร์ค ตั้งแต่มีการระบาดเมื่อปีก่อน ทำให้บริษัทต้องปรับตัวสูงมาก รัดเข็มขัดค่าใช้จ่ายหลายส่วน และปรับมาตรการด้านสุขอนามัย เช่น ทำความสะอาดถี่ขึ้น เมนูอาหารใช้การสแกน QR CODE แทนเพื่อลดสัมผัส
ด้านแผนการตลาดปรับไปเน้นคนในท้องถิ่นใกล้เคียงแทน เช่น เชียงใหม่ แพร่ น่าน ลำพูน ลำปาง เพราะสามารถขับรถมาเที่ยวได้ง่าย สอดคล้องกับความต้องการของคนยุคนี้ที่ระวังการติดเชื้อ จะเน้นเที่ยวแบบ Road Trip แทนการขึ้นเครื่องบิน
ส่วนการจัดอีเวนต์ซึ่งปกติสิงห์ปาร์คจะจัดบ่อยและจัดใหญ่ มีคนเข้าอีเวนต์ 40,000-50,000 คน ปัจจุบันก็ต้องลดสเกลลงมาเหลือไม่เกิน 10,000 คน
รวมถึงกำลังมองแนวทางหันไปเน้นอีเวนต์ที่เว้นระยะห่างได้มากขึ้น จากเดิมมีการจัดคอนเสิร์ต ก็หันไปจัดอีเวนต์กีฬาแทน เช่น งานวิ่ง ขี่จักรยาน เพราะเป็นงานที่ผู้ร่วมแข่งขันจะเว้นระยะห่างกันโดยธรรมชาติ และเสริมด้วยกิจกรรมย่อย เช่น ออกร้าน การแสดงท้องถิ่น รองรับครอบครัวที่ติดตามผู้เข้าแข่งขัน
ด้วยสถานการณ์ทำให้สิงห์ปาร์คยังจำกัดนักท่องเที่ยวไม่เกิน 50% ของที่รองรับได้ อีเวนต์ก็มีขนาดเล็กลง ทำให้ต้นทุนต่อหัวของนักท่องเที่ยวสูงขึ้น และการดึงสปอนเซอร์สนับสนุนอีเวนต์จะยากขึ้น โจทย์การบริหารต้นทุนจึงท้าทายมาก
“ยากที่สุดตอนนี้คือเราไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นอีก เราต้องทำแผนกันเป็นรายเดือน การวางบัดเจ็ทยากมาก แม้ว่ารัฐมีแผนเปิดการท่องเที่ยวซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่เราก็ต้องระวังว่าอีก 2 เดือนอาจจะเกิดการระบาดอีกก็ได้ ดังนั้นเราต้องรัดเข็มขัด ทำงานด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ ใช้โซเชียลทุกช่องทางเพื่อสื่อสารดึงคนมา” ชัยภัฏกล่าว
เรเนซองส์ พัทยา : ลูกค้าเปลี่ยนมาจอง ‘Last Minute’
ด้าน “สุพจี วิริยะยรรยงสุข” ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารจัดสรรรายได้ โรงแรมเรเนซองส์ พัทยา รีสอร์ทแอนด์สปา กล่าวถึงสถานการณ์ของโรงแรมหลัง COVID-19 กลุ่มลูกค้าต้องเปลี่ยน เพราะปกติโรงแรมจะมีแขกชาวต่างชาติมากกว่า 50% แต่เมื่อปิดประเทศทำให้ต้องหันมาทำการตลาดลูกค้าคนไทยมากขึ้น
ช่องทางที่ลูกค้าคนไทยใช้จะเน้นโซเชียลมีเดีย โรงแรมจึงใช้โซเชียลมีเดียโปรโมตถี่ขึ้น ลงทุนกับการใช้ KOL รีวิวที่พัก เน้นการขายวอชเชอร์ราคาพิเศษ และไปร่วมเทรดโชว์ต่างๆ ขณะนี้หลังคลายล็อกดาวน์ อัตราการเข้าพักก็เริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ
พฤติกรรมลูกค้าอีกส่วนที่น่าสนใจคือ ก่อนเกิด COVID-19 ลูกค้าจะจองโรงแรมล่วงหน้าเป็นเวลานานและยอมจ่ายแบบไม่สามารถคืนเงินได้ (non-refundable) เพราะจะได้ราคาดีที่สุด แต่ปัจจุบัน ลูกค้าจะจองโรงแรมแบบ ‘Last Minute’ เช่น จะเข้าพักวันเสาร์ ลูกค้ามักจองวันพุธ-พฤหัส และยังยอมจ่ายแพงกว่าถ้าหากขอยกเลิกคืนเงินได้ เพราะลูกค้าไม่มั่นใจว่าจะเกิดเหตุกะทันหันในวันเดินทางหรือไม่
เมื่อทั้งสองพฤติกรรมนี้รวมกัน ทำให้ลูกค้ามักจะจองผ่านโซเชียลมีเดีย ทักเข้ามาใน Facebook, Instagram หรือ LineOA เพราะลูกค้าต้องการสอบถามข้อมูลต่างๆ ก่อน เช่น facility ของโรงแรมเปิดบริการไหม และเมื่อตัดสินใจได้ก็จะจองผ่านโซเชียลมีเดียต่อเนื่องไปเลย
สุพจีหวังว่าต่อจากนี้สถานการณ์จะเริ่มดีขึ้น เมื่อโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 เริ่มต้น และมีโครงการทัวร์เที่ยวไทยเข้ามาเสริม เชื่อว่าถ้าผ่านไปสักระยะแล้วไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเปิดประเทศ