เบอร์เกอร์ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 15 Feb 2024 12:41:03 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 จาก ‘ย่างไฟ’ สู่ ‘เจ้าแห่งชีส’ ภาพจำใหม่ของ ‘เบอร์เกอร์คิง’ ที่ต่อยอดจากแคมเปญ ‘เรียลชีสเบอร์เกอร์’ https://positioningmag.com/1462613 Thu, 15 Feb 2024 07:00:14 +0000 https://positioningmag.com/?p=1462613 หากย้อนไปในช่วงแรก ๆ เบอร์เกอร์คิง (Burger King) มักจะออกมาย้ำ (กึ่ง ๆ แซวคู่แข่ง) ว่าเบอร์เกอร์คิงย่างเนื้อด้วยไฟ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเบอร์เกอร์คิง แต่ในวันที่แคมเปญ เบอร์เกอร์ชีสล้วน หรือ Real Cheese Burger กลายเป็นไวรัลไกลไปถึงต่างประเทศ และปีนี้เบอร์เกอร์คิงจะใช้ชีสสร้างภาพจำใหม่ให้กับแบรนด์

ย้อนรอยความสำเร็จ Real Cheese Burger

จุดเริ่มต้นของแคมเปญ Real Cheese Burger นั้นเกิดจากการที่เบอร์เกอร์คิงต้องการโปรโมตแท็กไลน์ของร้าน Have It Your Way เพื่อย้ำว่าเบอร์เกอร์ที่อร่อยที่สุดคือ เบอร์เกอร์ในแบบที่เราชอบ อีกทั้งเบอร์เกอร์คิงอยากสื่อสารถึงอีกจุดเด่นของแบรนด์ก็คือ ลูกค้าสามารถ คัสตอมไมซ์ส่วนผสมของเบอร์เกอร์ได้ ทำให้ เบอร์เกอร์ชีสล้วน 20 แผ่น ได้ถูกออกมาขายจริง

แม้ว่าจะมีดราม่าเรื่องโภชนาการที่อาจไม่ดีต่อสุขภาพบ้าง ทำให้เจ้าเบอร์เกอร์ชีสล้วนต้องเลิกขายก่อนกำหนด แต่ต้องยอมรับว่าแคมเปญดังกล่าวไปได้ไกลกว่าที่เบอร์เกอร์คิงคาดไว้มาก เพราะไม่ใช่แค่เอ็นเกจเมนต์บนแฟนเพจเบอร์เกอร์คิงเพิ่มขึ้นกว่า 3,000% แต่ยังออกสื่อระดับโลกอย่าง CNN

นอกจากนี้ ยังช่วยให้เบอร์เกอร์คิงขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ได้เพิ่มขึ้น 50% มีดาวน์โหลดแอปฯ เพิ่ม 200% สร้างยอดขายนิวไฮในช่วงระยะเวลาที่ออกแคมเปญให้เพิ่มขึ้นกว่า 20% และยอดคำสั่งซื้อเบอร์เกอร์เพิ่มชีสเพิ่มขึ้นเป็น 30% และเพิ่มเนื้อมากขึ้น 5 เท่า

จาก Real Cheese สู่ 4 Cheese

จะเห็นว่าจากแคมเปญ Real Cheese Burger ทำให้เบอร์เกอร์คิงถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในปีที่ผ่านมา (ไม่นับรวมเรื่องความไวต่อกรแสต่าง ๆ) ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจหากเบอร์เกอร์คิงจะหยิบเรื่อง ชีส มาสร้างเป็นภาพจำใหม่ให้กับแบรนด์ อย่างไรก็ตาม การทำเบอร์เกอร์ชีสล้วนอาจจะดูสุดโต่งไป ดังนั้น เบอร์เกอร์คิงจึงต้องออกเมนูใหม่ที่ทานได้จริงอย่าง โฟร์ชีสเลิฟเวอร์เบอร์เกอร์ ที่ต่อยอดจาก Real Cheese Burger และสร้างภาพจำใหม่เป็นเจ้าแห่งชีสเบอร์เกอร์

ไม่ใช่แค่เมนูใหม่ แต่แคมเปญการตลาดก็ไม่ได้ทิ้งลายเซ็นที่จะ จิกกัด แบบหยิกแกมหยอก คู่แข่ง แต่ไม่ได้เห็นแค่ในเฟซบุ๊กแฟนเพจอีกต่อไป แต่เบอร์เกอร์คิงยังจัดใหญ่ออกสื่อใจกลางเมือง โดยนำโฟร์ชีสเลิฟเวอร์เบอร์เกอร์มาชนจะ ๆ กับคู่แข่งไปเลย เรียกได้ว่าจัดใหญ่ตั้งแต่ต้นปีเลยทีเดียว

“ปีนี้เรายังคงการสื่อสารที่เป็นมนุษย์มากขึ้น เพอร์เซอร์นอลไรซ์มากขึ้น และการที่เราออกสินค้าใหม่เป็นชีสจะช่วยให้แบรนด์มีอแวร์เนสมากขึ้น เพราะชีสเป็นอะไรที่คนไทยชอบ เข้าใจง่าย ถ้าเห็นรสชาติที่ชอบก็จะยิ่งช่วยสร้างการรับรู้” เจริญชัย บำรุงวงศ์ทอง Marketing Director บริษัท เบอร์เกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว

ภารกิจมัดใจเด็กและเข้าสู่เมืองรอง

ที่ผ่านมา จากการสื่อสารที่เป็นมนุษย์มากขึ้น โลคอลไรซ์มากขึ้น มีวิธีการตอบใหม่ ๆ เป็นเพอร์เซอร์นอลไรซ์ของแบรนด์ก็ช่วยให้เบอร์เกอร์คิงเข้าถึงคนไทยมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่ม คนรุ่นใหม่ นอกจากนี้ แบรนด์ก็ถูกมองเป็นเพื่อนมากขึ้น และลูกค้ามีความเชื่อมั่นในแบรนด์มากขึ้น 15-20%

“เราคุยแบบเพื่อนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้มันมีโพซิทีฟฟีดแบ็กมากขึ้นเรื่อย ๆ เขาจะไม่ได้มาคอมเพลนเรารุนแรง มาติเพื่อต่อ มาแนะนำมากกว่าเพราะเขามองเราเป็นเพื่อน”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการสร้างแบรนด์บนโซเชียลมีเดียจะแข็งแรง แต่จุดอ่อนของเบอร์เกอร์คิงยังคงเป็นเรื่องของ สาขา ปัจจุบันเบอร์เกอร์คิงมี 123 สาขา ใน 28 จังหวัด ซึ่งถือว่ายังน้อยอยู่เมื่อเทียบกับคู่แข่ง โดยเฉพาะในจังหวัดรองที่คิดเป็นสัดส่วนเพียง 30% ดังนั้น โจทย์ใหญ่จากนี้คือ การขยายสาขา

ลบภาพจำของแพง

นอกจากนี้ อีกจุดที่เบอร์เกอร์คิงต้องการเปลี่ยนก็คือ ภาพจำว่า แพง และ มีแต่เบอร์เกอร์ ไม่มีอาหารอื่น ๆ ซึ่งเบอร์เกอร์คิงก็พยายามจะปรับปรุง โดยเบอร์เกอร์จะมีราคาเริ่มต้นที่ 79-200 กว่าบาท และมีเมนูใหม่ ๆ เช่น ข้าว, ไก่ทอด เพื่อให้ลูกค้าเข้ามาสัมผัสกับเบอร์เกอร์คิงง่ายขึ้น ปัจจุบันเมนูเบอร์เกอร์ของเบอร์เกอร์คิงคิดเป็นสัดส่วน 70% แต่ในอนาคตอาจลดลงเหลือ 60%

“ตอนนี้เราอยากใช้ชีสและเมนูใหม่ ๆ ที่คนไทยคุ้นเคยเป็นสะพานเชื่อม เพื่อให้ในอนาคตเขาจะลองทานเบอร์เกอร์ซึ่งเป็นคอร์โปรดักส์ของเรา”

สำหรับเมนู โฟร์ชีสเลิฟเวอร์เบอร์เกอร์ คาดว่าจะสร้างการเติบโต 2 หลัก และเปลี่ยนมุมมองเบอร์เกอร์ในตลาด โดยเมนูดังกล่าวจะถูกวางจำหน่ายจริงในวันที่ 15 ก.พ.นี้ จนถึงวันที่ 30 เม.ย 2567 นี้ที่ร้านเบอร์เกอร์คิง ทุกสาขาทั่วประเทศ

]]>
1462613
เปิดแผน ‘เบอร์เกอร์คิง’ ปี 2024 ในวันที่ ‘ความหวัง’ และ มาตรฐาน‘ ของลูกค้าสูงขึ้น https://positioningmag.com/1454390 Mon, 04 Dec 2023 10:07:00 +0000 https://positioningmag.com/?p=1454390 หากพูดถึงหนึ่งในแบรนด์ที่โดดเด่นของตลาด QSR ชื่อของ เบอร์เกอร์คิง (Burger King) ต้องเป็นชื่อแรก ๆ ที่โดดเด่นขึ้นมา เพราะมีหลายแคมเปญปั่น ๆ สุดปังอย่าง เรียลชีสเบอร์เกอร์ หรือ ไก่ทอดหาดใหญ่ ซึ่งสะท้อนวิชั่นที่ชัดเจนของแบรนด์ คือ การสื่อถึงความเป็นโลคอล เข้าถึงได้ และมีสินค้าที่เหมาะกับคนไทย นอกจากนี้ จะยังคงความชัดเจนในคาแรกเตอร์ และยังคงเน้นย้ำความเป็นเบอร์เกอร์

สรุปความปังปี 2023

หลังจากเริ่มต้นสร้างการรับรู้ด้วย เบอร์เกอร์คิง ช็อกโกแลตคิง ที่เป็นการคอลแลปกับช็อกโกแลต Hershey’s จนทำให้ผู้บริโภคหันมาสนใจได้สำเร็จ จากนั้นเบอร์เกอร์คิงก็มีการออกโปรดักส์เบอร์เกอร์มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเซ็ตมูทแอนด์โทนในมุมอินโนเวทีฟ เช่น เบอร์เกอร์ชีสซี่เลิฟเวอร์ที่ออกมาในเดือนเมษายน

แต่ที่สำเร็จสุดก็คือ เรียลชีสเบอร์เกอร์ ที่เป็นไวรัลดังไกลไปต่างประเทศ สามารถสร้างเอนเกจเมนต์เพิ่มขึ้น 3,000% และยอดขายพุ่ง 20% สูงสุดนับตั้งแต่ที่เคยทำตลาดในไทย อีกทั้งยังใช้สื่อสารถึงจุดเด่นของเบอร์เกอร์คิงที่สามารถออกแบบเบอร์เกอร์ตามที่ต้องการได้ และอีกเมนูที่ช่วยสื่อถึงความเป็นโลคอลก็คือ ไก่ทอดหาดใหญ่ ที่ปัจจุบันครองส่วนแบ่งเมนูไก่ได้ 80% เติบโตได้ 2 เท่า

ผู้บริโภคคาดหวังสูงขึ้นเรื่อย ๆ

เจริญชัย บำรุงวงศ์ทอง Marketing Director บริษัท เบอร์เกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ยอมรับว่า จากแคมเปญที่ออกมาตรงใจผู้บริโภค ทำให้เขา คาดหวังว่าจะได้เห็นอะไรใหม่ ๆ จากเบอร์เกอร์คิงว่าจะมีแคมเปญอะไรออกมา นอกจากนี้ แอดมินแบรนด์อื่น ๆ ในตลาด QSR ก็เล่นกับลูกค้าหมด ดังนั้น การคิดแคมเปญของเบอร์เกอร์คิงก็ยากขึ้น ก็เป็นโจทย์ของทีมว่าจะทำอย่างไรให้เบอร์เกอร์คิงเป็น Top of Mind บนโซเชียลต่อไป

“เราเองก็ยากขึ้น เพราะมีคู่แข่งที่ทำคล้าย ๆ เรา สไตล์เดียวกับเรา แต่เรามองเป็นเรื่องสนุกที่ต้องตื่นขึ้นมาแล้วคิดว่าจะทำอะไรดี ไม่ได้กดดัน เพราะโลกดิจิทัลให้เราลองได้ เฟลก็ลองใหม่ไม่เสียหาย แต่สุดท้ายเราก็ต้องเป็นตัวของตัวเอง ไม่ต้องตามใคร เพราะเราเองก็มีการเซ็ตมูดแอนด์โทนมานานแล้ว เราก็พยายามคุยกับลูกเพจเหมือนเดิม” 

เจริญชัย บำรุงวงศ์ทอง Marketing Director บริษัท เบอร์เกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด

โดยทิศทางการทำแคมเปญของเบอร์เกอร์คิงในปีหน้า เบอร์เกอร์คิงจะไปทุก ๆ ทัชพอยต์ ไปอยู่ในทุกแพลตฟอร์มและจะปรับตัวให้เข้ากับทุกแพลตฟอร์ม และจะเน้นการนำดาต้ามาใส่กับแบรนด์ดิ้งเพื่อสื่อสาร รวมถึงพยายามหามุมใหม่ ๆ อินไซต์ใหม่ ๆ ของลูกค้ามาทำแคมเปญการตลาด และยังคงเปิดให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมกับแบรนด์ คงความ ฮิวแมนไนซ์ เพื่อให้ลูกค้ามองเเบรนด์เป็นเพื่อน ไม่ใช่สิ่งของ 

นอกจากนี้ เบอร์เกอร์คิงจะพยายามทำให้ ลูกค้าสนิทกับพนักงาน ด้วย โดยการทำมาร์เก็ตติ้งกับน้องพนักงาน มีการเทรนด์พนักงาน เพราะสิ่งนี้ก็เป็นการตลาดยุคใหม่ที่ต้องทำเหมือนกัน เพราะด่านหน้าที่ลูกค้าต้องเจอคือ พนักงาน

“การตลาดทุกวันนี้ไม่ใช่วันเวย์ เเต่เป็นทูเวย์คอมมูนิเคชั่น ต้องทำให้แบรนด์เป็นมนุษย์มากขึ้น และเราไม่สามารถคิดแทนผู้บริโภคทั้งหมดได้ว่าเขาชอบอะไร แต่ใช้อินไซต์เป็นตัวนำ และเมื่อเราเป็นเพื่อนกับเขา เราเห็นเลยว่าเขาจะคอมเมนต์เราดี ๆ เตือนเราเหมือนเพื่อนไม่ได้จ้องจะด่า”

เพิ่มความเป็นไลฟ์สไตล์ให้แบรนด์

อีกจุดที่แบรนด์ต้องการไปคือ อยากให้แบรนด์มีความเป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้น โดยจะ เพิ่มสินค้าของสะสม เกี่ยวกับแบรนด์ เพื่อให้แบรนด์อยู่กับลูกค้าได้ทุกที่ไม่ใช่แค่นึกถึงเวลาหิว อีกทั้งจะเน้นที่ ดิจิทัลแพลตฟอร์ม โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อช่วยสนับสนุน เช่น บริการ Self Pick-Up หรือสั่งออนไลน์มารับที่ร้าน และการเพิ่มตู้คีย์ออสสั่งอาหารด้วยตัวเอง

“ปีนี้เราลงทุนในออนไลน์กับเทคโนโลยีไปเยอะมาก เพราะเราทำล่วงหน้ารอวันที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป อย่างบริการ Self Pick-Up ที่เพิ่มก็โตเกือบ 10 เท่า ในอนาคตเราอยากเป็นเหมือนจีน ที่เขาจะมีกล้องในร้านช่วยเก็บข้อมูลลูกค้า ว่าลูกค้าที่เข้าร้านมากี่ครั้ง ชอบสั่งเมนูไหน ซึ่งเราเองก็อยากไปให้ได้ในจุดนั้น”

นอกจากนี้ เบอร์เกอร์คิงก็จะมีแคมเปญส่วนลดเพื่อกระตุ้นตลาด เช่น ดีลพิเศษ, การเก็บพอยต์ เพื่อดึงดูดลูกค้า และต่อไปการมอบสิทธิพิเศษจะมีความเพอร์เซอร์นอลไรซ์มากขึ้น

“การเป็นแบรนด์ในปัจจุบันต้องเป็นคน ต้องโลคอลไรซ์ เพอร์เซอร์นอลไรซ์ เสนอออฟเฟอร์ที่เหมาะกับคนคนนั้นจริง ๆ และโซเชียลเปลี่ยนเเปลงเร็วและเยอะมาก การจะประสบความสำเร็จต้องดูอินไซต์ผู้บริโภคและแพลตฟอร์มไปพร้อม ๆ กัน”

 

ปีหน้าอยากโตเหมือนปีนี้

ในปีที่ผ่านมา เบอร์เกอร์คิงมีรายได้ 2,400 ล้านบาท โดยปีนี้คาดว่าจะเติบโตได้ 20% ซึ่งในปีหน้าเบอร์เกอร์คิงวางเป้าจะรักษาการเติบโตให้ได้เท่ากับปีนี้ โดยปัจจุบันยอดใช้จ่ายต่อบิลของเบอร์เกอร์คิงเฉลี่ยที่ 290 บาท แต่ในปีหน้า เบอร์เกอร์คิงต้องการทำให้ยอดใช้จ่ายเฉลี่ยต่ำลง เพื่อดึงลูกค้าใหม่เข้ามามากขึ้น เนื่องจากมูลค่าต่อบิลที่สูงสะท้อนให้เห็นว่าเป็นลูกค้าเก่าที่ชินกับการสั่งเมนูที่ราคาสูง

“ลูกค้า 15% กลับมากินเพราะมีสินค้าใหม่ ดังนั้น เราจะทำควบคู่ทั้งเมนูใหม่และโปรโมชั่น เนื่องจากไม่อยากให้เขารู้สึกว่าแพง เข้าถึงไม่ได้ ทำให้ปีหน้าเราต้องการทำให้ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยลดลง แต่เพิ่มจำนวนลูกค้า”

จนถึงสิ้นปี เบอร์เกอร์คิงมีสาขา 123 สาขา โดยในปีหน้าจะเพิ่มอีก 5 สาขา ทำรายได้เป็นอันดับที่ 4 ของเครือไมเนอร์

]]>
1454390
‘แมคโดนัลด์’ พลิกทำกำไรในรอบ 4 ปีด้วย 3 กลยุทธ์หลัก “ทานได้บ่อย นั่งได้ยาว และมีจุดแข็งมากกว่าหนึ่ง” https://positioningmag.com/1425153 Tue, 28 Mar 2023 00:44:01 +0000 https://positioningmag.com/?p=1425153 ถือเป็นแบรนด์ที่อยู่ในตลาด QSR มายาวนานถึง 37 ปีเต็ม แต่ในช่วง 4 ปีหลัง ผลประกอบการของ แมคโดนัลด์ ประเทศไทย (McDonald’s) ก็ไม่สู้ดีนัก โดยประสบปัญหา ขาดทุน มาอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นปี 2022 ที่แบรนด์เปลี่ยน CEO ใหม่เป็น กิตติวรรณ อนุเวชสกุล อดีตลูกหม้อของบริษัทที่ปรับกลยุทธ์แบรนด์จนกลับมา ทำกำไรได้อีกครั้ง

หยุดขาดทุนฟาดกำไร 276%

แม้จะมีการรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2022 ที่ผ่านมา แต่จริง ๆ แล้ว กิตติวรรณ อนุเวชสกุล CEO หญิงคนแรกของ แมคโดนัลด์ ประเทศไทย ก็เข้ามารับตำแหน่งตั้งแต่ช่วงต้นปี และภายในปีแรก กิตติวรรณ สามารถทำให้แมคโดนัลด์สามารถพลิกกลับมาทำกำไรอีกครั้งในรอบ 4 ปี โดยทำรายได้ 5,500 ล้านบาท เติบโต 40% มีกำไร 120 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 276% และ ในปี 2023 แมคโดนัลด์ตั้งเป้าเติบโต 20%

“เราเห็นสัญญาณว่าตลาดเริ่มดีขึ้นในช่วงกลางปี 2022 ที่ผู้คนออกจากบ้านมากขึ้น และนักท่องเที่ยวก็กลับมา โดยช่วง Q4 เรามีการเติบโตสูงสุดในรอบ 10 ปี แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้เราทำกำไรอีกครั้งคือ ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ทีมงาน มีเป้าหมายที่ชัดเจน พร้อมวิ่งไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร

“กิตติวรรณ อนุเวชสกุล” CEO หญิงคนแรกของ “แมคโดนัลด์” ประเทศไทย

แวลูมีลเพิ่มความถี่ในการทาน

ย้อนไปช่วงเดือนพฤศจิกายน แมคโดนัลด์ได้เปิดตัวแคมเปญ Everyday Value Meal (EVM) ราคา 99 บาท ซึ่งสร้างการเติบโตด้วยมูลค่ากว่า 25 ล้านบาทต่อเดือน หรืออัตราการเติบโต +150%  คิดเป็นสัดส่วนยอดขาย 8.2% ของยอดขายในสินค้าทั้งหมด นอกจากนั้นยังมีโปรโมชันจับคู่ McSaver 55 บาท จับตลาดกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น

จะเห็นว่ากลยุทธ์ EVM ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ทำให้แมคโดนัลด์สามารถสร้างการเติบโตได้ ดังนั้น ในปีนี้จะยังคงเดินหน้าทำแคมเปญดังกล่าว โดยจะมีการเพิ่มเมนู ‘ไก่ทอด’ อีกสิ่งที่จะเน้นในปีนี้ จากเดิมมี 4 เมนู

“เราเห็นว่าผู้บริโภคทานข้าว 1 มื้อเฉลี่ยที่ 100 บาท เราเลยออกแคมเปญ EVM ราคา 99 บาท เมื่อราคาเข้าถึงได้ ลูกค้าก็มาทานได้บ่อยขึ้น เราจึงใช้ราคาเป็นจุดหลักในการดึงดูดใจผู้บริโภค และปีนี้จะมีการเพิ่มเมนู ซึ่งก็จะยิ่งเพิ่มความถี่ เพราะเขาสามารถมาลองเมนูใหม่ได้เรื่อย ๆ”

ดันไก่ทอดเป็นอีกจุดแข็งใหม่

ใครเป็นแฟนแมค น่าจะคุ้นเคยกับ แมคไก่ทอด ดี เพราะเป็นเมนูที่อยู่มานานและน้อยคนจะรู้ว่า กิตติวรรณ ก็คือผู้อยู่เบื้องหลัง และในปีนี้แมคจะทำตลาดไก่ทอดอย่างจริงจังมากขึ้น เนื่องจากเป็นตลาดใหญ่มูลค่า 25,000 ล้านบาท กินสัดส่วนมากขึ้นครึ่งหนึ่งของตลาด QSR แม้จะมีการแข่งขันสูงก็ตาม

ปัจจุบัน เมนูประเภทไก่ของแมค (แมคไก่ทอด, แมคนักเก็ต) มีสัดส่วนยอดขายประมาณ 17% โดยแมคตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนกลุ่มนี้เป็น 25-30% อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไก่ทอดจะเป็นโอกาสของแมค แต่ กิตติวรรณ ยืนยันว่า เบอร์เกอร์ยังเป็นสิ่งที่แมคโฟกัส โดยปัจจุบันเบอร์เกอร์มีสัดส่วนยอดขายประมาณ 60% โดยแมคจะเพิ่ม เมนูเบอร์เกอร์ใหม่ ๆ ออกมาทุกไตรมาส เพื่อเพิ่มความหลากหลาย

เบอร์เกอร์ยังเป็นธุรกิจหลัก แต่เราอยากสร้างจุดแข็งเพิ่มขึ้น นำเสนอวาไรตี้เมนูให้ลูกค้ามากขึ้น ซึ่งเราก็มีการพัฒนาแมคไก่ทอดมาโดยตลอดจนเราเชื่อว่าเรามีจุดแข็งพอ”

สาขาโฉมใหม่นั่งสบายได้ยาว ๆ

อีกกลยุทธ์ของแมคคือ การบริการ ที่ถือเป็นอีกกุญแจสำคัญที่สร้างการเติบโตในปีที่ผ่านมา เพราะหลังจากเปิดสาขาใหม่ 4 สาขา และรีโนเวตใหม่ 23 สาขา พบว่า สาขาที่รีโนเวตใหม่ยอดขายเพิ่มขึ้น 20% โดยสาขาใหม่เน้นส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า (Experience of the Future (EOTF)) โดยจะมี Guest Experience Leader (GEL) ช่วยบริการ, มีพนักงานเสิร์ฟอาหารที่โต๊ะ พร้อมกับใส่เทคโนโลยีเพิ่มความสะดวก เช่น Self Ordering Kiosk (SOK), การชำระเงินแบบแคชเลส, มีปลั๊กไฟ และฟรีไวไฟ ให้บริการ

เรายืนยันว่าร้าน McDonald’s นั่งนานได้ สามารถเข้ามานั่งทานอาหารไปด้วยทำงานไปด้วย อย่างบางสาขาเราก็ทำห้องน้ำอย่างดีต้อนรับลูกค้า เพราะอยากให้เขาเข้ามาได้ประสบการณ์ที่ดี ได้รับความประทับใจสูงสุด”

ปัจจุบัน แมคมีสาขาทั้งหมด 228 สาขา โดยมีแผนเปิดสาขาใหม่ภายในปีนี้อีกประมาณ 10-15 สาขาใช้งบ 300 ล้านบาท เน้น strategic location ที่มีกลุ่มเป้าหมายเข้ามาใช้บริการได้มากๆ ทั้งในและนอกกรุงเทพฯ โดยพิจารณาปริมาณความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก

นอกจากนี้ แมคมีกลยุทธ์ 3D ได้แก่

  • Delivery ซึ่งปัจจุบันคิดเป็น 40% ของยอดขาย โดยทางแมคจะพยายามอำนวยความสะดวกให้กับไรเดอร์
  • Drive thru ปัจจุบันมี 83 สาขา คิดเป็น 20% ของยอดขาย ซึ่งมีการเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไปตั้งแต่ช่วงโควิด
  • Digital คือ แอปพลิเคชันแมคโดนัลด์ ปัจจุบันมีฐานผู้ใช้งานกว่า 3 ล้านคน โดยจะทำหน้าที่เป็น Omnichannel เพื่อจะเชื่อมต่อกับลูกค้ามากขึ้น โดยแอปจะมีการแจกคูปองส่วนลด และสามารถสั่งเดลิเวอรี่ได้

คู่แข่งใหม่มาไม่หวั่น

สำหรับภาพรวมตลาด QSR ในประเทศไทยปี 2022 มีมูลค่าราว 45,000 ล้านบาท แบ่งเป็นตลาดไก่ทอด 25,000 ล้านบาท, เบอร์เกอร์ 10,000 ล้านบาท และพิซซ่า 8,500 ล้านบาท โดย กิตติวรรณ มองว่าปี 2023 ตลาดยังมีแนวโน้มเติบโต เนื่องจากการมาของนักท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม การมาของแบรนด์เบอร์เกอร์ใหม่อย่าง Shake Shack มองว่าอาจยังไม่ได้มีนัยสำคัญต่อการแข่งขันในตลาดนัก แต่ถือว่าทำให้ตลาดมีสีสันมากขึ้น ขณะที่ แมคโดนัลด์เองยังคงเป็นเบอร์ 1 ของตลาดทั้งในแง่สาขา และยอดขาย มีส่วนแบ่งราว 60%

กิตติวรรณ ทิ้งท้ายว่า แมคโดนัลด์วางตัวเองไว้ให้กลุ่ม Premium Mass มีลูกค้าครอบคลุมทุกช่วงวัย ตั้งแต่วัยรุ่น, วัยทำงาน และกลุ่มครอบครัว แต่ปีนี้บริษัทจะทำตลาดในกลุ่ม Gen Z มากขึ้น

“ความท้าทายคือของการจับกลุ่ม Gen Z คือ ต้องพูดภาษาเดียวกับเขา ราคาต้องโดนใจ ต้องเชื่อมต่อเขากับแบรนด์ให้ได้ ซึ่งสำหรับเราแล้ว ความท้าทายเท่ากับโอกาส ถ้าเราเข้าถึงเขาได้เราจะมีปลาให้จับอีกเยอะมาก”

]]>
1425153
‘เบอร์เกอร์ คิง’ ขอสลัดภาพ ‘ฝรั่ง’ เอาใจ ‘ลูกค้าไทย’ แก้ปัญหานักท่องเที่ยวต่างชาติหาย https://positioningmag.com/1299789 Fri, 02 Oct 2020 13:15:00 +0000 https://positioningmag.com/?p=1299789 ปีที่ผ่านมา ‘ตลาดเบอร์เกอร์’ มีมูลค่าตลาดที่ 20,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องเพราะการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของไทย แต่เพราะการระบาดของ ‘COVID-19’ ที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวโดยตรง ดังนั้นไม่บอกก็คงเดาได้ว่าตลาดเบอร์เกอร์นั้นเจ็บตัวแน่นอน

COVID-19 ทำให้ตลาดมีคู่แข่งเพิ่ม

ธนวรรธ ดำเนินทอง ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เบอร์เกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ ‘เบอร์เกอร์ คิง’ (Burger King) กล่าวว่า แม้จะยังไม่มีตัวเลขมูลค่าตลาดเบอร์เกอร์ในปี 2020 นี้ แต่ยอมรับว่า ‘เหนื่อย’ เพราะหากย้อนไปช่วงเดือน 4 ตลาดแข่งขันสูงมาก โดยผู้เล่นทุกรายต่างอัดโปรโมชั่นอย่างหนัก เนื่องจากต้องระบายสต็อก ขณะที่ต้องเจอกับคู่แข่งอื่น ๆ ที่หันมาส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่กันหมด แม้กระทั่ง ‘โรงแรม’ ดังนั้นการแข่งขันมีมาทุกช่องทาง แต่ตอนนี้กลับมาสู่สภาวะปกติแล้ว

ไม่ใช่แค่การแข่งขัน แต่ COVID-19 ยังส่งผลให้พฤติกรรมเปลี่ยนไป โดยการนั่งทานที่ร้านและซื้อกลับบ้านจากมีสัดส่วน 70% เหลือ 60% ในปีนี้ ส่วนเดลิเวอรี่เติบโตขึ้นจาก 10% เป็น 25% ในปีนี้ ส่วนไดรฟ์ทรูมีสัดส่วนประมาณ 15% ที่ไม่เติบโตมากเพราะสาขาไดรฟ์ทรูมีจำกัด

“เราวางแผนเรื่องเดลิเวอรี่มานานแล้ว โดยเรามีทั้งบริการเดลิเวอรี่ของตัวเองและพาร์ตเนอร์อย่าง Grab, Foodpanda และอื่น ๆ แต่พอมี COVID-19 มันส่งผลให้เกิดการเติบโตอย่างมาก ซึ่งการซื้อเดลิเวอรี่มีข้อดีคือ มูลค่าคำสั่งซื้อจะสูงกว่าทานที่ร้าน และเรามองว่านี่เป็นแค่จุดเริ่มต้น เพราะเริ่มเห็นบริการฟู้ดเดลิเวอรี่เริ่มขยายไปในต่างจังหวัดมากขึ้น”

ผุดแคมเปญ คริสต์มาสไม่คิดมาก หวังโต 25%

ในปีที่ผ่านมา เบอร์เกอร์คิงสามารถเติบโตได้ 15% แต่เพราะพิษ COVID-19 ส่งผลให้ยอดขาย หายไปถึง 2 หลัก ดังนั้น จึงไม่อยากเทียบรายได้เป็นปีต่อปี แต่เทียบเป็นรายไตรมาสแทน ซึ่งในไตรมาสสุดท้ายนี้ บริษัทตั้งเป้าเติบโตให้ได้ 25% พร้อมออกแคมเปญใหม่ ‘คริสต์มาสไม่คิดมาก’ เพื่อปลุกบรรยากาศเฉลิมฉลองตั้งแต่เดือนตุลาคมยาวไปถึงเดือนพฤศจิกายน โดยตกแต่ง 3 สาขาไฮไลต์ในธีมคริสต์มาส พร้อมออกโปรโมชัน ‘ซื้อ 1 แถม 1’ ซึ่งมั่นใจว่าเป็นที่นิยมของคนไทย และนี่ถือเป็นโปรโมชันที่ใหญ่ที่สุดของเบอร์เกอร์ คิงในปีนี้

“ทุกคนรู้ว่าปีนี้เป็นปีที่ยาก ดังนั้นเราจึงอยากเร่งเวลาให้เทศกาลมาเร็ว เพื่อเป็นข้ออ้างเฉลิมฉลองพร้อมกับโปรโมชัน 1 แถม 1 ซึ่งเรามั่นใจว่าเป็นโปรโมชันที่กระตุ้นได้ดีที่สุด เพราะเราเห็นจาก The Pizza Company ที่ลูกค้าต้องการความคุ้มค่า

เพิ่มความเป็น ไทย อุดรูนักท่องเที่ยว

เพราะกว่า 40% ของสาขาเบอร์เกอร์ คิง ตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยว ส่งผลให้ลูกค้าเบอร์เกอร์ คิง 40% เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ อีก 60% เป็นลูกค้าไทย แต่หลังจากเกิด COVID-19 ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ปัจจุบันลูกค้าคนไทยคิดเป็นสัดส่วน 90% ดังนั้น กลยุทธ์จากนี้ของเบอร์เกอร์ คิงจะต้องกลับมาโฟกัสที่ ‘ลูกค้าไทย’ มากขึ้น โดยที่ผ่านมาได้ทยอยปรับหลายอย่าง ตั้งแต่ตัวสินค้า เช่น เพิ่มเมนูข้าวไก่ทอด เป็นต้น การสื่อสาร โดยปรับโลโก้เป็นภาษาไทย ทำเมนูเป็นภาษาไทย มีการปรับไลน์สินค้าราคาประหยัด อาทิ นินจาเบอร์เกอร์ ราคา 49 บาท และมีโปรโมชัน 1 แถม 1

“ยอมรับว่าแบรนด์เราเข้าถึงคนไทยยาก แค่ชื่อเมนูคนก็เรียกถูกเรียกผิด ดังนั้นเราจึงเริ่มจากการปรับเมนูและโลโก้เป็นภาษาไทย ส่วนราคาที่สูงคงไม่ปรับลง แต่เน้นที่การทำโปรโมชัน เช่น ซื้อ 1 แถม 1 และออกเมนูใหม่ราคาประหยัด นอกจากนี้จะเพิ่มเมนูอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เบอร์เกอร์ อาทิ เมนูข้าว เพราะเรารู้ว่าคนไทยไม่ได้อยากกินแต่เบอร์เกอร์”

ขยายสาขายังต้องทำ

เพราะลูกค้านักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งหายไปเกือบ 100% ส่งผลให้ต้องปิดสาขาไปถึง 14 สาขา จากทั้งหมด 96 สาขา โดยแบ่งเป็น ภูเก็ต 7 สาขา, สมุย 1 สาขา กระบี่ 1 สาขา, พัทยา 2 สาขา และกรุงเทพฯ 3 สาขา โดย 1 ในสาขาที่ปิดไปนั้น ถือเป็นสาขาที่มียอดขายเป็น ‘อันดับ 1’ ซึ่งก็คือ สาขาสนามบินภูเก็ต ส่งผลให้แผนที่จะเปิดสาขาให้ได้ 10 สาขาในปีนี้ต้องเปลี่ยนไป โดยเปิดเพียง 5 สาขาในกรุงเทพฯ ซึ่งที่ผ่านมาได้เปิดแล้ว 2 สาขา อีก 3 สาขาจะเปิดภายในปีนี้

“คู่แข่งเราก็ปิดเยอะ และเชื่อว่าคงไม่มีเปิดใหม่ ขณะที่เรายังสามารถขยายได้ เพราะสาขาทั้งหมดเราเพิ่งครอบคลุมเพียง 10 จังหวัดในไทย และเราคงไม่ปิดกั้นตัวเองเรื่องทำเล ไม่ว่าจะห้างฯ หรือปั๊มถ้ามีศักยภาพเราก็เปิด ซึ่งปัจจุบันสาขาที่ขายดีอันดับ 1 เป็นสาขาในปั๊มแถวประชานุกูล เพราะตอนนี้คนไม่อยากเข้าเมือง เน้นซื้อใกล้บ้าน

ขณะที่ ‘ลูกค้าต่างชาติ’ เองอาจจะยังคาดหวังอะไรไม่ได้ ดังนั้น คงต้องมาดูกันว่าเมื่อเบอร์เกอร์ คิงปรับภาพให้ ‘เป็นมิตร’ กับคนไทยมากขึ้น พร้อมกับอัดโปรโมชันอย่างแน่นในไตรมาสสุดท้ายของปี จะได้ใจ ‘ลูกค้าไทย’ แค่ไหน เพราะภาพจำไม่ใช่อะไรที่สลัดออกได้ง่าย ๆ

]]>
1299789
McDonald’s เริ่มขายเบอร์เกอร์จาก Plant-based Food ในแคนาดาแล้ว https://positioningmag.com/1248339 Thu, 03 Oct 2019 01:25:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1248339 MCDONALD’S CORPORATION

ยังคงร้อนแรงจริงๆ กับธุรกิจ Plant-based Food หรือเนื้อไร้เนื้อ ที่มีผู้เล่นรายใหญ่คือ Beyond Meat ซึ่งได้กลายเป็นบริษัทเนื้อหอมแห่งปีเช่นกัน มีผู้สนใจเข้าลงทุนเพียบ!

Plant-based Food หรือบางคนจะเรียกว่า Plant-based Meat เรียกง่ายๆ ก็คือเนื้อไร้เนื้อ เป็นอาหารแนวใหม่ที่ทำมาจากพืชในสัดส่วนมากถึง 95ซึ่งจะไม่ใช่มังสวิรัติ หรือเจ เพราะไม่มีประเด็นเรื่องการละเมิดชีวิตสัตว์ เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมล้วนๆ

Plant-based Food ที่นิยมมากที่สุดคือการนำมาทำเนื้อเบอร์เกอร์ ทำให้ในวงการเชนร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดดูเหมือนจะมีการใช้ Plant-Based Food มากเป็นพิเศษ โดยมีผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดต่างออกเมนูพิเศษ ได้แก่ Burger King โดยบริษัท Impossible Food ออกเมนู Impossible Whopper รวมถึงแบรนด์อื่นๆ อย่าง White Castle, Qdoba, Bareburger ก็มีเมนูที่ทำจาก Plant-Based Food

แม้ McDonald’s จะเคยออกเมนู Big Vegan TS ที่เป็นเมนูมังสวิรัติมาแล้ว แต่เทรนด์ของ Plant-based Food มาแรงขนาดนี้ มีหรือจะพลาดตกขบวน

โดยที่ล่าสุดได้ประกาศร่วมมือกับ Beyond Meat ในการทดลองจำหน่ายเมนูจาก Plant-based Food เป็นเวลา 12 สัปดาห์ จะจำหน่ายในประเทศแคนาดาทั้งหมด 28 แห่งเท่านั้น ก่อนหน้านี้ McDonald’s ได้จำหน่ายเมนูเบอร์เกอร์ไร้เนื้อในเยอรมนี และอิสราเอลแล้ว

ในเมนูนี้จะมีส่วนประกอบหลักคือ P.L.T. (Plant, Lettuce, Tomato) หรือพืช ผักกาดหอม และมะเขือเทศ หลังจากที่ทำการทดลองกับลูกค้า ก็พบว่ามีลูกค้าที่ชื่นชอบ P.L.T. อยู่ไม่น้อย เป็นการได้รู้เทรนด์ของผู้บริโภคแบบเรียลไทม์ด้วย นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะแซนวิชไร้เนื้อเป็นเมนูถาวรอีกด้วย

สำหรับ Beyond Meat ก่อนหน้าที่จะมาร่วมมือกับ McDonald’s ได้ทำงานร่วมกับ KFC, Subway, Dunkin’ และ Carl’s Jr. มาแล้ว เรียกว่าเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงเทรนด์ใหม่ๆ หรือทางเลือกใหม่ๆ สำหรับผู้บริโภคในการเลือกรับประทานอาหาร

โดยที่ Plant-Based Food ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่เป็นการทานเนื้อแบบไม่มีเนื้อ แถมยังช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมอีกด้วย.

Source

]]>
1248339
“พิธาน องค์โฆษิต” เติมพอร์ตลงทุนธุรกิจฟู้ด ถือหุ้น Mos Burger 75% ชิงตลาด “หมื่นล้าน” ลุยต่อแฟชั่น M2S https://positioningmag.com/1239479 Thu, 18 Jul 2019 09:27:04 +0000 https://positioningmag.com/?p=1239479 นอกจากเป็นผู้บริหารเจน 2 ทายาท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE) ผู้ผลิตและจำหน่ายแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอมป์ พิธาน องค์โฆษิตยังมีพอร์ตโฟลิโอธุรกิจส่วนตัว THE FACE SHOP แบรนด์เครื่องสำอางเกาหลี, สินค้าแฟชั่นแบรนด์ M2S ล่าสุดเข้าลงทุน 75% ใน Mos Burger แบรนด์เบอร์เกอร์สัญชาติญี่ปุ่น

ธุรกิจฟาสต์ฟู้ดในประเทศไทยปี 2561 ตลาดใหญ่สุดคือ ไก่ทอด มูลค่า 18,700 ล้านบาท ตามด้วย เบอร์เกอร์ 9,000 ล้านบาท และพิซซ่า 8,200 ล้านบาท ยังเติบโตเฉลี่ยปีละ 5 – 10% ในตลาดเบอร์เกอร์อันดับ 1 คือแมคโดนัลด์มีกว่า 300 สาขา อันดับ 2 เบอร์เกอร์คิง 80 สาขา ทั้ง 2 แบรนด์ ครองส่วนแบ่งการตลาด 90%

บุกธุรกิจฟู้ดร่วมทุน Mos Burger  

พิธาน องค์โฆษิต ประธานบริษัท มอส ฟูดส์ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าปัจจุบันพอร์ตการลงทุนส่วนตัวนอกจากธุรกิจเคซีอี ในปี 2557 ได้ลงทุนธุรกิจเครื่องสำอางเกาหลี THE FACE SHOP และปีนี้ขยายการลงทุนใหม่ธุรกิจอาหาร ด้วยการเข้าไปถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 75% ในบริษัท มอส ฟูดส์ เซอร์วิสเซส ผู้ลงทุนร้านฟาสต์ฟู้ด Mos Burger ในประเทศไทย โดยใส่เงินเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 200 ล้านบาท

พิธาน องค์โฆษิต

ร้านฟาสต์ฟู้ด Mos Burger แบรนด์เบอร์เกอร์สัญชาติญี่ปุ่นอายุ 48 ปี เข้าสู่ตลาดไทยในปี 2550 จากการเข้ามาลงทุนของ มอส ฟูดส์ เซอร์วิสเซส อิงค์ เจ้าของแบรนด์ร่วมกับพาร์ตเนอร์ญี่ปุ่นในไทย ปัจจุบันมี 8 สาขาในโมเดิร์นเทรด เรียกว่าการขยายสาขาต่อปีทำได้ไม่มาก ช่วงต้นปีที่ผ่านมาบริษัทแม่ญี่ปุ่น จึงมองหาพาร์ตเนอร์ใหม่เพื่อโอกาสขยายสาขาในประเทศไทย

พิธาน บอกว่าเป็นจังหวะเดียวกับการมองหาการลงทุนธุรกิจใหม่ในกลุ่มฟู้ด จึงใช้เวลาเจรจาธุรกิจเพื่อร่วมทุนกัน 5 – 6 เดือน โดยมองเห็นโอกาสในธุรกิจอาหารและตลาดเบอร์เกอร์ที่ยังเติบโตปีละ 5% ปีนี้ตลาดรวมน่าจะแตะ 10,000 ล้านบาท  

“ส่วนตัวเป็นคนที่ชอบกินเบอ์เกอร์อยู่แล้ว และเป็นแฟนคลับ Mos Buger ที่มีรสชาติเหมาะกับคนเอเชียและตลาดไทย”

ติดสปีดขยายสาขา

การเลือกลงทุนใน Mos Burger เพราะมองว่าเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่ง เป็นโปรดักต์อาหารญี่ปุ่นที่ได้รับความสนใจและชื่นชอบจากคนไทย วางตำแหน่งทางการตลาดราคาสูงกว่าตลาดแมส 20% เป็นตลาดระดับกลาง ลูกค้าใช้จ่าย 180 บาทต่อบิล

“ปัญหา Mos Burger ที่ผ่านมา อยู่ที่ขยายสาขาช้าและการทำตลาดยังไม่ครอบคลุม แต่เป็นเรื่องที่สามารถแก้ไขได้ เช่นเดียวกับการเลือกลงทุน THE FACE SHOP เมื่อ 5 ปีก่อน ขณะนั้นก็มีปัญหาธุรกิจขาดทุน แต่แบรนด์ที่แข็งแกร่งและสินค้าที่หลากหลายทำให้กลับมาทำกำไรได้ ปัจจุบันทำรายได้ 700 – 800 ล้านบาท”

หลังจากร่วมทุน มอส ฟูดส์ ประเทศไทย ด้วยสัญญาระยะยาว 18 ปี วางแผนลงทุนปีนี้ขยายเพิ่ม 6 สาขา ดังนั้นสิ้นปีนี้จะมี 14 สาขา หลังจากนั้น 5 – 6 ปีนับจากนี้ วางแผนขยายปีละ 9 สาขา จากนั้นปีละ 12 สาขา คาดว่าจะมี 80 – 90 สาขาใน 8 ปีแรก

ส่วนรายได้ปี 2561 ก่อนร่วมทุนอยู่ที่ 80 ล้านบาท ปี 2562 ราว 100 ล้านบาท และภายใน 4 ปี ยอดขาย 500 ล้านบาท จากส่วนแบ่งการตลาด 1% ปีนี้ น่าจะขยับมาเป็น 10% ในอีก 10 ปี

ทางด้าน อัทสึชิ ซากุราคะ ประธานกรรมการ บริษัทและตัวแทน มอส ฟูดส์ เซอร์วิสเซส อิงค์ กล่าวว่าปัจจุบัน Mos Burger เป็นแบรนด์ฟาสต์ฟู้ดเบอร์เกอร์อันดับ 2 ในญี่ปุ่นรองจากแมคโดนัลด์ มีสาขา 1,300 สาขา และสาขานอกประเทศญี่ปุ่น 9 ประเทศ เช่น ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ไทย รวม 370 สาขา อยู่ในญี่ปุ่น 70% และ 30% รายได้ปีที่ผ่านมา 1.3 แสนล้านเยน

วางแผนอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีสาขารวม 10,000 สาขา ในญี่ปุ่น 30% และนอกญี่ปุ่น 70% ตลาดหลักยังคงเป็นเอเชีย โดยจะขยายสาขาในยุโรปและสหรัฐอเมริกาด้วยเช่นกัน

ภาพเฟซบุ๊ก M2S

เติมพอร์ตลงทุนแฟชั่น M2S

นอกจากธุรกิจเครื่องสำอางและอาหารแล้ว “พิธาน” ได้ขยายการลงทุนร่วมกับหุ้นส่วนในธุรกิจแฟชั่นเสื้อผ้าออนไลน์ แบรนด์ M2S (Monday to Sunday) ซึ่งเป็นแบรนด์ที่พัฒนาขึ้นเอง โดยออกแบบคอลเลกชั่นเสื้อผ้า 17 แบรนด์ ากคาแร็กเตอร์ “ดารา” 17 คน เช่น ออม สุชาร์, เดียร์น่า, ไอซ์ อภิษฎา, วุ้นเส้น, ใบเฟิร์น, มายด์, เนย โชติกา จำหน่ายผ่านเว็บไซต์ www.m2spop.com และเปิดออฟฟิเชียลช้อป Lazada

ธุรกิจแฟชั่นเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักทุกปี พฤติกรรมผู้บริโภคนิยมซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น การดึงดาราซึ่งเป็นที่รู้จักและมีช่องทางโปรโมตสินค้าผ่านไอจี ของแต่ละคนทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น สินค้ามีราคาตั้งแต่ 590 – 1,000 บาท เป็นราคาที่จับต้องได้ ลูกค้าหลักอายุ 18 – 45 ปี ปีนี้คาดว่าจะทำรายได้ 70 ล้านบาท

สำหรับพอร์ตการลงทุนส่วนตัวของ “พิธาน” จะโฟกัสที่ 3 ธุรกิจ คือ เครื่องสำอาง อาหาร และแฟชั่น โดยน้ำหนักการลงทุนอยู่ที่ THE FACE SHOP และ Mos Burger ที่ถือเป็นแบรนด์ระดับโลกและยังมีโอกาสขยายการลงทุนได้อีก โดยเฉพาะตลาดเบอร์เกอร์         

]]>
1239479
เมนูใหม่ได้ผล! McDonald’s โกยส่วนแบ่งตลาดเพิ่ม https://positioningmag.com/1167910 Tue, 01 May 2018 01:08:10 +0000 https://positioningmag.com/?p=1167910 หุ้นพุ่งกระฉูดสำหรับ McDonald’s เครือข่ายร้านอาหารจานด่วนรายใหญ่ที่สุดของโลก ที่ประกาศการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในทุกตลาดหลัก ไล่ตั้งแต่ฝรั่งเศส รัสเซีย ไปยังสหรัฐฯ ผลจากความพยายามปรับโฉมเมนูอาหารใหม่จนทำให้ลูกค้ามีจำนวนเพิ่มขึ้นชัดเจน นั่นคือการกำหนดราคาเพียง 3 ระดับ $1, $2 และ $3 ร่วมกับการหันมาใช้เนื้อสดหรือ fresh beef ในเบอร์เกอร์

หุ้นที่เพิ่มขึ้นทันที 4% อาจเป็นผลจากการที่ McDonald’s ประกาศสถิติสวยงามในตลาดประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท โดยไตรมาสที่ผ่านมา ยอดขายในร้าน McDonald’s ที่เปิดช่วง 13 เดือนล่าสุดมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 2.9% ผลจากราคาอาหารที่สูงขึ้น และยอดขายที่เพิ่มขึ้น

หากมองที่ตลาดโลก McDonald’s เรียกตัวเองว่าเป็นผู้นำตลาดของประเทศอย่างออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี และสหราชอาณาจักร ตลาดเหล่านี้ทำยอดขายเพิ่มขึ้น 7.8% ถือเป็นประเทศกลุ่มหลักนอกสหรัฐฯ ที่ทำยอดขายให้ McDonald’s มากที่สุด

ในภาพรวม McDonald’s ทำลายสถิติตัวเลขประมาณการยอดขายหลายส่วน โดยยอดขายจากสาขาเดิมหรือ same-store sales เพิ่มขึ้น 5.5% ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 3.9% เท่านั้น

Steve Easterbrook ซีอีโอใหญ่ McDonald’s มั่นใจว่าผลประกอบการนี้แสดงถึงสายตาของลูกค้าที่เริ่มตระหนักว่า McDonald’s กำลังกลายเป็น “McDonald’s ที่ดีกว่าซึ่งนับตั้งแต่ที่ McDonald’s ได้ซีอีโอรายนี้ไปบริหารในปี 2015 มาตรการเร่งกระบวนการผ่าตัด McDonald’s ก็เริ่มขึ้นอย่างจริงจังและรวดเร็ว โดยเฉพาะการเปลี่ยนภาพลักษณ์บริษัท สร้างเมนูและเทคโนโลยีใหม่ ทำให้ McDonald’s สามารถพลิกยอดขายขึ้นมาเติบโตต่อเนื่อง 11 ไตรมาส

ที่สำคัญ McDonald’s ยังมีอัตราการเข้าร้านของลูกค้าสูงขึ้นต่อเนื่อง 5 ไตรมาสติดต่อกันเรียบร้อย

*** เนื้อสดได้ผล

การปรับแต่งเมนูล่าสุดของ McDonald’s ที่เป็นข่าวฮือฮาที่สุดยังรวมถึงการใช้เนื้อสดในเบอร์เกอร์รุ่นบางของ McDonald’s ยังมีอีกบางเมนูที่จะเริ่มจำหน่ายในหลายสาขาช่วงเดือนพฤษภาคม ยังมีอาหารกลุ่ม Happy Meals ที่จะถูกปฏิวัติให้ราวครึ่งหนึ่งของรายการอาหารมีแคลอรีน้อยกว่า 600 แคลอรี ภายในปี 2022 

บทสรุปที่ได้ คือ McDonald’s กำลังกลับมาโดนใจลูกค้าอีกครั้งด้วยภาพลักษณ์เบอร์เกอร์พรีเมียม ที่ใช้เนื้อสด บนราคาเมนูแบบ 3 ระดับ $1, $2 และ $3 ที่โดนใจคนอเมริกันมากกว่าเดิม จุดนี้ทำให้ไม่เพียง same-store sales เท่านั้นที่ McDonald’s ทำได้ดีขึ้นในไตรมาสล่าสุด เพราะรายได้สุทธิของ McDonald’s ก็เพิ่มขึ้นเป็น 1,380 ล้านเหรียญหรือ 1.72 เหรียญต่อหุ้น จากที่เคยทำได้ 1,210 ล้านเหรียญหรือ 1.47 เหรียญต่อหุ้นในปีก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม รายได้รวมของ McDonald’s ลดลง 9% สู่ระดับ 5,140 ล้านเหรียญ แต่ยังคงเหนือกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 4,980 ล้านเหรียญ การลดลงนี้เป็นเพราะการที่ McDonald’s ขายร้านค้าให้แฟรนไชส์มากขึ้น ซึ่งนักวิเคราะห์ Neil Saunders แห่ง GlobalData Retail เรียกสิ่งที่ McDonald’s เลือกทำ ว่าเป็นแนวทางป้องกันตัวเอง เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายของ McDonald’s ลดลง.

]]>
1167910