เวิร์คพอยท์ทีวี – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 11 Jul 2019 03:18:55 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 รายการอาหารเกลื่อนจอ แค่ทีวีไม่พอ! ต้องดิ้นต่อยอดรายได้ทุกทาง “ออนไลน์-เฟสติวัล-สโตร์” https://positioningmag.com/1237904 Wed, 10 Jul 2019 23:05:23 +0000 https://positioningmag.com/?p=1237904 โจทย์รายการทีวียุคนี้ ไม่ได้จบแค่เรตติ้งและเม็ดเงินโฆษณาหน้าจอเท่านั้น เมื่อคอนเทนท์ที่เป็นทรัพย์สิน สร้างการรับรู้ผ่านสื่อหลักทีวีแล้ว ต้องหาช่องทาง Utilize แบรนด์ให้เกิดประโยชน์ ต่อยอดรายได้จากทุกทิศทาง โดยเฉพาะ Food Content รายการยอดนิยมทางหาจอทีวีดิจิทัล

ภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ สายงานการวางแผนและกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ MI กล่าวว่า ปัจจุบันรายการที่เกี่ยวกับอาหารทางหน้าจอทีวีดิจิทัลมีจำนวนเยอะมากรวม 46 รายการ กระจายอยู่ในเกือบทุกสถานี

กลุ่มท็อปเรตติ้ง คือ ช่อง 7 มี 4 รายการ เรตติ้งเดือนมิถุนายนสูงสุดในกลุ่มเชฟกระทะเหล็กและมาสเตอร์ เชฟ ประเทศไทย ซีซั่น 3 (ต่อด้วย The Next Iron Chef) ทำเรตติ้ง 2 – 3 ส่วนช่อง 3 มี 7 รายการ เช่น รายการตีท้ายครัว เรตติ้ง 1.84, ครัวคุณต๋อย เรตติ้ง 0.89 เวิร์คพอยท์ มี 2 รายการ Sweet Chef Thailand แข่งทำเมนูขนม ทำเรตติ้งได้ 1.04

ปัจจุบันรายการมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งโชว์ทำอาหาร, ตระเวนชิมเมนูดัง, ไลฟ์สไตล์ กิน เที่ยว ดื่ม, สารคดีทำอาหาร, เกมโชว์, เรียลลิตี้แข่งทำอาหาร แต่รายการแนวเรียลลิตี้ถือว่าได้รับความสนใจจากผู้ชม ครองเรตติ้ง Food Content สูงสุด เพราะใส่เนื้อหาแนว “ดราม่า” ที่ผู้ชมไทยชื่นชอบเข้าไปในรายการ

ภาพจากเฟซบุ๊ก The Next Iron Chef

ด้วยรูปแบบที่หลากหลาย ทำให้เรียกลูกค้าลงโฆษณาได้กว้าง นอกจากสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องปรุงรส เครื่องครัว สปอนเซอร์เจ้าประจำแล้ว กลุ่มที่เพิ่มเข้ามาในยุค 4.0 คือ แอปพลิเคชั่น Food Delivery จากไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคดูรายการจบแล้วก็มักสั่งอาหารมาชิมตาม รวมทั้งกลุ่มท่องเที่ยว ที่พักโรงแรม

นอกจากรายได้หลักโฆษณาหน้าจอทีวี Food Content ยังใช้โอกาสต่อยอด “แบรนด์” รายการ ที่สร้างการรับรู้ผ่านหน้าจอทีวีมาแล้วสู่ธุรกิจอื่นๆ ที่เห็นได้ชัด คือการจัดอีเวนต์ เฟสติวัล ร้านอาหาร ร้านขนม รวมทั้งใช้ประโยชน์จากแบรนด์รายการ Collaboration กับแบรนด์อื่นๆ เพื่อเป็นการหารายได้อีกช่องทาง

“เชฟกระทะเหล็ก” ต่อยอดฟู้ดบิสสิเนส

รายการ Food Content ยืนหนึ่งเรตติ้ง ทั้งฟอร์แมต Master Chef Thailand และ Iron Chef Thailand ภายใต้การบริหารของ กิติกร เพ็ญโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฮลิโคเนีย เอช กรุ๊ป จำกัด หรือ H GROUP ผู้ผลิตคอนเทนท์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีรายการกลุ่ม Food Content 2 รายการทางช่อง 7 คือ เชฟกระทะเหล็ก (Iron Chef Thailand) ทุกวันเสาร์ เวลา 12.00 – 13.15 น. และรายการ Master Chef Thailand ออกอากาศเป็นซีซั่นๆ ละ 3 เดือน ตลอดปี เดือนกรกฎาคมนี้เป็นซีซั่นของ The Next Iron Chef วันอาทิตย์ เวลา 18.20 – 19.50 น.

การผลิตคอนเทนต์ของ “เอช กรุ๊ป” วาง Positioning กลุ่ม Food Content ด้วยการซื้อไลเซ่นส์ฟอร์แมตจากต่างประเทศ รายการเชฟกระทะเหล็ก เป็นการแข่งขันระดับ Professional Food ส่วนมาสเตอร์ เชฟ เป็นการข่งขันประเภท Home Cook ของคนทั่วไปที่มีใจรักด้านอาหาร “มาสเตอร์ เชฟ จูเนียร์” อายุ 8 – 13 ปี เป็นกลุ่มเด็กที่สนใจด้านอาหาร จึงมีโอกาสหากสปอนเซอร์ได้กว้างทั้งกลุ่มเด็กและครอบครัว

กิติกร เพ็ญโรจน์

หลังจากสร้างแบรนด์รายการ “เชฟกระทะเหล็กและมาสเตอร์เชฟ” ผ่านหน้าจอทีวีและเป็นที่รู้จักในวงกว้างแล้ว ได้มองโอกาสต่อยอด Food Business เพื่อหารายได้จากหลายช่องทาง โดยแบรนด์ “เชฟกระทะเหล็ก” ได้ทำ Collaboration กับร้าน 7-Eleven จำหน่ายอาหารพร้อมรับประทาน จากเมนูเชฟกระทะเหล็ก ปัจจุบันมี 12 เมนู ครึ่งปีหลังมีอีก 4 เมนู รวมทั้งเมนูอาหารเจ ความร่วมมือนี้ บริษัทเป็นผู้พัฒนาเมนูร่วมกับเซฟในรายการ เพื่อส่งให้ 7-Eleven ผลิตและจำหน่าย โดยแบ่งรายได้ร่วมกัน

นอกจากนี้ยังทำคอนเทนต์ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยใช้ Asset ที่มี คือ ผู้เข้าแข่งขันใน Master Chef รวมทั้ง เชฟกระทะเหล็กที่มีสัญญากับบริษัทอย่างน้อย 2 ปี เป็นคอนเทนต์ประเภท Cooking Tips ต่างๆ ซึ่งเปิดพื้นที่ให้
สปอนเซอร์สินค้า มาสร้างสรรค์รายการร่วมกัน ทั้งการให้เชฟรายการเป็นพรีเซ็นเตอร์ รีวิวสินค้า

รวมทั้งการทำ Cooking Class โดย ม.ล.ขวัญทิพย์ เทวกุล หรือ เชฟป้อม กรรมการ Master Chef ด้านอาหารไทยโบราณ อาหารไทยชาววัง จัดปีละ 2 – 3 ครั้ง คลาสละ 500 คน นอกจากนี้ยังมี Cooking Party โดยนำกลุ่ม Master Chef มาสอนทำอาหาร จากนั้นก็รับประทานกับแฟนคลับในรูปแบบปาร์ตี้ จะเริ่มอีเวนต์นี้ในครึ่งปีหลัง จัดเดือนละ 1 ครั้ง หมุนเวียนเชฟที่มาจัดสอนในชั้นเรียน

ปีนี้จะต่อยอดไปสู่ Food Festival รวบรวมเชฟกระทะเหล็ก และ Master Chef ทั้งหมดมาทำอาหารในเทศกาล มีทั้งระดับกลางรูปแบบ Pop up Cafe ในพื้นที่ศูนย์การค้าต่างๆ ช่วงสุดสัปดาห์ ศุกร์ – อาทิตย์ และขนาดใหญ่ที่จะใช้พื้นที่ระดับฮอลล์ของศูนย์การค้าหรือศูนย์ประชุม มีรายได้จากเช่าบูธและสปอนเซอร์

“รายได้หลักยังมาจากทีวี 70% ส่วนธุรกิจต่อยอดฟู้ดบิสสิเนส 30% มองว่ายังมีช่องทางขยายได้อีกมาก จากแบรนด์รายการที่สร้างการรับรู้ผ่านสื่อทีวี ที่เข้าถึงคนทั่วประเทศ”

สำหรับธุรกิจทีวีดิจิทัล วันนี้ต้องบอกว่า “เหนื่อย” เพราะภาพรวมเรตติ้งยุคทีวีดิจิทัลลดลงกว่า 50% จากเดิมเรตติ้ง 5-6-7 ขายสปอตโฆษณาได้ 3 – 4 แสนบาทต่อนาที ปัจจุบันเรตติ้งเหลือ 1-2-3 ราคาโฆษณาก็ลดลงเหลือ 5 หมื่นบาทถึงแสนบาทต่อนาที เป็นผลจากผู้ชมกระจายตัวทั้งในสื่อทีวีเองและออนไลน์ ผู้ผลิตคอนเทนต์ทุกรายจึงต้องปรับตัวหาสร้างโอกาสหารายได้ใหม่ๆ จากแบรนด์คอนเทนต์ที่ผู้ชมรู้จักอยู่แล้ว

ต่อยอดคอนเทนต์จากหน้าจอสู่สโตร์

เช่นเดียวกับ ชลากรณ์ ปัญญาโฉม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานดิจิทัลทีวี บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ที่บอกว่าปีนี้ “เวิร์คพอยท์” เองได้ทดลองต่อยอดคอนเทนต์ผ่านรายการ Sweet Chef Thailand การแข่งขันทำขนมรูปแบบใหม่ ทุกวันอาทิตย์ เวลา 20.15 น. เริ่มออกอากาศเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

หลังรายการออนแอร์จบ เมนูขนมจะนำมาขายที่ร้าน Sweet Chef Cafe สยามสแควร์ ซอย 3 ซึ่งเป็นร้านที่ “โต๊ะกลม” บริษัทในเครือเวิร์คพอยท์ลงทุนร่วมกับเจ้าของร้าน The Cassette Music Bar ร้าน Kobe Steakhouse และร้านรองเท้า paa ซึ่งมีประสบการณ์ในธุรกิจร้านอาหารอยู่แล้ว มาขยายธุรกิจร้านขนมเพิ่ม

Sweet Chef Cafe สยามสแควร์ ซอย 3

หลักคิดการทำรายการ Sweet Chef Thailand ที่มีให้ดูทั้งหน้าจอทีวี ออนไลน์ และไปจบที่ “สโตร์” เป็นอีกรูปแบบการต่อยอดคอนเทนต์ของเวิร์คพอยท์ เพราะส่วนใหญ่คนที่ดูรายการอาหารหลังจบรายการแล้ว หากชอบเมนูนั้นๆ ก็ไม่รู้ว่าจะไปหารับประทานได้ที่ไหน จึงได้ไอเดียทดลองนำมาขายที่ร้าน Sweet Chef Cafe เพื่อให้คนที่สนใจมาชิมเมนูต่างๆ ถือเป็นการใช้ประโยชน์จากมีเดียที่สร้างการรับรู้ผ่านรายการทีวีมาหารายได้ผ่านหน้าร้าน ฟู้ดคอนเทนต์ เป็นรูปแบบรายการทีวีที่สามารถต่อยอดได้เช่นเดียวกับรายการประเภทอื่นๆ เช่น การประกวดร้องเพลงที่ผู้ชนะประกวดก้าวไปเป็นนักร้อง ออกซิงเกิลเพลงขาย

“ช่วง 1 – 2 ปีนี้ จะมีทดลองโปรเจกต์เชื่อมแพลตฟอร์มในธุรกิจขนาดเล็กเพิ่มอีก วันนี้สื่อของเวิร์คพอยท์ทุกช่องทาง จะเป็นเหมือนแล็บทดลองอะไรใหม่ๆ เพื่อต่อยอดคอนเทนต์ที่เป็นงานถนัดของเรา”

“ครัวคุณต๋อย” แตกไลน์โกยเงินนอกจอทีวี

ถือเป็นผู้ทำโมเดล “ฟู้ดคอนเทนต์” จากหน้าจอทีวีแตกไลน์สู่ธุรกิจใหม่ รายแรกๆ ที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ผู้ชมยุคนี้ สำหรับ ต๋อย-ไตรภพ ลิมปพัทธ์ ประธานกรรมการ บริษัท บอร์น แอนด์ แอสโซซิเอทด์ จำกัด ผู้ผลิตรายการทีวี ตั้งแต่ทีวียุคแอนะล็อกสู่ “ทีวีดิจิทัล” โดยใช้แบรนด์และคอนเทนต์ที่แข็งแกร่งรายการ “ครัวคุณต๋อย” ออกอากาศ จันทร์ – ศุกร์ เวลา 13.15 – 13.45 น. ทางช่อง 3 มาสร้างธุรกิจใหม่

โดยมองว่ารายการเกี่ยวข้องกับอาหารเป็นเรื่องใกล้ตัว “ครัวคุณต๋อย” ที่ออกอากาศทางช่อง 3 เป็นรายการฟู้ดคอนเทนต์เรตติ้งสูงของช่อง ได้ถูกนำไปต่อยอดทั้งออฟไลน์ ออนไลน์และออนกราวด์ ทั้งการจัดงานเอ็กซ์โป แอปพลิเคชั่น เฟซบุ๊กไลฟ์ครัวคุณต๋อยและทัวร์ต่างประเทศ

จากความสำเร็จในการจัดงาน “ครัวคุณต๋อย Expo” ครั้งแรก ปี 2559 ใช้พื้นฮอลล์ ศูนย์การค้าเอ็ม ควอร์เทียร์ มีร้านค้า 90 บูธ คนร่วมงาน 3 แสนคน เงินหมุนเวียนวันละ 10 ล้านบาท โดย “ครัวคุณต๋อย Expo ซีซั่น 2” ต้องย้ายไปจัดสถานที่กว้างขึ้นบนพื้นที่ 11,000 ตารางเมตร ที่อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี รองรับคนเข้างาน 5 แสนคน มีเม็ดเงินหมุนเวียนราว 100 ล้านบาทตลอด 4 วัน

จากนั้นอีเวนต์ ครัวคุณต๋อย Expo ปีต่อมาถึงปัจจุบัน ให้พื้นที่อิมแพ็คจัดงานมาตลอด มีร้านค้าออกบูทกว่า 200 ร้านค้า คนร่วมงาน 1.5 ล้านคน ต้องถือเป็นโมเดลแตกไลน์จากหน้าจอทีวีที่ไปได้สวย!

พีพีทีวีจับมือ LINE MAN เสิร์ฟขนมฟรี

ทางด้าน พลากร สมสุวรรณ กรรมการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายรายการและการตลาด สถานีโทรทัศน์พีพีทีวีร่วมกับ LINE MAN จัดกิจกรรมเสิร์ฟขนมอบเมนูอร่อยจากรายการ “The Great Thai Bake Off ยอดนักอบขนม” ที่ออกอากาศทุกวันจันทร์ เวลา 20.15 – 21.45 น. เพื่อให้ผู้ชมได้ลองขนมสูตรพิเศษจากรายการ โดยจัดส่งถึงบ้านให้ชิมฟรี เริ่มตั้งแต่วันนี้ถึง 9 กันยายนนี้

]]>
1237904
เจาะที่มา 10 Fight 10 ปลุกเรตติ้ง “เวิร์คพอยท์” เผย ไอเดียเดียว The Mask Singer https://positioningmag.com/1237213 Tue, 02 Jul 2019 23:05:49 +0000 https://positioningmag.com/?p=1237213 โปรเจกต์ยักษ์ของช่องเวิร์คพอยท์ปีนี้ ต้องยกให้รายการ 10 Fight 10 การจับซุปตาร์ คนดังมาแข่งขันชกมวยสากล 10 คู่ 20 คน เป็นรายการที่ร่วมผลิตกับเจมีดีของเจ เจตริน วรรธนะสินโปรโมเตอร์จัดแข่งขัน ผ่านมา 4 คู่ กระแสเริ่มแรง เรตติ้งเริ่มมา

หลังสร้างปรากฏการณ์โกยเรตติ้งสนั่นจอ “ทีวีดิจิทัล” ในปี 2560 กับ 2 รายการดัง I Can See Your Voice และ The Mask Singer ที่ทำเรตติ้งหน้าจอสูงสุด 7-8 ส่งให้ปี 2560 เวิร์คพอยท์สร้างสถิติรายได้สูงสุด 3,877 ล้านบาท กำไร 904 ล้านบาท หลังจากนั้นรายการที่เรียกกระแสฮิตดูซาลง

กระทั่งปีนี้กับการเปิดตัวโปรเจกต์ 10 Fight 10 การจับคู่ซุปตาร์คนดังมาแข่งขันชกมวยสากล ด้วยกติกามวยสากลสมัครเล่น โดย “เจ เจตริน วรรธนะสิน” ทำหน้าที่โปรโมเตอร์จัดแข่งขันและร่วมผลิตรายการ การแข่งขันมี 10 คู่ 20 คน แบ่งเป็นทีม White Team คุมทีมโดย “แมทธิว ดีน” และ Black Team คุมทีมโดย “อองตวน ปินโต”

รายการ 10 Fight 10 ลงผังเวิร์คพอยท์ ทุกวันจันทร์ เวลา 20.15-21.45 น. เริ่มวันที่ 10 มิ.ย. วีคแรกทั่วประเทศเรตติ้งเฉลี่ย 2

  • จันทร์ 10 มิ.ย. เรตติ้ง  2.175
  • จันทร์ 17 มิ.ย. เรตติ้ง  2,161
  • จันทร์ 24 มิ.ย. เรตติ้ง  2.606
  • จันทร์ 1 ก.ค.   เรตติ้ง  3.013 
ภาพจากเฟซบุ๊ก Workpoint Entertainment

เรตติ้งคู่ชกล่าสุด “ซัน ประชากร” กับ “บอย พิษณุ” เป็นคู่ชกที่ผู้ชมกำลังติดตาม เพราะ ซัน ประชากร เป็นอดีตคู่รักของ “ดีเจต้นหอม” ที่เพิ่งประกาศจบสถานะคู่รัก และ “บอย พิษณุ” ก็เป็นพื่อนซี้ของดีเจต้นหอม การแข่งขันวีคนี้จึงมีกองเชียร์มาช่วยเรียกเรตติ้งเฉลี่ย 3 ยึดอันดับ 3 ผังไพรม์ไทม์ รองจากละครช่อง 7 ช่อง 3

สัปดาห์นี้ “ซัน ประชากร” เป็นฝ่ายชนะคะแนนแบบสูสี จึงเกิดกระแสดราม่าการตัดสินที่ค้านสายตาผู้ชม ทำให้ “เจ เจตริน” โปรโมเตอร์จัดแข่งขันต้องออกมาโพสต์อินสตาแกรมชี้แจงว่า “ตัวเขาเองก็ไม่ค่อยโอเคกับผลการตัดสินของกรรมการใน 2 แมตช์ล่าสุดซักเท่าไหร่ เพราะในความเห็นส่วนตัวคู่ เจสัน vs หลุยส์ และ คู่ บอย vs ซัน มีความสูสี คะแนนเบียดกันมาก ดังนั้นตั้งแต่คู่ที่ 5 เป็นต้นไป จะขอให้ทีมงานเวิร์คพอยท์ แจ้งชื่อกรรมการผู้ให้คะแนนทั้ง 3 คน และนำชื่อขึ้นจอในรายการทุกครั้ง เพื่อความโปร่งใส

สำหรับรายการ 10 Fight 10 ยังเหลือการแข่งขันชกมวยของซุปตาร์คนดังอีก 6 คู่ จนถึงเดือน ส.ค.นี้

ชลากรณ์ ปัญญาโฉม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานดิจิทัลทีวี บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) เล่าที่มาของรายการ 10 Fight 10 ที่กำลังเป็นกระแสแรงให้ฟังว่ามาจาก “แก้ว ชยันต์ จันทวงศาทร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการผลิต เวิร์คพอยท์ ผู้ที่ทำรายการ The Mask Singer โด่งดังเป็นที่รู้จักมาแล้ว และ “เจ เจตริน” มีไอเดียทำรายการนี้

รูปแบบรายการ 10 Fight 10 ให้ดารา นักแสดง มาแข่งชกมวยสากลตามกติกาจริง แต่ใช้เวลาพักนานกว่าการแข่งขันจริง ก่อนแข่งจะมีการซ้อม 2-3 เดือน เป็นการซ้อมอย่างจริงจัง และทุกคู่ที่แข่งทำประกันชีวิตไว้ทุกคน

ไอเดียรายการ 10 Fight 10 คล้าย The Mask Singer ที่ให้ดารา นักร้อง คนดัง มาแข่งขันความสามารถร้องเพลง ซึ่งมีดาราสนใจขึ้นเวทีจำนวนมาก เช่นเดียวกันดารา นักแสดง คนดังหลายคนที่นิยมการออกกำลังกายและเล่นกีฬาเป็นประจำ ก็สนใจเข้าร่วมแข่งขันชกมวย

“ก่อนการแข่งขัน ยังกังวลว่าจะชกจริงหรือไม่ แต่เมื่อเริ่มแข่งขันและเห็นแล้วว่าชกกันจริง ก็เชื่อว่ารายการน่าจะได้รับความสนใจ”  

หลังออกอากาศวีคแรก เรตติ้งเฉลี่ย 2 การดูผ่าน Facebook Live พร้อมกันหลักแสนคน ถือเป็นตัวเลขที่สูงมากและไม่เห็นตัวเลขนี้มาระยะหนึ่งแล้ว ก่อนหน้านี้ที่ทำได้คือ The Rapper

ล่าสุด 10 Fight 10 เรตติ้งขยับไป 3 คงต้องมาลุ้นอีก 6 คู่ที่เหลือว่าจะปลุกเรตติ้งช่องเวิร์คพอยท์ให้กลับมาเปรี้ยงอีกครั้งหรือไม่ แต่ก็มีสัญญาณบวกจากโบรกเกอร์ ที่มองการปรับผังรายการครึ่งปีหลังของเวิร์คพอยท์เป็นแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะ 10 Fight 10 ที่มีกระแสดีตั้งแต่ตอนแรกที่ออนแอร์ เชื่อว่าภาพรวมเรตติ้งเวิร์คพอยท์จะกลับมายื่นที่ระดับ 1.00 ได้อีกครั้งในปีนี้.

ข่าวเกี่ยวเนื่อง

]]>
1237213
บิ๊กสเต็ป “เวิร์คพอยท์” สร้าง Ecosystem เปลี่ยนคนดูเป็นคนซื้อ ต่อยอดคอนเทนต์จากหน้าจอสู่สโตร์ ปักธง เพย์เมนต์เกตเวย์ https://positioningmag.com/1236161 Tue, 25 Jun 2019 23:05:44 +0000 https://positioningmag.com/?p=1236161 ที่ผ่านมาเวิร์คพอยท์ถือเป็นช่องดาวรุ่งที่ขึ้นชื่อเรื่องรายการวาไรตี้” เกมโชว์ เพราะมีฐานมาจากเป็นผู้ผลิตรายการประเภทนี้ ให้กับช่องต่างๆ มาก่อน เมื่อมาเป็นเจ้าของช่องทีวีดิจิทัลเป็นของตัวเอง จึงทำให้เวิร์คพอยท์แจ้งเกิดด้วยรายการประเภทนี้ โดยมี 2 รายการที่สร้างความปัง The Mask Singer และ I Can See Your Voice

แต่ท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือดของ “ทีวีดิจิทัล” การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนดู หันไปเสพสื่อออนไลน์ ส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณาทีวีที่ลดลง เป็นโจทย์ใหญ่ให้เวิร์คพอยท์ต้องหาหนทางใหม่ๆ ท่ามกลางสถานการณ์ทีวีดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไป

ชลากรณ์ ปัญญาโฉม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานดิจิทัลทีวี บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด มองว่า สถานการณ์วันนี้ คนที่เป็นเจ้าของใบอนุญาตทีวีดิจิทัลทั้ง 15 ช่องที่เหลืออยู่ ยังคงมี “แต้มต่อ” ในสื่อทีวีที่มีเม็ดเงินโฆษณา 30,000-40,000 ล้านบาทต่อปี และสื่อออนไลน์ “ทุกคน” ทำได้หมด แม้กระทั่งคนธรรมดา ก็เป็นเจ้าของแชนแนลในยูทูบได้ ใช้ Facebook Live เป็นช่องทางขายของหารายได้

วันนี้ทีวีดิจิทัลเป็นแต้มต่อของคนทำทีวี เพราะทุกสถานีทำออนไลน์หมดแล้ว แต่คนทำออนไลน์ ก้าวมาเป็นเจ้าของทีวีไม่ได้

เขายืนยันว่า เวลานี้เวิร์คพอยท์อยู่ในภาวะที่ค่อนข้าง “เบาตัว” จากการได้รับยกเว้นค่าประมูลทีวีดิจิทัล 2 งวดสุดท้าย และค่าเช่าโครงข่าย (MUX) เวิร์คพอยท์เองต้นทุนลดลงจากส่วนนี้ราว 100 ล้านบาทต่อปี ช่วง 5 ปีที่ผ่านมามี “กำไรสะสม” เกือบ 2,000 ล้านบาท จึงคืนทุนค่าใบอนุญาตที่จ่ายไปทั้งหมดแล้ว

ชลากรณ์ ปัญญาโฉม

สร้าง Ecosystem ต่อยอดธุรกิจ

ยุทธศาสตร์คนทำทีวีวันนี้ คือ Single Content  Multiple Platform การใช้คอนเทนต์เดียวกระจายไปทุกวินโดว์ แต่ละวินโดว์ก็พยายามหาวิธีสร้างรายได้ ซึ่งทั้งโลกใช้วิธีนี้และประเทศไทยก็ใช้วิธีนี้เช่นกัน

ปัจจุบันคนทำทีวี คือคนที่มี “มีเดีย” ครบที่สุด เชื่อมทุกแพลตฟอร์มเข้าหากัน เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งก็มีทั้งการมองตัวเองเป็น “มีเดีย” เพื่อใช้เป็นช่องทาง “ขายสินค้า” แต่สิ่งที่ เวิร์คพอยท์กำลังจะทำคือเชื่อมทุกแพลตฟอร์มเข้าหากัน ทั้งแพลตฟอร์มของเวิร์คพอยท์ที่มีสื่อครบ และของพันธมิตร เพื่อดึงคู่ค้า ทั้งผู้ลงโฆษณา ผู้ขายสินค้า และผู้ชมทั้งกลุ่มที่ดูคอนเทนต์และในฐานะผู้บริโภคที่ต้องการซื้อสินค้ามาอยู่ใน Ecosystem เดียวกัน ซึ่งจะเริ่มเห็นในปีนี้

“เราคงไม่ทำทุกอย่างเองทั้งหมดใน Ecosystem ที่กำลังจะทำนี้ มีพาร์ตเนอร์หลายราย ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ โซเชียลมีเดีย  มาร์เก็ตเพลส  อีเวนต์ เชื่อมเข้ากับสื่อทีวี ออนไลน์และธุรกิจอื่นๆ ของเวิร์คพอยท์”

ปัจจุบันแพลตฟอร์ม Facebook YouTube Line ไม่ใช่ของเวิร์คพอยท์ แต่มีคอนเทนต์ของเวิร์คพอยท์อยู่ในแพลตฟอร์ม ซึ่งก็เชื่อมเข้ามากับ Ecosystem ของเวิร์คพอยท์ คอนเซ็ปต์ง่ายๆ คือ ทำหน้าที่ Plug-in ทุกอย่างทั้งของเวิร์คพอยท์และพาร์ตเนอร์ เพื่อเสนอโซลูชั่นให้กับผู้ที่ต้องการใช้สื่อและคอนเทนต์ที่เวิร์คพอยท์ถนัด รวมทั้งเป็นแพลตฟอร์มของ “ผู้ชม” ที่ต้องการดูคอนเทนต์ เป็นช่องทางให้ SMEs ที่ต้องการขายสินค้าและใช้สื่อเข้าถึงผู้บริโภค

ยุทธศาสตร์การสร้าง Ecosystem ของเวิร์คพอยท์ เป็นแนวทางเดียวกับแพลตฟอร์มใหญ่ระดับโลกอย่าง Alibaba Amazon Facebook Google Line ที่ต้องทำทุกอย่างเช่นกัน และในบางอย่างหากไม่ทำก็จะหาพาร์ตเนอร์มาทำงานร่วมกัน เป็นสิ่งที่เห็นเทรนด์และทิศทางธุรกิจจากการไปร่วมสัมมนาของแพลตฟอร์มระดับโลกทุกปี ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา และเวิร์คพอยท์พอมีเงินเหลือที่จะลงทุนใหม่ๆ เพื่อทดลองสร้าง Ecosystem

ภาพจากเว็บไซต์ GB Prime Pay

ลงทุนอีเพย์เมนต์ GB Prime Pay

ดังนั้นเพื่อให้ Ecosystem สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เวิร์คพอยท์จึงให้บริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้เข้าลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัท โกลบอล ไพร์ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Global Prime) ซึ่งเป็นธุรกิจ Payment Gateway ธุรกิจรับชำระเงินในระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยเป็นการลงทุนเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจและเพิ่มศักยภาพการเติบโตของธุรกิจ มูลค่าการลงทุน 40 ล้านบาท ถือหุ้น 30%

โดย GB Prime Pay ระบบชำระเงินรองรับบัตรทุกชนิดและธุรกิจหลากหลายประเภท ทั้งระบบตะกร้าบนเว็บไซต์ การขายผ่าน Facebook Line และ Instagram พร้อมทั้งบริการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลการซื้อขาย เทรนด์และพฤติกรรมผู้บริโภครายบุคคล

การเข้าไปลงทุนใน GB Prime Pay ของเวิร์คพอยท์ เพราะเป็นธุรกิจใหม่ที่น่าสนใจ เป็นบริษัทที่กำลังเติบโต วัตถุประสงค์แรกเป็นการลงทุนเพื่อทำ “กำไร” แต่ในระยะยาวมีโอกาสที่จะเชื่อมโยงกับการขยายธุรกิจของกลุ่มเวิร์คพอยท์ และเป็นการต่อจิ๊กซอว์ระบบเพย์เมนต์ใน Ecosystem ของเวิร์คพอยท์

“การลงทุนในธุรกิจใหม่ ระยะสั้นจะดูว่ามีอะไรเชื่อมโยงกับเวิร์คพอยท์ได้บ้างและหากยังไม่มีในระยะยาวก็อาจมีธุรกิจที่เชื่อมโยงกันได้ โดยเฉพาะ Transaction Online ที่เวิร์คพอยท์อาจได้ประโยชน์ ผ่านระบบเพย์เมนต์อีคอมเมิร์ซ ในธุรกิจทีวี ช้อปปิ้งและผลิตภัณฑ์ความงามแบรนด์ Let Me In”

ภาพจากเฟซบุ๊ก workpoint

ผังรายการทีวีเปลี่ยนถี่

ในสมรภูมิการแข่งขันทีวีดิจิทัลเองวันนี้ สปีดการปรับผังรายการต้องดูทุก 3 เดือน จะเห็นได้ว่ารายการส่วนหนึ่งเป็นซีซั่นอยู่แล้ว เพราะพฤติกรรมชมในยุคนี้เปลี่ยนเร็ว ช่วงต้นปีเศรษฐกิจชะลอตัวและมีเลือกตั้ง จึงชะลอปรับผังไว้ก่อน เริ่มใส่รายการใหม่ไตรมาส 2 ต่อเนื่อง เปลี่ยนรายการ “ปริศนาฟ้าแลบ” เป็น “กล่องของขวัญ” , รายการ Sweet Chef Thailand, รายการ 10Fight10, Who is my Chef, คู่เฟค คู่แฟน Fake Lovers ช่วงไตรมาส 3 จะใส่รายการใหม่เข้ามาอีก ปกติมีรายการใหม่ไตรมาสละ 1-2 รายการ มีทั้งปรับและเปลี่ยน

ชลากรณ์ บอกว่ารายการที่คนชอบพูดถึงอย่าง The Mask Singer และ I Can See Your Voice เรตติ้งยังดีอยู่เฉลี่ย 3 จึงยังอยู่ในผังช่องต่อไป เพราะเป็นรายการที่มีคนดูประจำ แต่ละซีซั่นก็จะใส่ลูกเล่นใหม่ เพื่อรีเฟรชรายการให้ดูสนุกและตื่นเต้น แม้เรตติ้งจะไม่สูงเท่าที่เคยทำได้ระดับ 7-8 แต่เรตติ้ง 3 ก็แข่งขันกับละครที่อยู่ในช่วงเวลาเดียวกันได้

ภาพเฟซบุ๊ก The Mask Singer

เดิมทีวีเป็นการแข่งขันในอุตสาหกรรมเดียวกัน แต่วันนี้เป็นการแข่งขันของทุกอุตสาหกรรม เพื่อดึงเวลาของคนให้มากที่สุด วันนี้จึงไม่ได้โฟกัสที่ Ranking และ Rating ทีวีมากนักว่าเปลี่ยนแปลงขึ้นลงอย่างไร เพราะเมื่อใดก็ตามที่ “คอนเทนต์ดี” เรตติ้งก็จะดีตามไปด้วย

“เราคิดข้ามเรื่องเรตติ้งไปแล้ว เพราะเป็นเรื่องปกติที่มีขึ้นลง แต่โฟกัสไปที่คนดูใช้เวลาอยู่กับทุกแพลตฟอร์มของเวิร์คพอยต์มากขึ้นหรือไม่ ทั้งทีวี ออนไลน์ และกิจกรรม เพราะเมื่อมีคนใช้เวลาอยู่กับแพลตฟอร์มมากขึ้น ก็มีโอกาสที่จะเห็นโฆษณา ซื้อสินค้า หรือจะมาขายสินค้า ที่อยู่ใน Ecosystem ของเวิร์คพอยท์ วันนี้จึงมองเรื่องการต่อยอดธุรกิจเป็นหลัก”

ปีนี้รายการเวิร์คพอยท์ที่กระแสแรงสุดก็คือ มวย 10Fight10 รูปแบบรายการให้ดารา นักแสดง มาแข่งต่อยมวย ก่อนแข่งจะมีการซ้อม 2-3 เดือน รายการ 10Fight10 ไอเดียคล้าย The Mask Singer ที่ดึงดารา นักร้อง คนดัง มาแข่งขันความสามารถร้องเพลงที่มีดาราสนใจขึ้นเวทีจำนวนมาก เช่นเดียวกันดาราหลายคนที่นิยมการออกกำลังกายและเล่นกีฬาเป็นประจำ ก็สนใจเข้าร่วมแข่งขันต่อยมวย ซีซั่นละ 10 คู่ ระยะเวลา3 เดือน หลังออกอากาศไป 2 ตอน เรตติ้งเฉลี่ย 2 การดูผ่าน Facebook Live พร้อมกันหลักแสนคน ถือเป็นตัวเลขที่สูงมากและไม่เห็นตัวเลขนี้มาระยะหนึ่งแล้ว ก่อนนี้ที่ทำได้คือ The Rapper

ร้าน Sweet Chef Cafe สยามสแควร์ ซอย 3

ต่อยอดคอนเทนต์จากหน้าจอสู่สโตร์

ปีนี้เวิร์คพอยท์ยังได้ทดลองต่อยอดคอนเทนต์ ผ่านรายการใหม่ Sweet Chef Thailand  ซึ่งเป็นรายการแช่งขันทำขนม ทุกวันอาทิตย์ เวลา 20.15 น. เริ่ม 9  มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยหลังรายการจบ เมนูขนมในรายการ จะนำมาขายที่ร้าน Sweet Chef Cafe แห่งนี้

หลักคิดการทำรายการ Sweet Chef Thailand ที่มีให้ดูทั้งหน้าจอทีวี ออนไลน์ และไปจบที่หน้าร้าน เป็นการต่อยอดคอนเทนต์ของเวิร์คพอยท์ เพราะส่วนใหญ่คนที่ดูรายการอาหาร หลังจบรายการแล้ว หากชอบเมนูนั้นๆ ก็ไม่รู้ว่าจะไปหารับประทานได้ที่ไหน จึงทดลองนำมาขายที่ร้าน Sweet Chef Cafe เพื่อให้คนที่สนใจมาชิมเมนูต่างๆ ถือเป็นการใช้ประโยชน์จากมีเดีย ที่สร้างการรับรู้ผ่านรายการทีวีมาสร้างรายได้ผ่านหน้าร้าน ช่วง 1-2 ปีนี้ จะทดลองโปรเจกต์ลักษณะนี้อีก แต่จะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก

จับมือทุกแพลตฟอร์มออนไลน์

นอกจากนี้เวิร์คพอยท์ ยังมีความร่วมมือกับแพลตฟอร์มออนไลน์ทุกราย ในการนำรายการไปนำเสนอผ่านแพลตฟอร์มนั้นๆ รวมทั้งการรับจ้างผลิต “ออริจินัล คอนเทนต์” หรือการแบ่งรายได้ร่วมกัน ความร่วมมือก่อนหน้านี้ เช่น Viu Line TV

ล่าสุด Netflix ได้เข้ามา “เช่าเวลา” ในช่องเวิร์คพอยท์ เพื่อฉายคอนเทนต์ของ Netflix เป็นภาพยนตร์ยาวตอนเดียวจบ 1 ครั้ง 1 ชั่วโมง เมื่อวันเสาร์ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา หลังจากนี้เป็นรายการทีวีแนะนำหนังและฉายหนังตัวอย่างครั้งละ 20 นาที ถือเป็นรูปแบบการโฆษณาคอนเทนต์ของ Netflix ทางทีวีที่เป็นสื่อแมส

ส่วนความร่วมมือกับ Facebook หลังจบรายการ 10Fight10 จะต่อด้วยรายการ Social Icon ซึ่งจะใช้เครื่องมือของเฟซบุ๊กในการโหวตแข่งขัน แนวคิดคือเชื่อมทีวีกับออนไลน์  วัตถุประสงค์หลักๆ คือ หาคนทำวิดีโอทุกประเภท ทั้ง รีวิวสินค้า ร้องเพลง ขายสินค้า คลิปตลก หากทำคอนเทนต์ได้ดี ก็มีโอกาสสร้างอาชีพได้ และต้องการให้คนที่มีความสามารถตื่นตัวกับการทำวิดีโอ คอนเทนต์ ซึ่ง Facebook ก็จะได้คนทำวิดีโอบนแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้น ส่วนเวิร์คพอยท์เองก็มีโอกาสเจอคนทำวิดีโอเก่งๆ และเป็นพาร์ตเนอร์ในกลุ่ม Influencers

อุตสาหกรรมสื่อวันนี้ ทุกคนยังต้องเจอการเปลี่ยนแปลงต่อไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เรื่องที่ยาก คือ ไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนไปในทิศทางใด แต่เชื่อว่าการมีสื่อครบและมีคอนเทนต์ที่ดี ยังมีโอกาสไปต่อได้.

]]>
1236161
เจาะเรตติ้งออนไลน์ พ.ค. 3 ช่องทีวีดิจิทัล ยอดดูย้อนหลังแซงชมสด https://positioningmag.com/1235168 Tue, 18 Jun 2019 13:10:40 +0000 https://positioningmag.com/?p=1235168 พฤติกรรมผู้ชมรายการทีวีวันนี้ มีความชัดเจนว่าดูผ่าน “มัลติสกรีน” บนแพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น ด้วยปัจจัยประชากรไทยเข้าถึงอินเทอรเน็ตกว่า 82% การดูคอนเทนต์ทีวีจึงเลือกตามความสนใจและพบจำนวนคนดู “ย้อนหลัง” จำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

สำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (วส.) สำนักงาน กสทช. รายงานข้อมูลเรตติ้งออนไลน์เดือน พ.ค. 2562 ของนีลเส็น จากการออกอากาศแบบสด (Live Streaming) และดูย้อนหลังผ่านทางเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย และแอปพลิเคชั่น บนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน และคอนเน็คเต็ด ดีไวซ์ (Connected Devices) เช่น Apple TV หรือ Android Box ซึ่งมีทีวีดิจิทัลวัดเรตติ้งบนแพลตฟอร์มดิจิทัล 3 ช่อง คือ ช่อง 7, ไทยรัฐทีวี และเวิร์คพอยท์

“ช่อง 7” มียอดรับชมเป็นจำนวนคน (แบบไม่นับซ้ำ หรือ Unique Audience หรือ UA) ในการรับชมรายการบนแพลตฟอร์มดิจิทัล 16.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากเดือน เม.ย. 2562 ประมาณ 11% แบ่งเป็นผู้หญิง 52% และผู้ชาย 48% ผู้รับชมเนื้อหารายการส่วนใหญ่อายุ 21-34 ปี

ส่วนยอดรับชมแบบนับซ้ำหรือยอดวิว ช่อง 7 อยู่ที่ 291 ล้านครั้ง แบ่งเป็นยอดวิวของผู้หญิงประมาณ 194 ล้านครั้ง และผู้ชายประมาณ 97 ล้านครั้ง

เดือน พ.ค. ช่อง 7 มียอดดูย้อนหลัง 17.45 ล้านคน ความถี่ 17 ครั้งต่อเดือน  รายการยอดนิยม คือ ละคร “ขิงก็รา ข่าก็แรง” ส่วนการดูรายการสดอยู่ที่ 1.64 ล้านคน ความถี่ 13 ครั้งต่อเดือน แต่รูปแบบดูสดใช้เวลา 1.50 ชั่วโมงต่อเดือน ส่วนดูย้อนหลัง 42 นาทีต่อเดือน

“ไทยรัฐทีวี” มียอดรับชม UA รายการบนแพลตฟอร์มดิจิทัล 28.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากเดือน เม.ย. 2562 ประมาณ 36% แบ่งเป็นผู้หญิง 52% และผู้ชาย 48% ส่วนใหญ่อายุ 21-39 ปี ยอดวิวเดือน พ.ค. 2562 ประมาณ 702 ล้านครั้ง แบ่งเป็นผู้หญิง 329 ล้านครั้ง และผู้ชาย 373 ล้านครั้ง

พฤติกรรมผู้ชมแพลตฟอร์มดิจิทัล ช่องไทยรัฐทีวี เป็นการดูย้อนหลังมากกว่าดูสด เดือน พ.ค. 2562 ยอดดูย้อนหลัง 25 ล้านคน ดูสด 2.7 แสนคน รายการดูย้อนหลังที่ได้รับความนิยม คือ “บันเทิงไทยรัฐ” ส่วนรายการสด คือ การถ่ายทอดสดการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล การดูสดเฉลี่ย 5.5 ครั้งต่อเดือน ใช้เวลา 52 นาทีต่อเดือน ส่วนดูย้อนหลัง 29 ครั้งต่อเดือน ใช้เวลา 11 นาทีต่อเดือน

ภาพเฟซบุ๊ก I Can See Your Voice

“เวิร์คพอยท์ทีวี” มียอดรับชม UA รายการบนแพลตฟอร์มดิจิทัล 26.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากเดือน เม.ย. 2562 ประมาณ 10% แบ่งเป็นการรับชมของผู้หญิง 52% และผู้ชาย 48% ส่วนใหญ่อายุ 25-29 ปี โดยยอดวิวรวม เดือน พ.ค. 2562 ประมาณ 921 ล้านครั้ง แบ่งเป็นยอดวิวผู้หญิง 417 ล้านครั้ง และผู้ชาย  504 ล้านครั้ง

พฤติกรรมผู้ชมช่องเวิร์คพอยท์ เดือน พ.ค. 2562 ดูรายการย้อนหลังมากกว่าดูสด โดยดูย้อนหลัง 28.73 ล้านคน และดูสด 1.25 แสนคน รายการดูย้อนหลังที่ได้รับความนิยมคือ “ชิงร้อยชิงล้าน” ส่วนรายการสดคือ I Can See Your Voice Thailand เฉลี่ยดูรายการสด 11 ครั้งต่อเดือน ใช้เวลา 2 ชั่วโมงต่อเดือน และดูย้อนหลัง 34 ครั้งต่อเดือน เฉลี่ย 20 นาทีต่อเดือน

]]>
1235168