ที่ผ่านมา “เวิร์คพอยท์” ถือเป็นช่องดาวรุ่งที่ขึ้นชื่อเรื่องรายการ “วาไรตี้” เกมโชว์ เพราะมีฐานมาจากเป็นผู้ผลิตรายการประเภทนี้ ให้กับช่องต่างๆ มาก่อน เมื่อมาเป็นเจ้าของช่องทีวีดิจิทัลเป็นของตัวเอง จึงทำให้เวิร์คพอยท์แจ้งเกิดด้วยรายการประเภทนี้ โดยมี 2 รายการที่สร้างความปัง The Mask Singer และ I Can See Your Voice
แต่ท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือดของ “ทีวีดิจิทัล” การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนดู หันไปเสพสื่อออนไลน์ ส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณาทีวีที่ลดลง เป็นโจทย์ใหญ่ให้เวิร์คพอยท์ต้องหาหนทางใหม่ๆ ท่ามกลางสถานการณ์ทีวีดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไป
ชลากรณ์ ปัญญาโฉม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานดิจิทัลทีวี บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด มองว่า สถานการณ์วันนี้ คนที่เป็นเจ้าของใบอนุญาตทีวีดิจิทัลทั้ง 15 ช่องที่เหลืออยู่ ยังคงมี “แต้มต่อ” ในสื่อทีวีที่มีเม็ดเงินโฆษณา 30,000-40,000 ล้านบาทต่อปี และสื่อออนไลน์ “ทุกคน” ทำได้หมด แม้กระทั่งคนธรรมดา ก็เป็นเจ้าของแชนแนลในยูทูบได้ ใช้ Facebook Live เป็นช่องทางขายของหารายได้
วันนี้ทีวีดิจิทัลเป็นแต้มต่อของคนทำทีวี เพราะทุกสถานีทำออนไลน์หมดแล้ว แต่คนทำออนไลน์ ก้าวมาเป็นเจ้าของทีวีไม่ได้
เขายืนยันว่า เวลานี้เวิร์คพอยท์อยู่ในภาวะที่ค่อนข้าง “เบาตัว” จากการได้รับยกเว้นค่าประมูลทีวีดิจิทัล 2 งวดสุดท้าย และค่าเช่าโครงข่าย (MUX) เวิร์คพอยท์เองต้นทุนลดลงจากส่วนนี้ราว 100 ล้านบาทต่อปี ช่วง 5 ปีที่ผ่านมามี “กำไรสะสม” เกือบ 2,000 ล้านบาท จึงคืนทุนค่าใบอนุญาตที่จ่ายไปทั้งหมดแล้ว
สร้าง Ecosystem ต่อยอดธุรกิจ
ยุทธศาสตร์คนทำทีวีวันนี้ คือ Single Content Multiple Platform การใช้คอนเทนต์เดียวกระจายไปทุกวินโดว์ แต่ละวินโดว์ก็พยายามหาวิธีสร้างรายได้ ซึ่งทั้งโลกใช้วิธีนี้และประเทศไทยก็ใช้วิธีนี้เช่นกัน
ปัจจุบันคนทำทีวี คือคนที่มี “มีเดีย” ครบที่สุด เชื่อมทุกแพลตฟอร์มเข้าหากัน เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งก็มีทั้งการมองตัวเองเป็น “มีเดีย” เพื่อใช้เป็นช่องทาง “ขายสินค้า” แต่สิ่งที่ เวิร์คพอยท์กำลังจะทำคือเชื่อมทุกแพลตฟอร์มเข้าหากัน ทั้งแพลตฟอร์มของเวิร์คพอยท์ที่มีสื่อครบ และของพันธมิตร เพื่อดึงคู่ค้า ทั้งผู้ลงโฆษณา ผู้ขายสินค้า และผู้ชมทั้งกลุ่มที่ดูคอนเทนต์และในฐานะผู้บริโภคที่ต้องการซื้อสินค้ามาอยู่ใน Ecosystem เดียวกัน ซึ่งจะเริ่มเห็นในปีนี้
“เราคงไม่ทำทุกอย่างเองทั้งหมดใน Ecosystem ที่กำลังจะทำนี้ มีพาร์ตเนอร์หลายราย ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ โซเชียลมีเดีย มาร์เก็ตเพลส อีเวนต์ เชื่อมเข้ากับสื่อทีวี ออนไลน์และธุรกิจอื่นๆ ของเวิร์คพอยท์”
ปัจจุบันแพลตฟอร์ม Facebook YouTube Line ไม่ใช่ของเวิร์คพอยท์ แต่มีคอนเทนต์ของเวิร์คพอยท์อยู่ในแพลตฟอร์ม ซึ่งก็เชื่อมเข้ามากับ Ecosystem ของเวิร์คพอยท์ คอนเซ็ปต์ง่ายๆ คือ ทำหน้าที่ Plug-in ทุกอย่างทั้งของเวิร์คพอยท์และพาร์ตเนอร์ เพื่อเสนอโซลูชั่นให้กับผู้ที่ต้องการใช้สื่อและคอนเทนต์ที่เวิร์คพอยท์ถนัด รวมทั้งเป็นแพลตฟอร์มของ “ผู้ชม” ที่ต้องการดูคอนเทนต์ เป็นช่องทางให้ SMEs ที่ต้องการขายสินค้าและใช้สื่อเข้าถึงผู้บริโภค
ยุทธศาสตร์การสร้าง Ecosystem ของเวิร์คพอยท์ เป็นแนวทางเดียวกับแพลตฟอร์มใหญ่ระดับโลกอย่าง Alibaba Amazon Facebook Google Line ที่ต้องทำทุกอย่างเช่นกัน และในบางอย่างหากไม่ทำก็จะหาพาร์ตเนอร์มาทำงานร่วมกัน เป็นสิ่งที่เห็นเทรนด์และทิศทางธุรกิจจากการไปร่วมสัมมนาของแพลตฟอร์มระดับโลกทุกปี ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา และเวิร์คพอยท์พอมีเงินเหลือที่จะลงทุนใหม่ๆ เพื่อทดลองสร้าง Ecosystem
ลงทุนอีเพย์เมนต์ GB Prime Pay
ดังนั้นเพื่อให้ Ecosystem สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เวิร์คพอยท์จึงให้บริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้เข้าลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัท โกลบอล ไพร์ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Global Prime) ซึ่งเป็นธุรกิจ Payment Gateway ธุรกิจรับชำระเงินในระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยเป็นการลงทุนเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจและเพิ่มศักยภาพการเติบโตของธุรกิจ มูลค่าการลงทุน 40 ล้านบาท ถือหุ้น 30%
โดย GB Prime Pay ระบบชำระเงินรองรับบัตรทุกชนิดและธุรกิจหลากหลายประเภท ทั้งระบบตะกร้าบนเว็บไซต์ การขายผ่าน Facebook Line และ Instagram พร้อมทั้งบริการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลการซื้อขาย เทรนด์และพฤติกรรมผู้บริโภครายบุคคล
การเข้าไปลงทุนใน GB Prime Pay ของเวิร์คพอยท์ เพราะเป็นธุรกิจใหม่ที่น่าสนใจ เป็นบริษัทที่กำลังเติบโต วัตถุประสงค์แรกเป็นการลงทุนเพื่อทำ “กำไร” แต่ในระยะยาวมีโอกาสที่จะเชื่อมโยงกับการขยายธุรกิจของกลุ่มเวิร์คพอยท์ และเป็นการต่อจิ๊กซอว์ระบบเพย์เมนต์ใน Ecosystem ของเวิร์คพอยท์
“การลงทุนในธุรกิจใหม่ ระยะสั้นจะดูว่ามีอะไรเชื่อมโยงกับเวิร์คพอยท์ได้บ้างและหากยังไม่มีในระยะยาวก็อาจมีธุรกิจที่เชื่อมโยงกันได้ โดยเฉพาะ Transaction Online ที่เวิร์คพอยท์อาจได้ประโยชน์ ผ่านระบบเพย์เมนต์อีคอมเมิร์ซ ในธุรกิจทีวี ช้อปปิ้งและผลิตภัณฑ์ความงามแบรนด์ Let Me In”
ผังรายการทีวีเปลี่ยนถี่
ในสมรภูมิการแข่งขันทีวีดิจิทัลเองวันนี้ สปีดการปรับผังรายการต้องดูทุก 3 เดือน จะเห็นได้ว่ารายการส่วนหนึ่งเป็นซีซั่นอยู่แล้ว เพราะพฤติกรรมชมในยุคนี้เปลี่ยนเร็ว ช่วงต้นปีเศรษฐกิจชะลอตัวและมีเลือกตั้ง จึงชะลอปรับผังไว้ก่อน เริ่มใส่รายการใหม่ไตรมาส 2 ต่อเนื่อง เปลี่ยนรายการ “ปริศนาฟ้าแลบ” เป็น “กล่องของขวัญ” , รายการ Sweet Chef Thailand, รายการ 10Fight10, Who is my Chef, คู่เฟค คู่แฟน Fake Lovers ช่วงไตรมาส 3 จะใส่รายการใหม่เข้ามาอีก ปกติมีรายการใหม่ไตรมาสละ 1-2 รายการ มีทั้งปรับและเปลี่ยน
ชลากรณ์ บอกว่ารายการที่คนชอบพูดถึงอย่าง The Mask Singer และ I Can See Your Voice เรตติ้งยังดีอยู่เฉลี่ย 3 จึงยังอยู่ในผังช่องต่อไป เพราะเป็นรายการที่มีคนดูประจำ แต่ละซีซั่นก็จะใส่ลูกเล่นใหม่ เพื่อรีเฟรชรายการให้ดูสนุกและตื่นเต้น แม้เรตติ้งจะไม่สูงเท่าที่เคยทำได้ระดับ 7-8 แต่เรตติ้ง 3 ก็แข่งขันกับละครที่อยู่ในช่วงเวลาเดียวกันได้
เดิมทีวีเป็นการแข่งขันในอุตสาหกรรมเดียวกัน แต่วันนี้เป็นการแข่งขันของทุกอุตสาหกรรม เพื่อดึงเวลาของคนให้มากที่สุด วันนี้จึงไม่ได้โฟกัสที่ Ranking และ Rating ทีวีมากนักว่าเปลี่ยนแปลงขึ้นลงอย่างไร เพราะเมื่อใดก็ตามที่ “คอนเทนต์ดี” เรตติ้งก็จะดีตามไปด้วย
“เราคิดข้ามเรื่องเรตติ้งไปแล้ว เพราะเป็นเรื่องปกติที่มีขึ้นลง แต่โฟกัสไปที่คนดูใช้เวลาอยู่กับทุกแพลตฟอร์มของเวิร์คพอยต์มากขึ้นหรือไม่ ทั้งทีวี ออนไลน์ และกิจกรรม เพราะเมื่อมีคนใช้เวลาอยู่กับแพลตฟอร์มมากขึ้น ก็มีโอกาสที่จะเห็นโฆษณา ซื้อสินค้า หรือจะมาขายสินค้า ที่อยู่ใน Ecosystem ของเวิร์คพอยท์ วันนี้จึงมองเรื่องการต่อยอดธุรกิจเป็นหลัก”
ปีนี้รายการเวิร์คพอยท์ที่กระแสแรงสุดก็คือ มวย 10Fight10 รูปแบบรายการให้ดารา นักแสดง มาแข่งต่อยมวย ก่อนแข่งจะมีการซ้อม 2-3 เดือน รายการ 10Fight10 ไอเดียคล้าย The Mask Singer ที่ดึงดารา นักร้อง คนดัง มาแข่งขันความสามารถร้องเพลงที่มีดาราสนใจขึ้นเวทีจำนวนมาก เช่นเดียวกันดาราหลายคนที่นิยมการออกกำลังกายและเล่นกีฬาเป็นประจำ ก็สนใจเข้าร่วมแข่งขันต่อยมวย ซีซั่นละ 10 คู่ ระยะเวลา3 เดือน หลังออกอากาศไป 2 ตอน เรตติ้งเฉลี่ย 2 การดูผ่าน Facebook Live พร้อมกันหลักแสนคน ถือเป็นตัวเลขที่สูงมากและไม่เห็นตัวเลขนี้มาระยะหนึ่งแล้ว ก่อนนี้ที่ทำได้คือ The Rapper
ต่อยอดคอนเทนต์จากหน้าจอสู่สโตร์
ปีนี้เวิร์คพอยท์ยังได้ทดลองต่อยอดคอนเทนต์ ผ่านรายการใหม่ Sweet Chef Thailand ซึ่งเป็นรายการแช่งขันทำขนม ทุกวันอาทิตย์ เวลา 20.15 น. เริ่ม 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยหลังรายการจบ เมนูขนมในรายการ จะนำมาขายที่ร้าน Sweet Chef Cafe แห่งนี้
หลักคิดการทำรายการ Sweet Chef Thailand ที่มีให้ดูทั้งหน้าจอทีวี ออนไลน์ และไปจบที่หน้าร้าน เป็นการต่อยอดคอนเทนต์ของเวิร์คพอยท์ เพราะส่วนใหญ่คนที่ดูรายการอาหาร หลังจบรายการแล้ว หากชอบเมนูนั้นๆ ก็ไม่รู้ว่าจะไปหารับประทานได้ที่ไหน จึงทดลองนำมาขายที่ร้าน Sweet Chef Cafe เพื่อให้คนที่สนใจมาชิมเมนูต่างๆ ถือเป็นการใช้ประโยชน์จากมีเดีย ที่สร้างการรับรู้ผ่านรายการทีวีมาสร้างรายได้ผ่านหน้าร้าน ช่วง 1-2 ปีนี้ จะทดลองโปรเจกต์ลักษณะนี้อีก แต่จะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก
จับมือทุกแพลตฟอร์มออนไลน์
นอกจากนี้เวิร์คพอยท์ ยังมีความร่วมมือกับแพลตฟอร์มออนไลน์ทุกราย ในการนำรายการไปนำเสนอผ่านแพลตฟอร์มนั้นๆ รวมทั้งการรับจ้างผลิต “ออริจินัล คอนเทนต์” หรือการแบ่งรายได้ร่วมกัน ความร่วมมือก่อนหน้านี้ เช่น Viu Line TV
ล่าสุด Netflix ได้เข้ามา “เช่าเวลา” ในช่องเวิร์คพอยท์ เพื่อฉายคอนเทนต์ของ Netflix เป็นภาพยนตร์ยาวตอนเดียวจบ 1 ครั้ง 1 ชั่วโมง เมื่อวันเสาร์ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา หลังจากนี้เป็นรายการทีวีแนะนำหนังและฉายหนังตัวอย่างครั้งละ 20 นาที ถือเป็นรูปแบบการโฆษณาคอนเทนต์ของ Netflix ทางทีวีที่เป็นสื่อแมส
ส่วนความร่วมมือกับ Facebook หลังจบรายการ 10Fight10 จะต่อด้วยรายการ Social Icon ซึ่งจะใช้เครื่องมือของเฟซบุ๊กในการโหวตแข่งขัน แนวคิดคือเชื่อมทีวีกับออนไลน์ วัตถุประสงค์หลักๆ คือ หาคนทำวิดีโอทุกประเภท ทั้ง รีวิวสินค้า ร้องเพลง ขายสินค้า คลิปตลก หากทำคอนเทนต์ได้ดี ก็มีโอกาสสร้างอาชีพได้ และต้องการให้คนที่มีความสามารถตื่นตัวกับการทำวิดีโอ คอนเทนต์ ซึ่ง Facebook ก็จะได้คนทำวิดีโอบนแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้น ส่วนเวิร์คพอยท์เองก็มีโอกาสเจอคนทำวิดีโอเก่งๆ และเป็นพาร์ตเนอร์ในกลุ่ม Influencers
อุตสาหกรรมสื่อวันนี้ ทุกคนยังต้องเจอการเปลี่ยนแปลงต่อไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เรื่องที่ยาก คือ ไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนไปในทิศทางใด แต่เชื่อว่าการมีสื่อครบและมีคอนเทนต์ที่ดี ยังมีโอกาสไปต่อได้.