เศรษฐกิจครัวเรือน – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 10 Aug 2021 13:54:04 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ครัวเรือนไทย กังวลรายได้ลด-ไร้งานทำ เเบกหนี้หนัก ค่าครองชีพพุ่ง เข้าไม่ถึงโครงการรัฐ https://positioningmag.com/1346077 Tue, 10 Aug 2021 10:20:39 +0000 https://positioningmag.com/?p=1346077 ล็อกดาวน์โควิดระลอก 3 ซัดหนัก ประชาชนกังวลรายได้ลด-ไม่มีงานทำ เเบกหนี้หนักเเถมค่าครองชีพพุ่ง ดัชนี KR-ECI ลดฮวบ ‘ต่ำกว่าล็อกดาวน์ทั่วประเทศ’ เมื่อปีที่เเล้ว ท่องเที่ยวเจ็บยาว ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์น้อยกว่าเป้า คนไทยบางส่วน ‘เข้าไม่ถึง’ โครงการช่วยเหลือของรัฐ 

ครัวเรือนไทย ‘วิตกกังวล’ ต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพต่อเนื่อง จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังรุนเเรง จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันอยู่ในระดับสูง และยังคงทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง ขณะที่อัตราการเสียชีวิตอยู่ในระดับสูงเช่นกัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงาน ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ประจำเดือนก.ค. 64 ปรับลงต่อเนื่องอยู่ที่ 34.7 ซึ่งเป็น ระดับต่ำกว่าช่วงเดือนเม.ย. 63 ที่มีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ที่ 35.1 ขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนใน 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงอยู่ที่ 36.6 จาก 38.9 ในเดือนมิ.ย.

เเบกหนี้หนัก ราคาอาหารสดเเพงขึ้น 

ครัวเรือนมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับ ระดับราคาสินค้า โดยในเดือนก.ค.ดัชนีปรับลดลงอยู่ที่ 31.5 จาก 37.0 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับระดับอัตราเงินเฟ้อของไทย ในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ 0.45% ซึ่งหากไม่รวมผลจากมาตรการภาครัฐในเรื่องของการบรรเทาค่าใช้จ่ายด้านค่าน้ำค่าไฟ ระดับอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 1.8%

“ปัจจัยหนุนเงินเฟ้อ นอกจากราคาน้ำมันแล้ว ส่วนหนึ่งมาจากราคาอาหารสดที่ปรับเพิ่มขึ้นตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่มีการล็อกดาวน์” 

ขณะที่กำลังซื้อของภาคครัวเรือนยังคงถูกกดดันจากความเปราะบางของฐานะการเงินที่สะสมมาจากการแพร่ระบาดในปีก่อนและปัจจุบัน ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้สะท้อนผ่านหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงที่ 90.5% ของจีดีพีในไตรมาสแรกของปี 2564 นอกจากนี้ ครัวเรือนยังมีความกังวลเกี่ยวกับรายได้และจ้างงานเพิ่มขึ้น 

รายได้ลด ไร้งานทำ ท่องเที่ยวไม่ฟื้น 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการล็อกดาวน์ใน 10 จังหวัดพื้นที่เสี่ยงพบว่า 64.2 % ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ (64.2%) มีรายได้จากการจ้างงานลดลง

ขณะที่บางส่วน (14.3%) ธุรกิจปิดกิจการและถูกเลิกจ้าง ซึ่งตรงนี้จะเป็นปัจจัยที่เข้ามาซ้ำเติมตลาดแรงงานที่มีภาวะเปราะบาง

ล่าสุด ในไตรมาส 2/2564 จำนวนผู้ว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 7.3 แสนคน โดยทิศทางการฟื้นตัวของตลาดแรงงานยังมีความไม่แน่นอนสูงเช่นกัน

โดยเฉพาะแรงงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจในภาคท่องเที่ยว ที่แม้ในเดือนก.ค. 64 จะมีการนำร่องเปิดโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยไม่ได้ต้องกักตัวตามเงื่อนไข

แต่สถานการณ์การระบาดทั้งในและนอกประเทศที่รุนแรงขึ้น ส่งผลให้ในเดือนก.ค. 64 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาภูเก็ต 14,055 คน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อวันอยู่ที่ 5,400 บาท (ไม่รวมค่าตั๋วเครื่องบิน) ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวดังกล่าวยังมีแนวโน้มต่ำกว่าที่ภาครัฐเคยประเมินไว้ (ไตรมาส 3 จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 1 แสนคน)

ขณะนี้ในภูเก็ตก็ได้มีมาตรการคุมเข้มการระบาดเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้กิจกรรม รวมถึงสถานที่ต่าง ๆ ไม่สามารถเปิดได้เต็มที่

Photo : Shutterstock

คนไทยบางส่วน ‘เข้าไม่ถึง’ โครงการรัฐ 

ด้านมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจจากภาครัฐ มีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามาช่วยประคับประคองการดำรงชีพของครัวเรือน ซึ่งช่วงที่สำรวจภาครัฐได้มี 2 โครงการคือ โครงการคนละครึ่งระยะที่สาม และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเข้าร่วมมาตรการพบว่า มีครัวเรือนถึง 30.6% ที่ไม่ได้เข้าร่วมทั้งสองโครงการ เนื่องจากมองว่าขั้นตอนการสมัครมีความยุ่งยาก อีกทั้งโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ที่เป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้มีเงินออมมีผู้เข้าร่วมเพียง 2.9%

ทั้งนี้ โครงการทั้งสองโครงการได้ออกมาในช่วงก่อนที่สถานการณ์การระบาดจะเผชิญความรุนแรงและมีมาตรการคุมเข้มการระบาดอย่างในปัจจุบัน ซึ่งหากสถานการณ์การระบาดไม่ได้รุนแรงมาก อาจทำให้โครงการต่าง ๆ จูงใจประชาชนให้เข้าร่วมได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ล่าสุดภาครัฐได้มีมาตรการเยียวยา 9 กลุ่มอาชีพใน 13 พื้นที่เสี่ยงที่ถูกล็อกดาวน์ ซึ่งน่าจะเข้ามาช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นได้บางส่วน

“ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังเผชิญความไม่แน่นอนสูง สถานการณ์การระบาดที่ยืดเยื้อและมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้นจะยิ่งเป็นปัจจัยกดดันต่อตลาดแรงงานต่อเนื่อง ไปจนถึงกำลังซื้อของภาคครัวเรือน” 

ดังนั้น ภาครัฐควรออกมาตรการเยียวยาที่ตรงจุดและเข้าถึงง่ายเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น ควบคู่ไปกับการจัดหา จัดสรร และแจกจ่ายวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเร่งควบคุมสถานการณ์ เช่น การตรวจเชิงรุกเพราะทุกเวลาที่ผ่านไปคือความสูญเสียที่เกิดขึ้นแก่ภาคประชาชนและประเทศ

สรุป :

ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในระดับปัจจุบัน (ก.ค. 64) และ 3 เดือนข้างหน้าบ่งชี้ถึงความกังวลของครัวเรือนต่อรายได้และการจ้างงาน ขณะที่ในเดือนส.ค.มีมาตรการล็อกดาวน์ใน 13 จังหวัดพื้นที่เสี่ยง ดังนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นจะยิ่งเพิ่มขึ้น ภาครัฐควรมีมาตรการเยียวยาที่ตรงจุดและเข้าถึงง่ายพร้อมกับเร่งเข้าควบคุมสถานการณ์ รวมถึงในเรื่องของวัคซีนเพื่อให้สถานการณ์การระบาดบรรเทาลง

 

]]>
1346077
5 ข้อเท็จจริงในรอบทศวรรษ : คนไทยจนลง ใช้น้อยลง ออมน้อยลง เป็นหนี้มากขึ้น พึ่งรัฐบาลสูงขึ้น https://positioningmag.com/1258042 Sat, 21 Dec 2019 18:55:59 +0000 https://positioningmag.com/?p=1258042 EIC หน่วยงานวิจัยของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) หยิบผลสำรวจครัวเรือน 4 หมื่นครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2562 มาเปรียบเทียบกับข้อมูลย้อนหลังเมื่อปี 2552 และพบ “5 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพการเงินครัวเรือนไทย” หลังผ่านไปหนึ่งทศวรรษ ดูเหมือนว่าคนไทยกำลังจนลงสวนทางกับจีดีพีประเทศที่โตขึ้น ติดตามอ่านได้ในรายงานฉบับนี้

 

1.“รายได้” เฉลี่ยครัวเรือนไทย “ลดลง” -2.1% เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี
by EIC

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ครัวเรือนไทยมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 26,371 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน ลดลง -2.1% จากในปี 2560 ที่ 26,946 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน ถือเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 10 ปี จากในช่วงก่อนหน้านี้ที่รายได้ครัวเรือนมีการเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด และเมื่อเทียบกับ nominal GDP ที่เติบโตขึ้น 7.6% ในช่วงเดียวกัน เป็นที่น่าแปลกใจที่รายได้ครัวเรือนลดลงสวนทางเศรษฐกิจ

เมื่อเจาะลึกลงไป EIC มองแยกเป็น 4 ส่วนของแหล่งที่มาของเงินในครัวเรือน และพบข้อเท็จจริงดังนี้

  • รายได้จากการเป็นลูกจ้างลดลง -1.6% จากรายได้ค่าจ้าง 22,237 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือนในปี 2560 ลดเหลือ 21,879 บาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ซึ่งน่าจะมาจากการลดจำนวนชั่วโมงทำงานลง (ไม่มีการจ้างทำโอทีหรือจ้างน้อยลง) ผสมผสานกับการปรับโครงสร้างระยะยาวของอุตสาหกรรม เช่น หันไปใช้เครื่องจักรหรือเทคโนโลยีอื่น
  • รายได้จากภาคเกษตรกรรมลดลง -4.8% กำไรกิจการการเกษตรเฉลี่ยอยู่ที่ 7,048 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือนในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ลดลง -4.8% จาก 2 ปีก่อนหน้า เนื่องจากเผชิญภัยแล้งและราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ซึ่งกำไรส่วนนี้ลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2556
  • รายได้จากกิจการนอกภาคเกษตรกรรมลดลง -3.0% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 อยู่ที่ 19,269 บาท ลดลงจาก 18,685 บาทในปี 2560 หรือลดลง -3.0% เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและพบการแข่งขันรุนแรงจากธุรกิจใหญ่
  • รายได้ประเภทอื่นๆ ทรงตัว รายได้อื่นๆ เช่น ดอกเบี้ยจากการลงทุน ดอกเบี้ยจากเงินออม เงินโอนจากภาครัฐ เงินโอนจากผู้อื่น ฯลฯ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 อยู่ที่ 7,806 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน

 

2.ครัวเรือนไทย “ใช้จ่าย” ลดลง -0.9% เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีอีกเช่นกัน
by EIC

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ครัวเรือนไทยใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 21,236 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน ลดลง -0.9% จาก 21,437 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือนในปี 2560 ถือเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 10 ปี การใช้จ่ายที่ลดลงเป็นไปตามรายได้ที่ลดลงนั่นเอง และยังมีความกังวลเรื่องเศรษฐกิจทำให้ไม่กล้าใช้จ่าย

เมื่อดูสัดส่วนการใช้จ่ายของคนไทย พบว่าหมวดสินค้าฟุ่มเฟือยนั้นครัวเรือนไทยลดการใช้จ่ายลงทั้งสิ้น ดังนี้ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ (-44.9%), ค่าจ้างผู้ดูแลบ้าน (-30.7%), ยาสูบและบุหรี่ (-30%), กิจกรรมสันทนาการ (-11.5%) และการท่องเที่ยว (-8.2%)

นอกจากนี้ยังลดการใช้จ่ายสินค้าจำเป็นบางกลุ่มด้วย เช่น อาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (-4.1%), การศึกษา (-11.1%), การรักษาพยาบาล (-13%)

มีเพียงหมวดใช้จ่ายเดียวที่เติบโตมาตลอด 10 ปีและยังไม่ลดลงคือ ค่าใช้จ่ายด้านการสื่อสาร สอดคล้องกับพฤติกรรมคนไทยที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีมากขึ้น

 

3.“หนี้” ครัวเรือนไทยสูงขึ้น 2.6% สัดส่วนหนี้ต่อรายได้สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
by EIC

รายได้ลด ประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ก็ยังเป็นหนี้เพิ่ม EIC จับข้อมูลเฉพาะครัวเรือนที่มีหนี้อยู่แล้ว (คิดเป็น 46.3% ของครัวเรือนทั้งหมด) พบว่า ภาระหนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นจาก 353,210 บาทต่อครัวเรือนในปี 2560 มาอยู่ที่ 362,373 บาทต่อครัวเรือน หรือเพิ่มขึ้น 2.6% ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ต่อรายได้ (หารเฉพาะครัวเรือนที่มีหนี้) เพิ่มขึ้นจาก 96.1% มาเป็น 97.7% ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

หนี้พวกนี้มาจากไหน? หากแยกออกเป็น 4 กลุ่มจะเห็นได้ชัดว่าก้อนหนี้ที่บวมขึ้นส่วนใหญ่มาจากการซื้อบ้านและการกู้มาทำการเกษตร ขณะที่หนี้ทำธุรกิจลดลงเพราะมีครัวเรือนที่ประกอบกิจการน้อยลง ดังนี้

  • หนี้บ้านเพิ่ม 5% การก่อหนี้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยของครัวเรือนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 128,287 บาทต่อครัวเรือนในปี 2560 มาอยู่ที่ 135,312 บาทต่อครัวเรือน ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ที่อยู่อาศัยต่อหนี้ครัวเรือนทั้งหมดเพิ่มขึ้นจาก 36.3% มาเป็น 37.3% ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552
  • หนี้การบริโภคเพิ่ม 1% หนี้เพื่อการบริโภค (รวมหนี้รถยนต์) ซึ่งเป็นหนี้ที่มีสัดส่วนสูงที่สุดของครัวเรือนในปัจจุบันเพิ่มขึ้นจาก 137,678 บาทต่อครัวเรือนในปี 2560 มาอยู่ที่ 139,904 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 1%
  • หนี้ธุรกิจเกษตรเพิ่ม 7% จาก 49,273 บาทต่อครัวเรือนในปี 2560 มาอยู่ที่ 51,574 บาทต่อครัวเรือน ทั้งที่กำไรธุรกิจเกษตรลดลงแต่ก็ยังมีหนี้เพิ่ม คาดว่าเกิดจากเกษตรกรก่อหนี้มาประคองธุรกิจไปก่อน และภาครัฐยังให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำอยู่ต่อเนื่อง
  • หนี้ธุรกิจนอกภาคเกษตรลด -2.1% เป็นกลุ่มเดียวที่ลดลง จาก 30,120 บาทต่อครัวเรือนในปี 2560 ลดลงมาอยู่ที่ 29,478 บาทต่อครัวเรือนในปัจจุบัน และครัวเรือนที่ทำกิจการนอกภาคเกษตรก็ลดลงจาก 30.5% ในปี 2552 มาอยู่ที่ 25.2%

 

4.ครัวเรือนไทย “ออมลดลง” -2.4% สัดส่วนเงินออมต่อรายได้ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี
by EIC

เงินออมครัวเรือนไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,677 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน ลดลง -2.4% จากปี 2560 ที่ 1,718 บาท สัดส่วนเงินออมต่อรายได้ครัวเรือนในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 อยู่ที่เพียง 6.4% ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552 โดยอัตราการออมของครัวเรือนไทยเคยสูงสุดอยู่ที่ 11.0% เมื่อปี 2554

หนำซ้ำ ครัวเรือนที่เป็นหนี้เกือบ 60% จะไม่เหลือเงินออมเลยในปัจจุบัน และสัดส่วนเกือบ 60% นี้มีสินทรัพย์เป็น “กันชนทางการเงิน” คือเงินสำรองที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายมีใช้ได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น

 

5.กลุ่มผู้มีรายได้น้อย 20% ต้องพึ่งเงินจากรัฐมากขึ้น
by EIC

กลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยกว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือนนั้นคิดเป็น 20% ของจำนวนครัวเรือนที่สำรวจทั้งหมด พบว่ากลุ่มนี้ต้องพึ่งพิงเงินช่วยเหลือของภาครัฐ เช่น เงินโอน เงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุและผู้พิการ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 อยู่ที่ 813 บาทต่อเดือน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 11.6% ต่อรายได้ทั้งหมด เงินก้อนนี้ช่วยให้ครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น 0.6% เมื่อเทียบกับ 2 ปีก่อนหน้า

กลุ่มนี้เป็นกลุ่มเปราะบางทางการเงินเพราะมีอัตราหนี้สินสูงกว่ารายได้คือ หนี้สินคิดเป็น 117.8% ของรายได้ และถ้าหากไม่มีเงินช่วยเหลือของรัฐ ตัวเลขนี้จะพุ่งขึ้นเป็น 134.2%

จากข้อมูลทั้งหมดนี้ EIC สรุปว่าภาวะการเงินของครัวเรือนไทยกำลังซบเซาลงจากรายได้ที่ลดลง ซึ่งมีผลต่อการใช้จ่ายและกู้ยืมในภายภาคหน้า และกลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือผู้มีรายได้น้อยซึ่งเปราะบางทางการเงินมากและต้องการการช่วยเหลือจากรัฐ

]]>
1258042