กลยุทธ์ธุรกิจ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 12 May 2022 12:46:37 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “ไรมอน แลนด์” ภายใต้ยุค “กรณ์ ณรงค์เดช” ขอเป็น Top of Mind อสังหาฯ “ซูเปอร์ลักชัวรี” https://positioningmag.com/1385133 Thu, 12 May 2022 11:33:31 +0000 https://positioningmag.com/?p=1385133 ตระกูล “ณรงค์เดช” เข้ามาเทกโอเวอร์ “ไรมอน แลนด์” และตั้ง “กรณ์ ณรงค์เดช” ขึ้นมานั่งตำแหน่งซีอีโอตั้งแต่ปี 2564 รากฐานเดิมของไรมอน แลนด์นั้นแข็งแกร่งอยู่แล้วในกลุ่มอสังหาฯ “ซูเปอร์ลักชัวรี” แต่ก็ยังมีจุดที่ขันน็อตเพิ่มได้อีก นั่นคือการอุดช่องว่างรายได้ระหว่างปีด้วยโครงการ “แนวราบ” กับการเสริมพลังด้วย Branded Residence หวังขึ้นเป็นบริษัท Top of Mind ในกลุ่มบ้าน-คอนโดฯ สุดหรู

บริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ RML ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2530 และเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาคอนโดฯ ซูเปอร์ลักชัวรี ห้องละ 10 ล้านบาทขึ้นไป มีโครงการไฮไลต์ที่ฝากชื่อไว้ในเมืองไทย เช่น “เดอะ ริเวอร์” เมกะโปรเจ็กต์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา หรือ “185 ราชดำริ” โครงการฟรีโฮลด์แห่งแรกบน ถ.ราชดำริ

ระหว่างเส้นทางการทำธุรกิจ ไรมอน แลนด์ถูกซื้อขายเปลี่ยนมือบ่อยครั้ง จนล่าสุดเป็นกลุ่มตระกูลณรงค์เดชที่เข้ามาเป็นเจ้าของผ่าน บริษัท เคพีเอ็นแลนด์ จำกัด ปัจจุบันถือหุ้นสูงสุด 23.97% จากนั้นมีการแต่งตั้ง “กรณ์ ณรงค์เดช” ขึ้นมานั่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ RML ตั้งแต่มกราคม 2564

ผ่านมาปีกว่า กรณ์ได้เข้ามาชำแหละจุดแข็งจุดอ่อนของไรมอน แลนด์ ปรับพื้นฐานกันใหม่ให้พร้อมไปสู่อนาคต

กรณ์ ณรงค์เดช ไรมอน แลนด์
“กรณ์ ณรงค์เดช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ RML

โจทย์ใหญ่ที่กรณ์มองเห็นในการปรับไรมอน แลนด์มี 2 ปัญหาสำคัญ คือ หนึ่ง บริษัทมีช่องว่างการรับรู้รายได้ แต่ละปีทำรายได้และกำไรไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากพอร์ตมีเฉพาะคอนโดฯ ไฮไรส์ซึ่งต้องใช้เวลาก่อสร้างราว 4 ปี และ สอง ชื่อของไรมอน แลนด์ไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ทั้งที่บริษัทอยู่ในตลาดอสังหาฯ ระดับซูเปอร์ลักชัวรีมานาน แต่ลูกค้ากลับรู้จักเป็นรายโครงการ

ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาเป็นช่วงที่บริษัทได้ปรับพื้นฐานเตรียมตัวแก้โจทย์ดังกล่าวแล้ว โดยมีการตัดขายธุรกิจที่เป็น non-core business นั่นคือธุรกิจร้านอาหารออกไปทั้งหมด และสต็อกพร้อมอยู่ที่เคยมีมูลค่าถึง 1,892 ล้านบาทเมื่อเดือนธันวาคม 2563 บริษัทได้ไล่ทำการตลาดออนไลน์จนสามารถขายสต็อกพร้อมอยู่ออกไปจนเหลือเพียง 71 ล้านบาท ณ ขณะนี้

 

6 กลยุทธ์ยุคใหม่ “ไรมอน แลนด์”

กรณ์กล่าวถึงพื้นฐานของ RML ที่เน้น อสังหาฯ ซูเปอร์ลักชัวรี มองว่ายังมีศักยภาพในตลาด เพราะกำลังซื้อของกลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูง (High Net Worth Individual: HNWI) ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 น้อยมาก และลูกค้ากลุ่มนี้ยังคงมองหาการลงทุนในอสังหาฯ อยู่

จากผลสำรวจของ CBRE พบว่าการกระจายการลงทุนของกลุ่ม HNWI ในช่วงไตรมาส 1/2562 (ก่อนโควิด-19) จะแบ่งมาลงทุนอสังหาฯ 16% ขณะที่ช่วงไตรมาส 1/2564 (หลังเกิดโควิด-19) ลงทุนในอสังหาฯ 15% ของพอร์ต

เห็นได้ว่าตัวเลขเปลี่ยนไม่มาก ไรมอน แลนด์จึงยังมุ่งเน้นการพัฒนาอสังหาฯ ระดับซูเปอร์ลักชัวรีต่อเนื่อง แต่ต้องมีการปรับกลยุทธ์บริษัท ดังนี้

1.เพิ่มพอร์ตโครงการแนวราบ

เนื่องจากโครงการแนวราบจะใช้เวลาก่อสร้าง 12-18 เดือน สั้นกว่าการก่อสร้างคอนโดฯ ไฮไรส์ ทำให้สามารถใช้อุดช่องว่างรายได้ที่หายไปช่วงที่คอนโดฯ ยังไม่แล้วเสร็จได้ ในระยะ 5-10 ปีข้างหน้าคาดว่าโครงการแนวราบจะมีสัดส่วน 20-30% ของพอร์ต

โครงการที่บริษัทสนใจเป็นไปได้ทั้งวิลล่า บ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม ทั้งในกรุงเทพฯ และภูเก็ต โดยเป็นอสังหาฯ มูลค่า 50 ล้านบาทต่อหลังขึ้นไปเป็นหลัก

กรณ์ ณรงค์เดช ไรมอน แลนด์
Rosewood Residences Kamala Phuket
2.พัฒนาเป็น Branded Residence

อนาคตพอร์ตของไรมอน แลนด์ 70-80% จะเป็นโครงการ Branded Residence จับมือกับเชนโรงแรมระดับโลก เนื่องจาก Branded Residence พิสูจน์ในตลาดมาแล้วว่าราคาเติบโตได้ดีกว่าโครงการปกติ 10-15%

อีกเหตุผลคือการใช้แบรนด์ที่เป็นที่รู้จักระดับโลก ลูกค้าจะมั่นใจกับมาตรฐานของโครงการและสามารถคาดเดาการออกแบบดีไซน์ได้ในระดับหนึ่ง ทำให้การตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น อีกทั้งบริษัทจะได้ฐานลูกค้าของโรงแรมเหล่านั้นในการขาย เป็นปัจจัยบวกกับบริษัทที่มีพอร์ตลูกค้าไทย 61% และลูกค้าต่างชาติถึง 39%

3.จอยต์เวนเจอร์กับเจ้าของที่ดิน

โมเดลธุรกิจที่กรณ์จะนำเสนอ ต้องการจอยต์เวนเจอร์กับเจ้าของที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการ เพื่อให้บริษัทมี ‘asset light’ ไม่ต้องจัดซื้อที่ดินเข้ามาในยุคที่ราคาที่ดินสูงมาก

ประเด็นนี้บริษัทจะต้องสร้างแบรนด์ของตัวบริษัท (Corporate Brand) ให้แข็งแรงกว่าเดิม เพื่อให้พาร์ทเนอร์เกิดความเชื่อมั่นในการลงทุน

4.ขยายฐานลูกค้าสู่ “คนรุ่นใหม่”

ในอดีตฐานลูกค้าของไรมอน แลนด์จะเป็นวัยผู้ใหญ่ 45 ปีขึ้นไปที่ทำงานสะสมสินทรัพย์จนประสบความสำเร็จ แต่ปัจจุบันกรณ์มองว่าคนรุ่นใหม่เริ่มประสบความสำเร็จไวขึ้น ใช้เวลาเพียง 4-5 ปีในการสร้างตัว ทำให้บริษัทปรับการตลาดมาเจาะคนรุ่นใหม่มากกว่าเดิมเพื่อช่วยให้ฐานตลาดใหญ่ขึ้น

5.ลงทุนธุรกิจใหม่ เช่น ดาต้า เซ็นเตอร์

หาโอกาสในการลงทุนธุรกิจใหม่แต่ยังอยู่ในสายงานอสังหาฯ โดยที่มีศักยภาพและบริษัทจะเริ่มลงทุนคือ ดาต้า เซ็นเตอร์ แต่สร้างความต่างจากในตลาดด้วยการจับมือใช้เทคโนโลยีของบริษัท Nautilus Data Technologies ซึ่งมีระบบหล่อเย็นด้วย “น้ำ” แทนระบบปกติที่ใช้พัดลมหรือแอร์ ทำให้ค่าใช้จ่ายถูกลง 20% และทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า

ขณะนี้อยู่ระหว่างเลือกทำเลลงทุน คาดว่าจะอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม และจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2566 เริ่มรับรู้รายได้ปี 2567

6.รายได้ประจำจากตึกออฟฟิศ

บริษัทอยู่ระหว่างก่อสร้างอาคารสำนักงาน One City Centre เพลินจิต เป็นอาคารบนเนื้อที่ 6 ไร่ ความสูง 61 ชั้น พื้นที่เช่า 61,000 ตร.ม. สำนักงานเกรด A แห่งแรกของประเทศที่ได้มาตรฐาน Fitwell จากสหรัฐอเมริกา มีกำหนดการแล้วเสร็จปี 2566 ขณะนี้เซ็นดีลพื้นที่เช่าได้แล้ว 5,000 ตร.ม. ค่าเช่าเฉลี่ย 1,300 บาทต่อตร.ม.ต่อเดือน

อาคารสำนักงาน One City Centre

ประเดิม Branded Residence แห่งแรกที่ภูเก็ต

สำหรับแผนการดำเนินงานปี 2565 กรณ์ระบุว่าจะมีการเปิดตัวโครงการใหม่เพิ่ม 3 โครงการ ได้แก่ Rosewood Residences Kamala Phuket มูลค่าโครงการ 7,800 ล้านบาท, คอนโดฯ Branded Residence บนถนนสุขุมวิท มูลค่าโครงการ 5,500 ล้านบาท และ โครงการแนวราบในกรุงเทพฯ ที่ยังไม่สรุปมูลค่าโครงการอีกแห่งหนึ่ง

Rosewood Residences Kamala Phuket เป็นแห่งแรกของบริษัทที่เริ่มใช้แบรนด์เชนโรงแรม โครงการนี้จะมีวิลล่าเพียง 14 หลัง ราคาต่อหลังจะเริ่มที่หลักหลายร้อยล้านบาท จนไปถึงหลังใหญ่สุดราคาเฉียดพันล้าน เปิดตัวภายในต้นไตรมาส 3/65

ส่วนคอนโดฯ ที่สุขุมวิทนั้นจะออกแบบให้ตอบสนองดีมานด์จริงในตลาด บริษัทพบว่า ลูกค้า HNWI นั้นต้องการห้องชุดขนาดใหญ่ 200 ตร.ม. ฟังก์ชัน 3-4 ห้องนอนเป็นหลัก โปรดักส์ประเภทนี้ในตลาดแทบไม่มีเหลือขาย ขณะที่ห้องชุดขนาดเล็กจะขายยากมากกับลูกค้าเศรษฐีเหล่านี้ เพราะทุกคนต้องการพื้นที่ที่เพียงพอ ดังนั้น คอนโดฯ ภายใต้ยุคใหม่ของ RML จะมียูนิตน้อยแต่ห้องใหญ่ขึ้น

The Estelle Phrom Phong

ด้านโครงการในมือที่กำลังก่อสร้าง ได้แก่ The Estelle Phrom Phong ทำยอดขายแล้ว 60% พร้อมโอนไตรมาส 3/65 และโครงการ Tait Sathorn 12 ทำยอดขาย 80% พร้อมโอนปี 2566

ปีนี้ไรมอน แลนด์วางเป้ายอดขาย 7,200 ล้านบาท และเป้ารายได้ 2,200 ล้านบาท ซึ่งกรณ์กล่าวว่า ปีนี้อาจจะยังไม่ใช่ปีที่ ‘เทิร์นอะราวด์’ ของบริษัท หลังจากผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่องมา 2 ปี

“ภายใน 5 ปีเราต้องการให้บริษัทเป็น Top of Mind เมื่อลูกค้านึกถึงอสังหาฯ ซูเปอร์ลักชัวรีในไทย ที่ผ่านมาคนรู้จักโครงการของเรา แต่ไม่รู้ว่าเราเป็นคนสร้าง เราต้องการจะสร้างแบรนด์ของบริษัทให้ดีขึ้น” กรณ์กล่าวทิ้งท้าย

]]>
1385133