คอมมูนิตี้ มอลล์ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Sat, 10 Aug 2024 00:41:15 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 โฉมใหม่ “Too Fast to Sleep” สาขาสามย่าน แปลงเป็นคอมฯ มอลล์ – ฮอลล์จัดอีเวนต์ https://positioningmag.com/1485929 Fri, 09 Aug 2024 16:34:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1485929 อดีตที่อ่านหนังสือ 24 ชั่วโมงสุดฮิตของเด็กจุฬาฯ “Too Fast to Sleep” สาขาสามย่าน กลับมาในโฉมใหม่ “Too Fast Infinity” แปลงเป็นคอมมูนิตี้ มอลล์ มีฮอลล์จัดอีเวนต์เป็นจุดขายใหม่ เป้าหมายกลับมาสร้างกำไร

ปี 2555 ร้านกาแฟ “Too Fast to Sleep” ถือกำเนิดขึ้นบริเวณข้างวัดหัวลำโพง ใกล้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากแนวคิดของ “อเนก จงเสถียร” นักธุรกิจเจ้าของบริษัทผลิตพลาสติกห่ออาหาร ที่เห็นว่านักเรียน นิสิต นักศึกษา ควรจะได้มีที่อ่านหนังสือ-ติวหนังสือสาธารณะ

Too Fast to Sleep ฮิตติดลมบนอย่างรวดเร็ว จากคอนเซ็ปต์เปิดบริการ 24 ชั่วโมง และจะนั่งนานเท่าไหร่ก็ได้ ในสมัยนั้นนับว่าเป็นคอนเซ็ปต์ ‘ใหม่มาก’ ในประเทศไทย

Too Fast to Sleep
บรรยากาศ Too Fast to Sleep ในอดีต

หลังจากนั้น Too Fast to Sleep ได้ขยายไปอีกหลายสาขา ส่วนใหญ่อยู่ในทำเลมหาวิทยาลัยเหมือนสาขาแรกที่สามย่าน เพื่อเจาะตลาดลูกค้ากลุ่มเดียวกันคือนักเรียน-นักศึกษา รวมถึงมีการแตกแบรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มในเครืออีกมากมาย เช่น ตาโต โอชา, เส้นทองเอก, Secret Chamber, ABBA Café เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม “กมนทรรศน์ เหล่าบุตรดีปฐพี” ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ Too Fast Infinity Group ยอมรับว่า Too Fast to Sleep ซึ่งเป็นร้านแรกในเครือและเป็นคอนเซ็ปต์ที่ทำเพื่อสังคมนั้น ‘แทบจะขาดทุนตลอด’ และเครือเคยใช้วิธีนำกำไรจากร้านอาหารและเครื่องดื่มอื่นๆ มาอุดหนุนเพื่อทำให้คอนเซ็ปต์แบบ Too Fast to Sleep ยังยืนอยู่ได้

“กมนทรรศน์ เหล่าบุตรดีปฐพี” ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ Too Fast Infinity Group

จนกระทั่งเกิด “โควิด-19” จุดเปลี่ยนสำคัญที่กระทบ Too Fast to Sleep โดยตรง ทุกสาขาต้องปิดชั่วคราวทั้งหมด และเรียกรวมตัวพนักงาน 200 คนมาเปิดครัวกลางที่สามย่านทำอาหารกล่องเดลิเวอรีเพื่อประคองตัวผ่านวิกฤตกันไปก่อน

หลังโควิด-19 ผ่านพ้น กมนทรรศน์กล่าวว่า Too Fast Infinity Group จึงเริ่มต้นใหม่ ด้วยแนวคิดใหม่คือ “เราจะไม่กลับไปขาดทุนอีกแล้ว”  

 

สาขาหลัก “สามย่าน” เปลี่ยนเป็น “Too Fast Infinity”

กมนทรรศน์กล่าวว่า สำหรับสาขาแรกที่ “สามย่าน” ได้ปิดคอนเซ็ปต์เดิมถาวร ก่อนที่เครือจะใช้เงินลงทุน 15-20 ล้านบาท ซ่อมแซมปรับปรุงและดีไซน์หลายส่วนในอาคารใหม่ เพื่อกลับมาเปิดภายใต้ชื่อใหม่ “Too Fast Infinity” ในปีนี้

Too Fast Infinity
ภายนอกอาคารและด้านหน้ามีการปรับปรุงเปลี่ยนใหม่มาเป็นธีมสีขาว

คอนเซ็ปต์ใหม่ของ “Too Fast Infinity” เป็นการปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นคอมมูนิตี้ มอลล์ขนาดย่อมๆ บนพื้นที่ 1 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ฮอลล์จัดอีเวนต์, ร้านกาแฟ, ร้านอาหาร, ร้านขายเสื้อผ้า และในอนาคตจะมีร้านอื่นๆ เพิ่มเติมอีก เช่น คลินิกความงาม ร้านขายดอกไม้

ในส่วน “ฮอลล์” จัดอีเวนต์ดีไซน์เป็นสไตล์กลาสเฮ้าส์ใต้หลังคา พื้นที่จุคนได้ 200 คน สามารถใช้จัดงานได้หลากหลาย เช่น งานเปิดตัวสินค้า นิทรรศการ งานแถลงข่าว งานเสวนา ปาร์ตี้ส่วนตัว งานแฟร์ขายสินค้า เป็นต้น

ฮอลล์จัดอีเวนต์ใน Too Fast Infinity

ส่วนร้านกาแฟด้านหน้าเป็นร้าน ABBA Café ที่เป็นร้านในเครือ เปิดตั้งแต่ 8:00 – 23:00 น. เป็นพื้นที่นั่งอ่านหนังสือ ทำงาน ประชุมงานกันได้

ด้านล่างเป็นร้าน Secret Chamber ร้านอาหารและบาร์ตกแต่งในสไตล์แฮร์รี่ พอตเตอร์ มีดนตรีสดและบาร์ซิการ์ เหมาะกับการแฮงเอาต์สังสรรค์กับเพื่อนยามค่ำคืน

ABBA Café

นอกจากนี้ ยังปรับพื้นที่ให้มีที่จอดรถทั้งหมด 30 คันเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายลูกค้าใหม่ที่จะเป็นกลุ่มคนทำงานและวัยผู้ใหญ่มากขึ้น จากเดิมที่นี่ไม่มีที่จอดรถเพราะมองว่านิสิตนักศึกษามักจะใช้รถสาธารณะมากกว่า

กมนทรรศน์มองว่า ฮอลล์จัดอีเวนต์จะเป็นหัวใจสำคัญของ Too Fast Infinity ใช้ในการดึงทราฟฟิกเข้าสู่พื้นที่ และ 70% ของรายได้สาขานี้น่าจะได้จากการเช่าพื้นที่ฮอลล์

 

“Too Fast to Sleep” เหลือ 3 สาขา – เตรียมเปิดใหม่ “คลองเตย”

ส่วนภาพรวม Too Fast Infinity Group กมนทรรศน์สรุปธุรกิจทั้งหมดที่มีปัจจุบัน ได้แก่

  • Too Fast to Sleep 3 สาขา – สาขา Charn Avenue แจ้งวัฒนะ, สาขา มศว ประสานมิตร และสาขาสยามสแควร์
  • ร้านอาหาร Secret Chamber 3 สาขา – สาขา Charn Avenue แจ้งวัฒนะ, สาขา MBK Center และสาขาสามย่าน
  • ร้านอาหาร เส้นทองเอก 2 สาขา – สาขา Silom Edge, สาขา MBK Center
  • ร้านอาหาร ตาโต โอชา 2 สาขา – สาขา Silom Edge, สาขา MBK Center
  • ร้านกาแฟ ABBA Café 1 สาขา – สาขาสามย่าน
Too Fast to Sleep สาขา Charn Avenue แจ้งวัฒนะ

กมนทรรศน์ยังกล่าวถึง Too Fast to Sleep ทั้ง 3 สาขาที่เหลืออยู่ด้วยว่า ปัจจุบันสามารถพลิกกลับมาทำกำไรด้วยตนเองหรือขาดทุนน้อยลงแล้วทุกสาขา เพราะมีการปรับเวลาให้บริการให้เหมาะสม คือ สาขา Charn Avenue แจ้งวัฒนะ บริการเวลา 10:00 – 01:00 น. สาขา มศว ประสานมิตร บริการเวลา 09:00 – 19:00 น. (ปิดวันอาทิตย์) และ สาขาสยามสแควร์ บริการเวลา 09:00 – 20:00 น. ทำให้ลดค่าใช้จ่ายจาก “ค่าไฟฟ้า” ที่เป็นต้นทุนหลักลงได้มากเพราะไม่ได้เปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมงเหมือนกับสาขาสามย่านในอดีต

ทั้งนี้ Too Fast to Sleep ซึ่งยังคงคอนเซ็ปต์เป็นที่อ่านหนังสือและนั่งทำงานโดยมีเครื่องดื่มและอาหารให้บริการ จะเปิดเพิ่มอีก 1 สาขาที่ MRT คลองเตย หลังจากเป็นผู้ชนะการประมูลพื้นที่ โดยจะเข้าพื้นที่เพื่อตกแต่งได้ในเดือนพฤศจิกายนนี้ คาดจะเปิดให้บริการได้ในปี 2568

กมนทรรศน์กล่าวว่าทั้งเครือ Too Fast Infinity Group ตั้งเป้ารายได้ที่ 30 ล้านบาทในปี 2568 ส่วนการขยายสาขาในกลุ่มร้านอาหารเครื่องดื่ม ปัจจุบันมีแผนแล้วเป็นร้านเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ “กมน” (Kamon) จะเปิดสาขาแรกในปีหน้า

]]>
1485929
เปิดแนวคิด “สเวนเซ่นส์ กาดฝรั่ง” โมเดลคอนเซ็ปต์ สโตร์ สไตล์ “มินิมัล ล้านนา” https://positioningmag.com/1355676 Mon, 11 Oct 2021 03:00:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1355676

สเวนเซ่นส์ผุดโมเดลใหม่ “คอนเซ็ปต์ สโตร์” ประเดิมสาขาแรกที่ “กาดฝรั่ง” จ.เชียงใหม่ ด้วยดีไซน์สไตล์ “มินิมัล ล้านนา” หวังเป็นจุดเช็กอิน สร้างเอ็นเกจเมนต์กับผู้บริโภคมากขึ้น


เจาะวิธีคิดคอนเซ็ปต์ สโตร์

สเวนเซ่นส์แบรนด์ยักษ์ใหญ่ในตลาดไอศกรีมระดับพรีเมียม ที่ทำตลาดในไทยมาร่วม 35 ปีแล้ว ที่ผ่านมาสเวนเซ่นส์มีกลยุทธ์หลักการขยายสาขาให้เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น บวกกับการออกเมนูใหม่ๆ เพื่อสร้างสีสันให้ตลาด แต่ยุคนี้พบว่าการมีร้านแค่ 1 โมเดล ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคแล้ว

ในช่วงปีที่ผ่านมาสเวนเซ่นส์ได้นำร่องเปิดสาขาด้วยโมเดลใหม่ๆ ทั้ง Regional Flagship Store เนรมิตสาขารูปแบบสแตนด์อโลน พร้อมกับดีไซน์ที่เบลด์ให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้นๆ ปัจจุบันมี 3 สาขา ได้แก่ ภูเก็ต, ยะลา และน่าน อีกทั้งยังมีโมเดล “ป๊อปอัพ สโตร์” ครั้งแรก ด้วยการแตกแบรนด์ใหม่ Sweet Aholic by Swensen’s คอนเซ็ปต์คาเฟ่ขนมหวาน ในตอนนั้นได้เปิดโลเคชั่นแรกที่สามย่านมิตรทาวน์

ปีนี้สเวนเซ่นส์ได้เปิดโมเดลใหม่แกะกล่องอีกแห่ง กับรูปแบบ “คอนเซ็ปต์ สโตร์” ประเดิมสาขาแรกที่ “กาดฝรั่ง” จ.เชียงใหม่ รูปแบบนี้จะให้ความแตกต่างจากร้านสาขาปกติ มีความพิเศษกว่าที่การตกแต่งร้าน แต่ยังไม่ยิ่งใหญ่ถึงขนาดเป็นรูปแบบ Regional Flagship Store

 อนุพนธ์ นิธิยานันท์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท สเวนเซ่นส์ (ไทย) จำกัด เล่าว่า

“ที่สาขากาดฝรั่งจะเรียกเป็นคอนเซ็ปต์ สโตร์ เนื่องจากอยู่ในศูนย์การค้า จะแตกต่างจาก Regional Flagship Store ที่เป็นแบบสแตนด์อโลน และมีเอกลักษณ์ตามวัฒนธรรมท้องถิ่นโดยเฉพาะ จริงๆ ที่เชียงใหม่เป็นทำเลที่มีศักยภาพ แต่ด้วยที่ในจังหวัดมี 6 สาขาแล้ว สาขานี้เป็นสาขาที่ 7 ถ้าไปลงทุนสาขาใหญ่มาก มันจะดึงกันเอง และเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่แตกเมืองเยอะมากๆ เลยคิดว่าไปเปิดตามมุมต่างๆ จะดีกว่า”

แต่สาขานี้จะไม่มีเมนูเอ็กซ์คลูซีฟเหมือนกับสาขา Regional Flagship Store อย่างที่ยะลาจะมีเมนูกล้วยหินซันเดย์ ส่วนที่กาดน่านจะมีเมนูไอศกรีมกะทิบัวลอย รวมถึงชุดยูนิฟอร์มของพนักงานก็เป็นชุดปกติ ไม่ได้มีชุดพื้นเมือง

อีกหนึ่งความน่าสนใจของการสร้างคอนเซ็ปต์ สโตร์ ก็คือ ต้องการดึงดูดความสนใจจากชาวเชียงใหม่ เป็นที่ทราบกันดีว่าที่เชียงใหม่มีคาเฟ่ ร้านกาแฟ ร้านขนมหวานเยอะมาก สเวนเซ่นส์ไม่ได้เป็นร้านที่หวือหวาเหมือนร้านกาแฟ แต่อยากทำให้ร่วมสมัย และตอบโจทย์คนเชียงใหม่ให้มากที่สุด


สไตล์ มินิมัล ล้านนา

ไอเดียการออกแบบของสาขากาดฝรั่งนั้น จะเป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนาของเชียงใหม่ ผสมกับคาแร็กเตอร์ของสเวนเซ่นส์ ทำให้สาขานี้ได้เห็นภาพแห่งวิถีชีวิตของชาวเชียงใหม่ที่มีความเรียบง่าย แต่มีกลิ่นแห่งศิลปะ และความสนุกสนานอยู่เสมอ

โดยจะเห็นได้จากการออกแบบที่ทำให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย เห็นสถาปัตยกรรมล้านนาชัดเจน แต่มีการเลือกใช้วัสดุที่เรียบแต่มีความลึกในเชิงนามธรรม การใช้ผนังฉาบปูนแบบไม่ตกแต่งให้เรียบร้อย การดึงแสงธรรมชาติเข้ามาให้บรรยากาศภายในร้านมีความกลมกลืนทั้งของตกแต่งภายใน และภายนอกมีการทาผนังภาพนูนต่ำเป็นกราฟิกเล่าเรื่องความละมุนของชาวเชียงใหม่

รวมถึงการตกแต่งโดยใช้โคมลอยประยุกต์ หรือโคมยี่เป็ง ผสมเข้ากับกับโคมทิฟฟานี่ที่เป็นซิกเนเจอร์ของสเวนเซ่นส์มาช้านาน เป็นการเบลนด์ให้เข้ากันอย่างลงตัว

“สาขานี้ใช้เวลาในการศึกษาออกแบบ 2 เดือน และใช้เวลาก่อสร้างอีก 2 เดือน เนื่องจากติดช่วงสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ล่าช้ากว่าปกติเล็กน้อย โดยดีไซน์จะเน้นโทนขาวๆ คลีนๆ มินิมัล มีความเป็นชาวเหนือ พร้อมกับดึงจุดเด่นของเชียงใหม่อย่างยี่เป็งมาเชื่อมโยงกับทิฟฟานี่ แลมป์ที่เป็นจุดเด่นของสเวนเซ่นส์ จึงได้คอนเซ็ปต์อย่างลงตัว”

พร้อมกับมีบัตรสมาชิกลายพิเศษ กาดฝรั่ง เป็นบัตรสมาชิกที่จัดทำขึ้นสำหรับขายสาขากาดฝรั่งเท่านั้น มีจำนวนจำกัด ราคาเพียง 299 บาท ลายบัตรคือนำ Perspective ของร้านมาจัดทำเป็นภาพสีน้ำ ออกแบบให้ดูละมุน และมีความน่ารัก


สร้างร้านให้มีสตอรี่

เนื่องจากสาขาคอนเซ็ปต์ สโตร์ จะอยู่กึ่งกลางระหว่างร้านปกติทั่วไป กับร้าน Regional Flagship Store การจะเปิดสาขาใหม่นั้น ต้องมีวิธีการเลือกที่แตกต่างจากร้านทั่วไป แต่ไม่ใหญ่เท่า Regional Flagship Store

อนุพนธ์ บอกว่า หลักการเลือกโลเคชั่นในการขยายสาขาคอนเซ็ปต์ สโตร์นั้น สาขาจะต้องอยู่ในศูนย์การค้า หรือคอมมูนิตี้ มอลล์ ในจังหวัดนั้น อาจจะมีหลายสาขาอยู่แล้วก็ได้ เพียงแต่สร้างความแตกต่าง ทำให้ร้านมีสตอรี่เชื่อมโยงกับพื้นที่ เพื่อให้เกิดความตื่นเต้น แต่ร้านจะไม่สเกลใหญ่ จังหวัดเล็กๆ ก็สามารถเปิดได้

ร้านคอนเซ็ปต์ สโตร์จะต้องมีพื้นที่เฉลี่ยขนาด 100-120 ตารางเมตร จะเล็กว่า Regional Flagship Store ที่มีขนาด 150 ตารางเมตรขึ้นไป

โดยที่ทำเลของกาดฝรั่งเป็นคอมมูนิตี้ มอลล์ที่มีศักยภาพสูง อยู่ในเส้นหางดง จับโซนนอกเมืองที่เดลิเวอรี่เข้าไม่ถึง และในละแวกนั้นมีชาวต่างชาติอาศัยอยู่แถวนั้นเยอะ มีหมู่บ้านเยอะ ชุมชนเยอะอีกด้วย

ในอนาคตมีแผนที่จะขยายสาขา Regional Flagship Store อีก 3-4 สาขา จะเป็นการขยายตามโลเคชั่นที่เจาะเซ็กเมนต์มากขึ้น เช่น ภาคเหนือตอนบน เหนือตอนล่าง อีสานตอนบน อีสานตอนล่าง หรือแม้แต่ภาคใต้ ก็เป็นฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน

ปัจจุบันลูกค้าของสาขากาดฝรั่งแบ่งเป็นลูกค้าในพื้นที่ 90% และนักท่องเที่ยว 10% มีการคาดการณ์ว่า ถ้าสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ จะมีสัดส่วนลูกค้าในพื้นที่ 70% และนักท่องเที่ยว 30%

ต้องบอกว่าการไม่หยุดพัฒนาโมเดลใหม่ๆ หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ของสเวนเซ่นส์ ทำให้แบรนด์มีสีสัน และเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่อง เพราะมีการพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ที่ปัจจุบันมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ยิ่งทำให้สเวนเซ่นส์เป็นอีกหนึ่งแบรนด์เลิฟที่คนไทยทุกเพศทุกวัยต้องหลงรักอย่างแน่นอน

]]>
1355676