-
“เดอะ เกรท รูม” (The Great Room) ขยายสาขาสองในไทยที่ “พาร์ค สีลม” โดยเป็นการร่วมทุนกับ “นายณ์ เอสเตท” และ “ไมเนอร์” บริษัทเจ้าของอาคาร ชูโมเดลธุรกิจนี้แข็งแรงและยั่งยืนกว่าในการพัฒนา “โคเวิร์กกิ้งสเปซ”
-
ชี้โอกาสในตลาดไทยยังมีอีกมาก เพราะออฟฟิศแบบยืดหยุ่นยังมีเพียง 1.5% ของตลาดรวม
“เดอะ เกรท รูม” (The Great Room) ประกาศเปิดตัวสาขาที่สองในไทยที่อาคาร “พาร์ค สีลม” โดยใช้พื้นที่รวม 3,500 ตารางเมตรบนชั้น 29-30 ของอาคารพาร์ค สีลม เริ่มให้บริการเดือนสิงหาคม 2566 หลังจากเปิดสาขาแรกที่อาคาร เกษร ทาวเวอร์ มาตั้งแต่ปี 2561
แบรนด์โคเวิร์กกิ้งสเปซแห่งนี้ก่อตั้งครั้งแรกในสิงคโปร์ ก่อนที่บริษัท Industrious จากสหรัฐฯ (มีบริษัท CBRE เป็นผู้สนับสนุนการลงทุน) จะเข้าเทกโอเวอร์ เดอะ เกรท รูม ไปเมื่อปี 2565
ปัจจุบันเดอะ เกรท รูม ขยายไป 10 สาขาใน 3 เขตการปกครอง ได้แก่ 6 สาขาในสิงคโปร์, 2 สาขาในฮ่องกง และ 2 สาขาในไทย และเตรียมเปิดตัวสาขาที่ 11 ในเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ภายในปี 2567 ตามแผนการขยายตัวในเอเชียแปซิฟิกของบริษัท
“โคเวิร์กกิ้งสเปซ” ระดับพรีเมียม หรูสุดในตลาด
ภายในตลาดที่แข่งขันสูงของธุรกิจ “โคเวิร์กกิ้งสเปซ” เดอะ เกรท รูมวางตำแหน่งทางการตลาดของตัวเองไว้ในกลุ่มพรีเมียม วัดได้จาก “ราคา” ที่สูงกว่าคู่แข่งมาก
เปรียบเทียบราคา ‘Hot Desk’ หรือการสมัครสมาชิกเพื่อเข้ามาใช้งานส่วนตัวโดยไม่มีที่นั่งประจำ “เดอะ เกรท รูม” คิดราคา 8,000 บาทต่อเดือน เทียบกับ “จัสโค” คิดเพียง 5,200 บาทต่อเดือน หรือ “SPACES” ยิ่งถูกลงมาเหลือ 2,050 บาทต่อเดือนเท่านั้น
“ซู แอน มี” ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ The Great Room ชูจุดขายของแบรนด์ที่ทำให้พรีเมียมกว่า มาจากการเลือกโลเคชันใจกลางเมือง และเลือกอาคารเกรดเอเท่านั้น
ตามด้วยการตกแต่งภายใน ดีไซน์แตกต่างจากที่อื่นด้วยสไตล์ลักชัวรี มีระดับ ให้ความเป็นผู้ใหญ่ ได้ฟีลลิ่งเหมือนเดินเข้ามาในเลาจน์ของโรงแรมระดับ 5 ดาว
ปิดท้ายด้วยการบริการภายในด้วยฮอสพิทาลิตี้แบบโรงแรม และสำหรับสาขาใหม่นี้มีการดึง “Sarnies” คาเฟ่ชื่อดังเข้ามาเปิดสาขาบริการเครื่องดื่ม เบเกอรี และอาหารด้วย
“สิลีน เดมีร์” ผู้จัดการทั่วไป เดอะ เกรท รูม กรุงเทพฯ ระบุว่าความแตกต่างในตลาดทำให้สาขาแรกที่เกษร ทาวเวอร์ ในส่วนพื้นที่ออฟฟิศส่วนตัว (Dedicated Offices) มีอัตราการเช่า 90-92% มาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา โดยได้ผู้เช่าส่วนใหญ่จากกลุ่มแบรนด์สินค้าลักชัวรี และมีสมาชิก Hot Desk จากสาขานี้ 50 ราย
ด้วยผลตอบรับที่ดีหลังผ่านช่วงโควิด-19 ทำให้บริษัทมองหาที่ตั้งสาขาต่อไป ก่อนจะมาจับมือเป็นพันธมิตรกับอาคารพาร์ค สีลม
สิลีนกล่าวว่าเดอะ เกรท รูมสาขาใหม่ที่พาร์ค สีลม ปัจจุบันพื้นที่ออฟฟิศส่วนตัวมีการเช่าแล้ว 40% และวางเป้ามีอัตราเช่า 75% ภายในปี 2567 ส่วนใหญ่ในสาขานี้จะได้ผู้เช่าเป็นออฟฟิศ spin-off ของบริษัทใหญ่กลุ่มบริษัทยา, เวนเจอร์แคปปิตอล และเทคโนโลยี
“ร่วมทุน” เพื่อให้ธุรกิจแข็งแรงกว่า
สำหรับสาขาสองนี้ เดอะ เกรท รูม ใช้กลยุทธ์ร่วมทุนกับ “แลนด์ลอร์ด” เจ้าของอาคาร คือ บริษัท นายณ์ เอสเตท จำกัด และ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) โดยไม่เปิดเผยอัตราส่วนการร่วมทุน
ถือเป็นกลยุทธ์ที่ต่างจากโคเวิร์กกิ้งสเปซทั่วไปที่มักจะทำสัญญาเช่าอาคารไปตามปกติ และนำมาปล่อยเช่าช่วงตามแนวทางธุรกิจของตนเอง แต่เดอะ เกรท รูม เลือกเฟ้นหาแลนด์ลอร์ดที่พร้อมจะร่วมลงทุน
“กลยุทธ์นี้เราจะทำต่อในสาขาต่อๆ ไปด้วย เพราะเราต้องการให้เดอะ เกรท รูมเป็นบริการที่มีให้กับผู้เช่าทั้งตึก ไม่ใช่เฉพาะสมาชิกของเรา ดังนั้น เราต้องมีการทำงานร่วมกันกับแลนด์ลอร์ด มองเห็นเป้าหมายเดียวกัน วิสัยทัศน์เดียวกัน ได้ประโยชน์ร่วมกัน” สิลีนกล่าว
สิลีนยกตัวอย่างเดอะ เกรท รูมที่พาร์ค สีลม บนชั้น 29 จะถือเป็น ‘Amenities Floor’ สำหรับคนทั้งอาคาร เพราะผู้เช่าทุกรายในอาคารสามารถพาแขกของบริษัทมาแวะทานกาแฟที่ Sarnies พุดคุยธุรกิจในบรรยากาศสบายๆ หรือมาจองใช้ห้องประชุม/พื้นที่จัดอีเวนต์ที่รองรับได้สูงสุด 120 คน รวมถึงมาร่วมงานอีเวนต์ของทางเดอะ เกรท รูมได้
การเปิดพื้นที่ของโคเวิร์กกิ้งสเปซให้คนทั้งอาคาร ไม่ใช่แค่ที่ปิดเฉพาะสมาชิก จะทำให้ผู้เช่าทั้งอาคารของแลนด์ลอร์ดได้ประโยชน์ในการใช้งาน และโคเวิร์กกิ้งสเปซก็ได้คุณค่ามากขึ้น เพราะเปิดให้การสร้างเครือข่าย (networking) กว้างขึ้นกว่าเดิม ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยการทำงานใกล้ชิดกับแลนด์ลอร์ด และดีที่สุดคือต้องร่วมทุนกันเพื่อแบ่งรายได้
ปัจจุบันเดอะ เกรท รูมในไทยกำลังมองหาทำเลสาขาต่อๆ ไปและมีการพูดคุยกับเจ้าของอาคารหลายราย
“สมัยก่อนสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่พนักงานในตึกต่างๆ ก็มักจะเป็นฟิตเนสหรือสวนสาธารณะ แต่ในสมัยนี้เราต้องสื่อสารกับแลนด์ลอร์ดให้ได้ว่า เราก็เปรียบเหมือนสิ่งอำนวยความสะดวกของอาคารอย่างหนึ่ง และการมีเราจะช่วยให้มีจำนวนคนเข้าออก (footfall) เยอะขึ้น รวมถึงสตาร์ทอัพหรือบริษัทขนาดเล็กหลายรายมาเริ่มตั้งสำนักงานกับเรา แต่เมื่อเขาโตขึ้นจนต้องการออฟฟิศแบบดั้งเดิม เขาก็มักจะเลือกอยู่ในอาคารเดิมนี่แหละ ซึ่งแลนด์ลอร์ดจะได้ประโยชน์ในอนาคต” ซู แอน กล่าวเสริม
- ลือ ‘WeWork’ เตรียมยื่น ‘ล้มละลาย’ ในสัปดาห์หน้า
- มองแบบ “JustCo” ทำโคเวิร์กกิ้งสเปซเจาะลูกค้าองค์กรใหญ่ รับเทรนด์สังคมออฟฟิศเปิดกว้าง
“กรุงเทพฯ” ยังขยายได้อีกมาก
ซู แอนกล่าวเพิ่มถึงภาพรวมในตลาด “โคเวิร์กกิ้งสเปซ” ในเอเชียแปซิฟิก (APAC) เธอระบุว่าเทรนด์ยังเป็นขาขึ้น เพราะในฝั่งดีมานด์นั้นมีบริษัทที่หันมาใช้ออฟฟิศแบบยืดหยุ่น (Flexible Offices) แล้ว 48% และมีบริษัท 52% ที่ต้องการจะเพิ่มปริมาณการใช้ออฟฟิศแบบยืดหยุ่น สะท้อนว่ายังมีความต้องการในอนาคต
ส่วนฝั่งซัพพลายนั้น พบว่ามีเพียง 4% ในตลาดสำนักงานให้เช่าของ APAC ที่เป็นออฟฟิศแบบยืดหยุ่น เฉพาะของไทยยิ่งน้อยลงไปอีกเพราะมีเพียง 1.5%
นั่นทำให้ซู แอนเชื่อว่า ตลาดไทยยังมีโอกาสอีกมาก เฉพาะแบรนด์เดอะ เกรท รูม เธอเชื่อว่าบริษัทสามารถขยายตัวในกรุงเทพฯ ได้อีกอย่างน้อย 10 สาขา!
“จริงๆ แล้วโอกาสของโคเวิร์กกิ้งสเปซหลังผ่านโควิด-19 นั้นอยู่ในฝั่งเอเชียมากกว่า เพราะวัฒนธรรมบริษัทฝั่งเอเชียนิยมกลับเข้าออฟฟิศมากกว่าฝั่งตะวันตก” ซู แอนกล่าว “ในตะวันตกตอนนี้ยังเข้าออฟฟิศแค่ 50% ของชั่วโมงทำงาน แต่เอเชียเข้ากัน 65% ของชั่วโมงทำงาน และเราเชื่อว่าปี 2567 ตัวเลขของฝั่งเอเชียจะเพิ่มเป็น 75% และการใช้งานออฟฟิศที่สูงกว่าเป็นโอกาสของเดอะ เกรท รูมด้วยเช่นกัน”