-
JustCo (จัสโค) โคเวิร์กกิ้งสเปซจากสิงคโปร์ บุกตลาดไทย 2 ปี เปิด 4 สาขา พื้นที่รวม 23,800 ตร.ม. ขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของตลาด
-
ฐานลูกค้าสมาชิกไทยโต 10 เท่า เป็น 5,000 คน อัตราการเช่าเฉลี่ย 85%
-
โมเดลธุรกิจเน้นเจาะลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ ตามเทรนด์โลกที่องค์กรใหญ่สนใจเช่าสำนักงานในพื้นที่โคเวิร์กกิ้งสเปซมากขึ้น
“คง วัน ลง” ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการขายและการตลาด JustCo เปิดเผยถึงการเติบโตของบริษัท หลังจากเริ่มเปิดสาขาแรกในไทยเมื่อปี 2561 ปัจจุบันบริษัทเปิดตัวไปแล้ว 3 สาขาที่ เอไอเอ สาทร ทาวเวอร์, แคปปิตอล ทาวเวอร์ ออลซีซั่นส์เพลส ถ.วิทยุ และสามย่านมิตรทาวน์ และกำลังจะเปิดสาขาที่ 4 ที่อัมรินทร์ ทาวเวอร์ในเดือนกรกฎาคมนี้ ทำให้มีพื้นที่ให้บริการรวมทั้งหมด 23,800 ตร.ม. ซึ่งวัน ลงกล่าวว่า ทำให้บริษัทเป็นอันดับ 1 ของโคเวิร์กกิ้งสเปซไทยในแง่ของขนาดพื้นที่
JustCo นั้นเป็นบริษัทโคเวิร์กกิ้งสเปซที่ก่อตั้งในสิงคโปร์เมื่อปี 2554 ปัจจุบันขยายไปแล้ว 7 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ สิงคโปร์, จีน (เซี่ยงไฮ้), อินโดนีเซีย (จาการ์ตา), ไทย (กรุงเทพฯ), เกาหลีใต้ (โซล), ออสเตรเลีย (ซิดนีย์และเมลเบิร์น) และไต้หวัน รวมทั้งหมด 40 สาขา โดยมีแผนขยายเพิ่มอีก 6 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น (โตเกียว), ฮ่องกง, มาเลเซีย, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์ และอินเดีย
ฐานลูกค้าสมาชิกทั้งหมดของ JustCo อยู่ที่ 25,000 คน โดยวัน ลงเปิดเผยว่า เฉพาะประเทศไทยมีสมาชิกแล้ว 5,000 คน เติบโตขึ้น 10 เท่าจากปี 2561 ที่บริษัทเปิดตัวครั้งแรก หากคิดเป็นอัตราการเช่าเฉลี่ยทุกสาขาจะอยู่ที่ 85% สะท้อนให้เห็นการตอบรับที่น่าพอใจของตลาดประเทศไทย
ประเทศไทยยังเป็นที่ตั้งของสาขาที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท เนื่องจากสาขาสามย่านมิตรทาวน์ที่เปิดตัวเมื่อเดือนธันวาคม 2562 มีพื้นที่มากถึง 12,000 ตร.ม. ครอบคลุมพื้นที่ 6 ชั้น ถึงแม้จะจัดพื้นที่ขนาดใหญ่แต่กลับเป็นสาขาที่มีอัตราการเช่าสูงสุดคือ 95% เนื่องจากมีลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่จับจองพื้นที่ถึง 70%
เจาะตลาดลูกค้าองค์กรใหญ่
ในยุคแรกเริ่มที่โคเวิร์กกิ้งสเปซบูม เกิดขึ้นจากเทรนด์ธุรกิจขนาดเล็ก สตาร์ทอัพ ฟรีแลนซ์ เมื่อเริ่มตั้งตัวได้ระดับหนึ่งจะต้องการพื้นที่สำนักงานเป็นกิจลักษณะ แต่ต้องการพื้นที่ไม่มากเพราะอาจมีพนักงานเพียง 3-5 คน ทำให้โคเวิร์กกิ้งสเปซตอบโจทย์ได้มากกว่าการเช่าพื้นที่สำนักงานแบบดั้งเดิมซึ่งกำหนดพื้นที่เช่าขั้นต่ำไว้สูงเกินไป
แต่ปัจจุบัน วัน ลงชี้ว่าเทรนด์ขององค์กรขนาดใหญ่ทั่วโลกเริ่มหันมาใช้โคเวิร์กกิ้งสเปซด้วย อาจไม่ใช่ทั้งองค์กร แต่นำบางหน่วยธุรกิจออกมาใช้ โดยมีงานวิจัยเมื่อปี 2562 พบว่า 60% ขององค์กรขนาดใหญ่มีการใช้โคเวิร์กกิ้งสเปซ แม้กระทั่งองค์กรยักษ์ในกลุ่ม Fortune 500 ก็มีการใช้โคเวิร์กกิ้งสเปซถึง 22%
เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะองค์กรใหญ่เริ่มมีการขยายหน่วยธุรกิจที่อาจเป็นโครงการชั่วคราวหรือทดลอง ทำให้ต้องการพื้นที่สำนักงานเพิ่มเพียงระยะสั้นๆ ไม่เกิน 3 ปี ขณะที่พื้นที่สำนักงานแบบดั้งเดิมมักจะต้องเซ็นสัญญาเช่าขั้นต่ำ 3 ปี ทำให้เกิดช่องว่างตลาด และอีกเหตุผลหนึ่งคือองค์กรขนาดใหญ่เองก็ต้องการให้พนักงานได้พบปะคนจากธุรกิจอื่นๆ ด้วย เพื่อให้เกิดไอเดียที่สร้างสรรค์ในการทำธุรกิจ หรือหาความร่วมมือทางธุรกิจได้ง่ายขึ้น
สำหรับประเทศไทย ยกตัวอย่างลูกค้าองค์กรใหญ่ที่เข้ามาเช่าพื้นที่ JustCo มีทั้งไทยและเทศ เช่น ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกสิกรไทยแกรนท์ ธอนตัน, เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้, เจเนอรัล อิเลคทริค, อินเตอร์ทัช และมีแนวโน้มจะมากขึ้นเรื่อยๆ
พฤติกรรมลูกค้าองค์กรใหญ่มักจะเช่าที่นั่งแบบแพ็กเกจใหญ่มากกว่า 50 ที่นั่ง ต้องการโคเวิร์กกิ้งสเปซที่บรรยากาศสถานที่และการบริการโดยรวมมีระดับ และต้องการพื้นที่ส่วนตัวภายในโคเวิร์กกิ้งสเปซที่สามารถปรับเปลี่ยนให้มีกลิ่นอายขององค์กรได้ เช่น เปลี่ยนสีเก้าอี้และการตกแต่งให้เป็นสีขององค์กร
วัน ลง กล่าวว่า นั่นทำให้มีโคเวิร์กกิ้งสเปซไม่มากที่ตอบโจทย์เหล่านี้ได้ ดังนั้นแบรนด์ที่ทำได้จะเจาะตลาดลูกค้าได้กว้างกว่าเดิม สำหรับ JustCo ปัจจุบันมีลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ไปมากกว่าครึ่งหนึ่งแล้ว
โคเวิร์กกิ้งสเปซในกรุงเทพฯ ยังโตได้อีก
วัน ลง มองว่า ตลาดโคเวิร์กกิ้งสเปซของกรุงเทพฯ ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นที่ประเมินได้ยาก แต่เชื่อว่าตลาดโดยรวมยังเติบโตได้อีก วัดจากอัตราการเช่าที่เขาคาดว่าแบรนด์ใหญ่ๆ น่าจะทำได้ดีทั้งหมด
JustCo เองมีความต้องการเติบโตต่อเนื่องโดยกำลังเจรจาดีลเพื่อเปิดสาขาที่ 5 แต่ยังไม่เปิดเผยว่าเป็นที่ใด ส่วนการเปิดสาขาต่อๆ ไปในไทย เขาบอกว่าบริษัทไม่ได้มีแผนชัดเจนว่าต้องเปิดปีละกี่สาขา แต่มองหาโอกาสอยู่เสมอ โดยยังเล็งทำเลเฉพาะในเขตศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) ที่น่าจะมีคนติดต่อทำธุรกิจจำนวนมาก และหากเป็นไปได้ ต่อจากนี้จะเปิดสาขาด้วยพื้นที่ขนาด 7,000-8,000 ตร.ม. เพื่อรองรับลูกค้าองค์กรใหญ่
ทั้งนี้ Positioning รายงานตลาดโคเวิร์กกิ้งสเปซของไทยมีแบรนด์ใหญ่ๆ ที่ทำตลาด และมีการเปิดมากกว่า 1 สาขาจำนวนมากทีเดียว เช่น Hubba, Regus, WeWork, Spaces, Glowfish ฯลฯ แต่ละเจ้ามีการจัดตกแต่ง ฟังก์ชันกิจกรรมบริการและแพ็กเกจราคาแตกต่างกันไป
สำหรับพื้นที่โคเวิร์กกิ้งสเปซในกรุงเทพฯ คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล มีการประเมินไว้ในปี 2562 ว่าน่าจะมีมากกว่า 130,000 ตร.ม.แล้ว เทียบกับปี 2556 ที่มีอยู่เพียง 20,000 ตร.ม. แสดงให้เห็นว่าเป็นเทรนด์ที่เติบโตเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับพื้นที่อาคารสำนักงานดั้งเดิมที่มีมากกว่า 8 ล้านตร.ม. ในกรุงเทพฯ โคเวิร์กกิ้งสเปซก็ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยมากอยู่
“โคเวิร์กกิ้งสเปซเป็นธุรกิจใหม่มาก เรายังต้องเก็บดาต้าเรียนรู้ลูกค้าจากทุกสาขาและคอยปรับปรุงพัฒนา ความต้องการใหม่ๆ จากลูกค้ามีเข้ามาตลอดโดยที่เราก็คาดไม่ถึง” วัน ลงกล่าวปิดท้าย