จิม ทอมป์สัน – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 21 Nov 2023 06:11:55 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เส้นทาง “จิม ทอมป์สัน” ยกระดับสู่ “ไลฟ์สไตล์แบรนด์” ระดับโลก เป็นมากกว่าผ้าไหม-เพิ่มธุรกิจของใช้ในบ้าน https://positioningmag.com/1452569 Mon, 20 Nov 2023 12:53:56 +0000 https://positioningmag.com/?p=1452569 “จิม ทอมป์สัน” แบรนด์ผ้าไหมในตำนานของไทย ลงทุนครั้งใหญ่เพื่อยกระดับให้เป็น “ไลฟ์สไตล์แบรนด์” ระดับโลก เทียบชั้น Ralph Lauren และ Giorgio Armani ด้วยธุรกิจที่ครอบคลุมทั้งแฟชั่น ตกแต่งบ้าน และร้านอาหาร เตรียมเพิ่มธุรกิจใหม่ “ของใช้ในบ้าน” พร้อมเสริมการสร้างแบรนด์ด้วย “มินิซีรีส์” ชีวประวัติของจิม ทอมป์สัน หวังลงสตรีมมิ่งฉายทั่วโลก

“จิม ทอมป์สัน ไม่ใช่แบรนด์ขายของนักท่องเที่ยว ไม่ใช่แค่แบรนด์แฟชั่น แต่เราเป็นไลฟ์สไตล์แบรนด์” แฟรงก์ แคนเซลโลนี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อุตสาหกรรมไหมไทย จำกัด ผู้บริหารแบรนด์จิม ทอมป์สัน (Jim Thompson) กล่าวถึงการปรับจุดยืนทางการตลาดให้ชัดเจนของจิม ทอมป์สัน หลังจากเขาเข้ามารับตำแหน่งนี้เมื่อเดือนมีนาคม 2564

แฟรงก์มองภาพตลาดโลกว่าแบรนด์ที่มีลักษณะเป็นไลฟ์สไตล์แบรนด์ระดับไอคอนิก คือมีผลิตภัณฑ์หลากหลายครบทั้งแฟชั่น ของแต่งบ้าน และร้านอาหาร และมีความเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง มองว่ามีเพียง 2 แบรนด์เท่านั้น คือ Ralph Lauren จากสหรัฐฯ​ และ Giorgio Armani จากยุโรป

จิม ทอมป์สัน
แฟรงก์ แคนเซลโลนี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท อุตสาหกรรมไหมไทย จำกัด

ขณะที่เอเชียยังไม่มีแบรนด์ลักษณะนี้ที่ก้าวขึ้นสู่ระดับโลกได้ แฟรงก์จึงวางเป้าว่า “จิม ทอมป์สัน” จะก้าวขึ้นเป็นไลฟ์สไตล์แบรนด์ระดับโลกแบรนด์แรกจากเอเชีย

ด้วยไลน์ธุรกิจของจิม ทอมป์สันที่พร้อมเป็นไลฟ์สไตล์แบรนด์ มีทั้งธุรกิจ “แฟชั่น” ด้วยหน้าสาขา 25 สาขาในไทย ธุรกิจ “ตกแต่งบ้าน” ขายผ้าหุ้มเฟอร์นิเจอร์และวอลเปเปอร์ มีตัวแทนจำหน่าย 60 ประเทศทั่วโลก ส่วนใหญ่มีการใช้งานในโรงแรมหรูต่างๆ รวมถึงมีธุรกิจ “ร้านอาหาร-เครื่องดื่ม” ณ บ้านจิม ทอมป์สัน ริมคลองแสนแสบ

พิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน

นอกจากนี้ จิม ทอมป์สันยังมีประวัติศาสตร์จากชีวิตที่น่าสนใจของผู้ก่อตั้งแบรนด์ อดีตสถาปนิกและทหารชาวอเมริกันที่เข้ามาปักหลักในไทย ผลักดันผ้าไหมไทยให้มีชื่อเสียง และเป็นนักสะสมงานศิลปะตัวยง ก่อนจะหายตัวไปอย่างลึกลับที่มาเลเซีย

“แน่นอนว่าเราคงไม่สามารถเป็น Ralph Lauren หรือ Giorgio Armani ได้ใน 2-3 ปี แต่ในระยะยาวเราเชื่อว่าทำได้” แฟรงก์กล่าว

 

“ปิดเพื่อปรับ” คอนเซ็ปต์ใหม่ของจิม ทอมป์สันต้อง “ทันสมัย”

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จิม ทอมป์สันเริ่มลงทุน ‘หลายล้าน’ เหรียญสหรัฐในการปรับฟื้นสีสันให้แบรนด์ไปหลายส่วน เพื่อให้แบรนด์ดูทันสมัยและเชื่อมโยงกับผู้บริโภคยุคใหม่มากขึ้น ได้แก่

  • ปรับการออกแบบสินค้าในกลุ่มแฟชั่นให้ร่วมสมัยมากขึ้น
  • คอลแลปกับแบรนด์อื่น ที่ส่งเสริมกันและกัน เช่น Panpuri Wellness, การบินไทย
  • ปรับคอนเซ็ปต์หน้าสาขา และรีโนเวตสาขาไปแล้ว ‘1 ใน 3’ ของสาขาปัจจุบันที่มี 25 สาขา เช่น สาขาเอ็มควอเทียร์, สาขาเชียงใหม่, สาขาพัทยา
  • ธุรกิจร้านอาหาร ปรับคอนเซ็ปต์และเพิ่มร้านให้หลากหลาย ปัจจุบันมีร้านอาหารคือ ร้านอาหารไทย จิม ทอมป์สัน, The O.S.S. Bar บาร์และห้องชายามบ่าย, Jim’s Terrace คาเฟ่สไตล์ไทยทาปาส และ Silk Café
  • เปิดระบบสมาชิก ทำให้มีฐานข้อมูลสมาชิกแล้ว 70,000 คน
จิม ทอมป์สัน
The O.S.S. Bar ร้านคอนเซ็ปต์ใหม่ กลางวันเปิดบริการชุดน้ำชายามบ่าย กลางคืนเป็นบาร์

บางส่วนนอกจาก ‘ปรับ’ แล้วยังมีการ ‘ปิด’ ไปก่อนเพื่อรอการปรับให้เรียบร้อย เช่น หน้าสาขาแฟชั่นที่เคยมี 45 สาขาในช่วงก่อนโควิด-19 ลดลงมาเหลือ 25 สาขา หรือ ร้านอาหารไทย จิม ทอมป์สัน ที่เคยมี 3 สาขาต่างประเทศที่สิงคโปร์และญี่ปุ่นก็ต้องปิดไปก่อน เพราะแฟรงก์ต้องการจัดคอนเซ็ปต์ร้านให้ดีขึ้น

 

ปีหน้าพบกัน ‘New Lifestyle Store’ ที่ ‘วัน แบงค็อก’

หลังปรับฐานภายในเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่ปี 2567 จะได้เห็น “จิม ทอมป์สัน” บุกตลาดอย่างชัดเจนขึ้น โดยมี 4 แผนงานที่จะทำ ได้แก่

  1. เปิดเว็บไซต์ภาษาท้องถิ่นใน 3 เขตปกครอง คือ สิงคโปร์ ฮ่องกง และญี่ปุ่น พร้อมเปิดคลังสินค้าในเขตปกครองนั้นๆ เพื่อส่งสินค้าให้ลูกค้าได้ใน 24 ชั่วโมง
  2. กลุ่มแฟชั่นจะเปิดสาขาใหม่ในไทย 3 สาขา คือ King Power เมืองภูเก็ต, King Power สนามบินดอนเมือง และ ‘New Lifestyle Store’ ดูเพล็กซ์พื้นที่ 500 ตร.ม. ที่มีทั้งส่วนรีเทลและคาเฟ่ Jim’s Terrace ในโครงการ วัน แบงค็อก
  3. กลุ่มร้านอาหารและเครื่องดื่ม จะใช้โมเดล “ร้านอาหารไทย จิม ทอมป์สัน x The O.S.S Barเป็นหลักในการขยายสาขา ในไทยคาดจะขยายไปที่ จ.ภูเก็ต และจะมีการขยายสาขาต่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย
  4. กลุ่มตกแต่งบ้าน จะเปิดโชว์รูมใหม่ในเอเชียและตะวันออกกลาง จากปัจจุบันจิม ทอมป์สันมีโชว์รูมด้านงานตกแต่งบ้านใน 5 เมือง คือ กรุงเทพฯ ปารีส ลอนดอน นิวยอร์ก และแอตแลนตา จะเห็นว่ายังไม่มีโชว์รูมสาขาเอเชียและตะวันออกกลางซึ่งกำลังมาแรงในด้านการลงทุนโรงแรม
คาเฟ่สไตล์ไทยทาปาส “Jim’s Terrace” จะไปเปิดใน วัน แบงค็อก

 

อนาคตดัน “ของใช้ในบ้าน” เป็นหัวหอกบุกต่างประเทศ

แผนปี 2567 คือจุดเริ่มต้นของการสยายปีกครั้งใหม่ ตามด้วยแผนระยะ 3-5 ปีที่จะมาช่วยดันให้จิม ทอมป์สันเป็น “ไลฟ์สไตล์แบรนด์” ระดับโลก คือ

  1. ธุรกิจใหม่ “Maison Jim Thompson” ขายสินค้าของใช้ในบ้าน

ธุรกิจนี้จะถือเป็นไลน์ธุรกิจใหม่ ไม่ใช่แค่ตกแต่งบ้าน แต่แตกไลน์เป็นของใช้ในบ้านต่างๆ ที่สินค้าจิม ทอมป์สันจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งได้ง่ายขึ้น เช่น ชุดคลุมนอน, สลิปเปอร์, ผ้าปูเตียง, ผ้าปูโต๊ะ ขณะนี้อยู่ระหว่างวิจัยและพัฒนาสินค้า คาดว่าจะเริ่มเปิดไลน์สินค้าได้ในปี 2569

แฟรงก์กล่าวว่า ปัจจุบันรายได้ 2 ใน 3 ของจิม ทอมป์สันมาจากธุรกิจแฟชั่น และ 1 ใน 3 มาจากธุรกิจตกแต่งบ้าน แต่เชื่อว่าอนาคตเมื่อเปิด ‘Maison’ แล้ว นี่จะเป็นหัวหอกใหม่ในการทำตลาด เพราะจับต้องได้ง่าย ใช้ในชีวิตประจำวันได้มากกว่า

จิม ทอมป์สัน
อนาคตจะได้เห็นสินค้าของใช้ในบ้านมากขึ้น
  1. คอนเซ็ปต์สโตร์ที่ ถ.สุรวงศ์

ตึกจิม ทอมป์สันที่ ถ.สุรวงศ์ เป็นสาขาแรกที่ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2510 จะมีการเนรมิตสาขานี้ใหม่ให้เป็นคอนเซ็ปต์สโตร์ เน้นการโชว์เคสสินค้า ศิลปะ คาเฟ่ ทุกอย่างที่เป็นตัวตนของจิม ทอมป์สัน รวมถึงเปิดพื้นที่ให้ดีไซเนอร์ที่น่าสนใจมาแสดงผลงานร่วมกัน หวังปั้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ คาดจะเริ่มปรับปรุงปลายปี 2567 และเปิดบริการปี 2568

  1. โรงแรมและที่พักอาศัย Jim Thompson

กลยุทธ์เปิดโรงแรมบูทีคเพื่อเป็นโชว์เคสด้านงานผ้าและร้านอาหาร-คาเฟ่ คาดจะสรุปโครงการได้ใน 3-5 ปีโดยต้องหาผู้ลงทุนร่วม

  1. มินิซีรีส์ ชีวประวัติจิม ทอมป์สัน

เผยแพร่ประวัติผู้ก่อตั้งแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักผ่านมินิซีรีส์ ปัจจุบันร่างสตอรีบอร์ดเพื่อเป็นมินิซีรีส์ 10 ตอน ตอนละ 50 นาที อยู่ระหว่างนำเสนอสตูดิโอสตรีมมิ่ง เช่น Netflix, HBO, Prime Video เพื่อหาผู้ลงทุน คาดได้ฉายในปี 2568

ทั้งนี้ ในส่วนที่บริษัทจะลงทุนเองคือธุรกิจใหม่ ‘Maison’ และคอนเซ็ปต์สโตร์ที่ ถ.สุรวงศ์ คาดใช้งบ 100-150 ล้านบาท

สรุปธุรกิจของจิม ทอมป์สัน และแผนงานในอนาคต

สำหรับรายได้ของกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทย แฟรงก์ขอสงวนไม่เปิดเผย แต่ยอมรับว่าในช่วงโควิด-19 ถือเป็นช่วงที่สาหัสของบริษัท มีผลขาดทุนต่อเนื่องจนมีการลดสาขาและลดพนักงาน อย่างไรก็ตาม ปี 2566 นี้บริษัทคาดจะกลับมาทำกำไรได้ในที่สุด เพราะการปรับตัว ปรับแบรนด์ ปรับสาขาดังที่กล่าวข้างต้น ทำให้กำไรปรับดีขึ้นตาม

 

อ่านเรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

]]>
1452569