ถุงมือยาง – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 01 Apr 2021 04:39:58 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ปฏิบัติการลดหนี้! PF ตัดขายที่ดิน-โรงแรม 2 หมื่นล้าน ลงทุนธุรกิจถุงมือยางหวังพลิกกำไร https://positioningmag.com/1325873 Thu, 01 Apr 2021 04:22:17 +0000 https://positioningmag.com/?p=1325873 วิกฤต COVID-19 เล่นงานหนัก “พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค” วางกลยุทธ์เพื่อพลิกกลับมากำไร เตรียมดีลขายที่ดิน-ขายโรงแรมเข้ากองรีทรวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท ลดภาระหนี้-หากระแสเงินสดเข้าบริษัท ด้านโรงงานถุงมือยางร่วมทุนพร้อมเดินเครื่องมิถุนายนนี้ ธุรกิจใหม่ดาวรุ่งอัตรากำไรสุทธิสูงถึง 40%

บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค หรือ PF รายงานผลประกอบการต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปี 2563 มีรายได้รวม 12,513 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ -1,045 ล้านบาท ถือเป็นปีอันหนักหน่วงของเพอร์เฟค ซึ่งทำให้บริษัทมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) สูงถึง 2.0 เท่าและจะเป็นโจทย์สำคัญของปี 2564

“ศานิต อรรถญาณสกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค แถลงแผนการดำเนินงานปีนี้ มีเป้าหมายหลัก 2 เรื่อง คือ หนึ่ง การเติบโตอย่างยั่งยืน และ สอง สร้างความมั่นคงทางการเงิน โดยต้องการจะลด D/E ให้เหลือ 1.2 เท่า

(จากซ้าย) “วงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต” กรรมการผู้จัดการ บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค, “ศานิต อรรถญาณสกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค และ “วิทวัส วิภากุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แกรนด์ แอสเสทฯ

ปีนี้เพอร์เฟคจึงมี 3 กลยุทธ์ที่จะใช้เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย ได้แก่

1) ขับเคลื่อนธุรกิจหลักให้มีรายได้เติบโต – กลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายจะยังลงทุนต่อเนื่องตามความเหมาะสม และยังคงมีการร่วมทุนกับพันธมิตรต่างชาติตามแผนงาน
2) ขายที่ดินและการลงทุน – เตรียมพอร์ตตัดขายทั้งที่ดิน และขายโรงแรมสู่กองรีทเพื่อนำกระแสเงินสดหมุนเวียน
3) ลงทุนในธุรกิจดีมานด์สูง อัตรากำไรสูง – แตกไลน์สู่ธุรกิจ “ถุงมือยาง” ซึ่งบริษัทเซ็นสัญญาร่วมทุนกับ บริษัท วัฒนชัย รับเบอร์เมท จำกัด ไปตั้งแต่ปีก่อน และจะเริ่มรับรู้เป็นกำไรได้ตั้งแต่ปีนี้

 

ขายที่ดิน-โรงแรม 2 หมื่นล้านลดหนี้

ความท้าทายหลักปีนี้ของเพอร์เฟคคือการลดภาระหนี้ให้ได้ และหากระแสเงินสดมาเติมให้บริษัท ดังนั้น บริษัทจึงต้องตัดขายสินทรัพย์ในหลายรูปแบบ มูลค่ารวม 20,200 ล้านบาท แบ่งตามบริษัทในเครือที่ถือสิทธิสินทรัพย์ ดังนี้

แผนการขายที่ดินของเพอร์เฟคปี 2564

1) พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค – ที่ดินและการลงทุน อาทิ ที่ดินแจ้งวัฒนะ รามอินทรา รามคำแหง มูลค่ารวม 10,200 ล้านบาท
2) แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ฯ – ขายการลงทุนในโรงแรม รอยัล ออคิด เชอราตัน และ ไฮแอท รีเจนซี่ สุขุมวิท ตั้งเป็นกองรีท มูลค่ารวม 8,500 ล้านบาท
3) วี รีเทล – ที่ดินถนนรัชดาภิเษก 2 แปลง มูลค่ารวม 1,500 ล้านบาท ส่วนนี้ศานิตเปิดเผยว่ามีผู้เจรจาแล้ว โดยวางโปรเจ็กต์เป็นอาคารสำนักงาน

ศานิตมองว่า หากการตัดขายที่ดินและการลงทุนเป็นไปตามเป้า น่าจะผลักดันให้บริษัทมีกระแสเงินสดหมุนเวียนได้ถึง 4,000 ล้านบาท

 

“ถุงมือยาง” ธุรกิจฟื้นกำไร

อีกเป้าหมายหนึ่งของเพอร์เฟคนอกจากการลดหนี้ คือการ ‘เทิร์นอะราวด์’ กลับมาทำกำไรให้ได้ หลังจากปีก่อนขาดทุนไปกว่าพันล้าน

ดังนั้น ปีก่อนเพอร์เฟคจึงตัดสินใจแตกไลน์ครั้งสำคัญ ใช้บริษัทในเครือคือ บมจ.แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ เข้าลงทุนกับ วัฒนชัย รับเบอร์เมท ตั้งโรงงานผลิตถุงมือยางไนไตรล์ ในนาม บริษัท แกรนด์ โกลบอล โกลฟส์ จำกัด (GGG) อัตราส่วนถือหุ้น แกรนด์ แอสเสท 50.5% และวัฒนชัย 49.5%

โรงงานถุงมือยาง GGG จ.ฉะเชิงเทรา

โรงงานแห่งแรกตั้งอยู่ที่ จ.ฉะเชิงเทรา แบ่งก่อสร้างเป็นสองเฟส ไลน์การผลิตเฟสละ 2,100 ล้านชิ้นต่อปี เฟสแรกคาดจะเริ่มผลิตได้มิถุนายน 2564 และเฟสสองจะเริ่มผลิตกุมภาพันธ์ 2565 กลุ่มลูกค้า 95% ส่งออกไปสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น อีก 5% จำหน่ายในไทย

“วิทวัส วิภากุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แกรนด์ แอสเสทฯ คาดการณ์รายได้ปีแรกของ GGG จะทำได้ประมาณ 3,000 ล้านบาท เนื่องจากเดินเครื่องได้ไม่เต็มปี แต่คาดการณ์ปี 2565 จะได้รายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยแตะ 1 หมื่นล้านบาท

คาดการณ์รายได้โรงงานถุงมือยาง GGG

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจนี้เป็นการร่วมทุนกันทำให้การรับรู้ทางบัญชีจะได้เป็นผลกำไร โดยศานิตแย้มว่า ธุรกิจถุงมือยางถือว่าอัตรากำไรสุทธิดีมาก เพราะสามารถยื่นขอเข้าเงื่อนไข BOI ได้ อัตรากำไรสุทธิจะขึ้นไปถึง 40% เทียบกับอสังหาฯ เพื่อขายที่ได้กำไร 10%

ศานิตย้ำด้วยว่า การลงทุนนี้ไม่ใช่ชั่วครั้งชั่วคราว และเชื่อว่าถุงมือยางจะเป็นธุรกิจดาวรุ่งระยะยาว แม้ว่าดีมานด์และราคาจะย่อลงมาเล็กน้อยหลังพ้นปี 2565 แต่ก็จะยังมีความน่าสนใจ เพราะโรคระบาดได้เปลี่ยนมาตรฐานการทำงานของหลายธุรกิจ เช่น โรงแรม สายการบิน ซูเปอร์มาร์เก็ต โรงงานผลิตอาหาร จะต้องใช้ถุงมือยางจำนวนมากขึ้นไปอีกนาน

 

ธุรกิจหลักเน้นขาย “บ้านหรู”

กลับมาที่ธุรกิจหลักของเพอร์เฟคซึ่งยังคงเป็นธุรกิจ “อสังหาฯ” ปีนี้จะกลับมาเปิดโครงการมากขึ้นกว่าปีก่อน แต่ก็ยังเป็นการเดินแผนที่ระมัดระวังตัวสูง

“วงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต” กรรมการผู้จัดการ บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค เปิดแผนปี 2564 เตรียมเปิด 6 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 9,900 ล้านบาท ตั้งเป้ายอดขาย 17,300 ล้านบาท

แผนการเปิดตัวโครงการใหม่ เพอร์เฟค ปี 2564

เหตุที่ไม่เปิดใหม่เยอะหลักหมื่นล้านบาทเหมือนช่วงก่อน COVID-19 เพราะบริษัทยังมีโครงการระหว่างขายอีก 57 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 4 หมื่นล้านบาท จึงยังมีสต็อกเพียงพอ

นอกจากนี้ โครงการที่เปิดใหม่ทั้งหมดเป็น “แนวราบ” ทำให้เป็นปีที่ 3 ของเพอร์เฟคที่ไม่มีการเปิดคอนโดมิเนียมใหม่เลยตั้งแต่ปี 2562 เนื่องจากมองว่าตลาดยังซบเซา

สำหรับไฮไลต์การเปิดตัวของปีนี้จะเป็นบ้านแบรนด์ “Lake Legend” บางนา-สุวรรณภูมิ มูลค่าโครงการ 5,100 ล้านบาท จำนวน 128 ยูนิต ราคาตั้งแต่ 25-100 ล้านบาท เป็นบ้านเดี่ยวหรูโครงการร่วมทุนกับ “ฮ่องกงแลนด์” ดีไซน์พิเศษบ้านแบบ Hillside เล่นระดับบนเนินเขาเหมือนอยู่ในโครงการบ้านพักตากอากาศแถบ จ.ภูเก็ต หรือเกาะสมุย

Lake Legend บางนา-สุวรรณภูมิ บ้านเดี่ยวหรู ราคาเริ่ม 25 ล้านบาท

สัดส่วนยอดขายของปีนี้ก็จะเน้นไปที่กลุ่มบ้านหรูราคา 20 ล้านบาทขึ้นไป โดยวงศกรณ์ประเมินว่าน่าจะมีสัดส่วน 25-30% ของยอดขายรวม เนื่องจากตลาดนี้เป็นตลาดเดียวที่กำลังซื้อไม่สะเทือนจากเศรษฐกิจ และลูกค้าตัดสินใจง่ายขึ้นในช่วงนี้ เพราะมองว่าผู้ประกอบการลดแลกแจกแถมมาก การซื้อในช่วงนี้จึงได้ดีลที่คุ้มค่า

 

ลุ้นโรงแรมฟื้น เข้าสู่จุดคุ้มทุน

ธุรกิจของเครือ PF ที่นับได้ว่า “ปาดเหงื่อ” ที่สุดยังคงเป็น “โรงแรม” ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพอร์ตของแกรนด์ แอสเสทฯ วิทวัสรายงานในส่วนนี้ว่า ปี 2563 โรงแรมทำรายได้เพียง 793 ล้านบาท ซึ่งทำให้มีผลขาดทุน

“ผมไม่เคยเจออะไรที่หนักขนาดนี้มาก่อน อัตราเข้าพักเหลือเลขตัวเดียว ไม่เคยมีมาก่อนตั้งแต่ทำธุรกิจมา” วิทวัสกล่าว

ขณะที่ปี 2564 วิทวัสคาดการณ์ว่าจะดันอัตราเข้าพักกลับไปที่ 50% ได้ และจะทำให้ธุรกิจโรงแรมเข้าสู่จุดคุ้มทุน แต่จะยังไม่มีกำไรในปีนี้ โดยแบ่งภาพสถานการณ์เป็นส่วนโรงแรมในต่างจังหวัดกับในกรุงเทพฯ

เชอราตัน หัวหิน ปราณบุรี วิลล่าส์

โรงแรมในต่างจังหวัดของบริษัท ได้แก่ เชอราตัน หัวหิน ปราณบุรี วิลล่าส์ กับ เชอราตัน หัวหิน รีสอร์ต แอนด์ สปา กลุ่มนี้คาดว่าจะยังได้อานิสงส์นักท่องเที่ยวไทยต่อเนื่องจากปีก่อน เพราะหัวหินเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมาก อัตราเข้าพักจะเกินกว่า 50%

ขณะที่โรงแรมในกรุงเทพฯ ได้แก่ เดอะ เวสทิน แกรนด์ สุขุมวิท, เชอราตัน รอยัล ออคิด และ ไฮแอท รีเจนซี่ สุขุมวิท กลุ่มนี้อัตราเข้าพักอาจไม่สูงมาก จะได้กลุ่มนักท่องเที่ยวไทยเฉพาะที่ต้องการ Staycation หรือมา Work from Hotel แต่รายได้จะมาจากกลุ่ม Food & Beverage ทำให้ล่าสุดบริษัทดีลได้ร้านอาหารระดับมิชลินคือร้าน “ข้าว” มาลงในไฮแอท รีเจนซี่ สุขุมวิท

และปัจจัยบวกอีกอย่างคืองานฟังก์ชันจัดงานแต่งงานหรืออีเวนต์สัมมนา เริ่มมีการจองกลับมาแล้วในช่วงไตรมาส 2/64 เมื่อการระบาดระลอกสองคลี่คลายลง

สรุปปี 2564 ของ PF เป็นปีแห่งความท้าทายต่อเนื่อง และต้องมุ่งลดภาระหนี้ ทำให้ปีนี้จะไม่มีการลงทุนที่ได้กำไรน้อย รวมถึงไม่มีการสะสมที่ดินเพิ่ม เปิดโต๊ะเจรจาขายอย่างเดียว!

]]>
1325873
ยิ่งมีวัคซีนยิ่งต้องใช้ “ถุงมือยาง” ศรีตรังทุ่ม 4.8 หมื่นล้านเพิ่มกำลังผลิตแย่งตลาดมาเลย์ https://positioningmag.com/1309820 Wed, 09 Dec 2020 10:59:48 +0000 https://positioningmag.com/?p=1309820
  • สมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทยเปิดตัวเลขความต้องการ “ถุงมือยาง” ทั่วโลกปี 2563 โต 20% ปี 2564 โตต่อไม่ต่ำกว่า 10% ประเมินความสำเร็จของวัคซีน COVID-19 ไม่ใช่ปัจจัยลบ และอาจเป็นปัจจัยบวกเพราะต้องใช้ถุงมือยางเพิ่มในการฉีดวัคซีน
  • วางเป้าพาประเทศไทยชิงส่วนแบ่งในตลาดโลกเพิ่มจาก 13% เป็น 20% ภายใน 5 ปี วอนรัฐสนับสนุนที่ตั้งโรงงาน-แหล่งเงินทุน
  • รายใหญ่ของไทย “ศรีตรัง” ชี้ตลาดยังอยู่ในภาวะ “โอเวอร์ดีมานด์” ราคาเติบโตจากปีก่อน 300% วางแผนลงทุน 4.8 หมื่นล้านบาทเพิ่มกำลังผลิตเป็น 1 แสนล้านชิ้นต่อปีภายในปี 2569 เริ่มปีแรก 2564 ลงทุน 1 หมื่นล้านบาท เปิด 4 โรงงานใหม่ภาคใต้
  • “วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล” นายกสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์ตลาดโลกปี 2563 อ้างอิงข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางมาเลเซีย (MARGMA) พบว่า ตลาดมีความต้องการสูงขึ้น 20% จากปีก่อน หรือเท่ากับ 3.6 แสนล้านชิ้นต่อปี เนื่องจากผลกระทบของโรคระบาด COVID-19 และคาดว่าปี 2564 ความต้องการจะยังโตต่อเนื่องอย่างน้อย 10% หรือเท่ากับ 3.9 แสนล้านชิ้นต่อปี

    แม้ว่าจะมีข่าวดีเรื่องการผลิตวัคซีนป้องกัน COVID-19 ประสบผลสำเร็จ แต่วีรสิทธิ์มองว่า ไม่น่าจะทำให้ดีมานด์การใช้ถุงมือยางลดลง และอาจเป็นผลบวกให้ความต้องการยิ่งสูงขึ้นด้วย เพราะการปูพรมฉีดวัคซีนให้กับประชากรโลกต้องใช้ถุงมือยาง ดังนั้น ตลาดน่าจะยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง

    “วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล” นายกสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย

    ชิงจังหวะพาถุงมือยางไทยตีตลาดจากมาเลย์

    สำหรับศักยภาพของประเทศไทย ปัจจุบันสมาคมฯ มีสมาชิกที่เป็นผู้ผลิตถุงมือยาง 19 ราย มีกำลังผลิตรวมกันในกลุ่มนี้ 4.6 หมื่นล้านชิ้นต่อปี และประเทศไทยมีส่วนแบ่งในตลาดโลก 13% เป็นอันดับ 2 ของตลาด ขณะที่อันดับ 1 ของโลกคือ “มาเลเซีย” มีส่วนแบ่งสูงถึง 62%

    วีรสิทธิ์กล่าวว่า สมาคมฯ มีเป้าที่จะผลักดันให้ไทยมีส่วนแบ่งตลาดโลกเพิ่มเป็น 20% ภายใน 5 ปี และเป็น 40% ภายใน 10 ปี เป้าหมายนี้นับเป็น “งานหนัก” เพราะเจ้าตลาดคือมาเลย์มีความแข็งแรงมาก และคู่แข่งอีก 3 ประเทศคือ จีน อินโดนีเซีย และเวียดนามก็ต้องการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดเช่นกัน

    “สิ่งที่ต้องพัฒนาหลักๆ คือหนึ่ง ไทยต้องตั้งโรงงานผลิตถุงมือยางได้ง่ายกว่านี้ ปัจจุบันการตั้งโรงงานจะติดล็อกผังเมืองไม่ใช่เขตอุตสาหกรรม ขณะที่จีนกับเวียดนามการเปิดโรงงานใหม่ง่ายมากๆ สองคือ อุตสาหกรรมถุงมือยางเข้าถึงแหล่งเงินทุนยาก ธนาคารไม่อนุมัติเงินกู้” วีรสิทธิ์กล่าว

    โดยเขาระบุว่าภาครัฐควรจะให้ความสำคัญและผลักดันอุตสาหกรรมถุงมือยางไทยมากขึ้น เพราะมีโอกาสเป็น “โปรดักต์ แชมเปี้ยน” ของประเทศ ด้วยศักยภาพประเทศไทยมีทั้งผู้ผลิตที่เชี่ยวชาญ เป็นแหล่งน้ำยางธรรมชาติ และตลาดโลกมีดีมานด์เติบโต แม้จะพ้นอานิสงส์ COVID-19 เชื่อว่าจะยังโตต่อได้เพราะเทรนด์ธุรกิจการแพทย์กำลังเป็นขาขึ้น โดยช่วงปี 2560-62 ตลาดนี้เติบโตเฉลี่ย 8-12% ต่อปีอยู่แล้ว

    วีรสิทธิ์กล่าวว่า ด้วยความยากในการตั้งโรงงานใหม่ ทำให้ปีนี้กำลังผลิตถุงมือยางไทยน่าจะยังคงอยู่ที่ 4.6 หมื่นล้านชิ้นต่อปีเท่าเดิม แต่ข้อมูลจาก กรมศุลกากร ชี้ให้เห็นว่าถุงมือยางกลายเป็นสินค้าส่งออกที่ทวีมูลค่าแม้จะไม่สามารถเพิ่มปริมาณได้ จากมูลค่าการส่งออกถุงมือยางปี 2562 อยู่ที่ 3.7 หมื่นล้านบาท ปี 2563 เฉพาะช่วง 10 เดือนแรกมีการส่งออกไปแล้วถึง 5.4 หมื่นล้านบาท โดยมูลค่าการส่งออกเติบโตอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา

     

    ตลาดสดใส ราคาถุงมือยางพุ่งทะยาน 300%

    ด้าน บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) หรือ STGT บริษัทที่เพิ่งเปิด IPO ไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 กำลังรับทรัพย์อู้ฟู่จากกระแสความต้องการเหล่านี้ โดยปัจจุบันศรีตรังมีส่วนแบ่งตลาดถุงมือยางโลกอยู่ 6-7% และส่วนแบ่งตลาดถุงมือยางไทย 80% เป็นรายใหญ่ที่สุดของประเทศ

    “ธนวรรณ เสงี่ยมศักดิ์” ผู้อำนวยการสายงานบัญชีและการเงิน STGT กล่าวว่า ปัจจุบันถุงมือยางไม่ใช่แค่ “ไม่เพียงพอ” เท่านั้น แต่อยู่ในระดับที่ “ขาดแคลนรุนแรง” ซึ่งทำให้ตลาดมีลักษณะเป็นตลาดของผู้ขายอย่างชัดเจน ในรอบ 9 เดือนแรกของปี 2563 ราคาถุงมือยางปรับขึ้นเฉลี่ยมากกว่า 300% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ ราคามีการปรับขึ้นสูงยิ่งกว่าช่วงครึ่งปีแรก

     

    เพิ่มกำลังผลิต เป้าหมายอนาคต 1 แสนล้านชิ้น

    “จริญญา จิโรจน์กุล” กรรมการผู้จัดการใหญ่ STGT กล่าวว่า ด้วยกระแสความต้องการทั้งจาก COVID-19 และเทรนด์ธุรกิจการแพทย์ ทำให้ศรีตรังเชื่อว่าตลาดจะมีดีมานด์สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงตั้งเป้าหมายการลงทุนรวม 4.8 หมื่นล้านบาทเพื่อตั้งโรงงานใหม่ ขยายกำลังผลิตเป็น 1 แสนล้านชิ้นต่อปีภายในปี 2569 จากปัจจุบันมีกำลังผลิตอยู่ 3.3 หมื่นล้านชิ้นต่อปี

    เฟสแรกเริ่มลงทุนแล้ว 4 โรงงาน มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นใน จ.สุราษฎร์ธานี 2 แห่ง และ อ.สะเดา จ.สงขลา 2 แห่ง ทั้งหมดจะเริ่มผลิตได้ภายในปี 2564 ส่งให้กำลังผลิตของศรีตรังปีหน้าเพิ่มขึ้นเป็น 3.6 หมื่นล้านชิ้นต่อปี

    เฟสต่อไปจะใช้เงินลงทุนอีกราว 1.0-1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อก่อสร้างโรงงานอีก 3 แห่ง แบ่งเป็นใน จ.ชุมพร 1 แห่ง และ จ.ตรัง 2 แห่ง กำหนดการสร้างเสร็จภายในปี 2566 และจะทำให้ศรีตรังมีกำลังผลิตเพิ่มเป็น 6.5 หมื่นชิ้นต่อปี หรือเกือบเท่าตัวของปัจจุบัน

    การเร่งเพิ่มกำลังผลิตเหล่านี้ ธนวรรณเสริมว่า บริษัทประเมินว่าจะไม่โอเวอร์ซัพพลาย โดยปัจจัยเรื่องการฉีดวัคซีนให้ประชากรน่าจะเป็นบวกกับบริษัท และคาดว่าจะเป็นบวกยาวไปถึงปี 2565 ด้วย เพราะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะเริ่มฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่ปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า แต่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอาจจะต้องรอคิวการผลิตวัคซีน คาดว่าจะเริ่มฉีดให้ประชากรได้จริงช่วงปลายปี 2564 และจะทยอยฉีดต่อเนื่องไปถึงปี 2565

    ส่วนหลังจากนั้นตลาดจะเป็นอย่างไร จริญญากล่าวว่า ศรีตรังจับตามองอย่างต่อเนื่อง แต่เชื่อว่าจะเกิด New Normal ในการใช้ชีวิตประจำวัน การให้บริการต่างๆ ระมัดระวังเรื่องความสะอาดขึ้น เหมือนเช่นปัจจุบันที่การใช้ถุงมือยางไม่จำกัดเฉพาะแวดวงการแพทย์ แต่นำไปใช้ในธุรกิจอื่น เช่น ร้านอาหาร การบิน โรงแรม งานบริการ และอาจจะยังคงเดิมแม้โรค COVID-19 สามารถควบคุมได้แล้ว

    ]]>
    1309820
    หวั่นขาดแคลน! Top Glove ถุงมือยางเบอร์ 1 โลก “ปิดโรงงาน” กว่าครึ่งเหตุ พนง. ติดเชื้อ https://positioningmag.com/1307536 Wed, 25 Nov 2020 09:14:51 +0000 https://positioningmag.com/?p=1307536 เมื่อผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ติดเชื้อเสียเอง! Top Glove บริษัทผลิตถุงมือยางรายใหญ่ที่สุดของโลก เตรียมปิดโรงงานชั่วคราวเกินครึ่งหนึ่งของที่ดำเนินการอยู่ในมาเลเซีย เนื่องจากมีพนักงานโรงงานติดเชื้อโรค COVID-19 ถึงเกือบ 2,500 คน ทำให้เกิดข้อกังวลว่าถุงมือยางอาจกลับมาขาดแคลนอีกครั้ง

    Top Glove บริษัทยักษ์ถุงมือยางจากมาเลเซีย มีพนักงานรวมเกือบ 5,800 คน แต่หลังจากโรค COVID-19 ระบาดซ้ำในมาเลเซีย บริษัทตรวจพบว่าพนักงาน 2,453 คนติดเชื้อ

    โรงงานและหอพักพนักงานของ Top Glove นั้นอยู่ในย่าน Meru ของมาเลเซีย ซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดรอบใหม่เมื่อมีพนักงานติดเชื้อมากเกินครึ่ง ส่งผลให้บริษัทต้องปิดสายการผลิต 16 แห่งซึ่งอยู่ในย่านเสี่ยงสูงชั่วคราว ขณะที่อีก 12 แห่งเริ่มลดกำลังผลิตลง และบริษัทมีแผนจะปิดชั่วคราวโรงงานทั้ง 28 แห่งนี้ จากจำนวนโรงงานทั้งหมดที่มีในมาเลย์ 41 แห่ง เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่กระจายโรคในหมู่พนักงาน

    Top Glove กล่าวว่า บริษัทมีมาร์เก็ตแชร์ในตลาดถุงมือยางทั่วโลกถึง 26% เป็นตัวเลขที่ทำให้บริษัทเป็นเจ้าตลาดอันดับ 1 ผ่านการผลิตถุงมือยางปีละ 9 หมื่นล้านคู่ และมีโรงงานทั้งในมาเลย์ จีน ไทย และเวียดนาม

    (Photo: Pixabay)

    จนถึงปัจจุบัน จำนวนถุงมือยางในโลกก็ยังแทบไม่เพียงพอหลังจากเกิดโรคระบาด COVID-19 ขึ้น ดีมานด์การใช้งานในโลกพุ่งสูงจนการส่งออกของ Top Glove เติบโตถึง 48% และสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางมาเลเซียเคยคาดการณ์ไว้ว่า สภาวะขาดแคลนถุงมือยาง รวมถึงชุด PPE จะเป็นเช่นนี้ไปจนถึงปี 2022 เลยทีเดียว

    ดังนั้น การปิดโรงงานกว่าครึ่งหนึ่งของบริษัทรายใหญ่แห่งนี้อาจจะเป็น ‘ข่าวร้าย’ สำหรับคนทั่วโลก เพราะหากย้อนกลับไปในช่วงที่ COVID-19 เริ่มระบาดใหม่ๆ เมื่อบุคลากรการแพทย์ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันตนเองจากเชื้อไวรัส ก็จะทำให้บุคลากรด่านหน้าเหล่านี้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ และเมื่อติดเชื้อแล้วระบบสาธารณสุขก็จะขาดบุคลากรการแพทย์ไว้รับมือโรคในระยะต่อไป

     

    ความจริงเปิดเผย…บริษัทขูดรีดแรงงาน

    อีกแง่มุมหนึ่งของเรื่องนี้ การติดเชื้อในหมู่พนักงาน Top Glove ทำให้ทั่วโลกหันมาสนใจความเป็นอยู่ของพนักงานโรงงานถุงมือยางมากขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นชาวเนปาล บังกลาเทศ และอื่นๆ ที่อพยพเข้ามาทำงานในมาเลย์ และเมื่อดีมานด์ถุงมือยางในโลกสูงขึ้นจาก COVID-19 พนักงานเหล่านี้จะต้องทำงานถึง 72 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (หรือเฉลี่ยมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวันโดยไม่มีวันหยุด) และนอนแออัดกันในหอพักคนงาน รวมถึงได้ค่าจ้างต่ำ

    ก่อนหน้านี้ กรมศุลกากรและป้องกันชายแดน (CBP) ของสหรัฐอเมริกา เคยกักสินค้าจากบริษัทลูกของ Top Glove ไม่ให้เข้าประเทศมาแล้ว เพื่อเป็นการตอบโต้บริษัทที่ต้องสงสัยว่าใช้แรงงานบังคับ โดย Top Glove เป็นหนึ่งในบริษัทที่ถูกรายงานว่า มีการบังคับให้พนักงานจ่ายเงินเพื่อเข้าทำงานในโรงงานถุงมือยาง เป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานใช้หนี้และถูกผูกมัดไว้กับนายจ้าง

    ขณะที่ ลิม วี ไช ผู้ก่อตั้ง Top Glove เป็นมหาเศรษฐีอันดับ 14 ของมาเลเซีย ประจำปี 2020 จัดอันดับโดยนิตยสาร Forbes เขามีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิถึง 4.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากราคาหุ้น Top Glove พุ่งทะยาน 280% ในรอบ 4 เดือน (เม.ย.-ก.ค. 63)

    อย่างไรก็ตาม ข่าวปิดโรงงานทำให้หุ้นบริษัท Top Glove ตกลง 7.48% ในวันอังคารที่ 24 พ.ย. ที่ผ่านมา

    Source

    ]]>
    1307536
    อู้ฟู่! โรคระบาดดันหุ้นบริษัท “ถุงมือยาง” Supermax พุ่ง 1,000% ภายใน 4 เดือน https://positioningmag.com/1288677 Mon, 20 Jul 2020 11:29:04 +0000 https://positioningmag.com/?p=1288677 มีคนเสียก็มีคนได้! Supermax บริษัทถุงมือยางในมาเลเซียทำสถิติราคาหุ้นทะยาน 1,000% ภายในเวลาไม่ถึง 4 เดือน เนื่องจากภาวะโรคระบาด COVID-19 ทำให้ดีมานด์สินค้าสูงขึ้น และนักลงทุนต่างแห่เข้าซื้อหุ้นเก็งกำไร

    Bloomberg รายงานราคาหุ้นของ Supermax บริษัทถุงมือยางในมาเลเซียปรับตัวสูงขึ้นถึง 1,000% ภายในเวลาไม่ถึง 4 เดือน โดยช่วงต้นเดือนเมษายน 2020 ราคาหุ้นบริษัทนี้อยู่ที่ 1.5 ริงกิตต่อหุ้น ปัจจุบันขึ้นมาถึง 18.5 ริงกิตต่อหุ้นไปแล้ว ส่งให้มาร์เก็ตแคปของบริษัทขึ้นไปแตะ 2.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

    นอกจากหุ้น Supermax บริษัทถุงมือยางมาเลย์อีก 2 แห่งก็ได้อานิสงส์จากโรคระบาดเช่นกัน โดยราคาหุ้นบริษัท Top Glove ปรับขึ้นไปแล้ว 280% ส่วนบริษัท Kossan Rubber ปรับขึ้น 180% นับตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา

    “ดีมานด์ที่มีต่อถุงมือยางพุ่งขึ้นแบบกราฟเอ็กซ์โพเนนเชียลในปีนี้” เป็นข้อความจากรายงานผลประกอบการของ Supermax บริษัทยังระบุด้วยว่า ปีนี้พวกเขาสามารถขายถุงมือยางที่ปกติต้องใช้เวลา 4 เดือนภายในเวลาเพียง 6 สัปดาห์ และยังปรับราคาขึ้นได้อีกด้วย ในขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบและราคาน้ำมันปรับลง ส่งผลให้ไตรมาสแรกบริษัททำรายได้สูงขึ้น 24% ขณะที่กำไรก่อนหักภาษีเพิ่มขึ้นถึง 93%

    ด้าน สมาคมผู้ผลิตถุงมือยางมาเลเซีย คาดว่าความต้องการซื้อถุงมือยางระดับโลกปีนี้จะเพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อน ขึ้นไปแตะจำนวน 3.3 แสนล้านชิ้น

    ปัจจัยเหล่านี้เป็นเหตุให้หุ้นถุงมือยางคือหุ้นมาแรงของเหล่านักลงทุน โดย Bloomberg รายงานว่า ขณะนี้เม็ดเงินลงทุน 1 ใน 10 ที่หมุนเวียนในตลาดหุ้นมาเลย์คือการเก็งกำไรกับหุ้นถุงมือยาง 3 บริษัทหลักดังกล่าว

    “การวิ่งขึ้นของราคาหุ้นถุงมือยางทำให้หลายคนนึกถึงหุ้น Tesla แต่การคาดการณ์ผลประกอบการของหุ้นถุงมือยางเหล่านี้มีความแน่นอนยิ่งกว่า Tesla เสียอีก” รอสส์ คาเมรอน ผู้จัดการกองทุนบริษัท Northcape Capital ให้ความเห็น โดยเขาอ้างอิงถึง Tesla เนื่องจากปีนี้หุ้น Tesla ปรับขึ้นไปเกือบ 3 เท่าตัวแล้ว จนทำให้มูลค่าบริษัทสูงขึ้นแซงหน้า Toyota ขึ้นเป็นบริษัทรถยนต์มูลค่าสูงที่สุดในโลก

    ความแรงของหุ้น Supermax และ Kossan Rubber ทำให้หุ้น 2 ตัวนี้กำลังจะได้รับพิจารณาเข้าไปอยู่ในดัชนี MSCI มาเลเซียภายในเดือนหน้า อย่างไรก็ตาม ข่าวการคิดค้นวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ที่คืบหน้าเร็วกว่าที่คาด ทำให้ราคาหุ้นถุงมือยางเริ่มส่งสัญญาณแตะเบรกแล้ว

    Source: Bloomberg, Business Insider

    ]]>
    1288677
    “ถุงมือยาง” เสี่ยงขาดตลาด-ผลิตไม่ทัน รับ COVID-19 ยอดสั่งซื้อจากยุโรป-สหรัฐฯ พุ่ง 2 เท่า https://positioningmag.com/1270773 Mon, 30 Mar 2020 09:12:52 +0000 https://positioningmag.com/?p=1270773 บริษัทผู้ผลิตถุงมือรายใหญ่ที่สุดของโลก คาดการณ์ว่าจะเกิดปัญหา “ถุงมือยาง” ขาดตลาดในเร็วๆ นี้ เนื่องจากผลิตไม่ทันกับความต้องการที่ต้องใช้ในการระบาดของ COVID-19 ล่าสุดยอดการสั่งซื้อจาก
    ยุโรปเเละสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นสองเท่า

    Lim Wee Chai ประธานบริหารของ Top Glove Corporation Bhd ให้สัมภาษณ์กับ Reuters ว่า เมื่อช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ยอดคำสั่งซื้อจากยุโรปและอเมริกา เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของกำลังผลิตปกติ จากเดิมที่บริษัทเคยผลิตได้วันละ 200 ล้านชิ้น มีส่วนเเบ่งการตลาดอยู่ถึง 1 ใน 5 ของถุงมือยางที่จำหน่ายทั่วโลก 

    โดยลูกค้าบางรายกำลังตื่นตระหนกกับการระบาดของ COVID-19 จากปกติแล้วพวกเขาจะสั่งซื้อราว 10 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อเดือน แต่ตอนนี้พวกเขาเพิ่มการสั่งซื้อเป็น 20 ตู้คอนเทนเนอร์

    “จะมีปัญหาการขาดแคลนเกิดขึ้นแน่นอน เพราะพวกเขาสั่งมากขึ้น 100% เเต่เราเพิ่มกำลังการผลิตได้เเค่ 20% เท่านั้น จึงจะมีการขาดแคลนประมาณ 50% ถึง 80% ของความต้องการในตลาด” ผู้บริหาร Top Glove กล่าว

    พร้อมคาดการณ์ว่าการสั่งซื้อถุงมือจำนวนมากจะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปอีก 3 เดือน เเละยอดสั่งซื้อจะยังคงอยู่ระดับสูงต่อไปอีก 9 เดือน แม้ว่าตอนนั้นความต้องการในตลาดเอเชียจะเริ่มลดลงเเล้วก็ตาม

    ทั้งนี้ บริษัทจะเพิ่มเครื่องจักรใหม่ทุกสัปดาห์และคาดว่าจะสามารถเพิ่มการผลิตให้ได้ถึง 30% โดยกำลังหาเเรงงานเพิ่มราว 1,000 คน เพื่อผลิตให้ทันกับความต้องการของตลาด

    “เราต้องการพนักงานเพิ่มประมาณ 10% ในช่วงนี้ เเต่เนื่องจากถูกจำกัดการเดินทางจึงไม่สามารถจ้างเเรงงานเพิ่มจากเนปาลได้ ดังนั้นเราจึงต้องใช้แรงงานท้องถิ่นเพื่อช่วยในการเเพ็กสินค้าโดยเฉพาะ”

    ที่มา : Reuters

     

    ]]>
    1270773