บล็อกบาสเตอร์ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 07 Dec 2020 10:45:17 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ประคองตัวในแบบ ‘SF’ เมื่อไม่มีหนังใหม่ ก็ต้องทำให้คน ‘คิดถึง’ โรงหนัง https://positioningmag.com/1309314 Mon, 07 Dec 2020 08:57:12 +0000 https://positioningmag.com/?p=1309314 ถือเป็นปีที่ท้าทายที่สุดของ ‘ธุรกิจโรงภาพยนตร์’ โดย ‘เอสเอฟ (SF)’ ระบุว่าตั้งแต่ทำธุรกิจมาไม่เคยมีครั้งไหนที่ต้อง ‘ปิด’ โรงภาพยนตร์นานถึง 75 วันแบบนี้ และไม่ใช่แค่ไทย แต่กระทบกันทั่วโลก และจากที่คาดการณ์ว่าช่วงไตรมาส 4 จะฟื้นมาได้ แต่กลายเป็นว่า ‘ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์’ กลับเลื่อนฉายไปเพียงหลังจากที่ชิมลางเอา ‘Mulan’ และ ‘TENET’ ลงฉายแล้วไม่เวิร์ก

หนังใหญ่หายรายได้หด

สุวิทย์ ทองร่มโพธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แน่นอนว่าภาพรวมอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ปีนี้วิกฤตหนักจาก COVID-19 เพราะไม่ใช่แค่ต้องปิดให้บริการ เพราะแม้จะคลายล็อกดาวน์แต่โรงหนังก็ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้เต็มที่ และปัจจัยสำคัญเลยก็คือ ‘หน้าหนัง’ เพราะเป็นสิ่งเดียวที่จะดึงดูดคนให้มาชมที่โรงภาพยนตร์ อย่างปีที่ผ่านมามีหนังอย่าง ‘Avengers : Endgame’ ขณะที่ปีนี้หนังฟอร์มยักษ์เลื่อนฉายไปปีหน้าถึง 10-20 เรื่อง ดังนั้น ผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์จึงต้องอาศัยคอนเทนต์หนังไทยมากขึ้น ส่งผลให้ปีนี้จะเป็นปีที่หนังไทยทำเงินสัดส่วนมากกว่า จากปกติหนังฮอลลีวูดจะครองสัดส่วนมากถึง 80%

“เราไม่ได้ตกใจที่สุดท้ายแล้วหนังเลื่อนเยอะ เพราะเราเข้าใจคนทำที่เขาฉายได้ครั้งเดียว ซึ่งเราเองก็คิดไว้หลายแผนเพื่อรองรับ ขณะที่ฝั่งเอเชียเองยังไม่ได้รับผลกระทบหนักเท่ายุโรปที่มีบริษัทล้มละลาย แต่ที่น่าสนใจคือ หนังไทยสามารถสร้างกระแสดึงคนกลับเข้ามาโรงภาพยนตร์ได้ดี อย่าง อีเรียมซิ่ง หรือ อ้ายคนหล่อลวง ก็น่าจะได้รับการตอบรับที่ดี”

ส่องอุตสาหกรรม ‘โรงภาพยนตร์สหรัฐฯ’ 4.95 แสนล้าน ที่ยังไม่เห็น ‘แสงสว่าง’ ปลายอุโมงค์

ทำอะไรก็ได้ให้คน ‘คิดถึง’ โรงหนัง

ตลอดเวลาที่ผ่านมา บริษัทพยายามฟื้นธุรกิจโรงหนัง มีการปรับกลยุทธ์การตลาดมากมาย เช่น การส่งป๊อปคอร์นเดลิเวอรี่ การเปิดช็อปจำหน่ายสินค้าจากหนังยอดนิยม การพัฒนาแอปพลิเคชันตอบโจทย์คอหนังให้จองได้ทุกที่ทุกเวลา สร้างประสบการณ์ดูหนังในรถยนต์ การใช้พื้นที่จัดทอล์กโชว์ต่าง ๆ และล่าสุดได้ทุ่มงบ 50 ล้านบาทเปิดตัวโรง ‘The Bed Cinema by Omazz’ ที่นำเตียงนอนมาใช้รับชมภาพยนตร์

SF x Omazz ดึงเตียงน้อนเข้าโรงหนัง เปิดตัว “The Bed Experience by Omazz®”

ทั้งนี้ทั้งนั้น ทุกสิ่งที่ SF ไม่ได้ตั้งเป้าในด้านยอดขาย แต่ต้องการเน้นเพิ่มประสบการณ์ใหม่ในการดูหนัง และเพื่อให้คนได้ยินคำว่าโรงหนัง อยากให้คนนึกถึงโรงหนัง เพราะต้องยอมรับว่าตอนนี้ ‘คอนเทนต์’ เรา ‘อ่อน’ ซึ่งปัจจุบันรายได้หลักอันดับ 1 มาจากการขายตั๋ว รองลงมาคือโฆษณา และการขายป๊อปคอร์น ที่เหลือคืออื่น ๆ อาทิ ช็อปขายของพรีเมียม การจัดงานอีเวนต์

“ตอนนี้เราพยายามใช้งานโรงภาพยนตร์ให้เต็มที่เพราะต้องยอมรับว่าคอนเทนต์ปีนี้ไม่พร้อม เช่น จัดงานอีเวนต์ต่าง ๆ แม้บางอย่างก็ไม่ได้ทำรายได้มากมายแต่คนยังนึกถึงโรงหนัง อย่างการนำหนังเก่ามาฉายเราก็เน้นเอาหนังเก่าหาดูยาก ซึ่งก็จะช่วยดึงคนที่ไม่ได้ดูหนังในโรงมานานกลับมาดูอีกครั้ง”  พิมสิริ ทองร่มโพธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริม

ปี 2021 ปีทองแทนปี 2020

จริง ๆ ปี 2020 ถูกวางไว้เป็นปีทองของธุรกิจโรงภาพยนตร์ เพราะโมเมนตั้มกำลังมาจากปี 2019 ที่ขึ้นพีคเพราะภาพยนตร์หลายเรื่อง โดยเฉพาะ ‘Avenger Endgame’ อีกทั้งไลน์อัพหนังที่น่าสนใจ และเมื่อไลน์อัพหนังถูกเลื่อนไปปีหน้า ดังนั้นจึงคาดว่าปี 2021 จะเป็นปีทองของอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ เช่น พยัคฆ์ร้าย 007 ตอน No Time to Die, Fast and Furious 9 ฯลฯ บริษัทจึงวางแผนลงทุนขยายโรงภาพยนตร์เพิ่ม 4 สาขา จำนวน 20 โรง จากปัจจุบันมี 64 สาขา จำนวน 400 โรง ส่วนงบการตลาดยังใช้เท่าเดิมคือ 100 ล้านบาท/ปี และในปีหน้ายังใช้เท่าเดิม

อย่างไรก็ตาม จากหน้าหนังที่หายไปจำนวนมากในปีนี้ และโรงหนังก็ยังให้บริการได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้ภาพรวมอุตสาหกรรมที่เคยมีมูลค่า 6-7 พันล้านบาทในปีนี้อาจหายไปเกิน 50% เช่นเดียวกับ SF อย่างไรก็ตาม ในช่วง 1 เดือนสุดท้าย ยังมีหนังฟอร์มยักษ์ที่จะช่วยปลุกตลาดโรงภาพยนตร์ให้ฟื้นตัวบ้าง โดยเฉพาะ Wonder Woman 1984, Monster Hunter ดังนั้นอาจต้องรอดูอีกที

ยังเชื่อว่า สตรีมมิ่ง ทดแทนไม่ได้

สตรีมมิ่งเป็นอีกหนึ่งในหัวข้อความ ‘กังวล’ ของธุรกิจโรงภาพยนตร์ ดังนั้น นี่จึงเป็นสาเหตุที่ SF พยายามพัฒนาประสบการณ์ของการรับชมภาพยนตร์ในโรงมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่อย่างไรก็ตาม ยังมองว่า ‘คอนเทนต์’ เป็นอีกสิ่งที่สร้างความแตกต่างให้สตรีมมิ่งกับโรงภายนตร์ อย่างในสตรีมมิ่งอาจจะเน้น ‘ซีรีส์’ ดังนั้น สำหรับการรับชมภาพยนตร์ให้ได้อรรถรสยังไงก็ต้องรับชมในโรงภาพยนตร์ โดยปัจจุบันราคาตั๋วเฉลี่ยอยู่ที่ 160 บาท โดยในปีนี้ปีหน้ายังไม่มีการปรับ เนื่องจากเห็นว่ากำลังซื้อผู้บริโภคยังไม่ฟื้น ดังนั้นต้องยังประคองกันต่อไป

“เราต้องยอมรับก่อนว่ามันกระทบ เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราพัฒนาตัวเอง แต่ไม่ใช่แค่สตรีมมิ่ง มันคืออะไรก็ตามที่แย่งความสนใจไป ดังนั้นตอนนี้เราไม่ได้มองว่า Major เป็นคู่แข่ง แต่ต้องร่วมมือกันดึงคนเข้าโรงเพื่อสู้กับทุกอย่าง ทั้งคอนเสิร์ต เกมมิ่ง”

‘Warner Bros’ ประกาศ หนังใหม่ทุกเรื่องปี 2021 จะฉายโรงและลง ‘สตรีมมิ่ง’ พร้อมกัน

เรายังมีความเชื่อว่าถ้าคอนเทนต์ถึงลูกค้าจะกลับมา แต่ก็ขึ้นอยู่กับเราเองว่าจะทำให้เขากลับมาได้แค่ไหน ซึ่งเราก็ต้องทำให้เขาได้ยินคำว่าโรงหนัง และสุดท้าย เรายังต้องอยู่กับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนไปเรื่อย ๆ เราก็ต้องจัดการกับมันให้ได้

]]>
1309314