ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘โรงภาพยนตร์’ หรือ ‘โรงหนัง’ เป็นหนึ่งในพื้นที่เสี่ยงที่จะแพร่กระจายไวรัส Covid-19 ดังนั้น เมื่อมีการระบาด โรงภาพยนตร์จึงเป็นส่วนที่ต้องถูกปิดยาว และเมื่อเปิดให้บริการได้อีกครั้ง จำนวนความจุก็ต้องลดเพราะมาตรการ Social Distancing แต่ความเจ็บปวดของอุตสาหกรรมยังไม่จบแค่นั้น เพราะหากไม่มี ‘ภาพยนตร์ใหม่’ เข้ามาดึงดูด ผู้บริโภคก็ยากที่จะเข้าไปใช้บริการ
แม้ว่าโรงภายนตร์ในหลายประเทศรวมทั้งไทยได้กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งภายใต้มาตรการ Social Distancing แต่สำหรับประเทศ ‘สหรัฐอเมริกา’ ซึ่งเป็นตลาดที่มีมูลค่าถึง 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.95 แสนล้านบาท) ยังไม่ฟื้นตัวเหมือนประเทศอื่น ๆ เนื่องจากการระบาดยังคงรุนแรง ส่งผลให้ผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์ไม่ว่าจะเป็น AMC, Regal, Cinemark และอื่น ๆ รู้สึกกดดันที่จะเปิดอีกครั้ง เนื่องจากต้นทุนค่าเช่าที่จะกลับมา
ข้อมูลจาก Comscore ระบุว่า ปัจจุบัน สหรัฐฯ มีโรงภาพยนตร์น้อยกว่า 17% จาก 5,440 แห่ง เปิดให้การ ขณะที่โรงภาพยนตร์ราว 915 แห่งที่เปิด เป็นการให้บริการแบบผสม คือ ทั้งฉายโรงภาพยนตร์และแบบ Drive-in แถมยังฉายภาพยนตร์ดังในอดีต อาทิ ‘Star Wars’ ‘Jaws’ ‘Back to the Future’ และ ‘Black Panther’ ซึ่งภาพยนตร์เหล่านั้นคงดึงดูดผู้ชมเพียงไม่กี่สัปดาห์ หากไม่มีเนื้อหาบล็อกบัสเตอร์ใหม่
อย่างไรก็ตาม โรงภาพยนตร์หวังว่าจะสามารถกลับมาทำธุรกิจได้ในปลายเดือนกรกฎาคม แต่ขึ้นอยู่กับว่าสตูดิโอรักษากำหนดการเปิดตัวภาพยนตร์ได้หรือไม่ โดยเฉพาะภาพยนตร์ ‘บล็อกบัสเตอร์’ เนื่องจากเป็นตัวดึงดูดผู้ชม อีกทั้งโรงภาพยนตร์ต้องเปิดล่วงหน้าภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ฉายประมาณ 2-4 สัปดาห์ เพื่อเตรียมพนักงาน รวมถึงโปรโมตภาพยนตร์
แต่ดูเหมือนความหวังที่จะกลับมาให้บริการในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมดูช่างริบหรี่ เนื่องจากเมื่อวันพุธที่ผ่านมาสหรัฐอเมริการายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 67,417 ราย ซึ่งเป็นสถิติใหม่สำหรับการรายงานผู้ป่วยรายใหม่ในวันเดียวเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 21% เทียบกับค่าเฉลี่ยเจ็ดวันในสัปดาห์ก่อน ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเตือนไม่ให้ดูหนังในโรงภาพยนตร์ เพราะมันมี ความเสี่ยงมากเกินไป ขณะที่ผลสำรวจในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมโดย Morning Consult ระบุว่ามีเพียง 20% ของผู้บริโภคที่รู้สึกสบายใจที่จะได้ชมภาพยนตร์ในขณะนี้
ด้าน Mooky Greidinger ซีอีโอของ Cineworld ซึ่งเป็นเจ้าของ Regal Cinemas จากสหรัฐอเมริกา ระบุว่า “ผมกังวลกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ก็หวังว่าภาพยนตร์อย่างเรื่อง TENET จะไม่เลื่อนฉายอีก แม้ว่าสถานการณ์ในบางรัฐยังดูไม่ดี แต่ตลาดต่างประเทศมีความพร้อมมากกว่าสหรัฐฯ”
ที่ผ่านมา สตูดิโอหลายรายได้ปรับเปลี่ยนตารางการฉายภาพยนตร์เป็นประจำ อย่าง ‘TENET’ และ ‘Mulan’ ก็เพิ่งถูกเลื่อนไปอีกครั้ง จากช่วงกลางเดือนกรกฎาคมเป็นเดือนสิงหาคม ส่วนหนึ่งก็เพื่อรอให้โรงภาพยนตร์กลับมาเปิดให้บริการล่วงหน้าก่อนตามที่ระบุ โดยบางรัฐยังมีโอกาสกลับมาให้บริการได้สูงสุดที่ 25% – 66% ดังนั้น นักวิเคราะห์จึงมองว่า สิ่งนี้สามารถโน้มน้าวให้สตูดิโอเลื่อนฉายภาพยนตร์ใหม่จนกว่าจะมีจำนวนโรงเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่นักวิเคราะห์บางรายมองว่า มีความเป็นไปได้ที่จะไม่มีภาพยนตร์ฤดูร้อนในปี 2020 โดยอาจล่าช้าไปในปีหน้าหรือจะถูกปล่อยสู่การสตรีม ซึ่งปัจจุบัน Sony และ Universal ได้เลื่อนภาพยนตร์ส่วนใหญ่ออกสู่ปี 2021 อย่างไรก็ตาม การเลื่อนภาพยนตร์ออกไปสตูดิโอหลายแห่งอาจประสบปัญหาในการหาวันฉายที่ไม่ชนกับคู่แข่ง แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดเอง ก็ส่งผลต่อการผลิตภาพยนตร์ ดังนั้นการเลื่อนฉายก็จะช่วยเติมเต็มช่องว่างจากภาพยนตร์ที่ยังถ่ายทำไม่เสร็จได้
และหากสตูดิโอเลือกที่จะปล่อยภาพยนตร์ แม้มีโรงภาพยนตร์เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น อาจจะทำให้เกิดปัญหาด้านการ ‘ละเมิดลิขสิทธิ์’ เนื่องจากผู้บริโภคอยากดูภายนตร์ใหม่ ๆ แต่ไม่มีโรงภาพยนตร์เปิด ดังนั้นพวกเขาอาจจะหาช่องทางที่ผิดกฎหมายเพื่อรับชมแทน โดยปีที่แล้ว ศูนย์นโยบายนวัตกรรมระดับโลกคาดการณ์ว่าการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ทั่วโลกจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างน้อย 29.2 พันล้านเหรียญสหรัฐในแต่ละปี ตัวเลขดังกล่าวอาจสูงถึง 71 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคาดว่าทำให้อุตสาหกรรมเสียรายได้ถึง 11- 24%
“ตอนนี้เราคาดว่าโรงภาพยนตร์ในประเทศจะปิดไปจนถึงกลางปี 2021 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราไม่คิดว่าสตูดิโอจะให้ความสนใจในการปล่อยภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดของพวกเขา” Doug Creutz นักวิเคราะห์จาก Cowen ระบุ
ทั้งนี้ TENET มีทุนสร้างถึง 225 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วน Mulan อยู่ที่ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ยังไม่รวมต้นทุนทางการตลาดที่คาดว่าจะอยู่ประมาณ ‘ครึ่งหนึ่ง’ ของทุนสร้าง ดังนั้นภาพยนตร์ทั้ง 2 จะต้องมียอดขายตั๋ว 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อให้คุ้มทุน ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าภาพยนตร์จะสามารถทำรายได้จากจากสหรัฐอเมริกาได้มากน้อยแค่ไหน
ดังนั้น จุดสำคัญที่จะทำให้อุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์สหรัฐฯ และทั่วโลกกลับมาได้อีกครั้งคงหนีไม่พ้นการควบคุมการแพร่ระบาด เพราะหากยังทำไม่ได้ ผู้บริโภคก็ไม่กล้าจะออกไปชมภาพยนตร์ในโรง ส่วนค่ายหนังเองก็ไม่กล้าที่จะปล่อยภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ออกมาฉาย เพราะอาจรายได้ไม่คุ้มทุน ซึ่งก็จะไปกระทบกับตลาดโรงภาพยนตร์ประเทศอื่น ที่จะไม่มีภาพยนตร์ใหม่ ๆ มาดึงดูดลูกค้า ดังนั้นอาจต้องมาดูว่า ตลาดโรงภาพยนตร์ทั่วโลกจะมีศักยภาพพอให้ค่ายหนังกล้าฉายโดยที่ไม่หวังพึ่งตลาดสหรัฐฯ ได้หรือไม่