บันเทิง – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 01 Dec 2022 10:44:21 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เจาะลึก 4 ปัจจัยที่ทำให้ ‘TikTok Shop’ อีคอมเมิร์ซน้องใหม่สาย ‘บันเทิง’ กำลังมาแรง! https://positioningmag.com/1410646 Thu, 01 Dec 2022 11:00:19 +0000 https://positioningmag.com/?p=1410646

อย่างที่รู้กันว่าตลาด อีคอมเมิร์ซ เป็นตลาดใหญ่แถมยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากสมาคมอีคอมเมิร์ซไทยระบุว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 นี้ คาดว่าตลาดจะมีมูลค่าประมาณ 8.1 แสนล้านบาท เลยทีเดียว ดังนั้น ไม่น่าแปลกใจที่แพลตฟอร์มต่าง ๆ ก็หันมาจับตลาดอีคอมเมิร์ซ รวมไปถึง TikTok ที่เพิ่งจะมีการเปิดตัว TikTok Shop ไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา


ช้อปสนุกด้วย Shoppertainment

หากพูดถึงช่องทางการซื้อ-ขายของออนไลน์ในปัจจุบันก็ต้องยอมรับว่ามีหลากหลาย ทั้งแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและโซเชียลมีเดีย แต่ทำไม TikTok Shop ถึงกำลังมาแรงทั้งในหมู่ผู้ซื้อและผู้ขายนั้น ส่วนหนึ่งเลยก็คือ พฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้ที่เปลี่ยนไป

จากงานวิจัยของ TikTok ที่ทำร่วมกับ Boston Consulting Group (BCG) พบว่า ผู้บริโภคอิ่มตัวกับโฆษณา โดย 34% ของผู้บริโภคไม่เชื่อคอนเทนต์โฆษณาจากแบรนด์ เพราะรู้สึกว่าถูกยัดเยียดจนเกินไป แต่กลับกันผู้บริโภคถึง 71% เพลิดเพลินกับการรีวิวหรือให้ข้อมูลสินค้าแบบเรียล ๆ

ดังนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่ทำให้ TikTok เติบโตและเป็นแหล่งกำเนิดของไวรัลต่าง ๆ ในไทยก็คือ ความเรียล และ ความบันเทิง โดยอ้างอิงจาก Nielsen ที่ระบุว่า ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลกยกให้คอนเทนต์บน TikTok คือที่สุดแห่งความบันเทิงเลยทีเดียว ดังนั้น สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการนั้นเป็นจุดเด่นของ TikTok อยู่แล้ว ซึ่งมันก็ยิ่งทำให้ TikTok Shop โดดเด่นด้วยกลยุทธ์ Shoppertainment ซึ่งคือการผสานระหว่าง Shopping และ Entertainment เข้าไว้ด้วยกัน พร้อมต่อยอดสู่ประสบการณ์ช้อปที่สนุกสนาน และลงตัวจนโดนใจผู้ใช้


ผู้ใช้ที่พร้อมช้อป

จากข้อมูล* เมื่อปี 2564 ที่จัดทำโดย Material ระบุว่า 3 ใน 4 ของผู้ใช้ TikTok กลุ่มมิลเลนเนียล มีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าขณะที่เล่น TikTok ขณะที่ข้อมูลจากการสำรวจ**ของ TikTok เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา เผยว่า 9 ใน 10 ของผู้ใช้ TikTok ในประเทศไทยมีการซื้อของในช่วง Mega Sales และซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี นอกจากนี้ นักช้อปบน TikTok ใช้จ่ายในช่วงมหกรรม Mega Sales มากกว่านักช้อปทั่วไปถึง 1.5 เท่า ซึ่งจากข้อมูลเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า ผู้ใช้งาน TikTok พร้อมจะจับจ่ายหากพบสินค้าที่ถูกใจ

ที่น่าสนใจคือ ผู้ใช้ TikTok นิยมนำสินค้าไปรีวิวภายในคอมมิวนิตี้ ซึ่งจุดนี้จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการซื้อจากผู้ชมหน้าใหม่ได้ด้วย เพราะเทรนด์ในปัจจุบัน ผู้ใช้งานแพลตฟอร์มดิจิทัลมีแนวโน้มเชื่อคำพูดของคอมมิวนิตี้, อินฟลูเอนเซอร์ หรือคำแนะนำของคนใกล้ตัวมากกว่าคำโฆษณาจากแบรนด์แบบตรง ๆ


นำเสนอสินค้าได้ตรงใจไม่ต้องเสิร์ช

ถ้าใครที่เล่น TikTok จะรู้ว่าระบบนั้นช่วยฟีดวิดีโอให้ตรงกับความสนใจของผู้ใช้ เช่นเดียวกันกับการนำเสนอสินค้าของ TikTok Shop มีรูปแบบการแนะนำสินค้าที่ Personalized เฉพาะความต้องการของแต่ละบุคคล ผ่านหลากหลายคอนเทนต์ที่จะกระตุ้นให้เกิดความสนใจได้ ต่างจากการใช้งานอีคอมเมิร์ซรูปแบบเดิมที่ผู้ใช้ต้องค้นหาสินค้าที่ต้องการด้วย keyword ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ 55% ของผู้ใช้ TikTok ในประเทศไทยจะระบุว่า TikTok Shop ช่วยให้พวกเขาค้นพบสิ่งใหม่ ๆ (อ้างอิงข้อมูล*ที่จัดทำขึ้นโดย Material) ซึ่งถือเป็นโอกาสในการขายของแบรนด์


ใช้ง่ายแถมมีโปรโมชั่น

หนึ่งในสิ่งสำคัญที่จะทำให้ปิดการขายได้ก็คือ ความง่าย ถ้าเกิดเจอของถูกใจแต่วิธีการซื้อยุ่งยาก ร้านก็ปิดการขายไม่ได้ ซึ่งวิธีการช้อปของ TikTok Shop ก็ใช้ง่ายใน 3 วิธี

1) Video Shopping ถ้าเลื่อนฟีดแล้วเจอรีวิวสินค้าที่โดนใจ ก็จิ้มที่ไอคอนรูปตะกร้า เพื่อกดสั่งซื้อสินค้าได้ทันที

2) Product Showcase คลิกที่ไอคอนตะกร้าที่หน้า TikTok ของร้านค้า เพื่อค้นหาสินค้าที่สนใจเพิ่มเติม

3) Live Shopping รับชมไลฟ์ขายของ และซื้อสินค้าได้ง่าย สะดวกสบาย เพียงคลิกตรงแถบสินค้าด้านล่าง

สุดท้าย สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับอีคอมเมิร์ซก็คือ โปรโมชั่น ซึ่ง TikTok Shop ก็มีโปรโมชั่นมากมาย รวมไปถึงโปรส่งฟรี***ให้ลูกค้าตลอดทั้งปี โดยล่าสุด TikTok Shop ก็มีแคมเปญ 12.12 ช้อปสนุก ให้สนั่น ส่งท้ายปี โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 6 – 12 ธันวาคม 2565 นี้ โดยเหล่านักช้อปจะได้

  • คูปองส่วนลดสูงสุด 1,212 บาท***
  • ส่งฟรีทุกออเดอร์***
  • ของขวัญสุดพิเศษจากแบรนด์ดัง เข้ากับช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองส่งท้ายปี อาทิ Sulwhasoo, Laneige, Singer และแบรนด์อื่นๆ อีกมากมาย

จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป รวมถึงการผสานเอาจุดเด่นดั้งเดิมมาต่อยอด TikTok Shop จึงถือเป็นจุดหมายปลายทางของการช้อปสนุกยิ่งกว่าที่เคย พร้อมนำเสนอสินค้าที่ตรงใจ ใครที่มองหาของขวัญช่วงปลายปี ก็ไถ TikTok ได้เลย

ติดตามรายละเอียดแคมเปญ TikTok Shop 12.12 ช้อปสนุก ให้สนั่น เพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/tiktokshopthailandofficial

และรับชมวิดีโอโฆษณาแคมเปญนี้ได้ที่ https://youtu.be/TDJ_fnUfEzQ


*อ้างอิงข้อมูลจากผลวิจัย TikTok Marketing Science Global Entertainment Study (ข้อมูลประเทศไทย) เมื่อเดือน ธันวาคม 2564 ที่จัดทำขึ้นโดย Material

**อ้างอิงข้อมูลจากผลวิจัย TikTok commissioned study on TikTok users and non-users consumption and behaviours in TH (ข้อมูลประเทศไทย) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565

***เงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทฯกำหนด

]]>
1410646
โควิดฉุดวงการ ‘แอนิเมชันญี่ปุ่น’ ยอดขายร่วง ครั้งแรกรอบ 10 ปี เเถมต้องสู้คู่เเข่งจากจีน https://positioningmag.com/1347368 Tue, 17 Aug 2021 09:47:07 +0000 https://positioningmag.com/?p=1347368 อุตสาหกรรมการ์ตูนญี่ปุ่นสะเทือนพิษโควิด หลังเติบโตเเละทำรายได้ดีมาอย่างต่อเนื่อง เเม้จะได้ ‘Demon Slaye’ ดาบพิฆาตอสูร มาช่วยพยุงตลาดก็ตาม เเถมยังต้องสู้คู่เเข่งอย่างแอนิเมชันจีนด้วย 

ผลสำรวจจาก Teikoku Databank พบว่า อุตสาหกรรมแอนิเมชันของญี่ปุ่น มียอดขายลดลง 1.8% นับเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกในรอบ 10 ปี 

ในปีที่แล้วยอดขายทั้งหมดของอุตสาหกรรมแอนิเมชันญี่ปุ่น อยู่ที่ราว 251,100 ล้านเยน ลดลงจากปี 2019 ซึ่งอยู่ที่ 255,700 ล้านเยน 

เเม้จะมีความนิยมอย่างล้นหลามจาก ‘Demon Slayer’ ดาบพิฆาตอสูร ที่เพิ่งฉายไปเมื่อปี 2020 ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดในประวัติศาสตร์บ็อกซ์ออฟฟิศของญี่ปุ่น ด้วยรายรับมากกว่า 4 หมื่นล้านเยน มาช่วยชดเชยตลาด เเต่ภาพรวมของวงการนี้ก็ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดไปไม่น้อย

วิกฤตโควิด ส่งผลต่อกระบวนการผลิตแอนิเมชันในหลายสตูดิโอ ซึ่งส่งผลต่อรายได้เเละการเเบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น โดยสตูดิโอในญี่ปุ่นที่เข้าร่วมการสำรวจกว่า 300 แห่ง กำลังเผชิญกับยอดขายที่ลดลงกว่า 48.6%

ขณะเดียวกัน แนวโน้มอุตสาหกรรมแอนิเมชันของญี่ปุ่นนั้น กำลังดูในช่วงท้าทายจากการเเข่งขันที่สูงขึ้น โดยเฉพาะจากฝั่งบริษัทแอนิเมชันของจีน ที่ขยับลงทุนบุกตลาดนี้อย่างจริงจัง

โดยบริษัทจีน ได้มีการทุ่มเงินจ้างนักวาดและเข้าซื้อหุ้นของสตูดิโอของญี่ปุ่น รวมถึงพยายามเร่งพัฒนาเทคโนโลยีคุณภาพการผลิตเเละบุคลากร มีเครื่องมืออำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ก้าวหน้า ทำให้ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ แอนิเมชันจีนเริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ

 

ที่มา : Japantimes  

]]>
1347368
GDH ครองตลาดหนังไทย รายได้ 471 ล้าน เปิดกลยุทธ์ 2020 ลุยหนัง-ซีรีส์-ปั้นศิลปินใหม่ https://positioningmag.com/1262597 Thu, 30 Jan 2020 19:25:02 +0000 https://positioningmag.com/?p=1262597 เเม้ทุกวันนี้คนไทยจะดู “หนังไทย” กันน้อยลง ถึงขั้นซบเซา เเต่ค่ายหนังขวัญใจวัยรุ่นอย่าง “GDH” ก็ยังครองกระเเส ส่งหนัง 3 เรื่อง ติดท็อปทำรายได้สูงสุดของปี 2019 ยอดทิ้งห่างหนังไทยเรื่องอื่นไปหลายเท่า

“ตุ๊ดซี่ส์ & เดอะเฟค” เป็นหนังไทยที่ทำเงินสูงสุดในปี 2019 ด้วยรายได้141 ล้านบาท รองลงมาคือเรื่อง “Friend Zone ระวังสิ้นสุดทางเพื่อน” อยู่ที่ 134 ล้านบาท และ “ฮาวทูทิ้ง…ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ” มีรายได้ที่ 57 ล้านบาท

มองกลับมาที่ “หนังไทย” ตลอดปี 2019 ไม่ค่อยสดใสนัก โดยมีออกฉายราว 40 เรื่อง ทำรายได้รวมทั้งหมดประมาณ 711 ล้านบาท ลดลง 14% เฉลี่ยต่อเรื่องทำรายได้เพียง 15 ล้านบาทเท่านั้น จากปีก่อนอยู่ที่ 18-19 ล้านบาท

เเละที่น่าตกใจคือ “มีหนังไทยกว่า 17 เรื่องที่ทำรายได้น้อยกว่า 1 ล้านบาท”

ขณะที่ “ภาพรวมตลาดหนังที่ฉายในไทย” อยู่ที่ 4,700 ล้านบาท โตขึ้น 4% จากมาจากหนังต่างประเทศเป็นหลัก สะท้อนว่าคนไทยไม่มีหนังไทยที่อยากดูเเละชอบดูหนังต่างประเทศมากกว่า

อย่างไรก็ตาม เเม้ตลาดหนังไทยจะดูซึมๆ เเต่ ” GDH” ก็โตสวนทางตลาด ด้วยรายได้รวมอยู่ที่ 471.29 ล้านบาท ในปี 2019 เติบโตจากปี 2018 ประมาณ 12%

GDH เเละ นาดาวบางกอก วางทิศทางธุรกิจเเละเเผนการตลาดอย่างไร รวมถึงตั้งเป้าจะทำโปรเจ็กต์อะไรต่อไปในปี 2020-21 วันนี้ “จินา โอสถศิลป์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า เเละ “ทรงยศ สุขมากอนันต์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท นาดาว บางกอก จำกัด หรือ “ย้ง” หนึ่งในผู้กำกับหนังไทยในตำนานอย่าง “เเฟนฉัน” ที่ขยับมาเป็นผู้บริหาร จะมาให้คำตอบนี้…

ทุ่มการตลาด เข้าถึงทุกเเพลตฟอร์ม 

“การทำหนังเรื่องหนึ่งของ GDH มีต้นทุนราว 45-50 ล้านบาท แบ่งเป็นทุนสร้าง 20-30 ล้าน ส่วนที่เหลือคืองบสำหรับทำการตลาด”

ผู้บริหาร GDH บอกว่าในยุคสมัยนี้ เเม้จะทำหนังออกมาดีเเค่ไหน เเต่หากขาดการโปรโมท เเละการสร้างการรับรู้ที่เข้าถึงก็อาจจะ “ขาดทุน” ได้

ในปี 2020 นี้ GDH จึงเปิดบริษัทในเครือขึ้นมาใหม่ เพื่อดูเเลด้านการโปรโมทโดยเฉพาะอย่าง บริษัท น้ำดีไม้งาม จำกัด เเละ บริษัท งานดีทวีสุข ดูแลงานพีอาร์และอีเว้นท์ ซึ่งน้ำดีไม้งามได้ “เดียว วิชชพัชร์ โกจิ๋ว” มานำทีม ดูแลในเรื่องการโปรโมตหนังและคอนเทนต์ให้กับ GDH เป็นหลักรวมถึงงานของรัชดาลัยเธียเตอร์ และงานของเบิร์ด-ธงไชย

กลยุทธ์หลักของ GDH ปีนี้คือ “ต้องการให้คอนเทนต์เข้าถึงทุกแพลตฟอร์ม” จึงจะขยายเพิ่มขึ้นอีก 1 แอปพลิเคชั่น คือ iQiYi จากจีนที่มาเปิดในไทย จากปัจจุบันที่ผู้ชมสามารถเข้าถึงคอนเทนต์ GDH ได้หลายแพลตฟอร์มอย่าง WeTV, Viu, Netflix, Line TV, HOOq และ AIS PLAY เป็นต้น

“จินา โอสถศิลป์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า (ขวา)

เมื่อคนดูหนังเปลี่ยน…คนทำหนังต้องปรับตาม

“ทุกวันนี้หนังมีอายุอยู่ในโรงสั้นลง จากเดิมที่เฉลี่ยเคยอยู่ในโรงประมาณ 4 สัปดาห์ ลดลงมาเหลือเเค่ 2 สัปดาห์”

ผู้บริหาร GDH อธิบายเพิ่มว่า “เมื่อก่อนคนดูจะมาแบบแบ่งกันเป็น 3 ล็อตใหญ่ คือสัปดาห์แรก สัปดาห์ที่ 2
เเละสัปดาห์ 3 บางทีลากยาวเป็นเดือน เเต่ตอนนี้คนดูส่วนใหญ่เทไปอยู่สัปดาห์แรกกันหมด บางครั้งถ้ากระแสของหนังดี สัปดาห์แรกของการเข้าฉายก็อาจเป็นรายได้ 65% ทั้งหมดของหนังเลยก็ได้”

ส่วนปัจจัยที่คนไทยดูหนังในโรงน้อยลงนั้น จินามองว่า คอนเทนต์ไทยมีให้ดูฟรีมากมายในหลายช่องทาง บวกกับปัญหาฝุ่น PM2.5 ปัญหารถติด รวมถึงสภาพเศรษฐกิจไม่ค่อยดี มีส่วนทำให้คนอยู่บ้านมากขึ้น การดูหนังนอกบ้านจึงลดลงตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม การฉายหนังยุคนี้ก็มีข้อดีคือ การมีจำนวนโรงภาพยนตร์ให้ฉายมากขึ้น ก็ย้อนกลับมาที่บริษัททำหนังต้อง “โปรโมต” ให้ดีเพื่อดึงกระเเสสัปดาห์เเรกให้มากที่สุดนั่นเอง

เปิดโปรเจกต์ใหญ่ปี 2020 ส่งซีรีส์เจาะตลาดจีน 

GDH จะมี 3 โปรเจกต์ใหญ่ในปี 2020 เเบ่งเป็นภาพยนตร์ 2 เรื่อง โดยจะเป็นภาพยนตร์เเนว thiller horror กำกับโดย กอล์ฟ-ปวีณ ออกฉายในช่วงเดือน ส.ค. เเละภาพยนตร์เเนวโรเเมนติก คอมเมดี้ ที่กำกับโดย เมษ-ธราธร จะออกฉายในเดือน ธ.ค.นี้

ส่วนอีกโปรเจกต์คือ “ซีรีส์” โดยปีนี้ทุกคนจะได้ดู “ซีรีส์ฉลาดเกมส์โกง” ในเดือน ส.ค. ทางช่องวัน 31 นับเป็นครั้งเเรกที่จะฉายซีรีส์คู่ขนานไปพร้อมกับประเทศจีน และนำมาฉายย้อนหลังในช่องทาง WeTv ของ Tencent

โดย “ฉลาดเเกมโกง” เป็นภาพยนต์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในจีน จนมีนักลงทุนสนใจติดต่อให้ทำต่อเนื่องเป็นซีรีส์เพื่อตีตลาดจีนโดยเฉพาะ

“ในปีต่อไป (2021) เราจะกลับมาทำหนังอย่างเต็มที่ ซึ่งตอนนี้เตรียมไว้เเล้ว 4 โปรเจกต์ อยากจะฉายให้ได้ทุกไตรมาส เเละมีเรื่องของการร่วมทุนกับต่างชาติในเอเชียด้วย”

กลุ่มลูกค้าหลักของ GDH และนาดาว คือคนช่วงวัย 15-30 ปี เเละเป็นความท้าทายของที่จะดึงคนนอกเหนือช่วงวัยนี้ให้เข้าถึงคอนเทนต์ของบริษัทให้ได้

จินา โอสถศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า (ซ้าย) – ทรงยศ สุขมากอนันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นาดาว บางกอก จำกัด (ขวา)

ภารกิจปั้นเด็กใหม่ ดันกระเเส Nadao Music

ด้านผู้กำกับมือทองที่ผันตัวไปเป็นผู้บริหารอย่าง “ย้ง ทรงยศ” บอกถึงก้าวต่อไปของนาดาวบางกอก บริษัทในเครือ GDH ที่เกิดขึ้นมาเพื่อสำหรับดูแลศิลปินและนักแสดงในค่าย ขยายต่อในงานโปรดักส์ชั่นเเละสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งเปิดมานานกว่า 10 ปีเเล้ว

ในปี 2562 นาดาวบางกอกมีรายได้อยู่ที่ 370 ล้านบาท เติบโตขึ้น 52.71% ซึ่งรายได้กว่า 70% นั้นมาจากการดูแลศิลปิน ส่วนที่เหลืออีก 30% เป็นรายได้ที่มาจากฝ่ายโปรดักชั่น

“ส่วนโปรดักส์ชั่นเราโตขึ้น 34% จากซีรีส์ Greatmen Academy และละครรักฉุดใจนายฉุกเฉิน”

นับตั้งเเต่เริ่มทำซีรีส์ “ฮอร์โมนส์วัยว้าวุ่น” มาจนถึง “เลือดข้นคนจาง” ประสบความสำเร็จ ศิลปินในค่ายโด่งดังเป็นที่ รู้จัก เเต่มีงานต่อยอดมากมายทั้งพรีเซ็นเตอร์เเละงานเพลง

“ซีรีส์เรื่องเลือดข้นคนจาง ทำให้รายได้ของนาดาวบางกอก ในปี 2018 โตขึ้นจากปี 2017 ถึง 200%”

ปีนี้นาดาวจะมุ่งเน้นไปกับการสร้างศิลปินหน้าใหม่ขึ้นมา ผ่านโครงการ Nadao Academy ค้นหาเด็กฝึกมาเป็นศิลปิน นักแสดงในสังกัด โครงการเวิร์คช็อป เขียนบท ส่งนักแสดงร่วมงานช่องอื่นๆ อย่าง ช่องวัน 31 GMM25
และช่อง 3 รวมทั้งเพิ่มพาร์ตเนอร์ OTT แพลตฟอร์ม และแบรนด์ต่างๆ ซึ่งน่าจะมีการร่วมโปรเจกต์กันมากขึ้น

ทรงยศ สุขมากอนันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นาดาว บางกอก จำกัด

หลังจากเพลง “รักติดไซเรน” ดังทั่วบ้านทั่วเมือง นาดาวก็จะต่อยอดกระเเสนี้ด้วย ยูนิต Nadao Music ดึงศิลปินอย่างเบล-สุพล มาเป็นโปรดิวเซอร์หลัก ซึ่งในปีนี้จะปล่อยซิงเกิลของศิลปินอย่าง ของเจเจ , ไอซ์ พาริส, บิวกิ้น, แพรวา เป็นต้น

หากมองดูการเเบ่งส่วนหารายได้ของ GDH จะพบว่าได้เเยกย่อยเป็นบริษัทลูกในเครือที่หลากหลาย อย่างนาดาวบางกอก ที่มีรายได้หลักจากการดูเเละศิลปิน ขยายไปรับงานโปรดักชั่น ส่วนสวัสดีทวีสุขเเละเสียงดีทวีสุข ก็ให้บริการด้านภาพเเละเสียง รับทำงานให้ลูกค้านอกบริษัทได้ นับเป็นอีกกลยุทธ์หารายได้อีกทางของ GDH โดยเป็นการปั้น “ลูกหม้อ” คนที่ทำงานในบริษัทมานานให้เติบโตขึ้นมาทำหน้าที่ดูเเลบริหารในส่วนต่างๆ

“ปัญหาของเราตอนนี้คือ ปั้นคนทำงานขึ้นมาไม่ทัน” ทรงยศกล่าวเเละทิ้งท้ายถึงอุตสาหกรรมหนังในประเทศว่า “เราอยากให้วงการหนังไทยโตไปด้วยกัน ถ้าเเค่ GDH โตเจ้าเดียวเเล้วคนทำหนังคนอื่นขาดทุน วงการนี้ก็ลำบาก”  

]]>
1262597
ก้าวทันดิจิทัล! Radiohead เปิด “ห้องสมุดออนไลน์” คลังสะสมผลงานเพลง-อีพีหาฟังยาก https://positioningmag.com/1261467 Tue, 21 Jan 2020 17:40:28 +0000 https://positioningmag.com/?p=1261467 ก้าวทันยุคดิจิทัลจริงๆ เมื่อวงดังระดับตำนานจากเกาะอังกฤษ “Radiohead” เปิดตัว “ห้องสมุดสาธารณะทางออนไลน์” ให้เเฟนเพลงเข้าถึงคลังข้อมูล อัลบั้ม มิวสิควิดีโอ ไลฟ์การแสดง บริการสตรีมมิ่ง รวมไปถึงปล่อยเพลงหายาก เเถมช่วงเเรกสมาชิกในวงยังจะผลัดกันมาทำหน้าที่เป็นบรรณารักษ์เองด้วย…

ยิ่งเก่ายิ่งหาฟังยาก…Radiohead Public Library จะมาเพื่อเเก้ไขปัญหานี้เพราะทางเว็บไซต์จะมีคลังข้อมูลเเบบถาวร รวมทุกอัลบั้ม ทุกมิวสิควิดีโอ การแสดงสด ทั้งคอนเสิร์ตเเละทีวี งานศิลปะ จดหมายข่าว แทร็ก B-Sides
เเละให้เเฟนคลับได้สั่งสินค้าเกี่ยวกับวงเเบบพิเศษทางออนไลน์ด้วย

โดยยังได้อัปโหลดเพลงที่ไม่สามารถใช้งานได้ก่อนหน้านี้ในบริการสตรีมมิ่ง รวมถึงการปล่อยเพลงหายากอย่าง ‘Drill’ อีพีเดบิวต์ในปี 1992, เพลง ‘I Want None of This’ จากอัลบั้มรวมฮิตเพื่อการกุศล ‘Help!: A Day in the Life’ ในปี 2005 และ ‘TKOL RMX 8’ รีมิกซ์อีพีในปี 2011

ห้องสมุดออนไลน์ของ Radiohead ยังเปิดให้ผู้เข้าชมสามารถทำบัตรสมาชิกห้องสมุด Radiohead ของตัวเอง
เเละดาวน์โหลดเก็บไว้เป็นที่ระลึกได้ (ไม่ได้ขอข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ด้วย)

พิเศษยิ่งไปอีก เมื่อสมาชิกวงทุกคน ทั้ง Colin เเละ Jonny Greenwood, Ed O’Brien, Philip Selway
เเละ Thom Yorke จะผลัดกันมาทำหน้าที่ “บรรณารักษ์” ของห้องสมุดออนไลน์ คนละ 1 วัน จนถึงวันที่ 24 มกราคมนี้ เพื่อนำเสนอเนื้อหาที่คัดสรรผ่านโซเชียลมีเดียของวง โดยเมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา Colin ก็ได้มาลงรายการเพลงที่ตัวเองรวบรวมไว้ พร้อมด้วยความเห็น รูปภาพ และบัตรห้องสมุดของเขาด้วย

เเฟน ๆ ไปเยี่ยมชมห้องสมุดสาธารณะออนไลน์ของวง Radiohead กันเลยที่นี่ https://radiohead.com/library/

ที่มา : theverge

]]>
1261467
ร้องว้าวหนักมาก Netflix จะฉายแอนิเมชัน 21 เรื่องของสตูดิโอ Ghibli ให้ชมทั่วโลก 1 ก.พ.นี้ https://positioningmag.com/1261320 Mon, 20 Jan 2020 10:20:16 +0000 https://positioningmag.com/?p=1261320 หลังสร้างความประทับใจเป็นตำนานเเห่งวงการภาพยนตร์แอนิเมชันมายาวนานกว่า 35 ปี ล่าสุด “สตูดิโอจิบลิ” (Studio Ghibli) กำลังจะเข้าสู่แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งให้เเฟนๆ ได้รับชมผ่านทางออนไลน์ได้เป็นครั้งแรกบน Netflix ซึ่งจะเริ่มฉายชุดเเรก ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2020 นี้

นับเป็นโอกาสอันดีที่ผลงานของสตูดิโอจิบลิจะเข้าถึงคนทั่วโลก เเม้ก่อนหน้านี้ HBO Max คู่เเข่งของ Netflix จะได้ดีลนี้ไปเช่นกัน เเต่ยังจำกัดการให้บริการไม่กี่ประเทศเเละจะให้บริการในฤดูใบไม้ผลิปีนี้ ขณะที่ Netflix จะฉายทั่วโลก มีซับไตเติล 28 ภาษา และพากย์ 20 ภาษา

สำหรับผลงานของสตูดิโอจิบลิที่จะนำมาฉายใน Netflix มีทั้งหมด 21 เรื่อง ตลอดระยะเวลา 35 ปี ตั้งแต่เรื่องแรกอย่าง Nausicaä of the Valley of the Wind ปี 1984 จนถึงผลงานล่าสุด When Marnie Was There ปี 2014

อย่างไรก็ตาม ขาดไป 1 เรื่องเท่านั้นคือ Grave of the Fireflies สุสานหิ่งห้อย กำกับโดย อิซาโอะ ทาคาฮาตะ ซึ่งเป็นผลงานคลาสสิกครองใจใครหลายคน

Photo : My Neighbor Totoro – Ghibli/Netflix

“นี่เป็นเหมือนฝันที่กลายเป็นจริงสำหรับ Netflix เเละสมาชิกหลายล้านคนของเรา ภาพยนตร์แอนิเมชันของสตูดิโอจิบลิ เป็นตำนานและมีแฟนๆ ทั่วโลก เรารู้สึกตื่นเต้นมากที่จะทำให้พวกเขาสามารถดูได้ในหลายภาษา ทั้งในละตินอเมริกา ยุโรป แอฟริกาและเอเชีย เพื่อให้ผู้คนเพลิดเพลินไปกับความมหัศจรรย์แห่งโลกแห่งแอนิเมชัน” Aram Yacoubian ผู้อำนวยการฝ่ายแอนิเมชันของ Netflix กล่าว

ด้าน Toshio Suzuki โปรดิวเซอร์ ผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอจิบลิ ให้เหตุผลในการนำผลงานมาฉายบน Netflix ว่า ในยุคนี้ผู้ชมสามารถเข้าถึงภาพยนตร์ได้จากหลายช่องทาง เราทราบถึงเสียงเรียกร้องจากเเฟนๆ จำนวนมาก จึงได้ตัดสินใจเปิดสตรีมผลงานของเรา เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางให้ผู้ชมทั่วโลกได้มีโอกาสค้นพบโลกมหัศจรรย์ของสตูดิโอจิบลิ

สำหรับรายชื่อและช่วงเวลาฉายทั้ง 21 เรื่อง ได้แก่

1 กุมภาพันธ์ : Castle in the Sky (1986), My Neighbor Totoro (1988), Kiki’s Delivery Service (1989), Only Yesterday (1991), Porco Rosso (1992), Ocean Waves (1993), Tales from Earthsea (2006)

1 มีนาคม : Nausicaä of the Valley of the Wind (1984), Princess Mononoke (1997), My Neighbors the Yamadas (1999), Spirited Away (2001), The Cat Returns (2002), Arrietty (2010), The Tale of The Princess Kaguya (2013)

1 เมษายน : Pom Poko (1994), Whisper of the Heart (1995), Howl’s Moving Castle (2004), Ponyo on the Cliff by the Sea (2008), From Up on Poppy Hill (2011), The Wind Rises (2013), When Marnie Was There (2014)

 

ที่มา : hollywoodreporter

]]>
1261320