พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 19 Apr 2023 13:15:48 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “พันธุ์ทิพย์” ปรับอีกรอบเป็น “AEC Food Wholesale” ศูนย์ค้าส่งวัตถุดิบ “อาหาร” จากทั่วโลก https://positioningmag.com/1427862 Wed, 19 Apr 2023 08:53:50 +0000 https://positioningmag.com/?p=1427862 จาก “พันธุ์ทิพย์” ห้างฯ ไอทีในตำนานย่านประตูน้ำ สู่ยุค “AEC Trade Center” ค้าส่งสารพัดสินค้า ล่าสุดเจ้าของโครงการเปลี่ยนอีกรอบเป็น “AEC Food Wholesale” คอนเซ็ปต์ศูนย์ค้าส่งวัตถุดิบ “อาหาร” จากทั่วโลก จับคู่ลูกค้าโรงแรมร้านอาหารในอาเซียน

บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป หรือ AWC เจ้าของโครงการ “พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ” เคยประกาศปรับเปลี่ยนศูนย์การค้าอดีตแหล่งรวมสินค้าไอทีแห่งนี้ไปแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อเดือนตุลาคม 2563 บริษัทเปลี่ยนคอนเซ็ปต์ศูนย์ฯ นี้ใหม่เป็น AEC Trade Center – Pantip Wholesale Destination หมายให้เป็นศูนย์กลางการค้าส่งของภูมิภาค จัดจำหน่ายสินค้าสารพัดประเภท เช่น อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน ของเล่น ของชำร่วย เครื่องเขียน ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าคอนเซ็ปต์นี้ยังไม่ได้ผล ไม่สามารถดึงผู้เช่าเข้ามาได้อย่างที่หวัง ล่าสุด “วัลลภา ไตรโสรัส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ AWC จึงบิดคอนเซ็ปต์ ไม่ขายสินค้าครอบจักรวาลแต่ปรับโฟกัสให้เฉพาะเจาะจงมากขึ้น โดยจะเปลี่ยนมาเน้นค้าส่งเฉพาะกลุ่มวัตถุดิบ “อาหาร” เท่านั้น และเปลี่ยนชื่อศูนย์การค้าแห่งนี้ใหม่เป็น “AEC Food Wholesale Pratunam”

AWC
วัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ AWC

แม่ทัพหญิงของ AWC จับจุดมาเลือกค้าส่งวัตถุดิบอาหารเพราะเห็นว่า การจัดหาวัตถุดิบ (sourcing) ของบรรดา “เชฟ” โรงแรมและร้านอาหาร เป็นเรื่องที่ยากลำบาก มี ‘pain point’ ที่ศูนย์กลางการค้าส่งจะตอบโจทย์ได้

“เราเห็นจากตัวเราเองก็บริหารโรงแรมหลายแห่ง จัดซื้อวัตถุดิบอาหารปีละกว่า 3,000 ล้านบาท” วัลลภากล่าว “เวลาเชฟจะจัดหาวัตถุดิบ เขาต้องไปเสาะหาผู้ผลิตในอินเทอร์เน็ต ติดต่อขอเรียกตัวอย่างวัตถุดิบ (sample) มาทดลองใช้ทีละเจ้าๆ บางครั้งก็ต้องรอนานกว่าวัตถุดิบจะมา กระบวนการจึงไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ”

รวมถึงมีตัวเลขสนับสนุนเพราะมูลค่ารายได้จากวัตถุดิบอาหารในภูมิภาคอาเซียนปี 2566 นั้นคาดว่าจะไปแตะ 25 ล้านล้านบาท เฉพาะในไทยคาดมีมูลค่า 2 ล้านล้านบาท และยังมีแนวโน้มจะโตเฉลี่ย 6.9% ต่อปี ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ทำให้ธุรกิจอาหารเป็นตลาดที่น่าสนใจ

จึงเป็นไอเดียในการจับเฉพาะตลาดอาหาร รวมศูนย์สินค้าทั้งในไทยและจากทั่วโลก เพื่อให้เชฟหรือฝ่ายจัดซื้อเข้ามาชมและทดลองใช้วัตถุดิบในครัวกลางของศูนย์ แบบจบภายในจุดเดียว

 

ศูนย์ค้าส่ง “อาหาร” ครบวงจร

“AEC Food Wholesale Pratunam” จะใช้พื้นที่อาคารทั้งหมด 67,000 ตร.ม. 6 ชั้น และที่ดินด้านหลังอาคารมาบริหารการค้าส่ง โดยมีส่วนสำคัญๆ ภายในอาคาร ได้แก่ พื้นที่ร้านค้าทั้งหมด 600 ร้าน (แยกตามแบรนด์/บริษัท), พื้นที่ร้านค้าส่วนกลางสำหรับรายกลาง-รายย่อย (shared shop), ฮอลล์จัดโปรโมชัน/อีเวนต์พิเศษ, ครัวกลางในการทดสอบชิมวัตถุดิบ (Taste Kitchen), ศูนย์เจรจาทางธุรกิจและอำนวยความสะดวกในการนำเข้า-ส่งออก, คลังสินค้า และพื้นที่ขนถ่ายสินค้า

การแบ่งพื้นที่ทั้ง 6 ชั้นใน AEC Food Wholesale Pratunam

ฟังก์ชันในศูนย์ฯ จะเห็นได้ว่า ลูกค้าสามารถมาจัดหาวัตถุดิบ เจรจาต่อรอง สั่งซื้อ ชำระเงิน และขนส่งสินค้า จบครบวงจรในที่เดียว

นอกจากนี้ บริษัทจะเปิดแพลตฟอร์มออนไลน์ “PhenixBox” มาเสริมในการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ได้ด้วย โดยจะเน้นเฉพาะตลาด B2B ที่ซื้อเป็นลอตใหญ่ และมีระบบ Group Buyers รวมกันซื้อของผู้ซื้อรายกลางถึงรายย่อย เพื่อให้ได้ราคาส่ง

 

จีบพันธมิตรลงทุนทั้งในไทย-ต่างประเทศ

วัลลภากล่าวต่อถึงประเภทสินค้าที่เน้น แบ่งเป็น 8 ประเภทใหญ่ ได้แก่ อาหารแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์นม เครื่องเทศและเครื่องปรุง ข้าว อุปกรณ์ครัว ขนมขบเคี้ยว ชา-กาแฟ และเครื่องดื่ม

AEC Food Wholesale Pratunam
8 ประเภทสินค้าที่จะจำหน่าย

โดยในงานวันเปิดตัวคอนเซ็ปต์ AWC มีการเชิญชวนพันธมิตร ทั้งภาครัฐ เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และพันธมิตรธุรกิจอาหารสัญชาติไทยร่วมรับฟังโมเดลธุรกิจ ได้แก่ เบอร์ลี่ ยุคเกอร์, ซีพีเอฟ โกลบอล ฟู้ด โซลูชั่น, ไทยเบฟเวอเรจ, ไทยยูเนี่ยน, เบทาโกร, พี อาร์ จี คอร์ปอเรชั่น, ทิปโก้ฟูดส์, เคซีจี คอร์ปอเรชั่น

รวมถึงเชิญพันธมิตรต่างประเทศ เช่น อี้อู (Yiwu) ผู้บริหารตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ในจีน, หอการค้าไทย-จีน, สภาหอการค้าอังกฤษแห่งประเทศไทย, หอการค้าสวิส-ไทย, สมาคมหอการค้าไทย-สเปน, หอการค้าออสเตรเลีย-ไทย, หอการค้าไทย-นิวซีแลนด์, หอการค้าไทย-แคนาดา

ส่วนฝั่งผู้ซื้อนั้น วัลลภาคาดหวังถึงเครือข่ายโรงแรม ร้านอาหาร โรงพยาบาล ฯลฯ ในภูมิภาคอาเซียนที่ต้องจัดซื้อวัตถุดิบอาหารจำนวนมาก ซึ่ง AWC จะส่งเทียบเชิญมาร่วมชมสินค้าหลังจากศูนย์ฯ เปิดดำเนินการ

ปัจจุบันภายในศูนย์ฯ ยังมีร้านไอทีที่ยังไม่หมดสัญญาเช่าอยู่บางส่วน ทำให้ AWC จะจัดดิจิทัล โซนไว้ให้ผู้เช่ากลุ่มนี้ ขณะที่พื้นที่เช่าใหม่สำหรับค้าส่งอาหาร คาดว่าจะเริ่มทยอยให้บริการได้ตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน 2566

ความหวังของ “AEC Food Wholesale Pratunam” นั้นคือการปล่อยเช่าพื้นที่เช่าให้เต็ม โดยจะไม่มีการคิดค่าคอมมิชชั่นจากยอดขายทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เพราะต้องการจะดึงดูดผู้เช่ามาสร้างระบบนิเวศให้เป็นศูนย์ค้าส่งอาหารของภูมิภาคได้อย่างแท้จริง

]]>
1427862
ทำไม AWC ต้องยกเครื่อง “พันธุ์ทิพย์” เป็นศูนย์ค้าส่ง ปิดฉาก 36 ปี ห้างไอทีในตำนาน https://positioningmag.com/1303992 Mon, 02 Nov 2020 13:01:33 +0000 https://positioningmag.com/?p=1303992 ย้อนกลับไปเมื่อปี 2527 จุดเริ่มต้นของยุครุ่งโรจน์ของพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า” ห้างใหญ่ย่านประตูน้ำที่ใครๆ ก็นึกถึง ด้วยดีไซน์ทันสมัยมากๆ (ในยุคนั้น)

เมื่อ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี แห่งทีซีซี กรุ๊ป ได้เข้ามาซื้อกิจการต่อในปี 2530 “พันธุ์ทิพย์ พลาซ่าได้รับการปรับภาพลักษณ์ใหม่ให้เป็นเเลนด์มาร์กของคนไอที ใครจะซื้อคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก มือถือ อุปกรณ์ต่างๆ ก็ต้องชวนกันไปดูของที่นั่น เป็นห้างไอทีในตำนานที่มีชื่อติดลมบน จนเป็นหนึ่งในเพลงของวงร็อคชื่อดังอย่าง LOSO

จากประตูน้ำ ได้ขยายสาขาไปยังพันธุ์ทิพย์ บางกะปิ และพันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน กลายเป็นต้นเเบบ “ไอทีมอลล์ในเมืองไทย ที่มีห้างอื่นๆ แห่เปิดตามกันในเวลาต่อมา

ในปี 2559 “พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำขยับอีกครั้งด้วยคอนเซ็ปต์ใหม่เทคไลฟ์ มอลล์ตามความนิยมของยุคสมัยที่ยังเน้นความเป็นแหล่งเทคโนโลยี เเต่มีการเพิ่มสินค้าไลฟ์สไตล์เข้ามา เช่นโซนพระเครื่องก็ได้รับความนิยมไม่น้อย นอกจากนี้ยังมีโซน Co-working Space สำหรับผู้ประกอบการ และสตาร์ทอัพให้มีมุมทำงานนอกออฟฟิศ รวมถึงเจาะตลาดเกมเมอร์สร้าง E-Sport Arena บุกเรื่องอีสปอร์ตอย่างจริงจัง

เเต่หลายทศวรรษผ่านไป ต้องยอมรับว่าค้าปลีกไอทีไม่มีวันเหมือนเดิม เราสามารถเลือกซื้อสินค้าได้ผ่านปลายนิ้วคลิก หมดยุคการเดินไปเลือกซื้อตามตึกคอม เมื่อสินค้าสเปกดี ราคาถูกลงนั้นเข้าถึงง่าย  มีให้เลือกซื้อใกล้บ้านส่งเร็ว ผู้คนไม่นิยมประกอบคอมเองอีกต่อไป จึงถึงเวลาที่ห้างไอทีเก่าเเก่ต้องปรับตัวไปจนถึงขั้นเปลี่ยนธุรกิจไปเลย

ภาพของศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ หลังการปรับเป็น “เทค-ไลฟ์ มอลล์” ในปี 2559

ทำไมต้องเป็นศูนย์ค้าส่ง ?

มาถึงในปี 2563 ครบ 36 ปีที่ห้างไอทีในตำนาน ต้องปิดฉากลงเเล้ว

ก่อนหน้านี้ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ผู้บริหารพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำออกมาส่งสัญญาณว่า จะมีการยกเครื่องใหม่ เมื่อการเป็นห้างไอทีอยู่ยากเเล้วในยุคนี้

ล่าสุด ศูนย์ไอทีย่านประตูน้ำ กำลังจะเเปลงร่างเป็นศูนย์ค้าส่งที่ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการค้าปลีกเเห่งอาเซียน ด้วยช่องว่างในตลาดที่ยังมีโอกาสอยู่มาก เเละยังไม่มีศูนย์ค้าส่งใหญ่ๆ ในไทย

โดย AWC ได้ประกาศเปลี่ยนพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ สู่ธุรกิจ Wholesale ด้วยคอนเซ็ปต์ ศูนย์กลางการค้าส่งนานาชาติครบวงจรของอาเซียน ที่มีชื่อว่า AEC TRADE CENTER – PANTIP WHOLESALE DESTINATION ซึ่งกำลังจะเปิดให้บริการในวันที่ 26 พฤศจิกายน นี้ โดยใช้งบลงทุนกว่า 300 ล้านบาทในการปรับพื้นที่ วางระบบอาคารเเละการขนส่งต่างๆ เพื่อรองรับการเป็นศูนย์ค้าส่งแห่งใหญ่ใจกลางเมือง ด้วยพื้นที่รวมกว่า 30,000 ตร..

โดยชื่อเต็มๆ ของ AEC TRADE CENTER – PANTIP WHOLESALE DESTINATION มาจากการรวมคำที่เป็น “Keyword” ของธุรกิจ เพื่ออธิบายถึงความเป็นอาเซียนด้วยคำว่า AEC ตามด้วยความเป็นศูนย์ค้าส่ง – TRADE CENTER เเละคำว่า WHOLESALE ซึ่งยังคงคำว่า PANTIP (พันธุ์ทิพย์) ไว้เพราะเป็นชื่อที่คุ้นหูผู้คนมานาน ส่วนคำว่า DESTINATION นั้น อธิบายถึงคอนเซ็ปต์ของรีเทลยุคใหม่ที่ต้องปรับเป็นจุดหมายที่รวมความน่าสนใจของสินค้าและบริการต่างๆ ไว้ 

อย่างไรก็ตาม ชื่อใหม่ของ “พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ ดูจะยาวเเละ “จำยาก” ไปเสียหน่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้อง “รีเเบรนด์ใหม่” เเละลบภาพจำห้างไอทีดั้งเดิม ซึ่งอาจจะมีผลต่อการขยายการรับรู้อยู่ไม่น้อย 

ปรับโฉมใหม่เป็น AEC TRADE CENTER – PANTIP WHOLESALE DESTINATION ซึ่งจะเปิดให้บริการในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563

วัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) เล่าว่า ศูนย์ค้าส่งเเห่งนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนคนไทย ทั้งผู้ผลิต ผู้ส่งออกและนำเข้าสินค้า เป็นโอกาสที่จะขยายตลาดขายสินค้าให้กลุ่มลูกค้าใหม่ ได้ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่มีความนิยมสินค้าไทยสูงมาก

“ย่านประตูน้ำมีชื่อเสียงด้านค้าส่งอยู่เเล้ว เเละตอนนี้เมืองไทยยังไม่มีธุรกิจค้าส่งขนาดใหญ่ที่มีทำเลอยู่ใจกลางกรุงเทพ AWC จึงมองว่าโอกาสที่ดีที่จะปั้นพันธุ์ทิพย์ให้กลายเป็นศูนย์กลางการค้าส่งนานาชาติ” 

โดยศูนย์ค้าส่งแห่งนี้ จะเชื่อมโยงการส่งออกและนำเข้าสินค้าของภูมิภาคผ่านโครงการ AEC TRADE CENTER ประตูน้ำพระอินทร์ที่มีทำเลขนาด 160 ไร่ ในตำบลเชียงรากน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาเพิ่มเติม วางเเผนจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงต้นปี 2564 นี้

หลังจากนั้น AWC มีเเผนจะขยายไปยังพื้นที่ชายแดนของประเทศไทย ซึ่งขณะนี้มีที่ดินเรียบร้อยแล้ว เหลือแค่การก่อสร้างเท่านั้น เเต่จะสร้างเมื่อไรนั้นต้องรอดูสถานการณ์ก่อน

วัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC

อัดโปรใจป้ำ “ให้เช่าฟรี 6 เดือน” 

อนันต์ ลาภสุขสถิต หัวหน้ากลุ่ม Wholesales Business Officer บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป เสริมว่า ธุรกิจค้าส่งเป็นรูปเเบบธุรกิจที่เข้ากับย่านประตูน้ำ ที่มีทั้งสินค้าเสื้อผ้าเเฟชั่น เเละศูนย์ไอทีค้าส่งอยู่เเล้ว

“AEC TRADE CENTER เป็นโมเดลทดลองธุรกิจใหม่ของ AWC ที่ต้องการช่วยเหลือคนไทย เรายังมีที่ดินอีกจำนวนมากที่จะสานต่อธุรกิจนี้ให้เป็นศูนย์กลางค้าส่งในภูมิภาค

หากดูจากความนิยมของมหกรรม Thaifex งานแสดงนวัตกรรมสินค้าอาหารและเครื่องดื่มของไทย ที่มีผู้ซื้อจากทั่วโลกเดินทางมาทำ Business Matching ในงานจำนวนมาก เเต่ติดปัญหาว่ามีเวลาเเค่ 4 วันเช่นเดียวกับงาน STYLE Bangkok แหล่งสินค้าไลฟ์สไตล์ ซึ่งจัดปีละครั้ง ก็มีผู้สนใจร่วมงานจำนวนมาก เเต่ผู้ส่งออกยังไม่มีหน้าร้านเเสดงสินค้าเเบบถาวร

เหล่านี้เป็น Pain Point ที่ทาง AEC TRADE CENTER ต้องการเข้ามาแก้ไขเเละวางคอนเซ็ปต์ห้างพันธุ์ทิพย์ใหม่ให้เป็นศูนย์กลางการค้าส่งแบบวันสต็อปครบวงจรใจกลางกรุงเทพฯ แห่งแรกของไทย ช่วยให้คู่ค้าสามารถเจรจาธุรกิจได้ตลอด 365 วัน สร้างโอกาสสำคัญให้คู่ค้าได้มาสรรหา (Sourcing) สินค้าในพื้นที่เดียวประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลา เข้ากับการค้าขายในยุค New Normal

เบื้องต้น AEC TRADE CENTER – PANTIP WHOLESALE DESTINATION จะมีการคัดเลือกผู้ประกอบการที่จะเข้ามาขายสินค้า โดยเน้นผลักดันให้มีสินค้าจากผู้ผลิตต้นน้ำที่มีคุณภาพ เเละมีความหลากหลาย เช่น เฟอร์นิเจอร์อุปกรณ์ตกแต่งภายใน ของเล่น ของชำร่วย เครื่องเขียน ของขวัญ ของตกแต่งบ้าน นวัตกรรมการพิมพ์ ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่แสดงสินค้า และศูนย์ SMEs Service Solution (SSS) ซึ่งจะมีสตูดิโอถ่ายภาพเพื่อให้ผู้ค้าสามารถใช้บริการถ่ายทอดสดออนไลน์ (Live Streaming) ห้องประชุม และสัมมนาขนาดย่อม พื้นที่ให้บริการคำปรึกษาด้านธุรกิจ ที่จะเชื่อมโยงกลุ่มผู้ซื้อ ทั้งผู้ผลิต ผู้ส่งออก และผู้นำเข้าสินค้า ทั้งภายในประเทศ ระหว่างภูมิภาค และทั่วโลก

ในเฟสแรกคาดว่าจะมีร้านค้าเข้ามาทั้งสิ้น 300 ร้านค้า ซึ่ง AWC มีโปรโมชันดึงดูดใจอย่างการไม่คิดค่าเช่านาน 6 เดือนจากปกติพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำจะมีค่าเช่าตั้งเเต่ 800-7,000 บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือน เลยทีเดียว

มีการประเมินว่า โปรโมชันให้เช่าฟรี 6 เดือนในครั้งนี้คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 300 ล้านบาท ดังนั้นเมื่อรวมกับการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของอาคารตามที่กล่าวมาข้างต้นอีก 200 กว่าล้านบาท รวมๆ เเล้ว AWC ทุ่มใช้งบไปกับโครงการนี้ถึง 500 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ยังมีผู้เช่าเดิมเหลืออยู่บางส่วนราว 10-15% ซึ่งจะมีการดูเเลเเละพูดคุยกันต่อไป โดยอาจจะต้องพัฒนาไปขายในรูปแบบค้าส่ง จากนั้นไตรมาสแรก ปี 2564 จะเปิดเต็มพื้นที่ทั้งอาคารกว่า 50,000 ตารางเมตร คาดทั้งโครงการจะมีผู้เช่าเต็มพื้นที่ราว 500 ร้านค้า โดยได้ลงนามกับสมาคมการค้า 11 แห่งในไทย เพื่อดึงดูดสมาชิกของหอการค้าฯ ที่มีอยู่ถึง 1 เเสนรายให้เข้ามาตั้งร้านค้าต่อไป

ตั้งเป้าเงินสะพัด “พันล้าน” ต่อเดือน เเม้เปิดช่วง COVID-19 

เเม้การค้าขายในโลกทุกวันนี้ จะปรับไปสู่เเพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเเล้ว ตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ซึ่งก็ถือเป็นหนึ่งในความท้าทายของธุรกิจ “ค้าส่ง”

โดยผู้บริหาร AWC มองว่า อย่างไรเเล้วการค้าปลีกก็ต้องควบคู่กันไปเเบบ “ออนไลน์-ออฟไลน์” การซื้อสินค้าน้อยชิ้นสั่งออนไลน์ได้ เเต่หากต้องซื้อในรูปเเบบค้าส่ง การสั่งซื้อ “บิ๊กล็อต” ระดับเเสนบาทขึ้นไป ก็ยังมีความจำเป็นที่คู่ค้าต้องเห็นและสัมผัสสินค้าจริง รวมไปถึงการเจรจาต่อรองเเบบเจอหน้ากัน เพื่อสร้างความมั่นใจของทั้งสองฝ่าย

“ในเฟสแรก เราหวังว่าจะมีมูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ราว 1,000 ล้านบาทต่อเดือน เเม้ตอนนี้จะมีเเต่ลูกค้าคนไทยเป็นหลัก เเต่บริษัทต่างๆ น่าจะมาซื้อของเพื่อจัดเทศกาลปีใหม่กันเยอะ หากอนาคตมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากขึ้น ก็คาดว่าจะเห็นเงินสะพัดถึง 4,000-5,000 ล้านบาทต่อเดือน” 

นอกเหนือจากช่องทางออฟไลน์แล้ว ยังเตรียมที่จะเปิดตัวแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เป็นทั้งเว็บไซต์เเละเเอปพลิเคชัน ภายใต้ชื่อ ‘ฟีนิกซ์บ็อก’ (Phenixbox) ซึ่งจะช่วยให้ร้านค้าสามารถติดต่อกับคู่ค้าต่างประเทศได้ทุกช่องทาง คาดว่าจะเปิดตัวในเฟส 2 ช่วงต้นปีหน้า

เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเติบโตได้ในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะใน CLMVT (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย) และจีน บริษัทได้ร่วมมือกับความร่วมมือกับ Zhejiang China Commodities City Group Co., Ltd. (CCC Group) รัฐวิสาหกิจผู้พัฒนาและบริหารตลาดค้าส่งสินค้าเบ็ดเตล็ดที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากเมืองอี้อู (Yiwu) ประเทศจีน จัดศูนย์แสดงสินค้า Yiwu Selection Thailand Showcase” และศูนย์ให้บริการด้านการส่งออกไปยังจีนใน IC Mall” เชื่อมโยงช่องทางการตลาดให้แก่ผู้ส่งออกไทยที่ต้องการจะส่ง
ออกสินค้าไปยังประเทศจีนด้วย 

ผู้บริหาร AWC มองว่า สิ่งสำคัญตอนนี้คือ ปลุกปั้นให้ AEC TRADE CENTER เป็นที่รู้จักในวงกว้างก่อน โดยหัวใจของศูนย์ค้าส่ง คือ “การขายของได้” ดังนั้นหากผ่านช่วงโปรโมชันไม่คิดค่าเช่า 6 เดือนไปแล้ว ยังมีผู้เช่าอยู่ต่อ เเละเพิ่มขึ้นในระดับที่วางไว้…ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว

ต้องมาลุ้นกันว่า ก้าวใหม่ของ “พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า” สู่ศูนย์ค้าส่งระดับอาเซียน จะเป็นไปในทิศทางไหน เสียงตอบรับจะเป็นอย่างไร เมื่อยังคงมีอุปสรรครออยู่อีกมาก ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ไม่เเน่นอนหลังวิกฤต COVID-19 

 

]]>
1303992
ปิดฉาก “พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ” พลิกโฉมศูนย์ไอที สู่ศูนย์ค้าส่ง AEC Trade Center Pantip Pratunam https://positioningmag.com/1302056 Mon, 19 Oct 2020 08:16:26 +0000 https://positioningmag.com/?p=1302056 AWC ทุ่มงบ 300 ล้านบาท ยกเครื่อง “พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ” ศูนย์ไอทีแห่งใหญ่ในตำนาน ปรับโฉมสู่ AEC Trade Center Pantip Pratunam ศูนย์ค้าส่งแห่งใหญ่ใน AEC คาดเปิดเฟสแรกจำนวน 2 ชั้นในเดือนพฤศจิกายนนี้

ยุคสมัยเปลี่ยน รีเทลต้องเปลี่ยน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ” เป็นเดสติเนชั่นแรกๆ ที่คนไทยจะนึกถึงเมื่อต้องการซื้อหาสินค้าไอทีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก โทรศัพท์มือถือ ในช่วงหนึ่งพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำรุ่งเรืองสุดขีด เป็นแลนด์มาร์กที่คนไอทีต้องไป ถึงขนาดเข้าไปอยู่ในเพลง “พันธุ์ทิพย์” ของเสก โลโซ! และยังมีการขยายสาขาไปยังพันธุ์ทิพย์ บางกะปิ และพันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วานอีกด้วย

แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เราสามารถซื้อสินค้าไอทีได้ทั่วไป แม้กระทั่งอยู่บ้านก็สามารถซื้อได้ผ่านออนไลน์ ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่ห้าง หรือร้านอีกต่อไปแล้ว

พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ เริ่มมีการปรับปรุง ปรับโฉม ปรับคอนเทนต์ภายในศูนย์เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น เมื่อตอนปี 2016 ได้ปรับโฉมครั้งใหญ่ในคอนเซ็ปต์ “เทค-ไลฟ์ มอลล์” เป็นการรวมเรื่องเทคโนโลยี และเพิ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ รวมถึงโซนพระเครื่องที่ก็ได้รับความนิยม

พร้อมกับได้ยกระดับตามยุคสมัยในช่วงนั้น เพิ่มโซน Co-working Space สำหรับผู้ประกอบการ และสตาร์ทอัพให้มีมุมทำงานเล็ก รวมถึงเอาใจคอเกมด้วยการเนรมิต E-Sport Arena เรียกว่าสถานที่แห่งแรกๆ ที่บุกเรื่องอีสปอร์ต เป็นพื้นที่ให้คอเกมและนักกีฬา E-Sport อย่างจริงจัง

แต่การแข่งขันในวงการค้าปลีก แม้กระทั่งวงการสินค้าไอทีก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่สถานการณ์ของพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำก็เริ่มเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา หลายคนที่ต้องการซื้อสินค้าไอที ก็ไม่ได้มองพันธุ์ทิพย์เป็นเดสติเนชั่นหลักแล้ว เพราะสามารถหาซื้อที่ไหนก็ได้ หนำซ้ำกับสถานการณ์ค้าปลีกในประเทศไทยด้วยเช่นกัน ที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป หันไปซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น

จากศูนย์ไอที เป็นศูนย์ค้าส่ง

ลมหายใจเฮือกสุดท้ายของ “พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ” จึงได้หมดลง พร้อมกับการตัดสินใจในการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ในรอบ 36 ปีของการเปิดพันธุ์ทิพย์ ในการยกเครื่องศูนย์ไอทีขนาดใหญ่ย่านประตูน้ำ สู่ศูนย์ค้าส่ง AEC

กลุ่ม AWC หรือ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศเปลี่ยนพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ เป็น AEC Trade Center Pantip Pratunam ใช้งบลงทุนกว่า 300 ล้านบาทในการปรับพื้นที่ วางระบบต่างๆ เพื่อรองรับการเป็นศูนย์ค้าส่งแห่งใหญ่ใจกลางเมือง ด้วยพื้นที่รวมกว่า 30,000 ตร.ม.

สามารถรองรับผู้ค้ากว่า 500 ราย ในช่วงแรกนี้ยกเว้นค่าเช่าฟรี 6 เดือน จะเป็นศูนย์รวมค้าส่งสินค้าต่างๆ เช่น ไลฟ์สไตล์ อาหาร เครื่องปรุง สแน็ก สินค้ากลุ่มเวลเนส เคหภัณฑ์ อุปกรณ์ตกแต่งภายใน เป็นต้น ในราคาต้นทาง คาดว่าจะเปิดเฟสแรก 2 ชั้นเดือนพฤศจิกายนนี้ และเปิดครบต้นปีหน้า รวมทั้งช่องทางออนไลน์ด้วย

ล่าสุดกลุ่มธุรกิจค้าส่งได้ลงนามความร่วมมือกับองค์กรด้านการค้าการลงทุนระดับชาติของจีน 2 ฉบับ เมื่อวันศุกร์ที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา คือ

1. การลงนามกรอบความร่วมมือเชิงกลยุทธ์เพื่อเชื่อมโยงตลาดจีนและอาเซียนแบบครบวงจรผ่าน AEC Trade Center เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าส่งของภูมิภาค และเสริมความแข็งแกร่งให้ AEC Trade Center เป็นศูนย์รวมผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการค้าส่งระหว่างประเทศอย่างครบวงจร เป็นความร่วมมือกับ 3 พันธมิตรสมาคมพัฒนาการค้าการลงทุนของจีน ประกอบด้วย สมาคมผู้ส่งสินค้าแห่งประเทศจีน, สมาคมการลงทุนแห่งประเทศจีน และสมาพันธ์ธุรกิจภายใต้นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางและเขตการค้าเสรี

2. การลงนามความร่วมมือกับ Zhejiang China Commodities City Group Co., Ltd. (CCC Group) รัฐวิสาหกิจผู้พัฒนาและบริหารตลาดค้าส่งสินค้าเบ็ดเตล็ดที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากเมืองอี้อู (Yiwu) ประเทศจีน ในโครงการนำร่อง AEC Trade Center Pantip Pratunam ที่พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ ด้วยการจัดตั้งศูนย์แสดงสินค้าคุณภาพคัดสรร “Yiwu Selection Thailand Showcase” และศูนย์ให้บริการด้านการส่งออกไปยังประเทศจีน “IC Mall” เพื่อช่วยเชื่อมโยงช่องทางการตลาดให้แก่ผู้ส่งออกไทยที่ต้องการจะส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีน

]]>
1302056