ภาษีคริปโต – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 26 Jan 2022 05:31:52 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ‘คลัง’ ยันไม่เลื่อนเก็บ ‘ภาษีคริปโต’ เร่งสรุปเเนวทางเก็บภาษีหุ้น ‘เเบงก์ชาติ’ จ่อห้ามใช้สินทรัพย์ดิจิทัลชำระสินค้า https://positioningmag.com/1371736 Tue, 25 Jan 2022 11:35:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1371736
‘คลัง’ ยันไม่เลื่อนเก็บ ‘ภาษีคริปโต’ พร้อมเร่งสรุปเเนวทางเก็บ ‘ภาษีหุ้น’ ในลำดับต่อไป ด้านเเบงก์ชาติ จ่อออกกฏควบคุมการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลชำระสินค้าเเละบริการ 

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความกังวลของนักลงทุนในการจัดเก็บภาษีจากการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เรนซีว่า ขณะนี้กรมสรรพากรกำลังเร่งจัดทำแนวทางปฏิบัติในส่วนของการยื่นเสียภาษีเงินได้ของคริปโตฯ ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยจะเร่งให้เสร็จเรียบร้อยทันปีภาษีนี้ หรือภายในเดือนมกราคมนี้

ในปี 2564 ที่ผ่านมา ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีเม็ดเงินหมุนเวียนจำนวนมาก และเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด มีทั้งนักลงทุนในรูปแบบเดิม และนักลงทุนหน้าใหม่ เข้าไปลงทุนเป็นจำนวนมาก

จากการที่ภาคเอกชนได้ยื่นเสนอให้มีการยกเว้น 1-2 ปีนั้น ทางกระทรวงการคลัง ขอยืนยันว่า จะไม่มีการเลื่อนการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาออกไป เพราะถือเป็นเงินได้ที่เสียกันมาตั้งแต่กฎหมายบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2561 แล้ว โดยขณะนี้มุ่งหวังที่จะทำให้เกิดความเข้าใจ มีความชัดเจนของมาตรการภาษีดังกล่าวมากขึ้น

“การยื่นแบบเงินได้คริปโตเคอร์เรนซี ถือว่าเป็นการประเมินรายได้ของตัวผู้ยื่นแบบนักลงทุนเอง โดยปีนี้จะคาดว่าจะทำให้ชัดเจนขึ้นว่า รายได้ที่เกิดจากการซื้อขายมีจำนวนเท่าไหร่ มีการทำบัญชีแบบค่าเฉลี่ยอย่างไร เพื่อให้นักลงทุนและผู้ยื่นแบบภาษี มีการเสียภาษีในแบบฟอร์มได้ง่ายขึ้น โดยยังคงมีระยะเวลาในการยื่นแบบถึง 31 มี.ค. 2565 ซึ่งไม่ได้มีการเลื่อนเวลาเก็บภาษีออกไป”

ส่วนความคืบหน้าแนวทางการเก็บ ‘ภาษีหุ้น’ กระทรวงการคลังกำลังอยู่ในช่วงศึกษาเเละหารือ รับฟังความเห็นร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งตลาดหุ้น ก.ล.ต. โบรกเกอร์ นักลงทุน ฯลฯ

โดยในปัจจุบัน ประเทศที่มีตลาดหุ้นเกือบทุกประเทศมีการจัดเก็บภาษีหุ้นกันหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ หรือส่วนต่างกำไร หรือ Capital Gain ซึ่งในส่วนของประเทศไทย คาดว่าจะมีข้อสรุปรูปแบบการจัดเก็บภาษีที่ชัดเจนในเร็วๆนี้

ด้าน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยืนยันไม่สนับสนุนใช้ ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ เป็นช่องทางชำระเงิน โดยระบุว่า ปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้ขยายขอบเขตการประกอบธุรกิจในลักษณะให้บริการ ชักชวนหรือแสดงตน ว่าพร้อมจะให้บริการแก่ร้านค้าและผู้ประกอบการในธุรกิจต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น จัดทำระบบและโฆษณาเชิญชวนร้านค้า ซึ่งการที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในลักษณะดังกล่าว อาจส่งผลให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการเป็นวงกว้าง นอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวม

รวมถึงเป็นความเสี่ยงต่อประชาชนและธุรกิจ อาทิ ความเสี่ยงจากการสูญมูลค่าที่เกิดจากความผันผวนของราคา ความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หรือการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน

หน่วยงานกำกับดูแลต่างตระหนักถึงความเสี่ยงและผลกระทบดังกล่าว จึงพิจารณาใช้อำนาจตามกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าหรือบริการในวงกว้าง และจะมีแนวทางกำกับดูแลที่เหมาะสม สำหรับบริการที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลบางประเภทที่เป็นประโยชน์ต่อนวัตกรรมทางการเงินและไม่สร้างความเสี่ยงเชิงระบบที่กล่าวถึงข้างต้น

สำหรับร่างหลักเกณฑ์ห้ามมิให้ผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการนำทรัพย์สินดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ มี 6 ข้อ ดังนี้

1.ไม่โฆษณาเชิญชวนว่าพร้อมให้บริการแก่ร้านค้า ว่าสามารถรับชำระด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลได้
2.ไม่จัดทำระบบหรือเครื่องมืออำนวยความสะดวกแก่ร้านค้าเพื่อรับชำระด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล
3.ไม่ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (wallet) แก่ร้านค้าเพื่อรับชำระ
4.การขายสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเงินบาท ต้องโอนเข้าบัญชีตัวเองเท่านั้น
5.ไม่ให้บริการโอนสินทรัพย์ดิจิทัล / เงิน จากบัญชีของผู้ซื้อขาย ไปยังบัญชีรายอื่นหรือบุคคลอื่นใด เพื่อวัตถุประสงค์ของการรับชำระค่าสินค้าเเละบริการ
6.ไม่ดำเนินการอื่นใดที่จะเป็นการสนับสนุนหรือส่งเสริมการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลมาเป็นสื่อกลางการชำระค่าสินค้าและบริการ

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า ธปท. คำนึงถึงทั้งความเสี่ยงและประโยชน์ของสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงเทคโนโลยีเบื้องหลัง และมองว่า “ณ ขณะนี้การนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการอย่างแพร่หลายจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศ”

ดังนั้น จึงควรมีการกำกับดูแลที่ชัดเจน ขณะที่เทคโนโลยีและสินทรัพย์ดิจิทัลบางประเภทที่ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงดังกล่าวก็ควรได้รับการสนับสนุนโดยมีกลไกดูแลที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดนวัตกรรมและประโยชน์ต่อประชาชน

ขณะที่รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า จากการหารือร่วมกันกับ ธปท. และ กค. ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลควบคู่ไปกับการคุ้มครองผู้ซื้อขายอย่างเหมาะสม และให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จึงได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ต่อไป

.
]]>
1371736
สรุปดราม่า “ภาษีคริปโต” จ่ายเฉพาะส่วนกำไร แม้ผลรวมทั้งปีจะขาดทุนก็ตาม https://positioningmag.com/1369710 Thu, 06 Jan 2022 15:02:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1369710 ดราม่าภาษีคริปโตที่สร้างความวิตกกังวลต่อนักลงทุนอย่างมาก โดยเฉพาะนักลงทุนรุ่นใหม่ที่นิยมเข้าเทรดเหรียญคริปโตในกระดานเทรดทั้งไทย และต่างประเทศ ซึ่งเป็นกระแสที่ร้อนแรงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยล่าสุดทางกรมสรรพากรได้ประกาศเรียกเก็บภาษีคริปโตตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 นี้เป็นต้นไป ซึ่งจากการประกาศออกมาดังกล่าว ก่อให้เกิดข้อถกเถียงของนักลงทุนเหรียญคริปโตในโซเชียลมีเดียหลายแพลตฟอร์มต่อมาตรการ “ภาษีคริปโต 15%” ที่เกิดขึ้นอย่างเผ็ดร้อน

ล่าสุด สมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี และโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยมาตรการภาษีคริปโตผ่านทางรายการ The Morning Wealth ถึงแนวทางการจัดเก็บภาษีที่ได้จากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ คริปโต รวมไปถึง NFT และอื่นๆ

โดยระบุว่าการคิดคำนวณ และจัดเก็บภาษีนั้น เป็นการคิดจากฐานของภาษีเงินได้ ในการนำไปซื้อขาย หรือทำธุรกรรมคริปโตในทุกรายการ (transactions) ที่มีกำไรเป็นเงินสด เช่น ผู้เสียภาษีทำการแลกเปลี่ยนบนแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยน 10 รายการในปีนั้น โดยขายเหรียญได้กำไรเป็นเงินสด (THB) 5 รายการ รวม 2 แสนบาท แต่อีก 5 รายการ ขายเหรียญแล้วขาดทุน 5 แสนบาท

รวมทั้งปีผู้เสียภาษีขาดทุนจากการแลกเปลี่ยนรวม 3 แสนบาท ภาษี 15% นั้นก็จะต้องระบุเงินได้เพื่อเสียภาษีจากกำไร 2 แสนบาทอยู่ดี แม้ยอดรวมทั้งปีจะขาดทุน หรือแม้จะยังไม่ได้ถอนเงินบาทออกมาจากกระดานเทรดบนแพลตฟอร์มการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นก็ตาม เนื่องจากสรรพากรถือว่าการซื้อขายและกำไรเกิดขึ้นแล้ว แม้ว่านักลงทุนเจ้าของบัญชีเทรดนั้นจะยังไม่ได้ถอนเงินออกมาก็ตาม

Photo : Shutterstock

การที่กรมสรรพากรเตรียมที่จะนำ Big Data และ Data Analytic มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเส้นทางการเงิน และการลงทุนของนักลงทุน โดยหากผู้เสียภาษีอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเสียภาษีไม่ถูกต้อง ผู้เสียภาษีจะต้องยื่นเอกสารหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าการยื่นแบบเสียภาษี ถูกต้องตามความเป็นจริง หรือแสดงเงินได้น้อยกว่าความเป็นจริงหรือไม่

โดยหากจำนวนรายได้กำไรที่เกิดขึ้นจริงมากกว่าหรือที่เกิดขึ้นต่ำกว่า ก็ต้องชำระส่วนต่างที่เกิดขึ้นจากส่วนที่ขาดตกบกพร่องไป นอกจากนี้อาจต้องเสียดอกเบี้ยอีก 1.5% ต่อเดือน ในส่วนที่ยื่นขาด ซึ่งขณะนี้ทางสรรพากรกำลังประสานงานร่วมกับกระดานเทรดต่างๆ ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลการซื้อขาย รายได้ และกำไรของนักลงทุน เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำส่งข้อมูลภาษีของผู้ซื้อและผู้ขายให้กับกรมสรรพากร

การที่กรมสรรพากรเดินหน้าเรียกเก็บภาษี Capital Gain จาก “คริปโตเคอร์เรนซี” กรณีซื้อขาย-แลกเปลี่ยน รวมทั้งชำระค่าสินค้า-บริการ โดยกำหนดให้มีการเสียภาษีโดย หัก ณ ที่จ่ายจำนวน 15% ขณะเดียวกันผู้ที่ได้รับรางวัลจากการชิงโชคก็จะต้องเสียภาษีในส่วนนี้ด้วยในจำนวน 5%

นอกจากนี้ หากนักลงทุนมีการฝากเหรียญเพื่อกินดอกเบี้ยก็จะต้องมีการจ่ายภาษีจำนวน 15% อีกด้วยเช่นกัน และหากมีการรับมรดกยกเว้นภาษี ด้านนิติบุคคล ก็จะต้องยื่นจ่ายภาษีนี้ด้วย โดยผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึง วันที่ 31 มีนาคม 2565 โดยล่าสุดกรมสรรพากรได้สรุปแนวทางการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เกี่ยวกับคริปโตเคอร์เรนซี ไว้ดังนี้

Photo : Shutterstock

1. กรณีกำไรจากการขาย หรือแลกเปลี่ยนคริปโตเคอร์เรนซี (Capital Gain) ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ฌ) ผู้ขายมีหน้าที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ขณะที่ผู้ซื้อมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15%

2. กรณีนำคริปโตเคอร์เรนซี ไปชำระค่าสินค้าหรือบริการ โดยมูลค่ามากกว่าตอนที่ได้มา ถือเป็นเงินได้ตาม 40 (4) (ฌ) ผู้ที่ชำระค่าสินค้า หรือบริการด้วยคริปโตเคอร์เรนซี มีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ขณะที่ผู้รับชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยคริปโตเคอร์เรนซี มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15%

3. กรณีได้รับจากการให้โดยไม่มีค่าตอบแทน ถือเป็นเงินได้ตาม 40 (8) แบ่งเป็น กรณีทั่วไปผู้ได้รับต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 และแบบ ภ.ง.ด.94 สำหรับกรณีนี้ผู้ให้ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ขณะที่บางกรณีเป็นเงินได้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้ว หรือ Final withholding tax และ กรณีได้รับยกเว้นภาษีไม่ต้องยื่นแบบ แต่ตอนขายต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ขณะที่ผู้ที่จ่ายรางวัลชิงโชคเป็นคริปโตเคอร์เรนซี 1,000 บาท ขึ้นไป มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย 5%

4. กรณีได้รับทางมรดก ถือเป็นเงินได้ตาม 40 (8) ตอนได้รับมรดก และตอนขาย ได้รับการยกเว้นภาษี ไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี

5. กรณีได้รับจากการทำงาน ถือเป็นเงินได้ทุกประเภท ผู้ได้รับมีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 และ ถ้ามีเงินได้ตามมาตรา 40 (5)-(8) ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 กรณีนี้อาจต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย

6. กรณีขุดเหรียญ (Mining) ถือเป็นเงินได้ตาม 40 (8) ผู้ขุดชนะ มีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 และ แบบ ภ.ง.ด.94

7. กรณีการฝากเหรียญเอาดอกเบี้ย (Staking) ถือเป็นเงินได้ตาม 40 (4) (ช) ผู้ฝากมีหน้าที่ต้องยื่น แบบ ภ.ง.ด.90 ตัวกลางรับแลกเปลี่ยน หรือ Exchange มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย 15%

Photo : Shutterstock

การจัดเก็บภาษีเงินได้จากกำไรจากการขายคริปโตเคอร์เรนซี ในส่วนของบุคคลธรรมดา จะแบ่งเป็น

1. เก็บตามแหล่งเงินได้ในประเทศ โดยการขายคริปโตฯ ในประเทศทุกรายการถ้ามีกำไร จะต้องเสียภาษี ตามมาตรา 40 (4) (ฌ)

2. เก็บตามแหล่งถิ่นที่อยู่อาศัย กรณีที่ขายคริปโตฯ ในต่างประเทศ และมีกำไร แล้วนำเงินกลับเข้ามาในประเทศ ในปีภาษีนั้นๆ ก็ต้องเสียภาษีเช่นกัน ถ้าอยู่เกิน 180 วัน และนิติบุคคลต้องเสียภาษีจากกำไรจากการขายคริปโตเคอร์เรนซีด้วย โดยสามารถนำไปคำนวณเป็นรายได้ รวมกับรายได้อื่น ๆ ถ้าหากมีกำไรก็ต้องเสียภาษี ในอัตราของนิติบุคคล

ขณะที่เหรียญคริปโตเคอร์เรนซีที่มีความร้อนแรงและกำลังเป็นที่จับตาจากทั้งนักลงทุนและ สำนักงาน ก.ล.ต. จากปริมาณการซื้อขายที่มีมากผิดปกติ และราคาที่พุ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้ง ส่วนของการซื้อขายเหรียญคริปโตแม้ว่าจะอยู่ภายใต้การบังคับใช้กฏหมาย ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ แต่ก็ไม่มีข้อบังคับในส่วนของ insider trading เหมือนเช่นกรณีที่เกิดกับการซื้อขายหุ้น

โดยเฉพาะ 3 เหรียญดังที่ปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงในปี 2564 ที่ผ่านมา โดยอันดับได้แก่

1. JFIN ราคาปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 7,092% นับจากวันที่ 1 ม.ค. 2564 ถึง 31 ธ.ค. 2564

2. KUB ราคาปรับขึ้น 1,312% นับจากวันที่ 21 พ.ค. 2564 ถึง วันที่ 31 ธ.ค. 2564

3. SIX ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3,500% นับจาก 1 ม.ค. 2564 ถึง 31 ธ.ค. 2564 โดยกำไรจากการขายจะต้องนำไปยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ และต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15%

ทั้งนี้ การที่กรมสรรพากรกำหนดให้แจ้งเงินได้จากกำไรจากการขายคริปโตเคอร์เรนซี และสินทรัพย์ดิจิทัลต่าง ๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ระบุให้เก็บภาษีจากกำไรจากการขายสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ที่ผ่านมารูปแบบการยื่นภาษีออนไลน์ยังไม่มีความชัดเจน จึงได้มีการปรับรูปแบบใหม่ให้เห็นชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันผู้เสียภาษีจำนวนมากมีเงินได้และกำไรจากการขายสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวเพิ่มขึ้น

สำหรับการตรวจสอบการเสียภาษีเงินได้ที่มาจากกำไรจากการขายคริปโตเคอร์เรนซี หรือสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นไปตามหลักปฏิบัติปกติของกรมสรรพากร ซึ่งผู้เสียภาษีมีหน้าที่ประเมินตัวเอง และต้องแจ้งข้อมูลรายได้ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่ามีเงินได้จากทางไหนบ้างให้ครบถ้วน

Source

]]>
1369710