มากุโระ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 24 Dec 2024 13:01:54 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เพราะคนไทยขี้เบื่อ เปลี่ยนร้านอาหารบ่อย “มากุโระ” ส่งแบรนด์ “CouCou” จับทาร์เก็ตใหม่ https://positioningmag.com/1504793 Tue, 24 Dec 2024 11:55:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1504793 เพราะคนไทยมีนิสัยขี้เบื่อ และพร้อมเปลี่ยนร้านอาหารตลอดเวลา เพื่อเฟ้นหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ทำให้ “มากุโระ” (MAGURO) ที่สร้างชื่อจากอาหารญี่ปุ่น ต้องแตกแบรนด์ใหม่ ทั้งอาหารตะวันตก และร้าน ทงคัตสึโดยเฉพาะ รองรับดีมานด์ผู้บริโภคหลากหลายขึ้น!

ลุยร้านอาหารใหม่ เพิ่มความเร็วในการเติบโต

นายจักรกฤติ สายสมบูรณ์ กรรมการบริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท มากุโระ  กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า พฤติกรรมผู้บริโภคปัจจุบันพร้อมเปลี่ยนร้านรับประทานอาหารได้ในทุกวัน เพราะมีอินไซต์ชอบลองประสบการณ์แตกต่าง และความวาไรตี้

สังเกตได้จากอาหารบางเซกเมนต์มีการดรอปลง แต่เมื่อมีแบรนด์หนึ่งเข้ามาปลุกกระแส การรับประทานมิติใหม่ ๆ ก็สามารถจุดพลุกลับมาเป็นฮอตฮิตได้

นี่คือจุดสำคัญที่ “มากุโระ เริ่มแตกแบรนด์ใหม่ และไปสู่ตลาดใหม่ เพื่อเพิ่มความเร็วการเติบโต” เมื่อคนเบื่ออาหารญี่ปุ่น ก็สามารถเพิ่มทางเลือกอื่น ๆ ให้ผู้บริโภคได้ โดยไม่แย่งลูกค้ากับแบรนด์เดิมที่มีอยู่ และยิ่งส่งเสริมความแข็งแกร่งให้กันและกัน

CouCou-Tonkatsu AOKI กลยุทธ์เติบโตใหม่ของมากุโระ

ส่งผลให้บริษัทฯ เปิดร้านอาหาร 2 แบรนด์ใหม่ ขยายฐานผู้บริโภคกว้างขึ้น จากเดิมเน้นหนักไปทางอาหารญี่ปุ่นและเกาหลี ได้แก่

1.CouCou (คุคูว์) เน้นอาหารสไตล์ตะวันตก รูปแบบ All Day dining มีทั้งเมนูอาหารเช้า-ค่ำ และเมนูสุขภาพ พร้อมกับมีจุดเด่น คือ Specialty Coffee โดยเปิดตั้งแต่เวลา 08.00-22.00 น.

“แต่ก่อนทางเลือกมื้อเช้า จะมีเพียงโจ๊ก และข้าวเหนียวหมูปิ้ง แต่ขณะนี้เพิ่มทางอาหารเช้าแบบจริงจังได้ โดยนำร่องสาขาแรก The Flavorhood ประดิษฐ์มนูธรรม ตั้งอยู่ข้าง ๆ ร้านมากุโระ และชาบูฮิโตริ“

2.Tonkatsu AOKI (ทงคัตสึ อาโอกิ) ร้านหมูทอดทงคัตสึร้านดัง จากประเทศญี่ปุ่น เปิดวันที่ 20 ธ.ค. 67 สาขาแรกเซ็นทรัลเวิลด์

สร้างปรากฏการณ์คิวยาวสูงสุด 200-300 คิว ใช้เวลารอคิวประมาณ 3 ชั่วโมงแล้ว ยอดขายเฉลี่ยต่อบิลสูงกว่าที่คาดไว้ 50-60% ซึ่งตลาดทงคัตสึในประเทศไทยยังมีผู้เล่นน้อย แต่ดีมานด์กว้างมาก

ทำให้บริษัทฯมั่นใจว่า การเปิดสาขาเพิ่มอีก 3-4 สาขา ของ Tonkatsu AOKI (ทงคัตสึ อาโอกิ) จะช่วยการสร้างการเติบโตให้บริษัทฯได้ตามแผน

“นอกจาก 2 แบรนด์ใหม่จะเติมเต็มพอร์ตฯ ร้านอาหารให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ยังทำอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin : GMP) เกือบ 50% สูงกว่าแบรนด์เดิมที่มากุโระมีอยู่”

เตรียมงบ 150-200 ล้านบาท ขยายสาขาเพิ่ม จ่อปั้น 2 แบรนด์ใหม่เพิ่ม

นายเอกฤกษ์ แสงเสรีดำรง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท มากุโระ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปี 2567 ได้ขยายสาขาร้านอาหาร 13 แห่ง คือ CouCou 1 สาขา, Tonkatsu AOKI 1 สาขา, ชาบูฮิโตริ 6 สาขา และมากุโระ 5 สาขา

โดยตั้งเป้าปีนี้จะทำรายได้ 1,300 ล้านบาท เติบโต 30% จากปี 2566 ที่ทำรายได้ 1,040 ล้านบาท

สำหรับปี 2568 เตรียมขยายร้านอาหารเพิ่มอีกราว ๆ 13 แห่งเช่นกัน ใน 5 แบรนด์ วางงบประมาณการก่อสร้างไว้ 150-200 ล้านบาท เน้นเปิดทำเลรอบกรุงเทพที่มีศักยภาพสูง อาทิ กรุงเทพกรีฑา

และอนาคตอาจนำแบรนด์ออกต่างจังหวัดครั้งแรก เน้นทำเลหัวเมืองใหญ่ อาทิ ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ แต่คงยังไม่ใช่ปีหน้า ขอทำการตลาดศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคให้ละเอียดเสียก่อน

นอกจากนี้ ยังเตรียมทำแบรนด์ใหม่เพิ่มอีก 2 แบรนด์ โดยแบรนด์แรกจะเป็นการปั้นร้านใหม่ขึ้นมาเอง ส่วนอีกแบรนด์จะเป็นการขอไลเซ่นส์จากต่างประเทศ

ร้านอาหารปี 68 รับความท้าทายเศรษฐกิจ

สำหรับความท้าทายด้านเศรษฐกิจ มากุโระ ผ่านจุดเลวร้ายที่สุดมาแล้ว เมื่อปี 2563-2564

ปี 2568 ประเมินว่าตลาดร้านอาหารกระทบแน่นอน จากการประกาศปิดร้านอาหารจำนวนมาก แต่ก็มีร้านเปิดใหม่เยอะเช่นกัน ส่วนกลุ่มที่กระทบน่าจะเป็นกลุ่มซูเปอร์พรีเมียม ที่ผู้บริโภคอาจจะลดค่าใช้จ่ายลง และกลุ่มล่างที่เผชิญปัญหาด้านกำลังซื้อ

ส่วนกลุ่มพรีเมียม-แมส ที่มากุโระอยู่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ทำให้คาดการณ์ว่าปี 2568 บริษัทฯ จะทำรายได้เติบโตได้ราว ๆ 30% จากการขยายสาขาเดิม และเปิดแบรนด์ใหม่ หากไม่มีปัจจัยเหนือการควบคุมมาสะเทือน อาทิ เศรษฐกิจตกต่ำขั้นสุด โรคระบาด การเมือง

]]>
1504793
ปรับให้ไวในช่วงวิกฤต ถอดกลยุทธ์ MAGURO พาธุรกิจ “ร้านอาหารญี่ปุ่น” ผ่าน COVID-19 https://positioningmag.com/1287409 Mon, 13 Jul 2020 09:38:08 +0000 https://positioningmag.com/?p=1287409 การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบโดยตรงกับ “ธุรกิจร้านอาหาร” ทั้งเรื่องรายได้ การดำเนินงาน เงินทุนสำรอง พนักงานเเละปรับปรุงร้านใหม่ให้มีความปลอดภัย รองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในยุค New Normal รวมถึงตัองปรับกลยุทธ์ไปมุ่งให้บริการเดลิเวอรี่มากขึ้น

เเต่ฟู้ดเดลิเวอรี่ ก็ไม่ได้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้คนได้ทั้งหมด เมื่อ “บรรยากาศ” ยังคงเป็นเสน่ห์สำคัญของร้านอาหาร 

อย่างที่ทราบกันดีว่า “ร้านอาหารญี่ปุ่น” มีจุดเด่นอยู่ที่บรรยากาศเเละการได้ใกล้ชิดเชฟ เป็นวัฒนธรรมการทานอาหารที่ได้พบปะพูดคุย สังสรรค์กับครอบครัวเพื่อนฝูง เเต่เมื่อต้องเจอผลกระทบจาก COVID-19 ก็สั่นสะเทือนวงการนี้มากทีเดียว ขณะเดียวกันลูกค้าบางรายก็มีความกังวลเรื่องอาหารดิบอย่าง “ซูชิ-ซาชิมิ” ด้วย 

ที่ผ่านมา ร้านอาหารญี่ปุ่นในไทย ถือว่ามีการเติบโตต่อเนื่อง เเม้จะเจอคู่เเข่งที่มาเเรงอย่าง “ร้านอาหารเกาหลี” จากข้อมูลขององค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) พบว่า ในปี 2019 ร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3,637 ร้าน เติบโตถึง 21% โดยไทยมีร้านอาหารญี่ปุ่นมากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน เเละติด Top10 ประเทศที่มีร้านอาหารญี่ปุ่นมากที่สุดของโลก

การปรับตัวของร้านอาหารญี่ปุ่นในไทย เป็นไปอย่างไรในยุค New Normal วันนี้ Positioning ได้มีโอกาสพูดคุยกับ เอ๊ะ–รณกาจ ชินสำราญ หนึ่งใน 4 ผู้ก่อตั้งเเละผู้บริหารร้าน MAGURO (มากุโระ) ถึงเเนวคิดเเละกลยุทธ์ธุรกิจร้านอาหาร การพลิกหาโอกาสใหม่ในช่วงวิกฤต รวมถึงการสร้างความมั่นใจเพื่อดึงดูดลูกค้าให้กลับมา “ทานที่ร้าน” อีกครั้ง

MAGURO เป็นเเบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นที่เปิดมา 5 ปีเเล้ว จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของกลุ่มเพื่อน 4 คนที่ชื่นชอบในอาหารญี่ปุ่น เเละประทับใจในความพิถีพิถันของการปรุงประกอบอาหารจึงอยากนำประสบการณ์เหล่านั้นมาถ่ายทอดให้คนไทย ขณะเดียวกันก็มองเห็นช่องว่างตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นเเบบ “พรีเมียมเเมส” ที่ยังไม่ค่อยมีคู่เเข่งมากนักในขณะนั้น 

ปัจจุบัน MAGURO ค่อยๆ เติบโต โดยเน้นการเปิดสาขาในเเถบชานเมืองก่อนเเล้วจึงรุกเข้าตีตลาดกลางใจเมือง ซึ่งล่าสุดเปิดให้บริการทั้งสิ้น 8 สาขาเเละมีผู้ติดตามใน เพจเฟซบุ๊ก ถึง 4.5 เเสนราย

รณกาจ เล่าว่า ตั้งเเต่เริ่มมีการระบาดของ COVID-19 ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ทางร้านต้องปรับกระบวนทัศน์กันทุกๆ 3 วัน เพราะตอนนั้นยังไม่รู้ทิศทางว่าจะไปทางไหน ทั้งผู้ประกอบการเเละลูกค้า มีจุดที่เกิดความเครียดจนบอกใครไม่ได้ เเต่ช่วงหลังสถานการณ์เริ่มนิ่งขึ้น ผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตเเบบเดิม ทำให้มองเห็นโอกาสของธุรกิจ

โดยช่วงหลังคลายล็อกดาวน์ให้ร้านอาหารในช่วงเเรกๆ ผู้คนยังมีความลังเลอยู่ ห้างชานเมืองจะมีเดินเยอะกว่าห้างในโซนใจกลางเมือง เเต่เมื่อผ่านไปเพียงหนึ่งสัปดาห์ ทุกอย่างก็กลับมาเเทบจะเป็นปกติ เพราะลูกค้ามั่นใจมากขึ้น เช่นในช่วงปลายเดือนที่เงินเดือนออก ผู้คนก็จะออกมากินอาหารอร่อยๆ กันจนต้องต่อคิวเพราะอัดอั้นมานานหลายเดือน บ่งชี้ได้ว่ากำลังซื้อภายในประเทศกำลังเริ่มกลับมาอย่างเห็นได้ชัด

ปรับให้ไวในช่วงวิกฤต : บาดเจ็บเเน่นอน เเต่ต้องรอดให้ได้

ก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤต COVID-19 ทาง MAGURO เคยวางเเผนว่าจะเปิดสาขาใหม่ในปีนี้ถึง 4 สาขา ถึงขั้นตกลงจะเซ็นสัญญากันเเล้ว โดยมีการพูดคุยจริงจังมาตั้งเเต่เดือนมกราคม พอเกิดการเเพร่ระบาดขึ้นมา จึงทำให้บริษัทต้องชะลอเเผนดังกล่าวไปก่อนในระยะ 6 เดือนถึง 1 ปี

“ยังไงเราก็ต้องลงทุนต่อ ยังไงเราก็ต้องเดิบโต ไม่ว่าเจออุปสรรคอะไรก็ตาม” 

เขาบอกว่า ตอนนั้นมองวิกฤตเป็น 2 มุมคือ เป็นจังหวะที่ต้องปรับตัวให้เร็ว ทำอย่างไรให้ไปต่อได้เเละทำงานได้เร็ว ยอมรับว่าต้อง “บาดเจ็บเเน่นอน เเต่ต้องรอดให้ได้” จึงมีการเตรียมเเผนรับผลกระทบมาตั้งเเต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 

“ณ เวลานั้น มองว่าทุกวิกฤตมีโอกาส ต้องปรับตัวทันที เเม้จะทำงานด้วยความกังวล เเต่ความกังวลนั้นทำให้เราก้าวไปในทิศทางอื่นได้เร็ว” 

โดยสิ่งที่ MAGURO ปรับตัวเริ่มจากเรื่องพื้นฐานที่ทำกันทุกธุรกิจ คือ ปรับให้องค์กรขนาดเล็กลง เเต่พยายาม Lay-Off พนักงานให้น้อยที่สุดเเบบ “ครั้งเดียวจบ” จากนั้น ประคองเรื่องการเงินของบริษัท โดยมองความเสี่ยงเป็น Worst-Case Scenario ว่าถ้าสมมติขาดทุนเยอะที่สุดจะต้องอยู่ให้ได้ถึงสิ้นปี เริ่มวางเเผนล่วงหน้าไปถึงต้นปีหน้า โดยให้ความสำคัญคือเงินทุนสำรอง การบริหารต้นทุน ทั้งพนักงานเเละวัตถุดิบ 

โจทย์ข้อต่อไปคือ รุกเดลิเวอรี่ โดยมาจากวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคว่าเมื่อต้องอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ พวกเขาเหล่านั้นจะทำอะไร…คำตอบคือต้องสั่งอาหาร “เดลิเวอรี่” จึงประชุมทั้งทีมว่า MAGURO ต้องหันมาทำเดลิเวอรี่ให้เต็มที่ 

การออกเมนู Mini Yaki B Chirashi Box เพื่อส่งเสริมการขายผ่านช่องทางเดลิเวอรี่

อย่างไรก็ตาม การส่งเดลิเวอรี่ไม่ได้ตอบโจทย์ทั้งหมด เพราะเสน่ห์ของการทานอาหารญี่ปุ่นเเบบพรีเมียม ที่นอกเหนือจากรสชาติเเละความสดใหม่เเล้ว ก็คือการได้ดื่มด่ำกับบรรยากาศการสังสรรค์ที่มีความสนุกสนานเเละความสุข 

“การส่งเดลิเวอรี่ต้องมาเเน่ๆ เเต่มาเพื่อช่วงประคองธุรกิจในอยู่รอด เเต่เราต้องทำอย่างอื่นควบคู่ไปด้วย นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ MAGURO มองหา New Business หาเงินก้อนใหม่ที่จะมาช่วยประคองธุรกิจอีกทาง โดยต้องเป็นสิ่งที่คนให้ความนิยมเเละทำได้ในระยะสั้น” 

New Business : ตีโจทย์ใหม่ นอกกรอบธุรกิจอาหาร 

ด้วยไอเดียดังกล่าว ทำให้เกิดหลายโปรเจกต์ขึ้นมาในช่วง COVID-19 หนึ่งในนั้นคือ ธุรกิจให้บริการกำจัดเชื้อโรค ที่ดูจะออกไปนอกกรอบธุรกิจร้านอาหารอยู่มาก เเต่ตอนนี้ถือว่าเป็นบริการที่มีความต้องการสูง 

“เรามองว่าเทรนด์กำจัดเชื้อโรคจะมาเเน่ เเต่จะอยู่ไม่เกินหนึ่งเดือน เเต่พอคิดเร็ว ทำเร็ว ก็ทำให้มีรายได้ เข้ามาช่วยจ่ายต้นทุนร้านอาหารได้ทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้นคือได้กำไรด้วย” 

อีกหนึ่งโปรเจกต์ที่ MAGURO คิดต่อยอดไปมากกว่าการเป็นร้านอาหารคือ ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ “เเบรนด์ใหม่” ที่ตอบสนองเเละเข้าถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เมื่อภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว ผู้คนจะระมัดระวังการใช้จ่ายเเละประหยัดกันมากขึ้น จึงนำมาสู่เเนวคิดว่าจะออกผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภค “ไม่ต้องจ่ายเงินมาก จ่ายน้อยๆ เเต่บ่อยๆ” ซึ่งทาง MAGURO ได้เปิดตัว Harajuku Strawberry Milk นมสตรอว์เบอร์รี่พร้อมทาน ที่เพิ่งวางขายในช่วงกลางเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา 

“นี่คือสิ่งที่เราอยากบอกผู้ประกอบการที่กำลังฝ่าฟันวิกฤตว่า เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน เราต้องตีโจทย์ใหม่ บางคนอาจคิดว่าต้องดันธุรกิจเดิมเพื่อให้อยู่ต่อไปได้ เเต่อีกมุมคือถ้าเราลองทำสิ่งใหม่ หาเงินก้อนใหม่ ก็เป็นการกระจายความเสี่ยงได้ดีเหมือนกัน…วิกฤตจึงเป็นเหมือนตัวเร่งให้เรากล้าทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ ได้ทดลองสิ่งใหม่ ซึ่งผมว่ามันก็สนุกไปอีกเเบบ” 

“ตอนนั้นเราเครียดจริงๆ เเต่เป็นการเครียดที่มีเป้าหมาย ดังนั้นจึงเป็นความเครียดบนพื้นฐานที่เรารู้ว่าจะไปตรงจุดไหน กังวลว่ามีอะไรต้องทำอีกเยอะเเละยังไม่เสร็จ เเต่สุดท้ายเราก็รู้ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น” 

ลูกค้าจะกลับมา เมื่อรู้สึก “อุ่นใจ” 

ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐบาลเริ่มปลดล็อกดาวน์ให้กับฟ้างสรรพสินค้าเเละร้านอาหารต่างๆ จุดนี้เป็นเป็นความเคลื่อนไหวสำคัญที่ทำให้ต้องมีการ “ยกเครื่องกลยุทธ์” กันอีกครั้ง 

โดย MAGURO เริ่มกลับมาเปิดให้บริการ จากสาขานอกเมืองที่เป็นสเเตนด์อโลน (Stand Alone) ก่อน เเล้วจึงค่อยๆ ขยับมาในเมือง จนตอนนี้เปิดครบทุกสาขาเเล้ว 

“การทยอยเปิดสาขา เป็นเหมือนการ “ฝึกซ้อม” ซึ่งเป็นผลดีมาก เพราะทำให้รู้ว่าควรจะปรับปรุงเเละเพิ่มเติมส่วนใดบ้าง ได้ทำความเข้าใจลูกค้ามากขึ้น ได้ลงพื้นที่สำรวจกำลังซื้อ ถือว่าเป็นประสบการณ์ในการจัดการร้านที่จะนำไปประยุกต์ใช้ต่อไป” 

เมื่อถามถึงกลยุทธ์ที่จะดึงดูดลูกค้าให้กลับมาอีกครั้ง หลังสถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น ผู้บริหาร MAGURO ตอบว่า ทางทีมมีการคิดกลยุทธ์มาหลายรูปแบบ เเต่สุดท้ายก็กลับไปยึดหัวใจหลักของเเบรนด์ MAGURO นั่นก็คือ Give More With Sushi Moment การ “ให้มากกว่าที่ขอ” ให้ลูกค้ารู้สึกประทับใจในการดูเเล โดยยกการดูเเลความรู้สึกของลูกค้าเป็นอันดับหนึ่ง จากนั้นจึงเป็นเรื่องมาตรฐานของอาหาร

“เราต้องคิดเผื่อลูกค้าว่า พวกเขาต้องการรู้สึกปลอดภัย ก่อนเข้ามาต้อวงตรวจอุณหภูมิ เช็กอินตามมาตรการ มีฉากกั้น เเนะนำให้เว้นระยะห่างตามความเหมาะสม พยายามดูว่าจำนวนคนในร้านไม่ได้เเน่นจนเกินไป เเม้จะเปิดให้นั่งรวมกันเเล้วก็ตาม ถามว่าอยากได้ยอดขายไหม เราอยากได้ เเต่ความมั่นใจของลูกค้าต้องมาก่อน” 

หลังภาครัฐผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น ทำให้ลูกค้าทยอยกลับมาทานที่ร้านมากขึ้นเช่นกัน จากช่วงเเรกที่จะกลับมาราว 50% ผ่านไปสักพักเริ่มเพิ่มขึ้นเป็น 70% เเละตอนนี้ก็เกือบจะเหมือนเดิมคือเกือบจะ 100% เเล้ว 

โดยส่วนใหญ่ลูกค้ายังกลับมาสั่ง “เมนูยอดนิยม” ใกล้เคียงกับที่เคยสั่งในช่วงก่อน COVID-19 เเละลูกค้ามีความระมัดระวังเรื่องสุขอนามัยของตัวเองเเละคนอื่นมากขึ้น มีมารยาทระหว่างกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก 

“มองว่าการฟื้นตัวของธุรกิจจะกลับมาได้ในระยะไม่นานเกิน 6 เดือนต่อจากนี้ ถ้าไม่มีการระบาดรอบสอง การที่ลูกค้าจะเลือกใช้บริการร้านได้ก็ตาม จะมาจากความเคยชินของพวกเขา เพราะคนมีความคิดถึง ดังนั้นร้านอาหารทุกเจ้าต้องทำให้ลูกค้าอุ่นใจ ซึ่งจะเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้ลูกค้ากลับมาหาเราได้เร็วเเละมากขึ้น 

ด้วยความที่ญี่ปุ่นเป็น Top Destination ที่คนไทยอยากไปเที่ยวมากที่สุด การที่เราไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ในช่วงนี้ จึงเกิดข้อสงสัยว่า คนไทยจะโหยหาอาหารญี่ปุ่นมากขึ้นหรือไม่…? รณกาจ ตอบว่าน่าจะมีส่วนอยู่บ้าง เพราะความอัดอั้น เมื่อเดินทางไม่ได้ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ดังนั้นการได้กินอาหารของชาตินั้นๆ ก็จะช่วยชดเชยได้ส่วนนึง ขณะที่ลูกค้าของ MAGURO อีกส่วนหนึ่งก็ไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศ เเต่เป็นกลุ่มชื่นชอบสไตล์เเละรสชาติของความเป็นญี่ปุ่น 

ทำอย่างไร…เมื่อลูกค้ากังวลเรื่อง “ปลาดิบ” 

ที่ผ่านมาเเบรนด์ MAGURO มีความโดดเด่นในเรื่อง ซูชิเเละโอมากาเสะ” เเต่ผลกระทบจากการเเพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ทำให้ผู้บริโภคบางคนมีความกังวลเรื่องความไม่ปลอดภัยของร้านอาหารญี่ปุ่นเเละอาหารดิบ หลายคนไม่กล้ากินปลาดิบในช่วงนี้

ผู้บริหาร MAGURO มองว่า เป็นความกังวลที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จากกระเเสข่าวต่างๆ ดังนั้นสิ่งที่ร้านอาหารต้องทำคือสร้างความเข้าใจ เสนอความจริงใจ โดยปลาทุกตัวเเละวัตถุดิบที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ จะต้องมีใบรับรองความปลอดภัย ทั้งที่ญี่ปุ่นเเละที่เมืองไทย ทั้งจากศูนย์จัดส่งเเละการจับเก็บของร้าน ซึ่งมีมาตรฐานความปลอดภัยมาตั้งเเต่เเรกเปิดร้าน เเละจะทำต่อไปเรื่อยๆ จนลูกค้าเข้าใจเเละกลับมาใช้บริการเหมือนเดิม 

“ลูกค้าที่กังวลเรื่องของดิบ เรื่องที่เป็นอาหารไม่สุก ถือว่ามีน้อย เเต่จะกังวลความสะอาดระหว่างทำของเชฟมากกว่า ลูกค้ามักเข้าใจผิดว่าถ้าเชฟใส่ถุงมือปั้นเเล้วจะสะอาด ความจริงคือไม่สะอาด เพราะใส่ถุงมือไม่เกิดการล้าง อาจจะมีเหงื่อหรือเเป้งตกค้าง เราจึงพยายามหาจุดสมดุลว่า เชฟไม่ควรใส่ถุงมือระหว่างปั้น เพราะเขาจะดูเเลความสะอาดได้มากกว่า ทั้งการล้างมือทุกครั้ง ล้างผ้าที่เช็ดทุก 15 นาที จึงออกมาเป็นมาตรการเเละทำความเข้าใจกับลูกค้าใหม่”

Above-Average : ร้านที่อยู่ได้…คือร้านที่มีการพัฒนา

การเเข่งขันของตลาดอาหารญี่ปุ่นในไทยนั้นถือว่า “ดุเดือด” มากๆ เเละปัจจุบันลูกค้ามีทางเลือกเยอะเเละฉลาดในการเลือก เเต่เงินที่จะจ่ายมีอยู่ “ก้อนเดียว” ดังนั้นร้านที่จะเติบโตได้ต้องเข้าใจภาพรวมของตลาด เเละปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปได้ 

ช่วงที่ MAGURO ตัดสินใจทำธุรกิจ ตอนนั้นคู่เเข่งในตลาด “พรีเมียมเเมส” ยังไม่ค่อยมีในเมืองไทยมากนัก เเต่หลังจากนั้น 1-2 ปีเริ่มเข้ามาเยอะมากขึ้น เพราะเป็นช่องว่างตลาดที่คนเริ่มเห็น 

“ร้านเปิดมา 5 ปี พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไปทุกปี ต้องพัฒนาอยู่เสมอ พยายามออกหมัดเด็ดๆ เพื่อเรียนรู้ตลาด ไปเล่นในเกม ตอนนี้ยังไหวอยู่เเละมองว่าอนาคตจะพัฒนาไปอย่างไรได้บ้าง เเละตั้งเป้าจะกลับมาได้เเข็งเเรงกว่าเดิมก่อนที่จะเกิดวิกฤต COVID-19” 

“เราพยายามจะเป็นเเบรนด์ที่ไม่ทำโปรโมชั่นลดราคามาก เเต่จะมอบความคุ้มอื่นๆ ให้ลูกค้ามากกว่า เช่นการเเถมเมนูฟรี เเละรักษาคุณภาพ เเม้ 5 ปีที่ผ่านมาต้นทุนจะสูงขึ้นก็ตาม” 

โดยเขามองทิศทางธุรกิจของเเบรนด์ต่อไปว่า “เรามาไกลมากจากจุดที่เริ่มเต้นจากการทำธุรกิจกับเพื่อน ค่อยๆ เติบโตขึ้น…

…ปีถัดไปเรามองการเติบโตของบริษัทเป็นภาพหนึ่งออกมา เรื่องสำคัญคือมาตรฐานของเราต้องสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค เพราะความคาดหวังของลูกค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกอย่างต้องทันทีทันใจ ขณะเดียวกันในส่วนที่เป็นองค์กร มีทีมเเละพนักงาน ก็ต้องพยายามทำให้พวกเขามีความสุขเเละพร้อมจะเติบโตไปพร้อมๆ กับเรา เพราะถ้าพนักงานเเฮปปี้ก็จะส่งต่อความรู้สึกดีๆ ไปถึงลูกค้า โดยเรื่องกำไรเเละยอดขายก็จะตามมาเอง” 

“เราไม่ได้ตั้งเป้าว่าเเต่ละปีต้องขยายอีกกี่สาขา เเต่มองว่าถ้ามีโอกาสเราก็ไป ถ้ามีความเสี่ยงเราก็พิจารณา” 

สำหรับกลยุทธ์การตลาดในช่วง COVID-19 เขามองว่าเป็น “ช่วงเวลาเเห่งการลองผิดลองถูก” เช่น ปกติทางร้านขายอาหารทะเล เเต่ช่วงล็อกดาวน์ก็หันมาขายเมนูหมู-ไก่-เนื้อ เพื่อเทสต์ตลาด 

“ช่วงที่ทุกคนรู้สึกว่าทุกร้าน ต้องทำโปรโมชั่นเเล้วขายอาหารราคาถูก เพราะเงินในกระเป๋าคนน้อยลง เเต่เราลองสวนทางดู ออกขายอาหารเเพง ออกชุดโอมากาเสะบ็อกซ์ ราคาพันกว่าบาท ซึ่งได้รับผลตอบรับดีมาก ดีกว่าชุดที่ราคาถูก เพราะคนอยู่บ้านนานก็คงอยากกินอาหารดีๆ สักมื้อในสัปดาห์หรือเดือนนั้นๆ เพื่อปลอบประโลมจิตใจ” 

“การเเข่งขันที่ดุเดือดมากขึ้น เราต้องทำความเข้าใจตัวเองก่อนว่า ต้องพยายาม Above-Average ให้ต่อเนื่อง ไปเรื่อยๆ ทั้งในเรื่องของมาตรฐาน บรรยากาศเเละการบริการ เพื่อที่จะรักษาฐานลูกค้าเดิม เเละเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ ผมมองว่าการเเข่งขันเป็นเรื่องที่ดี ยิ่งมากเท่าไหร่ลูกค้าก็ยิ่งได้ประโยชน์มากขึ้น เพราะสุดท้ายเเล้ว ร้านที่อยู่ได้คือร้านที่มีการพัฒนา” 

สุดท้ายผู้บริหาร MAGURO ฝากถึงผู้ประกอบการร้านอาหารที่ต้องฝ่าฟันมรสุม COVID-19 นี้ไปให้ได้ว่า…

“เเม้ว่าจะเป็นวิกฤตที่เราต้องพยุงธุรกิจให้อยู่รอด ต้องรักษาเงินทุนสำรองของบริษัท เเต่ก็ขอให้มองอีกมุมว่าเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่เคยเจอ ดังนั้นอย่าเพิ่งเสียกำลังใจ รีบเติมกำลังใจตัวเองให้เร็ว เเละลงไปเล่นในสนาม อย่างน้อยคุณต้องอยู่ในสนาม ถ้าไม่อยู่คุณจะไม่รู้เลยว่า โลกเเละพฤติกรรมคนเปลี่ยนไปในรูปแบบใด ต้องออกมาเผชิญความจริง อย่านอนเลียเเผลอย่างเดียว ไปลุยให้เยอะๆ ช่วงนี้อาจะเหนื่อยมากกว่าปีก่อนๆ 2-3 เท่า มีความเครียดมากขึ้น เเต่ก็เป็นช่วงที่เราจะทำการบ้านได้ดี เห็นโจทย์ใหม่เเละความท้าทายได้ดี” 

 

]]>
1287409