แผนด้านการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของ “มาสด้า” เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2022 ระบุถึงการเพิ่มเป้าหมายยอดขายรถอีวีขึ้นเป็น 25-40% ของยอดขายรถยนต์รวมทั้งโลกภายในปี 2030 จากเดิมที่ตั้งสัดส่วนไว้เพียง 25% โดยจะเพิ่มยอดขายได้ มาสด้าจะมีการเพิ่มงบการลงทุนการผลิตรถอีวี
การเพิ่มการลงทุนครั้งนี้ของมาสด้า ถือเป็นการประกาศที่ตามมาหลังคู่แข่งสัญชาติญี่ปุ่นด้วยกันอย่าง “โตโยต้า” และ “ฮอนด้า” ประกาศเป้าด้านรถอีวีไปก่อนแล้วในปีนี้ โดยบริษัทรถญี่ปุ่นทั้งหมดในที่สุดต้องทำแผนเข้าสู่ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า หลังจากถูกบีบโดยนักกิจกรรมเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง
“เราจะเร่งโปรโมตการเปิดตัวรถอีวีอย่างเต็มตัว และพิจารณาการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ เราคาดว่าสัดส่วนยอดขายรถอีวีของเราทั่วโลกจะขึ้นไปอยู่ระหว่าง 25% ถึง 40% จากยอดขายรวม ภายในปี 2030” ทั้งหมดเป็นข้อมูลที่ประกาศในแถลงการณ์ของมาสด้า
ถือเป็นการคาดการณ์ที่สอดคล้องกับเทรนด์โดยรวมในอุตสาหกรรมรถยนต์ ก่อนหน้านี้ Deloitte บริษัทที่ปรึกษา ได้คาดการณ์ไว้ว่ายอดขายรถอีวีทั้งโลกจะขึ้นมามีสัดส่วนราว 32% ของยอดขายรถทั้งหมดภายในปี 2030 หรือเท่ากับมีการขายรถยนต์ไฟฟ้า 31.1 ล้านคันในปี 2030 พุ่งขึ้นจากที่เคยขายได้ 2.5 ล้านคันเมื่อปี 2020
สำหรับแผนของ “มาสด้า” จะแบ่งการลุยวงการอีวีเป็น 3 เฟส โดยมาสด้าจะเริ่มแนะนำรถอีวีเข้าสู่ตลาดภายใน ‘ช่วงครึ่งหลังของเฟส 2’ ซึ่งหมายถึงช่วงระหว่างปี 2025-2027 และวางแผนว่าบริษัทจะเข้าสู่ยุคแห่งรถยนต์ไฟฟ้าแบบเต็มตัวครบสมบูรณ์ได้ภายในปี 2028-2030
อากิระ โคงะ กรรมการบริหารอาวุโสของมาสด้า ให้สัมภาษณ์กับ Nikkei ว่า บริษัทจะลงทุนรวม 10,600 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3.8 แสนล้านบาท) ร่วมกับพาร์ทเนอร์ เพื่อทำการวิจัยและพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า ทั้งนี้ โคงะขอสงวนรายละเอียดการลงทุนว่าจะลงทุนอะไรเมื่อไหร่ แต่บอกว่าการลงทุนจะขึ้นอยู่กับว่ารถอีวีได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นรวดเร็วแค่ไหน
ด้าน อากิระ มารุโมโตะ ซีอีโอของมาสด้า กล่าวว่าบริษัทจะเริ่มแนะนำระบบไฮบริดแบบใหม่ก่อน และจะมีการปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องยนต์
มาสด้ายังแจ้งด้วยว่าบริษัทได้ทำข้อตกลงกับพาร์ทเนอร์ 7 ราย หนึ่งในนั้นคือบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติญี่ปุ่น “Rohm” เพื่อร่วมกันพัฒนาและผลิตรถอีวี
นอกจากนี้ มาสด้ายังมีสัญญากับ Envision AESC ผู้ผลิตแบตเตอรี่ เพื่อให้ส่งซัพพลายแบตเตอรี่ให้ในระหว่างปี 2025-2027
“หลังจากนั้น เราจะพัฒนากลยุทธ์ในการจัดหาซัพพลายแบตเตอรี่ไปทีละขั้น” โคงะกล่าว
เมื่อปี 2019 มาสด้าเคยเปิดตัว MX-30 รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกมาแล้ว และมีการจำหน่ายในญี่ปุ่นและยุโรป ส่วนในไทยก็เพิ่งนำ MX-30 เข้ามาโชว์ตัวเมื่อต้นปีนี้ แต่จะไม่มีการขายในไทย เพราะแผนบริษัทต้องการนำรถไฮบริดเข้ามาทำตลาดไทยก่อน ยังไม่นำรถ full-electric แบบนี้เข้ามา
เป้าหมายยอดขายโดยรวมของมาสด้า ต้องการจะไปให้ถึงเป้า 4.5 ล้านล้านเยน (ประมาณ 1.15 ล้านล้านบาท) ภายในรอบปีบัญชีที่จะปิดเดือนมีนาคม 2026 ซึ่งหมายถึงการเติบโตถึง 45% จากยอดขายรอบปีบัญชีมีนาคม 2022
]]>นิกเกอิเอเชียนรีวิว รายงานว่ามาสด้า มอเตอร์ จะย้ายฐานการประกอบรถยนต์ CX-3 สำหรับป้อนตลาดออสเตรเลีย จากไทยกลับไปยังโรงงานแห่งหนึ่งในเมืองโฮฟุ จังหวัดยามากูชิ อย่างเร็วที่สุดคือในเดือนธันวาคม ขณะที่ CX-3 เป็นหนึ่งในรถยนต์รุ่นที่มียอดส่งออกจากไทยสูงลำดับต้นๆ ของมาสด้า
รายงานของนิกเกอิ ระบุว่า โรงงานของมาสด้าในไทย มีกำลังผลิตรายปีที่ 135,000 คัน ในนั้นเป็น CX-3 จำเป็น 25,000 คัน และในนั้น 14,000 คัน ส่งออกไปยังออสเตรเลีย
เงินบาทของไทยเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่แข็งค่ามากที่สุดในหมู่ค่าเงินของตลาดเกิดใหม่ ส่วนใหญ่สืบเนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลของไทย โดยในปีนี้ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่า 8% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ออสเตรเลียและแข็งค่า 6% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
การตัดสินใจของมาสด้า เป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ในวงกว้างที่เหล่าบริษัทต่างๆต้องรีบปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์เพื่อปกป้องตนเองจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ในนั้นรวมถึงกรณีที่ เจนเนอรัล มอเตอร์ส ปรับลดพนักงานกว่า 300 อัตราในไทยเมื่อช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา และกำลังผลิตของพวกเขาในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ ลดลง 15% เมื่อเทียบเป็นรายปี
จากคำสั่งซื้อที่ลดลง นิปปอนสตีล สตีล ต้องประกาศปิดโรงงานในไทยเป็นการชั่วคราวเมื่อช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา โดยอ้างถึงความต้องการใช้วัตถุดิบจากลูกค้าลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา จากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ขณะที่พวกเขาใช้โรงงานในไทย ผลิตแผ่นเหล็กความแข็งแรงสูง ป้อนแก่ค่ายรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นทั้งหลาย ในนั้นรวมถึงมาสด้า
ไทยคือศูนย์กลางปฏิบัติการต่างๆ ของบรรดาค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น ซึ่งครอบงำตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน โดยทั้งโตโยต้า มอเตอร์, ฮอนด้า มอเตอร์, นิสสัน มอเตอร์, มาสด้า, อีซูซู มอเตอร์ส ต่างมีโรงงานในไทย ซึ่งโดยรวมแล้วในปี 2018 ค่ายรถยนต์ทั้งหลายได้ผลิตรถยนต์รวมกัน 2.16 ล้านคันในไทย และราวครึ่งหนึ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออก
อย่างไรก็ตาม ด้วยบรรดานายธนาคารคาดหมายว่าเงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นไปอีก จึงมีความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าเหล่าผู้ผลิตอื่นๆ อาจเดินตามรอยมาสด้า ในการย้ายฐานการผลิตจากประเทศไทย
อัตราแลกเปลี่ยนทำให้กำไรจากการดำเนินงานของมาสด้า ระหว่างเดือนเมษายนถึงกันยายน หายไปราว 37,500 ล้านเยน (ราว 10,000 ล้านบาท) และประเด็นค่าเงินนี้ยังทำให้กำไรจากการดำเนินงานของโตโยต้าหายไปราว 90,000 ล้านเยน (เกือบ 25,000 ล้านบาท) ในช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนฮอนด้ากำไรหายไปประมาณ 50,000 ล้านเยน (เกือบ 14,000 ล้านบาท) ขณะที่มิตซูบิชิซึ่งมีฐานการส่งออกขนาดใหญ่ในไทย ก็มีผลกำไรลดลง 22,200 ล้านเยน (ราว 6,100 ล้านบาท) ในช่วง 6 เดือนหลังสุด
“เราย้ายการผลิตรถยนต์ของเรา 80%ในไทยไปยังต่างแดน แต่จะ (จำเป็น) พยายามขายในท้องถิ่น” โคจิ อิเคยะ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินบอกกับนิกเกอิเอเชียนรีวิว
ด้านอีซูซุ ซึ่งผลิตรถกระบะในไทย และส่งออกรถเหล่านั้นไปยังส่วนอื่นๆ ของโลก ก็ได้รับความเสียหายจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราเช่นกัน “เราส่งออกรถยนต์ที่ผลิตในไทยไปยังประเทศอื่นๆราว 120 แห่งทั่วโลก ผลกำไรจากการทำธุรกิจลดลงอย่างมากเนื่องจากการแข็งค่าของดอลลาร์” มาซาโนริ คาตายามะ ประธานอิซูซูกล่าว
]]>