โตโยต้า-โซนี่ นำทัพ 8 บริษัทญี่ปุ่นลงขัน “ตั้งบริษัทผลิตชิป” หวังแข่งขันไต้หวัน-เกาหลี

ตอนนี้ ใคร ๆ ก็อยากจะมีแหล่งผลิต ‘ชิป’ ของตัวเองทั้งนั้น หลังจากที่ทั่วโลกเจอกับวิกฤตการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ โดยหนึ่งในนั้นก็คือ ประเทศ ญี่ปุ่น โดยล่าสุด 8 บริษัทชั้นนำของประเทศก็ได้ร่วมกันจัดตั้งบริษัทผลิตชิปใหม่ภายในประเทศ เพื่อรองรับความต้องการในอนาคต

กลุ่มบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น 8 แห่ง ได้แก่ Toyota Motor, Sony Group, SoftBank Corp, Nippon Telegraph and Telephone Corp (NTT), Kioxia Corp (บริษัทผู้ผลิตชิป), Denso Corp (ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์), NEC Corp (ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์) และ ธนาคาร MUFG ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัทใหม่ชื่อ Rapidus

สำหรับ Rapidus จะมุ่งเน้นในการพัฒนาและผลิตชิป รวมทั้งพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ให้กับญี่ปุ่น พร้อมกันนี้ Rapidus ยังได้ Tetsuro Higashi อดีตประธานบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ชิป Tokyo Electron มาเป็นผู้นำบริษัท

Yasutoshi Nishimura รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดเผยว่า รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนจะให้เงินสนับสนุนถึง 7 หมื่นล้านเยน (ราว 18,000 ล้านบาท) ในขณะที่บริษัททั้ง 8 จะลงทุนรวมประมาณ 7 พันล้านเยน (ราว 1,800 ล้านบาท) ในบริษัท โดยรัฐบาลตั้งเป้าที่จะผลิตชิปขนาดต่ำกว่า 2 นาโนเมตรภายในประเทศภายในปี 2030 จากปัจจุบัน บริษัทญี่ปุ่นสามารถผลิตชิปที่มีความกว้างของเส้นวงจรได้เพียงประมาณ 40 นาโนเมตรเท่านั้น

“ด้วยการร่วมมือกับสถาบันวิจัยและอุตสาหกรรมในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา เราต้องการเสริมสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของญี่ปุ่นและความสามารถในการแข่งขันผ่านความพยายามร่วมกันของนักวิชาการและอุตสาหกรรมในประเทศ” Yasutoshi Nishimura กล่าว

การเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมกับปัญหาการขาดแคลนชิปทั่วโลกซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่การผลิตรถยนต์ไปจนถึงการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงการแข่งขันพัฒนาชิปขั้นสูงเพื่อใช้ในควอนตัมคอมพิวเตอร์ เอไอ ตลอดจนอาวุธทางการทหาร อาทิ ขีปนาวุธ

จับตาอุตสาหกรรม ‘ชิป’ สงครามครั้งใหม่ของ ‘สหรัฐฯ-จีน’ ศึกตัดสิน ‘ผู้ชนะ’ ในเศรษฐกิจโลก

ปัจจัยดังกล่าวได้กระตุ้นให้เกิดการถกเถียงกันในญี่ปุ่นเกี่ยวกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เนื่องจากการแข่งขันนี้มีผู้นำเป็นบริษัทต่าง ๆ ในไต้หวัน เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา

Source