จับตาอุตสาหกรรม ‘ชิป’ สงครามครั้งใหม่ของ ‘สหรัฐฯ-จีน’ ศึกตัดสิน ‘ผู้ชนะ’ ในเศรษฐกิจโลก

ดูเหมือนสงครามด้านเทคโนโลยีของ สหรัฐอเมริกา และ จีน จะไม่ได้มีแค่ สมาร์ทโฟน, แกดเจ็ต, แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียหรือการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ แต่สมรภูมิใหม่กำลังเกิดขึ้นซึ่งลึกลงไปอีกขั้นหรือก็คือ ส่วนประกอบ ที่ขับเคลื่อนเทคโนโลยีตั้งแต่สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ รถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน

อย่างที่หลายคนรู้ว่า จีน เป็นแหล่ง ผลิตอุปกรณ์ไอทีอันดับ 1 ของโลก ถือเป็นกำลังสำคัญในการผลิตเทคโนโลยีมาเป็นเวลานาน อย่าง Apple, Google และ Microsoft แบรนด์สัญชาติอเมริกาก็พึ่งพาจีนอย่างมากในการผลิตอุปกรณ์และประกอบชิ้นส่วน

โดยจีนก็รู้ถึงจุดแข็งตรงนี้ดี ก็ยิ่งให้ความสำคัญกับการผลิตในประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ยอดขายเซมิคอนดักเตอร์ของจีนเติบโตมากกว่า 30% ในปี 2020 โดยมีมูลค่าถึง 4 หมื่นล้านดอลลาร์ ตามตัวเลขจากสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (SIA)

เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทำให้อุปทานชิปทั่วโลกขาดแคลน ขณะที่ปีนี้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงจากการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดของจีน ซึ่งทำให้โรงงานหยุดชะงักและส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชน ขณะนี้ หลายภูมิภาคกำลังคิดทบทวนแนวทางของตนต่ออุตสาหกรรมนี้ เพื่อที่จะสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้นและลดความเสี่ยงต่อการผลิตของจีน

แน่นอนว่าสหรัฐฯ ก็คิดถึงเรื่องนี้ รวมถึงเพื่อจะได้สามารถแข่งขันกับจีนได้ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ล่าสุดได้ลงนามในกฎหมายฉบับใหม่ที่มีเป้าหมายเพื่อ ส่งเสริมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนชิปในระยะยาว รวมถึงเพื่อลดการพึ่งพาประเทศอื่น ๆ แน่นอนว่าโดยเฉพาะกับจีน

“อีกสิ่งสำคัญที่จะป้องกันไม่ให้จีนขยายอำนาจในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีคือ การผูกมิตรหรือการย้ายซัพพลายเชนผ่านพันธมิตรของสหรัฐฯ เช่น เกาหลีใต้และญี่ปุ่น” เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐ กล่าว

ภายใต้กฎหมาย CHIPS and Science Act รัฐบาลจะให้สิ่งจูงใจสำหรับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ รวมถึงการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการระดมทุนมากกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์ และการลงทุนเพิ่มเติมในมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ กระทรวงพาณิชย์ และสถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งชาติ

หรือในฝั่งของยุโรปเอง สมาชิกสภานิติบัญญัติของยุโรป ก็ได้เสนอการลงทุนมูลค่าหลาย หมื่นล้านดอลลาร์ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของทวีป อย่างไรก็ตาม จีนยังคงพยายามขยายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ต่อไป โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผน 5 ปีที่ประกาศเมื่อปีที่แล้ว

“ที่ทุกประเทศต่างทุ่มกับเรื่องเซมิคอนดักเตอร์ เป็นเพราะว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ตัดสินว่าใคร ‘ชนะ’ ในเศรษฐกิจโลกในอนาคต และการพึ่งพาตนเองในการผลิตชิปนั้นพูดง่ายแต่ทำยาก เนื่องจากชั้นของเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญเฉพาะที่เกี่ยวข้องที่เกี่ยวข้อง” Kenton Thibaut, Resident China Fellow แห่ง Digital Forensic Research Lab ของ Atlantic Council ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าว

อย่างไรก็ตาม Kenton กล่าวเสริมว่า เรื่องที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีกคือ ไต้หวัน เกาะปกครองตนเองนอกชายฝั่งของจีน ซึ่งกลายเป็นตัวจุดชนวนความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ เข้าไปอีก เนื่องจากการไปเยือนของ แนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ซึ่งทำให้จีนไม่พอใจ เนื่องจากจีนมองว่า ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน ภายใต้นโยบาย จีนเดียว

อย่างที่หลายคนรู้ว่า ไต้หวันมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก เนื่องจากมีผู้ผลิตชั้นนำของโลกหลายรายตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่นั่น และเป็นซัพพลายเออร์ของ Apple Foxconn และ Pegatron ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของไต้หวันคือ Taiwan Semiconductor Manufacturing Company หรือ TSMC คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 90% ของชิปคอมพิวเตอร์ขั้นสูงสุดในโลก

“ไม่มีใครสามารถควบคุม TSMC ได้ด้วยการบังคับ หากคุณใช้กำลังทหารหรือการบุกรุก คุณจะทำให้โรงงาน TSMC ไม่สามารถใช้งานได้ เพราะนี่เป็นโรงงานผลิตที่ซับซ้อน และขึ้นอยู่กับการเชื่อมต่อแบบเรียลไทม์กับโลกภายนอก — กับยุโรป กับญี่ปุ่นด้วย สหรัฐอเมริกา” Mark Liu ประธานบริษัทกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ CNN

Photo : shutterstock

ที่ผ่านมา TSMC ได้ลงนามไปแล้วว่า บริษัทได้ลงทุนอย่างน้อย 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อสร้างโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในรัฐแอริโซนา โดยคาดว่าจะเริ่มการผลิตในปี 2567 ขณะที่ GlobalWafers ผู้ผลิตชาวไต้หวันอีกรายเพิ่งลงนามว่าจะลงทุน 5 พันล้านดอลลาร์เพื่อสร้างโรงงานแผ่นเวเฟอร์ซิลิคอนในเท็กซัส และกลุ่มบริษัทซัมซุงและเกาหลีใต้ เมื่อต้นปีนี้ SK Group มีแผนที่จะใช้เงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์เพื่อขยายฐานการผลิตเทคโนโลยีในสหรัฐฯ

Zachary Collier ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการจัดการของมหาวิทยาลัย Radford แห่งเวอร์จิเนีย ให้ความเห็นว่า แม้ว่าการลงทุนของ TSMC เกิดขึ้นก่อนกฎหมาย CHIPS AND Science Act แต่กฎหมายดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะกระตุ้นให้บริษัทต่าง ๆ ย้ายไปตั้งโรงงานที่สหรัฐฯ มากขึ้น

และนอกเหนือไปจากการสนับสนุนระยะสั้นของสหรัฐฯ แล้ว บริษัทต่าง ๆ ยังมองว่าสหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีเสถียรภาพ ความปลอดภัย และแรงงานที่มีการศึกษาสูง และที่สำคัญที่สุด คือ ดีมานด์ที่มหาศาล โดยคิดเป็น 1 ใน 4 ของความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก โดย TSMC เคยเปิดเผยว่า ตลาดอเมริกาเหนือคิดเป็น 65% ของรายได้ โดยจีนและญี่ปุ่นคิดเป็น 10% และ 5% ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันจีนยังมีข้อได้เปรียบตรงที่จีนมีกลยุทธ์ร่วมกันในการนำเสนอเทคโนโลยีและจัดหาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญให้กับประเทศต่าง ๆ ที่ต้องการเทคโนโลยีเหล่านี้ ขณะที่สหรัฐฯ และประเทศประชาธิปไตยอื่น ๆ จำเป็นต้องพัฒนากลยุทธ์เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ไม่เพียงแต่มุ่งเน้นการแข่งขันกับจีนเท่านั้น แต่ยังต้องดำเนินการในเชิงรุกในการจัดหาโซลูชันที่ตรงตามความต้องการที่แท้จริง

สุกท้าย Zachary Collier ย้ำว่า แม้ว่าแต่ละประเทศมีเป้าหมายในพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เพื่อลดการพึ่งพาประเทศอื่น แต่สุดท้ายแล้วความต้องการใช้งานมันอยู่ในระดับโลก ดังนั้น การพึ่งพาอาศัยกันย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

Source