ในยุค AI แบบนี้ อุตสาหกรรมที่คึกคักเป็นพิเศษคงหนีไม่พ้น เซมิคอนดักเตอร์ หรือ ชิป ซึ่งปัจจุบัน ไต้หวัน กลายเป็นประเทศเบอร์ 1 ในอุตสาหกรรม แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่า ในอดีต ญี่ปุ่น ถือเป็นผู้เล่นเบอร์ต้น ๆ และรัฐบาลญี่ปุ่นก็ต้องการพาประเทศกลับมาผงาดในอุตสาหกรรมอีกครั้ง
รัฐบาลญี่ปุ่น ได้ประกาศแผนฟื้นฟูอุตสาหกรรม เซมิคอนดักเตอร์ และ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ใหม่ของประเทศ โดยเตรียมทุ่มงบสนับสนุนมูลค่า 10 ล้านล้านเยน (ราว 2.25 ล้านล้านบาท) หรือมากกว่า ภายในปีงบประมาณ 2030 เพื่อใช้เป็นตัวเร่งให้เกิดการลงทุนจากภาครัฐและเอกชนกว่า 50 ล้านล้านเยน (ราว 11.27 ล้านล้านบาท) ตลอด 10 ปีข้างหน้า ซึ่งมาตรการทั้งหมดคาดว่า จะสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยรวม 160 ล้านล้านเยน (ราว 36.12 ล้านล้านบาท)
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือกับพันธมิตร เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ไต้หวัน และหลายประเทศในสหภาพยุโรป โดยเน้นที่การวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับเซมิคอนดักเตอร์รุ่นต่อไป
“เราจะกําหนดกรอบความช่วยเหลือใหม่เพื่อดึงดูดการลงทุนภาครัฐและเอกชนมากกว่า 50 ล้านล้านเยนในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามการฟื้นฟูอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์” Shigeru Ishiba นายกรัฐมนตรี กล่าว
หนึ่งในบริษัทที่จะได้รับผลประโยชน์จากเงินทุนนี้ ก็คือ Rapidus ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2022 โดยรัฐบาลญี่ปุ่น ที่เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทชิป 8 บริษัท และบริษัทชิปเจ้าอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็น Toyota Motor และ Sony Group และกําลังร่วมมือกับ IBM ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ซึ่งที่ผ่านมา Rapidus บริษัทได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลมากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ แล้ว เนื่องจากตั้งเป้าที่จะผลิตชิปขนาด 2 นาโนเมตร ภายในปี 2027 ซึ่งชิปดังกล่าวจะนำไปใช้ในการพัฒนา AI
ทั้งนี้ ในปี 1988 ญี่ปุ่นเคยเป็นเป็นประเทศที่ครองส่วนแบ่งในตลาดชิปถึง 50% แต่หลังจากปี 1990 เป็นต้นมา ญี่ปุ่นต้องประสบกับปัญหาจากนโยบาย ข้อตกลงด้านเซมิคอนดักเตอร์ระหว่างญี่ปุ่น-อเมริกา ส่งผลให้ต้องปรับราคาสินค้าและต้องเปิดตลาดให้บริษัทจากต่างประเทศเข้ามาลงทุน จนในปี 2017 สัดส่วนของญี่ปุ่นในตลาดชิปลดเหลือไม่ถึง 10%
ขณะเดียวกัน ประเทศอย่าง ไต้หวัน และ เกาหลีใต้ ก็หันมาลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของตัวเอง โดยมีรัฐบาลเป็นผู้ผลักดัน จนปัจจุบัน บริษัท TSMC ของไต้หวันกลายเป็นบริษัทผู้ผลิตชิปอันดับ 1 ของโลก ส่วนฝั่งเกาหลีใต้ก็มี ซัมซุง (Samsung) ซึ่งทั้ง 2 บริษัทวางแผนที่จะเริ่มผลิตชิป 2 นาโนเมตรในเชิงพาณิชย์ภายในปี 2025
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า เงินอุดหนุนเป็นสิ่งจําเป็น แต่ไม่สามารถรับประกันความสําเร็จได้ เพราะสถาปัตยกรรมของชิป 2 นาโนเมตรแตกต่างจากชิป 3 นาโนเมตร โดยเฉพาะการผลิตจํานวนมาก ถือเป็นความท้าทายสําหรับผู้เล่นทุกคน