รัฐบาลอังกฤษระบุว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากบทบาทของพวกเขาในการกำกับควบคุมการละเมิดสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่พวกเขาเข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 ก.พ.
มาตรการคว่ำบาตรจะทำให้ทั้ง 6 คน ไม่สามารถเดินทางไปอังกฤษได้ และห้ามธุรกิจและสถาบันต่างๆ ของอังกฤษทำการค้าข้อตกลงกับคนเหล่านี้ ส่วนความช่วยเหลือของอังกฤษที่อาจถูกนำไปใช้สนับสนุนรัฐบาลทหารทางอ้อมก็ถูกระงับลงด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ อังกฤษได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรแบบเดียวกันนี้มาแล้วกับเจ้าหน้าที่ทหารคนอื่นๆ 19 นาย
โดมินิก ราบ รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ กล่าวว่า มาตรการคว่ำบาตรล่าสุดเป็นการส่งข้อความที่ชัดเจนถึงรัฐบาลทหารในพม่า ซึ่งผู้ที่อยู่เบื้องหลังการละเมิดสิทธิมนุษยชนต้องรับผิดชอบ นอกจากนี้ เขายังเรียกร้องให้รัฐบาลทหารคืนการควบคุมให้แก่รัฐบาลพลเรือน
มาตรการคว่ำบาตรล่าสุดนี้ หมายความว่าสมาชิกของสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ทุกคนถูกคว่ำบาตร
กระทรวงการต่างประเทศ และการพัฒนาของอังกฤษระบุว่า พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย เป็นผู้ควบคุม และสั่งการการละเมิดสิทธิมนุษยชน หลังมีการชุมนุมประท้วงจากผู้สนับสนุนประชาธิปไตย
ส่วนนายพลอีก 5 นาย ที่ถูกคว่ำบาตรพร้อม พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ประกอบด้วย พล.ท.อ่อง ลิน ดวย เลขานุการ SAC, พล.ท.แย วิน อู เลขานุการร่วม, พล.อ.ติน อ่อง ซาน, พล.อ.หม่อง หม่อง จ่อ, พล.ท.โม มี้น ตุน ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบร่วมกัน
ปัจจุบันอังกฤษเป็นประธานหมุนเวียนการประชุม G7 ได้เข้าร่วมกับประเทศต่างๆ วิพากษ์วิจารณ์นายพลพม่า และเรียกร้องการปล่อยตัวผู้นำพลเรือน ที่รวมถึงอองซานซูจี ซึ่งมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย
]]>หลังการเปิดประตูสู่ถนนประชาธิปไตยในเมียนมา เงินลงทุนจากต่างประเทศเริ่มไหลเข้าสู่เมียนมามากขึ้น โดย ธนาคารโลก ประเมินว่ารอบปีบัญชี ตุลาคม 2562 – กันยายน 2563 มีเม็ดเงินมูลค่าถึง 5,500 ล้านเหรียญสหรัฐจากต่างประเทศเข้าลงทุน ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 33% จากรอบปีก่อนหน้า
นำโดยประเทศ “สิงคโปร์” คิดเป็นสัดส่วน 34% ของเงินลงทุนจากต่างประเทศ ตามด้วย “ฮ่องกง” คิดเป็นสัดส่วน 26% ส่วนอันดับสามคือนักลงทุน “ญี่ปุ่น” สัดส่วน 14% กลุ่มธุรกิจที่ต่างชาติมีการลงทุนมากที่สุดคือ อสังหาริมทรัพย์ และ ภาคการผลิต โดยมีสัดส่วนอย่างละ 20% เท่าๆ กัน (*ทุนญี่ปุ่นบางส่วนลงทุนผ่านบริษัทย่อยที่จดทะเบียนในสิงคโปร์)
Vriens & Partners ที่ปรึกษาด้านการลงทุน ดูแลโครงการในเมียนมาเกี่ยวกับพลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน และโทรคมนาคม มูลค่ารวมกว่า 3,000-4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มองว่าการรัฐประหารครั้งนี้จะเป็น “ความเสี่ยง” ที่เพิ่มขึ้นสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ กลายเป็นปัจจัยลบซ้ำเติมโรคระบาด COVID-19 ที่ผลักให้บริษัทต่างชาติชะลอการลงทุนอยู่แล้ว
ท่าทีของสหรัฐอเมริกาตอบโต้แรงต่อการรัฐประหารครั้งนี้ โดย “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ประณามการรัฐประหาร และกล่าวว่ากำลังพิจารณา “คว่ำบาตร” เมียนมา
แต่การคว่ำบาตรของสหรัฐฯ หรือแม้แต่ชาติตะวันตกอาจไม่มีผลกับการลงทุนทางตรงในเมียนมาเท่าใดนัก เพราะการลงทุนส่วนใหญ่มาจากชาติในเอเชีย โดยสำนักข่าว BBC สัมภาษณ์นักธุรกิจในเมืองย่างกุ้งรายหนึ่งโดยขอไม่เปิดเผยชื่อ เขามองว่าการคว่ำบาตรจากตะวันตกอาจจะมีผลทางจิตวิทยา แต่สำหรับตัวเลขเม็ดเงินที่เข้ามาจริงๆ นั้นเมียนมาไม่เคยพึ่งพิงการลงทุนตะวันตกอยู่แล้ว
สอดคล้องกับ Vriens & Partners ที่เชื่อว่าหากสหรัฐฯ คว่ำบาตร เมียนมาจะหันไปพึ่งพิงการลงทุนจากจีนมากขึ้นเพราะเป็นประเทศเดียวที่สามารถพึ่งได้
อย่างไรก็ตาม Fitch Solutions บริษัทข้อมูลการเงิน มองอีกมุมหนึ่งว่า สำหรับจีนแล้วการเข้าลงทุนในเมียนมาหลังรัฐประหารจะเป็น “สถานการณ์ที่ไม่น่าสบายใจ” เพราะถึงแม้ว่าเมียนมาจะเป็นหนึ่งในกุญแจของเส้นทางการลงทุน Belt and Road ของจีน แต่จีนมักจะรู้สึกกังวลทันทีที่การเมืองในประเทศที่เข้าลงทุนเกิดความไม่แน่นอนขึ้น
“สุพันธุ์ มงคลสุธี” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นักลงทุนไทยกำลังติดตามอย่างใกล้ชิดว่าตะวันตกจะกดดันกองทัพเมียนมาด้วยการคว่ำบาตรสินค้าหรือไม่ เพราะหากเกิดขึ้นจริงจะมีผลเชิงลบกับนักลงทุนของไทยที่เข้าไปสร้างฐานผลิตเพื่อส่งออก จะทำให้การส่งออกไปประเทศตะวันตกลำบากมากขึ้น
มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ-เมียนมาช่วง 11 เดือนแรกปี 2563 นั้นอยู่ที่ 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ (ข้อมูลจาก U.S.Census Bureau)
โดย Panjiva บริษัทวิจัยในเครือ S&P Global Market Intelligence ระบุว่า หากวัดจากมูลค่าสินค้านำเข้าสู่สหรัฐฯ เมียนมาจะเป็นประเทศอันดับ 84 สินค้าส่วนใหญ่ที่สหรัฐฯ นำเข้าจากเมียนมาคือกลุ่มเสื้อผ้าและรองเท้าคิดเป็นสัดส่วน 41% รองลงมาคือกระเป๋าเดินทาง 30% สุดท้ายคือสินค้าประมง ซึ่งคิดเป็น 4% เท่านั้น
บริษัทที่นำเข้าสินค้าผลิตจากเมียนมามากที่สุดในสหรัฐฯ เช่น Samsonite, L.L. Bean, H&M และ Adidas
ดังนั้น ผลกระทบหนักจริงๆ ที่จะเกิดขึ้นคือเมื่อสหรัฐฯ คว่ำบาตรไม่รับสินค้าทั้งหมดที่ผลิตจากเมียนมา และผู้ที่จะได้รับผลกระทบพ่วงด้วยก็คือเหล่าซัพพลายเออร์ ทั้งที่มีเจ้าของเป็นชาวเมียนมาเอง หรือบริษัทสัญชาติอื่นที่เข้าไปลงทุนเพื่ออาศัยค่าแรงที่ถูกของเมียนมา
ขณะเดียวกัน หากมีการแบนสินค้าจากเมียนมาจริง นักธุรกิจที่จะปวดหัวจะรวมถึง “กลุ่มผู้นำเข้าในสหรัฐฯ” ด้วย โดยเฉพาะบริษัท “เสื้อผ้าแฟชั่น” เพราะหลายปีที่ผ่านมาบริษัทต้องย้ายฐานผลิตจากจีนมาเมียนมากันหลายเจ้า เนื่องจากปัญหาสงครามการค้า ทำให้กำแพงภาษีการนำเข้าสินค้าจากจีนแพงขึ้น
Grab แอปฯ เรียกรถจากสิงคโปร์เปิดเผยกับ Nikkei Asia ว่า บริการในเมียนมาไม่สามารถใช้การได้ชั่วคราวเนื่องจากสัญญาณโทรศัพท์มือถือมีปัญหา
ด้านบริษัทการลงทุน Yoma Strategic Holdings ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ต้องแขวนป้าย “ห้ามซื้อขายหลักทรัพย์ชั่วคราว” เพราะบริษัทเน้นการลงทุนในเมียนมาเป็นหลักโดยเฉพาะกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ อาหารและเครื่องดื่ม ยานยนต์ และบริการด้านการเงิน ทันทีที่เกิดรัฐประหาร กองทัพเมียนมามีการตัดสัญญาณโทรศัพท์จนบริษัทแม่ไม่สามารถติดต่อหาข้อมูลใดๆ ได้เลย จึงต้องห้ามซื้อขายหลักทรัพย์ไปก่อน
ด้านบริษัทที่มีฐานการผลิตในเมียนมาส่วนใหญ่จะกล่าวตรงกันว่า ช่วงนี้บริษัทยังโฟกัสกับการตรวจสอบว่าทุกคนในบริษัทปลอดภัยดี โดยยังไม่มีการหยุดงานหรือเปลี่ยนแผนการลงทุนในอนาคตที่ได้วางไว้ ยกตัวอย่างเช่น H&M โฆษกบริษัทระบุว่า แบรนด์ยังไม่มีแผนที่จะเปลี่ยนแหล่งผลิต แต่มีการมอนิเตอร์ติดตามสถานการณ์กับซัพพลายเออร์อย่างใกล้ชิด
สำหรับกลุ่มบริษัทญี่ปุ่นในเมียนมา รายงานโดย Nikkei Asia บริษัท Toyota ที่กำลังจะเปิดฐานผลิตที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายในเดือนกุมภาพันธ์นี้แล้ว บริษัทยังคงวางเป้าเริ่่มผลิตตามแผน
สอดคล้องกับ Suzuki Motor บริษัทยานยนต์ของญี่ปุ่นรายแรกที่เข้าไปตั้งฐานผลิตในเมียนมาตั้งแต่ปี 2556 ระบุว่ายังไม่ได้รับแจ้งผลกระทบการทำงานของฐานผลิตที่เมียนมา และแผนการตั้งโรงงานแห่งใหม่ในทวายที่จะเริ่มดำเนินการเดือนกันยายนนี้ก็จะยังเป็นไปตามแผน
ขณะที่ Mitsubishi Corp. กล่าวว่าบริษัทยังอยู่ระหว่างมอนิเตอร์สถานการณ์ บริษัทนี้มีส่วนร่วมกับโครงการภาครัฐจำนวนมาก เช่น สัญญาตู้รถไฟเมื่อเดือนธันวาคม 2563 มีส่วนร่วมในกลุ่มผู้รับบริหารจัดการสนามบินมันฑะเลย์ รวมถึงมีส่วนในโครงการพัฒนาเมือง Yoma Central นอกจากนี้ ยังมีบริษัทย่อย Mitsui & Co. ที่จำหน่ายปุ๋ยและ
อุปกรณ์การเกษตรในเมียนมาด้วย
ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย “ผกายมาศ เวียร์ร่า” ประธานสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-เมียนมา ระบุว่าด่านชายแดนไทย-เมียนมา ที่ จ.เชียงราย ปิดเพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้น โดยปิดไปเมื่อเวลา 10.30 น. วานนี้ ก่อนจะกลับมาเปิดอีกครั้งในเวลา 13.30 น. หลังจากกองทัพไทยเข้าเจรจากับทางเมียนมา หลังจากนั้นการค้าชายแดนและขนส่งสินค้ากลับมาดำเนินการได้ตามปกติ
ด้าน สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตฯ มองว่า สำหรับทุนไทยที่ได้รับสัมปทานดำเนินการต่างๆ ในเมียนมาไปแล้ว
คาดว่ากองทัพเมียนมาไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงใบอนุญาตต่างๆ ที่ตกลงแล้ว
ก่อนหน้าเกิดรัฐประหาร ธนาคารโลกมีการประเมินไว้แล้วว่าเศรษฐกิจเมียนมาจะเติบโตลดลงเหลือ 2% ในรอบปีบัญชีตุลาคม 2563 – กันยายน 2564 เนื่องจากโรคระบาด COVID-19 และจะทำให้สัดส่วนผู้มีฐานะยากจนในเมียนมาพุ่งขึ้นเป็น 27% จากเมื่อสิ้นปี 2562 ที่มี 22.4%
ขณะที่ Fitch Solutions เคยประเมินก่อนหน้านี้ว่าเศรษฐกิจเมียนมาปี 2564 จะฟื้นมาโต 6% ได้ แต่เมื่อเกิดรัฐประหาร Fitch ประเมินใหม่ทันทีว่าการเติบโตจะลดลงครึ่งหนึ่งคือเหลือเพียง 3%
Source: BBC, Nikkei Asia, Reuters
]]>Yasuhide Nakayama รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่น ให้ความเห็นกับ Reuters ว่า ท่าทีของประเทศประชาธิปไตยเสี่ยงที่จะผลักให้เมียนมาตกไปอยู่ภายใต้อิทธิพลของจีน หากตอบสนองการทำรัฐประหาร จนกระทบต่อช่องทางสื่อสารกับเหล่านายพลผู้ทรงอิทธิพล
“หากเราไม่จัดการเรื่องนี้ให้ดี เมียนมาจะยิ่งห่างเหินกับชาติประชาธิปไตยไปมากกว่าเดิม และจะหันไปเข้าร่วมกับจีนแทน” พร้อมเสริมว่า ญี่ปุ่นควรหารือยุทธศาสตร์นี้ร่วมกันกับชาติพันธมิตร
กองทัพเมียนมา เข้ายึดอำนาจเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (1 ก.พ.) พร้อมประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศเป็นเวลา 1 ปี และควบคุมตัวนาง ‘อองซาน ซูจี’ ที่ปรึกษาแห่งรัฐและผู้นำประเทศคนอื่นๆ โดยอ้างเหตุผลในการก่อรัฐประหารครั้งนี้ว่า เกิดจากการ ‘ทุจริตเลือกตั้ง’ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางซูจี คว้าชัยชนะอย่างถล่มทลาย
รัฐบาลโตเกียว ระบุว่า ยังคงจับตาความเคลื่อนไหวในเมียนมาอย่างใกล้ชิด เเละวิเคราะห์สถานการณ์อย่างถี่ถ้วน
ญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในประเทศใหญ่ที่มีความสัมพันธ์กับเมียนมามายาวนาน ทั้งด้านการเมืองเเละการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ การลงทุน ตอบโต้การัฐประหารครั้งนี้ ด้วยการเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางซูจีและสมาชิกรัฐบาลพลเรือน พร้อมขอให้ฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตย
Nakayama กล่าวอีกว่า ความเคลื่อนไหวใดๆ ที่จะระงับโครงการความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นกับกองทัพ
เมียนมา อาจส่งผลให้จีนมี ‘อิทธิพล’ มากขึ้น เเละอาจทำลายความมั่นคงในภูมิภาค
โดยตั้งเเต่ปี 2014 กองกำลังป้องกันประเทศของญี่ปุ่น มีความสัมพันธ์กับกองทัพเมียนมา ผ่านการจัดสัมมนาและโครงการฝึกอบรมทางทหารอื่น ๆ ทั้งทางน้ำ ทางอากาศ การบรรเทาภัยพิบัติและสอนภาษาญี่ปุ่น รวมถึงโครงการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ
“ถ้าเราหยุดความสัมพันธ์นี้ กองทัพเมียนมากับกองทัพจีนก็จะยิ่งแน่นแฟ้นขึ้น พวกเขาจะยิ่งออกห่างจากประเทศเสรี อย่างสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร เเละญี่ปุ่น…ผมคิดว่านั่นจะเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงในภูมิภาคได้”
]]>