รัฐประหารเมียนมา : เช็ก 7 ข้อผลกระทบต่อ “เศรษฐกิจ” และ “การลงทุน” จากต่างประเทศ

หลังเกิดรัฐประหารครั้งล่าสุดในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ผลกระทบทางเศรษฐกิจเมียนมาและธุรกิจจากต่างประเทศ ทั้งโดยฉับพลันและแนวโน้มระยะยาวเป็นอย่างไรบ้าง เรารวบรวมมาไว้ที่นี่
1) เพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการลงทุนจากต่างประเทศ

หลังการเปิดประตูสู่ถนนประชาธิปไตยในเมียนมา เงินลงทุนจากต่างประเทศเริ่มไหลเข้าสู่เมียนมามากขึ้น โดย ธนาคารโลก ประเมินว่ารอบปีบัญชี ตุลาคม 2562 – กันยายน 2563 มีเม็ดเงินมูลค่าถึง 5,500 ล้านเหรียญสหรัฐจากต่างประเทศเข้าลงทุน ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 33% จากรอบปีก่อนหน้า

นำโดยประเทศ “สิงคโปร์” คิดเป็นสัดส่วน 34% ของเงินลงทุนจากต่างประเทศ ตามด้วย “ฮ่องกง” คิดเป็นสัดส่วน 26% ส่วนอันดับสามคือนักลงทุน “ญี่ปุ่น” สัดส่วน 14% กลุ่มธุรกิจที่ต่างชาติมีการลงทุนมากที่สุดคือ อสังหาริมทรัพย์ และ ภาคการผลิต โดยมีสัดส่วนอย่างละ 20% เท่าๆ กัน (*ทุนญี่ปุ่นบางส่วนลงทุนผ่านบริษัทย่อยที่จดทะเบียนในสิงคโปร์)

Suzuki Motor บริษัทยานยนต์ญี่ปุ่นรายแรกที่เข้าไปตั้งฐานผลิตในเมียนมาตั้งแต่ปี 2556

Vriens & Partners ที่ปรึกษาด้านการลงทุน ดูแลโครงการในเมียนมาเกี่ยวกับพลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน และโทรคมนาคม มูลค่ารวมกว่า 3,000-4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มองว่าการรัฐประหารครั้งนี้จะเป็น “ความเสี่ยง” ที่เพิ่มขึ้นสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ กลายเป็นปัจจัยลบซ้ำเติมโรคระบาด COVID-19 ที่ผลักให้บริษัทต่างชาติชะลอการลงทุนอยู่แล้ว

 

2) ตะวันตกคว่ำบาตร ไม่มีผลเชิงการลงทุนทางตรง

ท่าทีของสหรัฐอเมริกาตอบโต้แรงต่อการรัฐประหารครั้งนี้ โดย “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ประณามการรัฐประหาร และกล่าวว่ากำลังพิจารณา “คว่ำบาตร” เมียนมา

แต่การคว่ำบาตรของสหรัฐฯ หรือแม้แต่ชาติตะวันตกอาจไม่มีผลกับการลงทุนทางตรงในเมียนมาเท่าใดนัก เพราะการลงทุนส่วนใหญ่มาจากชาติในเอเชีย โดยสำนักข่าว BBC สัมภาษณ์นักธุรกิจในเมืองย่างกุ้งรายหนึ่งโดยขอไม่เปิดเผยชื่อ เขามองว่าการคว่ำบาตรจากตะวันตกอาจจะมีผลทางจิตวิทยา แต่สำหรับตัวเลขเม็ดเงินที่เข้ามาจริงๆ นั้นเมียนมาไม่เคยพึ่งพิงการลงทุนตะวันตกอยู่แล้ว

สอดคล้องกับ Vriens & Partners ที่เชื่อว่าหากสหรัฐฯ คว่ำบาตร เมียนมาจะหันไปพึ่งพิงการลงทุนจากจีนมากขึ้นเพราะเป็นประเทศเดียวที่สามารถพึ่งได้

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตอบโต้ทันทีหลังกองทัพเมียนมารัฐประหาร (อ่านเพิ่มเติม คลิก)

อย่างไรก็ตาม Fitch Solutions บริษัทข้อมูลการเงิน มองอีกมุมหนึ่งว่า สำหรับจีนแล้วการเข้าลงทุนในเมียนมาหลังรัฐประหารจะเป็น “สถานการณ์ที่ไม่น่าสบายใจ” เพราะถึงแม้ว่าเมียนมาจะเป็นหนึ่งในกุญแจของเส้นทางการลงทุน Belt and Road ของจีน แต่จีนมักจะรู้สึกกังวลทันทีที่การเมืองในประเทศที่เข้าลงทุนเกิดความไม่แน่นอนขึ้น

 

3) แต่ถ้าสหรัฐฯ “แบน” สินค้า อาจมีผลลบทางอ้อม

“สุพันธุ์ มงคลสุธี” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นักลงทุนไทยกำลังติดตามอย่างใกล้ชิดว่าตะวันตกจะกดดันกองทัพเมียนมาด้วยการคว่ำบาตรสินค้าหรือไม่ เพราะหากเกิดขึ้นจริงจะมีผลเชิงลบกับนักลงทุนของไทยที่เข้าไปสร้างฐานผลิตเพื่อส่งออก จะทำให้การส่งออกไปประเทศตะวันตกลำบากมากขึ้น

มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ-เมียนมาช่วง 11 เดือนแรกปี 2563 นั้นอยู่ที่ 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ (ข้อมูลจาก U.S.Census Bureau)

โดย Panjiva บริษัทวิจัยในเครือ S&P Global Market Intelligence ระบุว่า หากวัดจากมูลค่าสินค้านำเข้าสู่สหรัฐฯ เมียนมาจะเป็นประเทศอันดับ 84 สินค้าส่วนใหญ่ที่สหรัฐฯ นำเข้าจากเมียนมาคือกลุ่มเสื้อผ้าและรองเท้าคิดเป็นสัดส่วน 41% รองลงมาคือกระเป๋าเดินทาง 30% สุดท้ายคือสินค้าประมง ซึ่งคิดเป็น 4% เท่านั้น

บริษัทที่นำเข้าสินค้าผลิตจากเมียนมามากที่สุดในสหรัฐฯ เช่น Samsonite, L.L. Bean, H&M และ Adidas

H&M สาขาแมนฮัตตัน นิวยอร์ก (photo: Shutterstock)

ดังนั้น ผลกระทบหนักจริงๆ ที่จะเกิดขึ้นคือเมื่อสหรัฐฯ คว่ำบาตรไม่รับสินค้าทั้งหมดที่ผลิตจากเมียนมา และผู้ที่จะได้รับผลกระทบพ่วงด้วยก็คือเหล่าซัพพลายเออร์ ทั้งที่มีเจ้าของเป็นชาวเมียนมาเอง หรือบริษัทสัญชาติอื่นที่เข้าไปลงทุนเพื่ออาศัยค่าแรงที่ถูกของเมียนมา

ขณะเดียวกัน หากมีการแบนสินค้าจากเมียนมาจริง นักธุรกิจที่จะปวดหัวจะรวมถึง “กลุ่มผู้นำเข้าในสหรัฐฯ” ด้วย โดยเฉพาะบริษัท “เสื้อผ้าแฟชั่น” เพราะหลายปีที่ผ่านมาบริษัทต้องย้ายฐานผลิตจากจีนมาเมียนมากันหลายเจ้า เนื่องจากปัญหาสงครามการค้า ทำให้กำแพงภาษีการนำเข้าสินค้าจากจีนแพงขึ้น

 

4) บางบริษัทได้รับผลกระทบทางตรงทันที

Grab แอปฯ เรียกรถจากสิงคโปร์เปิดเผยกับ Nikkei Asia ว่า บริการในเมียนมาไม่สามารถใช้การได้ชั่วคราวเนื่องจากสัญญาณโทรศัพท์มือถือมีปัญหา

ด้านบริษัทการลงทุน Yoma Strategic Holdings ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ต้องแขวนป้าย “ห้ามซื้อขายหลักทรัพย์ชั่วคราว” เพราะบริษัทเน้นการลงทุนในเมียนมาเป็นหลักโดยเฉพาะกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ อาหารและเครื่องดื่ม ยานยนต์ และบริการด้านการเงิน ทันทีที่เกิดรัฐประหาร กองทัพเมียนมามีการตัดสัญญาณโทรศัพท์จนบริษัทแม่ไม่สามารถติดต่อหาข้อมูลใดๆ ได้เลย จึงต้องห้ามซื้อขายหลักทรัพย์ไปก่อน

 

5) สำหรับการลงทุนระยะยาว ยังไม่มีผลชัดเจน

ด้านบริษัทที่มีฐานการผลิตในเมียนมาส่วนใหญ่จะกล่าวตรงกันว่า ช่วงนี้บริษัทยังโฟกัสกับการตรวจสอบว่าทุกคนในบริษัทปลอดภัยดี โดยยังไม่มีการหยุดงานหรือเปลี่ยนแผนการลงทุนในอนาคตที่ได้วางไว้ ยกตัวอย่างเช่น H&M โฆษกบริษัทระบุว่า แบรนด์ยังไม่มีแผนที่จะเปลี่ยนแหล่งผลิต แต่มีการมอนิเตอร์ติดตามสถานการณ์กับซัพพลายเออร์อย่างใกล้ชิด

สำหรับกลุ่มบริษัทญี่ปุ่นในเมียนมา รายงานโดย Nikkei Asia บริษัท Toyota ที่กำลังจะเปิดฐานผลิตที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายในเดือนกุมภาพันธ์นี้แล้ว บริษัทยังคงวางเป้าเริ่่มผลิตตามแผน

Photo : Shutterstock

สอดคล้องกับ Suzuki Motor บริษัทยานยนต์ของญี่ปุ่นรายแรกที่เข้าไปตั้งฐานผลิตในเมียนมาตั้งแต่ปี 2556 ระบุว่ายังไม่ได้รับแจ้งผลกระทบการทำงานของฐานผลิตที่เมียนมา และแผนการตั้งโรงงานแห่งใหม่ในทวายที่จะเริ่มดำเนินการเดือนกันยายนนี้ก็จะยังเป็นไปตามแผน

ขณะที่ Mitsubishi Corp. กล่าวว่าบริษัทยังอยู่ระหว่างมอนิเตอร์สถานการณ์ บริษัทนี้มีส่วนร่วมกับโครงการภาครัฐจำนวนมาก เช่น สัญญาตู้รถไฟเมื่อเดือนธันวาคม 2563 มีส่วนร่วมในกลุ่มผู้รับบริหารจัดการสนามบินมันฑะเลย์ รวมถึงมีส่วนในโครงการพัฒนาเมือง Yoma Central นอกจากนี้ ยังมีบริษัทย่อย Mitsui & Co. ที่จำหน่ายปุ๋ยและ
อุปกรณ์การเกษตรในเมียนมาด้วย

 

6) ค้าชายแดนไทยปิดด่านแค่ช่วงสั้นๆ

ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย “ผกายมาศ เวียร์ร่า” ประธานสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-เมียนมา ระบุว่าด่านชายแดนไทย-เมียนมา ที่ จ.เชียงราย ปิดเพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้น โดยปิดไปเมื่อเวลา 10.30 น. วานนี้ ก่อนจะกลับมาเปิดอีกครั้งในเวลา 13.30 น. หลังจากกองทัพไทยเข้าเจรจากับทางเมียนมา หลังจากนั้นการค้าชายแดนและขนส่งสินค้ากลับมาดำเนินการได้ตามปกติ

ด่านท่าขี้เหล็ก ชายแดนไทย-เมียนมา อ.แม่สาย จ.เชียงราย (Photo : Shutterstock)

ด้าน สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตฯ มองว่า สำหรับทุนไทยที่ได้รับสัมปทานดำเนินการต่างๆ ในเมียนมาไปแล้ว
คาดว่ากองทัพเมียนมาไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงใบอนุญาตต่างๆ ที่ตกลงแล้ว

 

7) สรุป รัฐประหารจะทุบซ้ำเศรษฐกิจเมียนมาจาก COVID-19

ก่อนหน้าเกิดรัฐประหาร ธนาคารโลกมีการประเมินไว้แล้วว่าเศรษฐกิจเมียนมาจะเติบโตลดลงเหลือ 2% ในรอบปีบัญชีตุลาคม 2563 – กันยายน 2564 เนื่องจากโรคระบาด COVID-19 และจะทำให้สัดส่วนผู้มีฐานะยากจนในเมียนมาพุ่งขึ้นเป็น 27% จากเมื่อสิ้นปี 2562 ที่มี 22.4%

ขณะที่ Fitch Solutions เคยประเมินก่อนหน้านี้ว่าเศรษฐกิจเมียนมาปี 2564 จะฟื้นมาโต 6% ได้ แต่เมื่อเกิดรัฐประหาร Fitch ประเมินใหม่ทันทีว่าการเติบโตจะลดลงครึ่งหนึ่งคือเหลือเพียง 3%

Source: BBC, Nikkei Asia, Reuters