เจาะขุมทรัพย์กำลังซื้อ “แรงงานเมียนมา” 6.8 ล้านคนในไทย ช่องว่างที่รอแบรนด์ทำการตลาด

แรงงานเมียนมา
  • MI GROUP วิจัยกำลังซื้อ “แรงงานเมียนมา” อาศัยอยู่ในไทยถึง 6.8 ล้านคน คิดเป็น 10% ของประชากรไทย แต่ยังมีแบรนด์ไทยจำนวนน้อยมากที่ทำการตลาดเจาะกลุ่มนี้โดยตรง
  • ธุรกิจที่แข่งขันเพื่อคว้าตลาดกลุ่มนี้แล้วมีเพียง 2 กลุ่ม คือ “โทรคมนาคม” กับ “ธนาคาร” โอกาสที่เห็นชัดเพื่อเจาะตลาดแรงงานเมียนมาคือธุรกิจ “ทองคำ” เพราะคนเมียนมาส่วนใหญ่นิยมซื้อไว้เป็นสินทรัพย์
  • ชี้เป้าทำการตลาดด้วยการทลายกำแพง “ภาษา” และเข้าถึงผ่านช่องทางออนไลน์ เพราะแรงงานเมียนมาเกือบทุกคนใช้ Facebook

กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จำกัด หรือ MI GROUP จัดทำรายงานวิจัยชุด “ผ่าขุมทรัพย์แรงงานชาวเมียนมาในประเทศไทย” สะท้อนภาพกำลังซื้อที่แบรนด์ไทยยังมองข้าม

ภาพรวมของแรงงานเมียนมาในไทยมีประมาณ 6.8 ล้านคน (รวมกลุ่มที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมายแล้ว) ซึ่งคิดเป็น 10% ของจำนวนประชากรไทย ถือว่าเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่ และหากแบรนด์สามารถครองใจผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้ ก็จะมีโอกาสการขายที่มากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ MI GROUP ผ่านสายธุรกิจ MI BRIDGE และ MI Learn Lab จึงวิจัยผู้บริโภคเมียนมาในไทย โดยศึกษาผ่านการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง 50 คน และผ่านแบบสอบถามออนไลน์อีก 212 คน ศึกษาในช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน 2566 และได้ข้อมูลอินไซต์ที่น่าสนใจ ดังนี้

แรงงานเมียนมา
ข้อมูลจาก: สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว

รู้จัก “แรงงานเมียนมา” ในไทย

คนเมียนมาที่เข้ามาทำงานในไทย ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงอายุ 25-34 ปี และมี “ผู้ชาย” มากกว่าด้วยสัดส่วน 74% ส่วนแรงงาน “ผู้หญิง” มี 26%

ภาคธุรกิจหรืออาชีพหลักที่คนเมียนมาเข้ามาทำงาน ได้แก่

  • โรงงานอุตสาหกรรม 39%
  • ก่อสร้าง 18%
  • พนักงานขาย 15%
  • เกษตรกร 11%
  • รับจ้างทั่วไป 9%

แรงงานเมียนมา

แรงขับสำคัญที่ทำให้คนเมียนมาเลือกมาทำงานในไทย 88% ตอบว่า เป็นเพราะปัญหาการเงินทางบ้าน เนื่องจากในเมียนมาจ่ายค่าแรงต่ำเพียง 1,000-5,000 บาทต่อเดือน หรือบางคนอาจไม่มีรายได้เลย

เป้าหมายของคนเมียนมาในไทยส่วนใหญ่จึงเป็นการมาหาเงินเพื่อส่งกลับไปให้ครอบครัวได้มีชีวิตที่ดีขึ้น เช่น ซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือมาหาเงินทุนกลับบ้านไปเริ่มทำกิจการส่วนตัว

ด้วยเป้าหมายที่ชัดเจนทำให้มีคนเมียนมาถึง 49% ที่ตอบว่า ตนไม่มีกำหนดกลับบ้านเกิด จะอยู่ทำงานจนกว่าจะเก็บเงินได้ถึงเป้าหมาย แต่ถ้าเป็นไปได้ต้องการจะอยู่เพียง 3-5 ปี

 

เน้นการ “ออมเงิน”

คนเมียนมาส่วนใหญ่จะมีวิถีชีวิตที่เน้นการทำงานเป็นหลัก พวกเขาจะทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ และ ทำงานเฉลี่ย 10 ชั่วโมงต่อวัน (รับโอที) รายได้ที่ได้รับอยู่ที่ 10,000-15,000 บาทต่อเดือน สูงกว่าที่เคยได้ในเมียนมา 3-15 เท่า!

แรงงานเมียนมา

และเมื่อชีวิตมาเพื่อหาเงินกลับบ้าน คนเมียนมาจึง “ออมเงิน” สูงมาก โดยแบ่งสัดส่วนเฉลี่ย 44% ของรายได้เป็นเงินออม

2 ใน 3 ของเงินออมนี้จะถูกส่งกลับบ้านให้ครอบครัว เหลือ 1 ใน 3 ของเงินออมที่เก็บไว้ใช้ส่วนตัวยามจำเป็น

ส่วน 56% ที่ไว้ใช้จ่าย คนเมียนมามีค่าใช้จ่ายหลักเป็นเรื่องทั่วไป เช่น ค่าอาหาร ค่าของใช้ในชีวิตประจำวัน ค่าที่พักอาศัย ค่าโทรศัพท์-อินเทอร์เน็ตมือถือ

 

ซื้อสินค้าอะไรบ้าง

เจาะลึกสินค้าในชีวิตประจำวันที่คนเมียนมาซื้อหา MI GROUP มีการแบ่งสิ่งที่คนเมียนมาต้องการออกเป็น 3 ช่วงตามสถานการณ์ชีวิต ได้แก่

ช่วงที่ 1 “ตั้งหลัก” ระยะที่เพิ่งมาถึงประเทศไทย
สิ่งที่ต้องการ ได้แก่
– ซิมการ์ด
– ที่อยู่อาศัย
– ตำแหน่งงาน
– ของใช้จำเป็น เช่น เครื่องนุ่งห่ม เครื่องอุปโภคบริโภค

ช่วงที่ 2 “ตั้งตัว” ระยะเริ่มทำงานและเริ่มมีรายได้
สิ่งที่ต้องการ ได้แก่
– บัญชีเงินฝาก
– ใบอนุญาตทำงาน
– โทรศัพท์มือถือ (ราคาที่เหมาะสม 4,000-13,000 บาท)
– เครื่องใช้ไฟฟ้าจำเป็น เช่น หม้อหุงข้าว พัดลม
– เสื้อผ้าแฟชั่น
– สกินแคร์ เครื่องสำอาง
– ทองคำ** (ลงทุนสะสม 16,000-80,000 บาท)

ช่วงที่ 3 “ตั้งใจ” ระยะเตรียมตัวกลับบ้านเมื่อเก็บเงินได้ตามเป้าหมาย
สิ่งที่ต้องการ ได้แก่
– บริการการโอนเงินกลับบ้านเกิด
– ของใช้เพื่อเป็นของฝาก เช่น ยา อาหารเสริม เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้าแฟชั่น

 

รับสื่อทาง “อินเทอร์เน็ต” เป็นหลัก

รู้จักพื้นฐานด้านรายได้และความต้องการแล้ว ในแง่ของวิถีชีวิตและการรับสื่อของคนเมียนมา MI GROUP พบว่า เนื่องด้วยการทำงานหนัก ทำให้คนเมียนมามีเวลาว่างน้อย ในวันทำงานจะว่างเพียง 2-3 ชั่วโมงต่อวัน (ช่วงก่อนเข้านอน) และวันหยุด 1 วันต่อสัปดาห์

เมื่อมีเวลาน้อย กิจกรรมยามว่างจะมีเพียง 2 เรื่อง คือ เล่นอินเทอร์เน็ตบนมือถือ กับ จับจ่ายซื้อของ

พฤติกรรมบนอินเทอร์เน็ตก็เหมือนคนทั่วไปคือ ดูละคร ภาพยนตร์ รายการวาไรตี้ ติดตามข่าวสาร ติดต่อญาติ/เพื่อนฝูง

โดยโซเชียลมีเดียที่คนเมียนมาใช้มากที่สุดเรียงตามลำดับ ได้แก่ Facebook, YouTube, TikTok, Messenger, Line, Telegram

โดยเฉพาะ “Facebook” เป็นช่องทางที่ 98% ของคนเมียนมาใช้งาน เพราะมีไว้ใช้ทั้งติดต่อญาติมิตร ดูคอนเทนต์บันเทิง ติดตามข่าวสารความรู้ และช้อปปิ้งออนไลน์ด้วย!

การวิจัยนี้พบว่า 74% ของคนเมียนมาในไทยมีการ “ช้อปออนไลน์” โดยช่องทางที่ใช้ช้อปมากที่สุดเรียงตามลำดับ ได้แก่ Lazada, Facebook, Shopee, TikTok

แม้ว่าจะมีคนเมียนมาในไทยเพียง 32% ที่มี Mobile Banking แต่ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะสามารถเลือกเก็บเงินปลายทางได้ หรือให้เพื่อน/นายจ้างที่มีแอปฯ ช่วยโอนเงินแทน

 

โอกาสยังเปิดกว้าง – “ทองคำ” ควรจับตามอง

ด้วยจำนวนประชากรและวิถีชีวิตเฉพาะตัว “วิชิต คุณคงคาพันธ์” Head of International Business Development, MI GROUP ให้ความเห็นว่า แบรนด์ไทยควรหันมามองตลาดที่มีถึง 6.8 ล้านคนนี้มากขึ้น

“ตอนนี้แบรนด์ไทยยังมองว่าลูกค้าคนเมียนมาในไทยเป็นผลพลอยได้ เพราะว่าอย่างไรเขาก็ดูละครไทย รายการไทย ทำให้ไม่ค่อยมีการทำตลาดโดยตรง” วิชิตกล่าว

มีเพียง 2 ธุรกิจที่เจาะตลาดนี้แล้วคือ “โทรคมนาคม” กับ “ธนาคาร” เพราะ “ซิมการ์ด” สำหรับเล่นอินเทอร์เน็ต กับ “บัญชีธนาคาร” คือสิ่งจำเป็นมากของแรงงานข้ามชาติ จึงมีการแย่งชิงลูกค้าอย่างเข้มข้น บางค่ายมือถือถึงกับมีคอลเซ็นเตอร์ภาษาเมียนมาไว้รองรับ!

ส่วนธุรกิจที่วิชิตมองว่าควรจะเร่งเข้ามาจับตลาดคือ “ทองคำ / ร้านทอง” เพราะคนเมียนมาส่วนใหญ่นิยมซื้อทองมาก เนื่องจากเป็นสินทรัพย์มีมูลค่าสำหรับเก็บออม และยังเป็นเครื่องประดับได้ในตัว สามารถพกพาติดตัวง่าย เก็บซุกซ่อนง่าย แต่ขณะนี้ยังไม่มีแบรนด์ร้านทองหรือทองคำใดๆ ที่จับตลาดคนเมียนมาโดยเฉพาะเลย

 

แปลงโฆษณาเป็น “ภาษาเมียนมา”

วิชิตกล่าวต่อว่า จริงๆ แล้วการทำตลาดเพื่อคนเมียนมาโดยเฉพาะ จุดสำคัญคือการทลายกำแพงภาษา แปลงโฆษณาเป็น “ภาษาเมียนมา” ก็พอ ทำให้แบรนด์ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสูงแต่ได้ใจคนกลุ่มใหญ่

เนื่องจากแรงงานเมียนมาในไทยส่วนใหญ่จะเริ่มฟังพูดภาษาไทยได้คล่องหลังอยู่อาศัยมาไม่ต่ำกว่า 3 ปี คนที่อ่านเขียนภาษาไทยได้ส่วนใหญ่จะอยู่มาแล้วมากกว่า 7 ปีและต้องขวนขวายที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง ทำให้กำแพงภาษาคือเรื่องสำคัญในการสื่อสารไปให้ถึงคนเมียนมา

ส่วนช่องทางการสื่อสารก็ไม่ได้แตกต่างจากคนไทยมาก เพราะเสพสื่อประเภทเดียวกัน ใช้ช่องทาง Facebook ที่บูสต์โพสต์ถึงกลุ่มเป้าหมายได้เหมือนกัน

ขอเพียงแบรนด์แสดงออกถึงความเข้าใจในชีวิตแรงงานเมียนมาที่เข้ามาเพื่อ “สู้ชีวิต” เป็นแบรนด์ที่ “เชื่อใจได้” ในการอยู่เคียงข้างการทำงานหนัก รวมถึงเป็นแบรนด์ราคาประหยัด “จับต้องได้ง่าย” ก็จะชนะใจคนเมียนมาได้ไม่ยาก